ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ญาติไม่จ่ายหนี้รถคนค้ำก็ช้ำไป

        เรื่องปวดใจสำหรับคนค้ำประกันคือ แม้ไม่ใช่ผู้ซื้อโดยตรงแต่ตามกฎหมายต้องรับภาระไม่ต่างจากผู้ซื้อ ซึ่งบางคนก็คาดไม่ถึงว่า การลงลายมือชื่อเพื่อค้ำประกันให้ญาติด้วยน้ำใจอันดี อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผิดใจกันมานักต่อนัก         คุณสนิท โทรศัพท์มาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้ญาติ ต่อมาภายหลังประมาณหนึ่งปีกว่า ญาติผิดนัดไม่ชำระค่างวดรถ ต่อมารถยนต์ถูกยึดและบริษัทไฟแนนซ์ได้ขายทอดตลาด แต่ยังมีเงินส่วนต่างอีกจำนวนหนึ่งค้างอยู่ 155,000 บาท ไฟแนนซ์ได้เรียกให้ตนเองและญาติชำระหนี้ ซึ่งตนเองพยายามติดตามให้ญาติใช้หนี้จำนวนดังกล่าวเสีย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว จึงกลายเป็นคดีความ         ตอนที่ไปฟังคำตัดสิน ศาลพิพากษาให้ญาติและคุณสนิทให้ฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ไม่นานก็มีหมายบังคับคดีถึงบริษัทของคุณสนิทเพื่อที่จะอายัดเงินเดือน “ผมพยายามหาหยิบยืมเงินมาเพื่อปิดหนี้ไม่อยากโดนบังคับคดี อยากทราบว่าผมต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะไม่ให้เสียเปรียบกับทางไฟแนนซ์ แล้วถ้าผมชำระหนี้หมดจะมีทางไหนเรียกเงินคืนจากญาติได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อต้องการปิดบัญชี คุณสนิทต้องขอเอกสารใบลดหนี้จากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อได้เอกสารแล้วให้อ่านข้อความให้ละเอียดว่า ตรงตามที่ได้ตกลงขอปิดหนี้กับทางไฟแนนซ์หรือไม่        2.หากข้อความเป็นไปตามที่ตกลง สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทไฟแนนซ์เพื่อให้มีหลักฐานคือยอดโอนเงินผ่านธนาคาร จากนั้นแจ้งให้ทางบริษัทฯ ทราบและขอใบปิดบัญชีจากทางไฟแนนซ์มาเก็บไว้        3.กรณีที่คุณสนิทซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนญาติ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 (ผู้ซื้อ) คุณสนิทมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับญาติได้ แต่ต้องดูว่าญาติมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้ามีก็ฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ในชั้นศาลก็สามารถบังคับคดีกับญาติต่อไป เพื่อนำทรัพย์ของญาติออกมาขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้กับคุณสนิท   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 219 เงินจองรถ ขอคืนได้ไหม?

        หลายท่านคงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อรถหรือจองรถมาบ้าง แต่หลายครั้งที่พบว่าเมื่อจองไปแล้ว เกิดปัญหาทำให้ผู้บริโภคต้องการเลิกสัญญาจอง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถจัดหารถยนต์ให้แก่ผู้บริโภคได้ ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ตามที่กําหนด ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น เมื่อส่งมอบรถยนต์มีรายการอุปกรณ์และของแถมไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในใบจอง ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขการจอง ซึ่งเหล่านี้ เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิขอเงินคืนกลับถูกปฏิเสธ ซึ่งหลายท่านไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเรื่องนี้อยู่        กฎหมายที่ว่า ก็คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2551 เป็นประกาศของสํานักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยประกาศดังกล่าวมีผลให้สัญญาจองรถยนต์ใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุรายละเอียดสาระสําคัญตามที่ได้กําหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีการจอง เช่น ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ (ถ้ามี) จํานวนเงิน หรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นเงินมัดจํา(ถ้ามี) ราคา กําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ฯลฯ        นอกจากควบคุมสัญญาจองรถแล้ว ยังกำหนดสิทธิให้แก่ผู้บริโภคที่สำคัญเลย คือทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาจองได้โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากผู้บริโภค ซึ่งเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคที่มีสิทธิได้รับเงินจองคืนมีดังนี้        1. ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2. ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลากําหนด        3. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กําหนดในสัญญา        4. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กําหนดในสัญญา        5. ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ส่งมอบสัญญาให้แก่ผู้บริโภคหรือส่งมอบสัญญาโดยไม่มีข้อสัญญาที่มีสาระสําคัญ หรือส่งมอบข้อสัญญาที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ ฉบับดังกล่าว จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ        ดังนั้น สำหรับคนที่เจอปัญหาไปจองรถ แล้วไฟแนนซ์ไม่ผ่านก็ไม่ต้องกังวล ตอนนี้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ชัดเจน ว่าบริษัทต้องคืนเงินจอง และต้องคืนภายใน 15 วันนับแต่ที่ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาด้วย ดังนั้น หากผู้ขายไม่คืนเงินจองก็สามารถร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน หรือหากไม่คืนก็สามารถดำเนินคดีต่อศาลได้ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551ข้อ 3 (4) ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ (5) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม (4) แล้วผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อบอกเลิกสัญญาได้นะ

        รู้หรือไม่ว่า ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 นั้นได้กล่าวถึงเหตุที่ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ        1.ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2.ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด        3.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา        4.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญา        และ/หรือ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตามกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        กรณีตัวอย่างของคุณโดมินิค ที่ไปจองรถยนต์ BMW รุ่น 320d iconic ปี 2017 ในราคา 2,329,000 บาท กับบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด โดยพนักงานขายแจ้งให้วางเงินจองไว้จำนวน 50,000 บาท และส่วนที่เหลือให้ทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ โดยมีกำหนดส่งมอบรถยนต์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561        ระหว่างเวลาก่อนส่งมอบนั้น มีงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งคุณโดมินิคลองสอบถามกับพนักงานขายว่า จะมีข้อเสนอพิเศษเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือตนเองจะสามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรุ่นที่สูงขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่า หากต้องการข้อเสนอพิเศษหรืออุปกรณ์เสริมคือกล้องติดรถยนต์ ต้องขยับมารับรถยนต์ในเดือนเมษายน คุณโดมินิคตอบตกลงแต่ขอให้ส่งมอบรถยนต์ก่อนสงกรานต์ พนักงานจึงขอให้นำเอกสารมามอบให้ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าใกล้วันสงกรานต์ทางพนักงานไม่ติดต่อมา คุณโดมินิคจึงติดต่อกลับไปทำให้ทราบว่าบริษัทไฟแนนซ์หยุดยาวช่วงสงกรานต์แล้ว จนวันที่ 20 เมษายนทางพนักงานจึงติดต่อมาแจ้งว่า ไฟแนนซ์อนุมัติไม่เต็มวงเงิน คุณโดมินิคต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 50,000 บาท แต่ไม่มีเอกสารจากทางไฟแนนซ์ยืนยัน บอกเพียงว่าเป็นการอนุมัติแบบพิเศษไม่มีเอกสาร ทำให้คุณโดมินิคไม่แน่ใจจึงบอกปฏิเสธการวางเงินดาวน์เพิ่มและขอยกเลิกสัญญา        เมื่อบอกเลิกสัญญาพนักงานขายได้แจ้งว่า ทางไฟแนนซ์ได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้ แต่คุณโดมินิคก็ยังยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ทำให้ผู้จัดการบริษัทติดต่อกับคุณโดมินิคโดยตรงเพื่อตกลงเงื่อนไขกันใหม่ ซึ่งคุณโดมินิคบอกซ้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องการได้รถยนต์แล้ว  แต่ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัทกลับส่งหนังสือแจ้งการส่งมอบรถยนต์ที่ได้สั่งซื้อตามใบจองมาให้ คุณโดมินิคจึงทำหนังสือแจ้งขอคืนเงินมัดจำกลับไปในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆ จากทางบริษัท คุณโดมินิคจึงขอคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไรต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหา        จากเหตุที่เกิดขึ้น คุณโดมินิคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ และมีสิทธิได้รับการคืนเงินมัดจำ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย และท้ายที่สุดทางบริษัทตกลงคืนเงินจองให้กับผู้ร้องเรียนจำนวน 50,000 บาท แต่ขอหัก 3% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิตที่ทางบริษัทถูกเรียกเก็บ เหลือคืนให้ผู้ร้อง 48,500 บาท ซึ่งผู้ร้องตกลงจึงเป็นอันยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 รถติดไฟแนนซ์ ห้ามเบี้ยว ห้ามทำหาย ห้ามขายต่อ

เศรษฐกิจฝืดเคืองเยี่ยงนี้ ใครที่ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่แล้ว เริ่มช็อต หมุนเงินไม่ทัน โปรดอ่านโดยพลัน 1.    ถ้าคุณทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ แล้วอยู่ในระหว่างผ่อนค่างวดอยู่ โปรดรู้ว่าคุณยังไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอย่างแท้จริง เพราะตามกฎหมายคุณเป็นแค่ “ผู้เช่าซื้อ” ซึ่งมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถเท่านั้น ตราบใดที่คุณผ่อนหมดนั่นล่ะคุณถึงจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์2.    การผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้ออาจเกิดขึ้นได้ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด คุณอาจจะค้างค่างวด หรือจ่ายค่างวดช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่จำไว้ว่า “ห้ามเบี้ยว ผิดนัดจ่ายค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน” เพราะไฟแนนซ์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แล้วมายึดรถคืนไปได้ ถ้าหากไฟแนนซ์ไหน เขียนสัญญาเช่าซื้อต่างไปจากนี้ ก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพราะ สคบ.เขามีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 คุ้มครองผู้เช่าซื้ออยู่ 3.    ในฐานะผู้เช่าซื้อ ผู้ครอบครองรถ คุณต้องใช้สอย ดูแลรักษารถยนต์ที่เช่าซื้อมาให้ดี “ห้ามทำหาย” แต่ถ้าเกิดโชคร้ายจริง ๆ รถที่เช่าซื้อมาถูกขโมยไป คำถามที่พบบ่อยก็คือ แล้วจะต้องจ่ายค่างวดที่เหลือต่อจนครบสัญญาไหม ข้อนี้ในทางกฎหมาย(ประกาศ สคบ. ฉบับข้างต้น) บอกเลยว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อมาหายไป ก็ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุด คุณไม่ต้องผ่อนกุญแจรถต่อ แต่อย่าเพิ่งสบายใจไป คุณยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไฟแนนซ์อยู่ดี 4.    สำหรับคนที่ผ่อนต่อไม่ไหวแล้วคิดจะเอารถไปขายต่อคนอื่น ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะคุณในฐานะคนเช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิเอารถไปขายคนอื่นได้ ถ้าเจ้าหนี้เขารู้ขึ้นมา คุณอาจโดนคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้ ดังนั้น “ห้ามขาย” รถติดไฟแนนซ์แต่ถ้าเป็น “การขายดาวน์” หรือ “ขายสิทธิการเช่าซื้อ” หาคนมาผ่อนรถต่อจากคุณแบบนี้ ทำได้นะครับ แต่ต้องแจ้งไฟแนนซ์ให้รับรู้และทำสัญญาใหม่แก้ไขเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อให้ถูกต้อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 เหลี่ยมไฟแนนซ์

“เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนาในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แต่ผู้บริโภคไทยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริหารประเทศไทย ไม่เคยสนใจคนไทยด้วยกัน “ต้องรอให้ต่างชาติมาให้ใบแดงใบเหลือง” ถึงจะหูตาเหลือกลุกขึ้นมาแก้ไข แต่ถ้าเป็นความเดือดร้อนของคนไทยก้นไม่ร้อน “รอไปก่อนนะ”ชี้กันชัดๆ ดังเรื่องต่อไปนี้ วินัย(นามสมมุติ) มาหารือว่า เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มา 1 คัน โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละ 2,350 บาท เป็นเวลา 24 เดือน วินัยเล่าต่อว่าเขาผ่อนตรงตามสัญญา มาแล้ว 6 งวด(เหลือ 18 งวด) อยู่ๆ ก็ได้รับหนังสือจากไฟแนนซ์ ที่เขาผ่อนรถอยู่ เปิดอ่านก็พบว่า ทางบริษัทเสนอโปรโมชั่นใหม่ ให้กับเขา โดยมีข้อความสำคัญที่เสนอมา คือชื่นชมที่เขาผ่อนตรงตามสัญญา บริษัทเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่างวดลงบ้างในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี บริษัทยินดีเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเป็นการลดภาระในการจ่ายค่างวดของผู้เช่าซื้อดังกล่าวลง จากเดิมที่เคยจ่ายเดือนละ 2,350 บาท ปรับลดลงเป็นเดือนละ 2,069 บาท โดยเงื่อนไขใหม่ระบุชัดเจนว่าผ่อนงวดละ 2,060 บาท โดยผ่อนต่อจากสัญญาเช่าซื้อเดิมที่ชำระไว้แล้วต่อไปอีก 27 งวด วินัยบอกอีกว่า ถ้าดูเผินๆ ก็จะมองได้ว่า เป็นความปรารถนาดีของบริษัทที่มีต่อลูกค้าชั้นดีอย่างเขา แต่เท่าที่อ่านและวิเคราะห์โปรโมชั่นนี้ แยกแยะเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทไฟแนนซ์ได้ดังนี้ 1. โปรโมชั่นนี้จะเลือกเฉพาะลูกค้าที่จ่ายค่างวดตรงเวลา ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายแน่นอน 2. โปรโมชั่นนี้ เป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ผ่อนชำระเข้าใจได้ว่า ตนเองจะจ่ายเงินน้อยลง 3. โปรโมชั่นนี้ เสนอมาอย่างหว่านแห หากผู้เช่าซื้อไม่เท่าทันก็จะกลายเป็นเหยื่อทันที เพราะผลจริงๆ หลังจาก บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าข้อเสนอนั้นไม่ใช่ความหวังดี แต่เป็นข้อเสนอแบบ”ลับ ลวง พราง” เป็นเล่ห์เหลี่ยมของบริษัท เพื่อสร้างความสับสนให้กับผู้เช่าซื้อ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดูง่ายๆ คือเอายอดที่ต้องผ่อนเดิมเดือนละ 2,350 บาท มาคูณค่างวดที่เหลืออีก 18 เดือน เขาจะจ่ายเงินอีกเพียง 42,300 บาท แล้วก็ลองเอาตัวเลขที่บริษัทเสนอมาให้ผ่อนเดือนละ 2,069 บาท มาคูณ 27 เดือน ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายอีก 55,863 บาท ซึ่งมีส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13,563 บาท เห็นชัดๆ ว่าหากผู้เช่าซื้อหลงเชื่อ ทำตามข้อเสนอของบริษัท ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์คือบริษัทเรื่องนี้เป็นแค่ประเด็นตัวอย่าง ที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ของประเทศไทย “อ่อนแอ ไร้การควบคุม” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >