ฉบับที่ 150 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2556 แบนโฆษณา “แค่ดื่มก็สอบได้” สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงดาบสั่งระงับการฉายโฆษณาเครื่องดื่มที่อ้างว่าดื่มแล้วบำรุงสมอง จากการที่มีการอวดอ้างว่าดื่มแล้วช่วยให้นักเรียน – นักศึกษาสอบติดคณะเด่นๆ อย่างคณะแพทย์ วิศวกร ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งเป็นการโฆษณาที่อ้างสรรพคุณเกินจริงและสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค เนื้อหาในโฆษณาที่ทาง สคบ. แพทยสภา และ อย. เห็นว่าเป็นปัญหากับผู้บริโภคก็คือ ประเด็นการโฆษณาสรรพคุณของเครื่องดื่มที่บอกว่าดื่มแล้วทำให้สมองปลอดโปร่ง เติมความรู้ สร้างความจำให้ดีขึ้น ดื่มแล้วก็สามารถสอบเข้าคณะแพทย์หรือคณะอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงได้ ถือว่าเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และการนำนักศึกษาที่ใส่ชุดประจำสถานศึกษาชื่อดังหลายแห่งมาร่วมในโฆษณาเพื่อสื่อว่าสอบติดได้เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม ความฉลาดต้องเกิดจากความขยันตั้งใจศึกษาหาความรู้ อาหารก็ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งถือว่าเพียงพอและเหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม ถ้าใครพบเห็นโฆษณาอาหารหรืออาหารเสริมที่ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค รีบแจ้งไปที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือ อย. 1556     ป้องกันรังสียูวี...ชัวร์หรือมั่วนิ่ม อย.ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด ต้องระบุระดับหรือค่าตัวเลข SPF, PFA หรือ PA ให้ถูกต้องตามคุณสมบัติการทดสอบ โดยผลสำรวจผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปี พ.ศ. 2549-2550 พบการแสดงค่า SPF หรือค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีที่ไม่ถูกต้องตามที่ระบุบนฉลาก ทำให้ผู้บริโภคเกิดการเข้าใจผิด จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดต้องแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดดังนี้ 1. การแสดงค่า SPF ที่มีค่าการป้องกันรังสียูวีอยู่ระหว่าง 6-50 ให้แสดงระดับ หรือค่า SPF ตามจริง ถ้ามีค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีมีค่ามากกว่า 50 ให้แสดง “SPF 50+” ในกรณีที่ไม่มีผลการทดสอบหรือมีผลการทดสอบได้ค่าการป้องกันรังสียูวีต่ำกว่า 6 ไม่ให้แสดงข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด 2. การแสดงค่า PFA หรือ PA ที่แสดงถึงการป้องกันรังสียูวีเอ ให้แสดงระดับสัญลักษณ์ หรือค่าความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค่า PA+, PA++, PA+++ และ PA++++ หมายถึงประสิทธิภาพระดับต่ำ กลาง สูง และสูงมาก ถ้ามีการแสดงค่าความสามารถในการกันน้ำต้องแสดงระดับของประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ โดยให้แสดงค่าว่า Water resistance พร้อมกับแสดงตัวเลขเวลาที่ผ่านการทดสอบในการป้องกัน 40 นาที หรือ 80 นาที   เมื่อคอนโดราคาแพงเกินจริง? ปริมาณคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคหลายรายร้องเรียนผ่าน สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เรื่องราคาขายคอนโดว่าเข้าข่ายแพงเกินจริงหรือไม่? บางโครงการหนึ่งห้องพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ขายราคา 4 – 5 ล้านบาท ราคาจริงน่าจะถูกกว่านั้น สคบ. จึงได้เชิญ สมาคมบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และ สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ร่วมถึงผู้ประกอบการ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการได้ให้เหตุผลที่คอนโดตั้งราคาขายไว้สูงนั้นเกิดจากปัจจัยของต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน ที่ล้วนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าคอนโดไม่ใช้สินค้าควบคุม การตัดสินใจเลือกซื้อเปรียบเทียบคุณภาพและราคานั้นเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ทำได้เองอยู่แล้ว ทาง สคบ. ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขายคอนโดต้องแสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย เช่น ชนิดหรือราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน รายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคที่โครงการมอบให้ผู้ซื้อ หลังจากนี้ สคบ. จะร่วมกับสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เพื่อตรวจประเมินหาราคากลางที่เหมาะสมของโครงการคอนโดต่างๆ และจะประสานกับกรมการค้าภายในเพื่อดูความเหมาะสมของราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง     ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดเสวนาทางวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค หลังจากทั้ง 2 มูลนิธิได้มีการแถลงผลการทดสอบข้าวสารบรรจุถุงที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารโบรไมด์อิออนที่ตกค้างจากการใช้สารเมทิลโบรไมด์รมควันข้าวสารเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex จนกลายเป็นประเด็นทางสังคม โดยการเสวนาทางวิชาการมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง แพทย์ นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ นักโภชนาการ นักพิษวิทยา นักการเกษตร และสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค โดยมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในประเด็นที่ว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน หรือคนที่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ส่วนข้อมูลเรื่องการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงนั้น  สามารถลดการตกค้างได้บางส่วน แต่ยังมีปริมาณการตกค้างหลังหุงยังต้องทำการศึกษาเพิ่ม เพราะผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกัน งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4%     ร้อง สคบ. ช่วยจัดการกรณี รถเชฟโรเลต ครูซ ขับไปซ่อมไป ผู้ผลิตเลี่ยงรับผิดชอบ กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถเชฟโรเลต ครูซ และ แคปติวา จำนวน 25 ราย ได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากพบปัญหาจากการใช้รถ ทั้งๆ ที่เป็นรถใหม่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้ไม่นาน ซึ่งปัญหาที่พบถือเป็นปัญหาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต เช่น รถคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง รถพุ่งไปข้างหน้าเองในขณะที่จอดติดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง ในขณะเปลี่ยนเกียร์ระบบเกียร์ล็อค เปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ เป็นต้น กลุ่มผู้เสียหายและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เข้ายื่นหนังสือกับเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้เสียหารและดำเนินการกับผู้ประกอบการ คือ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย โดยผู้เสียหายเรียกร้องให้ สคบ. ช่วยดำเนินการเรียกผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งหากการเจรจาหาข้อตกลงไม่ได้ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และให้มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพรถที่มีปัญหาเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ โดยระหว่างการตรวจสอบให้ สคบ. ออกคำสั่งห้ามขายรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาชั่วคราว จนกว่าจะมีผลพิสูจน์ความผิดปกติที่เกิดขึ้น และหากพิสูจน์แล้วพบว่าความบกพร่องเกิดจากผู้ผลิต ต้องออกคำสั่งให้บริษัทรับซื้อคืนรถคันดังกล่าวจากผู้ซื้อที่ได้รับความเสียหาย   //

อ่านเพิ่มเติม >