ฉบับที่ 127 เลือกไดร์เป่าผมกับฉลาดซื้อ

  ฉลาดซื้อฉบับนี้ เอาใจคนผมยุ่งด้วยการทดสอบประสิทธิภาพไดร์เป่าผม โดยการทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยนั้น ดำเนินการโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สำหรับในส่วนการทดสอบเรื่องความพึงพอใจ นิตยสารฉลาดซื้อได้รับความร่วมมือจาก สมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อเข้าร่วมทดสอบไดร์ไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2554  ไดร์เป่าผมที่เลือกมาทดสอบในครั้งนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ รุ่นกำลังไฟไม่เกิน 1200 วัตต์ 5 ตัวอย่าง และรุ่นที่กำลังไฟเกิน 1200 วัตต์ 4 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 9 ตัวอย่าง  ผลการทดสอบ  ในกลุ่มไม่เกิน 1,200 วัตต์ ไดร์ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ PHILIPS HP4931 ส่วนในกลุ่มที่กำลังไฟเกิน 1,200 วัตต์ ไดร์ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ PANASONIC (EH-NE50-S)  และหากวัดในเรื่องความพึงพอใจ สมาชิกฉลาดซื้อเลือก PANASONIC (EH-NE50-S) เป็นอันดับหนึ่ง สูสีกับ PHILPS HP4931 ที่ตามมาเป็นอันดับสอง PHILIPS HP4931 5 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1200 ราคา (บาท) 620 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 5 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 4 ดาว PANASONIC(EH-NE50-S) 4 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1600 ราคา (บาท) 1,150 คุณภาพสินค้า 5 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 3 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 5 ดาว BABYLISS PRO Nano Titanium 4 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1750 ราคา (บาท) 2,500 คุณภาพสินค้า 5 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 3 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว MAMARU MR-7502 4 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1850 ราคา (บาท) 390 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 3 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว LE'SASHA LS0300 3  ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1200 ราคา (บาท) 590 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว   PANASONIC EH-ND11-A 3 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1000 ราคา (บาท) 369 คุณภาพสินค้า 2 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 4 ดาว     REMINGTON PROFRESSIONAL TRAVEL 1800 D2922 3  ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1800 ราคา (บาท) 1,350 คุณภาพสินค้า 4 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 2 ดาว ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว   SEVERIN HT6021 2 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1000 ราคา (บาท) 665 คุณภาพสินค้า 1 ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ความปลอดภัย 5 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 3 ดาว   AIKO Cool Function OL-1280 1 ดาว กำลังไฟ (วัตต์) 1200 ราคา (บาท) 399 คุณภาพสินค้า 2 ดาว ประสิทธิภาพการใช้งาน 1 ดาว ความปลอดภัย 3 ดาว ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 2 ดาว  *สัดส่วนการให้คะแนน ประเมินคุณภาพสินค้า 25% (หมายถึง คุณภาพวัสดุ ฟังก์ชันการทำงาน สายไฟ อุปกรณ์เสริม)ประสิทธิภาพการใช้งาน 40% (หมายถึง ความแรงลม ความร้อนของลม เสียง)ด้านความปลอดภัย 25% (หมายถึง ความแน่นหนาการต่อเชื่อมเครื่องกับสายไฟ มอก. คู่มือฉลาก คำเตือน ประกัน)ความพึงพอใจจากการใช้งานจริง 10% (จากการทดลองใช้งานของสมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อ 16 คน)  **เกณฑ์การให้ดาว เมื่อเทียบเป็น 100 คะแนน ต่ำกว่า 50 = 1 ดาว50-59 = 2 ดาว60-69 = 3 ดาว70-79 = 4 ดาว80-100 = 5 ดาว90-100 = 5 ดาว การเลือกซื้อไดร์เป่าผม 1. วัตถุประสงค์การใช้ • แบบพกพา จุดสังเกตที่ควรจะดู คือข้อต่อของตัวด้ามจับที่ควรจะมีความแข็งแรง ไม่พับเก็บง่ายจนเกินไป• แบบใช้ในบ้านหรือร้านเสริมสวย โดยทั่วไปมักจะเลือกไดร์เป่าผมที่มีกำลังวัตต์สูง แต่ก็ควรคำนึงถึงความแรงของลมให้สอดคล้องกันด้วย เพราะไดร์บางตัวมีกำลังวัตต์สูงแต่ให้แรงลมเบากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กินไฟเกินความจำเป็น    2. ลองก่อนซื้อ  กำลังวัตต์ที่สูงไม่ได้บ่งชี้ว่าจะมีลมแรงหรือร้อนกว่าเสมอไป เนื่องจากการออกแบบของแต่ละยี่ห้อนั้นมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นควรลองก่อนหลายๆ ยี่ห้อเพื่อเปรียบเทียบจากกร้านที่ซื้อ  3. คุณสมบัติ / ฟังก์ชันการทำงานคุณสมบัติที่ไดร์เป่าผมควรจะมีคือ ควรจะปรับความแรงลมได้หลายระดับ และมีปุ่มปรับลมเย็น (Cool) ซึ่ง ทำให้ปรับเป็นลมเย็นได้ในทันที เทคนิคการใช้ลมร้อนและลมเย็นมีดังนี้คือ ลมร้อนจะช่วยทำให้ผมเป็นเกลียวหรือเรียบได้เร็ว แต่ไม่ควรเป่าแช่ค้างที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเพราะจะทำให้ผมไหม้ แห้งกรอบ และเสียได้ ส่วนลมเย็นจะช่วยให้เกลียวผมอยู่ตัวและเรียบนาน  (เพิ่มเติม: นอกจากนี้ ไดร์เป่าผมรุ่นใหม่ยังเพิ่มเครื่องพ่นไอออนประจุลบ เพื่อช่วยรักษาสุขภาพผม เพราะประจุลบที่ปล่อยลงไปเคลือบเส้นผมขณะเป่า จะช่วยเก็บความชุ่มชื้นเข้าสู่แกนผม ผมจึงเสียน้อยลง แต่หลักการนี้จะใช้ได้ดีจริงหรือไม่เพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเส้นผมของแต่ละคนด้วย) วิธีการใช้ไดร์เป่าผม หลังจากสระผมเสร็จ ก่อนจะเริ่มไดร์ผม ใช้ผ้าขนหนูซับให้ผมแห้งหมาดๆ เสียก่อน และเปิดเครื่องไดร์ไปที่ระดับความร้อนและแรงลมสูงสุด เป่าผมทั่วศีรษะให้หายเปียกชื้น และปรับลดความร้อนลงเมื่อต้องการจัดแต่งทรงผมโดยเฉพาะถ้าเป็นผมดัด ผมย้อม หรือผมที่แห้งเสียอยู่แล้ว ควรใช้ความร้อนและแรงลมต่ำๆ เข้าไว้ เมื่อเราแปรงผมและไดร์ผมในลักษณะช้อนผมขึ้น  จะช่วยให้ผมดูดก หนาและดูมีน้ำหนัก  ต่อจากนั้นจึงแปรงผมและไดร์ให้เข้ารูปเข้าทรงตามทรงผมที่ต้องการ    การดูแลรักษาไดร์เป่าผม  เมื่อเลิกใช้งาน: 1. ปิดสวิตช์ และถอดปลั๊กออก2. วางเครื่องเป่าผมลงบนพื้นผิวที่ทนความร้อน ปล่อยไว้จนกระทั่งเครื่องเย็นลง3. ถอดแผงครอบทางลมเข้าออกจากเครื่องเพื่อกำจัดเศษผมและฝุ่นผงออก4. ทำความสะอาดตัวเครื่องด้วยผ้าชุบน้ำพอหมาด5. เก็บเครื่องไว้ในที่แห้งและปลอดภัย ปราศจากฝุ่น คุณสามารถเก็บเครื่องโดยแขวนด้วยห่วงสำหรับแขวน6. ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผมติดต่อกันนานจนเกินไปโดยไม่พัก ควรมีการปิดเครื่องพักเป็นระยะๆ เพื่อช่วยผ่อนแรงของมอเตอร์ เป็นการยืดอายุของไดร์   ข้อควรระวัง1.  ห้ามใช้ไดร์เป่าผมใกล้น้ำ2. ห้ามปิดกั้นตะแกรงช่องลมของตัวเครื่อง3. ห้ามพันสายไฟรอบเครื่อง4. ก่อนใช้ควรตรวจดูสภาพของไดร์เป่าผมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 118 ไดร์เป่าผมกับแร่ใยหิน

ใครที่ติดตามข่าวสารเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่บ้าง น่าจะเคยได้ยินข่าวการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่พยายามผลักดันให้ภาครัฐฯ ออกข้อบังคับให้มีการยกเลิกการผลิตและนำเข้าสินค้าที่มีส่วนประกอบของ “แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โดยเจ้าวายร้ายแร่ใยหินถือเป็นส่วนผสมหลักในสินค้าก่อสร้าง ทั้ง ซีเมนต์ ฝ้าปูผนัง กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น  อ่านถึงตรงนี้แฟน “ฉลาดซื้อ” อย่าเพิ่งทำเป็นไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างถ้าไม่ได้เป็นช่าง ชีวิตประจำวันก็คงไม่ได้ข้องเกี่ยว แต่แร่ใยหินอยู่ใกล้ชิดเรามากกว่านั้น เพราะความจริงแร่ใยหินมีอยู่ทั้งใน เครื่องปิ้งขนมปัง แป้งฝุ่น เครื่องอบไอน้ำ และไดร์เป่าผม ...เริ่มรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นแล้วใช่มั้ย... “ฉลาดซื้อ” เราเป็นพวกขี้สงสัยและห่วงใยผู้บริโภคทุกคน เราจึงอาสาไขข้อสงสัยด้วยผลทดสอบ “แร่ใยหินในไดร์เป่าผม” แร่ใยหิน ทำไมมาอยู่ใน ไดร์เป่าผม!?  แร่ใยหิน จะทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในฉนวนนำความร้อนสำหรับไดร์เป่าผม เพราะแร่ใยหินมีคุณสมบัติในการทนความร้อนได้ดี ซึ่งเวลาใช้ไดร์เป่าผมแร่ใยหินจะหลุดล่อนออกมาและผู้ใช้ก็จะหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไป หากมีการหายใจรับเอาแร่นี้เข้าไปในปริมาณมากเป็นเวลานานๆ ก็จะส่งผลร้ายกับปอดของเรา เสี่ยงจะทำให้เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้  ปี 1981 เคยมีผลสำรวจในอเมริกา พบว่าไดร์เป่าผมและเครื่องอบผมที่ใช้อยู่ตามบ้านและในร้านเสริมสวย มีปริมาณแร่ใยหินหลุดออกมาในระหว่างการใช้งานเกินมาตรฐานความปลอดภัย ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยพบหลุดปลิวออกมามากที่สุดที่ 0.11 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งทำให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา  ออกประกาศเตือนผู้บริโภค และขอความร่วมมือให้บริษัทเรียกเก็บคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด กว่า 20 ล้านชิ้น และนำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมการใช้แร่ใยหินในการผลิตฉนวนความร้อนในปี 1989   ผ่าพิสูจน์แร่ใยหินในไดร์เป่าผม“ฉลาดซื้อ” ได้รับความช่วยเหลือจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการทดสอบพิสูจน์หาแร่ใยหินในไดร์เป่าผมโดยผลการวิเคราะห์ชนิดสารประกอบในชิ้นงานฉนวนกันความร้อนในไดร์เป่าผม ทั้ง 11 ตัวอย่าง โดยใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ (X-ray diffraction, XRD) พบว่าฉนวนกันความร้อน ทั้งหมดผลิตจากแร่มัสโคไวต์ (muscovite, KAl2(Si,Al)4O10(OH)2) แร่นี้มีสมบัติทนความร้อน และต้านทานกระแสไฟฟ้าได้ดี จึงนิยมผลิตเป็นฉนวนกันความร้อนและฉนวนไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ไดร์เป่าผม และเตาไมโครเวฟ การวิเคราะห์ชนิดสารประกอบในครั้งนี้ไม่พบพีคที่ตรงกับพีคของแร่ใยหิน   สรุปก็คือ เราไม่พบแร่ใยหินในตัวอย่างไดร์เป่าผมที่ทดสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เรายังคงสามารถเสริมสวย เสริมหล่อ จัดแต่งทรงผม ด้วยไดร์เป่าผมอย่างสบายใจกันได้อยู่แต่...อย่างไรก็ตามวิธีการเตรียมตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้ยังมีขีดจำกัดไม่สามารถตรวจสอบแร่ใยหินที่ปนเปื้อนในปริมาณน้อยได้ การตรวจสอบแร่ใยหินในปริมาณน้อยควรดำเนินการ ทดสอบตามมาตรฐาน   PLM) ช่วยยืนยันผลทดสอบจากเทคนิค XRD ด้วย ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” จึงตั้งใจว่าจะต้องมีการทดสอบเพื่อเป็นการยืนยันผลอีกครั้ง   รู้จัก “แร่ใยหิน” แร่ใยหิน หรือ  แอสเบสตอส (asbestos) คือ กลุ่มแร่อนินทรีย์ตามธรรมชาติชนิด ไครโซไทล์ มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ดี แถมยังแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น จึงทำให้แร่ใยหินกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าจำพวกวัสดุก่อสร้าง ทั้งในแผ่นฝ้าปูผนัง กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ นอกจากนี้ยังมีอยู่ในสินค้าอื่นๆ เช่น ผ้าเบรก เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องอบผม ไดร์เป่าผม เครื่องสำอางจำพวกแป้งฝุ่น อันตรายของแร่ใยหิน คืออนุภาคของแร่ใยหินเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปจับอยู่ที่ปอดเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอักเสบ   สถานการณ์แร่ใยหินรอบโลกในช่วงปี 1950 – 1980 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้ง อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเป็นจำนวนมากในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ อย่างในปี 1950 สหรัฐอเมริกาเคยมีการใช้แร่ใยหินสูงสุดถึง 4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จนกระทั่งในปี 1986 มีรายงานว่าพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในอเมริกาถึง 68 ราย และเริ่มพบในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน จนนำไปสู่มาตรการการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว 47 ประเทศ   สำหรับในเมืองไทยในช่วงปี 1990 – 2000 มีการใช้แร่ใยหินอยู่ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก ไทยเราถือเป็นประเทศที่มีการใช้แร่ใยหินต่อคนต่อปีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก1 (อันดับ 1 คือรัสเซีย) เหตุผลเพราะประเทศไทยเรายังไม่มีความตื่นตัวถึงอันตรายของแร่ใยหินซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปอด เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้มีผลในทันทีแต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 20 ปี ทำให้เราจึงยังมองข้ามอันตรายของแร่ใยหิน และผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่เรามักมองกันว่าเกิดจากสาเหตุอื่นเป็นหลัก นั่นเป็นเรามองข้ามอันตรายของฝุ่นละอองของแร่ใยหินซึ่งอาจปลิวอยู่ในบ้านหรืออาคารที่เราพักอาศัยอยู่ *มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดกว่า 1,295 คนต่อปี2   เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงการควบคุมการใช้แร่ใยหิน เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหินแก่ประชาชนทั่วไป บังคับใช้กฎหมายตรวจสอบเรื่องการใช้ฉลากคำเตือนกับผู้ประกอบการ ร่วมกันเป็นเครือข่ายตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน รวมทั้งผลักดันให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศไทย  1ข้อมูลจากเอกสาร “พิษภัยจากแร่ใยหิน มาตรการแร่ใยหินในไทย : มาตรการที่ต่ำกว่าสากล”.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)2ข้อมูลจากเอกสาร “พิษภัยจากแร่ใยหิน มะเร็งปอดและโรคปอดจากแร่ใยหิน”.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point