ฉบับที่ 232 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกัน COVID-19 ได้จริงหรือไม่

        มีการถามและแชร์กันว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีน BCG (วัคซีนป้องกันวัณโรค) ก็จะเป็นโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยรับการฉีด จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โควิด-19 เหมือนและต่างกับไข้หวัดใหญ่อย่างไร        อย่างแรก ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ก่อโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการตั้งแต่ ไม่มีอาการอะไรเลย อาการเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงและเสียชีวิต อย่างที่สอง ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อทางการสัมผัส ละอองของเหลวจากการไอ จาม         ไข้หวัดใหญ่จะมีระยะฟักตัวของเชื้อและเกิดอาการสั้นกว่าโควิด-19 (ระยะติดเชื้อและเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 3 วัน ในขณะที่โควิด-19 ประมาณ 5-6 วัน) ซึ่งหมายความว่า ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่า          นอกจากนี้ โควิด-19 มีอัตราการตายร้อยละ 1-5 ซึ่งมากกว่าไข้หวัดใหญ่ที่อัตราการตายน้อยกว่าร้อยละ 0.5 แต่ในช่วงฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อในประชากรได้เป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากร วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ เนื่องจากเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ จึงต้องมีวัคซีนเฉพาะ         แต่ถึงแม้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการตายและการอยู่ในโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ การลดผู้ป่วยลงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาเหลือพอในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วัคซีนบีซีจีลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนบีซีจีป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อโควิด-19โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำคัญๆ และงานวิจัยทางคลินิก ที่นักวิจัยอ้างว่า ในประเทศที่มีการให้วัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด จะพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ให้วัคซีนบีซีจี ซึ่งพบว่า มีปัจจัยรบกวนที่มีอคติ ทำให้ผลการวิจัยไม่น่าเชื่อถือ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่         ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การล้างจมูกเป็นประจำด้วยน้ำเกลือจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่มีหลักฐานบ้างว่า การล้างจมูกดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ การกินกระเทียมช่วยป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        แม้ว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์และมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า การกินกระเทียมจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้         สรุป  วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และบีซีจี ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ป้องกันไม่ให้เราป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2561

ศาลยกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องลูกค้ากว่า 84 ล้านบาทกรณี บจก.มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายลูกค้ากว่า 84 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 เหตุผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซลที่พบปัญหาการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยบริษัทมาสด้าให้เหตุผลการฟ้องคดีว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงนั้น         เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61  ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี  ชี้ว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้เสียหาย เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถมีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ซึ่งไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามที่บริษัทอ้าง ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายที่ถูกฟ้อง ได้กล่าวฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การพยากรณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และไข้เลือดออก ซึ่งไข้หวัดใหญ่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัดส่วนโรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่งกรณีโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ ‘ออมสิน’ ชะลอฟ้อง - งดบังคับคดี ตุ๊กตุ๊ก โครงการสามล้อเอื้ออาทรเมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อ ในโครงการสามล้อเอื้ออาทร กว่า 150 ราย เดินทางไปยังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน และขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารหนี้และกฎหมาย กลุ่มปฏิบัติงาน ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหาย โดยจะยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และงดการบังคับคดี และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยได้นัดให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหาย มารับฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.6213 เม.ย. 62 รพ.เอกชนยอมกางบัญชี "ราคายา-ค่ารักษา" ขึ้นเว็บไซต์          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งเตรียมเผยแพร่ราคายา-ค่ารักษาบนเว็บไซต์ รพ.และเว็บไซต์กลาง ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมชี้ว่า รพ.เอกชนเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราคาได้ แต่คงบังคับให้ลดราคาไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะต้องง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นข้อความทางเทคนิค ซึ่งยาที่จะประกาศราคานั้น เบื้องต้น จะมีประมาณ 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ หวังเพื่อให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาและเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาที่แพงเกินความเหมาะสม ยื่นฟ้อง ไทยพาณิชย์ เหตุคนร้ายโจรกรรมเงินฝากผ่านแอพฯ กว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 15 พ.ย.61 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. และ น.ส.ธนิตา จิราพณิช อาชีพนักแสดงอิสระ ซึ่งเป็นผู้เสียหายสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จากการถูกโจรกรรมข้อมูลและเงินในบัญชีเงินฝาก เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (จำเลยที่ 1) และ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (จำเลยที่ 2)        กรณีนี้ คนร้ายได้หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้เสียหาย ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เพื่อใช้สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งบนมือถือของคนร้าย และโจรกรรมเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนเปิด SCBFP กองทุนเปิด WINR และกองทุนตราสารหนี้ที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท หลักทรัพย์จัดการรองทุน ไทยพาณิชย์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 รวมกว่า 50 ครั้ง นับรวมความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องก็ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาล โดย นายเฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งการตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงระบบสารสนเทศ การติดตามแจ้งเตือน การแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมไม่มีมาตรฐาน จนทำให้คนร้ายสามารถทำการโจรกรรมเงินในบัญชีและกองทุนของผู้เสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อมจริงหรือ

หลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพราะกลัวว่าจะเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากมีเว็บไซต์ของการแพทย์ทางเลือกหลายเว็บไซต์จากต่างประเทศกล่าวถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ยอมเป็นไข้หวัดใหญ่ดีกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไรวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดปีละครั้ง และต้องฉีดทุกปี วัคซีนนี้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งมีอาการไข้ ไอ บวม และอาจเกิดอาการปอดอักเสบหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปอดบวม  ทุกปีวัคซีนนี้ต้องคัดเชื้อที่คิดว่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น และสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้ประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอัลไซเมอร์จริงหรือ สมาคมอัลไซเมอร์แห่งอเมริกา แถลงว่า ความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(หรือสารเคมีในวัคซีน) ก่อความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์นั้น เป็นความหลงเชื่อที่ผิด และไม่เป็นความจริง เหตุที่เชื่อนั้นเพราะ วัคซีนจะมีสารปรอทซึ่งเป็นสารกันเสื่อมของวัคซีนบางชนิด(วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดแค่ครั้งเดียว จึงไม่ต้องใช้สารนี้)  หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรค ได้ทำการวิจัยและพบว่า ปริมาณของปรอทนั้นมีปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายมากไปกว่าการบวมและแดงเล็กน้อยเมื่อฉีดวัคซีนงานวิจัยกลับบอกผลตรงกันข้ามจากการทบทวนงานวิจัยในหลายๆ ที่ พบว่า งานวิจัยในวารสาร Canadian Medical Journal ปีค.ศ. 2001 มีการวิจัยในประชากร 4, ราย  392 รายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงลดลงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก หรือโปลิโอ  งานวิจัยนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่ารายงานอีกเรื่องในวารสาร JAMA ค.ศ. 2004 พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการตายจากสาเหตุต่างๆ ทุกประเภท  ซึ่งในวารสาร Pubmed ได้นำบทคัดย่อไปเผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ การศึกษาล่าสุดในไต้หวัน ปีค.ศ. 2016 เป็นการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จำนวน 11,943 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48 และที่เหลืออีก 6,192 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการลดลงของการเกิดโรคความจำเสื่อมโดยสรุป ความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ นั้น ไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว  ในทางตรงข้าม กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลับมีความเสี่ยงและการเกิดโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 รู้เท่าทันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสอบถามกันจากเพื่อนๆ ทางไลน์และเฟสจำนวนมากว่า มีการชักชวนทางเว็บไซต์ให้ผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เข็มละ 2,000 บาท ฉีดครั้งเดียวสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดชีวิต และมีการกล่าวอ้างให้ไปฉีดที่สภากาชาดไทย (ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีบริการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ จำนวนมาก)”  สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดชีวิตจริงหรือไม่  ถ้าจริงก็ยินดีที่จะเสียเงินเพราะคุ้มเนื่องจากไม่ต้องฉีดทุกปีเหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดให้ฟรีตามโรงพยาบาลต่างๆ       การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้จริงหรือไม่  ฉีดครั้งเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิตจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันดีกว่า     จาการสืบค้นการทบทวนงานวิจัยใน PubMed และ Cochrane Library พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเป็นระบบ ดังนี้     ใน PubMed มีการตีพิมพ์บทความการทบทวนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาณ(meta-analysis) โดยคัดกรองบทความ 5,707 บทความ พบบทความที่เกี่ยวข้อง 31 บทความ  พบว่า  ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (trivalent inactivated vaccine) แสดงผลใน 8 (67%) จาก 12 ฤดู (ผลรวมของประสิทธิผล 59% ในผู้ใหญ่อายุ 18-65 ปี และผลการป้องกันดังกล่าวจะลดลงอย่างมากหรือไม่มีผลเลยในบางฤดู  และยังไม่มีหลักฐานที่ดีพอในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป  ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (live attenuated influenza vaccine) แสดงผลใน 9 (75%) จาก 12 ฤดู  (ผลรวมของประสิทธิผล 83% ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 7 ขวบ  ในเด็กที่อายุมากกว่านี้จะได้ผลน้อยลง  จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนแบบใหม่ที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่รับรองแล้วในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากไช้หวัดใหญ่     ใน Cochrane Library ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในงานวิจัยต่างๆ จำนวนมาก ทั้งในห้องสมุดคอเครน, MEDLINE (1966-2009) EMBASE (1974-2009)  และ Web of Science (1974-2009)  พบว่า  จากหลักฐานงานวิจัยต่างๆ ที่คัดกรองเข้ามาศึกษา 75 บทความ  บทความเหล่านี้มีคุณภาพการศึกษาที่ไม่ดีพอและไม่ยืนยันเกี่ยวกับความปลอดภัย ประสิทธิผล หรือประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนแบบเชื้อตายที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่  ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป   จึงควรที่จะมีการศึกษาแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม โดยทำการศึกษาในระยะเวลาหลายฤดู เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้     สรุปว่า ในขณะนี้ยังไม่หลักฐานทางการแพทย์หรือการวิจัยที่ดีพอ ที่จะยืนยัน นั่งยันได้ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้อย่างจริงจัง ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  และในบางฤดูกาลกลับได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย  ยกเว้นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะได้ผลในเด็กเล็กก่อน 7 ขวบเท่านั้น  จึงควรที่ผู้สูงอายุจะกลับมาที่การดูแลสุขภาพตนเอง  ออกกำลังกายให้แข็งแรง  ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากผู้อื่น จะเป็นสิ่งที่ได้ผลมากกว่าการฉีดวัคซีน    คงต้องเพิ่มอีกข้อในกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อเพราะไลน์หรือเฟสส่งต่อกันมา (มา อนุสฺสเวน)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 รู้เท่าทันวิตามินซีกับไข้หวัดธรรมดา

ฤดูหนาวเริ่มมาถึงแล้ว เด็กๆ ผู้สูงอายุ แม้กระทั่งคนหนุ่มสาวมีโอกาสที่จะเป็นไข้หวัดธรรมดาได้ง่าย  มีคนถามกันมากว่า การกินวิตามินซีขนาดสูงจะช่วยป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดาได้หรือไม่  จึงลองสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ของ Cochrane (ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของบุคลากรด้านสุขภาพ นักวิจัย ผู้ป่วยและอื่นๆ ที่ร่วมกันทำหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ    Cochrane เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ มีเครือข่ายกว่า 120 ประเทศที่ทำงานร่วมกันเพื่อผลิตสารสนเทศทางด้านสุขภาพที่เชื่อมั่นได้และเข้าถึง โดยปราศจากการสนับสนุนจากธุรกิจและองค์กรอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน)  ในการทบทวนของ Cochrane เกี่ยวกับวิตามินซีในการป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดา มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอดังต่อไปนี้ ไข้หวัดธรรมดาเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยที่ทำให้เด็กต้องขาดเรียน ผู้ใหญ่ต้องขาดงาน ที่สำคัญคือผู้สูงอายุนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  มีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดา มีอาการต่างๆ ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ และอาจมีอาการปวดศีรษะ ไข้ ตาแดง  อาการของไข้หวัดนั้นแตกต่างกันตามแต่ละคน และแต่ละชนิดของไข้หวัด  เนื่องจากไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงมีการหาวิธีการรักษาทางเลือกอื่นๆ อย่างมากมาย มีการนำวิตามินซีมาใช้ในการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ ตั้งแต่มีการแยกสารวิตามินซีออกมาได้ในทศวรรษค.ศ. 1930  ต่อมาในทศวรรษค.ศ. 1970 เกิดความนิยมในการใช้วิตามินซีในการรักษาไข้หวัดธรรมดาอย่างมากมายเมื่อ ลีนัส พอลลิ่ง ซึ่งได้รับรางวัลโนเบิล สรุปผลจากการทดลองใช้วิตามินซีแบบมีกลุ่มควบคุมว่า วิตามินซีสามารถป้องกันและบรรเทาไข้หวัดธรรมดาได้  หลังจากนั้นมีการทำการศึกษาทดลองตามมากว่า 20 การศึกษา  วิตามินซีจึงถูกขายและใช้เป็นสารป้องกันและรักษาไข้หวัดอย่างแพร่หลาย   การทบทวนนี้จำกัดเฉพาะการศึกษาทดลองใช้วิตามินซีขนาด 0.2 กรัมต่อวัน หรือมากกว่าการกินวิตามินซีสม่ำเสมอไม่มีผลกระทบต่ออุบัติการณ์ของไข้หวัดธรรมดาในประชากรทั่วไป โดยทบทวนจากการศึกษาเปรียบเทียบจำนวน 29 รายงาน ครอบคลุมประชากร 11,306 ราย  อย่างไรก็ตาม การกินเสริมเป็นประจำมีผลพอควรแต่ชัดเจนในการลดระยะเวลาการเป็นไข้หวัดธรรมดา จากฐานการศึกษาเปรียบเทียบ 31 รายงานและมีการเกิดไข้หวัดธรรมดา 9,745 ครั้ง   การทดลอง 5 รายงาน ในประชากร 598 รายที่ออกกำลังกายระยะสั้นอย่างหนัก (ได้แก่ นักวิ่งมาราธอน นักเล่นสกี)  พบว่า วิตามินซีลดความเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่ลงครึ่งหนึ่ง  แต่ไม่มีการรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวิตามินซี   การทดลองให้วิตามินซีในขนาดสูงเพื่อเป็นการรักษา โดยเริ่มให้เมื่อเกิดอาการ พบว่า ไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาในการเป็น หรือความรุนแรงของไข้หวัดธรรมดา  อย่างไรก็ตาม มีการทำการทดลองเพียงสองสามรายงานเท่านั้น และไม่มีการศึกษาในเด็ก แม้ว่าผลกระทบในการป้องกันไข้หวัดธรรมดาในเด็กจะมีมากกว่าวัยอื่น  มีการทดลองขนาดใหญ่หนึ่งการทดลองในผู้ใหญ่ รายงานผลดีในการให้วิตามินซี 8 กรัมซึ่งเป็นขนาดในการรักษาเมื่อเริ่มเกิดอาการ  และมีการทดลอง 2 รายงานที่ให้กินวิตามินซีเสริมเพื่อการรักษาเป็นเวลา 5 วัน และพบว่าเกิดประโยฃน์  มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดลองเพิ่มขึ้นเพื่อตัดสินบทบาทในการรักษาไข้หวัดธรรมดาที่เป็นไปได้ของวิตามินซี ซึ่งจะต้องให้ทันทีเมื่อเกิดอาการ ดูเพิ่มเติมใน: http://summaries.cochrane.org/CD000980/ARI_vitamin-c-for-preventing-and-treating-the-common-cold#sthash.NdamaOV4.dpuf  

อ่านเพิ่มเติม >