ฉบับที่ 224 จุด จุด จุด บนไข่ขาวของไข่เค็ม

ไข่เค็ม เป็นวิธีการถนอมอาหารชนิดหนึ่ง เพื่อให้เราเก็บไข่ไว้ทานได้นานขึ้น แต่ก่อนทานเราก็ควรสังเกตสักนิดว่าเนื้อไข่ขาวๆ นั้น มีสิ่งแปลกๆ ติดอยู่หรือไม่ อย่างเช่นผู้บริโภครายนี้        คุณภูผา อยากทานข้าวต้มกุ้ย จึงทำกับข้าวทานกับครอบครัว มื้อนั้นมีกับข้าวหลายอย่าง ทั้งผัดผักบุ้งไฟแดง ต้มจับฉ่าย ยำปลาสลิด กุนเชียงทอด ไข่เจียว ไข่เค็ม ซึ่งปัญหามาเกิดตรงกับข้าวอย่างสุดท้าย คือไข่เค็ม คุณภูผาได้ทานไข่แดงเค็ม และไข่ขาวไปนิดหน่อย และสังเกตเห็นว่าที่ไข่ขาวของไข่เค็มมีสิ่งแปลกๆ เมื่อนำมาดูใกล้ๆ พบว่า ไข่ขาวเค็มที่ทานเข้าไปนั้นขึ้นรา คุณภูผางงมากว่าไข่เค็มจะขึ้นราได้อย่างไร เพราะว่าเขาเพิ่งซื้อไข่เค็มจากห้างค้าส่งชื่อดังแห่งหนึ่งวันนี้เอง (วันที่ 4 กันยายน 2562)         กับข้าวจานไข่เค็มถูกเททิ้งไป หลังจากกินข้าวเสร็จจึงนำกล่องที่ใส่ไข่เค็มมาดูก็พบว่า ไข่เค็มหมดอายุตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 คุณภูผามีความกังวล เพราะว่าได้ทานไข่เค็มที่มีเชื้อราเข้าไปจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเขาบ้างหรือไม่ จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการกระทำของห้างค้าส่งเป็นการจำหน่ายอาหารหมดอายุ ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         และแนะนำวิธีการจัดการปัญหาเบื้องต้นดังนี้        1. ผู้ร้องถ่ายรูป(ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของไข่เค็มและใบเสร็จจากห้างค้าส่งไว้เป็นหลักฐาน(ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. ผู้ร้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย โดยเล่าให้แพทย์ฟังว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เพื่อแพทย์จะได้แนะนำวิธีการตรวจและติดตามการรักษาได้อย่างถูก และขอใบรับรองแพทย์ที่ลงความเห็นเกี่ยวกับอาการ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน(กรณีรับประทานอาหารไปแล้ว)        3. ผู้ร้องนำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อเป็นหลักฐาน        4. ผู้ร้องติดต่อไปยังห้างค้าส่งที่ผู้ร้องซื้อไข่เค็ม ให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยผู้ร้องต้องคิดว่าจะให้ห้างค้าส่งรับผิดชอบต่อผู้ร้องอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ, ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น        5. ถ้าผู้ร้องไม่สามารถตกลงกับห้างค้าส่งได้ ให้ผู้ร้องทำหนังสือยื่นกับบริษัทเจ้าของห้างค้าส่ง โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง และส่งไปยังประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า เพื่อให้บริษัททราบและดำเนินการแก้ไขปัญหา          คุณภูผาได้ติดต่อกับทางห้างแล้ว ขณะนี้กำลังรอคำตอบอยู่ ว่าเรื่องจะจบลงตรงไหน

อ่านเพิ่มเติม >