ฉบับที่ 168 สีสังเคราะห์ ใน “ไข่กุ้ง”

แฟนๆ “ฉลาดซื้อ” คงยังจำกันได้ว่าเราเพิ่งนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในไข่กุ้ง” ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการทดสอบก็ทำให้คนที่ชอบกินไข่กุ้งชอบกินซูชิพอจะมีความสุขได้ เพราะไข่กุ้งที่เรานำมาทดสอบปลอดภัยไร้สารกันบูด แต่ผลทดสอบสารกันบูดที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ของจริงคือผลทดสอบที่ฉลาดซื้อตั้งใจจะนำเสนอต่อจากนี้ กับเรื่องที่ใครๆ ก็สงสัย ว่าไข่กุ้ง (หรือแท้ที่จริงก็คือไข่ปลานั่นแหละ) ที่สีสันสดใสสะดุดตา เห็นแล้วห้ามใจไม่ให้กินไม่ไหว มีเบื้องลึกเบื้องหลังยังไง ใส่สีลงไปมากน้อยแค่ไหน กินเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเปล่า ไปติดตามกันว่า ผลวิเคราะห์ที่ได้จะเป็น “ข่าวร้าย” หรือ “ข่าวดี” ของคนชอบกินไข่กุ้ง   สีผสมอาหารที่พบจากการตรวจวิเคราะห์ สำหรับสีผสมอาหารชนิดสีสังเคราะห์ที่ฉลาดซื้อพบจากการตรวจวิเคราะตัวอย่างไข่กุ้งในครั้งนี้ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่ามีการใช้สีผสมอาหารทั้งหมด 6 ชนิด ประกอบด้วย สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีเหลือง 1. Sunset yellow FCF E110 2. Tartazine E102 สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง 3. Ponceau 4 R E124 4. Azorubine (Carmoisine) 5. Erythrosine E127 และ 6. Allura Red E129   สีทั้ง 6 ชนิดที่ตรวจพบมีอยู่ 3 ชนิดที่ “โคเด็กซ์” มีการกำหนดค่ามาตรฐานเอาไว้ ในกลุ่มของ “คาร์เวียร์และผลิตภัณฑ์จากไข่ปลาชนิดอื่นๆ” (Salmon substitutes, caviar, and other fish roe products) คือ Allura Red E129 พบได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม Ponceau 4 R E124 พบได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม Sunset yellow FCF E110 พบได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Erythrosine E127 ไม่พบเกณฑ์มาตรฐานในกลุ่ม “คาร์เวียร์และผลิตภัณฑ์จากไข่ปลาชนิดอื่นๆ” ในเกณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งชิ้นหรือตัดแต่งที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Azorubine (Carmoisine) และ Tartazine E102 โคเด็กซ์ไม่ได้มีการระบุเกณฑ์มาตรฐานไว้ แต่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) มีการระบุเกณฑ์การใช้สีผสมอาหารชนิด Azorubine (Carmoisine) ไว้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Tartazine E102 พบได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ----------------------------------------------------------------------------------   ผลการวิเคราะห์ปริมาณสีสังเคราะห์ในไข่กุ้ง                     สรุปผลทดสอบ ทั้ง 9 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบ มีการใส่สีสังเคราะห์ทุกตัวอย่าง มีตัวอย่างไข่กุ้งจำนวน 3 ตัวอย่างที่การใส่สีสังเคราะห์เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ 1.ไข่กุ้งยี่ห้อ “โชกุน ไข่ปลาแคปลินปรุงรส” เป็นตัวอย่างที่พบปริมาณสีสังเคราะห์มากที่สุดคือ พบปริมาณสีสังเคราะห์รวมถึง 555.77 มิลลิกรับต่อกิโลกรัม (มก./กก.) จากปริมาณสีสังเคราะห์ 3 ชนิดรวมกัน คือ Tartazine E102 ปริมาณ 159.21 มก, Sunset yellow FCF E110 ปริมาณ 339.21 มก. และ Allura Red E129 ปริมาณ 57.35 มก./กก. ซึ่งปริมาณของสีชนิด Sunset yellow FCF E110 มีปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐานของโคเด็กซ์ที่ให้พบได้ไม่เกิน 300 มก./กก. ที่สำคัญคือเมื่อนำปริมาณปริมาณสีทั้งหมดมารวมกันแล้ว สูงกว่าเกณฑ์ที่ให้พบได้สูงสุดถึงเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว 2. “ไข่กุ้งปรุงรส ยี่ห้อไคเซนมารุ” พบมีการใช้สีเพียง 1 ชนิด คือ Sunset yellow FCF E110 แต่ปริมาณที่พบสูงถึง 434.91 มก./กก. ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 300 มก./กก. 3.ไข่กุ้งยี่ห้อ “กรูเมท์ มาร์เก็ต ไข่กุ้งส้ม” พบมีการใช้สีเพียง 1 ชนิดเช่นกัน คือ Sunset yellow FCF E110 ปริมาณ 426.79 มก./กก. ไข่กุ้งอีก 6 ตัวอย่างที่เหลือ คือ TSR ไข่กุ้งส้ม (จากวิลล่ามาร์เก็ต), ฟูจิ, ฟูดแลนด์ ไข่กุ้งส้ม, ไข่กุ้ง Kinda ,ไข่กุ้ง โทคุเซน และพรานทะเล พบว่ามีการใส่สีเฉลี่ยอยู่ประมาณ 100 – 237 มก./กก. โดยตัวอย่างที่พบการใส่สีน้อยที่สุดคือ ฟูดแลนด์ ไข่กุ้งส้ม พบสีที่ใช้คือ Tartazine E102 ปริมาณ 84.72  มก./กก. และ Allura Red E129 ปริมาณ 10.99 มก./กก. รวมแล้วมีปริมาณเท่ากับ 95.71 มก./กก.   อันตรายของสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์ที่เรารับประทานเข้าไปหากได้รับในปริมาณไม่มาก ร่างกายของเราสามารถกำจัดออกได้เองโดยการขับถ่าย แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณที่สูงก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร เพราะสีสังเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายไปสู่กระเพาะอาหารก็จะไปเกาะตัวอยู่ตามผนังกระเพาะ ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบดูดซึมอาหาร ทำลายระบบน้ำย่อยในกระเพาะ นอกจากนี้บางชนิดหากสะสมมากเป็นระยะเวลานานก็อาจเป็นเหตุของโรคมะเร็ง ทำร้ายตับ ไต บางชนิดก็แสดงผลแบบเฉียบพลันออกมาทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน หรือไม่ก็ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ปริมาณสีสังเคราะห์ที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยที่ร่างกายของเราสามารถรับได้คือ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน สีสังเคราะห์ที่ผสมลงในอาหารนั้นมีหน้าที่เพียงทำให้อาหารมีสีสันที่สดใสเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอาจนำโทษมาสู่ร่างกายของเราได้หากได้รับมากเกินไป จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผสมสีสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากไข่กุ้งแล้ว ยังมีอาหารประเภทอื่นๆ ที่พบว่ามีการใช้สีสังเคราะห์ในปริมาณค่อนข้างสูง เช่น  ขนมหวานต่างๆ เยลลี่ ลูกอม รวมถึงน้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุขวดพร้อมดื่ม ชาโบราณ และอาหารอื่นๆ ที่มีสีสันฉูดฉาด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 ไข่กุ้งในอาหารญี่ปุ่น

อาหารญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมไปทั่วโลก คนไทยก็ชอบอาหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากมาย ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกให้ลิ้มลองกันทั้งนั้น หรือ “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยม ระดับตลาดล่างคำละ 5 บาท 10 บาท ก็พบเห็นได้ทั่วไปตามตลาดนัดต่างๆ  และหากใครนึกสนุกอยากทำกินเอง วัตถุดิบก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบที่มีคนไทยนิยมกันมาก ก็คือ “ไข่กุ้ง” ที่ทำมาจากไข่ปลานั่นเอง ไข่กุ้งที่ใช้ทำซูชินั้นไม่ได้เป็นไข่ของกุ้งจริงๆ แต่เป็นไข่ปลา ซึ่งเดิมใช้ไข่ของปลา Capelin หรือปลาไข่ กรรมวิธีการทำไข่จากปลา Capelin มาเป็นไข่กุ้ง(เทียม) นั้นต้องนำไข่ของปลามาหมักและปรุงรสจนได้ไข่ที่มีลักษณะโปร่งใส และมีสีส้มๆ คล้ายกับกุ้ง ซึ่งจะเรียกกันอย่างแพร่หลายในร้านซูชิที่ประเทศญี่ปุ่นว่า Ebiko แต่เมื่อปลาไข่หาได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ไข่ของปลา Flying Fish หรือ ปลาบิน (บ้านเราเรียกปลานกกระจอก) เพื่อทดแทนไข่จากปลา Capelin และเรียกไข่จากปลาบินว่า Tobiko เพื่อป้องกันการสับสน โดยไข่ของปลา Flying fish มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-0.8 มม. ตามปกติจะมีสีส้มแดง รสออกเค็มอ่อนๆ บางครั้งนำไปย้อมเป็นสีอื่น เช่น ย้อมวาซาบิได้ไข่สีเขียว ย้อมขิงได้ไข่สีส้ม หรือย้อมกับหมึกของปลาหมึกจะได้สีดำเห็นวางขายกันหลายที่ ฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อจากหลายแหล่งขายทั้งในห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหารญี่ปุ่นและทางร้านค้าออนไลน์ เพื่อทดสอบดูว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ ผลทดสอบไม่พบการตกค้างของวัตถุกันเสียยอดนิยมทั้งซอร์บิกและเบนโซอิก เป็นอันว่าปลอดภัยจากสองตัวนี้ แต่สำหรับส่วนสีสันจัดจ้านนั้น ไว้รอผลทดสอบกันอีกครั้งนะคะ   ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   flying fish หรือ ปลาบิน,ปลานกกระจอก อยู่ในวงศ์ Exocoetidae เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็ง...พบ มากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก แบ่งออก เป็น 8 สกุล...รูปร่างลักษณะโดยรวม มีลำตัวยาวมากค่อนข้างกลม ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้องสีขาวเงิน จะงอยปากสั้นทู่สั้นกว่าตา ปากเล็กไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็งที่ทุกครีบ ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม เส้นข้างลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบ บางไม่มีขอบหยักหรือสากหลุดร่วงง่าย จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ ไม่เกิน 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงและหากินบริเวณผิวน้ำ มีจุดโดดเด่นอยู่ที่ครีบอกขนาดใหญ่ และยาวออกมามีลักษณะคล้ายคลึงกับปีกของนก หรือปีกของผีเสื้อ และเมื่อว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงแล้วกางครีบอกออก เมื่อตกใจหรือหนี ภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศเหมือนนกบิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายมาเป็นชื่อของปลาบิน...ซึ่งอาจจะ บินได้ไกลถึง 30 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา และจังหวะที่ลอยตัวขึ้นบนอากาศ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ในขณะที่บางชนิด ยังมีการใช้ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ชาวประมง...มักจะจับตัวมัน ได้ในช่วง เวลาวางไข่ประมาณต้นฤดูร้อน เพื่อนำไข่มาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีวิธีเก็บรักษา คือ นำใส่ถุงมัดปากถุงให้สนิท แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทนำเข้าแช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานหลายวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point