ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ใยอาหารกับความเสื่อมของสมอง

        เวลาพูดถึงใยอาหารเรามักคิดกันว่า มันเป็นเรื่องของความสบายเมื่อต้องเข้าห้องน้ำหลังตื่นนอน ทั้งนี้เพราะใครก็ตามที่กินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหล่าหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งไทยและเทศแนะนำคือ ราวครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ย่อมได้ใยอาหารซึ่งมีผลโดยตรงคือ ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก และผลโดยอ้อมคือ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดโอกาสมีน้ำหนักเกิน        อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงผลของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ที่มีผลถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ คือ สมอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) โดยใยอาหารกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น prebiotic คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็น probiotic กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดไขมันสายสั้นโดยประมาณคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 และกรดอะซิติคร้อยละ 65 เป็นผลพลอยได้ (โดยปรกติแล้วในสิ่งมีชีวิตนั้น กรดเหล่านี้จะอยู่ในรูปของเกลือ) ซึ่งเซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมกรดบิวทิริคในรูปเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานได้ รายละเอียดดูได้ฟรีในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (โดยอาศัย google นำทาง)         กล่าวกันว่าในกรณีของบิวทิเรตนั้น เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ใช้สารนี้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจมีพลังงานเพื่อดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอ จนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ปรากฏการลักษณะนี้จะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงจากสภาวะปรกติซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไปเป็นภาวะไม่ปรกติ        Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเด็นหลังมีการให้เหตุผลว่า แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายตามหลักการของ Warburg effect (ซึ่งกล่าวประมาณว่า เซลล์มะเร็งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถใช้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบิวทิเรตไปเป็นพลังงานนั้นจำต้องผ่านกระบวนการใน ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหลักของเซลล์ปรกติ แต่เซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด ซึ่งนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเกินขอบเขตของบทความนี้ แต่กล่าวได้โดยสรุปว่า บิวทิเรตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้         ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ได้มีงานวิจัยใหม่กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังมีงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice ซึ่งบทความนี้แสดงให้เห็นว่า บิวทิเรตซึ่งเกิดในลำไส้ใหญ่ของหนูสูงอายุที่ได้กินใยอาหารชนิดอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสซึ่งเป็นใยอาหารที่แบคทีเรียใช้ทำอะไรไม่ได้         ไมโครเกลียเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ดีในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่ออาการสมาธิสั้นและการอักเสบเรื้อรังในสมอง ถ้ามีการทำงานมากเกินไป สมมุติฐานนี้ดูเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา         งานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร  Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปประมาณว่า บิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ ย่อมส่งผลถึงการป้องกันไม่ให้ไมโครเกลียทำงานเกินจำเป็นเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในหนูแก่ (ซึ่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสมองแล้ว) ส่วนหนูวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นไม่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร โดยเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ ถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม และขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี น่าจะช่วยชะลอความแก่ของสมองของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับส่วนแข็งของใบผักเช่น ก้าน นั้นมีประโยชน์ในด้านการอุ้มน้ำของอุจจาระจึงทำให้ถ่ายสะดวก และการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวหนึ่งในมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กล่าวว่า สมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปีแล้วพบว่า ผู้สูงอายุนั้นต่างก็กินอาหารแบบพื้นบ้านล้านนาที่เป็นอาหารประเภทผักที่ปลูกเองกับน้ำพริก ปลา กล้วยน้ำว้า แตงกวา และพืชใบเขียวทั่วไปที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช        ประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจคือ การที่ผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีเกลือบิวทิเรตสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในรูปแคปซูลได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นสามารถช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น มีประเด็นที่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อคือ สารอาหารอะไรก็ตามที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ อย่างไรก็ดีในสถานะการณ์ที่เอทีพีในเซลล์มีมากเกินพอแล้ว ตับจะเลือกใช้อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมันต่าง ๆ (ซึ่งมีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าบิวทิเรต) ตามความต้องการของร่างกาย ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010 ดังนั้นจะเห็นว่า โอกาสที่บิวทิเรตที่กินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่หรือต่อไปถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานอาจรอดไปสู่ระบบเลือด ซึ่งไปถึงสมองได้บ้างดังสมมุติฐานของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า การกินผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารนั้นอาจช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >