ฉบับที่ 121 กระแสต่างแดน

โวดาโฟน VS โวดาเฟล โวดาโฟน (Vodafone) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสามของออสเตรเลีย ได้พบกับคู่ปรับรายใหม่ซึ่งได้แก่เว็บไซต์โวดาเฟลดอทคอม (www.vodafail.com) เข้าแล้ว  เว็บไซต์ที่ว่านั้นเป็นฝีมือของผู้บริโภครายหนึ่งที่สุดจะทนกับบริการอันยอดแย่ของบริษัทโวดาโฟนนั่นเอง  ปลายปีที่แล้ว อดัม บรีโม บัณฑิตหมาดๆ ด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ได้เซ็นสัญญาเป็นลูกค้าบริการ 3จี ของบริษัทโวดาโฟนเป็นเวลา 2 ปี แต่หลังจากใช้บริการไปได้เพียง 6 สัปดาห์ก็ต้องเซ็งจิตเพราะสัญญาณขาดๆ หาย เมื่อโทรไปร้องเรียนก็ได้รับคำตอบที่ไม่น่าประทับใจอีกด้วย  อดัมรู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง ว่าแล้วก็ลงมือทำเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา และตั้งชื่อว่าโวดาเฟล (www.vodafail.com) เพื่อแอบประณามบริการที่ล้มเหลว (fail) ของโวดาโฟน และเขาก็พบว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่เดือดร้อน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา มีผู้เข้าไปดูเว็บดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 150,000 คน และมีไม่น้อยที่ร่วมบันทึกข้อมูลความเดือดร้อนของตนเองจากการโทรเข้าไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของโวดาโฟน เช่นวัน เวลา ที่โทรเข้า ระยะเวลาที่ต้องถือสายรอ ลงในหน้าเว็บดังกล่าวด้วย ผู้บริโภคมักถูกทิ้งให้รอสายนานมากเมื่อโทรเข้าไปร้องเรียนเรื่องบริการ 3 จี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสัญญาณขาดหาย การได้รับข้อความหรือวอยส์เมล์ล่าช้า ที่สำคัญผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลว่าเป็นปัญหาที่ตัวเครื่องมือถือหรือไม่ก็ซิมการ์ด และแนะนำให้ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่หรือเปลี่ยนซิมการ์ด (ซึ่งทำแล้วก็ไม่ได้ผล) ที่สำคัญรายงานนี้มีข้อมูลโดยละเอียดที่ระบุว่า บริษัทเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนจากลูกค้า และไม่มีการจัดการที่ดีพอ  ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดการและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ผลที่ได้คือรายงานสรุปกรณีปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ 3 จีของโวดาโฟนทั้งหมด 12,000 กรณี ที่นำเสนอต่อองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคด้านบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ต้องติดตามกันต่อไป ว่าเขาจะจัดการกับบริษัทดังกล่าวอย่างไร  โวดาโฟนซึ่งควบรวมกิจการกับฮัทชิสันมีลูกค้ากว่า 6.3 ล้านคนทั่วออสเตรเลีย    “เพื่อนสาว” แน่นอนกว่าหมดสมัยแล้วกับการต้องเตรียมช็อคโกแลตเอาไว้ให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ สาวญี่ปุ่นยุคนี้เขาคิดใหม่ทำใหม่ หันมาซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนสาวดีกว่า  ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทกูลิโกะระบุว่า สามในสี่ของสาวญี่ปุ่นในวัยรุ่นและวัยยี่สิบต้นๆ บอกว่าปีนี้พวกเธอจะให้ “โทโมช็อกโก” หรือช็อกโกแลตเพื่อมิตรภาพกับเพื่อนผู้หญิงของตนเองในวันวาเลนไทน์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่จะให้ขนมหวานกับแฟนหนุ่มหรือผู้ชายที่ตนเองแอบปลื้ม  เหตุผลหลักๆ คือผู้หญิงนั้นจะชื่นชมกับช็อกโกแลตที่ได้รับมากกว่า ฝ่ายที่ให้จึงรู้สึกเป็นปลื้มมากกว่า  บ้างก็ว่าสาวๆ เหล่านี้หมดความสนใจในตัวผู้ชายญี่ปุ่นแล้ว เพราะหาคุณสมบัติความเป็นแมนได้ยากเหลือเกิน โดยกลุ่มนี้อ้างว่ามันเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงเป็นประวัติการณ์  ส่วนบรรดาห้างร้านต่างๆ ก็พร้อมปรับตัวเพื่อรับเทรนด์ใหม่นี้ ด้วยการจัดแผนกช็อกโกแลตสำหรับผู้หญิง ที่เน้นช็อกโกแลตสีสวยๆ รูปร่างน่ารักๆ ไว้บริการลูกค้าสาวๆ โดยเฉพาะ คุณผู้ชายไทยฟังไว้เป็นอุทาหรณ์ อย่าได้มั่นใจเกินไปว่าคุณหล่อเลือกได้   กุหลาบต้นทุนสูงเชื่อหรือไม่ แม้เคนยาจะขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤตแต่ก็ยังเป็นผู้ส่งออกกุหลาบรายใหญ่ที่สุดไปยังยุโรป ร้อยละ 70 ของดอกกุหลาบที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปนั้นมาจากบริเวณรอบๆทะเลสาบไนวาชาในประเทศเคนยานั่นเอง  นักนิเวศน์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตทะเลสาบไนวาชา มากว่า 30 ปี บอกว่าการปลูกกุหลาบเพื่อส่งออกนั้นได้สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศน์ของท้องถิ่นไม่น้อย   การใช้ทรัพยากรของคนในท้องถิ่นไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในยุโรปนั้นไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปบรรจุขายในบรรจุภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาเป็นดอกกุหลาบนั่นเอง  ความจริงแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปก็มีดอกกุหลาบแฟร์เทรด หรือกุหลาบที่ปลูกด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและได้รับการรับรองเรื่องความเป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าดอกกุหลาบทั่วไปให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อกัน  เพียงแต่เมื่อถึงวันที่ต้องสู้รบกันในสงครามราคาในช่วงวันวาเลนไทน์และวันแม่ ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้จะอดใจไม่ไหว ต้องหันไปหากุหลาบ “ต้นทุนต่ำ” ที่กล่าวมา  การประมูลซื้อดอกกุหลาบเป็นล็อตใหญ่ๆ นั้นจะมีขึ้นในเมืองอัมสเตอร์ดัม จึงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่ากุหลาบเหล่านั้นมาจากประเทศฮอลแลนด์ (เพราะฉะนั้นก็ไม่แน่ว่า กุหลาบดอกใหญ่ที่เรียก กุหลาบฮอลแลนด์ อาจเดินทางมาไกลจากเคนยาก็ได้)   กินผิด ระวังจิตตกการกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือไขมันอิ่มตัวสูงนั้นไม่ได้ทำให้เราอ้วนขึ้นเท่านั้น งานวิจัยของสเปนบอกว่ามันเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วย  ข้อมูลได้จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของอาสาสมัครกว่า 12,000 คน เป็นเวลา 6 ปี พบว่าในตอนเริ่มงานวิจัยไม่มีใครเป็นโรคซึมเศร้าเลย แต่เมื่อจบการเก็บข้อมูล พบคนที่มีอาการดังกล่าว 657 คน โดยคนที่รับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดหรือแพสตรี้บรรจุกล่องที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ มีอัตราความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 และยิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  ที่สำคัญอาสาสมัครกลุ่มนี้คือคนยุโรปที่บริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณค่อนข้างต่ำเป็นนิสัย คนเหล่านี้ได้พลังงานจากไขมันดังกล่าวเพียงร้อยละ 0.4 ของพลังงานที่ได้รับ  ลองนึกดูว่าในกลุ่มคนอเมริกันที่ได้พลังงานถึงร้อยละ 2.5 จากไขมันทรานส์นั้นจะมีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้ามากกว่านี้สักกี่เท่า  แต่งานวิจัยนี้ก็ยังมีข่าวดีมาบอกกันอยู่บ้าง เขาบอกว่าน้ำมันมะกอก ซึ่งมีโอเมก้า-9 สามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยทางจิตได้ด้วย  ปัจจุบันโลกเรามีผู้ป่วยด้วยอาการดังกล่าวอยู่ประมาณ 150 ล้านคน     สนับสนุนคนไกลเกือบหนึ่งในสี่ของอาหารที่ระบุว่าเป็นของ “ผลิตในท้องถิ่น” ในอังกฤษและเวลส์นั้น ไม่ได้เป็นดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และต้องการสนับสนุนผู้ผลิตในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อการสร้างงาน และลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ก็มีผู้ประกอบการหัวใส ที่หาทางใช้ประโยชน์จากเทรนด์ที่ว่า ในประเทศอังกฤษก็มีผู้ประกอบการประเภทที่ว่าอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นที่หน่วยงานรัฐต้องลงมือสำรวจว่ามีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในท้องตลาดมากน้อยเท่าไร  จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 558 ชิ้น ในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด กว่า 300 แห่ง หน่วยงานดังกล่าวพบว่าร้อยละ 32 ของสินค้าที่ชูจุดขายเรื่องความเป็น “ผลิตในท้องถิ่น” เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค  ในนั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น “เนื้อแกะจากเวลส์” ที่ผลิตในนิวซีแลนด์ หรือ “แฮมจากเดวอน” ทั้งๆ ที่นำเข้ามาจากเดนมาร์ก เป็นต้น นี่ยังไม่นับผลิตภัณฑ์ที่อาจจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ส่งออกไปแปรรูปที่ประเทศจีนแล้วนำกลับเข้ามาขายในอังกฤษใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสามารถจัดเข้าเป็นสินค้าท้องถิ่นได้ด้วยหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >