ฉบับที่ 187 ประสิทธิภาพ “โลชั่นและสเปรย์ฉีดกันยุง”

คำเปรียบเปรยที่ว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ” นั้นไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด อย่าได้ปรามาสเห็นยุงตัวเล็กกระจิริดแค่ใช้ 2 มือตบก็จบชีวิต แต่ยุงตัวเล็กๆ พิษสงเหลือร้ายทำคนตายหลายสิบรายต่อปี!!! เพราะยุงเป็นพาหะนำโรคติดต่อร้ายแรง ทั้ง ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา หรือแม้แต่ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่กำลังเป็นข่าวว่าระบาดในหลายประเทศ ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยแล้วหลายรายข้อมูลจากสำนักควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเฉพาะในปี 2559 จนถึงเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวน 31 คน และมีผู้ป่วยสะสมจำนวน 38,031 ราย ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2559 มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 11,144 ราย (เป็นคนไทย 8,531 ราย และชาวต่างชาติ 2,613 ราย) สำหรับโรคชิคุนกุนยา หรือ ไข้ปวดข้อยุงลาย ในปี 2559 ข้อมูลจนถึงเดือนสิงหาคม มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 13 ราย แต่ยังน้อยกว่าปีที่แล้วที่รวมทั้งปีมีผู้ป่วยทั้งหมด 25 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต การหาวิธีป้องกันและกำจัดยุงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราทุกคนควรทำ ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับปกป้องเราจากยุงหลายเดี๋ยวนี้ก็มีให้เลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยาจุดกันยุงแบบขด หรือ ยาฉีดไล่ยุง ที่พบเห็นมีใช้กันอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ไล่ยุงแบบใหม่ๆ ที่เริ่มนิยมใช้กันมากขึ้นอย่าง โลชั่นทากันยุง และ สเปรย์ฉีดกันยุง ซึ่งถ้าไปเดินดูตามซูเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อเลือกใช้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลยขออาสารวบรวม โลชั่นทากันยุง และ สเปรย์ฉีดกันยุง ยี่ห้อต่างๆ มาลองดูกันสิว่าแต่ละยี่ห้อมีคุณสมบัติในการไล่ยุงและมีส่วนประกอบที่ใช้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ผลที่ได้จากการสำรวจ-ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโลชั่นทากันยุง จากทั้งหมด 8 ตัว มีถึง 6 ตัวอย่าง ที่ใช้สารเคมี ดีอีอีที DEET ซึ่งเป็นสารเคมียอดนิยมในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง เป็นส่วนประกอบสำคัญ มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ใช้สารที่สกัดจากธรรมชาติ คือยี่ห้อ เบลล์ ที่ใช้ น้ำมันตะไคร้หอม Citronella oil เป็นส่วนประกอบ-ต่างจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสเปรย์ฉีดกันยุง ที่มีการใช้สารเคมีสกัดจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบมากกว่า โดยจากตัวอย่างผลิตภัณฑ์สเปรย์ฉีดกันยุงทั้งหมด 7 ตัวอย่าง มีถึง 5 ตัวอย่างที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ทั้ง  น้ำมันตะไคร้หอม Citronella oil และ น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส Eucalyptus Oil-ระยะเวลาในการป้องกันยุงของผลิตภัณฑ์ชนิดโลชั่นทากันยุง เฉลี่ยอยู่ที่ 6 - 7 ชั่วโมง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ชนิดสเปรย์ฉีดกันยุงระยะเวลาในการป้องกันยุงตามที่แจ้งบนฉลากเฉลี่ยอยู่ที่ 2 - 3 ชั่วโมง มีเพียง 2 จาก 7 ตัวอย่างที่มีระยะเวลาในการป้องกันยุงอยู่ที่ 7 ชั่วโมง คือ ยี่ห้อ Mos Away ที่มีส่วนผสมเป็นสารเคมี ดีอีอีที DEET และยี่ห้อ POKPOK ป๊อกป๊อก ที่มีส่วนประกอบเป็นสารสกัดจากธรรมชาติอย่าง น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร Citronella Oil-จากการเปรียบเทียบพบว่า ส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นสารเคมีหรือสารที่สกัดจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยมากกว่า ไม่มีผลต่อระยะเวลาในการป้องกันยุง เพราะส่วนประกอบทั้ง 2 ประเภทต่างก็มีระยะเวลาในการป้องกันยุงสูงสุดที่ 7 ชั่วโมงเท่ากัน-ผลิตภัณฑ์ชนิดที่ใช้สำหรับเด็กเล็ก ใช้ติดตามเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ห้ามติดโดยตรงลงบนผิวหนังของเด็กโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงชนิดอื่นๆ ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือ 4 ปี ตามแต่ข้อกำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปิดกันยุงสำหรับเด็กทั้ง 2 ตัวอย่าง ต่างก็ใช้ส่วนประกอบที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติทั้ง 2 ตัวอย่าง-คำแนะนำในการเลือกซื้อ ควรเปรียบเทียบข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันยุง ปริมาณ และ ราคา เลือกตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องของส่วนประกอบ ไมว่าจะเป็นชนิดที่ใช้สารเคมีหรือใช้สารสกัดจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบต่างก็ต้องใช้ตามคำแนะนำและคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน แต่ส่วนประกอบที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติแน่นอนว่ามีความปลอดภัยมากกว่า ผู้ใช้เสี่ยงต่อการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังน้อยกว่าข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ของผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุงผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี (เช่น ดีอีอีที (DEET) และ เอทิล บิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl Butylacetylaminopropionate)) ที่จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องมีการแสดงเลขทะเบียน อย.วอส. (วัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข) บนฉลากผลิตภัณฑ์ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมของสารที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น citronella oil หรือน้ำมันตะไคร้หอมเป็นสารสำคัญ ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ตามพระราชบัญญัตวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการแจ้งข้อเท็จจริงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และต้องมีการแสดงเลขที่รับแจ้งบนฉลาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่ใช้ส่วนประกอบของ citronella oil ควรมีประสิทธิภาพในการออกฤทธ์ไล่ยุงลายบ้านได้ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง มีฤทธิ์ไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของยุง ทำให้ยุงไม่บินมาดูดเลือดบนผิวหนังของเรา แต่ไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่ายุงแต่อย่างใด.ผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบสำคัญ เวลาใช้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำและคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด ป้องกันการเกิดอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ฉลากของผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง ต้องมีการแสดงฉลากที่ให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนี้ 1.ประโยชน์ 2.วิธีเก็บรักษา 3.คำเตือนในการใช้ 4.อาการเกิดพิษ และ 5.วิธีแก้พิษเบื้องต้น นอกเหนือข้อมูลชื่อและชนิดสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย และวัน เดือน ปี ที่ผลิต ใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุงอย่างไรให้ปลอดภัย-ควรใช้ผลิตภัณฑ์เมื่อมีความต้องการใช้เพื่อป้องกันยุงเท่านั้น-ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงประเภทแป้งและโลชั่น ห้ามนำไปทาแทนแป้งและโลชั่นสำหรับทาผิวทั่วไปโดยเด็ดขาด-ก่อนใช้ควรทาหรือพ่นที่ข้อพับแขนดูก่อน เพื่อดูว่าเรามีอาการแพ้ต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าหรือไม่ หากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้ทันที-การทาหรือฉีดสเปรย์กันยุง ควรเน้นทาและฉีดให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่อยู่ภายนอกเสื้อผ้า ไม่จำเป็นต้องทาและฉีดให้หนาเกินไป เพราะไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพในการป้องกันยุงเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด-ไม่ควรใช้ทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณที่เป็นแผล เพราะอาการแพ้หรือระคายเคืองได้-หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร-ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง-หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม ควรปิดฝาให้สนิท อย่าให้ถูกแสงแดด อย่าวางใกล้เปลวไฟหรือความร้อน-อ่านฉลากก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำและคำเตือนบนฉลาก ทั้งเพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันยุง-ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงส่วนใหญ่ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 หรือ 4 ปี ขึ้นกับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงประเภทอื่นๆยาจุดกันยุงแบบขดเป็นผลิตภัณฑ์กันยุงที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมีราคาถูก หาซื้อง่าย สารเคมีที่ใช้ในยาจุดกันยุงแบบขดเป็นสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการกำจัดแมลงทั้งในทางสาธารณสุขและทางการเกษตร สำหรับส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตยาจุดกันยุงแบบขด ประกอบด้วย ผงขี้เลื่อย ผงกะลาบด ผลแป้งที่ได้จากมันสำปะหลัง ฤทธิ์ของยาจุดกันยุงคือส่งกลิ่นและควันออกไปไล่ยุงไม่ให้เขามาใกล้ในพื้นที่ที่จุดยากันยุงไว้ ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่ายุงยาฉีดกันยุงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่นิยมใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ฆ่าหรือไล่แมลงได้หลากหลายไม่ใช่แค่เฉพาะยุงเท่านั้น สารเคมีที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) เช่นกัน การใช้ยาฉีดกันยุงหรือไล่แมลงในบ้าน ควรเลือกประเภทให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะจะมีการแบ่งการใช้ไว้สำหรับแมลงที่บินเท่านั้น เช่น ยุง แมลงวัน กับแบบที่ใช้ได้เอนกประสงค์แต่เน้นไปที่แมลงที่อาศัยอยู่ตามพื้น เช่น มด ปลวก แมลงสาบ เพราะละอองของชนิดที่ฉีดได้อเนกประสงค์จะมีขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ทำให้ตัวสารไม่ได้ลอยในอากาศได้ทั้งหมด ประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงบินจึงมีน้อยกว่าไม้ตียุงไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่หลายคนนิยมใช้จัดการยุง ซึ่งเมื่อไม่นานนี้คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ไม้ตียุงไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุเรื่องของคำแนะนำในการใช้งาน คำเตือน ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าใครจะซื้อหาไม้ตียุงไฟฟ้ามาใช้ต้องเลือกที่มีข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนชัดเจน เพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >