ฉบับที่ 168 The World is Fat … ละตินอเมริกากับการแก้ปัญหา “โลกอ้วน”

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉลาดซื้อได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายโดย ดร.แบรี่ พอบกิ้น นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และโภชนาการ ผู้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The World is Fat (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยชื่อ โรคกลม: เศรษฐศาสตร์ในความตุ้ยนุ้ย สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์) คราวนี้เขามาเล่าถึงความคืบหน้าของขบวนการลดพุงลดโรคในละตินอเมริกาให้เราฟัง เริ่มจากประเทศเม็กซิโกที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานกว่า 500,000 คน ระหว่างปี 2006 ถึงปี 2012 นี่คือการเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จาก 6 ปีก่อนหน้านั้น และเม็กซิโกยังชิงตำแหน่ง “ประเทศที่อ้วนที่สุดในโลก” จากอเมริกามาหมาดๆ ด้วยอัตราการบริโภคน้ำอัดลม ถึง 3.6 ล้านกระป๋องต่อวัน แถมด้วยการทำการตลาดเชิงรุกของผู้ประกอบการ และการใช้ฉลากอาหารแบบ GDA ที่อ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อการเลือกของผู้บริโภค แต่งานวิจัยพบว่าแม้แต่นักโภชนาการเองก็ยังอ่านไม่เข้าใจ เม็กซิโกมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 เชื่อว่าการดื่มน้ำอัดลมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน และเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีจากเครื่องดื่มดังกล่าว ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านสุขภาพ นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค อุตสาหกรรมอาหาร ไปจนถึงประธานาธิบดี นำไปสู่การประกาศใช้ “ภาษีน้ำหวาน” ซึ่งเริ่มเก็บในเดือนมกราคมปี 2014 สาระสำคัญคือเครื่องดื่มที่มีการแต่งกลิ่นทุกชนิด รวมถึงหัวเชื้อ ผง หรือน้ำเชื่อมที่ใช้ในการทำเครื่องดื่มเหล่านั้น จะต้องเสียภาษีให้รัฐในอัตราร้อยละ 10 หรือพูดง่ายๆ คือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 1 เปโซ ต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพอสมควรทีเดียว การสำรวจพบว่าการซื้อลดลงในช่วง 3 เดือนแรกหลังมีการเก็บภาษี ข้อมูลจากผู้ผลิตก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยอดขายของ Coca-Cola Femsa ในครึ่งแรกของปี 2014 ลดลงร้อยละ 6.4 ในขณะที่ Arca Continental ก็มียอดขายลดลงร้อยละ 4.7 ในช่วงเดียวกัน ต่อมาในเดือนสิงหาคมมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค และพบว่าผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง บอกว่าตัวเองดื่มน้ำอัดลมน้อยลง ซึ่งตัวเลขนี้อาจสะท้อนว่าเมื่อน้ำอัดลมราคาแพงขึ้น ผู้คนก็จะลดการบริโภคลง แต่ผลทางอ้อมของมาตรการภาษีคือการส่งสารออกไปให้คนทั่วๆ ไปได้รับรู้ถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากมาตรการภาษีแล้ว เม็กซิโกยังมีการควบคุมการโฆษณาอาหารต่อเด็กอย่างเคร่งครัดด้วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้อาหารที่สามารถโฆษณาได้ในช่วงรายการเด็ก(รายการที่มีผู้ชมเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีมากกว่าร้อยละ 35) เป็นอาหารที่ผ่านเกณฑ์โภชนาการเท่านั้น ขนมหวาน ช็อคโกแลต ขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลม จึงไม่สามารถปรากฏตัวในเวลานั้นได้ แต่นั่นยังไม่ดีพอ เพราะเด็กไม่ได้ดูแค่รายการสำหรับเด็กเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าเด็กยังดูรายการกีฬา หรือรายการอื่นที่ดูกันทั้งบ้านด้วย จึงเกิดความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายที่แบนอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านี้ออกจากจอทีวีไปโดยสิ้นเชิง แรงกระเพื่อมจากเม็กซิโก ยังส่งผลต่อประเทศข้างเคียงอย่างชิลี เอกวาดอร์ และเปรู ด้วย ชิลีกำหนดให้มีการแจ้งเตือนบนฉลากว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณน้ำตาล โซเดียม ไขมัน หรือแคลอรีสูง โดยสัญลักษณ์นี้ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่เอกวาดอร์และเปรู มีกฎหมายห้ามใช้ตัวการ์ตูน ของเล่น หรือตัวละครใดๆ ในการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) สำหรับเด็ก ส่วนบราซิลนั้นยังห่างไกลเพื่อนบ้าน จนถึงวันนี้กฎหมายควบคุมการทำการตลาดอาหารโภชนาการต่ำ(อาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์มากเกินไป) ยังไม่ถูกประกาศใช้ แม้จะเคยถูกนำเข้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2006 ก็ตาม ความท้าทายหลักๆ ของผู้บริโภคในทุกระดับรายได้วันนี้คือ การลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลและโซเดียมในปริมาณสูง เพื่อการเจริญวัยและสูงวัยอย่างมีคุณภาพปราศจากอาการเจ็บป่วย ในวันที่เราถูกแวดล้อมไปด้วยอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปซึ่งมีคุณสมบัติตรงข้าม สิ่งที่หลายประเทศในละตินอเมริกากำลังทำอยู่คือการดูแลเกื้อกูลสุขภาพของประชาชนผ่านการใช้กฎหมาย แต่ผลที่ได้ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีการตอบโต้อย่างไร ... นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น *การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point