ฉบับที่ 274 คุณภาพเน็ตมือถือถูกปรับลดในนามประโยชน์สาธารณะ

        ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดเสียงบ่นจนเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ที่คุณภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นั่นคือ ความเร็วลดลง มีภาวะเน็ตอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ ไม่เฉพาะการใช้งานลักษณะเข้มข้นหรือหนักหน่วง แม้แต่การใช้งานบางเบาอย่างการส่งข้อความทางไลน์ การใช้งานเฟซบุ๊ก ก็ยังมีความติดขัดหรือไม่อาจทำได้         คำอธิบายหรือข้ออ้างจากเอกชนผู้ให้บริการทั้งหลาย รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ประเภทที่ว่า คุณภาพที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากปัจจัยหลากหลาย เช่น เรื่องของปริมาณการใช้งานรวมในบางช่วงบางเวลาและบางพื้นที่มีความหนาแน่นเกินกว่าความจุโครงข่าย หรือ capacity  ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือรายการส่งเสริมการขายที่เลือกใช้ ฯลฯ ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อมูลและเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพ “เน็ตมือถือ” ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งเชิงพื้นที่และเครือข่ายที่ให้บริการ (เอกชนทุกราย) อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ         อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจพิสูจน์เองได้ง่ายๆ ในขณะที่ กสทช. ตอบสนองล่าช้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางพิสูจน์ความจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำเพียงมอบหมายคณะอนุกรรมการตรวจสอบบ้าง ให้เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามาบ้าง ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนได้แต่ “บ่นหาย” ยังไม่มีแววว่าจะเกิดมรรคผลและทางออกใดตามมา การบ่นได้แต่ซาลงตามกาลเวลาที่ล่วงไป         แต่ที่จริงแล้ว ความจริงส่วนหนึ่งได้ปรากฏชัดผ่านเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ได้รับ เนื่องจากในหนังสือตอบของบริษัทผู้ให้บริการต่อกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมีการยอมรับว่าทางบริษัทได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง อันเนื่องมาจากการพบว่าผู้ร้องเรียนมีการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าการใช้งานแบบ BitTorrent ตลอดจนมีการแชร์อินเทอร์เน็ตในลักษณะเป็นจุดให้บริการ หรือ Hotspot และ/หรือการใช้งานในเชิงพาณิชย์         บริษัทอ้างว่า การกระทำของบริษัทในเรื่องการปรับลดความเร็วเป็นไปตาม “นโยบายการจัดการบริหารเครือข่ายตามความเหมาะสม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของบริการและเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการโดยรวมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ         นโยบายที่ว่านี้ หรือที่เรียกว่า FUP อันย่อมาจาก Fair Usage Policy คือมาตรการสากลที่ผู้ให้บริการมือถือในระดับโลกต่างก็นำมาใช้กัน นัยว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในภาพรวมและป้องกันการใช้งานผิดประเภท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่การใช้งานของผู้ใช้คนอื่นในช่องสัญญาณนั้นๆ เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เสมือนการใช้สัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านที่มีผู้เชื่อมต่อหลายคน หากมีคนหนึ่งคนใดดาวน์โหลด BitTorrent ขึ้นมา ก็จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในบ้านนั้น ถูกดึงไปให้ผู้ใช้คนนั้น ทำให้คนที่เหลือได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วลดลง         ในหมู่ผู้ใช้เน็ตมือถือไทยรู้จักกับ FUP กันมานานแล้ว ซึ่งบังเอิญออกเสียงที่ให้ความหมายแบบไทยได้ตรงตามเรื่องว่า “ฟุบ” พอดิบพอดี โดยในการใช้งานเน็ตมือถือระยะแรกๆ รายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือแบบมีอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดที่นำเสนอขายในฐานะ “เน็ตไม่อั้น” มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ติดฟุบ” พ่วงควบมาด้วย กล่าวคือ ในแต่ละเดือน เมื่อใช้งานเน็ต ณ ความเร็วตามที่กำหนด (หน่วยนับคือ Mbps-Megabit per second หรือ Kbps-Kilobit per second) ไปจนครบจำนวนดาต้า (data) ที่ตกลงกันไว้ เช่น 1GB ทางบริษัทผู้ให้บริการก็จะจัดการปรับลดความเร็วในส่วนการให้บริการของผู้ใช้แต่ละรายลง         ปัญหาของ FUP ในยุคแรกคือ เน็ตที่ว่าใช้ได้ “ไม่อั้น” แท้จริงแล้วแทบไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากระดับของความเร็วที่ปรับลดลงมักต่ำเตี้ยจนกระทั่งแทบใช้งานไม่ได้ ต่างกับ FUP ในต่างประเทศที่ลดแบบอยู่ในระดับมาตรฐาน         ปัญหาเรื่อง FUP-ฟุบ ในระลอกนั้นคลี่คลายลงบ้างเมื่อ กสทช. มีการกำกับความเร็วขั้นต่ำของ FUP ผ่านการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบรรเทาลงดูจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีมากกว่า         จุดเปลี่ยนที่ทำ FUP-ฟุบ ค่อนข้างลดบทบาทลงเกิดขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G เมื่อปลายปี 2558 โดยบรรดาค่ายมือถือพากันออกรายการส่งเสริมการขายที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปริมาณที่มากขึ้น เช่นสูงถึง 80 GB รายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจประเภท “เน็ตเต็มสปีด” หรือ “เน็ตไม่มี FUP” จึงเกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ควรเรียกเช่นนั้น เนื่องจากความหมายจริงคือ รายการส่งเสริมการขายในยุคนี้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดปริมาณการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็วก็จะมีการกำหนดรับรองไว้ว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไร         ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ปัญหาคุณภาพบริการที่ผู้ใช้บริการมักจะประสบจึงเป็นเรื่องของการได้รับความเร็วที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ FUP แต่อย่างใด         อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนค่ายมือถือกลับมาอ้างและใช้ FUP-ฟุบ อีกครั้ง ทั้งที่ข้อกำหนดของรายการส่งเสริมการขายระบุชัดเจนว่า เป็นประเภท “ไม่ลดสปีด” จึงเป็นการทำผิดสัญญาอย่างแน่ชัด ส่วนว่าเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์         ที่สำคัญคือ เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการควบรวมของสองค่ายมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่สังคมตั้งขึ้นด้วยความคลางแคลงว่า ใช่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคต้องแบกรับหรือไม่ ในขณะที่เอกชนได้ประโยชน์กันไปเรียบร้อยตามประสงค์         คำถามนี้เกิดขึ้นมาข้ามปีแล้ว และ กสทช. ยังไม่ได้ตอบด้วยประจักษ์หลักฐานให้กระจ่าง พร้อมๆ กับวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นกับกาลเวลาที่ผ่านไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 กระแสต่างแดน

  ค่าเทอมสุดโหดที่อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษประกาศตัดงบอุดหนุนที่เคยให้กับมหาวิทยาลัย จึงทำให้สถาบันเหล่านี้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการขึ้นค่าเล่าเรียน เพดานเดิมที่เคยเก็บสูงสุดปีละ 3,290 ปอนด์ (ประมาณ 160,000 บาท) นั้นไม่เพียงพอแล้ว   รัฐบาลก็รับลูกด้วยการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนได้สูงสุดถึงปีละ 6,000 ปอนด์ (ประมาณ 294,000 บาท) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีโควตารับนักเรียนจากครอบครัวที่รายได้ยากจนตามจำนวนที่รัฐกำหนด ใครผิดเงื่อนไขจะปรับถึง 500,000 ปอนด์ (24.5 ล้านบาท) กันทีเดียว  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อการศึกษา National Scholarship Programme ที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 25,000 ปอนด์ (1.2 ล้านบาท) ปีละ 3,000 ปอนด์ (147,000 บาท) ด้วย มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้คัดค้านเงื่อนไขเหล่านี้ เพียงแต่ออกมาตอบโต้ว่าตัวการที่ทำให้ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนที่แท้จริงคือรัฐบาล ซึ่งกำลังพยายามบิดเบือนให้ดูเหมือนเป็นความผิดของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการให้โควต้าหรือการให้ทุนนั้น มหาวิทยาลัยเขาก็ทำกันอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีการบังคับจากรัฐด้วยซ้ำ อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กยากจนเช่นกัน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 7 ของเด็กในอังกฤษที่เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน(ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นเด็กจากครอบครัวฐานะดี) แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษอย่าง     อ็อกซฟอร์ด หรือเคมบริดจ์  วิบากกรรมของนักศึกษาที่นั่นยังไม่จบ เพราะข่าวบอกว่าปีหน้าค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,000 ปอนด์ (ประมาณ 440,000 บาท) เล่นเอาหลายคนอยากไปเกิดใหม่ในสก๊อตแลนด์ เพื่อจะได้สิทธิ์เรียนฟรีกันเลยทีเดียว   รู้มั้ย พ่อกูเป็นใคร? ถ้าใครเจอคำถามนี้เข้าไปก็ไม่ต้องงงอีกแล้ว เพราะวันนี้คุณสามารถหาซื้อชุดทดสอบ “ความเป็นพ่อ” ได้ตามร้านบูทส์ทั่วอังกฤษในสนนราคาชุดละ 30 ปอนด์ (1,500 บาท) ตามด้วยค่าธรรมเนียมห้องแล็บอีก 129 ปอนด์ (6,400 บาท) ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้สร้างกระแสในสังคมขึ้นไม่น้อย  ทางผู้ผลิตบอกว่าเหตุที่ต้องมีบริการนี้ออกมาก็เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า มี “คุณพ่อ” ในอังกฤษและอเมริกาอย่างน้อยร้อยละ 4 ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของ “ลูก” ตนเอง แถมยังบอกว่าในสหรัฐฯ นั้น ร้อยละ 31 ของผู้ชายที่ใช้บริการตรวจดังกล่าว พบว่าตนเองไม่ใช่พ่อของเด็กอีกด้วย  ในการใช้บริการดังกล่าวนั้น ทั้งพ่อ แม่ และเด็กที่อายุ 16 ปีขึ้นไป จะต้องเซ็นสัญญาให้ความยินยอมก่อน หรือมารดาเป็นฝ่ายเซ็นแทนในกรณีของเด็กเล็ก (ตามกฎหมายอังกฤษแล้ว การนำดีเอ็นเอของผู้ใดไปใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้นั้นก่อน)  X  ห้องแล็บที่ให้บริการดังกล่าว ระบุว่าแต่ละปีเขาทำการทดสอบไม่ต่ำกว่า 3000 ครั้ง และยืนยันว่าการทดสอบดังกล่าวมีระดับความถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.9 เขายืนยันว่าผลทดสอบของเขาช่วยให้ครอบครัวที่มีปัญหา สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข (แต่ไม่ได้บอกว่าร้อยละเท่าไร)  แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้กันระหว่างผู้ใหญ่ และทำให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่รุนแรงเกินกว่าเด็กจะรับได้ด้วย  ในอังกฤษ แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 50,000 คน ที่ไม่ชื่อของบิดาบันทึกในสูติบัตร   มั่งคั่งแต่ไม่มั่นคง รัฐบาลจีนเขากำหนดเป้าหมายของแผน 5 ปี ฉบับที่ 12 ว่า จีนจะเปลี่ยนเป้าหมายทางเศรษฐกิจจากที่เคยเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มรายได้ต่อหัว มาเป็นการเพิ่มความสุขให้กับประชากรแทน   ว่าแล้วสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนได้ทำการสำรวจระดับความสุขของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน  ผลปรากฏว่าเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดถึง 6 ปีซ้อนอย่างฮ่องกง กลับมีระดับความสุขลดลงมา 73 อันดับ จนปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 271 จากเมืองที่ทำการสำรวจทั้งหมด 294 เมือง  เมืองที่อยู่แล้วมีความสุขที่สุดตามข่าวนี้ได้แก่เมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย ชื่อเมืองสือเจียจวง ซึ่งตกเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ผลิตนมผสมเมลามีน ที่ทำให้เด็กทารกป่วยถึง 360,000 รายมาแล้ว   การจัดอันดับดังกล่าวนั้นดูจากปัจจัย 4 ประการคือ ความรู้สึกมั่นใจในอนาคตของตนเอง สภาพความเป็นอยู่ ภาวะการจ้างงาน และสวัสดิการสังคม  กุ้ยหลิน หางโจว และซูโจว หรือ “สวรรค์บนดิน” ที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันก็พากันรั้งอยู่ท้ายๆ ที่ อันดับ 291 289 และ 276 ตามลำดับ  ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวไทยเราเป็นปัจจัยฉุดระดับความสุขของเขาหรือเปล่า เพราะดูๆเหมือนว่าที่ไหนที่เราชอบไป ระดับความสุขของเขาจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ    ภาพประกอบ การ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2554   อิสระบนโลกออนไลน์นี่ก็เป็นอีกผลสำรวจที่นำมาฝากกัน องค์กรพัฒนาเอกชน Freedom House ได้จัดอันดับอิสรภาพทางอินเตอร์เน็ตของ 37 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลเรื่องการจำกัดการปล่อยสัญญาณ การบล็อก การเซ็นเซอร์ การเฝ้าระวัง หรือการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละประเทศ เอสโตเนีย ประเทศที่มีประชากร 1,300,000 คน คว้าตำแหน่งประเทศที่ให้อิสระบนโลกออนไลน์สูงสุด ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของประเทศที่เคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตแห่งนี้ เขามีการใช้อินเตอร์เน็ตให้การบริการกับประชากรอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ ประชากรส่วนใหญ่ของเขาสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ และยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้โดยสะดวก โดยแทบจะไม่มีการแทรกแซงจากรัฐเลย  สหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นอันดับสอง เพราะแม้ว่าจะมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงมากแต่ก็เสียคะแนนตรงที่ยังมีการเข้าแทรกแซงการพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและการรับมือกับการก่อการร้าย  ตามด้วยเยอรมนี ที่ยังรัฐบาลยังต้องเข้าแทรกแซงเพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มนาซีใหม่บน โลกออนไลน์ประเทศที่รั้งดันดับท้ายสุดในการสำรวจครั้งนี้ได้แก่ อิหร่าน ตามด้วยเมียนม่า คิวบา และจีน ส่วนไทยเรานั้นรั้งอันดับที่ 27  

อ่านเพิ่มเติม >