ฉบับที่ 111 กระแสต่างแดน

โซฟา ไม่โซกู้ดใครจะไปนึกว่าโซฟาหนังแท้ที่อุตส่าห์ทุ่มทุนไปซื้อมาไว้นั่งเล่นชิลๆ จะทำให้เราเป็นแผลพุพองเรื้อรังได้ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้วที่อังกฤษ ซึ่งมีผู้บริโภคหลายพันคนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้โซฟามหาภัยที่ซื้อจากร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังอย่าง อาร์กอส หรือโฮมเบส เป็นต้น เรื่องก็มีอยู่ว่า โซฟาบางส่วนที่ขายในร้านเหล่านี้ผลิตโดยบริษัท Linkwise และ Eurosofa ในประเทศจีน ทั้งสองโรงงานนี้จะใส่สารไดเมทธิลฟูราเมท (หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า DMF) ไว้ในตัวโซฟาเพื่อป้องกันไม่ให้มันขึ้นราในขณะที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เมื่อโซฟาเหล่านี้เข้าไปอยู่ในห้องนั่งเล่นของผู้บริโภค สารดังกล่าวก็กลายสภาพเป็นก๊าซและระเหยออกมาในอากาศ ทำให้หายใจลำบากและรู้สึกระคายเคืองตา นอกจากนี้ยังสามารถทะลุผ่านเสื้อผ้าไปยังผิวหนังทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนไปจนถึงเป็นแผลเรื้อรังในบางรายด้วย ศาลอังกฤษตัดสินให้ร้านเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้บริโภครายละ 1,200 ถึง 9,000 ปอนด์ (ประมาณ 35,000 – 260,000 บาท) แตกต่างกันไปตามความร้ายแรงของอาการเจ็บป่วย ขณะนี้โซฟาหนังมหาภัยขายออกไปแล้ว 100,000 ตัว นอกจากที่ฟ้องร้องและได้ค่าชดเชยไปแล้ว 2,000 ราย จะมีตามมาอีกประมาณ 2,500 ราย ข่าวเขาบอกว่าใครที่ซื้อไปแล้วให้นำกลับมารับเงินคืนหรือเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่นได้ แต่น่าแปลกที่ยังไม่มีการประกาศเรียกคืนโซฟามหาภัยทั้งหมด ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- แชมป์รอสายองค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ทำการสำรวจระยะเวลาที่ผู้บริโภคต้องรอสายเมื่อโทรเข้าไปที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต(ทั้งหมด 10 เจ้า สำหรับรองรับประชากร 4 ล้านคนทั้งประเทศ) และพบว่าลูกค้าของเทลสตราเคลียร์ต้องรอนานที่สุด เขาพบว่าถ้าคุณโทรเข้าไปที่ศูนย์บริการของเทลสตราเคลียร์ ในวันอังคาร ช่วงเวลา 23:40 น. – 01:30 น. คุณจะใช้เวลารอสาย 30 นาที ถ้าเป็นวันพฤหัส ช่วงเวลา 18:30 น.– 20:00 น. คุณจะได้ถือสายรอ 58 นาที ซึ่งความจริงตัวเลขดังกล่าวนี้ต่ำกว่าที่ทางบริษัทเขาแจ้งเตือนไว้อีกนะ(บริษัทแจ้งไว้ว่าเวลารอสายของช่วงดังกล่าวอาจนานถึง 36 นาที และ 65 นาที ตามลำดับ) เขาแจ้งว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะปริมาณลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จนขณะนี้มีลูกค้ากว่า 300,000 รายที่ต้องให้บริการ(พูดเหมือนเป็นความผิดของลูกค้านะนี่)ด้วยความไม่พร้อมดังกล่าวจึงทำให้พนักงานที่ให้บริการเองก็เครียดไม่แพ้กัน หนุ่มสาวชาวกีวี่ที่อายุระหว่าง 17 – 29 ปี ที่ผ่านการฝึกเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน จะต้องรับฟังคนโทรเข้ามาระบายอารมณ์ใส่แล้วก็ต้องรีบรับสายต่อไปทันทีโดยไม่มีเวลาผ่อนคลาย คิดไปคิดมาบริษัทประกาศว่าอาจจะต้องย้ายฐานศูนย์บริการไปยังเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานในนิวซีแลนด์ (ซึ่งบริษัทจ้างด้วยค่าตอบแทนชั่วโมงละ 20 เหรียญ หรือประมาณ 470บาท บวกกับโบนัสจากจำนวนครั้งที่รับสายและความรวดเร็วในการแก้ปัญหา) ต้องตกงานไม่ต่ำกว่า 120 คนนักวิเคราะห์บอกว่าบริการจะดีขึ้นหรือไม่ยังบอกไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ บริษัทจะประหยัดเงินได้หลายล้านเหรียญทีเดียว --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- อาหาร “ห้ามนำเข้า”โรงภาพยนตร์ในไต้หวันนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าจริงจังกับการห้ามผู้บริโภคนำอาหาร(ที่ไม่ได้ซื้อจากหน้าโรง) เข้าไปรับประทาน ... อ่อ นึกว่าเป็นแต่ที่เมืองไทยเสียอีก แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้ออกประกาศห้ามโรงภาพยนตร์การกระทำดังกล่าว โรงไหนฝ่าฝืนจะถูกปรับประมาณ 60,000 ถึง 150,000 บาท โดยจะยอมให้ห้ามได้เฉพาะอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่ทำให้เกิดเสียงดังเวลารับประทาน และอาหารที่มีกลิ่นแรงเท่านั้น ส่วนอาหารอื่นๆ ถ้าคนดูต้องการจะนำอาหารอย่าง น้ำอัดลม กาแฟ ข้าวโพด หรือฮอทด็อก แม้จะไม่ได้ซื้อจากหน้าโรง ก็ให้สามารถนำเข้าไปได้ ทั้งนี้เขาเปิดช่องให้แต่ละโรงไปทำรายการอาหารห้ามนำเข้ากันเอาเอง ซึ่งจากการสำรวจโรงภาพยนตร์ 10 แห่งในกรุงไทเป โดยองค์กรผู้บริโภคของไต้หวันปรากฎว่าเกือบร้อยละ 80 ของโรงภาพยนตร์ที่สำรวจ มีข้อห้ามที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล เช่นห้ามนำเบอร์เกอร์เข้าไป โดยให้เหตุผลเรื่องกลิ่น แต่ในขณะเดียวกันที่หน้าโรงก็ขายฮอทด็อก(ซึ่งกลิ่นก็ไม่น่าจะต่างกัน) บางโรงมีข้อกำหนดไว้เฉพาะเจาะจงมากเช่น ขนมจีบทอด ข้าวกล่องเบนโตะ เครป ทุเรียน เม็ดแตงโม(ดูเหมือนว่าจะแล้วแต่ว่าพนักงานจะคิดอะไรได้) ในขณะที่บางแห่งก็ระบุไว้กว้างๆ ว่าห้ามนำ “อาหารร้อน” เข้าไป อย่างหลังนี่ก็ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่เหมือนกัน เพราะทำให้เข้าใจไปว่าห้ามนำอาหารจากภายนอกทั้งหมดแต่โรงหนังเขายังมีหมัดเด็ดไว้จัดการกับผู้ชมที่จะนำอาหารเข้าไปรับประทาน ด้วยการเก็บ “ค่าธรรมเนียมในการทำความสะอาด” อีกนะ เขาช่างมุ่งมั่นดีจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------- จ่ายแพงกว่าทำไมมารค์แอนด์สเป็นเซอร์งานเข้า เมื่อองค์กรผู้บริโภคของอังกฤษออกมาแฉว่า กางเกงกำจัดเซลลูไลท์ของทางร้านซึ่งราคาตัวละ 29.50 ปอนด์ (ประมาณ 1,450 บาท)นั้นมีคุณสมบัติไม่แตกต่างไปจากกางเกงทั่วๆ ไปที่ใส่ให้รัดต้นขาเลย ทางร้านโฆษณาว่ากางเกงดังกล่าวสามารถกำจัดเซลลูไลท์บริเวณรอบเอวและต้นขาได้ ด้วยส่วนผสมจากอโลเวรา วิตามินอี และคาเฟอีน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในครีมลดเซลลูไลท์ทั่วไปเชียวนะ เขาอ้างว่าคาเฟอีนจะทำให้ขาเรียวและกระชับ ในขณะที่วิตามินอีจะช่วยป้องกันริ้วรอยเหี่ยวย่น และอโลเวราจะทำให้ผิดเรียบเนียน โดยสารเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาจากฟองอากาศขนาดเล็กๆ บนตัวกางเกงในขณะที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวร่างกาย ศัลยแพทย์และแพทย์ผิวหนังบอกกับกับนิตยสาร WHICH? ว่ากางเกงทั่วไปที่ใส่รัดต้นขาให้แน่น ก็ให้ผลไม่ต่างกัน เพราะการรัดของมันจะทำให้เซลลูไลท์ลดลงชั่วคราวด้วยการรีดของเหลวออกจากเนื้อเยื่อนั่นเอง และส่วนผสมสุดวิเศษสามอย่างที่ว่านั้น ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีปริมาณมากพอที่จะให้ผลที่ต้องการหรือไม่ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- ซองใหม่ ไม่ชวนสูบเดือนกรกฎาคม 2012 ออสเตรเลียจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ ซองบุหรี่จะต้องดูเรียบๆ ไม่มีโลโก้ ไม่มีสีสันฉูดฉาด ดึงดูดใจอีกต่อไป นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือนตัวใหญ่ๆ ถึงอันตรายต่อสุขภาพ โดยยี่ห้อนั้นเขาให้พิมพ์ตัวเล็กๆ ไว้ด้านล่าง นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ บอกว่านี่เป็นกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลก และบริษัทบุหรี่คงจะไม่ชอบแน่นอนแต่สงสัยจะเข้มไม่พอจึงต้องแถมด้วยการขึ้นภาษีอีกร้อยละ 25 ซึ่งจะทำให้บุหรี่ขนาดซองละ 30 มวนขึ้นราคาอีกซองละ 60 บาท งานนี้ค่ายบุหรี่ตอบโต้ทันทีด้วยการขู่ว่าจะฟ้องร้องแน่นอน โฆษกของผู้ผลิตบุหรี่อิมพีเรียล โทแบคโคบอกว่า “การใช้ซองเรียบๆ ก็เท่ากับเป็นการทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะยี่ห้อของเราออกจากยี่ห้ออื่นได้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการสูญเสียประโยชน์ของบริษัท” ส่วนร้านค้ารายย่อยบอกว่า การขึ้นราคาบุหรี่ก็จะส่งผลต่อธุรกิจของพวกเขา ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้คนหันไปซื้อจากตลาดมืดมากขึ้น ประธานกลุ่มร้านค้าปลีก IGA บอกว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการทำร้ายคนออสซี่จำนวน 16 ล้านคนที่เลือกการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย งานนี้ดูท่าว่ารัฐจะหนาว เพราะตามกฎหมายของออสเตรเลียนั้นบริษัทบุหรี่สามารถที่จะฟ้องร้องขอค่าชดเชยจากการถูกบังคับเปลี่ยนลักษณะของซองผลิตภัณฑ์ได้ และรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็นเงินถึงปีละ 3000 ล้านเหรียญ(ไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาท)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เอาอาหารจากข้างนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่

  เป็นเรื่องถกเถียงกันมาตลอดว่า เราสามารถเอาอาหาร เครื่องดื่ม ที่ไม่ได้จำหน่ายหน้าโรงภาพยนตร์เข้าไปรับประทานในขณะชมภาพยนตร์ได้หรือไม่ “ได้สิ ก็หน้าโรงขายแพงเหลือเกิน ราคาขูดรีดมาก ซื้อข้างนอกถูกกว่าตั้งแยะ” “ทำไมจะไม่ได้ ก็ขายของราคาเอาเปรียบมาก เราซื้อตั๋วแล้ว ก็น่าจะนำเอาอาหารเข้าไปได้ ของที่เราซื้อก็เหมือนหน้าโรงหนังนั่นแหละ” บลาๆๆ เรื่องนี้ก็เห็นจะต้องแยกเป็นสองประเด็นก่อน คือ 1.เราเอาอาหารจากข้างนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่ 2.ราคาอาหารหน้าโรงหนังแพงเกินไป ประเด็นแรกคือ เราต้องยอมรับก่อนว่า เราเข้าไปซื้อบริการ “ชมภาพยนตร์” ในสถานที่ของเจ้าของกิจการ เท่ากับว่า เรายินยอมรับเงื่อนไขที่ทางโรงกำหนด เช่น ห้ามนำอาหารจากร้านค้าภายนอกที่ไม่ได้จำหน่ายโดยโรงหนังเข้าไปภายในโรง หรือการขอตรวจกระเป๋าเพื่อดูว่าเรานำกล้องเข้าไปแอบถ่ายหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าเราไม่ยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางโรงกำหนด ก็เท่ากับเราละเมิดสัญญาเขาก็มีสิทธิยกเลิกการชมภาพยนตร์ของเราได้ เพราะเราเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไข แต่ในทางปฏิบัติ หลายโรงก็ยืดหยุ่นให้เรานำอาหารเข้าไปได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความพอใจให้ลูกค้า คงไม่มีโรงไหนกล้าไล่เราออกมาอย่างจริงจัง นอกจากจะเตือนๆ บ้าง สรุปว่า ทางโรงมีสิทธิห้ามไม่ให้เรานำอาหารจากภายนอกเข้าไปได้ ประเด็นที่สอง สินค้าหน้าโรงราคาแพงมาก โดยปราศจากการควบคุมราคานั้น อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด เคยมีการทำเรื่องร้องเรียนกระทรวงพาณิชย์มาแล้ว โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าก็คือ กรมการค้าภายใน ซึ่งได้อธิบายว่า สินค้าโรงภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพราะถือเป็น “บริการทางเลือก” ซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ไปเอาผิดกรณีจำหน่ายสินค้าในราคาแพงกว่าท้องตลาดได้ บริการทางเลือก หมายความว่า เขาไม่ได้บังคับให้ซื้อ ไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ อืม ก็จริงนะ แต่ว่า เมื่อไปรวมกับการห้ามนำอาหารจากข้างนอกเข้าไป ก็เลยกลายเป็นว่า มันเหมือนการ “มัดมือชก” ผู้บริโภคดีๆ นี่เอง(ยังไม่รวมเรื่องราคาตั๋วที่แพงจัดและการโฆษณาบ้าเลือดในโรง) เรื่องนี้สำหรับประเทศนี้ กฎหมายคงไม่ใช่ทางออก ผู้บริโภคต้องรวมตัวกันให้ได้จนมีพลังมากๆ มากพอที่จะต่อรองด้วยการไม่ซื้อสินค้าหน้าโรงหนัง จนกว่าผู้ประกอบการจะสำนึกได้ ซึ่งถ้าทำได้จริง รับรองว่า ราคาจะลดลงมาแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >