ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไปกินสุกี้บุฟเฟต์แล้วเกิดอาการหน้าบวม

        วันนี้ฉลาดซื้อ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบุฟเฟต์มาเล่าเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคหลายๆ คน ให้คอยระมัดระวังกัน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณน้ำตาลได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เธอไปกินบุฟเฟต์ร้านดังที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้กับเพื่อนหลายคน ซึ่งเธอก็ได้สั่งอาหารมากินแบบจัดหนักจัดเต็ม (ก็บุฟเฟต์นี่นะ) แต่...เมื่อเธอเริ่มกินอย่างเอร็ดอร่อยได้สักพัก ดันมีอาการหน้าบวม ตาบวมจนปิดขึ้นมาซะงั้น ทำให้เธอต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งในวันนั้นเธอได้สั่งแมงกะพรุนกับหมึกกรอบมารับประทาน (อาหารต้องสงสัย) เพราะว่าตัวเองนั้นชอบกินมาก แต่ในตัวเธอเองก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน         ต่อมา เมื่อเธอถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ได้ทำการรักษา เช่น ฉีดยาแก้แพ้และรักษาตามอาการอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งแพทย์ยังตรวจพบว่าเธอมีหนองอยู่ในโพรงจมูก สืบเนื่องจากอาการแพ้อาหาร และเธอยังเคยเสริมจมูกมาทำให้ต้องผ่าตัดซิลิโคนออกเพื่อเอาหนองออกไป จนเมื่อเธอได้ออกจากโรงพยาบาลจึงได้ติดต่อมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ  แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น          จากข้อมูลที่ทางผู้ร้องได้แจ้งมากับทางมูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้             1. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นเรื่องจริง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือใส่ความแต่ประการใด            2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย เช่น 15-30 วัน เป็นต้นไป             3.หากพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ อาจเรียกผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้  ผู้ร้องอาจจะต้องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องควรจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร         ทั้งนี้ หลังจากที่ทางผู้ร้องรับทราบก็ได้มีการทำตามที่มูลนิธิฯ แนะนำ หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อผู้ร้องไปอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้วันที่ 18 สิงหาคม มีการนัดไกล่เกลี่ยกับทางร้านซึ่งสรุปว่าทางร้านไม่มาตามที่นัดหมายไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปรึกษาอีกว่าได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักข่าวต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หลังจากข่าวแพร่ออกไปกับมีความคิดเห็นต่อผู้ร้องในแง่ลบ จึงอยากปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? ทางเราจึงได้แนะนำให้เข้าคอร์สเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งทางผู้ร้องเองก็ได้ไปตรวจมาเรียบร้อย และกำลังรอผลอีก 1 สัปดาห์          ขณะปิดต้นฉบับเรื่องราวของคุณน้ำตาลยังไม่จบเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ คุณน้ำตาลจึงมีอาการดังกล่าว พร้อมทั้งยังไม่ได้ค่าชดเชยจากทางร้าน  แต่อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับประทานให้มาก เพราะยิ่งเป็นอาหาร เช่น หมึกกรอบแมงกระพรุนก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลินได้ สามารถอ่านผลทดสอบหมึกกรอบได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/4269/           ทางที่ดีสอบถามทางร้านให้แน่นอนก่อนรับประทานเพราะมันคือสิทธิของเราที่จะถามว่าอาหารที่เรารับประทานมีแหล่งที่มาจากที่ไหนปลอดภัยและสะอาดหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เตือนภัยยาสูตรเข้มข้น อันตรายก็เข้มขึ้น

        ในช่วงหน้าทำนายาอันตรายที่กำลังฮิตในกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทางอิสานคงหนีไม่พ้นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วงนี้มียาฮิตตัวใหม่มีการนำมาเร่ขายตามบ้าน รู้กันในชื่อ สูตรเข้มข้นx2 Extra และมีการบอกต่อๆกันจนขายดิบขายดี ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ธรรมดา ราคาต่อขวดมากกว่าหนึ่งพันบาท         นอกจากชื่อที่บอกเข้มข้นแล้ว อันตรายมันก็เข้มขึ้นไม่แพ้กัน ผู้ที่นำไปรับประทานหวังแก้อาการปวดเมื่อย หลายรายเกิดอาการไม่พึงประสงค์แถมมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการบวมที่เท้า ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เมื่อทราบข้อมูลจึงได้ขอยาจากชาวบ้านมาทดสอบและก็แม่นยิ่งกว่าถูกหวยเสียอีก เป็นไปตามคาดเพราะเมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบสารสเตียรอยด์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าให้ผลบวก หมายถึงพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์อยู่ในผลิตภัณฑ์นี้จริงๆ         ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว ขอย้ำเตือน อันตรายจากสเตียรอยด์ที่เราพอจะสังเกตเองได้เอง เผื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัวว่า หลงไปใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัวหรือไม่  อาการที่จะพบได้บ่อยๆ คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา        อันตรายที่น่ากลัวยังมีมากกว่านี้ การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานานมันจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงลดลง ผู้ที่ใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์จึงติดเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยังไปยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนด้วยซ้ำ  และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือทำให้กระดูกพรุน           ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ยิ่งอันตราย ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตจะไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้เช่นกัน มักจะมีระดับความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีอาการเตือน จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ และที่ต้องย้ำคือ ถ้าพบว่ายาที่ใช้มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ อย่าหยุดใช้เองโดยทันที เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน  ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่ร่างกายเคยสร้างเองได้  เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนสารสเตียรอยด์แล้ว ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ถูกต้องจะปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ต้องใช้ยานานแค่ไหน

        เมื่อเรารับยาจากเภสัชกรโรงพยาบาลหรือจากร้านขายยา  ส่วนใหญ่เราจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยานั้นๆ ทั้งชื่อยา  สรรพคุณ  ขนาด  วิธีใช้ และข้อควรระวัง  ซึ่งนอกจากเภสัชกรจะอธิบายแล้วข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏบนฉลากยาให้อีกด้วย แต่ข้อมูลแค่นี้ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย  เพราะเราควรจะต้องสอบถามเภสัชกรเพิ่มอีกว่า ยาที่ตนได้รับนั้น ชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ซึ่งเราจะต้องถามให้ละเอียดทั้งยากินยาใช้ภายนอกหรือยาฉีด ดังตัวอย่างต่อไปนี้         ผู้ป่วยรายที่ 1  เป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอติดเชื้อแบคทีเรีย  เภสัชกรจ่ายยาให้กิน 4 ชนิด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล เพื่อแก้ปวดลดไข้  ยาซีพีเอ็มเพื่อลดน้ำมูก  ยาแอมบรอกซอลเพื่อแก้ไอและยาอะม็อกซี่ซิลินเพื่อฆ่าเชื้อโรค  จากตัวอย่างนี้ยาที่จะต้องกินต่อเนื่องจนยาหมด คือ อะม็อกซี่  เพราะต้องการผลในการฆ่าเชื้อโรคให้หมด ส่วนยาแก้ไข้  ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอให้กินเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ถ้าเกิดมีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตามให้หยุดทันทีและรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร         ผู้ป่วยรายที่ 2  มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  เภสัชกรจ่ายยา 2 ชนิด  ได้แก่ ไอบูโพรเฟนเพื่อกินแก้ปวด  และยานวดแก้ปวด ในกรณีนี้ยาทั้ง 2 ตัวจะใช้เฉพาะเวลามีอาการ ถ้าอาการปวดดีขึ้นอาจลดขนาดยาลง เช่น เดิมกินยา ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา  อาจลดเหลือวันละ 2 เวลา หรือ 1 เวลาก็ได้ ถ้าหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อจนหมด  โดยยาที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้เวลาที่มีอาการครั้งต่อไป (แต่ก่อนใช้ต้องตรวจสอบก่อนว่า ยายังไม่หมดอายุ)         ผู้ป่วยรายที่ 3  มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคกรดไหลย้อน  เภสัชกรจ่ายยา 3 ชนิด ได้แก่แอมโลดิปีน  กินเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง  ยาเบต้าฮิสติดีนกินเพื่อรักษาอาการวิงเวียน  ยาโอมีพราโซลและดอมเพอริโดน กินเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน   กรณีนี้ยาแอมโลดิปีนและโอมีพราโซลให้กินต่อเนื่อง  แต่ยาเบต้าฮิสติดีนให้กินเฉพาะเวลาวิงเวียน  ส่วนยาดอมเพอริโดนอาจกินเฉพาะเวลามีอาการกรดไหลย้อนหรือกินต่อเนื่องขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ในกรณีนี้ต้องปรึกษาเภสัชกร)         ผู้ป่วยรายที่ 4  มีอาการผื่นคันจากการสัมผัสฝุ่นละออง  เภสัชกรจ่ายยา 2 ตัว ได้แก่ ลอราตาดีนและยาทาเพรดนิโซโลน  ในกรณีนี้ยาลอราตาดีนให้กินเฉพาะเวลามีอาการหรือกรณีได้สัมผัสตัวกระตุ้น หากผู้ป่วยมีอาการแพ้เรื้อรังให้กินต่อเนื่องตามระยะเวลาของการรักษา  ส่วนเพรดนิโซโลนทาให้ทาเฉพาะเวลามีอาการผื่นคันเท่านั้น         ผู้ป่วยรายที่ 5  เป็นโรคความดันโลหิตสูง  ได้รับยา 2 ตัว  ได้แก่  แอมโลดิปีนและอีนาแลบพริล  ยาทั้ง 2 ตัวนี้ให้กินต่อเนื่องและต้องไปรับยาตามที่นัด  แต่ในระหว่างกินยาแล้วเกิดอาการไอแห้งๆ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพราะถ้าอาการไอนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาอีนาแลบพริล  แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาชนิดอื่นให้ เช่น ลอซาแทน  กรณีนี้จะเห็นว่าแม้ยาที่ต้องทานต่อเนื่องถ้าเกิดผลข้างเคียงที่สำคัญก็จำเป็นต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ปัญหาเนอร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยไม่ดี

        เนอร์สซิ่งโฮม คือบริการในด้านสถานที่สำหรับการดูแลพักฟื้นและให้การช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะสั้น และผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ไม่สะดวกในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัยด้วยตนเอง หรืออาจไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้ดีพอ จึงเลือกใช้บริการด้านนี้ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย ด้วยว่ามีความเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญมากกว่า         คุณสาละวิน ตัดสินใจพาคุณแม่ไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง  สมมติว่าชื่อ สว. เนอร์สซิ่งโฮม เนื่องจากคุณแม่มีภาวะกระดูกหักที่สะโพกและต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งทางคุณสาละวินพิจารณาแล้วว่า การอยู่เนอร์สซิ่งโฮมที่มีพนักงานและอุปกรณ์พร้อมน่าจะดีกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งคุณแม่ก็เข้ารับบริการอยู่ที่นี่ได้สักพักหนึ่ง         วันหนึ่งได้รับแจ้งว่าคุณแม่ของเธอถูกส่งไปรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล เพราะว่ามีอาการหายใจไม่ออกเจ็บหน้าอกและมีไข้ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่ของเธอต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนยังไม่สามารถกลับบ้านได้ทันที ขณะนั้นเธอก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ในช่วงเย็นวันเดียวกันขณะที่เธอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้คุณแม่ คุณแม่ร้องบอกว่า “เจ็บ เจ็บ” เธอพลิกก้นคุณแม่ดูจึงพบว่า มีแผลกดทับที่ก้นคุณแม่ขนาดใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมว่า คุณแม่มีแผลกดทับได้อย่างไร เพราะตอนเข้าไปในเนอร์สซิ่งโฮมไม่มีบาดแผลดังกล่าวแน่นอน        ทางเจ้าของสถานบริการรีบปฏิเสธว่าคุณแม่ไม่มีแผลกดทับจากการดูแลของทางเรา ส่วนแผลที่คุณสาละวินเห็นเพิ่งเกิดที่โรงพยาบาล เพราะไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมนานๆ และไม่พลิกตัวจึงทำให้กลายเป็นแผลกดทับ เธอจึงคาดคั้นว่าเกิดจากที่โรงพยาบาลจริงหรือ อาการแผลกดทับที่เพิ่งเป็นกับที่เป็นมานานแล้วแตกต่างกัน ทางโรงพยาบาลจะพลาดจนแม่เกิดแผลกดทับจริงหรือ เธอไม่เชื่อตามที่ทางสถานบริการแจ้งมา และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลหลายรอบ ในท้ายที่สุดเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมก็ยอมรับว่า “เกิดจากการที่ดูแลคุณแม่ของเธอไม่ดีและขอรับผิดชอบด้วยการที่จะดูแลคุณแม่ของเธอให้ดีในช่วงที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล”         คุณสาละวินจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้เธอสามารถเรียกค่าชดเชยจากเนอร์สซิ่งโฮมที่ทำให้คุณแม่เจ็บป่วยได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา             กรณีนี้เป็นการละเมิดทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ดูแลหรือทางสถานบริการจะต้องดูแลผู้สูงอายุตามหน้าที่ ตามสัญญา หากไม่ดำเนินการตามสัญญา อีกทั้งละเลยจนทำให้ได้รับความสียหายเกิดแผลกดทับ ผู้บริโภคสามารถเรียกเป็นค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาให้กลับมาเป็นปกติ และอื่นได้ตามสมควร         หลังจากเกิดเรื่องร้องเรียนทางเนอร์สซิ่งโฮมได้ขอยกเลิกการมาดูแลคุณแม่ของคุณสาละวินขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสาละวินได้ขอให้เนอร์สซิ่งโฮมคืนเงินที่เหลือ เพราะคุณแม่ของเธออยู่ใช้บริการในสถานบริการไม่ครบเดือนตามสัญญากับทางสถานบริการ         เรื่องนี้ได้มีการจัดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้เชิญผู้แทนทางเนอร์สซิ่งโฮมเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำคุณสาละวินให้ใช้สิทธิทางศาล เนื่องจากอายุความละเมิดมีกำหนดแค่ 1 ปี ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ให้ทางคุณสาละวินได้เตรียมพร้อมในส่วนข้อมูล เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคุณแม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและในอนาคต เพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียกค่าเสียหายในการดำเนินคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนติดใจก็เคลียร์กันได้

        เมื่อทางราชการได้กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชนขึ้นแล้ว ผู้บริโภคก็ควรได้ใช้สิทธิของตนเพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น เรามาดูกรณีศึกษาจากผู้บริโภคคุณภาพท่านหนึ่งกัน         คุณพยุง อายุเข้าวัยกลางคนแล้ว วันหนึ่งมีอาการตาพร่ามัวและเคลื่อนไหวร่างกายไม่ถนัด จึงคิดว่าน่าจะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการว่ามีอะไรผิดปกติไหม คุณพยุงเรียกแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะมีมาตรฐานและเครื่องมือที่พร้อมกว่าโรงพยาบาลซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เมื่อถึง รพ.คุณพยุงได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ห้องฉุกเฉิน ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าอาจเป็นอาการของเส้นเลือดสมองตีบ จึงให้ผู้ร้องทำ MRI* ซึ่งผลเป็นไปตามที่แพทย์ผู้รักษาคาด แพทย์จึงขอให้คุณพยุงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล(แอดมิท) ทันที          คุณพยุงนั้นยังลังเลที่จะเข้าแอดมิทเลย เพราะห่วงว่าคุณแม่ซึ่งอยู่บ้านลำพังจะลำบาก จึงผัดว่าจะเข้ามาแอดมิทในตอนกลางคืน และจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 18,195 บาท        เมื่อจัดการธุระทางบ้านเรียบร้อยคุณพยุงจึงให้น้องชายมาส่งที่ รพ.เพื่อเข้ารับการรักษาในคืนนั้น แพทย์ทำการตรวจรักษาด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาค่าโคเรสเตอรอลและให้นอนพัก ซึ่งขณะพักมีการให้น้ำเกลือ 1 ขวด ก่อนนอนแพทย์ให้คุณพยุงรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาแก้ปวดและยาลดไขมัน วันรุ่งขึ้น ตอนเช้าเมื่อแพทย์ดูอาการแล้วได้สั่งเพิ่มการทำ MRA (การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง MRI เราเรียกว่า MRA Brain หรือ Magnetic Resonance Angiography) อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้ต้องรอเครื่องว่าง ซึ่งคุณพยุงต้องรอถึง 3 ทุ่ม และนอนอีกหนึ่งคืน         วันต่อมาคุณพยุงไม่อยากนอน รพ.อีก แต่ตื่นเช้ามาอาการไม่ค่อยดีไม่สามารถขยับมือเพื่อเซ็นชื่อได้ถนัด จึงบอกแพทย์ว่าจะขอดูอาการตัวเองก่อนว่าจะกลับบ้านหรือไม่ ต่อมาตอนบ่ายอาการดีขึ้นจึงตัดสินใจกลับบ้าน ขณะที่กำลังจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาล คุณพยุงถูกเรียกเก็บค่ารักษาที่ 20,000 บาทกว่า คุณพยุงพิจารณาว่า บางรายการแพงเกินไป เช่น ค่าน้ำเกลือและค่าวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จึงจ่ายเงินเพียง 14,661 บาท โดยเว้นรายการที่ไม่ชัดเจนไว้ก่อน และจะมาขอคำชี้แจงในภายหลังว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร จึงจะจ่ายส่วนดังกล่าวให้กับโรงพยาบาล        “ดิฉันจ่ายในสิ่งที่เห็นว่า รพ.เรียกเก็บอย่างเหมาะสมเท่านั้น เช่น ค่าห้อง อันนี้ดิฉันตัดสินใจนอนเอง ส่วนน้ำเกลือเปล่าๆ จำนวน 2 ขวด คิดขวดละ 990 บาทเห็นว่าแพงเกินไป”            คุณพยุงเล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และขอแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้หนี้ที่คุณพยุงค้างไว้คือ เงินจำนวน 6,028 บาท แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ขอให้คุณพยุงส่งเอกสารประเภทใบเสร็จและรายการค่าวัสดุอุปกรณ์ที่มีเพื่อจะได้ส่งเรื่องให้กับทางกรมการค้าภายใน อย่างไรก็ตามคุณพยุงได้ติดต่อมาในภายหลังว่า ได้เจรจากับทาง รพ.แล้ว และทาง รพ.ได้ลดราคาในส่วนที่ค้างอยู่ ลงมาเหลือ 3,000 บาท ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเหมาะสมจึงจ่ายหนี้ส่วนดังกล่าวและยินดียุติเรื่อง         สำหรับผู้บริโภคที่เกิดข้อสงสัยในส่วนของค่ารักษาของ รพ.เอกชน ท่านสามารถแจ้งรายละเอียดและร้องเรียนไปที่ กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์                 *MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ เครื่องตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริง ของส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ (Radio Frequency) ด้วยการส่งคลื่นความถี่เข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ นำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพ ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถให้รายละเอียดและความคมชัดเสมือนการตัดร่างกายออกเป็นแผ่นๆ ทำให้แพทย์สามารถมองจุดที่ผิดปกติในร่างกายคนเราได้อย่างละเอียด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

                ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล         แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์         งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท         ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท         นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น         ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น         สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้             “ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้         ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่” การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น         นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน         “ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป” เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน         เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า         “ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการ” สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว         นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น กกร. เดินหน้ามาตรการ         ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ         ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย             อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง         คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน         “ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้ว” สุภัทรา กล่าว         ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ         อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า                “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก         แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่” มาตรการต่อไป         มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่         “วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก”         ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น         ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 โรงพยาบาลบริการไม่เป็นมิตร

        ทุกคนต่างทราบดีว่า การเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐนั้น ความสะดวกสบายเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากความแออัดของผู้ป่วยที่รอเข้าใช้บริการในแต่ละวัน จากสถิติสาธารณสุขระบุว่า ในปี พ.ศ.2561 รพ. รัฐ มีจำนวนผู้ป่วยนอกสูงถึง 71.83 ล้านคน ตรวจรักษา 247.34 ล้านครั้ง เฉลี่ย 3.44 ครั้งต่อคน (ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ด้วยเหตุนี้ความไม่พอใจต่องานบริการจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่งบางเรื่องก็สามารถจัดการแก้ไขให้ลุล่วงได้ ขอเพียงแต่ละฝ่ายได้สื่อสารกันด้วยเหตุผล         คุณเพียงใจเข้าใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านพบว่าเกิดอาการหน้าบวม ตาบวม คาดว่าน่าจะเกิดจากการแพ้ยาจึงหยุดยา แต่อาการยังไม่ดีขึ้นติดต่อกับทางฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาลได้รับคำแนะนำให้มาที่แผนกฉุกเฉิน จึงขอให้ญาติช่วยพามาส่งที่โรงพยาบาล เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อพยาบาลห้องฉุกเฉินวัดความดันให้บอกว่า “ทำไมไม่ไปที่ตึก...” (ซึ่งเป็นตึกที่ตรวจรักษาทั่วไป) จากนั้นให้เจ้าหน้าที่เข็นรถพาไปส่งยังตึกดังกล่าว แต่เมื่อเข็นรถมาได้สักพัก เจ้าหน้าที่เข็นรถถามญาติผู้ป่วยว่า “รู้จักตึก...ใช่ไหม ไปถูกไหม” ญาติตอบไปว่า “รู้จัก” เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “ถ้างั้นเข็นไปเองนะ” แล้วเดินจากไปทันที         ญาติคุณเพียงใจจึงต้องช่วยเข็นรถพามาที่ตึกดังกล่าว คราวนี้เมื่อพยาบาลคัดกรองตรวจสอบประวัติคนไข้แล้วได้แจ้งว่า “รอ 4 โมงเย็นนะค่อยพากลับไปตรวจที่ตึกเดิม(ฉุกเฉิน)” คุณเพียงใจรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี คำแนะนำก็ทำให้เกิดความลำบากในการรักษา จึงโทรแจ้งประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำ ก็ได้รับแจ้งว่า “คุณไปหาข้าวกินก่อนแล้วค่อยมาตามนั้น เพราะที่ตึก...เตียงไม่ว่าง” คุณเพียงใจจึงอดตัดพ้อไม่ได้ว่า “ถ้าดิฉันตายไปหรือเป็นอะไรมา โรงพยาบาลรับผิดชอบแล้วกัน” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ตอบกลับว่า “ตกลงร้องเรียนใช่ไหมคะ” คุณเพียงใจจึงแจ้งมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า อยากให้ช่วยบอกทางโรงพยาบาลให้ปรับปรุงแก้ไขวิธีปฏิบัติงาน เพราะเห็นว่าไม่เป็นมิตรกับประชาชน แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์ฯ ได้ขอข้อมูลจากคุณเพียงใจเพิ่มเติมเพื่อทำหนังสือถึงทางโรงพยาบาล ขอให้ตรวจสอบคุณภาพบริการและแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลได้รับทราบปัญหาแล้วและได้แก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในเรื่องการเข็นรถและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ส่วนเรื่องความแออัดและความล่าช้าในการตรวจรักษา ทางโรงพยาบาลได้พิจารณาที่จะจัดตั้งคลินิกเสริมในช่วงบ่ายโดยเร็วที่สุด” ศูนย์ฯ ได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อผู้ร้อง คุณเพียงใจพอใจที่ทางโรงพยาบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาและเข้าใจเรื่องความแออัดของผู้ป่วย แต่ก็อยากที่จะเห็นบริการที่เป็นมิตรจากโรงพยาบาลเพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 วิ่งวุ่นจากเหตุใช้สิทธิป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาฟรี

        น่าจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า หากประชาชนประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถใช้สิทธิ UCEP หรือสิทธิการรักษาเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งสามารถรักษาได้ฟรีทุกโรงพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมงแรก ก่อนจะส่งผู้ป่วยเข้าระบบตามสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายหรือไม่ฟรีจริงแก่ผู้ป่วยและญาติที่ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะปลดเปลื้องภาระได้ ดังกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ        คุณประสานร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 16.30 น. คุณประสงค์ซึ่งเป็นน้องชายประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วมีรถบรรทุกเลี้ยวตัดหน้า คุณประสงค์ถูกนำส่งโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุโดยรถกู้ภัยอาสาในภาวะหายใจเองไม่ได้และไม่รู้สึกตัว คุณประสานไปโรงพยาบาลและเฝ้าผู้ป่วยอยู่จนถึงเวลา 22.30 น. จึงได้กลับบ้าน แต่ประมาณ 23.00 น. ทางโรงพยาบาลได้โทรศัพท์แจ้งว่า ให้มาเซ็นเอกสาร 2 ฉบับเพื่อให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดด่วน ซึ่งตนเองก็รีบไปเซ็นเอกสารดังกล่าว         วันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลแจ้งว่าอาการของผู้เสียหายหนักเกินกว่าที่ทาง รพ.จะรักษาได้ ต้องส่งไป รพ.ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของผู้ป่วย แต่เมื่อติดต่อไปและแจ้งอาการ โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกันก็ไม่สามารถรักษาได้ น้องชายต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อไปตามโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์หลายแห่งพบว่า เตียง ICU เต็ม ผู้ร้องจึงดิ้นรนติดต่อหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอที่จะรักษาน้องชายได้ จนได้ทราบว่าน้องชายสามารถใช้สิทธิ UCEP หรือฟรี 72 ชั่วโมงแรก เมื่อแจ้งเรื่องต่อโรงพยาบาลกลับได้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยโรงพยาบาลแจ้งว่า คุณประสงค์ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.รถ ไปแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้         วันที่ 6 มีนาคม ประมาณ 14.00 น. ทางโรงพยาบาลแจ้งคุณประสานว่า โรงพยาบาลศิริราชรับรักษาคุณประสงค์ ซึ่งทาง รพ.จะย้ายผู้ป่วยไปที่ศิริราช แต่คุณประสานต้องชำระค่ารักษาจำนวน 120,000 บาท คุณประสานจึงรีบไปหาหยิบยืมเงินมาจ่ายให้ทาง รพ. ซึ่งเวลาประมาณ 20.00 น.จึงพอที่จะรวบรวมเงินได้และนำมาจ่ายให้ รพ. น้องชายจึงได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช คุณประสานพยายามขอข้อมูลจากทางศิริราชว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้หรือไม่ ทางศิริราชให้ข้อมูลว่าการตัดสินใจว่าใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องส่งข้อมูลเข้าไปที่ระบบซึ่งดูแลโดย สปสช. คุณประสานจึงขอให้ทาง รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกส่งข้อมูลไปยังระบบของ UCEP แต่ รพ.ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “อาการของผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว”         คุณประสานจึงแจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช. ต่อมาได้รับแจ้งว่า ทาง รพ.ได้ส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาว่าเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ส่วนอาการของผู้ป่วยหลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ได้ย้ายเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกัน ซึ่งผู้ป่วยยังอยู่ในอาการไม่รู้สึกตัว ส่วนเรื่องของการร้องเรียนนั้น ผ่านไปประมาณ 7 เดือนยังไม่คืบหน้า ทำให้คุณประสานมีภาระเรื่องการผ่อนชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อรักษาน้องชาย จึงขอความช่วยเหลือกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นได้แนะนำให้คุณประสานดำเนินการเรื่องคดีความกับทางผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม สำหรับการติดตามกรณีใช้สิทธิ UCEP ได้รับแจ้งจากทาง สปสช. ว่า แม้ รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกนั้นจะส่งข้อมูลเข้าระบบแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการเรื่องเบิกเงินกับ UCEP  เรื่องจึงยังไม่คืบหน้า ซึ่งกรณีนี้ทาง สปสช.ได้พิจารณาแล้วว่าเข้ากรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตั้งแต่ที่คุณประสานร้องเรียนไว้ รอเพียงให้ทาง รพ.เบิกเงิน ซึ่งจะทำให้ทราบว่ายอดเงินเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อการพิจารณาจ่ายเงินให้ รพ. และ รพ. จะได้คืนเงินให้กับผู้ร้องต่อไป            กรณีของคุณประสานนี้ ความล่าช้าเกิดจาก รพ.อาจยังไม่เข้าใจการส่งเรื่องเข้าระบบ เพราะเมื่อติดต่อไปที่ รพ. ได้รับคำยืนยันว่า ได้ส่งข้อมูลเข้าระบบไปแล้วตั้งแต่มีนาคม แต่ รพ.ไม่ทราบว่าต้องส่งข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เพราะ สปสช. ต้องใช้ในการพิจารณาว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดนั้น สปสช. สามารถจ่ายได้เต็มจำนวนหรือไม่         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยประสานงานทวงถามให้กับผู้ร้องเรียนเป็นระยะ พบว่า ทาง รพ.อ้างว่ามีภาระงานมาก จึงทำให้การทำเรื่องเบิกจ่ายล่าช้า ดังนั้นกว่าจะทำเรื่องเบิกจ่าย ก็ต้องรอจนถึงเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 เรื่องจึงได้ผ่านการพิจาณาของ สปสช. และมีหนังสือแจ้งการจ่ายเงินให้ รพ. ซึ่ง รพ. ก็ติดต่อให้คุณประสานเข้าไปรับเงินคืน  ------------นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 โดย สปสช.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้รพ.เอกชนตามนโยบายนี้ว่า คนไทยทุกคนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล (รพ.) ที่ใกล้ที่สุดได้ทั้ง รพ.รัฐและรพ.เอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิจะดำเนินการจ่ายให้รพ.ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่สามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาพยาบาลฟรี 72 ชั่วโมงแรก1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิตที่มา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ค่ารักษาพยาบาลแพง? ใครรับผิดชอบ

            เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะสามารถเดินหน้า เสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาลได้ทันที และคาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น            แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน(Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม(Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ            ฉลาดซื้อฉบับเดือนแรกของปีหมู 2562 จึงขอเสนอเรื่องราวซึ่งเข้ากับสถานการณ์ร้อนระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนจบของ “ แพ้ยา ใครรับผิดชอบ ” จากคอลัมน์เสียงผู้บริโภค ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อปีกลาย            คุณคมเดช โพธิสุพรรณ มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเนื่องจากเขาถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากการแพ้ยาของโรงพยาบาลทั้งที่เขาเข้ารับการรักษาการผ่าตัดหมอนรองกระดูก  คุณคมเดช เล่าให้เราฟังว่า            “ผมได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเนื่องจาก ปวด คอและหัวไหล่ ซึ่งแพทย์แจ้งว่ากระดูกต้นคอแตกและเริ่มทับเส้นประสาท แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 470,000 บาท ผมจึงได้เช็คราคาค่าผ่าตัดจากข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ หลายๆ แห่ง เพื่อหาข้อมูลในการรักษา พบว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำว่าที่โรงพยาบาลนี้มีคนรู้จักซึ่งอาจจะทำให้ลดค่ารักษาได้อีก ผมจึงตัดสินใจเลือกที่นี่            ในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผมจึงเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อย แล้วหลังจากผ่าตัดก็สามารถทานอาหารได้เป็นปกติดี ขณะที่เข้าพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลแจ้งว่าหากมีอาการปวดสามารถขอยาแก้ปวดจากโรงพยาบาลได้นะ จนเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ผมมีอาการปวดแผลจึงแจ้งพยาบาล พยาบาลจึงสอบถามว่าจะรับเป็นยาทานหรือยาฉีด ผมขอเป็นยาฉีด โดยเขาฉีดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ต่อมาประมาณ 5 นาที จึงมีอาการแน่นหน้าอก ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบากเหมือนมีอะไรติดในคอ พยาบาลจึงชงน้ำขิงให้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการ อาการผมก็ไม่ดีขึ้นจึงบอกให้เขาช่วยดูดเสมหะให้พยาบาลจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์ซึ่งแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถดูดเสมหะได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนแผล พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอเพิ่มให้ แต่อาการไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงเรื่อยๆ ผมมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น พยาบาลจึงได้เอาสายออกซิเจนมาให้ใส่ แต่ผมก็หายใจไม่ออกจนหน้าและลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น.พยาบาลจึงรีบนำผมเข้าห้องไอซียู จนเวลาประมาณตี 2 ภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤติ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ยา Tramadol (ทรามอล)  ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาการแพ้ยาชนิดนี้ให้ทำกล่องเสียงบวม ตาบวม จมูกบวม หายใจลำบากต้องสอดท่อช่วยหายใจเส้นเลือดฝอยที่หน้าและที่บริเวณดวงตาแตกในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน             ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3-4 คืน ในวันที่ 15 เมษายน 2560 พยาบาลได้แจ้งว่ายอดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 571,087 บาท หลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล ในวันที่ 18 เมษายน 2560 ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลฯ ได้โทรแจ้งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดว่ามียอดรวมประมาณ 690,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ผมจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้ผมชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดหมอนรองกระดูก 430,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ (ซึ่งสามารถเบิกจากประกัน ได้ 280,000 บาท) ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยา 150,000 บาท จะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยในวันนั้นมีบุรุษพยาบาลพาผมนั่งรถเข็นไปที่ฝ่ายการเงินเพื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิ            สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่องคุณภาพการให้บริการ มาตรฐานของบุคลากรที่ให้บริการ เพราะถ้าคุณคิดแพงแล้วแต่บุคลากรไม่ใช่มืออาชีพพอ ผมก็อยากให้มีหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลมาตรฐานตรงนี้ เช่นโรงพยาบาลเดียวกันถ้าเราเจอคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเราเจอคนไม่ดีก็ซวยไป             ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผมก็อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดให้แกผู้จะเข้ารับบริการให้ละเอียดก่อนมีการตัดสินใจ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย เพราะในส่วนตัวของผมเอง ที่เจอมามีค่าใช้จ่ายที่เกินมาโดยที่เขาไม่ได้แจ้งไว้ก่อน เขาแจงไม่ได้เราก็ไม่โอเค ถ้าแจงได้สมเหตุสมผลมันก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟ้องร้องกันนะครับ อย่างที่ผมเจอตัวผมซึ่งเป็นผู้ป่วยเอง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลเองจะต้องไปไล่บี้กับบุคลากรของโรงพยาบาลเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเจออย่างไรบ้าง            สิ่งที่ผมเจอในเรื่องของบุคลากรก็คือ ในเรื่องของพยาบาลที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ขาดพอ คือ การอาการแพ้ยาของผมกลับกลายเป็นว่าเป็นการประวิงเวลาเอาไว้ เพราะอาการแพ้ยาจะมีลำดับความรุนแรงตามเวลาที่เกิด ในช่วงเวลาที่นานขึ้นใช่ไหมครับ คือถ้าคุณแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราได้รับยาตัวไหน เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้ต้องทำการแก้ไขอย่างไร แต่เขากลับมองว่าไม่ได้เป็นการแพ้ยา ที่ผมเจอ กลับเป็นการมองว่าเป็นการผ่าตัดมีปัญหา เลยทำให้ต้องไปตามหมอที่ผ่าตัดมาดู หมอเวรก็ไม่ขึ้นมาดู ให้พยาบาลวินิจฉัยกันเองก็โทรคุยกันแบบนี้ว่า ว่าเดี๋ยวเราลองให้ยาชาดูก่อน เดี๋ยวลองอะไรแบบนี้จนแบบว่ามันหนัก จริงๆ ถ้ามาตรฐานเพียงพอ เรื่องการแพ้ยาตัวนี้ผมว่าไม่ต้องเปิดตำราแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วว่ายาตัวนี้ถ้าให้แล้วเกิดอาการแพ้แล้วจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรน่ะครับ ถ้าเราให้บริการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มีความมืออาชีพพอ ปัญหาจะไม่บานปลาย ถูกไหมครับอันนี้คืออาการจะค่อยๆ หนักขึ้นตามระยะเวลาที่รอ กว่าผมจะได้รับการแก้ไขก็ต้องเข้าไอซียูเลยนะ ตั้ง 3 ชั่วโมง นานมาก แล้วถามว่า 3 ชั่วโมงที่ผมรอมันทรมานมากแค่ไหน มันเล่าออกมาเป็นความรู้สึกไม่ได้หรอก ไม่เจอไม่รู้หรอก มันทรมานน่ะครับมันตายเลยยังง่ายกว่า มันหายใจเองไม่ได้ ต้องมานั่งประคองตัวเองให้รอด มันทรมานมาก            สิ่งที่ผมต้องการคือมาตรฐานในการบริการที่ควรจะต้องเน้นย้ำ ราคาก็ควรจะต้องชัดเจนประสบการณ์จากการฟ้องร้องกับโรงพยาบาล            เวลาเรามีเรื่องฟ้องร้องกับโรงพยาบาล ยังไงเราก็เสียเปรียบโรงพยาบาลอยู่แล้ว เขามีทีมทนายตัวผู้ป่วยที่เกิดปัญหาอย่างผม ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าผมจะฟ้อง รพ.อย่างไรแน่ๆ เราก็ต้องไปหามูลนิธิฯ เพื่อปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เก่ง หรือมีความชำนาญในเรื่องทางการแพทย์อยู่แล้ว สุดท้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียหายก็เสียเปรียบโรงพยาบาล มันไม่ใช่การสู้กันแบบ 1 ต่อ 1 แล้วน่ะ เพราะอย่างไรทางโรงพยาบาลก็ได้เปรียบ มันก็ไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจบอย่างไร                                เรายอมจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ ถามว่าในใจผมถึงที่สุดไหม เราไม่อยากจ่ายเลยเพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะมันเกิดขึ้นจากเขา แม้กระทั่งในใจลึกๆ เองอยากได้เขาเรียกว่าค่าอะไรล่ะ ค่าเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ มันไม่ควรเกิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เพราะว่าการฟ้องร้องมันเสียเวลา เรื่องนี้กินระยะเวลารวมประมาณ 2 ปี ผมไปศาลมา 4 ครั้ง แล้วมันเสียเวลาทำงานเรา แล้วสุดท้ายเราก็ตัดรำคาญนะครับ แล้วเราไม่คุ้มไงกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องมานั่งเสียเวลาฟ้องร้องอีกนะครับ ผมก็เลยยอมจ่ายไปประมาณนั้นครับ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลก็ได้เปรียบอยู่ดีนะครับเขาไม่มีทางที่จะเสีย 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ก็มีผู้เสียหายนี่ละที่จะทนเสียเวลาได้มากแค่ไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องยอมจ่ายไป..แค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 แนวทางความเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง

11 พ.ค. 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน หรือ คอบช.โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลการกำหนดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเวชภัณฑ์ ด้วย 4 ข้อเสนอสำคัญ ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ปัญหาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงจนเป็นที่รู้กันนั้น แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สะท้อนความคับข้องใจของคนไทย เมื่อนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ชักชวนประชาชนร่วมลงชื่อกับ www.change.org/privatehospitals เมื่อปี 2558 เพื่อนำรายชื่อเข้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาพยาบาล  “ทุกสื่อพร้อมใจกันประโคมข่าวชนิดที่ดิฉันไม่เคยเจอมาก่อน ต้องให้สัมภาษณ์ 3 คืน 4 วันติดกันจนไข้ขึ้น ผลคือประชาชนลงชื่อมากถึง 3.5 หมื่นชื่อในสองสัปดาห์” นางปรียนันท์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ผลจากเสียงสะท้อนของคนไทย รัฐบาล คสช.ที่ขณะนั้นกำลังต้องการสร้างผลงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้บัญชาการให้มีการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยแนวทางการแก้ไขที่วางไว้ในปีนั้น คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ได้จัดตั้งคณะทำงาน มุ่งแก้ไข 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเว็บไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2. เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3. เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ฟรีทุกที ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 มีเพียงแนวทางที่ 3 คือ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่สำเร็จ  นอกนั้นยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ในระยะเวลาที่ผ่านมา  เกิดการผลักดันให้มีการควบคุมราคายา โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดให้ยาเข้าไปอยู่ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม  ซึ่ง ข้อ 3 (16) กำหนดให้ ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาตรการที่ได้มา ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา   ความเคลื่อนไหวปี พ.ศ.2561เมื่อมองสภาพการณ์ปัจจุบัน แม้บทบาทของภาครัฐจะเริ่มอ่อนลงไป แต่ภาคประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อ ในงานเสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ  ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสจะป่วยหรือเป็นผู้บริโภคที่อาจต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในช่วงปีที่ผ่านมา มูลนิธิผู้บริโภครวมถึงเครือข่ายตามพื้นที่ต่างๆ พบว่า หนึ่งในห้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับการร้องเรียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง” ดังนั้นภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้จุดประกายมาตั้งแต่ ปี 2558 จึงต้องก้าวต่อไป       ฉลาดซื้อได้ร่วมฟังเสวนาดังกล่าว พบว่า มีสาระที่น่าสนใจและน่าจะพอเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคได้เข้าใจร่วมกันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการที่จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น เหมาะสมและเป็นธรรม จึงขอนำเนื้อหาโดยสรุปมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้  พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองกล่าวว่า ประสบการณ์ตรงคือ ญาติเส้นโลหิตในสมองแตก ถูกพาส่งโรงพยาบาลเอกชนตอนเที่ยงคืนในสภาพไม่รู้สึกตัว เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กว่าจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการรักษาคือบ่ายสองโมงของวันถัดมา ประสบการณ์นี้ทำให้ต้องค้นหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพบว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุการณ์ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ ต้องตามตัวมาจากโรงพยาบาลรัฐ สิ่งนี้สวนทางกับความคาดหวังของญาติคนป่วย ที่ต้องการรักษาชีวิตคนให้ทันท่วงที จึงรีบพามาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเรื่องที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ คงเป็นเพราะโรงพยาบาลต้องการ “ตัดค่าใช้จ่าย” นั่นเอง  ประเด็นต่อมาคือ กรณีของญาติเข้าข่ายเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตนเองพบว่า ทาง รพ.ไม่ได้แจ้ง สพฉ. ตามระเบียบปฏิบัติ การเข้ารักษาตัวเพียงสองวันต้องจ่ายเงินไปเกือบล้านบาท เพราะทาง รพ.ไม่ทำตามเงื่อนไข และเมื่อตนโพสต์เรื่องราวบนโซเชียล กลับถูกตอบโต้จากแพทย์คนหนึ่ง ที่มีนามสกุลเดียวกันกับกรรมการแพทยสภา นี่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่  บทเรียนครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เหตุที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลแพง เพราะประเทศไทยเราไม่มีกฎกติกาอะไรที่จัดการปัญหานี้ได้ เคยลองศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนใหญ่ก็เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลทั้งนั้น ภาครัฐเองก็สนับสนุน เช่น นโยบาย Medical Hub, การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาผลกำไร ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกสิ่งในโลกเป็นทวิภาวะ คือมีสองด้าน โรงพยาบาลเอกชนมีด้านมืด โรงพยาบาลรัฐก็มีเช่นกัน การมองอะไรด้านเดียวจะทำให้เราถูกบีบให้คิดกว้างไม่ได้ เดิมสังคมมนุษย์อยู่กันด้วยความไว้วางใจ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมีคนอยู่ร่วมกันมากมาย ความไว้ใจอาจไม่พอ ต้องมีรัฐเข้ามาเป็นคนจัดการ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจวางใจรัฐได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมวันนี้จึงมาถึงสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ย่อมถือเป็นกติกาที่วางใจได้  ยกตัวอย่าง “ถ้าตนเองมีเทคโนโลยีที่มีข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างอยู่ในนี้และควบคุมมันได้  หมายถึงอนุญาตให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลนี้  วันหนึ่งเกิดป่วยต้องไปหาหมอท่านหนึ่ง และเห็นข้อมูลรายการความสามารถในการรักษาโรคของหมอท่านนี้ เช่น ผ่าตัดมา 100 ราย รอด 70 ราย และมีท่านที่ 2,  3,  4  ให้เปรียบเทียบพร้อมกับราคา เมื่อเห็นว่าหมอท่านนี้ท่าทางจะเก็บเงินน้อยที่สุดด้วยฝีมือที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอนุญาตให้หมอเข้ามาหน้ากระดานอิเล็กทรอนิกส์ได้ นั่นแปลว่า หมอสามารถเปิดดูข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองได้ และถ้าหากตั้งโจทย์ไปว่า วันนี้มียาอยู่ 5 รายการ  แต่มีอาการมึนๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากยาหรือไม่ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ท่านนั้นก็จะบอกได้ เช่นให้ตัดยารายการที่ 4 ออกน่าจะดีขึ้น  พอหมอให้ความรู้มาก็จ่ายเงินไปอาจจะเป็น bitcoin หรืออะไรก็แล้วแต่   supply chain ซึ่งเป็นคนให้ยาก็จะรู้เลยว่า รอบหน้ายาขนานนี้ไม่ควรจ่ายให้อีก  นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องมาเผชิญหน้ากัน” เรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้เกิดการทดลองขึ้นแล้วในหลายประเทศ  อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่านี่คือคำตอบสำเร็จที่จะให้ความหวังทั้งหมด  ในงานวิจัยของผมการได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีระบบที่จะเข้าถึงได้ ต้องพลิกแพลง สิ่งที่ค้นพบคือ เมื่อจำแนกโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 ประเภท คือ ในตลาดหลักทรัพย์  นอกตลาดหลักทรัพย์ และมูลนิธิ  ค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและวิธีการรักษาที่ใกล้เคียงกัน  ราคาแพงที่สุดคือโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์  รองลงมาก็คือโรงพยาบาลนอกตลาดหลักทรัพย์ และถูกที่สุดคือโรงพยาบาลของมูลนิธิ  โรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ราคาแพง เพราะถูกกดดันตามกติกาว่าต้องขยายผลกำไรและกิจการทุกๆ ปี คำถามคือ ถ้าฝากความหวังกับกลไกของรัฐ สามารถทำให้โรงพยาบาลเอกชนออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ราคาจะไม่แพงอย่างที่เป็นอยู่ และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีอยู่สามประเภท มีราคาขายที่แตกต่างกัน  ทำอย่างไรที่เราจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลที่มีราคาขายถูกสุด มีบทบาทและได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในภาคเอกชน ทพ.อาคม  ประดิษฐ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ สุขภาพ สำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ ดูแลโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 350 กว่าโรง  และคลินิกเอกชนประมาณ 20,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลเอกชนเองมีหลายประเภท ที่ปิดกิจการไปจำนวนมากก็มี ตนเองเห็นด้วยกับ นพ.ไพบูลย์ ว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรเข้าตลาดหุ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นบริการทางการแพทย์เข้าตลาดหุ้นไม่ได้ หมอของโรงพยาบาลรัฐบาลจะไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน หรือหมอโรงพยาบาลเอกชนจะมารับราชการก็ไม่ได้ เขาห้ามและแยกเป็นสัดส่วนกัน   ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก แนวทางแยกเป็นสองเรื่อง คือ การแก้ไขปัญหายาราคาแพง กับค่ารักษาพยาบาลแพง จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ปัญหาแรกที่แก้ไขคือเรื่องของยาเป็นสินค้าควบคุม ที่ออกจากกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน  ทำอย่างไรจะควบคุมราคายาจากต้นทางได้ กระทรวงพาณิชย์มีกรรมการ เรียกว่า กรรมการควบคุมสินค้าราคากลาง(กกร.) คณะกรรมการนี้มีอำนาจเข้าไปกำหนดราคาสินค้าจากต้นทาง จากโรงงานได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แล้ว กลับมาที่การควบคุมราคาบริการๆ ก็ผลักดันจนเกิดนโยบายเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรี 72 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด แล้วเรื่องของค่ารักษาแพงได้ทำอะไรไปบ้าง ขณะนี้มีการจัดทำร่างประกาศ ตามมาตรา 3 เรื่องของการประกาศชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล  ยาเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล “การประกาศค่ารักษาพยาบาลต่อไปนี้ต้องทำเป็นแพ็คเกจ ถ้าราคาสามพันก็คือสามพัน จบกันแค่นี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม จะมาบอกว่าค่าผ้าก๊อซ ค่าเข็มฉีดยาเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมต้องแจ้ง  นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ และเตรียมเสนอรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศออกมา น่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้” อย่างไรก็ตามประกาศฉบับนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดเรื่องราคาได้ เพราะบริการทางการแพทย์ไม่ใช่สินค้าควบคุม  ที่ทำได้คือ ต่อไปเมื่อโรงพยาบาลประกาศค่ารักษาพยาบาลแล้ว ต้องไม่เก็บเกินนั้น  ถ้าเกินคือผิดกฎหมายและมีบทลงโทษจำคุกด้วย ถ้าถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายเรื่องกำหนดหรือควบคุมราคาไหม มองว่าปัญหาที่จะตามมาคือ เรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ  เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ในเรื่องเดียวกัน การควบคุมอาจต่างกัน ต้องมีการคิดทบทวนพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศเราขายบริการทางการแพทย์อยู่ ปีที่แล้วมีคนเข้ารับบริการที่ประเทศเรามากที่สุดในโลกด้วย  และวันนี้ถ้าเราจะคิดเรื่องของการคุมราคา  มีคนเสนอให้คิดคนไทยราคาหนึ่ง คนต่างชาติราคาหนึ่ง แบบนี้ก็มีเรื่องสองมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พูดกันตรงๆ ว่า ปัญหาอยู่ที่เวลาหน่วยงานรัฐทำงานไม่ค่อยให้ภาคประชาชนไปมีส่วนร่วม  จริงๆ แล้วเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ไม่อยากแตะเรื่องค่ารักษาเลย  เพราะว่าแค่ทำเรื่องความเสียหายก็ทำไม่ทันแล้ว แต่ว่าบังเอิญได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาด้วย ปัญหาเรื่องการเก็บค่ารักษาแพงมีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ มีกรณีโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องเรียกค่ารักษาจากคนไข้ ขนาดหน่วยงานอย่าง สปสช.บอกว่า คนไข้ไม่ต้องจ่าย แต่ในทางเอกสารหลักฐาน คนไข้จะแพ้คดี เพราะมีการเซ็นลายมือชื่อยินยอมไปแล้วว่า “ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น”   ถามว่าเซ็นทำไม เวลาจริงๆ ที่เราหรือญาติเรากำลังจะเป็นจะตาย พนักงานโรงพยาบาลจะเอาเอกสารมากมายมาให้ก็ต้องเซ็นทั้งนั้น ภาพคนแก่หอบโฉนดที่ดินเอาไปมอบให้ทนายของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อชดใช้หนี้นั้น  มันเศร้ามาก ต่อมาที่เครือข่ายได้ทำแคมเปญลงลายมือชื่อเสนอนายกฯ ให้แก้ปัญหา ก็มีการสั่งให้ตั้งกรรมการแต่อย่างที่ท่าน ผอ.อาคมพูด ตั้งแล้วก็ทิ้งภาคประชาชนเอาไว้ข้างหลัง  ไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมเหมือนเราก็เต้นอยู่ข้างนอก พูดอะไรไปเขาไม่ให้ราคาเราเลย  คุยแต่วงราชการด้วยกัน หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้  ภาคประชาชนถูกละเลยอย่างชัดเจน ปัจจุบันปัญหาก็ยังอยู่จุดเดิม คือเมื่อเกิดเรื่องขึ้นประชาชนยังต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แค่ผู้บริโภคมีปัญหา สงสัยเรื่องบิลใบเดียว ค่าหมอ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ 1-2   รายการ  จำนวนเงินเป็นแสนๆ คืออะไรบ้าง  ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน ไม่มี  One Stop Service   ทางออกที่ ท่าน อ.ไพบูลย์ กับ ท่าน สว.เสนอ น่าสนใจมาก  แต่ในฐานะประชาชนที่นอนอยู่กับปัญหา วันนี้จึงขอถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเราอยากได้กรรมการที่จะเป็นจุดที่ช่วยประชาชนได้ ไม่ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน แค่ไปที่นี่ที่เดียว   ข้อเสนอและทางออกที่น่าสนใจจากวงเสวนา “ตอนนี้อยากขอให้ช่วยกันลงชื่อใน Change.org ให้ครบห้าหมื่น เพื่อยื่นนายกฯ อีกครั้ง ว่าขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล  เราเสนอชื่อไปเลยและฟอร์มทีมไปเลย ถ้าเราเอาห้าหมื่นชื่อไปยื่นแล้วรัฐบาลไม่ขยับ เราจะตั้งกันเองเป็น “แพทยสภาเพื่อประชาชน” คู่ขนานกันไป เวลาวินิจฉัยเรื่องอะไรให้ประชาชนร้องเข้ามา เราก็จะมีข้อมูล  โปรโมทกรรมการชุดนี้ให้เต็มที่เลย  หลังจากนั้นค่อยเคลื่อน เอานักวิชาการและผู้รู้เข้ามา” นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  “เพิ่มอำนาจซื้อของกองทุน ที่สหรัฐอำนาจซื้อของเขามากพอที่จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องกังวลที่จะถูกตัดทอนสิทธิ แต่ถามว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยส่วนใหญ่มาจากไหน คำตอบคือไม่ได้มาจากกองทุนของรัฐ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องคิดกลไกที่ให้รัฐไปส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนที่ทำตัวดีได้รับประโยชน์มากกว่าโรงพยาบาลที่มีปัญหา สุดท้าย ข้อเสนอของตนเองก็คือ การใช้เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Block Chain  ที่ตัดคนกลางออกไปจากวงจรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการทุกชนิด จะทำให้การสื่อสาร  การรู้เท่าทันกันดีขึ้นมาก  รวมทั้งจะทำให้สังคมอยู่กันโดยมีกติกา  โดยที่ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับคนกลาง”    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  “ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปจ่ายเอกชน จ่ายให้รัฐดีกว่า รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากกฎหมายให้มากที่สุด สุดท้ายประชาชนต้องช่วยกันทำให้แพทยสภาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ไม่สับสนในบทบาทตนเอง” พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช--------------------------------------------4 ข้อเสนอของ คอบช. ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 25611. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้ "บริการสาธารณสุข" เป็นบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้ทางกรมการค้า เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาควบคุม2. กำหนดมาตรการระยะสั้น โดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง อาทิ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการประกาศราคาควบคุมตามข้อ 13. พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกรณีจำเป็น เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค4. ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น "ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่1 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค (16 )" เช่นเดียวกันกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย โดยให้มีการแจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ยาฝาแฝด “ปัญหาจาก ฉลากยา(มหัศจรรย์) ดูให้ดีก่อนกิน”

ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยกฎหมายจะกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งเราพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ลองดูตัวอย่างที่ฉลาดซื้อ ได้สำรวจ และสอบถามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสับสนเหล่านี้ จากเภสัชกร ชมรมเภสัชชนบท ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกันเนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ 1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม 2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม 3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม 4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัมจะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็กข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกันปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2559ไขข้อข้องใจการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นแบบชิปการ์ดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นแบบชิป(Chip Card) หลังจากมีกระแสข้อสงสัยหลายเรื่องถูกแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ เช่นว่าการเปลี่ยนบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่ หรือเมื่อเปลี่ยนบัตรพนักงานธนาคารจะเปลี่ยนให้เป็นบัตรที่พ่วงประกันซึ่งมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่า ฯลฯโดยข้อเท็จจริงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงออกมามีดังนี้1.ผู้ที่ออกบัตรใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป จะได้รับบัตรเป็นแบบชิป ซึ่งธปท.บอกว่ามีความปลอดภัยในการใช้งานกว่าบัตรแบบเดิม(แถบแม่เหล็ก)2.บัตรแบบเดิมยังใช้งานได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 หรือตามกำหนดของธนาคารแต่ละแห่ง3.คนที่อยากเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปสามารถแจ้งกับธนาคารได้ทันที โดยมีค่าธรรมเนียมตามธนาคารแต่ละแห่งจะกำหนด4.ธนาคารบางแห่งอาจยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตร เพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง5.บัตรแบบชิปสามารถใช้ได้กับตู้เอทีเอ็มได้ตามปกติ แต่ในระยะแรกอาจมีตู้บางตู้ในบางพื้นที่ของบางธนาคารที่ยังไม่พร้อมในการใช้งาน โดยตู้ที่ยังไม่รองรับจะมีการแสดงข้อความให้ผู้ใช้บริการทราบปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละบัตรมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีแตกต่างกัน ก่อนใช้บริการทุกครั้งควรสอบถามข้อมูลกับพนักงานให้ชัดเจน เพื่อให้ได้บัตรที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด และมีสิทธิปฏิเสธการใช้บริการหากไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน   สั่งปิด “โรงพยาบาลเดชา”กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้มีคำสั่งปิดการให้บริการของโรงพยาบาลเดชา พญาไท ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า รพ.อยู่ในสถานภาพที่ไม่พร้อมให้บริการ ถูกตัดไฟ มีแพทย์เหลือเพียงแค่ 1 คน ซึ่งการสั่งปิดเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541สบส.เชื่อว่าการสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา จะไม่กระทบกับผู้ป่วย เพราะทาง รพ.ทราบอยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนที่ รพ.จะถูกสั่งปิดมีผู้ป่วยในที่ยังคงรักษาจำนวน 7 คน เป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม โดยได้ประสานส่งตัวไปรักษายัง รพ.อื่นต่อไป ส่วนผู้ป่วยนอกนั้นมีน้อยอยู่แล้ว จึงไม่น่าเกิดผลกระทบอะไรกับผู้ป่วย รพ.เดชา พญาไท เปิดดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 35 ปี ก่อตั้งโดย นพ.เดชา สุขารมณ์ แต่ที่ผ่านมาได้ให้บริษัท ศรีอยุธยา จำกัด เช่าและบริหารงานโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ผู้เช่ารายดังกล่าวได้ค้างค่าเช่าเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ทำให้เป็นคดีความกันอยู่ ส่งผลต่อการบริหารงานใน รพ.ก่อนจะมาถูกสั่งให้ปิดการให้บริการลงในที่สุด ภาคประชาชนค้านนโยบายเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากการที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะมีนโยบายยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาท หรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท เพื่อลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการภาครัฐ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนต้องออกมารวมตัวกันแถลงไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และเป็นการกระทำโดยไม่ยึดหลักเรื่องความเสมอภาคเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง เลือกใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่ใช่การลดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้จากการเก็บภาษีโดยในการเก็บภาษีก็ไม่ได้แบ่งแยกคนรวยคนจน ดังนั้นเรื่องการจัดสรรสวัสดิการพื้นฐานก็ไม่ควรแบ่งแยกคนรวยหรือคนจนเช่นกัน อย. ยัน “Derma Roller” อันตราย!!! ห้ามใช้เด็ดขาดอย.ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เครื่องลูกกลิ้งนวดหน้า (Derma Roller) ที่โอ้อวดว่าช่วยรักษารอยสิว รอยแผลเป็นบนใบหน้า ลบรอยเหี่ยวย่น เป็นสินค้าที่ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอในการสนับสนุนประสิทธิภาพ หรือข้อบ่งใช้ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมฝากเตือนว่าตามที่สินค้าดังกล่าวโฆษณาโอ้อวดไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนที่มีปัญหารอยแผลจากสิว มีริ้วรอยเหี่ยวย่นกลับมามีผิวที่มีสุขภาพดีขึ้นได้ ทำให้หน้าเรียบใส โดยการทำให้ผิวเกิดรอยแผล แล้วผิวจะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง เกิดการระคายเคืองจากสารที่ทาบนผิวหนัง และอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาเมื่อนำไปใช้ใกล้บริเวณรอบๆ ดวงตา หากอุปกรณ์ไม่สะอาดก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด เจอสารเคมีปนเปื้อนในผัก-ผลไม้เพียบ แม้แต่ที่มีตรา “Q” ก็เจอเกินมาตรฐานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง  รวมทั้งหมด 138 ตัวอย่าง พบว่ามีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ จากผลการวิเคราะห์พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด  โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่างโดยหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ออกไป กลับได้รับคำตำหนิจากหน่วยงานรัฐอย่างกรมวิชาการเกษตรที่ออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการฟ้องร้อง Thai-PAN ที่สร้างความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแต่ทั้งนี้ Thai-Pan ก็เตรียมฟ้องกรมวิชาการเกษตรในฐานที่ละเลยการตรวจสอบคุณภาพผัก-ผลไม้ โดย น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการโครงการกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าประเด็นการฟ้องร้องจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรมวิชาการเกษตรละเลยการควบคุมสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เนื่องจากพบปัญหาสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานทั้งที่ผ่านการรับรองแล้ว 2.พบการตกค้างของสารอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามจำหน่ายในประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 ผ่าตัดเกินพอดี

นิตยามีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จึงทำการผ่าตัดออก และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วันแพทย์จึงให้กลับบ้าน แต่เมื่อกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ เกิดอาการผิดปกติตัวเหลืองตาเหลืองไม่มีแรง นิตยาจึงเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่ และแจ้งว่าหากอาการผิดปกติยังไม่หายจะส่งตัวผู้ร้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชจากนั้นจึงให้เธอกลับไปรอดูอาการที่บ้าน“อาการของดิฉันรู้สึกแย่ลงมาก ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น อีกประมาณ 10 วัน หมอนัดตรวจอาการ แต่เป็นหมอคนใหม่บอกว่ามารักษาแทนหมอคนเดิมที่ทำการผ่าตัด ดิฉันบอกกับหมอที่มารักษาแทนว่า หมอคนเดิมบอกว่าถ้าพบสิ่งผิดปกติจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วทำไมถึงเงียบ หมอถามว่า หมอคนเดิมบอกแบบนั้นหรือ ดิฉันก็ตอบว่าใช่ค่ะ แล้วคุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าผมจะส่งคุณไปเอง”นิตยาถูกทำเรื่องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา แต่ก็พบปัญหาว่าผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งมานั้นดูผลได้ไม่ชัดต้องเอ็กซเรย์ใหม่ แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าเอ็กซเรย์เองหากจะให้ศิริราชดำเนินการ     นิตยาจึงต้องย้อนกลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งได้แจ้งให้เธอไปเอ็กซเรย์กับโรงพยาบาลในเครืออีกแห่งแล้วถึงได้นำผลเอ็กซเรย์ไปให้โรงพยาบาลศิริราชวินิจฉัยทำการรักษาต่อไปนิตยาใช้เวลาในการเดินเรื่องขั้นตอนนี้กว่า 2-3 เดือน ขณะที่สภาพร่างกายแย่มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้รับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรงพยาบาลศิริราช“ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้ต้องตัดไส้มาเย็บต่อน้ำดี เนื่องจากว่าท่อน้ำดีถูกตัดสั้นจนเกินไป(จากการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมา) เลยทำให้การเย็บต่อก่อให้เกิดการตีบตันของทางเดินเลือด จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลดจาก 55 เหลือ 44 กิโลกรัม” ปัญหาจากการผ่าตัดครั้งแรกทำให้น้ำหนักตัวของนิตยาลดลงถึง 11 กิโลกรัมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเหลืองก็กลายเป็นดำและคันตามตัวเป็นอย่างมากและตาก็เหลืองมากขึ้น ด้วยร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้เธอไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องรับภาระส่งลูกเรียกระดับ ปวช. ส่งค่าบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารก่อให้เกิดหนี้สินมากมายเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงรักษาตัวและทำการผ่าตัด ทำให้นิตยาต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ภายหลังการยื่นเรื่องตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยาได้รับพิจารณาเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในครั้งแรก ได้รับคำร้องเรียนของนิตยาและรับที่จะรับผิดชอบเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาลไว้กับบริษัทประกันภัย ในที่สุดนิตยาได้รับการพิจารณาเยียวยาความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติโดยมิต้องดำเนินการฟ้องร้องให้เป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เพื่อชีวิต

จั่วหัวอย่างนี้ท่านผู้อ่านคงไม่คิดว่าผู้เขียนจะเขียนถึงบรรดาเพลงเพื่อชีวิตใช่มั้ย....เพราะเราจะเขียนเรื่องเพื่อชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น ณ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าจังหวัดสมุทรสงครามพอดีวันนั้นผู้เขียนมีเหตุอันต้องพาผู้บาดเจ็บไปทำแผลที่นั่นพอดี  ส่งคนเจ็บเข้าห้องฉุกเฉินไปแล้ว ก็นั่งอ่านหนังสือรอเพื่อพาคนเจ็บกลับบ้าน นั่งได้สักพักก็ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยด้วยๆ ดังแว่วมาพร้อมกับเสียงบีบแตรรถดังตามมา เสียงนั้นดังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว  และสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในโรงพยาบาลก็เกิดขึ้น  เมื่อมีรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างขับบุกขึ้นมาบนโรงพยาบาล(ขึ้นมาตามทางลาดสำหรับคนพิการ)บนรถมีผู้หญิงอุ้มเด็กพาดบ่าซ้อนท้ายมาด้วย  ปากก็ตะโกนร้องช่วยด้วยๆ และตื่นซิลูกๆ ตลอดเส้นทางมอเตอร์ไซด์ปรี่มายังห้องฉุกเฉิน  โดยไม่มีรปภ.และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนใดมาขัดขวาง เรียกได้ว่าเข้ามาแบบโล่งๆ กันเลย   และพอถึงหน้าห้องฉุกเฉินก็มีภาพที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากคือพยาบาลในห้องฉุกเฉินเปิดประตูให้รถคันนั้นเข้าไปส่งเด็กที่ป่วยถึงในห้องฉุกเฉิน  ผู้เขียนนั่งตะลึง รู้สึกขณะนั้นว่า เฮ้ย..มันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย...     ณ นาทีนั้นเห็นได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนออกมาบอกว่าเข้าไม่ได้ผิดระเบียบโรงพยาบาล แม้แต่ห้องฉุกเฉินก็ไม่กลัวเชื้อโรคที่ติดมากับรถแต่อย่างใดผู้เขียนเห็นสีหน้าแววตาของคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เขามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยชีวิตเด็กคนนั้นจริงๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงแต่ค่าโดยสาร เพราะเขาส่งเด็กแล้วเขาไม่ได้เรียกเงินค่าจ้าง ซ้ำยังยืนรอว่าเด็กที่เขาพามาจะรอดหรือไม่   ทุกฝ่ายมุ่งเพื่อชีวิตจริงๆ ทุกฝ่ายต่างมุ่งที่การช่วยชีวิตของเด็กคนนั้นเป็นสำคัญโดยไม่ยอมให้กฎระเบียบใดๆ มาขัดขวางการช่วยเหลือ  สรุปเด็กคนนั้นปลอดภัยผู้เขียนก็โล่งอกไปด้วย  ใครจะว่าเจ้าหน้าที่ละเลยปล่อยให้มอเตอร์ไซด์เข้าไปในห้องฉุกเฉินได้อย่างไรก็ตาม แต่ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งกับภาพที่เห็นอย่างบอกไม่ถูก  และพูดได้เลยว่านี่แหละสังคมไทยที่แท้จริง  คือเราต้องเอื้ออาทรกับความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ มากกว่าจะเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรค    เห็นอย่างนี้แล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียวจึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กันว่าสังคมไทยของเรายังอบอุ่นและยังมีความเอื้ออาทรต่อกัน   แม้สังคมไทยจะสับสนวุ่นวายแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างไร แต่คนไทยก็ยังเป็นคนไทยอยู่วันยังค่ำ เราไปเป็นคนอื่นไม่ได้วิถีเราเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นอย่างที่คนบางกลุ่มอยากให้เป็น ประเทศไทยเรายังมีเรื่องน่ารักๆอย่างนี้อีกมากมาย เรายังมีความหวังขอให้กำลังใจต่อคนทำดีและขอคารวะด้วยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >