ฉบับที่ 190 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 2: วิธีการ

ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการจาก World Cancer Research Fund (WCRF) เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์ซึ่งได้แก่ อาหารการกินซึ่งนัยหนึ่งคือพฤติกรรมการบริโภค น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอต่อถึง ข้อแนะนำจาก WCRF ในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้เขียนได้แทรกหลักการทางวิทยาศาสตร์บ้างพอสังเขป ดังนี้ผักมีแป้งต่ำ(Non-starchy vegetables) เช่น ผักตระกูลกระหล่ำ(กระหล่ำปลี บรอคโคลิ ผักโขม คะน้า ดอกกระหล่ำ เทอร์นิบ เป็นต้น) นั้นเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปาก คอ และทางเดินอาหาร ด้วยเหตุผลที่ทราบกันดีในวงการวิชาการว่า ผักในตระกูลกระหล่ำปลีนั้น มีพฤษเคมีกลุ่มกลูโคซิโนเลท ซึ่งเมื่อถูกเอนไซม์ชื่อ มัยโรซิเนส(myrosinase) ของผักที่ถูกกระตุ้นให้ทำงานขณะการหั่น ซอย ตำ เปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่กระตุ้นระบบทำลายสารพิษของตับให้ทำงานดีขึ้น ดังตัวอย่างงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การบริโภคอาหารของชาวจีน ซึ่งมีกระหล่ำปลีเป็นจานเด็ดสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งโดยรวมถึงสองเท่าผลไม้ต่างๆ เมื่อได้กินในปริมาณที่มากพอในแต่ละมื้ออาหารนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ปอด ปาก คอ และหลอดอาหาร ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ เช่น กล้วยให้ใยอาหารซึ่งเป็นโปรไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา มังคุดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก ซึ่งรวมถึงการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ดังนั้นมังคุดจึงน่าจะเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ ส่วนองุ่นสีเข้มนั้น ถูกทดสอบพบว่าต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารก่อมะเร็งบางชนิดได้ และส้มนั้นเป็นผลไม้ที่พบว่ามีสารขมชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดี-ลิโมนีน (d-Limonene) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ลดความเสี่ยงของมะเร็งด้วยการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายเอง การขยับเขยื้อนร่างกาย(Physical activity) เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ ลำไส้ใหญ่ เต้านมและมดลูก(ของสตรีหมดประจำเดือน) ทั้งนี้เพราะในช่วงวันทำงานนั้น มนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกาย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อนโดยการเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบสมัยเป็นเด็กที่ได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่นและได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัวซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็งใยอาหาร(Dietary fiber) อาหารที่มีใยอาหารสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชพวกหัวต่าง ๆ ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนล่าง เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ใยอาหารอุ้มน้ำได้ดีอุจจาระ จึงถูกเพิ่มให้มีน้ำหนักมากเร็วขึ้นในแต่ละวัน สังเกตได้จากผู้ที่กินผักผลไม้มากจะถ่ายอุจจาระแบบสบายๆ อย่างน้อยวันละครั้ง การถ่ายอุจจาระนั้นเป็นกระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายซึ่งขึ้นกับปริมาณอุจจาระในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งใยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติในการจับสารพิษ(ซึ่งถูกอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ลำไส้ เปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถในการละลายน้ำแล้ว) ได้ดีจึงลดโอกาสการดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายที่ผนังลำไส้ใหญ่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักและผลไม้คือ บางชนิดเป็นแหล่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี(soluble fiber) ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสในลำไส้ใหญ่ที่กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดออกมาปรับให้สภาวะแวดล้อมของลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งการให้นมลูก(Breast feeding) เป็นพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เต้านม ข้อมูลลักษณะนี้มีการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2002 ซึ่งพบว่า สตรีราว 150,000 คน ที่ให้นมลูกนาน 12 เดือน (ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือต่อเนื่องหลายคน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 4.3 ของแม่ที่ไม่ให้นมลูก ต่อมาในปี 2009 มีรายงานหนึ่งในวารสาร Archives of Internal Medicine โดยศึกษาในสตรี 60,000 คน พบว่าสตรีที่มีประวัติการให้นมลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่าสตรีที่ไม่ให้นมลูกถึงร้อยละ 60 และในปี 2014 วารสาร Journal of the National Cancer Institute พบว่าสตรีที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอัฟริกันนั้นปรกติมักมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูง แต่การให้นมลูกได้ลดปัญหาดังกล่าวให้น้อยลงกาแฟ อาหารนี้มีข้อมูลทางการวิจัยว่า การดื่มกาแฟซึ่งไม่เข้ม ไม่มันและไม่หวานจัดเป็นประจำนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ตับและมดลูก ทั้งนี้เพราะกาแฟมีสารก่อมะเร็งในปริมาณน้อยที่สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมกำจัดสารพิษออกจากร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการระบุระดับการดื่มที่แท้จริงเพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในแต่ละบุคคลนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ในการแนะนำให้ดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการดื่มหลังอาหาร เพราะแคฟฟีอีนนั้นเป็นสารกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นการดื่มกาแฟในช่วงท้องว่างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากน้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาได้กัดผนังกระเพาะอาหาร การเป็นแผลที่อวัยวะนี้อย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อาหารที่มีแคลเซียมสูง(Diets high in calcium) โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการแคลเซียมประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งพบว่ามีผลทางอ้อมต่อการลดความเสี่ยงของมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ดียังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิชาการว่า แคลเซียมระดับใดจึงลดความเสี่ยงได้ ในตำราบางเล่มกล่าวว่า การกินแคลเซียมมากกว่า 5 กรัมต่อวันในคนปรกติหรือ 3 กรัมต่อวันในคนที่มีปัญหาไตทำงานบกพร่องอาจก่ออันตรายได้ จึงยังไม่ควรแนะนำให้มีการเสริมแคลเซียมในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย และนม เป็นต้น การได้แคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายของคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีแดดอ่อนนั้น อาจต้องเสริมวิตามินดีพร้อมกันไปด้วย เพราะวิตามินดีนี้ช่วยให้แคลเซียมถูกดูดซึมและใช้งานได้ ส่วนคนไทยทั่วไปนั้นอาจไม่จำเป็น ถ้าได้ถูกแสงแดดในตอนเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ ยกเว้นคนไทยที่ต้องออกจากบ้านก่อนไก่โห่ เพื่อเข้าทำงานในตึกซึ่งปิดสนิทเพราะเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา โดยทำงานจนถึงเวลาไก่ขึ้นคอนนอนแล้วจึงกลับบ้าน คนไทยกลุ่มนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีและมักมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงแม้ได้แคลเซียมเพียงพอกระเทียม เป็นเครื่องเทศชนิดที่เชื่อกันว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างได้ โดยกระเทียม(อาจรวมถึงหัวหอม) เป็นพืชที่ให้กลิ่นและรส ซึ่งช่วยให้อาหารไม่จืดชืด มีการศึกษาพบว่า หลังการทุบสับซอยกระเทียมและหัวหอมนั้นมีสารประกอบกัมมะถัน (Organosulfur) ถูกเปลี่ยนแปลงให้สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมทำลายสารพิษทำงานได้ดีขึ้น จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการนำเสนอประเด็นที่นักวิชาการที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขภาพของร่างกายและการออกกำลังกายต่อการเกิดมะเร็ง ได้ให้คำแนะนำพร้อมประสบการณ์บางส่วนของผู้เขียนโดยหวังว่า ถ้าใครปฏิบัติตามแล้วควรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยลงกว่าผู้ไม่ปฏิบัตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 มะเร็งร้ายหายแต่ได้ภาวะแทรกซ้อนมาแทน

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา โดยให้เราลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าถ้าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เราปัสสาวะเองไม่ได้นานเป็นปี เรายังจะตัดสินใจรับการผ่าตัดนั้นอยู่หรือไม่ผู้ร้องอายุ 48  ปี ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ แล้วพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะแรก หมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉือนบางส่วนออกเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติมถึงภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ทำให้เธอตัดสินใจทำตามโดยใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งหลังการผ่าตัดนั้นก็พบว่าสามารถตัดเซลล์มะเร็งออกไปได้หมดจริงๆ แต่กลับทำให้เธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้อีกเลย หลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 9 วันโดยการใช้ถุงเพื่อปัสสาวะมาตลอด เธอก็กลับบ้านและพบว่าชีวิตประจำวันของตัวเองต้องเปลี่ยนไป เพราะคนในครอบครัวต้องหยุดงานเพื่อมาช่วยกันดูแล สำหรับการสวนปัสสาวะทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยอาการยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น แม้จะไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่แพทย์ก็ไม่ได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแต่แจ้งว่าเป็นผลจากการผ่าตัด ต้องใช้ระยะเวลาและฝึกฉี่เองอีกครั้ง และให้ถุงฟอเล่ หรือถุงฉี่กลับบ้านมาเท่านั้น การสวนปัสสาวะเองทุกครั้งก็ทำให้เธอติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และถูกส่งตัวไปรักษาต่อตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันภายหลังเธอจึงไปตรวจอาการอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้พบความจริงว่าการผ่าตัดครั้งนั้นมีผลกระทบทำให้เส้นประสาททางเดินปัสสาวะโดนผ่าออกไปด้วย เพราะเส้นประสาทดังกล่าวผสานอยู่กับเนื้อเยื่อข้างเคียงของปากมดลูก ซึ่งมีสิทธิทำให้เซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกลุกลามได้ เป็นเหตุให้เธอเกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้) ซึ่งหมอก็ไม่ยืนยันว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อพบว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้เธอรู้สึกว่า ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะหากทราบก่อนการผ่าตัดว่าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นนี้ ในตอนนั้นเธออาจจะเลือกไม่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ เพราะนอกจากจะปัสสาวะเองไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธอยังต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งหากคิดแล้วก็ตกที่เดือนละกว่า 10,000 บาท ทั้งยังต้องเดินทางไปหาหมอตามสถานที่ต่างๆ เองอีกด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความเป็นธรรม โดยหวังว่าอย่างน้อยแค่ให้หมอมาดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อสวนปัสสาวะบ้างก็ยังดีแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้ร้องใช้สิทธิตามประกันสังคม จึงทำให้เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกค่าอุปกรณ์ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเองด้วย ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา อีกทั้งทำไมหมอที่ดูแลอาการถึงไม่ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนให้เธอทราบก่อนการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะทำให้เส้นประสาทปัสสาวะได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ได้อธิบายว่าจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงแนะนำให้มีการเจรจากับโรงพยาบาล โดยตัวแทนของศูนย์ฯ ไปร่วมเจรจาด้วย และให้ผู้ร้องทำรายการค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้รักษาหลังการผ่าตัดออกมา (ย้อนหลังไปประมาณ 8 เดือน) ซึ่งผลก็คือหมอที่ดูแลอาการได้ขอโทษผู้ร้อง ที่ไม่ได้ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด พร้อมเยียวยาเบื้องต้นโดยให้ผู้ร้องสามารถรับอุปกรณ์สำหรับสวนปัสสาวะฟรี รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ร้องเสียไปแล้วจำนวน 1 แสนบาท ผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >