ฉบับที่ 244 ความไม่สะดวกซื้อ

        ร้านสะดวกซื้อนั้นคือสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ไปแล้ว ในแต่ละชุมชนร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงจะวางตัวผ่าเผย พร้อมส่งเสียงยินดีต้อนรับเมื่อประตูเปิดออก แต่บางครั้งความสะดวกซื้อก็นำปัญหาแบบไม่สะดวกใจมาให้ได้ง่ายๆ และหลายครั้งท่าทีหรือการแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เรามาลองดูจากกรณีร้องเรียนเรื่องนี้กัน               ภูผา พี่สาว และหลานชายไปซื้อโยเกิร์ต 4 กระปุก ที่เซเว่นสาขาแถวงามวงศ์วาน ด้วยความที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ตอนซื้อจึงให้ความสนใจฉลากโดยเพ่งเล็งแต่เรื่อง ยี่ห้อไหนมีน้ำตาลน้อยกว่ากัน และสุดท้ายเลือกอันที่น้ำตาลน้อยมาพร้อมจ่ายเงินซื้อมา เมื่อกลับมาถึงบ้านภูผาก็กินโยเกิร์ตกับหลานชายไป 1 กระปุกแบ่งกันคนละครึ่ง เขายังบอกกับหลานชายเลยว่ายี่ห้อนี้ไม่ค่อยอร่อยเนอะ สงสัยเพราะน้ำตาลน้อย         วันถัดๆ มาอากาศค่อนข้างร้อน ภูผาบ่นกับหลานว่าอยากกินอะไรเย็นๆ จัง หลานชายจึงเสนอไอเดียว่าในตู้เย็นมีมะม่วง สตรอว์เบอรี่ แล้วก็โยเกิร์ตที่เหลืออยู่จากเมื่อวาน 3 กระปุก เอามาทำสมูตตี้มะม่วงกับสตรอว์เบอรี่กินกันดีกว่า โอ้ ไอเดียดีงาม ภูผาเห็นด้วยและให้หลานดูก่อนว่าโยเกิร์ตหมดอายุหรือยัง หลานบอกว่า โยเกิร์ตหมดอายุแล้วด้วย 1 กระปุก ส่วนอีก 2 กระปุกยังไม่หมดอายุ แต่ว่ากระปุกที่หมดอายุแล้วมันหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วล่ะสิ         ภูผาเริ่มเครียดเพราะเขาซื้อสินค้าต้นเดือนมีนาคม และเจ้าร้านสะดวกซื้อร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไงวันหมดอายุของโยเกิร์ตถึงเป็นเดือนมกราคมไปได้ และเป็นลอตเดียวกับที่เขากินไปเมื่อวันก่อนกับหลานชายอีกด้วย เขาไม่รอช้าเมื่อรีบสตาร์ทรถไปเซเว่นสาขาที่ซื้อมาทันที พร้อมกับเอาโยเกิร์ตทั้ง 3 กระปุกไปด้วย เมื่อไปถึงก็เล่าเรื่องคร่าวๆ ให้พนักงานฟังและขอพบผู้จัดการ พนักงานแจ้งว่าผู้จัดการกลับบ้านไปแล้วค่ะ อีกทั้งสินค้านี้พนักงานก็ยังไม่มั่นใจว่าซื้อที่เซเว่นจริงหรือเปล่า ซื้อที่สาขานี้จริงหรือเปล่า เพราะว่าภูผาไม่ได้เก็บใบเสร็จเอาไว้ ภูผาเข้าใจได้เรื่องไม่มีใบเสร็จ แต่โชคดีหน่อยตอนจ่ายเงินเขาใช้บัตรสมาชิกของหลานชายจ่ายไป ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานได้ว่า เขาซื้อสินค้านี้ที่นี่จริงๆ         เขาสอบถามพนักงานว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง พนักงานก็หาข้อมูลอยู่เกือบชั่วโมง สุดท้ายก็บอกว่าต้องหาหลักฐานยืนยันก่อน ต้องดูกล้องว่าเขาเป็นผู้ซื้อที่สาขานี้จริงหรือไม่ แล้วจะติดต่อกลับไป ภูผาบอกได้ สิจะรอนะว่าทางร้านจะรับผิดชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการติดต่อกลับเขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผู้ร้องได้แจ้งร้านค้าและนำหลักฐานไปให้ร้านค้าดูเบื้องต้นแล้ว แต่ร้านค้ายังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร อย่างแรกที่ผู้ร้องต้องทำคือไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเซเว่นจำหน่ายสินค้าหมดอายุจริงๆ ผู้ร้องไม่ได้โกหก เซเว่นนี้เป็นสาขาหนึ่งของเซเว่นทั้งหมด ผู้ร้องต้องทำหนังสือโดยเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ภาพถ่ายโยเกิร์ตที่หมดอายุ เป็นต้น ส่งไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จ่าหน้าซองถึงประธานบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากต้องการให้บริษัทแม่รับผิดชอบต่อการขายสินค้าหมดอายุของสาขา ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า บางทีพนักงานที่ผู้ร้องแจ้งเรื่องไว้ หรือผู้จัดการสาขาไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของผู้ร้อง วิธีนี้ทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ร้อง         ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน การเลือกซื้อสินค้าควรพิจารณาฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวันหมดอายุ หากพบว่ามีสินค้าหมดอายุต้องแจ้งแก่พนักงานให้เก็บจากชั้นสินค้าทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ต

โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนมเปรี้ยว(fermented milk) หรือผลิตภัณฑ์นมชนิดที่ได้จากการหมักด้วยแบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria, LAB) แบคทีเรียชนิดที่นิยมใช้หมักโยเกิร์ต คือ สเตรพโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) และแล็กโทบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactoobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) โดยผู้ผลิตมักใช้เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิดนี้ร่วมกันเพื่อให้สามารถผลิตโยเกิร์ตได้เร็วขึ้น มีกลิ่นและรสชาติดีกว่าใช้เชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว อย่างไรก็ตามอัตราส่วนของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดและสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาเป็นหัวเชื้อจะมีผลต่อรสชาติและกลิ่นรวมทั้งเนื้อสัมผัสของโยเกิร์ต ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมาขาย และอาจมีการเติมแบคทีเรีย LAB ชนิดอื่นลงไปด้วย เช่น แบคทีเรียกลุ่มโพรไบโอติก อย่าง บิฟีโดแบคทีเรียม(Bifidobacterium) โยเกิร์ตนั้นโดยทั่วไปจะใช้น้ำนมวัวเป็นวัตถุดิบ แต่ก็สามารถใช้น้ำนมจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น น้ำนมแพะ หรือผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองหรือกะทิแทนน้ำนมวัวได้ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะเรียกโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือเติมผลไม้ลงไปว่า โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yogurt) ทั้งโยเกิร์ตและโยเกิร์ตปรุงแต่งจะต้องมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักที่มีชีวิตคงเหลืออยู่ ในประเทศไทยโยเกิร์ตจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ โยเกิร์ตชนิดแข็งตัว(set yoghurt) ซึ่งจะมีเนื้อแน่น และโยเกิร์ตชนิดคน(stirred yoghurt) ซึ่งเนื้อโยเกิร์ตค่อนข้างเหลวไม่จับเป็นก้อน   การเลือกซื้อโยเกิร์ต จุดเด่นที่เราต้องการจากโยเกิร์ตคือ จุลินทรีย์กลุ่มแลกทิก(LAB) ซึ่งช่วยเรื่องสมดุลในระบบทางเดินอาหารและยังทำให้คนที่ไม่สามารถดื่มนมได้เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่จะย่อยแลกโทสในน้ำนมนั้น สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนได้ หลักการซื้อจึงควรดูเรื่องอุณหภูมิในการเก็บรักษาโยเกิร์ต เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้หมักและรุ่นการผลิต   1.เลือกที่มีวันผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ เพื่อให้ได้โยเกิร์ตที่สดใหม่ ซึ่งจะยังมีเชื้อจุลินทรีย์ LAB ที่มีชีวิตจำนวนมาก(เชื้อจุลินทรีย์จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหลายวัน) 2.ตู้แช่บริเวณชั้นวางผลิตภัณฑ์ควรมีอุณหภูมิในการเก็บรักษาระหว่าง 2 – 5 องศาเซลเซียส คือต้องเย็นพอๆ กับตู้เย็นบ้านหรือเย็นกว่า เนื่องจากจุลินทรีย์ LAB ชอบอากาศเย็น และจะคงสภาพมีจำนวนเชื้อที่มีชีวิตมากกว่าในที่อากาศร้อน 3.พลิกดูฉลากอ่านชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในถ้วยถ้าเป็น สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัสและแล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส เพียงสองชนิดจัดว่าเป็นโยเกิร์ตธรรมดา แต่หากต้องการโยเกิร์ตที่เป็นโพรไบโอติก ต้องเลือกที่มีเชื้ออื่นที่ข้างถ้วย โดยโพรไบโอติกที่มีอยู่ในโยเกิร์ตในท้องตลาดบ้านเราคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum) ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010) แล็คโตแบซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei) แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เป็นต้น (ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักใส่โพรไบโอติกเพียง 1 ชนิด ส่วนที่มาจากต่างประเทศจะเติมโพรไบโอติกลงไป 1-3 ชนิด) 4.โยเกิร์ตแบบโพรไบโอติก จะมีคุณสมบัติในเรื่องของการช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ถ้าคุณเป็นคนท้องผูกควรลองรับประทานโยเกิร์ตประเภทนี้ แต่ถ้ามีระบบขับถ่ายไว ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตแบบธรรมดา โยเกิร์ตพร้อมดื่มเหมือนหรือแตกต่างจากโยเกิร์ตอย่างไร โยเกิร์ตพร้อมดื่มหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มีกระบวนการหมักเหมือนกับโยเกิร์ต คือใช้วัตถุดิบเป็นนมวัวและเติมเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแลกทิกลงไป เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจะมีการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือมีการเติมน้ำผลไม้หรือน้ำเชื่อมเพิ่มลงไป จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหลว นมเปรี้ยวที่วางขายซึ่งผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที โพรไบโอติก(Probiotic) หมายถึง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก(lactic acid bacteria, LAB) เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium แบคทีเรียกลุ่มนี้ พบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก(fermentation) เช่น นมเปรี้ยว แหนม กิมจิ จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค(pathogen) ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้หรือย่อยได้ไม่หมด ช่วยการดูดซึมของสารอาหาร โคเรสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารที่แบคทีเรีย กลุ่มโพรไบโอติกนำไปใช้ได้ เรียกว่า พรีไบโอติก(prebiotic) เช่น ใยอาหาร(dietary fiber) ข้อมูล1. ดร.สุนัดดา โยมญาติ นักวิชาการสาขาชีววิทยา http://biology.ipst.ac.th/?p=9872. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เช็ค “ไขมัน” “น้ำตาล” ในโยเกิร์ต

  “โยเกิร์ต” ถือเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อยถูกปากถูกใจ แถมมีประโยชน์ กินแล้วดีต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโยเกิร์ตยี่ห้อใหม่ๆ รสชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะสูตรธรรมชาติ ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาล สูตรผสมผลไม้ เติมใยอาหาร เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ เรียกว่ามีให้เลือกสารพัด เอาใจคนชอบกินโยเกิร์ตสุดๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้เลยรับอาสาสุ่มเก็บตัวอย่างโยเกิร์ตที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าโยเกิร์ตแต่ละยี่ห้อมีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน เท่าไหร่กันบ้าง เพื่อให้คนที่ชอบกินโยเกิร์ตได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อเลือกกินโยเกิร์ตให้ได้ประโยชน์สูงสุด   ประโยชน์ของโยเกิร์ต -โยเกิร์ตมีโปรตีนจากนม ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ร่างกายสามารถย่อยสลายดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย มีกรดอะมิโนสูง -มีแคลเซียมสูง -มีกรดแลคติกช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค -มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลัส ที่เป็นประโยชน์ต่อสำไส้ ทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ แลคโตบาซิลัส ยังสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ด้วย -สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนนมได้ สำหรับคนที่แพ้นม หรือดื่มนมไม่ได้   วิธีเลือกซื้อโยเกิร์ต -อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อดูว่าปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่เราจะได้รับจากการกินโยเกิร์ตถ้วยนั้นมีอะไรบ้าง(เปิดฉลาดซื้อเล่มนี้ได้เลยเช่นกัน) -เลือกโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ รสธรรมชาติ หรือ รสจืด จะได้ประโยชน์มากกว่าสูตรธรรมดาหรือสูตรที่ผสมผลไม้ ที่น้ำตาลและไขมันค่อนข้างสูง -เลือกซื้อโยเกิร์ตที่มีวันที่ผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ(โยเกิร์ตที่ผลิตใหม่ๆ)  มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในปริมาณมาก เพราะเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ จะสูญสลายไปตามกาลเวลา -การกินโยเกิร์ตไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่การกินโยเกิร์ตช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ กระเพาะอาหาร และการย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมดุลเป็นปกติเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครที่กินโยเกิร์ตเพื่อลดความอ้วนจึงเป็นความคิดที่ผิด   เปรียบเทียบปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน ในโยเกิร์ต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 85 โยเกิร์ต

สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการโดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โยเกิร์ต (Yogurt) เป็นผลิตภัณฑ์นม ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในวัยรุ่นและสาวๆ วัยทำงาน เพราะเชื่อว่า ดีต่อสุขภาพ ทำให้อายุยืน ผอมหรือเอาไปใช้พอกหน้าเพื่อบำรุงผิวพรรณ โยเกิร์ต ได้มาจากการนำน้ำนมสัตว์ เช่น นมโค นมแพะ มาผ่านการทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แล้วหมักด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรืออันตราย ทำให้ค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น (รสเปรี้ยว) และอาจปรุงแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้รับประทานได้อร่อยขึ้น สำหรับบางคนที่อาจไม่ชอบรสชาติและกลิ่นที่เกิดจากการหมักนมเปรี้ยว เชื้อจุลินทรีย์ที่นำมาหมักให้เป็นนมเปรี้ยว เป็นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดไม่ก่อให้เกิดโรค ส่วนใหญ่ได้แก่ แบคทีเรีย สเตรปโทค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส และแล็กโทบาซิลลัส เดลบรึคคิไอ ซับสปีชีส์ บัลแกริคัส เราเรียกมันว่า แลกติก แอซิด แบคทีเรีย ก็ได้ เชื่อกันว่า แลกติก แอซิด แบคทีเรีย ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ซึ่งน่าจะจริงอยู่เพราะคนที่ท้องผูก บางครั้งได้โยเกิร์ตสักถ้วย ก็ช่วยให้ระบายท้องได้ แต่อย่าเพิ่งไปเชื่อถึงขนาดว่า มันจะป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้ ผลทดสอบโยเกิร์ต รสธรรมชาติ (Plain Yogurt) 7 ยี่ห้อ (เก็บตัวอย่าง 11 กุมภาพันธ์ 2551)•    ปริมาณแคลเซียมในผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตทุกยี่ห้อ ไม่ได้มีค่าต่างกันมากนัก แม้หลายยี่ห้อจะกล่าวอ้างว่า แคลเซียมสูง ก็ตาม (ดูตารางเปรียบเทียบเรื่องปริมาณแคลเซียมกับผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ) •    ยี่ห้อ ริชเชส พบปริมาณโปรตีน 2.6 กรัม / 100 กรัม ซึ่งน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด 0.1  (ตามกฎหมายต้องมีโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.7 ของน้ำหนัก) เป็นไปได้ว่า เกิดจากปริมาณน้ำนมโคที่ต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ริชเชส นมโคร้อยละ  91.5 ดัชชี่ ร้อยละ 98 เมจิ ร้อยละ 100 (ตามที่ระบุบนฉลาก) •    ยี่ห้อ ดัชชี่ แฟตฟรี ระบุบนฉลากว่า น้ำตาลน้อยกว่า ไม่รู้จะหมายความว่า น้อยกว่ายี่ห้ออื่นหรือไม่ อย่างไร เพราะทดสอบพบว่า มีน้ำตาล 11.1 กรัม / 100 กรัม แต่บนฉลากบอกว่า มีน้ำตาล 9 กรัม / น้ำหนัก 150 กรัม (หนึ่งหน่วยบริโภค) •    ยี่ห้อ เมจิ ระบุอยู่บนฉลากว่า มีน้ำตาล 4 กรัม (จากหน่วยบริโภค 150 กรัม) แต่ฉลาดซื้อทดสอบได้ 7 กรัม (ต่อ 100 กรัม) ถ้าปริมาณโยเกิร์ตต่อหน่วย 150 กรัม น่าจะมีน้ำตาลอยู่ที่ 10.5 กรัม•    จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ยิ่งมีจำนวนมากยิ่งมีประโยชน์ จากการทดสอบพบว่า ยี่ห้อดัชชี่ ไบโอ ดัชชี่ แฟต ฟรี และโฟร์โมสต์ พรี โพร บาลานซ์ มีปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจำนวนมากใน 3 ลำดับแรก  แต่…เนื่องจากฉลาดซื้อมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อให้มีวันผลิตใกล้เคียงกันหรือวันเดียวกันได้  ค่าของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจึงไม่อาจเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน เพราะการมีอยู่ของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในโยเกิร์ต จะขึ้นอยู่กับอายุของผลิตภัณฑ์ ยิ่งผลิตใหม่สดเท่าไร จุลินทรีย์ที่มีชีวิตก็จะมีปริมาณสูง และจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันหมดอายุ ดังนั้นยี่ห้อ บีทาเก้น ที่มีปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตน้อยกว่ายี่ห้ออื่น ก็อาจเนื่องมาจากผลิตก่อนยี่ห้ออื่นนั่นเอง (โยเกิร์ตมีอายุการบริโภคไม่เกิน 30 วัน เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส)•    ทุกยี่ห้อไม่พบแบคทีเรียชนิดก่อโรค (โคลิฟอร์ม) เกินกฎหมายกำหนด (น้อยกว่า 3 ต่อนมเปรี้ยว 1 กรัม โดยวิธี เอ็ม พี เอ็น)

อ่านเพิ่มเติม >