ฉบับที่ 198 คิดก่อนกิน โปรไบโอติกเม็ด

ผลิตภัณฑ์นี้เป็นอาหารเสริมจากอเมริกาที่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์หรือ ”โปรไบโอติก” จำนวน 10 สายพันธุ์ โดย 1 เม็ดจะประกอบด้วยจุลินทรีย์จำนวน 1 หมื่นล้านตัวที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพและเสริมภูมิต้านทานโรค อีกทั้งยังประกอบด้วย “อินนูลิน” ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งเรียกว่า “พรีไบโอติก” ... คำกล่าวอ้างนี้เป็นโฆษณาของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวหนึ่ง ท่านผู้อ่านคิดว่า ข้อความนี้ถูกหรือผิดอย่างไรสำหรับผู้เขียน โฆษณาในแนวนี้ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีอะไรผิด เพียงแต่ผู้บริโภคควรถามตนเองว่า ฉันควรซื้อสินค้าชนิดนี้มากินด้วยเหตุผลใด ซึ่งคำตอบนั้นอาจเป็น เพราะไม่มีโอกาสได้กินอาหารที่มีองค์ประกอบ ซึ่งให้โปรไบโอติก(เชื้อแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้) หรือไม่ได้กินอาหารที่ให้พรีไบโอติก(ซึ่งเป็นอาหารสำหรับโปรไบโอติก) หรือไม่มีเวลาที่จะกินอาหารให้ครบห้าหมู่ ดังนั้นการขับถ่ายนั้นจึงไม่ดี บลาๆๆก่อนตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ ผู้อ่านจึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน  โปรไบโอติก คือ จุลชีพที่ยังมีชีวิตบางชนิดที่ร่างกายได้รับเสริมเข้าไปจากภายนอก ซึ่งถ้าได้ในปริมาณที่เหมาะสมย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกาย โดยปกติร่างกายเรามีจุลินทรีย์หรือจุลชีพ ที่มีประโยชน์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมการกินหรือการปฏิบัติตนประจำวันทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ไม่สมดุล หรือมีปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีน้อยลง ปัจจัยต่างๆ ที่ว่านั้น เช่น การกินยาปฏิชีวนะเป็นประจำ การกินยาแก้ปวดบ่อยๆ การดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือสูบบุหรี่เป็นนิจ ฯลฯ การกระทำแบบนี้มีส่วนทำให้จำนวนของจุลินทรีย์ที่ดีลดน้อยลงประเด็นหนึ่งซึ่งอาจไม่สำคัญนัก แต่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม คือ ในทางเดินอาหารของเรานั้น มีแบคทีเรียอยู่ในช่วงระหว่าง 300 ถึง 1000 สายพันธุ์ โดยร้อยละ 99 เป็นแบคทีเรียเพียง 30-40 สายพันธุ์ ดังนั้นการลดเพิ่มจำนวนในแต่ละสายพันธุ์จึงส่งผลดีหรือร้ายต่อร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วมีวิธีการใดที่ทำให้โปรไบโอติกเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้ตั้งแต่เกิดโปรไบโอติกเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้อย่างไรมีหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า ในระบบทางเดินอาหารของเด็กในท้องแม่นั้นอยู่ในสภาพปลอดเชื้อ นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า เมื่อเด็กออกมาจากท้องแม่นั้นแบคทีเรียจากแม่(คิดว่าอาศัยอยู่ในช่องคลอดของแม่) และสิ่งแวดล้อมจะเริ่มเข้าสู่ตัวเด็ก ดังนั้นองค์ประกอบของแบคทีเรียในแต่ละคนจึงมี ความแตกต่างที่มีความคล้ายกันไป นับจากจุดเริ่มต้นของชีวิต และรูปแบบชนิดของโปรไบโอติกจะชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่คลอดตามธรรมชาติมักมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของแบคทีเรียในลำไส้เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่กำเนิดจากการถูกผ่าคลอดมีข้อความโฆษณาจากอินเทอร์เน็ตอีกที่หนึ่งกล่าวประมาณว่า หากแม่รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก ช่องคลอดจะมีโปรไบโอติก ซึ่งเป็นการลดการติดเชื้อราในช่องคลอด เวลาลูกคลอดออกมาก็รับโปรไบโอติกจากแม่ทางปากมดลูก และหากลูกดูดนมแม่ลูกก็ได้รับโปรไบโอติกจากหัวนมแม่ด้วย ซึ่งจะช่วยย่อยน้ำตาลแลคโทสในน้ำนมลดการติดเชื้อในลำไส้เด็ก(Atopic Dermatitis) ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วข้อความดังกล่าวดูแปลกดีเพราะมองไม่ออกว่า โปรไบโอติกที่แม่กินเข้าไปนั้นไปสู่ช่องคลอดและหัวนมของแม่ได้อย่างไรโดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียในขั้นเริ่มต้นของชีวิตเด็กนั้น มักเป็นชนิดที่อยู่ได้ทั้งในสภาพที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน ดังนั้นเมื่อออกซิเจนในทางเดินอาหารตอนล่างหมด แบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจนจึงคงอยู่เป็นหลักในลำไส้ใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่ได้รับนมแม่มักมีแบคทีเรียกลุ่ม bifidobacteria ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ที่เข้าใจกันว่าเพราะในน้ำนมแม่มีปัจจัย(bifidobacterial growth factor) ที่ช่วยให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เจริญดี พร้อมทั้งอุดมไปด้วยพรีไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มนี้ ดังนั้นเด็ก ซึ่งดื่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจึงมีแบคทีเรียในลำไส้ต่างไปบ้างจากเด็กที่ดื่มนมแม่จนครบเวลาที่ควรเป็นความสำคัญของโปรไบโอติกกล่าวกันในหลายบทความว่า หน้าที่หลักของโปรไบโอติกคือ ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยมีกลไกกระตุ้นการหลั่งสารหลายชนิดออกมาต่อต้านและช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายเหล่านั้น และเมื่อโปรไปโอติกเหล่านั้นเข้าไปแล้วก็จะไปรบกวนไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคทั้งหลายเกาะติดผนังลำไส้ และถูกขับออกไปกับอุจจาระในที่สุดส่วนอินนูลินที่มีการเติมในสินค้าข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี  (soluble fiber)  ใยอาหารนั้นไม่ถูกจัดเป็นสารอาหารเพราะร่างกายไม่สามารถย่อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงได้ จึงเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่หลังการย่อยอาหารในแต่ละมื้อ โดยใยอาหารชนิดที่จัดว่าเป็นพรีไบโอติก หรือเป็นอาหารของแบคทีเรียในกลุ่มโปรไบโอติกซึ่งอยู่ในลำใส้ใหญ่ (สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ดีอย่างไรจะกล่าวต่อไป) ส่วนใยอาหารอีกกลุ่มซึ่งอุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) นั้น แม้แบคทีเรียไม่สามารถใช้เป็นอาหารได้ ก็มีประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ จับสารพิษที่หลงเหลือในกากอาหารแล้วนำออกจากร่างกายพร้อมกับอุจจาระ และการช่วยทำให้อุจจาระไม่แข็งจนก่อให้เกิดริดสีดวงทวารยังมีงานวิจัยที่กล่าวว่า ใยอาหารกลุ่มที่อุ้มน้ำได้ดีนั้น มีผลช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ในเลือดและลดระดับโคเรสเตอรอล เพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) และลดระดับปริมาณไขมันเลว (LDL) จึงมีการนำมาใช้กับอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและเป็นอาหารลดความอ้วนได้ ประเด็นเหล่านี้ขอไม่กล่าวในบทความนี้เพราะเป็นเรื่องยาวเกินไปผู้เขียนใคร่ขยายความในประเด็นหนึ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจยังไม่ตระหนักนักคือ ทุกครั้งที่ท่านกินผักหรือผลไม้นั้น ท่านควรได้ใยอาหารทั้งสองกลุ่ม มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของพืช ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี ซึ่งมีสบบัติเป็นพรีไบโอติกนั้นมักมีลักษณะสัมผัสที่นุ่มในปาก ในขณะที่ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำไม่ดีนั้นผู้บริโภคจะรู้สึกหยาบเมื่ออยู่ในปาก ประโยชน์ข้างเคียงของใยอาหารกลุ่มนี้คือ การทำความสะอาดซอกฟัน โดยผักที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คะน้า ซึ่งมีก้านใบเป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีแต่เนื้อใบเป็นส่วนที่อุ้มน้ำได้ดีกว่า และถ้าต้องการตัวอย่างของอาหารที่มีใยอาหารอุ้มน้ำดีในปริมาณสูงก็ให้นึกถึง กล้วยชนิดต่างๆ หรือผักตระกูลแตงต่างๆกลับมาที่ประเด็น ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ในตอนต้นของบทความว่า ท่านผู้อ่านรู้ตัวได้อย่างไรว่า ต้องการกินโปรไบโอติกและ/หรือพรีไบโอติก คำตอบนั้นไม่ยากนักโดยให้พิจารณาว่า หากตื่นนอนแล้วปฏิบัติการถ่ายอุจจาระหลังตื่นนอนไม่ไหลลื่นตามที่ควรเป็น(ก่อให้เกิดการคั่งค้างของกากอาหารในลำไส้ใหญ่) เมื่อนั้นท่านผู้อ่านควรคิดถึงโปรไบโอติกและพรีไบโอติกได้แล้วคำถามที่ควรตามมาคือ จำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งให้โปรไบโอติกหรือพรีไบโอติก หรือให้ทั้งสองอย่างซึ่งมักมีการใช้คำว่า ซินไบโอติก (synbiotic) หรือไม่ คำตอบคือ ท่านอยากกินสิ่งนี้ในรูปของอาหารที่มีรสชาติ หรือในรูปเม็ดยาซึ่งไม่มีรสอะไรในอินเทอร์เน็ตนั้น มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของโปรไบโอติกอย่างมากมาย แต่ข้อมูลที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยคือ อาหารหมักดองของภาคต่างๆ นั่นเอง  แต่เน้นว่า ควรเป็นผักดอง ซึ่งเราควรกินดิบเพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่มีชีวิต แต่ในกรณีของเนื้อสัตว์หมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า หอยดอง นั้น ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้กินดิบเพราะโอกาสได้รับพยาธิมีสูงมาก อันตราย แต่ถ้าทำให้สุกโปรไบโอติกก็ตายไปหมดสิ่งที่เหลือคือความอร่อยเท่านั้นสำหรับพรีไบโอติกนั้น ในกรณีที่ท่านผู้อ่านไม่นิยมกินในรูปเม็ดยา ท่านสามารถกินผักและผลไม้ดังที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้น(คะน้า กล้วย แตง) และหากเป็นอาหารที่อยู่ในรูปที่เรียกว่า ซินไบโอติกของไทย แบบซื้อง่ายและกินได้คล่องนอกช่วงเข้าพรรษาก็คือ ข้าวหมาก ยิ่งถ้าเป็นข้าวหมากจากข้าวเหนียวดำแล้ว นอกจากจะได้โปรไบโอติกและพรีไบโอติก ท่านยังได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารต้านการก่อกลายพันธุ์พร้อมกันไปด้วย แต่อาจต้องรู้ไว้ก่อนว่า ท่านไม่ควรกินข้าวหมากมากไป เพราะอาจถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้ และอาหารนี้ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่เด็กและสตรีมีครรภ์กิน 

อ่านเพิ่มเติม >