ฉบับที่ 220 กระแสต่างแดน

ปอดไม่สำราญ        รายงานการสำรวจมลพิษในเมืองท่าของยุโรปโดยสหพันธ์การขนส่งและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปพบว่า สเปนคือประเทศที่มีมลภาวะจากเรือสำราญมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองบาร์เซโลนาและพาลม่า        รายงานระบุว่าในปี 2017 มีเรือสำราญมาเทียบท่าเรือบาร์เซโลนาถึง 105 ลำ รวมเวลาปล่อยมลพิษ  8,293 ชั่วโมง และปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลฟูรอกไซด์ และฝุ่นจิ๋ว (พีเอ็ม 2.5) ที่ปล่อยออกมานั้น สูงกว่ามลพิษจากรถยนต์ 558,920 คันบนท้องถนนในเมืองถึงห้าเท่า        เช่นเดียวกับพาลม่าที่มีเรือสำราญมาจอด 87 ลำ แต่มลภาวะจากเรือเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ในเมืองรวมกันถึง 10 เท่า        ต้องติดตามว่าสเปนซึ่งได้ชื่อว่าจริงจังกับการจัดการปัญหามลพิษจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า คนสเปนเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษถึงปีละ 30,000 คน หิวเลือกได้        ข่าวดีสำหรับสายบุญ สายสุขภาพ และสายรักษ์โลก ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นแล้วว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของ “เนื้อสัตว์” ที่เรารับประทานจะไม่เกิดจากการฆ่า        ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสังเคราะห์เนื้อสัตว์ขึ้นในห้องทดลอง หรือใช้พืชผักมาทำเป็นอาหารในรูปแบบที่ต้องการได้        ปัจจุบันมีบริษัท “สตาร์ทอัป” ด้านอาหารทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย เช่น บียอนด์มีท อิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ และจัสต์ฟู้ดส์ และมีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่น้อย        เมื่อ บียอนด์ฟู้ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 240 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท)         การสำรวจในจีน อินเดีย และอเมริกา พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับ “เนื้อทางเลือก” เป็นอย่างดี และขณะนี้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาอาหารทางเลือกยังสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 312,000 ล้านบาท) ด้วย ขอดีกว่านี้        คิวบาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมาหกเดือนแล้ว แต่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้พบว่าบริการนี้ยังต้องปรับปรุงทั้งเรื่องราคาและอิสระในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล        แพ็คเกจอินเทอร์เน็ต 4 GB สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 30 เหรียญ(ประมาณ 950 บาท) ต่อเดือน เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนคิวบาพอดี        ในขณะที่แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบ้านแบบ “เหมาจ่าย” อยู่ที่เดือนละ 800 เหรียญ(ประมาณ 25,000 บาท) คิวบามีประชากรทั้งหมด 11,200,000 คน และมีเพียง 79,000 ครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน        นอกจากนี้เว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมักจะถูกสั่งปิด และ Etecsa ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่าแอบสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย        ก่อนคิวบาจะเริ่มนำเทคโนโลยี 3G มาใช้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 5.3 ล้านคน จะต้องเชื่อมต่อกับชาวโลกผ่านฮอทสปอต wifi ที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงโปรฯ ลดเหลื่อมล้ำ        Digi ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอันดับสามของมาเลเซียออกโปรโมชั่นให้ส่วนลดเดือนละ 10 ริงกิต ตลอดชีพ(ประมาณ 75 บาท) สำหรับผู้พิการที่สมัครใช้บริการรายเดือน        แพ็คเกจโทรไม่อั้นได้ทุกเครือข่ายเริ่มต้นที่เดือนละ 28 ริงกิต(ประมาณ 200 บาท) สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต 6 GB เป็นต้นไป ใครที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วก็รับส่วนลดไปโดยไม่ต้องเปิดเบอร์ใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องมีการแสดงบัตรผู้พิการในการสมัครด้วย        บริษัทบอกว่าโปรฯ นี้เป็นการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน        คนมาเลย์คงกำลังลุ้นกันว่าผู้ประกอบการอีกสองเจ้า ได้แก่ Maxis และ Celcom ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและสองของมาเลเซีย จะจัดโปรฯ อะไรออกมาสู้ เรื่องนี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์เห็นๆ หน้าดินที่หายไป        ความต้องการบริโภคโปรเซกโก(ไวน์มีฟอง) ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียหน้าดินในประเทศอิตาลี          การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยปาดัวพบว่าร้อยละ 74 ของการสูญเสียหน้าดินในไร่องุ่นในเขตทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นผลมากจากอุตสาหกรรมนี้        ไวน์หนึ่งขวดทำให้เสียหน้าดินประมาณ 4.4 กิโลกรัม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในที่สุดก็คืออุตสาหกรรมที่ผลิตโปรเซกโกปีละ 446 ล้านขวด        ในจำนวนนี้ส่งออก 90 ล้านขวด และประเทศที่นำเข้าโปรเซกโกเป็นสามอันดับแรกของโลกได้แก่ อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ        ผู้ประกอบการแย้งว่าข้อกล่าวหานี้ไม่จริง เพราะพวกเขาปลูกองุ่นบนพื้นที่ขั้นบันได ซึ่งป้องกันน้ำท่วมและดินถล่มได้ ผู้ว่าฯ แคว้นเวเนโตก็บอกว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นแพะรับบาปของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม >