ฉบับที่ 277 สำรวจฉลากโภชนาการ “นมโปรตีนสูง”

        เมื่อ นมโปรตีนสูง ถูกสื่อสารเชื่อมโยงผ่านกลุ่มคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ คนที่ต้องการลดน้ำหนัก รักษามวลกล้ามเนื้อ หรือกลุ่มคนที่มองหาเครื่องดื่มมาทดแทนมื้ออาหาร ว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก มีโปรตีนสูงกว่านมธรรมดาหลายเท่า หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติ อร่อย ดื่มได้ทันที และอิ่มท้องนาน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้หลายคนตัดสินใจซื้อมาดื่มตามแบบไม่ลังเล โดยบางทีก็มองข้ามเรื่องความจำเป็น ความปลอดภัย และความคุ้มค่าไป         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเลือกนมโปรตีนสูง จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มาสำรวจฉลากและส่วนประกอบหลักเพื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการและราคา สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกได้ว่ายี่ห้อไหนมีโปรตีนสูงกว่ากัน หรือมีคุณลักษณะอื่นๆ ที่ตรงใจคุณ เช่น พลังงานสูง น้ำตาลน้อย ไขมันน้อย โซเดียมต่ำ และแคลเซียมสูง เป็นต้น ส่วนรสชาติไหนอร่อยคงต้องลองชิมกันเองแล้ว  ผลสำรวจ         -ทั้งหมด 8 ตัวอย่าง มีโปรตีนจากนมเป็นหลัก  5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อดัชมิลล์ นมคืนรูปปรุงแต่ง พร่องมันเนย พาสเจอร์ไรส์ โปรตีนสูง กลิ่นอัลมอนด์ สูตรเวย์พลัส ไม่เติมน้ำตาลทราย, ฮูเร่ ผลิตภัณฑ์นมชนิดพร่องมันเนย พาสเจอร์ไรส์ โปรตีนสูง รสช็อกโกแลต สูตรปราศจากน้ำตาลแลคโตส, แม็กซิมัส น้ำโกโก้ ผสมโปรตีนนม, เมจิ ผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนยพาสเจอร์ไรส์ โปรตีนสูง รสช็อกโกแลต สูตรเวย์ และมูฟ น้ำโกโก้ 20% ผสมโปรตีนนม ปราศจากน้ำตาลแลคโตส ส่วนอีก 3 ตัวอย่างมีโปรตีนจากพืชเป็นหลัก ได้แก่ ยี่ห้อออลลี่ เครื่องดื่มผสมโปรตีนจากพืช(ถั่วเหลือง ข้าวและถั่วลันเตา)ใยอาหารจากอินนูลิน วิตามินรวม และแร่ธาตุรวม รสโกโก้, โทฟุซัง นมถั่วเหลือง สูตรโปรตีนสูง รสช็อกโกแลต และอัพ เครื่องดื่มโปรตีนไอโซเลทจากพืช กลิ่นช็อกโกแลตฮาเซลนัท         -ทั้ง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณต่อ 1 ขวด ตั้งแต่ 310 – 360 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกตั้งแต่ 40 – 59 บาทต่อขวด         -มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่า มีเวย์โปรตีนเข้มข้น ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อดัชมิลล์ (2.4%), ฮูเร่ (0.5%), แม็กซิมัส (ไฮโดรไลท์ 0.7%) และเมจิ (10.7%) เมื่อพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภคที่แนะนำ (1 ขวด) พบว่า        -ยี่ห้ออัพ มีโปรตีนมากที่สุด คือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อออลลี่มีน้อยที่สุด คือ 25 กรัม        -ยี่ห้อฮูเร่ มีพลังงานมากที่สุด คือ 230 กิโลแคลลอรี ส่วนยี่ห้อดัชมิลล์และเมจิ มีน้อยที่สุด คือ 170 กิโลแคลลอรี        -ยี่ห้อโทฟุซัง มีไขมันมากที่สุด คือ 7 กรัม ส่วนยี่ห้อเมจิและมูฟมีน้อยที่สุด คือ 2 กรัม        -ยี่ห้อดัชมิลล์ มีน้ำตาลมากที่สุด คือ 10 กรัม ส่วนยี่ห้อโทฟุซังและอัพมีน้อยที่สุด คือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ใบไม้มีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่..ได้หรือ

        เวลาผู้บริโภคได้รับข้อมูลถึงการมีโปรตีนปริมาณสูงในส่วนของพืชที่เป็นอาหารชนิดใหม่ (novel food) นั้น สำหรับผู้ซึ่งไม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนวิชาเคมีทางอาหารที่มีการใช้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหาร อาจจำเป็นต้องรับฟังโดยดุษฎี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผ่านวิชาดังกล่าวอาจฉุกใจว่า ปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นอาจไม่ใช่โปรตีนจริงก็ได้         กรณีตัวอย่างที่อาจเป็นปัญหานั้นได้แก่ การอ้างว่าใบของพืชชนิดหนึ่งมีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่ ซึ่งปรากฏในบางรายการโทรทัศน์บ้าง Youtube บ้าง หรือสื่อช่องทางอื่นๆ ซึ่งผู้รับข่าวสารจำต้องตั้งหลักคิดให้ดีแล้วถามตัวเองว่า ผู้ให้ข้อมูลได้ข้อมูลมาได้อย่างไร         ในความเป็นจริงแล้วตัวอย่างนั้นๆ ต้องถูกนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการหรือเอกชนที่ได้มาตรฐานตามกระบวนการของ ISO ซึ่งผู้รับข้อมูลควรสอบถามผู้ให้ข้อมูลว่า ใครเป็นผู้วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนให้และควรมีเอกสารรับรองเป็นเรื่องเป็นราวจึงจะเชื่อได้ในระดับหนึ่ง         ทำไมจึงควรเชื่อได้แค่ในระดับหนึ่งนั้นมีคำอธิบายว่า ในการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนของสิ่งที่เป็นอาหารมนุษย์นั้น ถ้าสิ่งนั้นดูไม่น่าเป็นอาหารที่มีคุณค่า เช่น ใบปาล์ม ผู้รับข้อมูลต้องใช้วิจารณญาณว่า ข้อมูลนั้นอาจเป็น “ความเข้าใจผิด” เนื่องจากการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนเป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจในการแปรผลที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นผลที่นำมาพูดอาจผิดพลาด เพราะผลการวิเคราะห์ที่ได้อาจไม่ได้หมายถึงโปรตีนจริงโปรตีนในพืช        เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ใบไม้จากพืชบางชนิดนั้นพอนับได้ว่าเป็นแหล่งของโปรตีนที่มนุษย์กินได้ ในหนังสือชื่อ Handbook of Hydrocolloids (Second edition) ซึ่งเป็น Series in Food Science, Technology and Nutrition พิมพ์โดย Woodhead Publishing Limited ในเมือง Oxford สหราชอาณาจักร ในปี 2009 มีบทที่ 15 เป็นเรื่องของ Vegetable protein isolates ซึ่งให้ข้อมูลว่า ใบไม้มีการสังเคราะห์โปรตีนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้นอาหารสัตว์บางชนิดจึงใช้โปรตีนเข้มข้นจากใบไม้ (leaf protein concentrate) บางชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลให้ใบไม้ดังกล่าวดูมีอนาคตในการเป็นอาหารเสริมโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์ องค์การอนามัยโลกจึงเสนอให้มนุษย์บริโภคโปรตีนที่สกัดจากใบไม้เป็นครั้งแรกในราวปี 1960 แต่ไม่ประสบความสำเร็จนักเนื่องจากโปรตีนที่สกัดได้จากใบไม้มักมีรสขม เหม็นเขียว และสีออกเขียวเข้ม สำหรับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับโปรตีนในใบไม้มักเป็นการศึกษาใบอัลฟาฟา (alfalfa) ใบถั่วฟาบา ใบถั่วลันเตา ผักโขม (amaranth) พืชน้ำเช่น แหน (duckweed) ซึ่งมักแสดงผลว่า โปรตีนที่ศึกษามีกรดอะมิโนจำเป็นคือ เมไธโอนีน (methionine) ในปริมาณต่ำ และมักมีสารพิษทางโภชนาการคือ สารไฟเตต สารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ หรือสารแทนนิน เป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติ         ประเด็นสำคัญที่ผู้รับข้อมูลควรทราบคือ การหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นใช้วิธีการใด เพราะโดยปรกติแล้วการหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารซึ่งมีความหลากหลายนั้นมักใช้วิธี เจลดาห์ล (Kjeldahl method) เป็นหลัก ยกเว้นในบางกรณีใช้วิธีวัดการหักเหแสง (refractive index measurement) เพื่อหาปริมาณโปรตีนในนมสดซึ่งต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากนมต้องได้รับการแปรรูปก่อนการเสียสภาพโดยพื้นฐานแล้วกระบวนการวิเคราะห์โดยวิธีเจลดาห์ลนั้น เป็นการวิเคราะห์จำนวนอะตอมไนโตรเจน โดยไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ไนโตรเจนนั้นอยู่ในโมเลกุลอะไร และที่สำคัญองค์ประกอบตามธรรมชาติของพืช เช่น ใบพืช นั้นมีสารธรรมชาติมากมายหลายชนิด (ที่ไม่ใช่โปรตีน) มีอะตอมไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบระดับโมเลกุล         นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีทางอาหารแบ่งสารประกอบในอาหารที่มีไนโตรเจนออกเป็น 2 ประเภทคือ protein nitrogen และ non-protein nitrogen ดังนั้นในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารด้วยวิธีเจลดาห์ลแล้วได้ผลเป็นปริมาณไนโตรเจนโดยรวมนั้นจะต้องเอาค่า conversion factor ที่ได้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละอย่างมาคูณค่าไนโตรเจนออกมาเป็นค่าปริมาณโปรตีน โดยค่า conversion factor สำหรับอาหารแต่ละชนิดที่นักวิเคราะห์รู้กันว่า ได้มีการทำวิจัยเชิงลึกแล้วว่าช่วยให้ได้ค่าโปรตีนจริงในอาหารแต่ละชนิดเป็นเท่าใด เช่น 6.38 สำหรับเนื้อสัตว์ ไข่และข้าวโพด, 6.25 สำหรับข้าวฟ่าง, 5.83 สำหรับข้าวเจ้า, 5.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ธัญญพืช, 5.6 สำหรับปลาและกุ้ง, 4.59 สำหรับสาหร่ายสีแดง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดที่ทันสมัยขึ้นนั้นสามารถดูได้จากบทความเรื่อง Calculation of Nitrogen-to-Protein Conversion Factors: A Review with a Focus on Soy Protein ในวารสาร Journal of the American Oil Chemists' Society ของปี 2019 หรือจาก Official Methods of Analysis of AOAC INTERNATIONAL, 21st Edition (2019)         ปัญหาที่มักเกิดเกี่ยวกับการระบุถึงปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารใหม่ เช่น ใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีใครสนใจทำวิจัยหา conversion factor เฉพาะไว้ ผู้ทำการวิเคราะห์จำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไป คือ 6.25 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีโอกาสผิดพลาดได้         ตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเอาโอกาสผิดพลาดดังกล่าวไปหาประโยชน์คือ กรณีของนมด้อยคุณค่าที่ถูกเติมสารเมลามีน (melamine) ในประเทศจีน ซึ่งเมลามีนเป็นสารที่มี อะตอมไนโตรเจนในโมเลกุลสูง โดยสูตรเคมีของเมลามีนโมโนเมอร์คือ C3H6N6  ดังนั้นเมื่อมีการเติมเมลามีนลงในนมที่มีโปรตีนต่ำแล้ว เมื่อมีการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนในนมด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นอาจทำให้แปลความว่า นมที่ถูกปลอมแปลงมีปริมาณโปรตีนสูงเหมือนนมธรรมดา เพราะมีการใช้ conversion factors ของนมสดมาคูณค่าไนโตรเจนที่วิเคราะห์ได้ออกมาแล้วแปรผลเป็นปริมาณของโปรตีน         ดังนั้นจากการที่มีรายการโทรทัศน์บางรายการซึ่งเผยแพร่บนสื่อต่างๆ กล่าวถึงใบไม้ของพืชบางชนิด เช่น ใบปาล์ม ใบว่าน ว่ามีโปรตีนสูงนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างที่เป็นอาหารใหม่ด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นจำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไปคือ 6.25 เป็นตัวคูณเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนออกมา ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เพราะยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่า ใบไม้นั้นมีโปรตีน         ในการประเมิณคุณภาพของโปรตีนในตัวอย่างอาหารนั้น AOAC หรือ Association of Official Agricultural Chemists (ซึ่งเป็นองค์กรที่นักเคมีทางอาหารเชื่อถือ) ได้กำหนดไว้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันในการประเมินเพราะสะดวกและเร็วที่สุดพร้อมทั้งมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งนั้นคือ PER (Protein Efficiency Ratio หรือ อัตราส่วนประสิทธิภาพโปรตีน)         หลักการของ PER โดยย่อนั้นเป็นการใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐาน (laboratory animals) เช่น หนู rat หรือหนู mouse ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนคน (แต่อาจใช้ไก่หรือปลาที่มีการเพาะพันธุ์จนเป็นมาตรฐานแล้วได้เช่นกัน) โดยแบ่งสัตว์ออกเป็นกลุ่ม ๆ ให้มีน้ำหนักเฉลี่ยของสัตว์ทั้งหมดใกล้เคียงกัน จากนั้นกำหนดให้กลุ่มหนึ่งกินอาหารมาตรฐานที่สัตว์นั้นกินแล้วเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ซึ่งมีไข่หรือเคซีนที่เป็นโปรตีนในนมเป็นแหล่งโปรตีน และอีกกลุ่มกินอาหารที่มีการแทนที่โปรตีนในอาหารทั้งหมดด้วยตัวอย่าง (เช่น ใบไม้) ที่สนใจศึกษา (ถ้าจะให้ละเอียดรอบคอบกว่าจำต้องมีกลุ่มที่สามที่เป็น pair fed control ด้วย) โดยเมื่อคำนวณค่าพลังงานรวมของอาหารที่ทดสอบแล้วต้องประมาณเดียวกันกับค่าพลังงานรวมของอาหารมาตฐานในลักษณะที่เรียกว่า isocaloric diet        ในการศึกษาต้องทำการจดน้ำหนักสัตว์และน้ำหนักอาหารที่สัตว์กินทุกวัน (เมื่อเก็บไว้ยืนยันการว่าการเจริญเติบโตเป็นปรกติ) และเมื่อสิ้นสุดการทดลอง เช่น 4 สัปดาห์ สัตว์ทดลองแต่ละตัวต้องถูกชั่งน้ำหนักแล้วหารด้วยน้ำหนักโปรตีนที่คำนวณจากน้ำหนักที่สัตว์กินอาหารรวมทั้งสิ้น ผลที่ได้คือ ค่า PER.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 วัคซีน mRNA ทำให้ DNA กลายพันธุ์...จริงหรือ

        ในช่วงที่วัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA ใกล้ผ่านการอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกานั้น นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนประเภทนี้ เนื่องจากเป็นวัคซีนแบบใหม่ซึ่งแม้ดูทันสมัยแต่กระบวนการในการกระตุ้นระบบภูมิต้านทานนั้นดูลัดขั้นตอน ต่างไปจากวัคซีนแบบเดิม (แบบเชื้อตาย) อย่างไรก็ดีบริษัทผู้ผลิตได้พยายามให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า วัคซีนนี้ปลอดภัย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ในวันที่ 17 ธันวาคม 2020 www.chop.edu มีบทความเรื่อง News & Views: 3 Questions You Will Get About the New mRNA Vaccines ซึ่งตอนหนึ่งของบทความมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ วัคซีน mRNA สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของผู้ถูกฉีดหรือไม่? ซึ่งคำตอบสั้นๆ สำหรับคำถามนี้คือ "ไม่" แต่คำตอบนี้ดูไม่น่าพอใจนัก จึงมีคำอธิบายเพิ่มว่า วัคซีน mRNA ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของบุคคลได้ด้วยเหตุผลสามประการคือ         1.) ปรกติ mRNA ทำงานในไซโตพลาสซึมของเซลล์ ในขณะที่ DNA ได้รับการปกป้องในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่ง mRNA ไม่สามารถกลับเข้าสู่นิวเคลียสได้ ดังนั้นกรดนิวคลีอิกทั้งสองจึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันในเซลล์         2.) mRNA ไม่ใช่ DNA ดังนั้น ถ้า DNA ของบุคคลจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ mRNA จะต้องเป็นแม่แบบในการสร้าง DNA ใหม่โดยใช้เอ็นไซม์ reverse transcriptase ซึ่งเซลล์ของคนปรกติ (มียีนสร้างแต่) ไม่มีการทำงานของเอนไซม์นี้ (ยกเว้นเมื่อจำเป็น) และมีเพียงไวรัสบางชนิดเท่านั้นที่มี ซึ่ง Coronaviruses ไม่ใช่หนึ่งในนั้น อีกทั้ง mRNA ของวัคซีนเมื่อเข้าเซลล์แล้วจะอยู่แค่นอกนิวเคลียสคือ ในไซโตพลาสซึมเพื่อถอดรหัสเป็นหนามโปรตีนของ SARS-CoV-2 เท่านั้น อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นหนึ่งเกี่ยวกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีเอ็นซัม reverse transcriptase จึงอาจทำให้สงสัยได้ว่า mRNA ของวัคซีนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน DNA ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่ก็มีคำอธิบายว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะไวรัสเอชไอวีนั้นมีการเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดขาว T-cell ชนิด CD4 ซึ่งไม่ใช่เซลล์ที่ mRNA จากวัคซีนแสดงผลในการสร้างหนามโปรตีน         3.) เป็นที่เข้าใจกันว่า mRNA นั้นโดยทั่วไปไม่เสถียรนัก ค่าครึ่งชีวิตในเซลล์มนุษย์อยู่ในช่วงเวลานับเป็นชั่วโมง ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเมื่อเซลล์ใช้ mRNA ในการผลิตโปรตีนที่ต้องการพอแล้ว mRNA นั้นจะถูกทำลาย สำหรับ mRNA ในวัคซีนนั้นแม้ได้รับการเพิ่มศักยภาพให้อยู่ในเซลล์ได้นานพอที่จะทำให้มีการกระตุ้นภูมิต้านทานสำเร็จก็ตาม แต่ก็ไม่ควรอยู่นานกว่า 10-14 วัน         ในประเทศไทยประเด็น mRNA อาจไปรบกวนวุ่นวายกับ DNA ในนิวเคลียสได้หรือไม่นั้น ได้มีการปฏิเสธกันอย่างแข็งขัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแค่บางเว็บที่แสดงแนวความเชื่อในประเด็นนี้คือ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 www.bbc.com/thai ได้มีบทความเรื่อง หักล้างข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิดทั้งการฝังไมโครชิปและ “เปลี่ยนดีเอ็นเอ” ในคน โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า ... วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์  จากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 www.bbc.com/thai มีอีกบทความเรื่อง โควิด-19: เอ็มอาร์เอ็นเอ กับข่าวลือวัคซีนก่อสารพิษ-เปลี่ยนพันธุกรรมมนุษย์ เชื่อถือได้หรือ ซึ่งตอนหนึ่งกล่าวว่า ....ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (CDC) บอกไว้ชัดเจนว่า เอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนจะไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์กลายพันธุ์แบบในภาพยนตร์แต่อย่างใด และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เว็บ https://pharmacy.mahidol มีบทความเรื่อง mRNA COVID-19 vaccine ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่? ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า ... กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนชนิดนี้ไม่มีการรบกวนการทำงานของนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมหลักของมนุษย์ไว้ภายใน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจริงหรือที่ว่า mRNA ที่ถูกจำลองจาก DNA นั้นไม่ย้อนกลับเข้าไปหา DNA ในนิวเคลียสของเซลล์         ประเด็นนี้ผู้ที่ศึกษาด้านชีวเคมีและ/หรืออณูชีววิทยามักมั่นใจตอบว่า คงไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีบทความเรื่อง Mechanism of mRNA transport in the nucleus ปรากฏในวารสาร PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences) ของปี 2005 ได้ให้ข้อมูลว่า mRNA ที่อยู่ในไซโตพลาสซึมมักจับตัวกับโปรตีน (ซึ่งมีความสำคัญต่อการแปลรหัสเพื่อสร้างโปรตีน) ได้เป็นสารประกอบเชิงซ้อนเรียกว่า mRNA–โปรตีน (mRNP) ณ.บริเวณของการถอดรหัส (คือ ไมโครโซมในไซโตพลาสซึม) ซึ่งนำไปสู่ความพยายามพิสูจน์ว่า มีโอกาสที่สารประกอบเชิงซ้อนดังกล่าวผ่านช่องของส่วนที่เป็นผนังเข้าสู่นิวเคลียสนั้นหรือไม่ ในการศึกษานี้นักวิจัยใช้โมเลกุลของสารโอลิโกนิวคลีโอไทด์ที่ถูกสังเคราะห์ (พร้อมความสามารถในการเรืองแสงได้) ขึ้นมาให้สามารถเข้าจับตัวกับโมเลกุล mRNA ที่สนใจ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสารประกอบเชิงซ้อน mRNA–โปรตีนในเซลล์ซึ่งมีสมมุติฐานว่า มีการเคลื่อนที่แบบ Brownian diffusion (แรงที่เกิดจากการกระแทกกันเองอย่างอิสระของโมเลกุลต่างๆ ในของเหลวของไซโตพลาสซึม) จนสารประกอบผ่านช่องของผนังนิวเคลียสได้และมีโอกาสเข้าใกล้และหยุดที่ส่วนของโครมาตินของนิวเคลียสซึ่งหมายถึง DNA ของเซลล์ ในบทความนี้ได้แสดงภาพการเรืองแสงของสารประกอบที่เกิดจากโอลิโกนิวคลีโอไทด์จับตัวกับ mRNA-โปรตีน ภายในนิวเคลียสของเซลล์         ดังนั้นเมื่อ mRNA มีโอกาสเข้าสู่นิวเคลียสได้ โอกาสที่ mRNA ของวัคซีนจะเข้าไปวุ่นวายกับ DNA ของผู้รับการฉีดวัคซีนจึงอาจเกิดได้ ประเด็นนี้ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า โดยทั่วไปแล้ว RNA ไม่สามารถเข้าแทรกตัวเข้าไปในสายหนึ่งของ DNA ซึ่งมีสองสายได้ เนื่องจากเบสที่เป็นองค์ประกอบของ RNA หนึ่งในสี่คือ uridine นั้นไม่สามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนจับตัวกับเบส adenine ได้อย่างเสถียรเหมือนเบส thymine ของ DNA ยกเว้นว่ามีการจำลอง complimentary DNA ขึ้นมาจาก mRNA ก่อนโดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase โอกาสการเข้าแทรกสาย DNA ที่สร้างขึ้นใหม่เข้าสู่สาย DNA ในนิวเคลียสจึงจะเกิดขึ้นได้และก็ปรากฏว่า ในฐานข้อมูลงานวิจัยของ Pubmed (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov) นั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่องของการศึกษาในหลอดทดลอง (ที่กำหนดสภาวะการทดลองแบบเฉพาะเจาะจง) ที่แสดงแนวทางของความเป็นไปได้ที่ mRNA น่าจะเข้าไปรบกวนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ DNA         ในปี 2021 มีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งเป็นผลการทดลองร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากหลายหน่วยงานในรัฐ Massachusetts เรื่อง Reverse-transcribed SARS-CoV-2 RNA can integrate into the genome of cultured human cells and can be expressed in patient-derived tissues โดยเป็นการศึกษาที่ใช้เซลล์ HEK293T (เป็น cell line ที่ได้จากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์จากการแท้ง เซลล์นี้ได้รับความนิยมใช้ศึกษาการแสดงออกต่างๆ ของยีนมนุษย์) ที่มีการเพิ่ม Plasmids ซึ่งมีการแสดงออกของยีน LINE1 (long interspersed nuclear elements-1) จนส่งผลให้เซลล์ HEK293T สร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ได้ จากนั้นจึงผสมไวรัส SARS-CoV-2 เข้ากับเซลล์ซึ่งได้ผลการทดลองว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ของในเซลล์ HEK293T และส่วนที่ยาวเพิ่มนั้นมีความสอดคล้องว่าเป็น complementary DNA ที่ถูกจำลองมาจาก mRNA ของ SARS-CoV-2         ต่อมาในปี 2022 ได้มีบทความของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Lund University ใน Sweden ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Issues In Molecular Biology เรื่อง Intracellular Reverse Transcription of Pfizer BioNTech COVID-19 mRNA Vaccine BNT162b2 In Vitro in Human Liver Cell Line ซึ่งทำการศึกษาโดยเติมวัคซีน mRNA ลงในจานเลี้ยงเซลล์มะเร็งชนิด Huh7 cells (เซลล์มะเร็งตับจากชายชาวญี่ปุ่นอายุ 57 ปี ซึ่งถูกนำมาทำเป็น cell line เมื่อปี 1982) แล้วพบว่า เซลล์นี้มีการแสดงออกของยีน long interspersed nuclear element-1 เพิ่มขึ้น (LINE1 เป็นยีนที่มีใน DNA ของมนุษย์ แต่ถูกปิดไว้เสมอถ้าเป็นเซลล์ปรกติ แต่ในเซลล์มะเร็งเช่น Huh7 นั้นยีนนี้ได้เปิดขึ้นและผลิตเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งเป็นเอ็นซัมที่สามารถจำลอง DNA จาก RNA ได้) จากนั้นเมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย PCR (Polymerase chain reaction) บน DNA ของเซลล์ Huh7 ที่สัมผัสกับวัคซีน mRNA แล้วพบว่า ได้มีการขยายลำดับ DNA ออกไปซึ่งส่วนที่ขยายนี้มีความสอดคล้องเหมือนจำลองมาจาก mRNA ของวัคซีน BNT162b2 ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ในนิวเคลียสของเซลล์มะเร็งตับชนิด Huh7 ได้         ข้อสังเกตจากงานวิจัยทั้งสองเรื่องคือ เซลล์ที่จะมีการเพิ่มขนาดของ DNA ในนิวเคลียสได้และสามารถตรวจดูพบว่าส่วนที่เพิ่มมีความเกี่ยวพันกับ mRNA ในวัคซีน หรือมาจาก mRNA ที่เชื้อ SARS-CoV-2 สร้างขึ้นนั้นต้องมีการแสดงออกของยีน LINE1 เพื่อให้มีการสร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งถ้าเอ็นซัมนี้ปรากฏในเซลล์มนุษย์เมื่อใดก็หมายความว่า เซลล์นั้นน่าจะเป็นเซลล์มะเร็ง และการเพิ่มส่วนของ DNA ซึ่งอาจถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของเซลล์นั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อเซลล์ ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า โอกาสที่ความยาว DNA ในเซลล์ของผู้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA จะยาวเพิ่มนั้นคงเป็นไปได้ยากถ้าเซลล์นั้นไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เวย์โปรตีนกับสตรีและคนชรา

        หลายคนเชื่อมโยง “เวย์โปรตีน” เข้ากับภาพชายหนุ่มกล้ามแขนเป็นมัดๆ หรือนักกีฬาเพาะกาย แล้วถ้าสาวๆ ที่รักการออกกำลังกายอยากมีกล้ามเล็กๆ บ้าง รับประทานเวย์โปรตีนจำเป็นไหม คำถามเดียวกันแล้วสำหรับคนสูงวัย เวย์โปรตีนช่วยได้แค่ไหน เพราะเริ่มเห็นโฆษณากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ให้ สว.ทั้งหลายรักษามวลกล้ามเนื้อด้วยเวย์โปรตีน         ทำความเข้าใจกันก่อน เวย์โปรตีน คือนมวัวนี่แหละ แต่แยกส่วนของไขมันออกไป (ส่วนนั้นกลายไปเป็นเนย) ส่วนเป็นน้ำแยกออกมาเรียกว่าเวย์ (Whey) ต่อมาก็ทำให้เป็นผง ซึ่งจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 30-80% (whey concentrate) ที่เหลือเป็นน้ำตาลแลคโต้สและไขมัน จากขั้นตอนนี้ถ้าสกัดเอาน้ำตาลและไขมันออกไปอีก เหลือเปอร์เซ็นต์โปรตีนให้มากสุดจะเรียกกันว่าเวย์โปรตีนชนิด whey isolate ซึ่งจะมีโปรตีนสูงระดับ 90% ขึ้นไป         ดังนั้นเวย์คือโปรตีนชนิดหนึ่ง รับประทานได้ไม่อันตราย แต่จำเป็นไหมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา สารอาหารที่เรียกว่า "โปรตีน" นั้นมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ เพราะเป็นสารอาหารที่จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโต ทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย พร้อมกับให้พลังงานในกรณีที่ร่างกายขาดพลังงานด้วย แต่พิจารณาจากรูปแบบการบริโภคของคนไทยแล้ว แทบจะไม่ค่อยขาดสารอาหารชนิดนี้ ยิ่งปัจจุบันยิ่งนิยมรับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มนมกันมาก การพิจารณาว่า เวย์โปรตีนจำเป็นไหม ก็อาจมองได้ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล         สำหรับบางคนเวย์ อาจตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสำหรับคนไม่มีเวลาหรือในบางสถานการณ์ที่ไม่สามารถรับประทานโปรตีนจากอาหารหลักได้ อาจจะใช้เวย์โปรตีนเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอาหารปกติทั่วไปที่มีแหล่งโปรตีนเองได้ เช่น ไข่ นม นมจากถั่วชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์ ปลา เวย์ก็ไม่จำเป็น         ผู้หญิงรับประทานได้ไหม แล้วจะอ้วนไหม มีคำแนะนำว่า ต้องดูก่อนว่าคุณอยากเพิ่มน้ำหนักหรืออยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเพิ่มน้ำหนักรับประทานเวย์ชนิด  concentrate ซึ่งมีน้ำตาลและไขมันเหลืออยู่มากจะช่วยเพิ่มน้ำหนัก แต่ถ้าอยากสวยแบบลีนและมีกล้ามเนื้อเพิ่ม whey isolate ก็เหมาะกับคุณ (อย่างไรก็ตามต้องควบคู่กับการออกกำลังกายที่ถูกวิธีด้วย)          ผู้สูงวัย  จริงๆ แล้วทุกวัยต้องการโปรตีน ดังนั้นเวย์ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับผู้สูงวัย แต่ด้วยหลักการเดียวกัน คือ จำเป็นหรือไม่ ถ้าผู้สูงอายุกินโปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นๆ ได้ เวย์ก็ไม่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รู้เท่าทันคอลลาเจนกับการปวดเข่าอีกครั้ง

        นอกจากเห็ดถั่งเช่าที่โฆษณากันอย่างครึกโครมแล้ว ยังมีคอลลาเจนที่โฆษณากันไม่น้อยกว่าเห็ดถั่งเช่าหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ มีทั้งที่เป็นคอลลาเจนผลิตในประเทศไทย จากต่างประเทศ จากสัตว์บกและสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะ คอลลาเจนมาจากไหนบ้าง         ร่างกายของเราสร้างคอลลาเจนตามธรรมชาติ และใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง ผม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และอื่นๆ อีกมากมาย คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบโปรตีนหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและผิวหนัง แต่เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างคอลลาเจนน้อยลง ดังนั้นการกินคอลลาเจนเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนจำนวนมากทั้งที่เป็นผง เป็นแคปซูล ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากส่วนของสัตว์ เช่น เกล็ดปลา หอยเป๋าฮื้อ กระดูกหรือหนังวัว หมู เป็นต้น         คอลลาเจนมีอยู่ทั่วร่างกาย เราอาจแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ         ชนิดที่ I  มีมากในสัตว์ทะเล นิยมใช้เพื่อลดริ้วรอยของใบหน้า ผิวหนัง แต่ก็มีผลดีต่อกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ         ชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบหลักในกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ปกป้องข้อ หมอนรองกระดูกสันหลัง ตา มีมากในน้ำต้มกระดูก กระดูกไก่         ชนิดที่ 3 พบมากในลำไส้ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และมดลูก                      คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3 ส่วนใหญ่พบมากและผลิตมาจากวัว         ผงคอลลาเจนที่ขายในท้องตลาด จะเป็น "hydrolyzed"  การ hydrolyze หมายถึง กรดอะมิโนถูกทำให้แตกตัวเป็นหน่วยเล็กๆ ซึ่งทำให้ผงสามารถละลายในน้ำได้ดี   การกินคอลลาเจนช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมจริงหรือไม่         เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารต่างๆ พบว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่า การกินคอลลาเจนช่วยให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้สร้างเสริมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ลดอาการปวดตามข้อได้ แต่เมื่อทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ที่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบงานวิจัยหลายๆ งานวิจัย พบว่า         การศึกษาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน 20 ชนิด ในงานวิจัย 69 ที่มีการตีพิมพ์ 7 รายงานสามารถลดอาการปวดของข้อได้ดี ส่วนอีก 6 รายงานสามารถลดอาการปวดข้อได้ แต่ผลดีทางคลินิกไม่ชัดเจนไม่มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนใดเลยที่มีผลในการลดอาการปวดในระยะยาว คุณภาพของงานวิจัยมีตั้งแต่น้อยจนถึงดี         ดังนั้น การกินคอลลาเจนอาจลดอาการปวดของข้อได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่ยืนยันผลดี รวมทั้งยังไม่มีผลทางคลินิกว่า โครงสร้างของข้อ กระดูก และเนื้อเยื่ออื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น         การช่วยลดอาการปวดข้อ การปวดกล้ามเนื้อที่ดีและได้ผล คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกินปลาตัวเล็กตัวน้อยจะได้ปริมาณคอลลาเจนจากอาหารเพียงพอ         สรุป  ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนในรูปแบบต่างๆ นั้นอาจมีผลการลดอาการปวดข้อในระยะสั้น ไม่ได้ผลในระยะยาว และไม่ได้ทำให้โครงสร้างของข้อ กระดูกเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 รู้เท่าทันโปรตีนผงกับการสร้างกล้ามเนื้อ

        ตอนนี้กระแสการมีหุ่นล่ำ มีกล้ามเนื้อหน้าท้องกำลังเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาว เพราะได้รับอิทธิพลจากดาราทั้งไทยและเทศว่า ผู้ชายต้องมีหุ่นล่ำ มีซิกแพค ทำให้คนที่รักสุขภาพพากันไปออกกำลังกายและเพาะกล้ามเนื้อกันอย่างจริงจัง จนเกิดกระแสการกินโปรตีนผงกันอย่างแพร่หลายเพื่อเร่งการสร้างกล้ามเนื้อให้เป็นมัดๆ ประมาณการว่า ในปี ค.ศ. 2020 โปรตีนผงจะมีมูลค่าการตลาดถึง 7.5 พันล้านดอลล่าร์ ผงโปรตีนสร้างกล้ามเนื้อได้จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โปรตีนผงคืออะไร         โปรตีนผงคือโปรตีนเข้มข้นที่ทำจากสัตว์หรือพืชเช่น นม ไข่ หรือถั่ว นิยมใช้กันในกลุ่มผู้ออกกำลังกายเพื่อเพาะกล้ามเนื้อ สร้างรูปร่างให้แข็งแรง สามารถหาซื้อได้ทางร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือทางเน็ต เมื่อออกกำลังกายเสร็จก็จะเอาผงโปรตีนมาผสมน้ำ เขย่าและดื่ม เนื่องจากได้รับความนิยมมาก มีการทำเป็นเครื่องดื่มพร้อมดื่มขายในห้างสะดวกซื้อทั่วไป         โปรตีนผงมีหลายรูปแบบ ที่นิยมมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ เวย์ (whey)  ถั่วเหลือง และเคซีน (casein)  โดยเวย์ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นโปรตีนจากนมที่ละลายน้ำได้ดี (เวย์เป็นโปรตีนจากน้ำนมโดยแยกเอาไขมันออก มีโปรตีนสูงแต่ยังคงมีแลคโตส ทำให้คนที่แพ้นมจะย่อยเวย์ยาก เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว มีกรดอะมิโนที่จำเป็น 9 ชนิดอยู่ครบ) โปรตีนจากถั่วเหลือง เหมาะสำหรับผู้ที่กินมังสวิรัติ แต่ละลายไม่ค่อยดีในน้ำ ส่วนเคซีนเป็นโปรตีนในน้ำนม แต่จะย่อยและดูดซึมช้ากว่าเวย์มากร่างกายต้องการโปรตีนวันละเท่าไหร่               วิทยาลัยเวชศาสตร์กีฬาและโรงเรียนโภชนาการและอาหารแห่งอเมริกาแนะนำว่า ผู้ใหญ่ทั่วไปต้องการโปรตีน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน        นักกีฬาแข่งขัน นักเพาะกาย ต้องการโปรตีน 1.2 - 2.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน         ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่เพาะกาย น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ต้องการโปรตีนต่อวัน 140 กรัม หรือ 1.4 ขีด ดูเหมือนมาก แต่เพียงแค่เรากินข้าวขาหมู ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว ข้าวมันไก่ 1 จาน จะได้โปรตีน 20-25 กรัม อกไก่ 100 กรัมมีโปรตีน 31 กรัม นมสด 100 ซีซี. มีโปรตีน 4 กรัม นมถั่วเหลือง 100 ซีซี. มีโปรตีน 3.3 กรัม         การดื่มโปรตีนผงต่อครั้งให้โปรตีน 80 กรัม ซึ่งร่างกายไม่ต้องการทั้งหมด ร่างกายต้องเผาผลาญเพื่อสร้างเป็นพลังงาน การดื่มโปรตีนมากเกินไปมีผลต่อสุขภาพ เช่น คลื่นไส้ ตะคริว ปวดศีรษะ ท้องอืด ไตและตับต้องทำงานมากขึ้น การดื่มโปรตีนผงมีความจำเป็นจริงหรือ         จากการทบทวนการศึกษาวิจัยต่าง ๆ จาก Google Scholar, PubMed, and National Center for Biotechnology Information พบว่า มีทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและคัดค้าน  มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่มีหลักฐานเพียงพอ โปรตีนผงนั้นเป็นสารประกอบที่ผ่านการแปรรูป และมักไม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลีลาชีวิตที่มีสุขภาพดี ข้อแนะนำคือ ควรได้โปรตีนจากแหล่งอาหารธรรมชาติ การกินโปรตีนเสริมนั้นควรใช้สำหรับกรณีที่อาหารปกติประจำวันนั้นไม่มีโปรตีนเพียงพอเท่านั้น สรุป  เราควรกินโปรตีนจากอาหารธรรมชาติ สำหรับนักเพาะกายที่ต้องการใช้โปรตีนผง ควรคำนวณปริมาณโปรตีนที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน และกินเสริมส่วนที่ยังขาดเท่านั้นก็พอ จะประหยัดและป้องกันตับกับไต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 91 ปลาเส้นปรุงรส รสยิ่งเข้มยิ่งมีปัญหา

ปลาเส้นปรุงรส เป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา หลายคนอาจมองว่า ปลาเส้นก็เป็นอาหารว่างประเภทหนึ่ง มันคงไม่มีอะไรนักหนา อย่าประมาทไปนะ ถ้าลองพลิกดูฉลากด้านหลังซองแล้วเพ่งมองดูปริมาณโซเดียมตรงฉลากโภชนาการสักนิด จะรู้สึกถึงความไม่ธรรมดาของมัน เพราะอาหารชนิดนี้มีปริมาณโซเดียมสูงมากๆ ความจริงแล้วถ้ามีการระบุทุกฉลากก็น่าจะดีใช่ไหมคะ เพราะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจให้ผู้บริโภคได้ แต่บางฉลากก็ละเลยไม่มีรายละเอียดอะไรเลย นอกจากแสดงวิธีกินและการดัดแปลงเป็นอาหารแบบต่างๆ ฉลาดซื้อเลยนำผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส ยี่ห้อยอดนิยมบวกด้วยยี่ห้อของห้างสรรพสินค้าที่เรียกว่า โลคอลแบรนด์ มาทดสอบหาปริมาณโซเดียม พร้อมกับปริมาณโปรตีนที่อ้างว่ามีสูง และแถมด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันได้แก่ ปลาหมึกปรุงรส อีก…  ตัวอย่างเพราะเห็นว่ามีคนนิยมชมชอบไม่แพ้กัน ผลทดสอบปริมาณโปรตีนและโซเดียมในผลิตภัณฑ์ ปลาเส้นปรุงรสและปลาหมึกปรุงรส 

อ่านเพิ่มเติม >