ฉบับที่ 101 แสงสว่างที่อยู่ใต้หลอดไฟ

มีอะไรในโคด สะ นาสมสุข หินวิมานในกลุ่มของนักโบราณคดี มักมีคำถามข้อหนึ่งว่า อารยธรรมของมนุษย์เราก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อใด บ้างก็ว่า ต้องเป็นยุคที่มนุษย์เราเริ่มต้นค้นคิดตัวอักษรขึ้น เพื่อจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาเอาไว้ แต่บางคนก็แย้งว่า น่าจะเป็นช่วงที่มนุษย์ยุคโบราณเริ่มรวมตัวอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นเหล่า เป็นเผ่า เป็นพันธุ์ จังหวะนั้นแหละที่มนุษย์ได้เริ่มมีการสั่งสมทรัพยากรต่างๆ ขึ้นมา จนเกิดกลายเป็นอารยธรรมสังคม แต่อย่างไรก็ดี มีนักโบราณคดีบางคนที่ยืนยันว่า ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราคิดประดิษฐ์ตัวอักษรหรือสั่งสมทรัพยากรขึ้นมาหรอก หากแต่อารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดนี้รู้จักการใช้ไฟในการดำรงชีพ นักโบราณคดีกลุ่มหลังนี้เห็นว่า ในยุคที่มนุษย์เรายังเป็นแค่ไพรเมทอยู่นั้น เราจะถูกจัดให้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ดิบเถื่อนอยู่มาก จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่คนเรานั้นได้ค้นพบวิธีการจุดไฟหรือก่อไฟขึ้นมา เพื่อให้เกิดเป็นแสงสว่าง หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหุงหาอาหาร ไฟจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือแห่งการก่อรูปอารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่ครั้งบุพกาล หากความข้างต้นของนักโบราณคดีกลุ่มหลังนี้เป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว ผมกำลังคิดตามมาว่า แล้วอารยธรรมของมนุษย์เราจะหยุดอยู่แค่ช่วงของการใช้ฟืนไฟในการดำรงชีวิตเท่านั้นเองหรือ ??? โดยส่วนตัวผมแล้วนั้น การค้นพบวิธีก่อไฟอาจเป็นเพียงช่วงเวลาของการเกิดอารยธรรมของมนุษย์ในระลอกแรกเท่านั้น แต่สำหรับระลอกสองของคลื่นอารยธรรมแห่งมนุษย์แล้ว น่าจะเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ศตวรรษที่ 19 เมื่อนักประดิษฐ์ชาวตะวันตกอย่าง โธมัส เอดิสัน คิดค้นนวัตกรรมหลอดไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในโลกใบนี้ แล้วหลอดไฟนี้สำคัญอย่างไร และทำไมหลอดไฟจึงสำคัญถึงขนาดที่กลายมาเป็นนวัตกรรมในระลอกหลังของอารยธรรมมนุษย์ไปได้? คำตอบต่อความสองข้อหลังนี้ สาธิตให้เห็นชัดเจนอยู่ในโฆษณาหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานยี่ห้อหนึ่ง ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์มาในช่วงหลายเดือนนี้ โฆษณาเริ่มต้นด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ฟังสบายๆ กล้องจับไปที่ภาพของพิธีกรชายผู้ดำเนินรายการสารคดีโทรทัศน์รายการหนึ่ง กล้องมุมเงยช้อนให้เห็นใบหน้าของเขาที่กระทบกับแสงอาทิตย์เป็นประกายสว่างทะลุม่านเมฆเข้ามา และมีเสียงของเขาพูดขึ้นมาว่า “ชีวิตคือการค้นหา...” จากนั้น ภาพชีวิตของพิธีกรหนุ่มที่กำลังค้นหา ก็ตัดสลับมาที่ภาพของขุนเขาดงไพรแห่งหนึ่ง มีฝูงนกบินผ่านเข้ามา มีเด็กนักเรียนชาวเขากำลังกระโดดโลดเต้น หยอกล้อ และจับกลุ่มกันเล่นกลิ้งล้อยางกันอย่างสนุกสนานอยู่ในแดนดอย เรื่องดำเนินต่อไป เมื่อเด็กนักเรียนชาวเขากลุ่มนี้เดินเข้ามาในห้องเรียน แม้แสงอาทิตย์ข้างนอกจะส่องทะลุเข้ามาแบบรำไรๆ อยู่บ้าง แต่หลอดไฟในห้องกลับติดๆ ดับๆ นักเรียนตัวน้อยหลายคนเดินเข้ามาในห้องด้วยความงุนงงหลงทาง เพราะมองอะไรไม่เห็น ห้องเรียนที่ขาดแสงสว่างเช่นนี้ ก็เหมือนกับปัญญาของเด็กชาวเขาที่มีแต่ความมิดมืดและงุนงง เสียงพิธีกรหนุ่มบรรยายต่อออกไปว่า “…แสงสว่างทำให้ผมค้นพบประสบการณ์ใหม่ ๆ...และในที่สุด ผมก็ค้นพบ...” และภาพก็ตัดมาที่คุณพิธีกรหนุ่มยื่นหลอดไฟให้กับเด็กๆ ตัวน้อย และเขาก็นำหลอดไฟอันใหม่นั้นไปเปลี่ยนแทนหลอดที่ติดๆ ดับๆ อยู่ ในฉากจบ เมื่อเด็กหญิงตัวเล็กคนหนึ่งเอื้อมมือไปเปิดสวิทช์ไฟ ห้องเรียนทั้งห้องก็พลันสุกสว่างสดใสขึ้นในทันที นักเรียนทั้งห้องต่างส่งเสียงแสดงความดีใจ และบรรยากาศของห้องก็เปี่ยมไปด้วยความสุข พร้อมกับตัดภาพมาที่หน้าของพิธีกรที่พูดปิดท้ายว่า “...ที่สุดของประสบการณ์ความประหยัดที่อยากให้คนไทยได้ลอง ต้อง...(ชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์)...เท่านั้น” นักวิชาการด้านสื่อสารศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่ชื่อ มาร์แชล แมคลูฮัน ได้เคยสรุปความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “เทคโนโลยี” ไว้ด้วยวลีที่สั้นๆ ว่า เทคโนโลยีก็คือ “กระบวนการขยายศักยภาพของมนุษย์ออกไป” เช่นเดียวกับกรณีของหลอดไฟฟ้านั้น ก็คือเทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่ช่วยขยายศักยภาพการเห็นของมนุษย์ออกไป จากชีวิตที่ไม่สามารถเห็นได้ในโลกที่ไร้แสง แต่ด้วยการคิดค้นประดิษฐกรรมหลอดไฟฟ้าขึ้นมาของโธมัส เอดิสัน มนุษย์เราตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มออกห่างความมืดมน และไม่จำเป็นต้องยืนอยู่ภายใต้ความมืดมิดอีกต่อไป คุณลุงแมคลูฮันยังได้เคยอธิบายเจาะจงถึงกรณีของเทคโนโลยีอย่างหลอดไฟฟ้าเอาไว้ด้วยว่า แม้ตัวหลอดไฟเองจะไม่ได้บรรจุคุณค่าความหมายอันใดเอาไว้ในตัว เนื่องจากหลอดไฟก็มีสถานะเป็นแค่หลอดที่บรรจุธาตุบางอย่างที่สามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสงเท่านั้น แต่ทว่า การก่อกำเนิดขึ้นมาของหลอดไฟกลับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในประสบการณ์และการค้นพบของมนุษยชาติเลยทีเดียว ก็อย่างที่โฆษณาโทรทัศน์เขาสาธิตให้เราเห็นนั่นแหละครับ จากชุมชนชาวเขาที่เคยมืดมิด การเข้ามาของเทคโนโลยีหลอดไฟฟ้าได้กลายมาเป็นช่องทางที่ช่วยขยายสัมผัสทางตาออกไป เด็ก ๆ ตัวน้อยจึงเห็นความสว่างไสวได้แม้แต่ในพื้นที่อับแสง เพราะฉะนั้น แม้หลอดไฟฟ้าจะดูเหมือนไม่มีอะไร หรือเป็นเพียงแค่วัตถุธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่ง แต่ทว่า วัตถุธรรมดาที่ไม่ธรรมดานี้กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรับรู้โลกรอบตัวของเด็กนักเรียนชาวเขากลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ดี คุณลุงแมคลูฮันยังได้ขยายความเอาไว้อีกด้วยว่า แล้วเมื่อการเห็นของมนุษย์เราได้เปลี่ยนไป จิตสำนึกและปัญญาของคนเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในแง่นี้ หากเด็กนักเรียนต้องใช้ชีวิตอยู่แต่เฉพาะในห้องมืดที่ไร้แสงสว่าง แม้โลกรอบตัวของพวกเด็กๆ จะเป็นขุนเขาและป่ากว้าง แต่ทว่าโลกทัศน์ของพวกเขานั้นกลับจะไม่กว้างขวาง แต่มืดบอดไม่แตกต่างไปจากสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่พวกเขาสัมผัสอยู่ทุกวัน ตรงกันข้าม เมื่อเทคโนโลยีหลอดไฟฟ้าสมัยใหม่เข้ามาสู่ชุมชนขุนเขานั้น หากเทคโนโลยีคือช่องทางแห่งการขยายศักยภาพของมนุษย์ออกไป เมื่อแสงไฟฟ้าสว่างขึ้น ห้องที่เด็กนักเรียนใช้ชีวิตอยู่อย่างสว่างไสว ก็จะทำให้โลกทัศน์และชีวทัศน์ของเด็กๆ เหล่านั้น มีแนวโน้มจะขยับขยายออกไปกว้างไกลมากขึ้น หลอดไฟฟ้าจึงกลายมาเป็นช่องทางที่ทำให้มนุษย์เห็นโลกที่กว้างขึ้น และขยายศักยภาพของพวกเขาในการสร้างสรรค์ปัญญาและอารยธรรมทางสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป หรืออีกนัยหนึ่ง หลอดไฟฟ้าได้เปลี่ยนโลกที่เป็นอวิชชา ให้เป็นโลกที่เจริญปัญญาของมวลมนุษย์ โดยจุดยืนของผมนั้น แม้ด้านหนึ่งจะเห็นด้วยกับทัศนะของลุงแมคลูฮันที่ว่า เทคโนโลยีอย่างหลอดไฟฟ้านั้นมีคุณูปการอเนกอนันต์ต่อชีวิตของมนุษย์เรา แต่ผมก็มีคำถามตามมาบางประการกับการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบนี้ แม้หลอดไฟฟ้าจะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือแห่งการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความงมงายและอวิชชา และนำพามนุษยชาติให้บังเกิดความรู้ที่เป็น “แสงสว่างทางปัญญา” ก็ตาม แต่ความรู้ที่มากับแสงไฟนั้น บ่อยครั้งก็มักจะเป็นความรู้จากโลกภายนอก เพราะเมื่อเทคโนโลยีอย่างหลอดไฟเองก็เป็นศักยภาพที่มาจากคนนอก ดังนั้น วิชชาความรู้ที่แนบมาด้วยก็อาจจะมีไม่มากก็น้อยที่ไม่ได้เป็นอำนาจอันเกิดมาแต่คนในสังคมท้องถิ่นดั้งเดิมเอง นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าชุมชนแบบชาวเขาท้องถิ่นเขาจะไร้ซึ่งองค์ความรู้หรือปัญญาในการเข้าใจโลกแต่อย่างใด แต่ความรู้ที่เขามีอยู่นั้น อาจถูกตีความว่าเป็นความรู้ที่ล้าหลัง ไม่เป็นระบบ และไม่นำไปสู่การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าแบบที่โลกทันสมัยเขากระทำกัน หรือเทียบเคียงง่าย ๆ ก็คือ ความรู้แบบนักเรียนชาวเขานั้น เป็นปัญญาที่ติดๆ ดับๆ เหมือนกับหลอดไฟที่ติดๆ ดับๆ จนไม่เอื้อให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้ “ค้นพบประสบการณ์ใหม่ ๆ” แบบที่คนในอารยธรรมที่เจริญกว่าเขา “ค้นพบ” กันอยู่ทุกวัน ฉะนั้น ในขณะที่มนุษย์เรากำลังแหวกว่ายอยู่ในคลื่นอารยธรรมระลอกใหม่ ที่เปลี่ยนผ่านจากการก่อกองไฟมาเป็นเทคโนโลยีหลอดไฟฟ้าสมัยใหม่นั้น คำถามที่เรายังไม่ได้คำตอบก็คือ แล้วทุกครั้งที่เราเปิดสวิทช์หลอดไฟ ใครกันบ้างที่มีอำนาจในการผลักดันปัญญาและความรู้ของมนุษย์ในคลื่นระลอกแล้วระลอกเล่าเหล่านี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point