ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วันทอง : (ไม่)อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน

                คุณผู้อ่านเคยเป็นหรือไม่ เมื่อเราหยิบงานวรรณกรรมที่เคยอ่านเอามา “อ่านใหม่” อีกครั้ง การตีความและทำความเข้าใจเนื้อหาสารเหล่านั้น บ่อยครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม         ทุกครั้งที่เราอ่านเนื้อหาสารใดอีกคราหนึ่ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “re-reading” การรับรู้ความหมายมักจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้อ่านที่เติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะจิตสำนึกของคนเราที่แปรเปลี่ยนไป จึงทำให้การมองโลกและรับรู้เรื่องเดิมผิดแผกแตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน         หนึ่งในตัวอย่างของ “เรื่องเก่าที่เอามาอ่านตีความใหม่” เช่นนี้ ก็คือการปรับแปลงนิทานพื้นบ้านอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” มาเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง “วันทอง” ที่แค่ชื่อเรื่องก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวเอกอย่าง “ขุนช้าง” หรือ “ขุนแผน” ได้เวลาถอยไป เพราะถึงคราวตัวแม่อย่าง “วันทอง” จะ “องค์ลง” มาขอสิทธิ์เสียงเป็นตัวละครเดินเรื่องหลักกันบ้างแล้ว         สมัยเด็กๆ จำได้ว่า ตอนเรียนหนังสือ เคยต้องท่องจำบท “เสภาขุนช้างขุนแผน” ฉากเปิดตัว “พลายแก้ว” หรือต่อมาก็คือขุนแผนแสนสะท้านพระเอกของเรื่อง บทอาขยานท่อนนั้นท่องว่า “จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี กับนางทองประศรีผู้มารดา…” อันเป็นจุดเริ่มต้นของอภิตำนานชีวิตพระเอกหนุ่มเนื้อหอม รูปงาม มีความรู้ความสามารถและสรรพคาถาวิชา         ครั้นพอดัดแปลงตีความใหม่เป็นละครโทรทัศน์ออกมานั้น ไหนๆ ผู้ผลิตก็ผูกเล่ามหากาพย์ชีวิตของนางวันทองให้เป็นตัวเอกของเรื่องราวขึ้นมาบ้าง ละครก็ได้ให้น้ำหนักกับการปูที่มาที่ไปของนาง “พิมพิลาไลย” ผู้เป็นต้นธารแห่งมายาภาพ “นางวันทองหญิงสองใจ” โดยมิพักต้องเล่าสาธยายรายละเอียดภูมิหลังชีวิตของพลายแก้วแววไวแบบที่เราคุ้นเคยกันมาอีกเลย         หากดำเนินความตามท้องเรื่องแบบ “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับเดิม เส้นเรื่องหลักจะเดินไปตามพัฒนาการชีวิตของขุนแผนจากวัยเยาว์ ไปจนท้ายเรื่องที่ “สมเด็จพระพันวษา” ได้ปูนบำเหน็จเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมีเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คู่ขนานไปกับ “ศึกรบ” ก็คือ “ศึกรัก” ระหว่างขุนแผนชายหนุ่มรูปงาม กับขุนช้างชายรูปชั่วหัวล้าน จนเกิดเป็นตำนาน “วันทองหญิงสองใจ”         แต่ในละครโทรทัศน์นั้น ผู้ผลิตได้ปรับโฟกัสการรับรู้จากทัศนะคนทั่วไปที่มักตีตราวันทองว่า เป็น “หญิงสองใจ” จนนำไปสู่คำพิพากษาของสมเด็จพระพันวษาให้ประหารชีวิต เพียงเพราะนางไม่สามารถ “เลือก” ชายคนใดได้ระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง มาสู่มุมมองใหม่จากความในใจและสายตาของตัวนางวันทองเอง         และเพื่อรื้อถอนภาพจำแห่งเรื่องราว “ขุนช้างขุนแผน” ที่มีมาก่อน ละครจึงเลือกตัดภาพมาขึ้นต้นด้วยฉากชะตากรรมท้ายเรื่องที่วันทองกำลังจะขึ้นศาลฟังการไต่สวนพิพากษา         ฉากเปิดเรื่องที่ฉายภาพบรรดาตัวละครแม่ค้าประชาชีมารุมด่าประณามสาปแช่งด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า “อีหญิงสองใจ” บ้าง “อีตัวต้นเหตุ” บ้าง หรือแม้แต่ “อีหญิงสองผัวชั่วชาติ เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน” โดยที่วันทองก็ได้แค่กล่าวโต้กลับแต่เพียงว่า “เอ็งยังไม่รู้จักข้า แล้วเอ็งมาด่าข้าได้ยังไง” ช่างเป็นประโยคที่เสียดแทงอยู่ในทีว่า มติสาธารณะที่ทั้งแม่ค้ารวมถึงคนดูแบบเราๆ เคยรับรู้และตัดสินคนอื่นด้วยบรรทัดฐานบางชุดเยี่ยงนี้ เป็นความถูกต้องชอบธรรมแท้จริงหรือไม่         จากนั้น คู่ขนานไปกับการไต่สวนความนางเอกของเรื่องนี้ ละครก็ค่อยๆ แฟลชแบ็คภาพกลับไปให้เราได้เห็นชะตากรรมที่วันทองต้องเผชิญมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ที่เธอเลือกแต่งงานอยู่กินกับขุนแผน ฮันนีมูนพีเรียดอันแสนสั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พลันที่ขุนแผนชนะศึกที่เชียงทองและพานาง “ลาวทอง” เข้ามาร่วมหอในชายคาเดียวกัน         ในขณะที่เจตนารมณ์ของบุรุษเพศทั่วไปนั้น “ผู้ชายที่ไม่เจ้าชู้ ก็เปรียบเสมือนกับงูที่ไม่มีพิษ” แต่สำหรับผู้หญิงอย่างวันทองแล้ว “เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ปรารถนาจะเสียผัวให้แก่ใคร” เมื่อชายคนรักเลือกที่จะมีเมียมากกว่าหนึ่ง วันทองถึงกับประชดประชันขุนแผนว่า “ข้าไม่อยากเป็นเมียเอก แต่ข้าอยากเป็นเมียเดียวของพี่”         และในอีกทางหนึ่ง วันทองเองก็ยังถูกลากเข้าสู่ใจกลางสมรภูมิหัวใจระหว่างตัวละครชายสองคน เมื่อขุนแผนต้องไปออกศึกรับใช้บ้านเมือง ขุนช้างก็ใช้เล่ห์เพทุบายช่วงชิงตัวนางมาเป็นเมีย โดยสร้างเฟคนิวส์ว่าขุนแผนได้เสียชีวิตแล้วในสงคราม ทำให้ต่อมาในภายหลังนางเองก็ถูกขุนแผนชายคนรักปรามาสดูถูกว่า “ตำแยที่ว่าคัน ก็ยังไม่เท่าเจ้าเลย”         ทั้งถูกประณามหยามหมิ่น และถูกชักเย่อไปมาระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง ชายหนึ่งคือ “คนที่นางรัก” กับอีกชายหนึ่งคือ “คนที่รักและดีกับนาง” ในที่สุดเรื่องก็เดินไปถึงจุดสุดขั้นเมื่อวันทองถูกนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา เพื่อยุติปัญหารักสามเส้าแบบ “หนึ่งหญิงสองชาย” เหมือนกับที่เราเคยได้อ่านมาในวรรณกรรม         แบบที่ผู้ชมก็ทราบกันดีว่า หากวันทองตัดสินใจ “เลือก” ลงเอยกับชายคนใดสักคน นางก็จะรอดจากการถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เมื่อนางได้ใคร่ครวญแล้วว่า “ขาดเธอก็คงไม่เหงา ขาดเขาก็คงไม่เสียใจ” การตัดสินใจต้อง “เลือก” ใครสักคนก็ยังคงสืบต่อคำถามแบบที่นางได้ทูลสมเด็จพระพันวษาว่า “แล้วเราจะไม่ต้องเจ็บเพราะผู้ชายอีกต่อไปใช่ไหมเพคะ”         ดังนั้น พอถูกตีความว่าโลเลตัดสินใจไม่ได้ วันทองก็ถูกตีตราลงโทษว่าเป็น “หญิงสองใจ” ที่ “ไม่สามารถเลือก” ชายใดได้สักคน จนนำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับตราประทับดังกล่าวของสังคม         อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณากันดีๆ แล้ว ขณะที่สังคมกำหนดให้ “เลือก” ระหว่างชายสองคน แต่วันทองเองก็ได้ “เลือก” เหมือนกัน เพียงแต่บนคำตอบที่เธอขอ “เลือก” กำหนดเองว่า จะไม่ขอกากบาทตัวเลือกข้อใดที่สังคมหยิบยื่นให้มา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาทั้งปวงได้ แบบที่นางได้กล่าวก่อนถูกประหารว่า “ข้ายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเลือก ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกให้เรา”         และเพราะไหนๆ ละครโทรทัศน์ก็เป็นการอ่านใหม่ในเรื่องเล่าที่มีมาแต่เดิม ผู้ผลิตจึงดัดแปลงฉากจบให้วันทองยังคงมีลมหายใจต่อไป ก็คงเพื่อยืนยันว่า ชีวิตของหญิงที่ขอ “เลือก” ในสิ่งที่ตนปรารถนา และ “ไม่อยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคน” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความตายที่สังคมกระทำต่อเธอแบบอยุติธรรม         บทสรุปของการอ่านเพื่อตีความใหม่เฉกเช่นนี้ ก็คงต้องการสนับสนุนคำพูดของวันทองที่กล่าวในท้ายเรื่องว่า “สิ่งที่อยากให้ผู้คนจดจำก็คือ วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ” และที่สำคัญ “ศักดิ์ศรีไม่ใช่ให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือชาย แต่ข้าแค่ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของผู้หญิงบ้าง…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีใหม่มีแต่เสียงไม่มีภาพ

  กลางเดือนสิงหาคม คุณภูผาซื้อโทรทัศน์ ยี่ห้อชาร์ป ขนาด 40 นิ้ว จากห้างเทสโก้โลตัส สาขาโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นของขวัญวันแม่ หลังจากซื้อมาก็เปิดดูบ้างไม่ได้เปิดบ้าง จนประมาณกลางเดือนกันยายน เมื่อเปิดโทรทัศน์พบว่า โทรทัศน์มีแต่เสียงไม่มีภาพ โดยที่เพิ่งซื้อมาได้ 1 เดือน จึงแจ้งไปยังบริษัท ชาร์ป เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะให้ศูนย์บริการสาขาร้อยเอ็ด เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหา          หลังจากแจ้งไปแล้ว คุณภูผาก็รอเมื่อไรช่างจะมา ทว่าเงียบหายไร้ช่างเข้ามาตรวจสอบ จนเดือนตุลาคมคุณภูผาติดต่อไปยังศูนย์บริการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ความว่า ทางศูนย์รออะไหล่จากบริษัทอยู่ คุณภูผารู้สึกว่า บริษัทไม่ได้สนใจในการแก้ไขปัญหาเลย ให้รอเป็นเวลานานและไม่แจ้งความคืบหน้า ต้องสอบถามบริษัทอยู่ฝ่ายเดียว จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอให้ช่วยตามกับบริษัทให้แก้ปัญหา หรือบริษัทน่าจะเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะเพิ่งซื้อมาแค่ 1 เดือนก็เกิดปัญหาแล้ว แนวทางแก้ไขปัญหา          เมื่อรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือถึงบริษัทให้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทราบต่อมาว่า ระหว่างออกหนังสือทางศูนย์บริการได้ส่งช่างเข้าซ่อมโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสอบถามพนักงานเกี่ยวกับอาการของโทรทัศน์ พนักงานบริการระบุว่าเกิดจากหลอดไฟเสีย ทำให้ไม่มีภาพมีแต่เสียง จึงเปลี่ยนหลอดไฟให้ใหม่ ปัจจุบันสามารถใช้งานได้ปกติแล้ว ผู้ร้องพยายามขอให้พนักงานเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็แนะนำผู้ร้องด้วยเช่นกันว่า ควรให้บริษัทเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ แต่ผู้ร้องกังวลใจว่าเรื่องจะยุ่งยาก แค่ขอให้ซ่อมยังใช้เวลานาน ถ้าเปลี่ยนเครื่องต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ซึ่งผู้ร้องไม่สะดวก เนื่องจากโทรทัศน์อยู่ต่างจังหวัดส่วนผู้ร้องอยู่กรุงเทพฯ          สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิตที่เรียกว่า กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องในสินค้า(Lemon Law) ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างมาก เช่นผู้บริโภครายนี้ก็จะได้รับการเปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องใหม่ด้วย โดยบริษัทไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 158 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2557 ระวัง!!! “สบู่-แชมพู” ลักไก่แอบลดปริมาณ กรมการค้าภายใน เตรียมนัดคุยสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง กำหนดขนาดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันนี้ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์อุปโภคในกลุ่มชำระล้าง มีอยู่มากมายหลายขนาด เช่น แชมพู มีทั้งหมด 38 ขนาด ผงซักฟอก 36 ขนาด สบู่ก้อน 11 ขนาด สบู่เหลว 9 ขนาด และน้ำยาซักฟอก 8 ขนาด ซึ่งการมีขนาดให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีคือทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แต่ก็มีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการตั้งราคา เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกให้ดีและรู้จักเปรียบเทียบสินค้า เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพคุ้มราคามากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่กรมการค้าภายในเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้า แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านผู้ผลิตเองก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบประกอบด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นสินค้าต่างๆ มีการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569     เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสีย งและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี  แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี  และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี โดยศูนย์ฯ นี้จะทำงานโดยใช้ระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ทั้งระบบซอฟต์แวร์  และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์  เป็นเวลา 60 วัน ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย   เตรียมออกกฎลดความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกเตรียมยกร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น โดยจะลดความสูงจากปัจจุบัน 4.30 เมตร เหลือ 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ คาดมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ ที่จะขับรถ 2 ชั้น จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถโดยสาร 2 ชั้น จากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 2 ชั้นได้ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มใน 3 เดือนข้างหน้า ด้าน น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะความไม่ปลอดภัยไม่ได้มาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถนน พื้นที่ ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ ฯลฯ     คูปองกล่องดิจิตัลส่อทุจริต จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีข้อสรุปเรื่องราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตัล ที่จะแจกให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ราคาคูปองใบละ 1,000 บาท โดย กสท. อ้างว่าราคานี้เป็นราคากล่องที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หากราคาต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป แต่ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเชื่อว่าราคาคูปอง 1,000 บาทที่ทาง กสท.จะแจกให้กับทุกครัวเรือนนั้น เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป คาดว่าราคาต้นทุนจริงของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลน่าจะถูกกว่าราคาคูปองที่ทาง กสท. แจก นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง กลับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ต้องการจะซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญการแจกคูปอง 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กสท. เลือกใช้วิธีแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้น้อยลงกว่านี้ อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการตั้งราคาคูปอง 1,000 บาท ของ กสท. คือการตั้งราคาที่เอื้อต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่มีบริการช่องรายการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชม ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม   “ประชุมสมัชชาผู้บริโภค 57” เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 28 -29 เมษายน 2557  คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 โดยมีการหารือในหลายประเด็น และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ สินค้าและบริการทั่วไป, อาหารและยา, รถโดยสารสาธารณะ, พลังงาน, การเงินการธนาคาร, โทรคมนาคม, การบริการสุขภาพ โดยในแต่ละประเด็นนั้น ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้นในบ้านเรา เริ่มด้วยข้อเสนอด้านการเงินการธนาคาร ผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าสถิติ เอกสาร เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รู้เท่าทันผู้ประกอบการ และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกใช้บริการที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ในส่วนของประเด็นพลังงานนั้น สมัชชาฯ มีข้อเสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน, ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม, ให้รัฐมีมาตรการยุติการผูกขาดของ ปตท., จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของสภาพลังงานแห่งชาติ, ปรับแก้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปัน, แก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไปว่า สมัชชาฯ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง เหมือน Lemon Law ของต่างประเทศ ปรับปรุงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้จัดทำระบบข้อมูลการเตือนสินค้าให้มีภาษาไทยด้วย     ประเด็นที่เกี่ยวพันกับโทรคมนาคม มีข้อเสนอให้ กสทช.เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น ค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น รวมถึงทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตัลให้ทั่วถึง ในส่วนของรถสาธารณะ ที่ประชุมสมัชชาฯ มีมติให้ดูแลรถโดยสารสองชั้น โดยเบื้องต้นให้กำหนดเขตห้ามวิ่งในเส้นทางที่อันตราย เช่น ไหล่เขา ส่วนในระยะยาวไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเพิ่มอีก, กำหนดมาตรฐานของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น ระยะเวลาใช้งาน มาตรฐานการผลิต รวมถึงการออกมาตรการดูแลมาตรฐานคนขับรถโดยสารทุกประเภท ประเด็นอาหารและยา สมัชชาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากอาหารให้ดูแลเข้มงวดหลายประการ เช่น การแสดงวันหมดอายุ วันผลิต, ฉลากต้องเป็นภาษาไทย, รวมถึงประกาศมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐต้องเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอาหารและยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงของประชาชน ด้านประเด็นบริการสุขภาพว่า มีข้อเสนอสำหรับการปรับระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม โดยให้ปรับความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสวัสดิการ โดยให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลและให้ผู้ประกันไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหากไม่ยกเลิกการจ่ายสมทบก็อาจนำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น บำเหน็จชราภาพ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 กระแสต่างแดน

โทรทัศน์จีนแฉธุรกิจยอดแย่ทุกๆ ปีในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน Central China Television หรือ CCTV จะถ่ายทอดรายการ “315 Gala” ซึ่งเป็นที่รอคอยของผู้ประกอบการทั้งหลายที่ ลุ้นตัวโก่งว่าจะติดบัญชีดำของรัฐบาลจีนหรือไม่315 Gala นำเสนอผลสำรวจปัญหายอดฮิตจากผู้บริโภค รวมถึงคลิป “ซ่อนกล้อง” เข้าไปแอบถ่ายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าด้วย ร้อยละ 25 ของปัญหาที่ผู้บริโภคพบในปีที่ผ่านมาได้แก่ การได้รับ “ของปลอม” ทั้งๆ ที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าไหนบ้าง)ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเข้ามามากเป็นอันดับสองคือปัญหาการซื้อขายรถ ที่ผู้ขายบังคับให้ผู้ซื้อจ่ายค่าประกันและค่าป้ายทะเบียน หรือนำรถรุ่นที่ถูกประกาศเรียกคืนแล้วมาขาย เป็นต้น  อันดับสามได้แก่ โทรศัพท์มือถือที่ชำรุดบกพร่อง หรือไม่มีบริการหลังการขายที่ดี ที่ผ่านมารายการนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบริษัทใหญ่ๆ ของจีนเอง อย่าง ไชน่าโมไบล์ เจเอซีมอเตอร์ส หรือแม้แต่ ไป่ตู้อิงค์ และบริษัทต่างชาติอย่าง แลนด์โรเวอร์ และแอปเปิ้ล มาแล้วเจมส์ เฟลด์แคมป์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จัดอันดับสินค้าและบริการ www.Mingjian.com ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการในจีนเริ่มตระหนักแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวเองตกเป็นดาราจำเป็นในรายการนี้ จึงหันมาเพิ่มความโปร่งใสเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อจะได้ไม่ถูกประจานออกทีวีเบน คาเวนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดในเซี่ยงไฮ้บอกว่ารายการนี้ช่วยยกระดับการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคของผู้บริโภค และเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองได้รับการดูแลคุ้มครอง พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น  เคเบิลทีวี ... บริการนี้ต้องเลือกได้กสทช.ไต้หวันเสนอให้บริษัทเคเบิลทีวีเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกสามารถจ่ายเงินเฉพาะช่องที่อยากดู ปัจจุบันสมาชิกเคเบิลทีวีจ่ายค่าบริการรายเดือนในอัตราเดียว (ระหว่าง 500 ถึง 600 เหรียญไต้หวัน) แลกกับช่องรายการกว่า 100 ช่อง (รวมช่อง must-carry ที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้เป็นพื้นฐานแล้ว)ปีหน้าผู้ประกอบการถึงคิวต้องมีระบบคิดค่าบริการที่หลากหลายขึ้น กสทช. เขาเสนอให้มีแพ็คเกจที่สมาชิกสามารถเลือกเฉพาะช่องที่ต้องการดู แล้วจ่ายเงินตามนั้น เขาไม่ได้กำหนดเพดานของค่าบริการรายเดือน เนื่องจากไต้หวันมีผู้ประกอบการหลายเจ้า แล้วยังมีบริการทีวีอินเตอร์เน็ทโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอีก กลไกตลาดจะทำงานของมันเอง ที่สำคัญคือผู้บริโภคจะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการ “ทดลองดู” ถ้าไม่พอใจก็สามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทางสิงคโปร์ก็ไม่น้อยหน้า ตามข้อกำหนดใหม่ ถ้าผู้ประกอบการขึ้นค่าบริการหรือยกเลิกรายการหลักๆ ผู้บริโภคสามารถยกเลิกบริการก่อนกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาได้เลยโดยไม่เสียค่าปรับ แต่ต้องไปรับดำเนินการภายใน 30 วันนับจากรับทราบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  รถไฟเยอรมันเตรียมยกเครื่องปีที่ผ่านมา ดอยทช์บาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี มีรายรับมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40,000 ล้านยูโร (1.5 ล้านล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบการขาดทุนสูงที่สุดในรอบ 12 ปี สาเหตุมาจากการลดมูลค่าของสินทรัพย์ในธุรกิจรับส่งสินค้า การรวมตัวนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ และการที่ผู้โดยสารหันไปใช้บริการรถบัสกันมากขึ้นแผนเพิ่มผลกำไรของดอยทช์บาห์น ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ณ จุดนี้ได้แก่การวางมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และขายกิจการบางอย่างให้กับเอกชน ที่ฮือฮามากที่สุดคือแผนเลิกธุรกิจรับส่งสินค้า ที่อาจทำให้พนักงานกว่า 3,500 คนทั่วประเทศถูกเลิกจ้าง  บริษัทประกาศว่าจะปรับปรุงคุณภาพบริการ โครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ ระบบราง ฯลฯ ให้ทันสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินถึง 55 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท) งบประมาณที่ใช้บางส่วนจะมาจากบริษัทเอง แต่อีกส่วนที่ใหญ่กว่าจะมาจากงบประมาณกลาง สื่อเยอรมันบอกว่ารัฐบาลเลยไม่ปลื้มกับแผนนี้สักเท่าไร  กิน เที่ยว ต้องเรื่องเดียวกันผู้ว่าฯ เมืองฟลอเรนซ์บอกว่าเมืองเก่าระดับ “มรดกโลก” ของอิตาลีนี้กำลังจะสูญเสียภาพลักษณ์เพราะบรรดาร้านที่ขายแต่อาหารต่างถิ่นและร้านขายของคุณภาพต่ำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสมาชิกสภาเมืองเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนควรได้ลองลิ้มชิมรสอาหารที่มีชื่อเสียงประจำเมืองนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ จึงออกข้อบังคับให้ร้านอาหารที่กำลังจะเปิดใหม่ขายเฉพาะอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบจากแคว้นทัสกานีเท่านั้น ส่วนร้านที่เปิดมาก่อนแล้ว ก็ยังมีเวลา 3 ปีในการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้ได้ถึงร้อยละ 70 เรื่องนี้ ออสกา ฟาริเน็ตติ เจ้าของ Eataly เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกเห็นต่าง เขาบอกว่าตัวเลข ร้อยละ 70 นั้นสูงเกินไปและจะสร้างภาระให้กับร้านอาหารมากเกินไปอย่างไรก็ตาม มีข่าวออกมาแล้วว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ก็อาจนำเอาข้อบังคับนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน   เรื่องนี้เข้าทางนักท่องเที่ยว แต่ถ้ามีการควบคุมราคาด้วยจะดียิ่งขึ้นไปอีกนะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอนำเสนอบางส่วนจากการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ประเทศไทยเรานี่เอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 200 คน จาก 32 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล โอมาน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน ซิมบับเว อัฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี สโลเวเนีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา)   นาทีนี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลก็กลัวจะเชย เราจึงนำประเด็นที่วิทยากรจากต่างประเทศนำเสนอมาฝากกัน ... เริ่มจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์กันก่อนเลย     สิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนตกลงกันว่าจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลให้หมดภายในปี 2020  สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เขาใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 เหมือนบ้านเรา สนนราคาที่ขายกันอยู่ก็สูงตามค่าครองชีพ อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือกับครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าอาศัยแฟลตขนาดไม่เกิน 2 ห้องนอน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ที่สำคัญต้องไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอยู่ก่อน และคนที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ) รวมๆ แล้วมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 170,000 ครอบครัว สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านฯ ว่ารัฐบาลได้ขอความเห็นจากสมาคมฯ รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนรายได้น้อย รวมถึงทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย สิงคโปร์เขามีการกำหนดหลักประกันว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าบริการบ้างเล็กน้อย จึงไม่ต้องรับมือกับปัญหา “จอดำ” และตามสไตล์สิงคโปร์การโฆษณาในทีวีจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โฆษณาอกฟูรูฟิตคงจะหาดูได้ยากหน่อย   เกาหลีใต้ ขยับออกไปไกลอีกนิด ไปที่เกาหลีใต้กันบ้าง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และเขามีการหยุดระบบอนาล็อคไปในเดือนธันวาคมปี 2555  โดยแผนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการรณรงค์ระดับชาติให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอล  จากนั้นเริ่มทดลองปิดระบบอนาล็อค ในระหว่างปี 2553 - 2554  จากนั้นทำการตรวจสอบประเมินการปิดระบบอนาล็อค และขั้นตอนสุดท้ายคือการ ติดตามการดำเนินงานเรื่องการจัดสรรช่องใหม่ ตามความเห็นของผู้บริหารองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี การปิดระบบอนาล็อคนั้นถือว่าได้ผลดี และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่องค์กรผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ (ซัมซุงและแอลจี) และผู้ประกอบการโทรทัศน์ เป็นต้น บทเรียนจากการทำงานของเกาหลีฝากไว้ให้กับประเทศที่กำลังจะทำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลคือ 1. ในการเปลี่ยนผ่านนั้น จะต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่(ผู้บริโภคเกาหลีสามารถรับกล่องสัญญาณโดยไม่มีค่าใช้จ่าย .. อิจฉาล่ะสิ) 2. ควรมีศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้น   อินเดีย ไปที่ประเทศที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต (ชนิดไม่มีหลังคาบ้านยังพออยู่ได้ แต่ไม่มีเคเบิลดูละครฉันไม่ยอมเด็ดขาด) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้  ตัวแทนจากฟอรั่มผู้บริโภคมุมไบเล่าให้เราฟังว่าปัจจุบัน อินเดียมีช่องโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 900 ช่องและรายได้ของธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2013 ก็สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2523 – 2532 อินเดียมีผู้ประกอบการโทรทัศน์เพียง 1 รายเท่านั้น องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ประสบการณ์การรับชมรับฟังที่ดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีบริการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าบริการอย่างโปร่งใสและมีรายได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผู้ประกอบการก็ได้รับผลกำไรจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่อินเดียต้องทำเป็นอย่างแรกคือการหลอมรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด (ซึ่งขณะนี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่) เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลืมบอกไปว่างานประชุมนานาชาติครั้งนี้ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดน 97 ศศิวรรณ ปริญญาตร บทต้องห้ามเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลจีนออกประกาศห้ามไม่ให้นักแสดงหรือบุคคลอื่นที่ไม่มีคุณวุฒิ มารับบทเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในภาพยนตร์โฆษณายาทางโทรทัศน์อย่างเด็ดขาด ที่ประเทศจีนนั้นโทรทัศน์ทุกช่องต่างก็อุดมไปด้วยโฆษณายาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้น จะนิยมใช้ “แพทย์” หรือ “นักวิชาการ” เป็นผู้นำเสนอสินค้าของตน เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือแต่ความมาแตกเอาเมื่อมีคนพบว่าบรรดา “ผู้รู้” ที่ว่านี้ ทั้งที่เป็นคนๆ เดียวกันกลับมีหลายชื่อแซ่ และมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป เรื่องนี้จุดประกายโดยผู้ชมโทรทัศน์รายหนึ่งที่บังเอิญจำได้ว่า คุณหมอกูโปฉิน ที่อยู่ในโฆษณายารักษาโรคเบาหวานนั้นเป็นคนเดียวกันกับนายซุนยุน “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านธนบัตรหายากในโฆษณาอีกชิ้นหนึ่ง และแถมยังเป็น “อาจารย์มหาวิทยาลัย” นามว่าลูซิง ในโฆษณาอีกชิ้นด้วย ว่าแล้วเขาก็นำภาพจากโฆษณาสามชิ้นนั้นไปโพสต์ไว้ในอินเตอร์เน็ต จึงทำให้เกิดกระแสการติดตามสืบเสาะหา “ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงเป็นผู้รู้” เหล่านี้ขึ้น และพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตัวปลอมปรากฏตัวอยู่บนจอโทรทัศน์อย่างน้อย 12 คน บรรดามหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องคอยจับตาดูโฆษณาว่ามีใครมาแอบอ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ประจำการอยู่ในหน่วยงานของตนบ้าง เพื่อจะได้รีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว และช่วยหยุดยั้งกระบวนการหลอกลวงผู้บริโภคได้ทันการ ลืมบอกไปว่าโทษจากการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวจะทำให้บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตโฆษณา และถูกระงับการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย เมื่อความจนกลายเป็นจุดขายรีอาลิตี้ โชว์ก็ดูกันมาแล้ว ลองไปเที่ยวรีอาลิตี้ทัวร์กันดูบ้าง กระแสการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ในเรื่องต่างๆ ในแบบที่มันเกิดขึ้นจริง โดยปราศจากการตระเตรียมหรือแต่งเติม ได้ทำให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่กันไปเป็นที่เรียบร้อย รูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงแข่งกับทัวร์แนวหรูที่พาคุณไปดูแต่ของสวยๆงามๆ ได้แก่ ทัวร์ที่พานักเดินทางไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ๆ หรือที่หลายคนเรียกว่าพัวริซึ่ม (poorism) แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตขณะนี้ได้แก่ ย่านชุมชนแออัดในเมืองริโอ เดอจาเนโร ของบราซิล ย่านทาราวีในเมืองมุมไบของอินเดีย และเขตมูคูรูในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ว่ากันว่านักท่องเที่ยวสนใจทัวร์ประเภทดังกล่าว เพราะมันทำให้พวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในชุมชน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนแถวนั้น แต่คนในท้องถิ่นก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยวแบบนี้เพราะถึงแม้มันจะเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน แต่มันก็หมายถึงการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กันด้วย ถ้ารักจะเที่ยวทัวร์แบบนี้กันจริงๆ เขาก็มีคำแนะนำว่าให้นักท่องเที่ยวเลือกสนับสนุนเฉพาะทัวร์ที่จัดอย่างรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่าไปกับทัวร์แชะ ประเภทเอารถตู้ไปจอดประชิดบ้านเขาแล้วให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปตามใจชอบเด็ดขาด ทัวร์ที่น่าสนใจก็เป็นประเภทเดินเท้า หรือทัวร์จักรยานที่จะให้โอกาสคุณได้สัมผัสชีวิตผู้คนพูดคุยกับชาวบ้าน ซื้อสินค้าจากงานฝีมือเขาบ้าง ที่ใช้นโยบายห้ามใช้กล้องโดยเด็ดขาด ก็มีให้เลือกไม่น้อย ข่าวบอกมาด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire ที่เพิ่งจะได้รับรางวัลไปเป็นหอบ ก็มีส่วนทำให้กระแสความนิยมในการท่องเที่ยวแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากขึ้นด้วย ผู้ดียืนยันไม่เอาโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ บรรดาผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายต่างก็ผิดหวังคอตกกันไปตามๆ กันเมื่อในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ยังคงไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ เราอาจจะเห็นโฆษณาแฝงกันจนชิน ทั้งในบ้านเราเองและในรายการโทรทัศน์จากฝั่งอเมริกา แต่ที่ประเทศอังกฤษนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะช่วงหลังๆ นี้รายได้ของบรรดาสถานีโทรทัศน์ในอังกฤษนั้นตกลงอย่างฮวบฮาบ เพราะทั้งคนดู ทั้งโฆษณาต่างก็พากันไปนัดพบกันในที่แห่งใหม่ซึ่งได้แก่ อินเตอร์เน็ตอย่างที่เรารู้กัน ทางสมาคมบริษัทโฆษณาก็เลยเสนอว่า ทำไมไม่ลองผ่อนปรนกฎเกณฑ์เรื่องการห้ามโฆษณาแฝงดู เพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้กับสถานีโทรทัศน์ถึง 72 ล้านปอนด์ (3,600 ล้านบาท) ทีเดียว แต่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเขาก็ยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนจากที่ไหนเลยว่าการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงจะส่งผลดีต่อภาวะการเงินของทางสถานี ในขณะที่เรื่องของการผ่อนผันกฎเกณฑ์เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ส่งผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารสูงสุดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษบอกว่า “เขาก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะการปล่อยให้มีโฆษณาแฝงนั้นจะทำให้สถานีขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่จะได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคิดแล้วไม่คุ้มกันเลย” ยินดีกับผู้บริโภคในประเทศอังกฤษด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจะดีใจกันไปได้อีกนานแค่ไหนเพราะข่าวบอกว่าเขาจะมีการทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้งในอีกสองปีข้างหน้า อยากดำเสี่ยงก็ยอม ในขณะที่สาวๆ บ้านเรานิยมฉีดกลูตาไธโอนให้ผิวขาวผ่อง คนที่ขาวผ่องอยู่แล้วกลับพยายามทำให้ตัวเองดูผิวคล้ำขึ้นด้วยวิธีการฉีดสารเมลาโนแทนเข้าผิวหนังบริเวณท้อง (ช่างกล้ากันจริงๆ) ว่ากันว่าที่ประเทศอังกฤษนั้น เทรนด์นี้มาแรงมากๆ แม้ว่าทางการจะออกมาเตือนแล้วเตือนอีกว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของหัวใจ ตามด้วยความเสี่ยงจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันอีก แต่กลับมีรายงานจากหน่วยงานที่ให้บริการเข็มฉีดยา ว่ามีคนโทรมาขอเข็มฉีดยาไปใช้ฉีดสารนี้กันมากขึ้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ พยายามรณรงค์ให้ร้านต่างๆ หยุดขายสารเมลาโนแทนให้กับผู้บริโภค ซึ่งการขายสารดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน (และยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันเรื่องความปลอดภัย) แต่อุปกรณ์ชุดทำผิวแทนด้วยตนเองนี้กลับมีขายกันทั่วไปตามร้านเสริมสวย สถานออกกำลังกาย และในอินเตอร์เน็ต ที่สนนราคา 25 ปอนด์ (1,300 บาท) ประกอบด้วยเข็มฉีดยา ผงเมลาโนแทน และน้ำบริสุทธิ์อีกหนึ่งขวด ให้หนุ่มสาวเดนตายทั้งหลายซื้อไปใช้กัน สารเมลาโนแทนนี้คิดค้นขึ้นมาโดยบริษัทแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเพื่อใช้รักษาความผิดปกติของผิวหนัง ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ CUV 1647 ที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ได้ในคน แต่ใช้ในการวิจัยได้ แต่แล้ววันหนึ่งมีมือดีมาขโมยสารดังกล่าวไป แล้วมันก็มาโผล่ในตลาดมืดอย่างที่บอก บาร์โค้ดในซูเปอร์มาเก็ตก็โกงได้ คุณไว้ใจเครื่องสแกนบาร์โค้ดในซูเปอร์มาเก็ตแค่ไหน ที่อื่นยังไม่ทราบแต่ที่นิวซีแลนด์นั้นเขาทำวิจัยออกมาแล้วว่าอัตราความผิดพลาดนั้นสูงถึงร้อยละ 4 ทีเดียว ความผิดพลาดที่ว่านั้น ได้แก่ การลืมเปลี่ยนราคาจากราคาเต็มเป็นราคาโปรโมชั่น หรือการใส่ราคาผิดจากขนาดของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น จึงมีบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคเข้าใจว่าตนเองกำลังซื้อสินค้าราคาพิเศษ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองก็จ่ายราคาเต็มอยู่ หรือซื้อเครื่องดื่มขนาดเล็กแต่จ่ายราคาของขวดขนาดใหญ่นั่นเอง พอล พิคเคอริง อาจารย์ภาควิชาธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโอ้คแลนด์ตั้งสมมุติฐานไว้ว่าอัตราความผิดพลาดนั้นอย่างต่ำก็ร้อยละ 4 (หรือจากสินค้าที่สแกนทุกๆ 25 ชิ้นนั้นจะมี 1 ชิ้นที่ตั้งราคาผิด) และความผิดพลาดมักเกิดขึ้นกับกรณีห้างใหญ่ๆ เพราะผู้คนนิยมจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมากชิ้น พอลบอกอีกว่า มีผู้บริโภคชาวกีวี่ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ตรวจสอบใบเสร็จของตนเอง ว่าแต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้วผู้บริโภคเรียกร้องให้แก้ไข แล้วทางร้านแก้ตัวทันทีหรือเปล่า ผลการสำรวจระบุว่า นักช้อปมักเจอกับพนักงานที่ทำท่าเบื่อหน่ายเวลาที่เข้าไปติดต่อขอเงินคืน บ้างก็ต้องกรอกแบบฟอร์มยืดยาวกว่าจะได้เงินคืนมา 2 เหรียญ และมีบ้างที่เจอเงื่อนไขว่าจะได้คืนเป็นเงินสดต่อเมื่อจ่ายเงินไปด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น อย่างไรก็ตามกฎหมายที่นี่ก็เข้มงวด เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วห้างทาร์เก็ต ถูกปรับเป็นเงินถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (60 ล้านบาท) โทษฐานที่แสดงราคาสินค้าที่ไม่อัพเดทและถูกกว่าราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่าย เมืองไทยจะมีโอกาสได้ปรับใครเป็นชิ้นเป็นอันแบบนี้บ้างไหมหนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 โทรทัศน์ความคมชัดสูง (UHD TV) ยังล้ำหน้าสำหรับเกินไปสำหรับผู้บริโภคของไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ระหว่างทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ นโยบายแจกกล่อง set top box และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค สรุปว่าอยู่ที่ 690 บาท ตามที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ สำหรับท่านที่กำลังเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ จะเห็นว่าเริ่มมีโทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก ที่เรียกว่า Ultra High Definition Television (UHD TV) ดังนั้น ขอเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่อง UHD TV ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคของเยอรมนีได้ทำการสำรวจและมีข้อมูลบางประเด็นสำหรับความเหมาะสมทางด้านเทคนิคมานำเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ในยุคดิจิตัลทีวี โทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก แบบ UHD นี้ เป็นเทคนิคการรับสัญญาณภาพที่พัฒนาต่อมาจาก โทรทัศน์แบบความคมชัดธรรมดา (Standard Definition: SD) ซึ่งมีความละเอียดของจุดการรับภาพ (Resolution) 0.4 ล้านจุด (pixel) โทรทัศน์แบบความคมชัดสูง (High Definition: HD) มีจุดในการรับภาพ (Resolution) 2 ล้านจุด (pixel)  และโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากจะมีจุดในการรับภาพ 8 ล้านจุด (3840 x 2160 pixel) ปัจจุบัน สถานีที่ประมูลช่องทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดสูง (Full HD) จะส่งสัญญาณภาพที่ระดับความชัด 2 ล้านจุดเท่านั้น (1920 x 1080 pixel) ในกรณีที่โทรทัศน์แบบ HD Ready จะมีระดับความชัดอยู่ที่ (1280 x 720 pixel) ซึ่งต่ำกว่าแบบ Full HD ในกรณีที่ทางสถานีโทรทัศน์ส่งสัญญาณ แบบ SD หรือ HD ผ่านโทรทัศน์แบบ UHD การแปลงสัญญาณภาพจะทำให้สังเกตถึงความเพี้ยนของภาพได้ เพราะฉะนั้นการรับสัญญาณโทรทัศน์ในขณะนี้ ด้วยโทรทัศน์แบบ HD จึงจะมีความสอดคล้องกับการรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์มากกว่า คำแนะนำของขององค์กรผู้บริโภคเยอรมันในขณะนี้ คือ คุณภาพของ UHD และ HD แทบไม่ต่างกัน ในขณะที่ ราคาต่างกันมาก เนื่องจากสายตาของคนยังไม่สามารถจับความแตกต่างความคมชัดของภาพระหว่าง UHD และ HD ได้ หากระยะห่างระหว่างจอภาพและผู้ชมรายการไม่ได้ไกลมาก และจอภาพมีขนาดเล็ก   อย่างไรก็ตามโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากนี้ เหมาะกับรายการโทรทัศน์ที่บันทึกด้วยกล้องความคมชัดพิเศษ ภายใต้เทคโนโลยี 4K โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ให้บริการหนังและวิดีโอออนไลน์อย่าง Amazon Instant Video, Maxdome และ Netfix จะเปิดให้บริการดูหนังและซีรีส์ ผ่าน Video Streaming ภายใต้ความคมชัดสูงมาก ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญในการรับชมผ่านอินเตอร์เนต คือ ความเร็วของอินเตอร์เนตในระบบ 4G โดยจะต้องมีความเร็วอินเตอร์เนตไม่ต่ำกว่า 25 Mbits ต่อวินาที นอกจากช่องทางในการรับชมหนังและภาพยนตร์ผ่านรายการโทรทัศน์ หรือผ่านระบบอินเตอร์เนตแล้ว ก็สามารถรับชมผ่านแผ่น ที่เป็นระบบ UHD ได้เช่นกัน แต่ผู้ชมรายการก็ต้องซื้อเครื่องเล่นที่สามารถเล่นแผ่นได้ในระบบ UHD ด้วยจึงจะได้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก หากมีโทรทัศน์ที่เป็นระบบ UHD แต่เครื่องเล่นแผ่นไม่ได้เป็นระบบ UHD ก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการรับชมภาพที่ทีความคมชัดสูง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคในเมืองไทยที่ต้องการรับชมรายการที่มีความคมชัดสูง ขณะนี้เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ ระดับความคมชัดแบบ HD ก็เพียงพอ และในอนาคตเมื่ออินเตอร์เนตความเร็วสูง หรือ ระบบ 4G เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อใด เมื่อนั้น โทรทัศน์ แบบ UHD ก็ เป็นทางเลือกในการรับชมภาพความคมชัดสูงมากที่น่าสนใจครับ (ที่มา : วารสาร Test ฉบับ 7/2014)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 ว่าด้วยเรื่อง โทรทัศน์ 3 มิติ (3D- TV)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการประมูลทีวีดิจิตอล กำลังเริ่มขึ้น ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสื่อดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ผมลองไปเดินดู เพื่อหาซื้อโทรทัศน์จอแบน ดิจิตอล ตามท้องตลาด และได้ไปเห็นทีวี 3 มิติ หลายรุ่นน่าสนใจอยู่ เลยต้องกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการเลือกซื้อโทรทัศน์ ว่าจะมีแนวทางในการเลือกซื้ออย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง บทความนี้จะอธิบายถึงเรื่องนี้ครับ การมองเห็นภาพ 3 มิติของคน การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Accomodation การมองเห็นภาพ 3 มิติของสายตาเกิดจากการโค้งงอของเลนส์สายตา เพื่อโฟกัสการมองเห็นไปยังวัตถุระยะใกล้ๆ ในภาพการมองวัตถุระยะใกล้เลนส์ตาจะโค้งงอมากกว่าการมองในระยะไกล ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 ปรากฏการณ์ Accomodation การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Convergence การมองเห็นภาพ 3 มิติแบบคอนเวอร์เจนซ์ เป็นปรากฏการ์ที่ ลูกตาหมุนเข้าหาทำมุมระหว่างกันไปที่วัตถุ ระยะที่ลูกตาสามารถปรับไปมาได้จะอยู่ไม่เกิน 2-3 เซนติเมตรจากระยะปลายจมูก (Squint Effect) แต่ถ้าสายตามองวัตถุในระยะไกลๆ สายตาที่มองออกไปจะขนานกันปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ของตามนุษย์จะเกิดขึ้นในการมองวัตถุในระยะไม่เกิน 3 เมตร ดูรูปที่ 2 รูปที่ 2 ปรากฏการณ์ Convergence   การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฏการณ์ Parallax การที่ลูกตาแต่ละข้างจะมองเห็นภาพที่ต่างกัน ตามคำอธิบายในรูปที่ 3 รูปที่ 3 ปรากฏการณ์ Parallax   หลักการทำงานของทีวี 3D ภาพที่เกิดขึ้นจากทีวี 3D เป็นภาพที่ซ้อนกันภายใต้ระยะห่างที่เท่ากัน เมื่อสายตามองเห็นภาพดังกล่าวก็จะปรับลักษณะการมองเห็น ตามปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ โดยมีสมองสั่งการและควบคุมการมองเห็นอย่างรวดเร็ว แต่การดูภาพ 3 มิติ เป็นระยะเวลานานจะทำให้สายตาเมื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายสายตา   ความสบายตาในการรับชมทีวี (Cinema Compatible) เนื่องจากระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาในโรงภาพยนต์จะมากกว่า 3 เมตร การดูหนังในโรงภาพยนต์การโค้งตัวของเลนส์ตาจะน้อยกว่า การดูทีวี 3D ในบ้านที่ระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาน้อยกว่า 3 เมตร เพราะฉะนั้นหากจะดูที่วี 3D แบบสบายตา ควรตั้งให้จอทีวีอยู่ห่างจากโซฟาหรือที่นั่งไม่ต่ำกว่า 3 เมตร   เด็กเล็กไม่ควรดูทีวี 3D เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสายตา และการดูทีวี 3 D เป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจเป็นโรคลมชักได้ (Epilepsy)!   แหล่งข้อมูลอ้างอิง www.test.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 20 เรื่องที่ไม่อยากให้คุณเป็นไทยเฉย

ไข่ไก่ 2013 คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าราคาไข่ไก่ มันสามารถสะท้อนความสามารถในการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลได้จริงหรือ งานวิจัย*ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาไข่ไก่ (เบอร์ 3 เพราะเป็นขนาดที่คนนิยมบริโภคมากที่สุด) กับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ถึง เมษายน พ.ศ. 2554 และนำมาหาค่าความสัมพันธ์ระยะยาวด้วยวิธี Johansen Co-integration Test นั้น พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสามเลย ส่วนสาเหตุที่ไข่ไก่นาทีนี้ราคาขึ้นไปถึงฟองละ 5 บาทนั้น ท่านว่ามีอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องที่คาดเดาได้ เช่น แพงเพราะต้นทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะค่าแรง หรือราคาอาหารสัตว์ (ข่าวบอกว่าอาหารเลี้ยงไก่นั้นราคาสูงกว่าไข่ไก่ถึงร้อยละ 76) บ้างก็ว่าไข่ไก่แพงเพราะแม่ไก่อ่อนแอเป็นโรค จึงออกไข่ได้น้อยลง จากที่เคยทำได้ 300 ฟองต่อปี ก็ลดลงมาเหลือ 280 ฟองเท่านั้น  ไหนจะปัจจัยเรื่องลมฟ้าอากาศที่ทำให้แม่ไก่ร้อนอกร้อนใจ ไข่ไม่ค่อยออกอีก นอกจากนี้การที่เนื้อไก่อินเทรนด์เพราะราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ทำให้แม่ไก่จำเป็นต้องเออลี่รีไทร์มาถูกขายเป็นไก่เนื้อเร็วขึ้น และการชะลอการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่เนื่องจากไข่ไก่ล้นตลาดเมื่อปีก่อนก็มีส่วนทำให้มีแม่ไก่ในกระบวนการผลิตน้อยลงเช่นกัน นี่ยังไม่นับไปถึงเรื่องของการมีอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายและการเลี้ยงไก่ที่ทำในรูปแบบของเกษตรพันธะสัญญาที่อาจจะน่าวิตกกว่าเรื่องของราคาไข่ด้วยซ้ำ   เราลองข้ามโลกไปดูราคาไข่ไก่ที่ต่างประเทศกันบ้าง ที่อังกฤษนั้นไข่ไก่ก็ราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 เพราะผู้คนนิยมบริโภคไข่จากไก่ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารดัดแปรพันธุกรรม ประกอบกับข้อกำหนดการเลี้ยงไก่ของสหภาพยุโรปที่ให้มีการปรับปรุงสภาพกรงไก่ สำหรับไก่ไข่ยืนกรง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ลืมบอกไปว่า ... เดือนกันยายนนี้เตรียมพบกับรายการไข่ไก่ซูเปอร์เซลกันได้ เพราะมีแนวโน้มว่าไข่ไก่จะล้นตลาดกันอีกแล้วพี่น้อง!! งานวิจัยปี 2554 โดย กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ ธนพร ศรียากูล และ ชยงการ ภมรมาศ   ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่ เด็กไทยทุก 10 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่เป็นโรคอ้วน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการช่วยกันหาวิธีจัดการกับปัญหาโฆษณาอาหารเด็ก วายร้ายที่มีส่วนทำลายสุขภาพเด็กไทย ความแรงของโฆษณาขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด สามารถสะกดจิตเด็กๆ ให้รบเร้าพ่อ – แม่จนต้องยอมควักตังค์ซื้อหามาเอาใจลูก และอาหารที่โฆษณาทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะหน้าจอทีวีนั้น ต่างอุดมไปด้วย น้ำตาล โซเดียม ไขมัน และพลังงาน ที่มากเกินพอดี ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กทั้งฟันผุ เบาหวาน ความดันโลหิต แม้ประเด็นปัญหาโฆษณาอาหารสำหรับเด็กจะถูกยกให้เป็นเรื่องต้องจัดการเร่งด่วน แต่ในโลกของความจริง เด็กๆ ยังคงถูกกระตุ้นให้ตกเป็นทาสของอาหารทำร้ายสุขภาพอยู่ตลอดเวลา อย่างกรณีน้ำอัดลมที่มีผลสำรวจว่าร้อยละ 30ของเด็กอายุ 6 – 15 ปี ดื่มน้ำอัดลม 5 – 6 ขวดต่อสัปดาห์ และมีถึง ร้อยละ10 ที่ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน สภาพปัญหาสะท้อนว่ามาตรการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดปริมาณการโฆษณา การควบคุมช่วงเวลาการออกอากาศ ห้ามแจกของเล่นหรือชิงโชคในขนม ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางที่ดีขึ้น สุดท้ายภาระก็คงตกอยู่ที่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกๆ หลานๆ อย่างใกล้ชิดแต่เพียงลำพังโดยขาดมาตรการสนับสนุนใดๆ จากรัฐ   BPA กับการเบี่ยงเบนทางเพศ การศึกษาวิจัยถึงอันตรายของ BPA ได้รับความสนใจและโต้เถียงกันยาวนานมาก กว่าจะเป็นที่ยอมรับในปี ค.ศ. 2009 ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะ Bisphenol A (BPA) เป็นส่วนประกอบสำคัญของพลาสติกและเรซิน ชนิด polycarbonate ที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประจำวัน ตั้งแต่เคลือบภายในกระป๋องอาหารจนถึงขวดนมทารก BPA เป็นสารรบกวนฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย การได้รับสาร BPA จึงอาจส่งผลทำให้ฮอร์โมนทางเพศในร่างกายเกิดความผิดปกติก่อให้เกิดการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ และส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศ โดยกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือเด็กทารกและเด็กเล็ก ที่มีความสามารถในการกำจัด BPA ออกจากร่างกายได้ต่ำ หลายประเทศจึงสั่งห้ามผลิต นำเข้าและใช้ขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกชนิด polycarbonate (PC) ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป แคนาดา สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ยูเออี บางประเทศแม้ไม่ได้สั่งแบนแต่ผู้ผลิตพร้อมใจกันรับผิดชอบต่อสังคมโดยยกเลิกการผลิตและจำหน่ายขวดนมที่มีสาร BPA ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประเทศไทยหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่าง อย. สคบ. และสมอ. ยังศึกษาข้อมูลอยู่ โดยคุณแม่ไทยที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยขวดนม ต้องใส่ใจใฝ่รู้กันเอาเอง เลี่ยงขวดนมพลาสติกได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ที่เขียนว่า BPA Free และรอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐอย่างมีความหวังต่อไป   จับได้...แต่ไล่ไม่ทัน  ใครที่บ้านติดเคเบิลทีวีหรือดูโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียม คงจะสงสัยเหมือนกันว่า ไอ้ช่องทีวีที่มีให้ดูเป็นร้อยๆ ช่อง ทำไมโฆษณาส่วนใหญ่ถึงได้มีแต่พวกอาหารเสริม ไม่แก้โรคสารพัด ก็เสริมความงาม หรือไม่ก็เสริมสมรรถภาพทางเพศ  เรียกว่าเปิดไปช่องไหนก็เจอ จากที่ไม่สนใจพอดูไปนานๆ อาจจะเคลิ้มเผลอตัวสั่งซื้อมาใช้ไม่รู้ตัว บ้านเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาโฆษณาอาหารเสริมที่เป็นปัญหาหลายฝ่าย ตั้งแต่ กสทช. สคบ. อย. สมาคมผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และสมาคมโฆษณาไทย แต่การทำงานเหมือนจะยังประสานกันไม่ลงตัว เคเบิลทีวีจึงคงเป็นแหล่งทำเงินของพ่อค้าอาหารเสริม หนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้บรรดาพ่อค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโม้สรรพคุณยังคงโฆษณาขายของกันอย่างคึกคัก ก็เพราะบทลงโทษผู้ทำผิดที่แสนจะน้อยนิด คือปรับแค่ 30,000 บาท สำหรับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง เมื่อปีที่แล้ว อย. ได้ตรวจจับสินค้าที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงได้กว่า 1,000 รายการ มูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมซึ่งขึ้นทะเบียนกับ อย. ถูกต้อง แต่ว่าพอไปทำโฆษณากับโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โม้กันไปใหญ่โต จริงๆ อย.เขาแค่ออกทะเบียนเพื่อรับรองว่ากินได้ไม่ตายเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นใครที่ยังปักใจเชื่อว่าอาหารเสริมที่มี อย. รับรองแล้วต้องเป็นของดี คงต้องคิดใหม่ทำใหม่   ทิ้งกันลง อีก 6 เดือนข้างหน้า  หากไทยเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลได้ คาดว่าจะมีทีวี 20 ล้านเครื่อง ถูกทิ้งและกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อันตรายแก่ดาวโลก WEEE(Waste from Electrical and Electronic Equipments) เป็นศัพท์ที่หมายถึง ซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน (off-spec) หรือหมดอายุการใช้งาน หรือล้าสมัย ซึ่งแบ่งเป็น 10 ประเภท ใหญ่ ๆ 1 ประเภทในนั้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยะจากทีวีเก่าเป็นสิ่งอันตรายมาก เพราะมีโลหะหนักทั้ง ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ฯลฯ ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากขยะจากทีวีเก่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ แกดเจทยอดฮิต อย่าง โทรศัพท์ แทบเล็ต ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย  เพราะผู้บริโภคมักเบื่อง่าย อะไรใหม่ก็รีบคว้าไว้ ทิ้งของเก่าให้เป็นขยะ ในยุโรปขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 3-5 ต่อปี  ซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าขยะประเภทอื่นถึง 3 เท่า เอเชียเองก็ไม่น้อยหน้าชาวโลก เพราะมีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี ข้อมูล  : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , ส่วนของเสียอันตราย, สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ   ไม่มีสาย แต่มีเสี่ยง ข้อมูลล่าสุด ณ ปี ค.ศ. 2011 ระบุว่าร้อยละ 85 ของประชากรโลกมีโทรศัพท์มือถือใช้ (หกพันล้านเลขหมาย) และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา อันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นเป็นที่ตระหนักกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดคือการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเนื้องอกในสมองในเด็กเล็ก แต่ก็มีงานวิจัยที่ได้ข้อสรุปออกมาในทางตรงข้ามเช่น งานวิจัยของสมาคมโรคมะเร็งเดนมาร์คที่พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งของกลุ่มตัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนมีการใช้โทรศัพท์มือถือ แม้ปัจจุบันมีมาตรการป้องกันอันตรายจากความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเครื่องโทรศัพท์ เช่น มาตรฐาน ICNIRP (The International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection) ที่ควบคุมระดับการแผ่คลื่นแม่เหล็กฯ จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อของมนุษย์มีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ อันตรายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในระดับดีเอ็นเอ และสิ่งที่น่ากลัวกว่าสัญญาณจากเครื่องโทรศัพท์ คือสัญญาณจากเสาส่งที่ถูกปล่อยออกมาตลอดเวลา แถมเสาสัญญาณเหล่านี้ อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาแบบไม่ถามชาวบ้านชาวช่องเสียด้วย ถ้าจำกันได้ เมื่อต้นปีชาวบ้านที่พะเยาได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้ประกอบการย้ายเสาสัญญาณออกไปตั้งห่างจากตัวหมู่บ้านอย่างน้อย 400 เมตร เรื่องจบลงที่ผู้ประกอบการถูกปรับ 9,000 บาท แต่ไม่มีการสั่งย้ายเสาแต่อย่างใด การดูแลจัดการเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ความต้องการสัญญาณคุณภาพ ความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูล (ซึ่งเราเชื่อว่าจะมาพร้อมกับระบบ 3G) ก็ทำให้ผู้ประกอบการตอบสนองด้วยการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณขึ้นอีก ข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ระบุว่าขณะนี้มีจำนวนสถานีฐานของผู้ประกอบการเพื่อรองรับบริการ 3G ทั้งหมด 3,650 สถานีทั่วประเทศ แยกเป็น AIS 3,512 สถานี  DTAC 130 สถานี และTRUE Move H อีก 8 สถานี ว่าแต่เราสามารถลดการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณ ด้วยการให้ผู้ประกอบการใช้เสาสัญญาณร่วมกันเหมือนในบางประเทศได้หรือไม่? ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้เหตุผลเรื่องความคล่องตัว จึงต้องต่างคนต่างตั้ง แล้วใครจะช่วยไขข้อข้องใจผู้บริโภคได้บ้าง?   ค้าปลีก หลังจากยินข่าวว่าบริษัทเจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของไทยเข้าซื้อกิจการห้างค้าส่งขนาดใหญ่แล้ว หลายคนอาจวิตกว่านี่อาจหมายถึงการใช้อำนาจผูกขาดที่ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง เพราะสองเจ้านี้รวมกันก็มียอดขายเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายจากกิจการค้าปลีกค้าส่งในประเทศแล้ว ข่าวดีคือคุณไม่จำเป็นต้องตกใจมากนัก เพราะเขาเป็นห้างคนละประเภทที่มีลูกค้าคนละกลุ่ม ข่าวร้ายคือทางเลือกของเราถูกจำกัดมานานแล้ว ปัจจุบันเรามีกิจการค้าปลีก 3 รายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง และทั้งหมดถือว่าเข้าข่าย “มีอำนาจเหนือตลาด” ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แต่ตามกฎหมายแล้วห้างเหล่านี้ยังไม่ได้กระทำความผิดใดๆ จนกว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้าสู่ตลาดได้ กระทรวงพาณิชย์จึงทำได้แค่จับตาดูอย่างใกล้ชิด สิ่งที่น่าห่วงไม่แพ้เรื่องของการผูกขาดคือ เรายังไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องการค้าที่เป็นธรรมในขณะที่ห้างค้าปลีกเหล่านี้กำลังขยายสาขาออกไปอย่างต่อเนื่อง  ด้วยอำนาจการต่อรองสูง ผู้ประกอบการจึงสามารถกำหนดราคารับซื้อที่ต่ำมากๆ จากเกษตรกรหรือผู้ผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นผลต่อความยั่งยืน เพราะบรรดาซัพพลายเออร์เหล่านี้อาจถูกบีบจนไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ หันไปดูรอบบ้านในอาเซียนกันบ้าง ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่าประเทศไทยเราครองแชมป์ด้วยสถิติอัตราส่วนระหว่างจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 370 ร้านต่อประชากรในเขตเมือง 1 ล้านคน ในขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียตามมาติดๆ ที่ 293 และ 208 ร้าน  ส่วนเวียดนาม (ซึ่งมีประชากรมากกว่าไทย 1.2 เท่า) นั้นมีจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่น้อยกว่าไทยถึง 50 เท่า   แข่งกันขึ้นราคา ผ่านปี 2556 มาได้ครึ่งทาง สินค้าต่างๆ พาเหรดเดินหน้าขึ้นราคากันอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ที่ทยอยขึ้นมาแบบต่อเนื่อง ราคาตั๋วรถไฟฟ้า BTS ที่ปรับราคาขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา อ้อ ค่าทางด่วนด้วย ไม่นับรวมพวกสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง หมู เห็ด เป็ด ไก่ พืชผักผลไม้ ที่ขึ้นเอาๆ จนผู้บริโภคอย่างเราได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ดูเงินหายไปจากกระเป๋าแบบทำอะไรไม่ได้ แถมแว่วๆ ว่าพอถึงเดือนกรกฎาคม ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก กระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับตรงๆ ว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าราคาแพงเข้ามาที่หน่วยงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่กรมการค้าภายในที่รับหน้าที่ดูแลราคาสินค้า ก็ถึงกับสะอึกเมื่อเห็นผลการสำรวจราคาสินค้า ที่ปรับขึ้นแทบจะทุกอย่าง โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ราคาเขยิบขึ้นมากสุดที่ประมาณ 13.14% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มองแง่ดี คราวนี้ล่ะเป็นโอกาสได้ผอมสมใจ ไม่ต้องเปลืองงบประมาณรณรงค์ลดอ้วนกันแล้ว   ปรับราคาก๊าซหุงต้ม รัฐบาลเอาแน่ หลังงึกๆ งักๆ กันมาได้ครึ่งปี 2556 นี้แล้ว กระทรวงพลังงานก็ประกาศเอาแน่ กรกฎาคมนี้ ราคาก๊าซหุงต้มต้องขึ้นแน่ๆ  จากที่ประกาศเสียงดังไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์/กก. จากระดับปัจจุบันที่ 18.13 บาท/กก. ให้ขึ้นไปเท่ากับราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 21.38 บาท/กก. แล้วค่อยพิจารณาการปรับขึ้นราคาทั้งภาคครัวเรือน และภาคขนส่งไปพร้อม ๆ กัน ให้ถึง 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ถามว่ากระทบกับประชาชนไหม โถ จะถามทำไม? ไม่กระทบสิแปลก แม้รัฐจะพยายามหาวิธีช่วยบรรเทาปัญหาไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ใช้ก๊าซ สูงสุดไม่เกินเดือนละ 36 บาท หรือใช้วิธีแจกบัตรส่วนลดเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มในราคาเดิมให้กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่-แผงลอย ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะเป็นแค่มาตรการระยะสั้น หลอกให้สบายใจมากกว่า รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชยให้ได้มากมาย ข่าวว่าทำโครงการอื่นขาดทุนไปหลายแสนล้านแล้ว ความจริงถ้าขึ้นราคาแล้วผลตอบแทนมันกลับมาช่วยคนส่วนใหญ่ในประเทศ คงไม่อึดอัดเท่ากับรู้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดจะเป็นรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ผ่านทางธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันที่ ปตท. เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เหมาะแล้วที่เขาออกมาตั้งคำถามกันมากมายว่า กระทรวงพลังงานไทยเพื่อใคร   นิยมเป็นหนี้ ? นอกจากเราจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ “บ้านหลังแรก” และ “รถคันแรก” ของขวัญจากรัฐบาลชุดนี้แล้ว คนไทยยังได้ของแถมสุดพิเศษอีกหนึ่งชิ้น นั้นคือ “หนี้ก้อนแรก” ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รวบรวมจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ รายงานตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยในปี 2555 ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 439,490 บาท จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดราวๆ 20 ล้านครัวเรือน โดยหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบคิดเป็นเงินถึง 8,818,217 ล้านบาท ตัวเลขหนี้ครัวเรือนนี้ขึ้นทุกปีและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ แม้จะให้ภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น แต่ก็เป็นไปในลักษณะการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน เป็นการสร้างหนี้ และอาจส่งผลเสียหากไม่มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี ไม่สามารถชำระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นแบบนั้นระบบเศรษฐกิจทั้งระบบก็จะเจอปัญหา ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ หนี้ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นหนี้เสีย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้แสดงตัวเลขสัดส่วนรายได้ทั้งประเทศและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในปี 2555 ที่ผ่านมา โดยรายได้ทั้งประเทศขยายตัวที่ 7.3% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัว 21.6% ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเราก่อหนี้สูงกว่ารายได้ถึง 3 เท่า   TPP กับผู้บริโภค เดือนกรกฎาคมนี้ผู้แทนจาก 12 ประเทศในทวีปอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก จะมีการเจรจาข้อตกลง  Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก รอบที่ 18 กันที่ประเทศมาเลเซีย สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้แสดงความห่วงใยจากมุมมองของผู้บริโภคดังนี้ ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะยกระดับการคุมครองลิขสิทธิ์ให้เข้มกว่าที่องค์กรการค้าโลกยอมรับ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันน้อยลง ในขณะที่ราคาสินค้าลิขสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้น และงานสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติอาจไม่ได้รับการเผยแพร่ในเวลาอันควร ความเป็นส่วนตัว การลดระดับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ท หมายถึงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปเก็บไว้ในประเทศที่ไม่เข้มงวดเรื่องนี้ เช่นสหรัฐอเมริกา (ที่เพิ่งจะเป็นข่าวไปว่า แอบเก็บข้อมูลโทรศัพท์และการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวบ้าน) เป็นต้น อาหารปลอดภัย ความตกลงนี้อาจมีผลต่อการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาหารดัดแปรพันธุกรรม ในประเทศต่างๆ เพราะมีตัวอย่างแล้วว่าข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคในการห้ามนำเข้าสินค้าที่ตนเองรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่นกรณีสหภาพยุโรปถูกองค์กรการค้าโลกลงโทษ เพราะห้ามนำเข้าเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมน เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดถึงอันตรายจากการใช้ฮอร์โมนดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทยังสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ในศาลระหว่างประเทศ เช่นที่บริษัทฟิลลิป มอริส กำลังฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างออสเตรเลียกับฮ่องกง กรณีที่ออสเตรเลียออกกฎหมายให้ซองบุหรี่ต้องเป็นซองที่ไม่มีสีสันดึงดูดใจ   หลัก(ไม่)ประกันสุขภาพ สุขภาพของคนไทยกว่า 50 ล้านคน ฝากไว้กับระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้า จากเดิมที่เป็นความหวังให้คนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้น้อยให้มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียม แต่วันนี้ระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้ากำลังส่งสัญญาณที่ชวนให้ต้องเป็นห่วง กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องดำเนินงานโดยถูกปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ที่ชัดที่สุดคือเรื่องเงิน ที่โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในระบบหลักประกันถ้วนหน้าต่างต้องเจอกับภาวะขาดทุน เนื่องจากเงินกองทุนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนจ่าย ไม่เพียงพอกับภาระที่โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ แม้จะมีการให้ผู้เข้ารับการรักษากลับมาร่วมจ่าย 30 บาทอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็คงไม่ช่วยแก้ปัญหาได้มากนักเพราะเป็นการเรียกเก็บแบบสมัครใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านคนทำงานที่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับบริการ รวมทั้งระบบข้อมูลสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง อีกปัญหาที่สำคัญคือความไม่โปร่งใสของผู้บริหารหลักประกันสุขภาพที่ส่งผลต่อการบริหารงานทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยยังคงเต็มไปด้วยคำถามถึงความจริงใจจริงจังในการดูแลสุขภาพของคนไทย งานหนัก คนไข้มาก ยังเป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในภาครัฐ หนีไปซบอกเอกชนที่จ่ายค่าตอบแทนสูง และงานหนักน้อยกว่า   การแพทย์เชิงท่องเที่ยว ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์เชิงท่องเที่ยวของไทยเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสุดๆ ถึงร้อยละ 13 ต่อปี จนอาจกล่าวได้ว่าไทยคือหนึ่งในผู้นำของธุรกิจนี้ จากข้อมูลประมาณการของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุ จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับบริการการรักษาพยาบาลในประเทศไทย คือ 1.98 ล้านคน ปี 2553 และ 2.24 ล้านคน ปี 2554 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี  2547 ที่มีประมาณ 1.1 ล้านคน นับว่าเพิ่มเป็นเท่าตัวในเวลาเพียงไม่นาน โดยร้อยละ 60 เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ และร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางมารับบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะ การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลอำนวยความสะดวกเต็มที่  ล่าสุดคือการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไข้และญาติที่จะเข้ามารักษาตัวในเมืองไทย สำหรับ 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต บาห์เรน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยเป็นลูกค้ากระเป๋าหนักและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำแล้วสำเร็จ รัฐยังเล็งเป้าเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับประเทศที่มองว่าน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดีอื่นๆ ด้วย จากการแพทย์เชิงท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างมากมายนี้ รัฐบาลจึงเร่งดำเนินโครงการเมดิคัลฮับอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดึงเอาโรงเรียนแพทย์เข้ามาเปิดแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนด้วย หลายฝ่ายเลยเกิดความกังวลขึ้นว่า ต่อไปประเทศไทยจะเกิดการรักษาสองมาตรฐานขึ้นหรือไม่ ระหว่างคนไทยที่ใช้ระบบประกันสุขภาพที่ยังมีปัญหา กับคนต่างชาติที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทรัพยากรทางการแพทย์ที่รัฐไทยและคนไทยเป็นผู้ลงทุน   “แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” บทเรียนราคาแพง ผ่านมา 1 ปีกว่า การจัดการแก้ปัญหาเรื่องแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส มาถึงตรงที่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบแล้วว่าแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส มีการกระทำที่เข้าข่ายกระทำความผิด ฐานฉ้อโกงประชาชน เพราะในช่วงเวลาที่กิจการมีปัญหาถูกประกาศล้มละลายจนต้องปิดให้บริการในหลายสาขา แต่ก็ยังพบว่าบริษัทได้โอนเงินออกไปต่างประเทศ โดยระหว่างที่ปิดให้บริการ แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ซ้ำยังมีการหักเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จากนี้ ป.ป.ง. ก็จะร่วมมือกับ สคบ. และกรมบังคับคดีเพื่อติดตามยึดทรัพย์นำมาเฉลี่ยชดเชยให้กับผู้เสียหายที่มีมากกว่า 1,700 ราย รวมความเสียหายแล้วสูงถึง 50 ล้านบาท กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดี สำหรับคนที่กำลังคิดจะทำสัญญาใช้บริการต่างๆ ที่ต้องมีการจ่ายเงินด้วยวงเงินสูงๆ และผูกพันสัญญากันระยะยาว เพราะเงินที่จ่ายไป ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของเจ้าของบริการ หรือถูกชักจูงหว่านล้อมจนยอมจ่าย เงินของเราอาจหายไปในพริบตาหากเจอผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม   แบนสารเคมีการเกษตร ความพยายามอยู่ที่ไหน ไทยเรานำเข้าสารเคมีการเกษตรสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือประมาณ 520,000 ตัน คิดเป็นเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยสารเคมี 4 ชนิด คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่อันตรายร้ายแรงรวมอยู่ในนั้นด้วย จากความพยายามของกลุ่มนักวิชาการและเกษตรกรที่รวมตัวกันเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิดข้างต้น ที่ผ่านมาเกือบใกล้จะเป็นความจริงแล้ว หากไม่ถูกคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานบอก “ไม่รับรองการขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน” ไปเสียก่อน ท่านคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายท่านไม่เชื่อข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาประกอบการเสนอให้ยกเลิก แถมยังให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่เพื่อให้ภาคเอกชนบริษัทนำเข้าสารเคมีนำข้อมูลมาแย้งกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร แล้วมีหรือที่บริษัทนำเข้าสารเคมีจะทำข้อมูลเพื่อให้สินค้าของตัวเองถูกแบน เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บริษัทสารเคมียังขายสินค้าได้ต่อไปในระหว่างที่ยังรอการนำเสนอข้อมูล เอาน่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น กลุ่มรณรงค์ยังคงต้องทำงานกันต่อไปเพื่อผลักดันให้เกิดการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย ซึ่งถ้าการยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นผลเมื่อไหร่ ก็หมายถึงผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีมากขึ้นไปด้วย   แร่ใยหิน แม้ปัจจุบันไทยได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดต่างๆ ไปหมดแล้ว แต่ตัวที่ร้ายที่สุด คือแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ หรือ ไวท์ แอสเบสตอส ยังมีวางจำหน่ายอยู่ ซึ่งอาจจะมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดอย่างน้อย 1,295 คนต่อปี จากแร่ใยหิน หากยังฝืนใช้กันต่อไป มีหลักฐานทางการแพทย์ชิ้นใหม่ๆ ออกมาสนับสนุนอยู่ตลอดเวลาว่า แร่ใยหิน ชนิดไครโซไทล์ (Chrysotile)  เป็นส

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point