ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่คิดได้ว่าไม่สะดวกใจยกเลิกได้นะ

        ใครไม่เคยโดนบอกขายประกันทางโทรศัพท์บ้าง น่าจะน้อยคนนะยิ่งใกล้สิ้นปีนี้จะมากันเรื่อยๆ หวังปิดยอดการขาย ผู้บริโภคหากมีอาการเผอเรอคิดไม่ทันแล้วรับปากทำประกันทางโทรศัพท์ไป มันมีวิธีบอกเลิกอยู่นะ         คุณดวงพร ได้ตกปากซื้อประกันภัยรถยนต์กับนายหน้าไปในข้อตกลงที่ระบุเบี้ยประกัน 5 แสนบาท สามารถซ่อมศูนย์ได้ทั่วประเทศ ตอนที่ตัดสินใจทำประกันก็คิดว่ามันมีประโยชน์นะ ทว่าผ่านมาหลายวันเริ่มพบความจริงว่าเราอาจจะมีปัญหาถ้าทำประกันนี้เลยอยากยกเลิก แต่พอโทรศัพ์ไปที่บริษัทประกันภัยที่เป็นคู่สัญญา พบว่าไม่ง่าย คำตอบที่ได้รับคือ “คุณลูกค้าต้องรอให้ได้รับเล่มกรมธรรม์ก่อน” ก็ไม่อยากรออยากยกเลิก ทำไมต้องรอ ยิ่งพบว่า บัตรเครดิตของตนเองถูกเรียกเก็บเงินประกันงวดแรกไปแล้วด้วย คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำให้ต้องโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ช่วยทีค่ะ ทำอะไรได้บ้างไหม”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากซักถามเหตุต่างๆ ที่คุณดวงพรประสบ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ สงสัยว่าเหตุใดบริษัทประกันถึงเข้าถึงการตัดบัตรเครดิตได้แบบทันที คุณดวงพรแจ้งว่า นายหน้าที่มาขายประกันตนนั้นไม่ได้บอกว่ามาจากบริษัทประกันภัยแต่อ้างว่ามาจากบริษัทรถที่คุณดวงพรเป็นเจ้าของ เลยไม่สงสัยแล้วบอกเลขหน้าบัตรเครดิตและวันหมดอายุไปให้กับนายหน้าคนนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันงวดแรกแล้ว “พยายามติดต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครรับสายเลยหลังจากที่ได้รับคำตอบครั้งแรกที่ให้รอเล่มกรมธรรม์”         เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้บริโภคที่อาจเผลอตกลงทำสัญญาซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่ต้องการบอกเลิกภายหลัง ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกหรือยกเลิกสัญญาได้ “หากยังไม่ได้รับกรมธรรม์หรือไม่พึงพอใจสามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา แต่หากได้รับกรมธรรม์มาแล้ว ก็ยังสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนกลับไปยังบริษัทผู้เอาประกันภัย หรือแม้แต่ในกรณีแบบคุณดวงพรที่ถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแม้แต่ชำระเป็นเงินสด ก็ให้แนบสำเนาบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งบริษัทประกันต้องคืนเงินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากบริษัทเพิกเฉย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ. หรือ สายด่วน 1186         ต่อมาทราบจากคุณดวงพรหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ได้คืนเงินให้ครบถ้วนแล้วขอยุติเรื่องร้องเรียน         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเผชิญกับการขายประกันทางโทรศัพท์ หากไม่สนใจสามารถปฏิเสธได้ทันทีโดยวางสายได้เลย บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่สามารถมาติดต่อขายประกันได้อีกภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ถูกปฏิเสธ ถ้ายังถูกรบกวนสามารถแจ้งร้องเรียนพฤติกรรมของนายหน้าได้ที่ สายด่วน 1186 และอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หากถูกตื้อทำประกันทางโทรศัพท์ จงจำไว้ว่า อย่าปัดความรำคาญด้วยคำว่า "ตกลง" หรือ คำว่า “สนใจ” เพราะเสียงของผู้บริโภคที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเอาไปเป็นหลักฐานการยืนยัน โดยถือว่า “สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นหากไม่อยากเกิดปัญหาขอให้ยืนยันคำเดียวง่ายๆ ว่า “ไม่สนใจ” วางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อยากเลิกต้องเลิกได้

        เขียนเรื่องเลิกอีกแล้วไม่ใช่เพราะหมกมุ่นกับการเลิกหรอกนะ แต่เพราะในช่วงนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต เว้นแต่จะต้องจ่ายค่าปรับอุปกรณ์และค่าแรกเข้าที่ทางเครือข่ายผู้ให้บริการอ้างว่าได้ยกเว้นให้เมื่อตอนสมัครใช้บริการ โดยแลกกับการต้องอยู่ใช้บริการกันไปไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น...ก็แล้วแต่จะกล่าวอ้างกันไป         อย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วว่า ตามกติกาที่ กสทช. กำหนดนั้น มีการให้สิทธิผู้ใช้บริการในการยกเลิกบริการได้เสมอ ดังที่ระบุไว้ในข้อ 32 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (แม้เป็นประกาศของ กทช. แต่ก็มีผลใช้บังคับต่อมาจนถึงยุค กสทช.) ว่า        “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ”        ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามนัยของข้อ 32 นี้จึงเท่ากับว่า ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะขอยกเลิกสัญญาหรือเลิกใช้บริการเมื่อไรก็ได้ เพียงแต่จะต้องแจ้งผู้ให้บริการทราบแบบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่การยกเลิกจะมีผลในอีก 5 วันหลังการแจ้งนั้น การยกเลิกนี้จะมีเหตุผลอะไรอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือแสดงเหตุผลอันใด แค่อยากเลิกก็เลิกได้         ส่วนกรณีที่การใช้บริการมีปัญหา เมื่อแจ้งยกเลิกแล้ว ตามกฎหมายก็ถือว่ามีผลทันทีเลย เพียงแต่ว่าเรื่องยุ่งยากมักตามมาในแง่ที่ว่า ผู้ให้บริการอาจไม่ยอมรับว่าบริการมีปัญหาตามที่ผู้บริโภคกล่าวอ้าง จากนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและพิสูจน์กันยืดยาว        อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอนุญาตให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่สำหรับกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืนอุปกรณ์เหล่านั้นแก่ผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในกรณีอินเทอร์เน็ตบ้าน อย่างน้อยต้องมีเราเตอร์ ซึ่งหากเสียหายหรือไม่มีคืนให้ ก็ต้องชดใช้ตามราคาจริงในตลาดขณะนั้น        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าหากผู้บริโภคคนใดไม่ต้องการใช้บริการโทรคมนาคมใดอีกต่อไปแล้ว ก็มีหน้าที่เพียงแค่บอกเลิกกันไปให้เป็นเรื่องเป็นราว และ “มีหลักฐาน” ส่วนข้าวของก็ส่งคืนให้ครบถ้วน หากมีการสูญหายหรือสึกหรอก็ต้องชดใช้ตามสัดส่วน แต่สำหรับเรื่องของ “ค่าปรับ” ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บ “ค่าปรับ” ใดๆ จากผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น         กติกามีความตรงไปตรงมาเช่นนี้ และตั้งอยู่บนหลักการที่ค่อนข้างเรียบง่าย ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน  เพียงแต่ว่าในโลกความเป็นจริงมักมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้น เช่นว่า บริการเน็ตบ้านมักถูกเสนอขายพ่วงมากับบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่องรับชมรายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเครื่องโทรศัพท์มือถือ        ถ้าเน็ตบ้านเป็นบริการหลัก ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับสัญญาใช้บริการเน็ตบ้านคือสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเลิกกันแล้วจึงมักมีประเด็นว่า แล้วบริการพ่วงอื่นๆ จะอยู่ในสถานะใด ความซับซ้อนจึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในแง่ที่ว่า ผู้บริโภคอาจยังประสงค์ใช้บริการอื่นๆ อยู่ เช่น ยังอยากเก็บกล่องไว้ดูทีวีต่อไป  หรือผู้บริโภคบางคนอาจเพียงแค่ลืมไปแล้วว่า “ตอนนั้น” มี “ซิมฟรี” ให้มาด้วยนะ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้เอามาใช้เลย จึงไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว และไม่คิดว่าต้องทำอะไรกับซิมนั้นทั้งสิ้น จนกระทั่งเดือนถัดมา คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย เนื่องจากถูกเรียกเก็บค่าบริการ บางรายการเป็นการเรียกเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น บางรายการเป็นสิ่งที่โผล่มาใหม่ จากที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน        เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมของผู้ให้บริการอธิบายได้ว่า เมื่อการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ใช่บริการที่พ่วงกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการหลักแล้ว ค่าบริการที่เคยคิดในอัตราลดพิเศษก็ต้องถูกคิดแบบเต็มจำนวน ส่วนซิมโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นการให้บริการแบบรายเดือนในอัตราเหมาจ่าย เพียงแต่ที่ผ่านมาอยู่ในฐานะบริการแถม จึงไม่เคยมีการเรียกเก็บค่าบริการ แต่เมื่อสัญญาหลักหมดไป ก็กลับสู่การคิดค่าบริการตามปกติ        ในชีวิตจริงของการเลิกเน็ตบ้านที่มีบริการต่างๆ พ่วงอยู่ด้วยจึงไม่ง่ายนัก         ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องตัดสินใจในส่วนของบริการพ่วงทั้งหลายด้วยว่าจะเอาอย่างไร ส่วนใดที่ไม่ได้จะใช้ต่อไปหรือไม่เคยใช้ก็ต้องยื่นยกเลิกไปพร้อมกัน ส่วนบริการที่อยากเก็บไว้ ก็ควรต้องทำสัญญาหรือทำความตกลงกันใหม่ให้มีความชัดเจน ว่าบริการส่วนนั้นๆ จะมีอัตราค่าบริการเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างหรือไม่        และเพื่อหลีกเลี่ยงความว้าวุ่นในอนาคต ควรที่จะเก็บหลักฐานการยกเลิกบริการทั้งหลายเอาไว้สักระยะหนึ่งด้วย เผื่อไว้สำหรับกรณีมีการเรียกเก็บค่าบริการขึ้นมาอีกในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ผู้บริโภคประสบปัญหาว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการส่วนที่ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานก็จะทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการพิสูจน์ และไม่ต้องโต้แย้งกันโดยยากจะหาข้อยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ผู้บริโภคไทยกับสังคมไร้เงินสด

        เหตุการณ์ระบาดของโควิด 19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ตลอดจนความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ และความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อมรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้การเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว        อย่างไรก็ตามการก้าวไปสู่ แคชเลส โซไซตี้ (Cashless Society) หรือสังคมไร้เงินสด นั้น ผู้บริโภคพร้อมจริงๆ หรือแค่ถูกสถานการณ์บังคับ หรือความกังวลใจในเรื่องอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ จึงทดลองหาคำตอบ โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง (เก็บข้อมูลในวันที่ 11 - 21 พฤษภาคม 2566)        คำถามที่ว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดแล้วหรือไม่ ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ร้อยละ 66 ใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 66.1 และไม่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 33.9        อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด ธนาคารแห่งประเทศไทยมี ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจการเงินในการทำความรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือทราบ (ร้อยละ 32.3) และอันดับสุดท้ายคือ ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 24.4)ซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์เดือนหนึ่งมากกว่า 10 ครั้ง        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากจำนวน 750 กลุ่มตัวอย่าง มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ โดยเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 10 ครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 40.3) อันดับสองคือ 7 – 8 ครั้ง (ร้อยละ 16.4) อันดับสามคือ 5 – 6 ครั้ง (ร้อยละ 15.2) อันดับสี่คือ 9 – 10 ครั้ง (ร้อยละ 12.7) อันดับห้าคือ 3 – 4 ครั้ง (ร้อยละ 10.9) และอันดับสุดท้ายคือ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 4.5) โดยยอดเงินที่ใช้หรือโอนต่อการใช้จ่ายต่อครั้งนั้น อันดับที่หนึ่งคือ 101 – 300 บาท (ร้อยละ 28.8) อันดับสองคือ 301 – 500 บาท (ร้อยละ 24.5) อันดับสามคือ 501 – 800 บาท (ร้อยละ 16.5) อันดับสี่คือ มากกว่า 1,000 บาท (ร้อยละ 11) อันดับห้าคือ 801 – 1,000 บาท (ร้อยละ 9.7) และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท (ร้อยละ 9.5)แอปพลิเคชันธนาคารคือคำตอบ        มีการชำระค่าสินค้าบริการโดยไม่ใช้เงินสด อันดับที่หนึ่งคือ โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร (ร้อยละ 40.1) อันดับสองคือ จ่ายผ่าน QR Code (ร้อยละ 30.9) อันดับสามคือ โอนเงินระบบ PromptPay ร้อยละ (11.6) อันดับสี่คือ ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต (ร้อยละ 10.3) และอันดับสุดท้ายคือ จ่ายผ่าน e-Wallet (ร้อยละ 7.1)        ความคิดเห็นที่มีต่อการเลือกใช้การซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/การจ่ายเงินออนไลน์ สะดวกต่อการใช้จ่าย (ร้อยละ 97.1) ความรวดเร็ว (ร้อยละ 96.8) และ มีบันทึกการใช้จ่าย สามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด (ร้อยละ 67.6)คำถามเกี่ยวกับความพร้อมและข้อกังวล        • หากธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบ Online Payment หรือการจ่ายเงินออนไลน์ จะทำให้ท่านใช้บริการนี้น้อยลงหรือไม่                             น้อยลง                       ร้อยละ   55.9                             ไม่น้อยลง                   ร้อยละ   14.8                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   29.3        • คิดว่าปัจจุบันผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   50.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   19.8                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.5        • คิดว่าการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม (เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์) เพิ่มมากขึ้นหรือไม่                             ใช่                              ร้อยละ   73.5                             ไม่ใช่                          ร้อยละ   10.7                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   15.8        • คิดว่าปัจจุบันระบบของธนาคารสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมในการซื้อสินค้าและบริการแบบไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   44.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   26                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.3        • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                         ร้อยละ   50.8                             ไม่พร้อม                     ร้อยละ   25.9                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   23.3        • ระบุเหตุผลที่ไม่ใช้บริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือการชำระเงินออนไลน์ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)                            ไม่มีโทรศัพท์มือถือ                                                                   ร้อยละ   14.6                             โทรศัพท์มือถือที่มี ใช้ทำธุรกรรมไม่ได้                                      ร้อยละ   33.7                             ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี                                                          ร้อยละ   56                             กลัวพลาดเพราะมีปัญหาสุขภาพ (เช่น สายตาไม่ดี มือสั่น)         ร้อยละ   22.6                             ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย กลัวตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ                     ร้อยละ   26.1                             ยังไม่เห็นข้อดีของธุรกรรมแบบไร้เงินสด                                    ร้อยละ   10.5                             สะดวกที่จะใช้เงินสดมากกว่า                                                     ร้อยละ   55.8                             อื่นๆ                                                                                           ร้อยละ   1.6         • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                        ร้อยละ   39.5                             ไม่พร้อม                    ร้อยละ   33.3                            ไม่แน่ใจ                    ร้อยละ   27.2

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 270 สมาร์ตโฟน 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณเลือก 25 รุ่น เลือกจากรุ่นที่ได้คะแนนระดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ในครึ่งแรกของปี 2023           การทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้แบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่            ร้อยละ 25   ประสิทธิภาพของกล้อง            ร้อยละ 15   แบตเตอรี             ร้อยละ 15   หน้าจอ             ร้อยละ 10   คุณภาพเสียง             ร้อยละ 10   ความทนทาน             ร้อยละ 10   ประสิทธิภาพโดยรวม         เนื่องจากพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้ “สมาร์ตโฟน” ยุคนี้เปลี่ยนไป คะแนน “การใช้งานโทรศัพท์” จึงถูกนำไปรวมกับคะแนนด้านความหลากหลายของฟีเจอร์ การใช้งานอย่างปลอดภัย และความสะดวกในการใช้งาน รวมกันเป็นอีกร้อยละ 15 ที่เหลือ         สมาร์ตโฟนเหล่านี้มีตั้งแต่รุ่นที่ขนาดหน้าจอ 6.1 ไปจนถึง 7.6 นิ้ว สนนราคาระหว่าง 7,000 ถึง 63,000 บาท* รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ (80 คะแนน) ไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุด แต่ก็ราคามากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่รุ่นที่ถูกสุดเป็นรุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดเช่นกัน โชคดีที่ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนดีพอสมควรในราคาประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาท แต่หน้าตาและสเปคจะถูกใจหรือไม่ พลิกดูในหน้าต่อไปได้เลย        ·      ราคาที่แสดงเป็นราคาที่ได้จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบราคาล่าสุดและโปรโมชันกับทางร้านอีกครั้ง        ·     ดูผลการทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนครั้งก่อนหน้านี้ได้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับ 253

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 270 โทรศัพท์ที่บ้าน...เงียบเกินไปไหม!!!???

        โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ         สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน         ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป         ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด         นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย         ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้         หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!!         กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล         ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่         แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ         แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว         ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า         เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 เบอร์เราที่คนอื่นเปิดให้ ทางแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน?!?

        การถูกสวมรอยหรือถูกแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์มือถือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในระยะหลังนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนว่าปัญหามีการขยายตัวหนักขึ้น ในขณะเดียวกับที่ความตระหนักต่อภยันตรายที่จะติดตามมาก็มากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล ภาระค่าบริการ และที่สำคัญที่สุดคือ การที่เบอร์มือถือที่ถูกแอบเปิดดังกล่าวอาจพาให้เข้าไปพัวพันกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือการก่ออาชญากรรม         ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้นมักไม่รู้ตัว         อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็มีเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ว่ามีเบอร์ที่ลงทะเบียนไว้ในชื่อของตนเท่าไรและเป็นเบอร์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันของค่ายมือถือ หรือ “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” ของ กสทช. โดยสำหรับแอปฯ ของแต่ละค่ายจะมีข้อจำกัดว่าตรวจสอบได้เฉพาะเบอร์ที่เปิดกับแต่ละค่าย แต่ “แอปฯ 3 ชั้น” นั้นจะตรวจสอบได้ครบทุกค่าย         ยิ่งกว่านั้น นอกจากใช้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว “แอปฯ 3 ชั้น” ยังสามารถแจ้งปัญหา ทั้งในแง่ของเบอร์ที่เกินมาและที่ขาดไป ตลอดจนใช้เพื่อล็อกป้องกันการถูกบุคคลอื่นนำบัตรประชาชนของเราไปแอบอ้างเปิดเบอร์ใหม่ได้ด้วย ส่วนเมื่อไรที่ต้องการเปิดเบอร์ใหม่ก็สามารถปลดล็อกเองได้เช่นเดียวกัน         ถึงแม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่อาจช่วยป้องกันมิให้เกิดการลักลอบเปิดเบอร์ตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็ช่วยให้ตามทันปัญหา ซึ่งยิ่งไวเท่าไรก็ยิ่งลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสะสางให้ปัญหายุติลงได้ ดีกว่าที่จะรอให้เกิดผลกระทบขึ้นแล้วจึงค่อยรู้ตัว ซึ่งที่ผ่านมา บางรายก็รู้ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือบางกรณีอาจเลวร้ายกว่านั้น         แท้ที่จริง เรื่องนี้ยังมีมาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ถ้าทำได้ดีจะส่งผลในเชิงป้องกันได้มากกว่า นั่นคือ การยกระดับคุณภาพและความรัดกุมของการรับลงทะเบียน ซึ่งหน้าที่ในเรื่องนี้เป็นของผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือต่างๆ นั่นเอง โดยที่ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของเอกชนอีกทอดหนึ่ง         กสทช. ได้ออกประกาศเรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 ในประกาศนี้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ผู้ให้บริการต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดให้บริการ ซึ่งก็คือศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าที่จัดตั้งขึ้น โดยในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่จุดให้ลงทะเบียนต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         นอกจากนั้น ประกาศยังกำหนดเรื่องการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ รวมทั้งกำหนดว่า บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบ หากมีเหตุอันมิชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมอันเกิดจากการดำเนินการของจุดให้บริการ เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเองทุกกรณี เว้นแต่สามารถพิสูจน์ให้สำนักงาน กสทช. เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการมีมาตรการและดำเนินการตรวจสอบการกระทำของจุดให้บริการนั้น รวมถึงมีการกำกับดูแลจุดให้บริการโดยรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมแล้ว        ตามกติกาเช่นนี้ หากในทางปฏิบัติจริงทำตามได้อย่างไม่บิดพลิ้ว เรื่องการสวมรอยหรือแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนของคนอื่นลงทะเบียนเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไปย่อมไม่ควรจะเกิดขึ้นได้ หากจะเกิดขึ้นก็เพียงในกรณีที่ว่า ผู้แอบอ้างได้บัตรประชาชนฉบับจริงของผู้นั้นไป และมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าของบัตรด้วย         แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ด่านการลงทะเบียนมีมาตรฐานห่างไกลจากคำว่า “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” อย่างมาก สะท้อนต่อเนื่องว่า กติกาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และการกำกับกติกาไม่มีประสิทธิผล         ทั้งนี้พบว่า ในกรณีที่มีการร้องเรียนปัญหานี้เข้าสู่สำนักงาน กสทช. ที่ผ่านๆ มา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ให้บริการจะดูแลปิดเบอร์ให้ กรณีมีค่าบริการก็ยกเว้นการเรียกเก็บ แต่สำหรับการสืบสาวถึงสาเหตุหรือความรับผิดชอบอื่นใด ผู้ให้บริการมักไม่เปิดเผยและไม่แสดงความรับผิดชอบ ขณะที่สำนักงาน กสทช. ก็ไม่ติดใจ         สำหรับมาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ที่ กสทช. กำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ นั่นคือจำกัดให้แต่ละคนถือครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือคนละไม่เกิน 5 เบอร์         แม้ว่ามาตรการนี้อาจช่วยปิดช่องมิให้มิจฉาชีพดำเนินการเปิดเบอร์มือถือจำนวนมากและก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ แต่อาจช่วยไม่ได้มากนักในเรื่องการแอบอ้างหรือสวมรอยเปิดเบอร์ ช่วยได้ก็เพียงลดปริมาณเบอร์ที่แต่ละคนจะถูกสวมรอยเท่านั้น         ปราการสำคัญแท้จริงของเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่ขั้นตอนการลงทะเบียน ที่จะต้อง “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” ให้ได้จริงๆ ซึ่งถ้าหากผู้ให้บริการยังคงทำหน้าที่ส่วนนี้ให้ดีไม่ได้ กสทช. ก็ควรต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้น ส่วนว่า ถ้าหาก กสทช. เองก็ทำหน้าที่ให้ดีไม่ได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า ประชาชนก็ย่อมมีทางเลือกเพียงเฝ้าระวังและติดตามปัญหาด้วยตนเองเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เบอร์ที่ “มิจ” ใช้ ใครเป็นคนเปิด?

        เมื่อไม่กี่วันก่อน คนใกล้ชิดได้รับสายจาก “มิจ” รายหนึ่ง อ้างว่าโทรมาจาก กสทช. ข่าวสารที่นำพามาให้ก็คือ “เบอร์ของท่านกำลังจะถูกปิด” โดยมีเรื่องราวประกอบประมาณว่า ทาง กสทช. ได้ตรวจพบว่าท่านมีการเปิดเลขหมายไว้มากกว่า 1 เลขหมาย ซึ่ง กสทช. ไม่อนุญาต         เราฟังแบบจับความจากทางฝ่ายรับโทรศัพท์ เพียงรับรู้ว่าโทรมาจาก กสทช. ก็ตะโกนออกมาแล้วว่า “หลอกลวงๆ” ตอนนั้นยังไม่ทันรู้ว่ามีการผูกประเด็นอะไร อย่างไร         สิ่งที่ตลกมากคือ มิจรายนี้ท่าทางจะเป็นคนที่แสนอ่อนไหว พอเขาได้ยินข้อความที่เราตะโกนก็ผละจากการ “เล่าความเท็จ” มาเล่นบทหาเรื่องทันที ขึ้นเสียงดังจนลอดออกมาให้เราได้ยินว่า “ใครหลอกลวง หลอกยังไง บลาๆๆ”เสียดายที่มิจเล่นบทโมโหเสร็จก็วางสายไป ไม่เปิดให้เราได้มีโอกาสบอกว่า มิจจ๋า การบ้านที่ทำมาจนรู้ว่าเหยื่อรายนี้ถือครองสองเบอร์นั้นยังไม่พอ ต้องไปศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องมาใหม่นะ เปิดเกิน 1 เบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งนี้ ตลอดยุคสมัยนับแต่มีบริการโทรคมนาคมจนถึงปัจจุบัน รัฐและ กสทช. ไม่เคยมีกติกาจำกัดจำนวนการถือครองเบอร์ของผู้บริโภคเลยอย่าว่าแต่แค่ 2 เบอร์ ในความเป็นจริงมีคนมากมายที่เปิดเบอร์นับสิบนับร้อยเบอร์กันเลยทีเดียว         ดังนั้นอยากบอกว่า มิจจะมาใช้จิตวิทยาเล่นกับความหวงเบอร์และความกลัวการสูญเสียโดยที่มีความรู้ไม่แน่น มันไม่ work และไม่มืออาชีพเลยนะ ดังนั้นถ้าเผอิญมาเจอคนที่มีความรู้และข้อมูลเยอะกว่าก็ต้องอดทน-อดกลั้นหน่อย ไม่ใช่มาโกรธใส่         จบเรื่องมิจ มาเข้าเรื่องกติกา กสทช. เกี่ยวกับกติกาการจำกัดจำนวนเบอร์         เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ค่ายมือถือเริ่มจริงจังที่จะสื่อสารว่า ถ้าจะเปิดเบอร์ให้ทำได้คนละ 5 เบอร์เท่านั้น โดยมีการอ้างว่าเป็นประกาศของ กสทช.        แต่แท้จริงแล้ว แนวทางการกำกับของ กสทช. ในเรื่องนี้เป็นไปในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือมีการกำหนดว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือทุกรายมีหน้าที่ต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน สำหรับบุคคลธรรมดา จำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อคน         กติกานี้เกิดขึ้นในฐานะมติ กสทช. จากการประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เหตุเนื่องจากในขณะนั้นเริ่มเกิดปัญหาการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (พวกพี่มิจนั่นแหละ) และจากการตรวจจับพบกรณีมีคนที่ลงทะเบียนครอบครองเบอร์มือถือคนเดียว 300,000 หมายเลข! ซึ่งจำนวนมากขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน         ที่เด็ดกว่านั้นคือ พบกรณีมีผู้ถือครองเบอร์มือถือในชื่อของนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วย ...ใช่แล้ว คนที่กำลังรักษาการอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ         ในมุมมองของ กสทช. เหตุการณ์เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า กระบวนการลงทะเบียนซิม (เปิดเบอร์) มีความไร้ระบบ หละหลวม จนก่อให้เกิดช่องโหว่ที่ใหญ่มากซึ่งสามารถเป็นต้นตอก่อปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจึงต้องวางมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพของการลงทะเบียนเปิดเบอร์ ตลอดจนมีการควบคุมในเรื่องนี้         มาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น แต่แทนที่จะใช้วิธีจำกัดการถือครองเบอร์ของปัจเจกแต่ละราย ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค และยากที่จะหาจำนวนเหมาะสมที่กำหนดแล้วไม่ส่งผลรบกวนการใช้งานตามปกติและการใช้งานโดยสุจริต เพราะบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เลขหมายเป็นจำนวนมากในการประกอบกิจการหรือดำเนินชีวิตก็เป็นได้         จำนวน 5 เลขหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นการจำกัดไว้ที่การให้บริการเปิดเบอร์แบบทั่วไปที่อาจมีการติดต่อกันผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือผ่านตัวแทน แต่หากบุคคลทั่วไปคนใดมีความต้องการหรือจำเป็นต้องใช้งานเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่านั้นก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไปที่ศูนย์ให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่าช็อปมือถือนั่นเอง และมติ กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรายงานกรณีดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. ด้วย         แท้จริงมาตรการนี้จึงไม่ใช่การจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์หรือถือครองเบอร์ แต่เป็นการวางมาตรการควบคุมวิธีการพิจารณาเปิดเบอร์และการดำเนินการของผู้ให้บริการ         หน้าที่ในการรับลงทะเบียนหรือรับเปิดเบอร์ของผู้ให้บริการยังมีรายละเอียดอื่นมากกว่านั้น ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายระดับประกาศของ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่*         ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 สาระคือเป็นการวางหลักเกณฑ์ตั้งแต่เรื่องของเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน การมีมาตรการตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล รวมถึงข้อกำหนดว่าจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอะไรได้บ้าง        แต่กติกาของ กสทช. ดังกล่าวไม่เพียงไม่ขลัง การกำกับดูแลของ กสทช. ก็อ่อนด้วย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือทั้งหลายไม่ได้เพิ่มความรัดกุมในการดำเนินการเรื่องนี้เลย         ปัญหาการถูกลักลอบ/แอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนเปิดเบอร์จึงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ เห็นได้จากที่มีการโพสกรณีต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ รวมถึงการมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช. เอง กระทั่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เกิดเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ออกมาเผยว่าตนเองถูกแอบอ้างเปิดเบอร์มือถือถึง 32 เบอร์**         ปัญหาการถูกแอบเปิดเบอร์มือถือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องของภาระค่าบริการที่อาจติดตามมา และร้ายที่สุด เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่มี “มิจ” จำนวนมากแฝงฝังอยู่ร่วมสังคม ปัญหานี้จึงอาจพัวพันกับการก่ออาชญากรรมด้วยครั้งหน้าจึงจะขอพูดถึงเรื่องนี้ต่อ โดยจะเน้นไปในด้านของมาตรการเพื่อการป้องกันและเท่าทันกับปัญหา ทั้งในส่วนที่เป็นเกราะป้องกันที่ภาครัฐดำเนินการ และส่วนที่ผู้บริโภคเราจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะเหยื่อในลักษณะผู้สมรู้ร่วมคิดของ “มิจ”* อ่านรายละเอียดประกาศดังกล่าวได้ที่ https://numbering.nbtc.go.th/getattachment/Announcement/Announce-manual/447/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%-E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A%- E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%-E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%-E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%-E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%-E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%-E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%-E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%-E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%-E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%-E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%-E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%-E0%B9%88.PDF.aspx** อ่านข่าวดังกล่าวได้ที่ เตือนภัย! สาวเช็กเลขบัตร ปชช. เจอ ถูกนำไปเปิดเบอร์โทรกว่า 30 เบอร์ ทั้งที่ใช้จริงแค่ 2 (matichon.co.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เพราะความอยาก “เลิก” ของเราไม่เท่ากัน

        คราวนี้ยังขอว่าด้วยเรื่อง “การเลิก” ต่ออีกสักหน่อยนะคะ โดยจะเน้นในมุมเมื่อการเลิกเกิดขึ้นแบบมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มใจ หรือลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้ดีจนเข้าใจตรงกันหรือเห็นพ้องต้องกัน         แม้ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม แต่ปมประเด็นของเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักพื้นฐานในความสัมพันธ์ทั่วไป นั่นคือ เมื่อการเลิกเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาจากความยินยอมสองฝ่าย ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องมีปัญหายุ่งยากตามมา        คราวที่แล้วได้พูดไปแล้วถึงเหตุการณ์และที่มาซึ่งทำให้ฝ่ายผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือผู้ให้บริการ สามารถที่จะ “ตัดสัญญาณ” และสะบั้นสัญญาที่ทำไว้กับผู้บริโภค ซึ่งช่องทางใหญ่ที่เปิดให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก็คือเรื่องของการค้างชำระค่าบริการเกินกว่า 2 รอบบิล ซึ่งกฎหมาย (ของ กสทช.) เปิดช่องไว้ให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ         ช่องเปิดที่ว่านี้ตั้งอยู่บนหลักคิดปกติที่เข้าใจได้ นั่นคือ เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ประสบพบกับลูกค้าที่อาจจะออกอาการ “เบี้ยวหนี้”  ไม่จำเป็นต้องฝืนทนให้บริการต่อไปและเสี่ยงกับการถูกชักดาบ แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่ว่าผู้ค้างชำระหนี้ทุกรายจะเป็น “ลูกค้าเลว” อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้า ผู้ให้บริการน่าจะมุ่งรักษาไว้มากกว่าจะผลักไส ดังนั้นข้อกำหนดจึงเป็นไปในลักษณะเปิดกว้าง โดยยกให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะพิจารณา “ยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา” หรือไม่ก็ได้         อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าช่องที่เปิดกว้างนี้เองกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในหลายกรณี         ในส่วนของบริการมือถือ มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการถูกระงับ/ยกเลิกเลขหมาย เข้ามายังสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สะท้อนถึงความไม่เต็มใจของฝ่ายผู้บริโภคหรือลูกค้าต่อ “การเลิก” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบริษัท ข้อร้องเรียนของบางรายคือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าถูกระงับหรือยกเลิกบริการเพราะเหตุใด         จากสถิติทั้งปีของ พ.ศ. 2564 และ 2565 เรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวมีมากกว่า 250 กรณีต่อปี และในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วประมาณ 100 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนสูงที่สุดในส่วนของบริการมือถือ         ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการไม่รู้ตัว ไม่ควรที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในประกาศ กสทช. ที่ให้สิทธิบริษัทยกเลิกการให้บริการได้ในกรณีมีการค้างชำระค่าบริการเกินกว่าสองรอบบิลติดต่อกัน มีรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า “โดยผู้ให้บริการได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันครบกำหนดที่แน่นอนเป็นการล่วงหน้าในใบแจ้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และได้ทำการเตือนตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว” จะเห็นได้ว่า ในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ สาระสำคัญจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้ามีเจตนาต้องการรักษาความสัมพันธ์ แม้อีกฝ่ายจะผิดพลาด แต่หากพูดจาจนเข้าใจกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องตัดขาด ถ้าบริษัทยังอยากรักษาลูกค้าก็ต้องละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นในเรื่องการสื่อสาร แต่ถ้าไม่แคร์แล้วและอยากนำทรัพยากรที่มี (เลขหมายหรือเบอร์มือถือ) ไปหา (ลูกค้า) รายใหม่ที่อาจสร้างรายได้ไฉไลกว่า นั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผู้บริโภคคนใดที่ใช้เบอร์สวย (ไม่ว่าจะสวยจริงหรือสวยเฉพาะกับตัวเอง หรือเป็นเบอร์สำคัญที่หวงแหน ฯลฯ) จึงพึงต้องระวังให้ดี ห้ามกระทำการที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะเปิดช่องนี้ขึ้นมา เพราะถ้าเข้าเงื่อนไข คือค้างชำระค่าบริการครบ  2 รอบบิลทั้งๆ ที่บริษัทมีการเตือนแล้ว  การตัดสัญญาณหรือยกเลิกบริการจากฝ่ายบริษัทก็มีความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อเบอร์หลุดมือไปแล้ว การเรียกร้องเบอร์เดิมกลับคืนมานับเป็นเรื่องยาก แม้เปิดบริการใหม่ก็เลือกได้เฉพาะเบอร์เท่าที่มีการเสนอขายให้เท่านั้น         ในอีกด้านหนึ่ง การร้องเรียนของผู้บริโภคในประเด็นปัญหาลักษณะ “ไม่อาจยกเลิกบริการได้” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ปัญหานี้พบในบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่หรือเน็ตบ้านมากกว่าในบริการมือถือ โดยมีปริมาณเรื่องร้องเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งในทั้งสามปีที่ผ่านมา         แท้ที่จริง ในปัญหาด้านนี้ ข้อโต้แย้งมักไม่ได้อยู่ที่ประเด็น “การเลิก” โดยตรง แต่ปมประเด็นสำคัญมักอยู่ที่การมี “ค่าใช้จ่าย” สำหรับการเลิกก่อนเวลา ซึ่งในวิถีปกติของบริการเน็ตบ้าน เนื่องจากต้องมีการติดตั้งและมีเรื่องของการให้อุปกรณ์ด้วย โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นถูกกระจายเฉลี่ยไปอยู่ในค่าบริการรายเดือน ดังนั้นระยะเวลาการใช้บริการที่นานพอจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากจะให้สิ้นสุดเร็วกว่ากำหนดก็ต้องมีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนที่ลงทุนไปตอนต้นกลับคืนมาบ้าง         ในทำนองเดียวกัน กรณีบริการมือถือที่ “เลิกยาก” และผู้ให้บริการมักยื้อก็คือกรณีที่เป็นการเปิดบริการภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ เช่น การซื้อเครื่องราคาถูก กรณีเช่นนี้มักมีการผูกกับโปรฯ แบบใดแบบหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องใช้บริการ (ห้ามเลิก-ห้ามย้ายค่าย)         ในมิติทางกฎหมายและการกำกับดูแล  กสทช. มีการกำหนดว่า แบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก กสทช. รวมถึงการแก้ไขแบบสัญญาด้วย ดังนั้น สัญญาใดที่ไม่เคยได้ผ่านความเห็นชอบ แม้คู่สัญญาต่างลงนามโดยสมัครใจ ก็ไม่เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา บรรดาสัญญาที่พ่วงการขายเครื่องทั้งหลายมักไม่มีการเสนอขอความเห็นชอบจาก กสทช. ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้น พิจารณาตามหลักของกฎหมายกำกับดูแลแล้ว สัญญาเหล่านั้นจึงไม่มีสภาพบังคับ สรุปง่ายๆ คือ บริษัทจะผูกผู้บริโภคไว้ด้วยสัญญาดังกล่าวไม่ได้         เมื่อผู้บริโภคอยากเลิกก็ย่อมเลิกได้ตามเจตนา อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักไว้เช่นกันว่า ในกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืน หรือหากอุปกรณ์เสียหายก็ต้องชดใช้ตามจริงในราคาตลาด ซึ่งในกรณีค่าเครื่องที่ซื้อมาราคาลดพิเศษ ก็ต้องคิดคำนวณสัดส่วนใช้คืนให้บริษัทด้วย         สรุปได้ว่า การเลิกนั้นเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะทำได้ ไม่ว่าความอยากของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ความอยากและความเต็มใจอาจไม่เท่ากัน แต่ความแฟร์ควรจะมีให้กันอย่างเสมอภาค ไม่มีการเอาเปรียบกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ส่วนต่าง 0.75 สตางค์

        ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด         จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.         ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย         น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง        สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย         ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์         ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง         เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง         แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว         ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น         จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย        กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน  ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ         0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท  หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท         กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เบอร์ของคุณยายที่หายไป

        ทุกวันนี้ เลขหมายหรือเบอร์โทรศัพท์ยิ่งมีความหมายและความสำคัญกับหลายๆ คนยิ่งขึ้น จากผลของการที่ธุรกรรมต่างๆ สามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมทางการเงิน การสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำจึงไม่เพียงส่งผลกระทบเรื่องการสื่อสารทั่วๆ ไป แต่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ในหลายๆ ด้าน         เมื่อผู้ใช้บริการคนหนึ่งสูญเสียเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ไป ความปรารถนาที่จะได้รับเบอร์เดิมคืนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และเมื่อได้อ่านจดหมายที่คนผู้นั้นร้องเรียนมายัง กสทช. ก็จะตระหนักได้ว่า เรื่องนี้ถึงขั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดความทุกข์แก่เจ้าตัวเลยทีเดียว         “หมายเลขดังกล่าวได้มีการทำธุรกรรมด้านการเงิน ระบบการรักษาพยาบาล และเกี่ยวกับเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ประกอบกับดิฉันสูงอายุ (84 ปี) มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางไปติดต่อสถานที่ต่างๆ” ตอนหนึ่งของจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายมือหวัดแต่เป็นระเบียบ ระบุเอาไว้         เบอร์ที่สูญเสียนั้นใช้บริการในระบบเติมเงินล่วงหน้า เนื่องจากไม่ได้เติมเงินเข้าระบบเป็นเวลานาน วันใช้งานจึงหมด โดยบริษัทผู้ให้บริการชี้แจงว่า การตัดบริการนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนที่ผู้ร้องเรียนแจ้งคือ ใช้บริการไม่ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ประเด็นเรื่องนี้จึงนับว่าสอดคล้องกัน         ในเบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งเรื่องไปทางบริษัทก่อน แต่ได้รับคำตอบว่า หากต้องการเบอร์เดิม ต้องติดต่อภายใน 45 วัน หากเลยเวลาไปแล้ว เลขหมายจะถูกคืนเข้าระบบ กสทช. นั่นเป็นเหตุให้คุณยายลงแรงเขียนจดหมายเข้ามาขอ “ความกรุณา กสทช.”  ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน         จากการตรวจสอบพบว่า ประเด็นเรื่องเลขหมายดังกล่าวถูกคืนเข้าระบบ กสทช. แล้วนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่อง 45 วันถือเป็นกรอบเวลาสำคัญจริง เนื่องจากตามกติกาที่ กสทช. กำหนด เลขหมายที่ยกเลิกการใช้แล้วจะต้องมีการกักเก็บไว้ 45 วัน ก่อนที่จะนำไปหมุนเวียนให้บริการต่อ เหตุผลก็เพื่อเป็นการทอดเวลาสำหรับการผลัดเปลี่ยน ผู้ใช้บริการที่ได้เบอร์ใหม่ซึ่งเป็นเบอร์เดิมของคนอื่นไปจะได้ไม่ถูกรบกวนโดยญาติมิตรของผู้ใช้คนเดิมหนักหน่วงนัก         หลังพ้นเวลา 45 วัน จึงเป็นไปได้ที่เบอร์นั้นจะถูกนำไปขายในตลาดแล้วหรือกระทั่งกลายเป็นเบอร์ที่มีคนใหม่ครอบครองและนำไปใช้แล้ว         กรณีเกิดการสูญเสียเบอร์และต้องการขอคืน หากดำเนินการหลังจาก 45 วัน  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ตามประสงค์ เพราะการเรียกคืนย่อมจะกระทบสิทธิของผู้อื่นด้วย         ดังนั้น ถึงแม้ว่าการขอคืนภายในกรอบเวลา จะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับเบอร์คืนเสมอไป เนื่องจากตามกติกาไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ จึงค่อนข้างจะขึ้นกับดุลพินิจของบริษัทที่ให้บริการ (ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณาหลากมิติ ไม่ใช่เรื่องที่จะขีดเส้นชัดๆ ได้ง่ายนัก) แต่การรู้ตัวให้เร็วและเร่งดำเนินการติดต่อแจ้งความประสงค์ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้เบอร์เดิมคืนมา         อย่างไรก็ตามการขอเบอร์คืนเป็นเพียงเรื่องปลายทางมีเรื่องต้นทางที่น่าพิจารณากว่า นั่นคือการรักษาเบอร์         ตามปกติ เรื่องการยกเลิกบริการย่อมเป็นสิทธิของฝ่ายผู้ใช้บริการ มิใช่ของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ก็กำหนดเป็นหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา ยกเว้นใน 5 กรณี ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการตายหรือสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล 2) ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน 3) มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้ใช้บริการมีพฤติกรรมฉ้อฉลในการใช้บริการ หรือนำไปใช้ผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญา 4) ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้โดยเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และ 5) เป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย         ส่วนใหญ่แล้วเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกสัญญาได้มักเป็นไปตามข้อยกเว้นข้อ 2) นั่นคือเกิดกรณีที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการ ซึ่งเรื่องนี้จะได้หาโอกาสกล่าวถึงต่อไป ในฐานะที่เป็นประเด็นหนึ่งที่มักทำให้เกิดข้อพิพาท         อย่างไรก็ตามสำหรับระบบเติมเงิน เรื่องการยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายผู้ให้บริการสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านั้น เนื่องจากในตลาดมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “วันหมดอายุการใช้งาน” ซึ่งจะถูกกำหนดตามการเติมเงิน โดยที่ในการเติมเงินแต่ละครั้งจะได้ระยะเวลาการใช้งานที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง เช่น 30 วัน ดังนั้นแม้ว่ายอดเงินที่เติมไว้จะยังคงเหลือ แต่วันใช้งานก็อาจหมดลงก่อนได้         ดังเช่นในรายของผู้ร้องเรียนวัย 84 ปีข้างต้น บริษัทที่ให้บริการชี้แจงว่า การเติมเงินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ได้วันใช้งาน 60 วัน ดังนั้น ในที่สุดบริษัทจึงตัดบริการ         นี่คือช่องว่างที่ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว ดังนั้นตั้งแต่มกราคม 2565 กสทช. จึงได้มีมติว่า “ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรักษาเลขหมายของผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า กรณีวันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ ให้หักเงินในระบบเป็นค่ารักษาเลขหมายในอัตราเท่ากับค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ กสทช. เรียกเก็บจากผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้เลขหมายได้ต่อไป”         จนกระทั่งกว่าหนึ่งปีผ่านไป มติดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลในโลกความเป็นจริง         ด้วยการดำเนินการที่ล่าช้าของสำนักงาน กสทช. ปัญหาซ้ำซากเรื่องการสูญเสียเบอร์ จึงยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่ทำให้การใช้งานโทรศัพท์มือถือของหลายคนเบาบางลง และการทำธุรกรรมหลายๆ อย่างไม่สะดวก เช่น การเติมเงิน หรือแม้แต่การร้องเรียนก็ตาม เรื่องนี้จึงสรุปได้ว่าหากสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ เบอร์ของคุณยายวัย 84 ปีก็คงจะไม่ต้องหลุดมือไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 จะรักษาทั้งที อย่าให้ยา”ตีกัน”

        คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปหาแพทย์ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษานั้น  ก็บอกแค่อาการป่วยและข้อมูลแพ้ยาอะไรก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องสำคัญมากอีกอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมและการกินยาหรืออาหารอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย ก็เพื่อว่า “ป้องกันยาตีกัน” นั่นเอง         ไม่ใช่แค่บอกว่าแพ้ยาอะไร ผู้ป่วยควรจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงนี้ตนใช้ยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรร่วมอยู่ด้วย เพราะยาบางตัวเมื่อนำไปใช้ร่วมกับยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมตัวอื่นๆ มักจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา บางครั้งอาจเกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปหรือบางครั้งก็ไปทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดต่ำลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นในภายหลัง  ปฏิกิริยาแบบนี้ ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ยาตีกัน”         ตัวอย่าง คนไข้ เอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้รับยาฆ่าเชื้อคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) จากแพทย์มารับประทาน  อีก 2 วันต่อมา คนไข้มีอาการปวดไมเกรน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คนไข้ไม่ได้แจ้งว่า ตนเองกำลังใช้ยาคลาริโทรมัยซินอยู่  โรงพยาบาลจึงจ่ายยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)  เพื่อรักษาไมเกรนมาให้  เมื่อคนไข้กลับบ้านจึงรับประทานยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน  ปรากฎว่ายาทั้ง 2 ตัว  “ตีกัน”  ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว  เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง  กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิต          กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในโลกนี้ยังมียาจำนวนมากที่สามารถเกิด “ยาตีกัน” กับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณและอาหารเสริมได้  การบอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รักษา “ทราบชื่อ” ยาหรือ อาหารเสริมที่คนไข้ใช้อยู่  นอกจากป้องกันยาตีกันได้แล้วยังป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  ยาซ้ำซ้อนกับยาเดิมที่มีอยู่อีกด้วย และยังช่วยให้ประเมินได้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่หรือไม่  ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวนอกจากจะรักษาโรคได้ ก็ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน   หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ที่รักษาก็จะเปลี่ยนยา ลดขนาดหรือปรับวิธีรับประทานยา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติม         ท่องจำย้ำเตือนให้ขึ้นใจเลยครับ เวลาไปโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากในช่วงนั้นผู้ป่วยมีการใช้ ยา ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมอยู่ด้วย ขอให้นำติดตัวไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ หากมีฉลากหรือเอกสารต่างๆ ก็ขอให้นำติดไปด้วยจะยิ่งดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 กระแสต่างแดน

จ่ายแล้วจ่ายอีก        ตำรวจไต้หวันเตือนนักช้อปออนไลน์ให้ระวัง “โทรศัพท์แอบอ้าง” หลังมีผู้มาแจ้งความเรื่องดังกล่าวมากกว่า 2,725 ครั้งในไตรมาสที่สองของปีนี้กองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมของไต้หวันระบุว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้าของร้านดังหรือแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น ร้านหนังสือ books.com.tw ร้านอุปกรณ์กีฬา Decathlon Group หรือ Shopee เป็นต้น ลูกค้าจะได้รับแจ้งให้ชำระเงินซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากครั้งแรก “ทำรายการไม่สำเร็จ” หรือมีปัญหาในการทำ แบ่งผ่อนชำระ บ้างก็ได้รับข้อมูลว่าทำแล้วจะได้รับของแถม หรือได้อัปเกรดเป็นสมาชิกระดับวีไอพี ตำรวจจึงขอให้เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้กำกับดูแลบริษัทที่รับจ้างดูแลฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการรั่วไหล หรือการแฮคข้อมูล และให้แจ้งเตือนผู้ใช้ที่หน้าแรกของร้านด้วยส่วนผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการรับสายจากหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย +2 หรือ +886   จมด้วยกัน        ฝันร้ายของบริษัทประกันรถยนต์กลายเป็นจริง เมื่อมีการเคลมประกันเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยเจ้าของรถยนต์ในกรุงโซล หลังเกิดน้ำท่วมหนักเพราะฝนที่ตกหนักสองวันติดต่อกันเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการแจ้งเคลมประกันยานพาหนะที่เสียหายเข้ามากว่า 7,000 คัน และในจำนวนนั้นมีไม่ต่ำกว่า 1,500 คัน ที่เป็นรถนำเข้าราคาแพงของคนมีฐานะที่อาศัยอยู่ในย่านกังนัม   กรณีของบริษัทซัมซุงไฟร์แอนด์มารีนอินชัวรันส์ จากรถที่แจ้งเคลมเข้ามา 2,371 คัน มี 939 คัน (เกือบร้อยละ 40) ที่เข้าข่ายเป็นรถหรู ที่มีทุนประกันรวมกันไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านวอน หรือประมาณ 680 ล้านบาท แม้บริษัทประกันรถยนต์จะไม่เดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดตัวไปเหมือนธุรกิจประกันสุขภาพในบางประเทศ เพราะได้กำไรดีมาตลอดแม้ในช่วงโควิดระบาด แต่คนที่ฝันสลายคือผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าจะได้จ่ายเบี้ยประกันถูกลง ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ตลาด อะไรอยู่ในกระเป๋า            เทรนด์ใหม่มาแรงใน Tiktok ขณะนี้คือคลิปลุ้นเปิดกระเป๋าไม่มีเจ้าของ ที่คนทำคอนเทนท์อ้างว่าได้มาจากสนามบิน สถานีรถไฟ หอพักนักศึกษา หรือบ้านเช่า เป็นต้น ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้นว่าข้างในมีอะไร มูลค่าเท่าไร เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งนำกระเป๋าที่อ้างว่าซื้อผ่านแอปฯ ขายของมือสองมาในราคา 1,000 หยวน (ประมาณ 5,250 บาท) มาเปิดในคลิป นอกจากข้าวของทั่วไปของผู้หญิงแล้ว เธอยัง “เซอร์ไพรซ์” ที่เจอสร้อยคอแบรนด์เนม ราคาไม่ต่ำกว่า 40,000 หยวน (ประมาณ 200,000 บาท) ตามกฎหมาย การซื้อขายกระเป๋าดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของถือเป็นความผิด และทั้งสนามบินและสถานีรถไฟต่างก็ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายนำกระเป๋าไม่มีเจ้าของออกมาขายหรือเปิดประมูล ผู้ค้ารายหนึ่งบอกว่ากระเป๋าที่เขาขายนั้นส่วนใหญ่มาจากบ้านเช่าหรือหอพักนักศึกษา แต่ “ของมีค่า” นั้นถูกใส่เพิ่มเข้าไปภายหลัง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเป็นอุบายขายของมือสองในราคาสูงขึ้น    เข้ากลุ่มอัตโนมัติ        ศาลสูงออสเตรเลียมีคำสั่งให้ผู้เสียหายจากการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมโดยธนาคาร ANZ และธนาคาร ASB เป็นผู้ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกร้องเงินคืน เดือนมีนาคม ปี 2563 ธนาคาร ANZ ยอมรับว่าคำนวณดอกเบี้ยผิดเพราะข้อบกพร่องของโปรแกรมที่ใช้ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 และตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าประมาณ 100,000 คน รวมเป็นเงิน 29.4 ล้านเหรียญ  ด้านธนาคาร ASB ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยหลังการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 ถึง 2019 ก็ตกลงยินยอมจ่ายเงินรวม 8.1 ล้านเหรียญให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 73,000 ราย คำสั่งศาลครั้งนี้ทำให้ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้อุ่นใจได้ว่าจะมีการดำเนินคดีและมีโอกาสได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ต้องการร่วมฟ้องก็สามารถขอถอนตัวจากคดีนี้ได้ ฟังก์ชันเหลือเชื่อ        กรมยานยนต์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานพิจารณาคดีปกครองด้วยข้อ กล่าวหาว่าโฆษณารถยนต์เทสลาว่าด้วยระบบช่วยเหลือในการขับขี่ เข้าข่ายเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของฟังก์ชัน “ออโตไพล็อต” และฟีเจอร์ “ขับอัตโนมัติ” โฆษณาในเว็บไซต์บริษัทระบุว่า “สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่เข้าไปนั่ง แล้วบอกรถคุณว่าจะให้ไปที่ไหน ถ้าคุณไม่พูดอะไรเลย รถจะเปิดดูปฏิทินของคุณ แล้วพาคุณไปยังที่ๆ คาดว่าคุณมีนัดหมาย” ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่ารถเทสลาไม่ใช่ยานยนต์ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาขณะนี้หรือในขณะที่ทำการโฆษณา หากถูกตัดสินว่าผิดจริง เทสลาจะไม่มีสิทธิจำหน่ายรถในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแบรนด์และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกต่อไป ขณะนี้บริษัทกำลังถูกสอบสวนกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นขณะรถอยู่ในโหมดออโตไพล็อตด้วย        

อ่านเพิ่มเติม >