ฉบับที่ 241 ขบวนการทัวร์ลง ชกตรงๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

        ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ          “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร         เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย  เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ        ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ         ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ        สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที        ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะในการแสดงความเห็นออนไลน์

        ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มรีวิวเรื่องต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับใคร ในเรื่องใดก็ได้ แต่เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับคนที่เรากำลังวิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเห็นแบบไม่ระบุชื่อ อาจทำให้หลายคนแสดงความเห็นด้วยความโกรธ ความผิดหวัง หรือเกลียดชัง โดยไม่มีการกลั่นกรอง แต่การใช้แพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ไม่ต่างจากการใช้รถใช้ถนนบนโลกจริง การแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงกฎและมารยาทเช่นกัน         ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การเขียนสิ่งที่เป็นโดยไม่ตรงกับความจริงนั้นอาจมีผลทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องที่เราอาจจะมองข้าม เช่นการเขียนวิจารณ์ว่า "ผมว่าพิซซ่าร้านนี้ไม่อร่อย" นั้นถือเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเขียนว่า "ร้านนี้เอาพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นให้ลูกค้า" อาจเข้าข่ายการใส่ความ หากทางร้านไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง ความแตกต่างระหว่าง การแสดงความคิดเห็นและการตั้งข้อกล่าวหา อาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่         ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น เราควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้        1. ตั้งอยู่บนความจริง        การวิพากษ์วิจารณ์ร้านค้าหรือบริการต่างๆ นั้นได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรม พยายามกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง  ระวังอย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวกำหนด เพราะอาจทำให้ความเห็นของเรากลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมาย        2. การเปิดเผยข้อมูล        เมื่อเข้าใช้ระบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้คิดอย่างรอบคอบว่าใครอ่านความเห็นของเราได้บ้าง ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อดูว่าใครสามารถเข้ามาดูข้อมูลโปรไฟล์และกิจกรรมของเราได้        3. อย่าใช้อารมณ์นำ        ถ้าเราได้แสดงความเห็นออกไป ที่เข้าข่ายดูถูกเหยียดหยามหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ขอให้รีบลบโพสต์นั้นโดยเร็วที่สุด อย่าเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าถูกส่งต่อไป อาจทำให้ถูกออกจากงานได้         โดยทั่วไปไม่มีใครต้องกังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นในด้านลบ ถ้าสิ่งที่กล่าวนั้นเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความจริงและเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการแล้วการวิจารณ์ไม่ควรมุ่งทำร้ายผู้อื่นหรือเป็นการแก้แค้น        วิจารณ์อย่างไรให้ได้ผล        · แนะนำว่าปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะเขียนแค่ว่าอะไรต้องปรับปรุง หรือแค่ติว่าอะไรไม่ดี        · วิจารณ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัสหรือประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น        · เน้นว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเราเอง เช่น "ผมคิดว่ากาแฟเข้มไปหน่อย"        · ไม่อ้างข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        · ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล (อาจมีข้อยกเว้น)        สำหรับเจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำงานกับผู้คนนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประเมินและวิพากษ์วิจารณ์เสมอ  โดยทั่วไปผู้มีอาชีพในกลุ่มนี้ ต้องยอมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับบริการของพวกเขา แต่เมื่อพบเจอกับการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีจัดการเบื้องต้นดังนี้         · ในคำวิจารณ์ที่รุนแรง มักมีคำแนะนำที่นำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้ซ่อนอยู่เสมอ        · ระบบโซเซียลหรือแพลตฟอร์มบางแห่ง อนุญาตให้เจ้าของกิจการเข้าไปชี้แจงต่อคำวิจารณ์ได้ ให้รีบเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง จะสามารถลดความเสียหายจากความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมได้        · หากพบคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของแพลทฟอร์มนั้นโดยตรง ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องให้ทางกฏหมายจัดการ        · สำหรับเรื่องที่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ควรไปแจ้งความ         ผู้รับคำวิจารณ์ควรตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตมักจะแตกต่างจากการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเสมอ การที่ไม่ต้องระบุตัวตนอาจทำให้ผู้วิจารณ์ขาดความระมัดระวังในการใช้คำพูด ส่วนทางผู้วิจารณ์เองก็ควรจะระลึกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน ควรยึดหลักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ถูกวิจารณ์ได้นำความคิดเห็นนั้นไปใช้ปรับปรุงบริการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ล่อลวงล่อหลอก

ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็น ข้อมูลข่าวสารดีๆ เราสามารถค้นหาได้ในเน็ต แต่หลายครั้งก็พบว่าเมื่อเราตามไปอ่านข่าวสารต่างๆที่สนใจเหล่านั้น บางทีเราก็จะพบข้อมูลแปลกๆแทรกในหน้าข่าวต่างๆ โดยชักจูง ล่อลวงให้เราตามไปอ่านอย่างแนบเนียนจนเราไม่รู้สึกตัว        ในช่วงที่ผ่านมา คนกำลังตื่นตัวและหวาดกลัวกับปัญหาฝุ่น 2.5 สื่อโซเชียลหลายเว็บนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น 2.5 แต่เมื่อลองตามเข้าไปอ่าน กลับพบว่าในบางเว็บมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นเครื่องดื่ม แต่ฉวยโอกาสว่า ดื่มแล้วจะมีสารต้านฝุ่น 2.5 ในร่างกาย แทรกในท้ายๆของข่าวสาร หรือในเว็บที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสายตา เมื่อตามไปอ่านกลับพบว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อ้างว่าช่วยรักษาสารพัดปัญหาตาได้อีกด้วย        ล่าสุดผมตามไปอ่านเว็บเกี่ยวกับสมุนไพร อ่านไปได้ครึ่งหน้ากลับมี ข้อความแปลกๆ โผล่ขึ้นมา เช่น ย้อนวัยทั้งคืน ทีแรกก็ยังงงๆ กับข้อความกำกวมดังกล่าว แต่พอกดลิงค์ตามเข้าไปดู กลับกลายเป็นข้อความ บรรยายว่า “ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ชนิดนี้ เป็นสินค้าที่นำเอาตำรับยาสมุนไพรจีน มาพัฒนาโดยใช้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีส่วนช่วยบำรุงและกระตุ้นการทำงานของตับและไต ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ระบบของเหลวในร่างกายมีความสมดุล ช่วยเพิ่มฮอร์โมนในเลือด” มีการอ้างต่อว่า “มีส่วนผสมของ ราชาแห่งสมุนไพร (ถังเช่า) ด้วย” หลังจากนั้นก็ไม่ปิดบังอะไรแล้ว เพราะมีการใช้ข้อความโต้งๆ กันไปเลยว่า “แต่ก่อนเป็นกล้วยไข่  เดี๋ยวนี้เป็นกล้วยหอม อาหารเสริมสำหรับผู้ชาย ใหญ่ อึด ถึก ทน ต่อรอบได้” ตามด้วยการระบุว่าสินค้านี้มีเลข อย. รวมทั้งแจ้งการสั่งซื้อทางไลน์        สอดคล้องกับเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนที่มาที่แผนกผมในระยะหลังๆ พบว่ามีผู้บริโภคหลายรายที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จากเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ฯลฯ พอใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ก็พบว่าไม่ได้ผล หรือมีอาการแปลกๆ จึงมาร้องเรียน หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่มาใช้อีก แล้วก็มาร้องเรียนอีก วนเวียนไปมาเรื่อยๆ        เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ขายที่มีปัญหา มักจะใช้หลากหลายกลวิธีล่อลวงล่อหลอก ผู้บริโภคในยุคนี้จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดเท่าทัน Smart Consumer หากจะเลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากเน็ต ขอให้ตรวจสอบข้อมูลหลายๆ ทาง หากเป็นผู้ขายหน้าใหม่ เราไม่รู้จัก อย่าเพิ่งรีบซื้อ พยายามศึกษาและตรวจสอบสินค้าในเว็บตลอดจนข้อความโฆษณาว่ามันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  หากไม่แน่ใจให้สอบถามเจ้าหน้าที่  หรือหากพลาดตัดสินใจซื้อสินค้าไปแล้ว ขอให้เก็บหลักฐานการสั่งซื้อให้ดี เช่น บันทึกภาพหน้าจอหรือข้อความที่ได้พูดคุยโต้ตอบ ใบสร็จรับเงิน หรือใบส่งของ สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ตอนมาร้องทุกข์ และจะทำให้ติดตามผู้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น        อยากให้นึกไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์เทวดาที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณมหัศจรรย์ไม่มีในโลก หากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาโอเวอร์ ถึงจะอ้างว่ามีเลขที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนดีกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 M Help Me ช่วยเหลือคนทั้งมวล

                สังคมโซเชียลในปัจจุบันมีให้เห็นข่าวภัยอันตรายที่เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่าสังคมไทยมีแต่เรื่องน่ากลัวไปหมด ผู้ใหญ่เริ่มเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกหลานกันมากขึ้น จนอาจถึงขั้นวิตกกังวล หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้เรียนวิชาป้องกันตัว การลงทุนซื้อรถยนต์ส่วนตัวให้ เป็นต้น         ด้วยภัยอันตรายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในปัจจุบัน จนทำให้ต้องคอยเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นรอบตัวในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต เครื่องมือหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยได้ส่วนหนึ่งก็คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” มาบนสมาร์ทโฟนที่ผู้อ่านใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน “M Help Me” ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ในการเข้าป้องกัน ให้ความช่วยเหลือ และแจ้งข่าวสารในด้านต่างๆ เมื่อเข้าแอปพลิเคชันครั้งแรกจะต้องเลือกภาษาที่ต้องการ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน) และเริ่มต้นการใช้งานโดยกรอกชื่อนามสกุลและเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานระบบแอปพลิเคชัน         ภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนูด้านบนสุด จะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจร กรมเจ้าท่า สำนักงานสถิติ กรมทรัพยากร กระทรวงพัฒนาการสังคม สถาบันสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น หรือสามารถเข้าได้ในเมนูถัดไปที่เขียนว่าแจ้งข่าวสารก็ได้         ถัดลงมาจะเป็นการแสดงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้แอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ ต่อจากนั้นจะเป็นหัวข้อการช่วยเหลือ ซึ่งจะรวบรวมแบบฟอร์มการร้องทุกข์ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ และยังมีข้อมูลการช่วยเหลือที่แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ สายด่วน แผนที่ เตือนภัย และประกาศ        สามารถค้นหาสถานที่สาธารณะในบริเวณใกล้เคียง เช่น สถานีตำรวจ สถานพยาบาล หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานีรถไฟ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยจะปรากฎเป็นแผนที่เส้นทางให้อัตโนมัติ        ที่สำคัญของแอปพลิเคชันนี้คือ ปุ่มแจ้งเหตุ โดยผู้ใช้ต้องเลือกหน่วยงานที่จะแจ้งเหตุระหว่างกองบังคับการตำรวจจราจรกับศูนย์ความช่วยเหลือ และกรอกข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งเป็นข้อความหรือภาพถ่าย ภาพวิดีโอ เพื่อส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวไปยังปลายทาง         ส่วนบริเวณด้านล่างสุดของหน้าแอปพลิเคชันยังมีส่วนของการรายงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่แสดงให้ทราบว่ามีผู้ที่รอความช่วยเหลือและช่วยเหลือสำเร็จแล้วกี่คนบ้าง        ต่อไปเป็นปุ่มที่สามารถใช้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องการได้รับความช่วยเหลือทันที เป็นปุ่มสีแดงที่เขียนว่า SOS เมื่อกดเข้าไปจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อเริ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินภายใน 3 วินาที ซึ่งปุ่ม SOS นี้มีความสำคัญอย่างมาก         ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจึงควรที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาเก็บไว้ใช้งานกรณีที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เพราะแอปพลิเคชัน “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” สามารถช่วยเหลือคนทั้งมวลเหมือนตามชื่อแอปพลิเคชันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสต่างแดน

คุณบอกดาว! มาตรการใหม่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรของออสเตรเลียจะทำให้คุณแอบอิจฉา เพราะต่อไปนี้จะมีการ “ติดดาว” ให้กับอาหารสำเร็จรูปเพื่อบอกให้รู้ว่าอาหารนั้นดีต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด Health Star Rating ที่ว่านี้มีตั้งแต่ ครึ่ง ถึง 5 ดาว โดย 5 ดาวหมายถึงอาหารที่มีประโยชน์สุดๆ จะกี่ดาวไม่ว่า แต่เขากำหนดให้ผู้ผลิตนำเสนอดาวอย่างชัดเจนบนฉลากด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน กว่าจะตกลงกันได้ รัฐบาล ผู้ผลิต องค์กรด้านสุขภาพ และองค์กรผู้บริโภค ก็ใช้เวลาหลายปี ไหนจะมีการล็อบบี้จากอุตสาหกรรมอาหารเข้าแทรกเป็นระยะ   ด้านผู้ผลิตก็มีความหงุดหงิดอยู่บ้างเป็นธรรมดา เขาบอกว่าต้องใช้เงินถึง 200 ล้านบาท ในการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแพคเก็จ และยังบอกด้วยว่ายังไม่เห็นหลักฐานจากงานวิจัยที่บอกว่าการติดดาวนี้จะแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ ออสเตรเลีย ซึ่งประชากร 10 ล้านคน (จากทั้งหมด 23 ล้านคน) อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ตั้งเป้าจะลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังและโรคอ้วนได้ด้วยวิธี “ติดดาว” ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ขั้นแรกเขาให้เป็นความสมัครใจของผู้ผลิต แต่ถ้าสองปีผ่านไปแล้วคนสมัครใจยังมีน้อยมาก ก็จะเปลี่ยนเป็นแบบบังคับกันล่ะครับผม   การศึกษาดีเริ่มที่บ้าน ที่เมืองจีนนั้นคุณจะไม่มีสิทธิเลือกโรงเรียนถ้าคุณต้องการให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล เพราะกฎหมายกำหนดให้คุณส่งลูกเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเท่านั้น แต่โรงเรียนดีๆ ที่สามารถการันตีอนาคตเด็กได้กลับมีน้อยมาก (คุ้นๆนะ) เรียกว่าถ้าใครมีบ้านอยู่ในเขตเดียวกับโรงเรียนดังก็เหมือนถูกหวยเลยทีเดียว ถึงไม่มีก็ไม่ยาก ถ้าคุณมีเงิน ในข่าวเขายกตัวอย่างของครอบครัวหนึ่งที่ตัดสินใจขายบ้านหลังใหญ่ ในย่านที่มีสภาพแวดล้อมยอดเยี่ยม เพื่อนำเงินมาซื้ออพาร์ตเมนต์ในเขตเดียวกับโรงเรียนที่หมายตาไว้ให้ลูก ซึ่งจะเข้าโรงเรียนในอีก 3 ปีข้างหน้า (กฎของเมืองเซี่ยงไฮ้กำหนดให้เด็กต้องมีชื่อเป็นผู้อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนอย่างน้อย 3 ปี) แต่คุณต้องทำใจ เพราะที่อยู่อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนดังนั้นจะมีราคาแพงกว่าที่อยู่นอกเขตเป็นเท่าตัว และยังไม่นับว่าสภาพก็ค่อนข้างจะย่ำแย่ด้วย อพาร์ตเมนท์ขนาด 28 ตารางเมตร ที่ครอบครัวนี้ตัดสินใจซื้อนั้น แม้จะอายุ 30 ปีแล้ว ก็ยังขายได้ราคาประมาณ 250,000 บาท (50,000 หยวน) ต่อตารางเมตร ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน พ่อแม่เหล่าก็ยินดีจ่ายโดยไม่ลังเล เพราะช้าเดี๋ยวหมดแล้วลูกจะอดเรียน ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจีนมีคอนโดสร้างใหม่ที่ไม่มีใครไปซื้ออยู่ ... คงเป็นเพราะไม่มาสร้างในย่านที่มีโรงเรียนดีๆ นี่เอง     คนรุ่นใหม่เชิดใส่บัตรเครดิต เรากำลังพูดถึงคนอเมริกันในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวที่กลัวการเป็นหนี้ ข้อมูลจาก FICO (คล้ายๆ บริษัทเครดิตบูโรที่บ้านเรา) ระบุว่า คนอายุระหว่าง 18 – 29 นิยมไม่มีบัตรเครดิตกันมากขึ้น ข้อมูลปี 2012 ระบุว่ามีถึงร้อยละ 16 และหนี้บัตรเครดิตของกลุ่มอายุนี้ก็ลดลงด้วย เมื่อ 5 ปีก่อนเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 3,073 เหรียญ (95,500 บาท) ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 2,087 เหรียญ (65,000 บาท) ข่าวบอกว่าสาเหตุหนึ่งคือ พ.ร.บ.บัตรเครดิต ที่ประกาศใช้เมื่อสี่ปีที่แล้วนั้นทำให้คนอายุต่ำกว่า 21 ปีขอมีบัตรเครดิตได้ยากขึ้นกว่าเดิม และภาวะฝืดเคืองยังทำให้หนุ่มสาวอเมริกันเลือกที่จะไม่ซื้อรถเพราะต้องการเก็บเงินสำรองไว้ยามจำเป็น และไม่ใช้บัตรเครดิตเพราะกลัวว่าจะเมื่อมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินได้ ก็จะถูกบันทึกประวัติ ทำให้ไม่สามารถขอกู้เงินในยามฉุกเฉิน และคนกลุ่มนี้ยังนิยมใช้การจ่ายเงินผ่านมือถือหรือการหักบัญชีธนาคารกันมากขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวก่อน ... แม้จะไม่มีหนี้บัตรเครดิต แต่หนุ่มสาวเหล่านี้กลับมีหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษามากขึ้น จากหนี้เฉลี่ยคนละ 6,500 เหรียญ (202,000 บาท) เมื่อ 5 ปีก่อน เพิ่มเป็น 11,500 เหรียญ (358,000 บาท) ในปี 2012   กีวีนิยมกินกล้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติของนิวซีแลนด์ระบุว่า ผลไม้ที่ชาวกีวีนิยมซื้อหามารับประทานมากที่สุดคือกล้วยหอม สถิติระบุว่า ประชากรหนึ่งคนจะบริโภคกล้วยหอมปีละ 18 กิโลกรัม (หรือสัปดาห์ละ 2 ลูก) และแต่ละครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องกล้วยๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 บาท แซงหน้าแอปเปิ้ลและส้ม ซึ่งมียอดซื้ออยู่ที่ 1,500 และ 650 บาท ต่อครัวเรือนต่อปีไปขาดลอย อาจเป็นเพราะผู้คนรู้สึกว่ากล้วยเป็นอาหารที่คุ้มค่าเงินที่สุด ในขณะที่ราคาอาหารในนิวซีแลนด์พากันขึ้นราคาเป็นสามเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้วยหอมมีราคาเพิ่มจากเดิมเพียงสองเท่าเท่านั้น (จาก 34 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 68 บาท) แถมกล้วยหอมยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ถูกใจคนที่ต้องการอิ่มท้องแต่ไม่ต้องเสียเงินมากอีกด้วย แต่ขอบอกว่านิวซีแลนด์ไม่ได้ปลูกกล้วยหอมเองเลย เขาต้องพึ่งพากล้วยหอมนำเข้าจากเอกวาดอร์และฟิลิปปินส์ ความต้องการเยอะขนาดนี้ เกษตรกรไทยสนใจจะปลูกไปขายเขาบ้างไหม?     ระวังผู้ติดตาม แม้ปัจจุบันการมีผู้ติดตาม หรือ Follower ในเว็บโซเชียลทั้งหลายจะไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาจะมีให้มากไว้ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากคนอเมริกันจะถูกรัฐบาลแอบฟังเป็นประจำแล้ว (ตามที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนออกมาแฉ) แล้ว พวกเขายังเป็นเป้าหมายการติดตามของบรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอเนีย พบว่ามีคน “อยากรู้ว่าคุณอยากรู้อะไร” เพื่อนำไปประเมินหรือตีความว่าสุขภาพร่างกายจิตใจของคุณปกติดีหรือไม่ นักวิจัยทดลองใส่คำค้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ อย่าง “โรคซึมเศร้า” หรือ “มะเร็ง” ลงไปในเว็บไซต์ด้านสุขภาพ เช่น เว็บของสถาบันสุขภาพ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ WebMD และ Weight Watcher แล้วใช้ซอฟต์แวร์ฟรี DoNotTrackMe และ Ghostery ตรวจจับว่าบุคคลที่สาม (Third Party) ในเว็บไซต์ที่เข้าไปมีใครบ้าง แล้วใช้ซอฟท์แวร์อีกตัวหนึ่งตรวจหาว่ามีการส่งต่อข้อมูลจากเว็บนั้นไปยัง Third Party ด้วยหรือไม่ ผลคือทุกเว็บที่สำรวจต่างก็มี “บุคคลที่สาม” และมีอยู่ 13 จากทั้งหมด 20 เว็บที่คอยติดตามข้อมูลผู้ใช้ สำคัญที่สุดคือมี 7 เว็บจาก 20 เว็บที่ส่งต่อข้อมูลการค้นหาของคุณออกไปให้คนอื่น ทั้งนี้ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า เว็บไซต์ต่างๆ ยังสามารถทำอย่างนี้ได้ก็เพราะกฎหมายของอเมริกายังไม่ชัดเจนเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นั่นเอง นักวิจัยเตือนว่า การถูกเปิดเผยว่าเรากำลังวิตกกับอาการเจ็บป่วยอะไรนั้นไม่ได้แค่ทำให้เราอับอาย แต่มันหมายถึงเราอาจถูกปฏิเสธโอกาสในการได้งานทำด้วย //

อ่านเพิ่มเติม >