ฉบับที่ 260 Growth Mindset กับคนจน (1)

        ยุคนี้ใครๆ ก็ต้องพูด Growth Mindset ทั้งผู้บริหาร นักการศึกษา จนถึงไลฟ์โค้ช คำนี้มีที่มาจากหนังสืออันโด่งดังของด็อกเตอร์ Carol Dweck ที่ชื่อว่า ‘Mindset’         ด็อกเตอร์ Carol แบ่ง Mindset เป็น 2 แบบคือ Fixed Mindset กับ Growth Mindset อธิบายง่ายๆ ได้ว่าคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset จะมองว่าทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่อยากผิดพลาด ไม่อยากเรียนรู้จึงไม่พยายาม         ส่วน Growth Mindset ตรงข้าม คือเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาตัวเองและชีวิตให้ดีขึ้นได้ ชอบที่จะเรียนรู้และไม่กลัวความผิดพลาด เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอเพราะเชื่อว่ามันคือหนทางก้าวไปข้างหน้า        ถ้าว่ากันด้วยนิยามนี้ คนที่มี Growth Mindset ย่อมมีโอกาสมากกว่าในชีวิต         ในเรื่องทางการเงินก็เช่นกัน Growth Mindset ช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จทางการเงินได้มากกว่า เพราะคนที่มี Growth Mindset ใส่ใจกับการเรียนรู้และการเรียนรู้เป็นการลงทุนในตัวเองเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด มุ่งมั่นพัฒนาตนเองด้วยความเชื่อว่าชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้         คนที่มี Growth Mindset รู้ว่าควรตั้งเป้าหมายให้ชีวิตอย่างไร เป็นเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้ วัดผลได้ มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นระบบ         คนที่มี Growth Mindset ล้มเหลวและผิดพลาดได้เหมือนคนอื่นๆ แต่พวกเขาจะลุกขึ้นเร็ว มองความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธี และนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไป        คนที่มี Growth Mindset สนใจการลงมือทำมากกว่าการบ่นหรือโทษคนอื่น ไม่รอให้ทุกอย่างพร้อมหรือรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์เท่าที่ตัวเองพร้อมและรู้ในขณะนั้นๆ ไม่รอโอกาส แต่วิ่งเข้าหาโอกาส และกล้าเสี่ยง เพราะต้องไม่ลืมว่าการไม่เสี่ยงเลยคือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ถ้าคุณอยากจะพัฒนา Growth Mindset ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีให้อ่านเยอะแยะมากมายบนอินเตอร์เน็ต เช่น การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง (และของคนอื่น) เพราะมันจะทำให้คุณตระหนักว่าคุณต้องทำผิดพลาดแน่ๆ ในสักวัน ฉะนั้นอย่าไปกังวลมาก แค่เปิดรับประสบการณ์ ทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยคิดหรือไม่เคยกล้าทำ อย่างการลงทุน คุณอาจเริ่มลงทุนจำนวนน้อยๆ กับกองทุนที่ศึกษามาแล้ว เป็นต้น         แต่เรื่องนี้จะหักมุมตอนท้าย เป็นไปได้หรือที่เราจะทำให้คน 7 พันล้านคนบนโลกมี Growth Mindset แล้วคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งมักจะวัดด้วยตัวเงินคือคนที่มี Growth Mindset คนจนที่มีพฤติกรรมน่าหงุดหงิดในสายตาชนชั้นกลางล่ะ เพราะพวกเขามี Fixed Mindset หรือมันมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น         ...มาดูกันฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เพราะรัฐต้องดูแลชีวิตประชาชน

        ปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ พูดแบบไลฟ์โค้ชด้านการเงินก็คงบอกว่าควรใช้เวลานี้เริ่มเก็บออมเงินสำหรับใครก็ตามที่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีต่อตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็จริง         เมื่อใครๆ ก็พูดไปแล้วจึงไม่ขอพูดซ้ำอีก แต่ขอพูดในสิ่งที่ไลฟ์โค้ชไม่พูด ซ้ำยังทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจเสียอีก         ขณะที่เรากำลังเก็บหอมรอมริบ เราควรเริ่มใส่ใจ กดดัน และเรียกร้องการดูแลจากรัฐให้มากขึ้น ที่ไลฟ์โค้ชชอบพูดกันเหมือนนกแก้วนกขุนทองว่าจงสร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง อย่าแบมือขอ บางทีก็ไร้สาระ ทำไมเราจะเรียกร้องให้รัฐดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเราไม่ได้ ในเมื่อเราเสียภาษีเพื่อการนี้และเป็น ‘หน้าที่’ ของรัฐโดยตรง         ตรงกันข้าม ถ้ารัฐไม่เอาเงินภาษีไปใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การซื้ออาวุธ การปรับปรุงคลองด้วยเงิน 80,000 ล้าน (คือมันต้องมากขนาดนี้เหรอ?) สร้างห้องน้ำบนเครื่องบินของนายกฯ ราคาหลายสิบล้าน แล้วนำมาดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ มันจะช่วยผ่อนเบาภาระของเราลงได้หลายเรื่อง         ทำไมการที่รัฐดูแลความเป็นอยู่ สวัสดิการพื้นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำ ถึงช่วยให้เราเก็บเงินได้เร็วขึ้น สะสมความมั่งคั่งได้เร็วขึ้น         -ถ้าสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว 3 ระบบถูกจัดการให้เป็นระบบเดียวจะช่วยให้สวัสดิการสุขภาพมีเงินมากขึ้น แล้วจัดการระบบให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยระบบก็เข้ามาดูแล เราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากเท่าทุกวันนี้         -ถ้าการศึกษาที่มีคุณภาพและฟรีจริงๆ เราก็ไม่ต้องกังวลกับค่าเทอม ค่าแปะเจี๊ยะ ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์ ค่าเรียนพิเศษ ไม่ต้องให้นักร้องมาวิ่งขอเงินเป็นทุนให้เด็กแค่ 109 คน เราจะเก็บเงินได้เร็วขึ้น         -ถ้ามีระบบประกันสังคมที่ดี แรงงานนอกระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการสามารถเข้าสู่ระบบนี้ได้ ตกงาน คลอดลูก งานศพ เราจะได้รับเงินเยียวยา         -ถ้าป้องกันการผูกขาดได้ ธุรกิจมีการแข่งขัน ตลาดทำงาน ย่อมเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างสรรค์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนในหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนดีขึ้น         -ถ้ามีระบบบำนาญแห่งชาติที่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเงินรายเดือนอย่างเพียงพอ เงินที่เราต้องเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณก็จะลดลง เบาแรงไปได้เยอะ         -ถ้ามีการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เก็บภาษีทรัพย์สิน ย่อมมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งเงินที่ได้จะนำไปใช้จ่ายกับเรื่องอื่นๆ ข้างต้น        -ถ้าการเมืองดีและเป็นประชาธิปไตย เราจะมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทัดทานการใช้งบประมาณแบบไม่เห็นหัวประชาชน         เห็นไหมว่าเรื่องระดับโครงสร้างนั้นกินความถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการเก็บออมเงิน อย่าเชื่อแต่คำพูดดูดีของไลฟ์โค้ช เพราะถ้าเราผลักดันให้โครงสร้างสังคมดี มันก็ไม่ต่างกับการลงทุนชนิดหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทั้งต่อตัวเอง คนอื่นๆ และลูกหลานด้วย

อ่านเพิ่มเติม >