ฉบับที่ 255 รู้จัก เข้าใจ ภาวะ Long COVID

        องค์การอนามัยโลก ออกประกาศนิยามภาวะ  Long COVID เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือนนับหลังจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้         “นิตยสารฉลาดซื้อ” จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เผยแพร่โดย “กรมการแพทย์” ทำให้พอสรุปได้ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนจะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อหายป่วยร่างกายก็จะมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองแตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ แต่บางรายเมื่อหายจากการป่วยโควิด-19 แล้วยังหลงเหลือกลุ่มอาการ Long Covid อาทิ อาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆ หน้าอก ไอและปวดศีรษะ ท้องร่วง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปวดตามข้อ รู้สึกจี๊ดๆ ตามเนื้อตัว หรือปลายมือ ปลายเท้า มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อ่อนเพลีย มีไข้ ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก เนื่องจากลักษณะของอวัยวะต่างๆ ของร่ายการที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ         จากการสำรวจภาวะ long covid ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ พบว่าอาการ ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่  อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ไอ  นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ วิตกกังวล/ เครียด ความจำสั้น เจ็บหน้าอก         ทั้งนี้ แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ถ้าพูดถึงข้อบ่งชี้ภาวะ long covid จะนับหลังจากหายป่วยโควิดไปแล้ว 3 เดือน บางคนถึง 6 เดือนขึ้นไป แต่ส่วนมากจะจบที่ 6 เดือน ซึ่งจากการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมา พบว่า  มักจะมีปัญหาเหนื่อยอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ภาวะสับสน  ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาการนอนไม่หลับ สับสน เป็นอันดับต้นๆ          ถ้าถามว่ามีปัญหาหรือไม่ เมื่อมีการดูเรื่องการทำงานของอวัยวะจริงๆ เช่น กรณีผู้ที่หายป่วยแล้ว บ่นว่าหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยมากนั้น เมื่อมีวัดออกซิเจนในเลือกก็ปกติ เอ็กซเรย์ปอดก็ดี ดังนั้นอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่ปอดกำลังฟื้นตัว หลังเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ อาจจะรบกวนชีวิตรบกวนชีวิตช่วงต้นแต่นานๆ ไปก็จะดีขึ้น         “การฟื้นตัวของปอดนั้นเป็นคนละเรื่องกับ long covid ซึ่งคนป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้ออกซิเจนไประยะหนึ่งแล้วค่อยลดระดับออกซิเจนลง แต่ยังไม่ได้นับว่าเป็น long covid เพราะ long covid จะนับ 3-6 เดือนขึ้นไปซึ่งคนที่ฟื้นตัวจากปอดอักเสบ”         สำหรับการดูแลภาวะ long covid นั้น ถ้ามีอาการมากก็ต้องตรวจวินิจฉัยว่ามีโรคร่วมหรือไม่ เพราะภาวะ long covid บางครั้งอาจจะไม่ถึงขั้นว่าจะต้องใช้ยาช่วย ส่วนมากที่มีปัญหาเนื่องจากพื้นฐานของโรคประจำตัวเดิม ส่วน long covid อาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ซึ่งใช้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้ดี หลับสนิท ไม่เครียด ก็จะทำให้ดีขึ้นเอง         “อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการเกิดขึ้นหลังจากติดโควิดไปแล้ว 3 เดือน หากประชาชนมีอาการที่ก็ยังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าเกิดจากอะไร ก็แนะนำให้ตรวจเช็คกับแพทย์ เพราะบางครั้งอาจจะมีโรคอื่นที่มีอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว พอเจอโควิดเข้ามามันก็เหมือนเป็นการผสมโรงทำให้โรคที่เป็นอยู่เดิมมีอาการรุนแรงขึ้น มองเห็นชัดขึ้น เมื่อเรามีปัญหาโรคเดิมอยู่ก็ไปจัดการตรงนั้น”           ขณะที่ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาวะ long covid แม้จะเป็นอาการทางกายหลายๆ อาการ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็น “ความรู้สึก” เช่น รู้สึกเหนื่อย รู้สึกวิตกกังวล ใจสั่น รู้สึกหายใจติดขัด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึ่งเมื่อตรวจร่างกายทั่วไปแล้วอาจจะพบร่องรอยของโรคในแบบที่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร เป็นอาการที่ไม่มีความจำเพาะ เพราะฉะนั้นมีความสุ่มเสี่ยงมากที่คนจะเข้าใจว่าตัวเองเป็น long covid  จากความกังวล         อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เจ้าตัวจะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่ได้รับความเข้าใจ และหวาดกลัวว่าทำอย่างไรถึงจะหาย ในมุมนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องช่วยกันให้ข้อมูลกับคนไข้ ว่าอาการหลายอย่างจะเกิดขึ้นและอยู่นาน ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แล้วแต่ศักยภาพทางร่างกาย ความรู้สึก ความมั่นใจจะยังไม่เท่าเดิม จึงต้องให้เวลากับตัวเอง ในช่วงแรกหลังหายป่วยต้องพักผ่อนให้เต็มที่ ใช้ชีวิตอย่างมีสุขอนามัยที่ดี เช่น กินอาหารถูกส่วน ดื่มน้ำเพียงพอ นอนหลับให้ดี และส่งเสริมให้ตัวเองได้ออกกำลังกายเบาๆ และเพิ่มความหนักขึ้น จนสอดคล้องกับสภาพร่างกาย หากมีอาการอะไรที่เป็นแล้วเป็นนาน หรือหากไม่มั่นใจก็สามารถปรึกษาแพทย์ หรือแม้แต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน แต่ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป         “ที่น่าเห็นใจ เนื่องจากมีอาการทางกายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กว่าครึ่งหนึ่งจะถูกเข้าใจว่าเป็นปัญหาทางจิตใจ เป็นสภาพที่เจ้าตัวก็รู้สึกทุรนทุราย คนอื่นก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อาจจะกลายเป็นว่าสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอาจจะรู้สึกว่าผู้ที่หายป่วยขาดความสนใจกับคนอื่น หมกมุ่นกับความเจ็บป่วย คนในที่ทำงานก็อาจจะมองว่าเกลียดเกียจคร้านหรือเปล่าเพราะเขาอ่อนแรง แกล้งป่วยหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ การไม่ได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง แล้วตัวเองก็เกิดความสงสัยด้วย ก็จะเรียกว่า long covid ทางใจที่เสริมเข้าไปอีกบนพื้นฐานร่วมทางกายที่มีอยู่ระดับหนึ่ง”         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมไทย แม้ว่าจะอยู่ในบรรยากาศที่มีการระบาดของโรคจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้มีข้อจำกัดบางเรื่อง แต่ในภาพรวมแล้วประชาชนได้รับการดูแลที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) หลายคน ที่ติดเชื้อก็รู้สึกว่าตัวเองได้รับความรู้เรื่องโรคที่เป็นอยู่มากขึ้น มีความเข้าใจว่าจะดูแลตัวเองในสถานการณ์โควิดอย่างไร ประกอบกับสังคมไทยมีเครือญาติ เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านที่เข้าใจโอกาส ที่จะมีปัญหาทางสภาพจิตใจจึงไม่มากเท่ากับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ         ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า การกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และมีความสำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรค และทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็ว สอดคล้องกับที่ “องค์การอนามัยโลก” มีคำแนะนำล่าสุดปี 2563 ว่า          1. กินอาหารให้หลากหลาย รวมทั้ง ผักและผลไม้ทุกวัน ควรรับประทานธัญพืชเต็มเมล็ด กินโปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์เลือกชนิดไม่ติดมัน กินปลา ไข่และนม         2.ลดการบริโภคเกลือ ควรได้รับไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ใช้เกลือไอโอดีน จำกัดการบริโภคน้ำตาล จำกัดการบริโภคของหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้และเครื่องดื่มน้ำผลไม้         3.กินไขมันและน้ำมันในปริมาณปานกลาง เลือกแหล่งอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา ถั่ว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน         4.เลี่ยงการกินอาหารแปรรูปหรือเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งจะมีปริมาณไขมันและเกลือที่สูง และดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         สำหรับอาหารที่แนะนำเป็นอาหารที่ย่อยง่ายให้ร่างกายสามารถดึงพลังงานจากอาหารไปใช้ได้เร็ว และช่วยหลีกเลี่ยงอาการจุกเสียดแน่นท้องได้         “ไข่ต้มสุก” สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินชนิดต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างดี         “ซุปและน้ำแกง” เมนูที่ผู้ป่วยสามารถซดน้ำได้ แต่ไม่ให้มีรสชาติจัดจ้าน ไม่ควรมีน้ำมัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการคันคอ ไอหนักขึ้นได้         “ผัก ผลไม้” ที่มีวิตามินซีสูง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโควิด19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผักและสมุนไพร ผ่านการปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่แนะนำให้ปรุงอาหารแบบผัดด้วยน้ำมัน เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการระคายคอได้          “ส่วน 10 อาหารบำรุงปอด ได้แก่  1.ขิง ช่วยต้านการอักเสบ 2.พริกหวาน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ 3.แอปเปิ้ล มีใยอาหาร วิตามินซี 4.ฟักทอง มีสารอาหารบำรุงปอด 5.ขมิ้นชัน สารเคอร์คูมิน ดีต่อปอด 6.มะเขือเทศ ช่วยลดการอักเสบ 7.ธัญพืช มีเส้นใยสูง ดีต่อปอด 8.น้ำมันมะกอก ป้องกันโรคทางเดินหายใจ  9.หอยนางรม มีแร่ธาตุที่ดีต่อปอด และ10.เบอร์รี่ ต้านอนุมูลอิสระได้ดี”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆ ก็ยังมา (2)

        ยืนตากแดดก็ฆ่าเชื้อโควิด 19         จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล โดยแนะนำให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโควิด 19  เพราะเชื้อโควิด 19 ชอบความเย็นมากกว่าความร้อน ดังนั้นเมื่อเจอความร้อนจากแสงแดดเชื้อโควิด 19 จะตาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ การยืนตากแดดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้จริง         ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด19         มีการแชร์ข้อมูลเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอ้างว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด-19 แม้ในแง่วิชาการ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในประเด็นที่อ้างว่า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด 19 ได้นั้น ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโควิด 19 ได้ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกันบ้างในแง่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อร่วมกับโควิด 19         เราจะรับมือกับกับข้อมูลเท็จในยุคที่ผู้บริโภคกำลังสำลักข้อมูลอย่างไรดี?        ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ และมันก็จะวนเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกเป็นระยะๆ ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตั้งสติให้ดี         1. ตรวจสอบต้นตอที่มาของข่าว         เมื่อได้รับข้อมูล อย่าเพิ่งรีบเชื่อ และต้องไม่รีบส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพราะการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จจะเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียดในข้อมูลก่อนว่ามีการระบุต้นตอแหล่งที่มาชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจนก็ไม่ควรแชร์  แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้มักจะมีการอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราก็ไม่ควรรีบเชื่อ เพราะอาจเป็นการอุปโลกน์แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อหลอกเรา         2. ลองค้นข้อมูลด้วยตัวเองดูก่อน         เนื่องจากข้อมูลที่แชร์ๆ ต่อๆ กันมา บางทีก็เป็นข้อมูลเก่าที่เคยแชร์มาหลอกชาวบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ควรจะลองเข้าไปค้นหาข้อมูลดูด้วย เช่น อาจค้นจาก google ดูก็ได้ บางทีเราจะพบว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ และในอดีตก็มีหน่วยงานต่างๆ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว         3. สอบถามผู้รู้ เช่น คน หน่วยงาน         หากไม่มั่นใจในข้อมูล ผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยหาข้อเท็จจริงมาบอกเราได้ ทั้งนี้ควรเลือกหน่วยงานที่เรามั่นใจและน่าเชื่อถือในแง่วิชาการด้วย                 4. จัดการต้นตอข่าวลือให้อยู่หมัด         หากข่าวลือดังกล่าวนำไปสู่การโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 โควิด 19 น่ะของจริง แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะปลอม?

        ข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีการเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายในไทย โดยยานี้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยแล้ว โดยให้สรรพคุณบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประชาชนต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้มาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสนำยาปลอมลักลอบมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก และยังขายในราคาแพงกว่ายาจริงอีกด้วย        จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคพบว่าจำหน่ายถึงราคากล่องละ 350-380 บาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของแท้ราคากล่องละ 279 บาทเท่านั้น ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้ายาสมุนไพรนี้ได้แจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามดำเนินคดีแล้ว         สมุนไพรจากจีนยังมีมาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุสรรพคุณว่า สมุนไพรชนิดนี้ ใช้สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันและรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จมูกตัน น้ำมูกไหล จมูกคัน แห้งตึง สูตรสมุนไพรบริสุทธิ์ สเปรย์ฆ่าเชื้อป้องกันไวรัส และต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ 10 วินาทีผ่านโพรงจมูกและหายเร็วโดยไม่เกิดซ้ำ” จนบางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด 19         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงไม่สามารถประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้ และพบว่าผู้จำหน่ายมีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ยาก โดยเมื่อจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อจะต้องกรอกข้อมูลชื่อผู้ซื้อและเบอร์โทรศัพท์ของตนลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ขายจึงจะติดต่อกลับเพื่อส่งสินค้าโดยการเก็บเงินปลายทาง ทำให้โฆษณานี้จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ขายได้ และหากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้างหรือได้รับอันตราย การเอาผิดใดๆ กับผู้ขายก็ทำได้ยาก        นอกจากสมุนไพรจีนแล้ว ยังมีผู้นำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกในไทย ไปมอบให้ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 19 โดยแนะนำว่าให้ใช้รักษาโควิด มีการนำเสนอภาพการรับมอบผลิตภัณฑ์ หรือคลิปประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วหายจากการป่วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด แต่เมื่อตรวจสอบจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19  นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย มีข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้         ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 แม้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองนำมาใช้ แต่หากเราผลีผลามนำมาใช้โดยไม่หาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว เราอาจจะเสียทั้งเงิน และอาจเสี่ยงต่ออาการป่วยที่ลุกลามไปได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรือติดตามตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 หลอก หลอก หลอก

        ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง         หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด         มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย         หลอกขายประกันโควิด         ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา         หลอกขายวัคซีนทางเลือก         ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย         เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก         เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (2)

2. ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ก่อนตัดสินใจนำมาใช้        2.1 กินฟ้าทะลายโจร ป้องกันรักษาโควิด 19        ตามที่มีข่าวว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ได้ ทำให้ประชาชนหลายคน แห่ไปซื้อยาฟ้าทะลายโจรเพื่อมารับประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโควิด 19  หรือหากตัวเองติดเชื้อแล้วก็จะสามารถหายได้โดยไม่ต้องไปรักษาที่ไหน ในแง่วิชาการ ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญคือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งการทดลองในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ แต่ปีที่ผ่านมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองเพิ่มเติมพบว่า เมื่อมาอยู่ในเซลล์ร่างกายจะป้องกันโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ ปรากฏว่ายังไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้         อย่างไรก็ตามสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้น ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวได้และฟ้าทะลายโจรยังเป็นยาลดไข้ที่ดี จึงมีการกำหนดในบัญชียาหลักในสรรพคุณที่ ลดไข้ได้ และเนื่องจากในผู้ป่วยโควิด19 จะมีภาวะการอักเสบ ซึ่งฟ้าทะลายโจรสามารถลดการอักเสบและส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งในการศึกษาวิจัยใน 9 รพ. (มีผู้ป่วยจำนวน 304 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อย) เมื่อให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง อาจมีเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลว แต่ไม่มาก จึงน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และมีแนวโน้มที่ดีในการจะนำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยโควิด 19 ได้ ซึ่งหากมีความก้าวหน้ามากขึ้นจะนำมาเผยแพร่ต่อไป         แต่ฟ้าทะลายโจรเองก็มี ข้อห้ามในการใช้ เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยรายใดมีประวัติเคยแพ้ฟ้าทะลายโจร หากรับประทานครั้งแรกมีผื่นคันขึ้นต้องหยุดใช้ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรใช้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคตับ โรคไตก็ต้องหลีกเลี่ยงและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยาประจำ โดยเฉพาะยาลดการแข็งตัว อย่างยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ซึ่งเป็นยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยอัมพฤตอัมพาต หรือเส้นเลือดหัวใจตีบต้องระวัง และผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตก็ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน”         การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถเป็นข้อแนะนำได้ในเบื้องต้น แต่ต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน         2.2 กิน กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ป้องกันรักษาโควิด 19         ตามที่มีคลิปผู้ป่วยโควิด19 ใช้สมุนไพรพวก กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาต้มแล้วดื่ม ปรากฏว่าอาการป่วยดีขึ้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ทำตามดูบ้าง         ในแง่วิชากการ สมุนไพรเหล่านี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด 19 ได้ แต่อาจมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง การป่วยจึงฟื้นตัวจนหายได้เร็วขึ้น แม้ในการศึกษาจะพบว่า กระชายได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับฟ้าทะลายโจรในการต้านไวรัส แต่ก็ต้องใช้ปริมาณมากจนเป็นไปยากเพราะต้องใช้กระชายถึงครั้งละ ครึ่งกิโลกรัม         ดังนั้นหากเราจะเลือกสมุนไพรเหล่านี้มาบริโภค ก็อย่าคาดหวังผลในการรักษาโควิด 19 แต่ให้หวังผลในแง่สุขภาพที่อาจจะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย และไม่ควรไปซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ราคาแพงๆ ที่วางขาย เพราะจะไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไปในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 คุณครูประจำชั้นถูกทวงหนี้จากหนี้ของพ่อแม่นักเรียน

        การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีรายได้ ความจำเป็นบังคับให้ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งการกู้เงินกับธนาคารลูกจ้างรายวัน ส่วนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน การกู้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ยิ่งปัจจุบันมีแอปพิเคชั่นสำหรับกู้เงินก็ยิ่งสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจถูกทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบกับคนรอบตัวลูกหนี้         แชมป์เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก วันหนึ่งมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกเข้ามา เขารับสายทางปลายสายสอบถามว่า เขาคือครูแชมป์ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่ หลังจากนั้นปลายสายก็แจ้งมาว่า โทรศัพท์มาจากบริษัทให้กู้เงิน คุณชบาได้กู้เงินผ่านแอปกู้เงิน จำนวน 3,000 บาท ให้ครูแชมป์ไปบอกให้คุณชบาช่วยใช้หนี้ด้วย หรือให้ครูแชมป์ใช้หนี้แทนคุณชบา แต่เขาก็ปฏิเสธไปเพราะเขาไม่รู้จักคุณชบา         ต่อมาคุณครูจึงทราบว่า คุณชบาที่บริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้คือ แม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขานั้นเอง เขางงมากว่าบริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้ที่เขาได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากการที่พ่อแม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขาไปกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์ไม่ว่างเว้น เขาจึงโพสเฟซบุ๊กแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่า ได้โปรดอย่าให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับบริษัทให้กู้เงิน ปรากฏว่ามีคุณครูหลายคนเข้ามาคอมเมนท์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทให้กู้เงินจากแอปกู้เงินเหมือนกัน ครูแชมป์จึงปรึกษามาว่า เขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องการทวงหนี้นั้น กฎหมายกำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เว้นแต่จะระบุไว้แต่แรกในสัญญา หากฝ่าฝืนมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามบอกกับคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558         แอปกู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้กับครูแชมป์ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ และบอกกับคุณแชมป์ว่าแม่ของนักเรียนครูแชมป์เป็นหนี้กับตนเอง เป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นครูแชมป์สามารร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมายได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง, สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ เผยผลสุ่มตรวจ ‘ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ร้อยละ 67 ไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พบ 1 ยี่ห้อ มีส่วนประกอบของเมธานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง ย้ำผู้ผลิต นำเข้า เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย โทษปรับสูงสุดถึง 500,000 บาทส่วนผู้ขายมีโทษปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        วันนี้ (5 มิถุนายน 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย         “ผลทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย” บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว         ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ        (1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563         (2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ        (3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH                   ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น        (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์        (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER         (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา         อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น) นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต           ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้         “อย่างไรก็ตามในมุมมองผม ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต” รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าวและว่า ในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน         ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย         เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ         เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70  โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         “ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย  นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว         ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้        1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ        2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง        และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง         รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 โควิดตัวร้ายกับแอปพลิเคชันสั่งอาหาร

        เดือนที่ผ่านมาพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากโรคโควิท 19 กันทุกคน รัฐบาลมีมาตรการล็อคดาวน์ มาตรการ Social Distancing และรณรงค์ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ร้านอาหารต่างๆ เปิดให้บริการเพียงแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้บริการแอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งGrab Food, Food Panda, Lalamove, Line Man เมื่อผู้บริโภคใช้บริการมากก็จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรามาดูกันว่าผู้บริโภครายนี้เขาเกิดความผิดพลาดอย่างไร และเขาจัดการปัญหานี้อย่างไร         คุณภูผาต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ไม่สะดวกออกไปซื้ออาหาร ทำเองก็ไม่สะดวก เขาจึงสั่งอาหารร้านชื่อดังแห่งหนึ่งผ่าน Grab food โดยมีเมนูข้าวหมกไก่ กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวมันไก่ทอด กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวหมกเนื้อ กล่องละ  50 บาท 2 กล่อง และสเต๊ะเนื้อ 1 ชุด 95 บาท ค่าอาหาร 285 บาท และค่าส่งอีก 25 บาท รวมเป็น 310 บาท พอกดสั่งอาหารแล้วก็แอบยิ้มดีใจนิดๆ ว่าแอปฯ ให้ส่วนลดเป็น reward ตั้ง 10 บาท โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต         เมื่อ Grab นำอาหารมาส่ง ภูผาก็ออกมารับของอย่างมีความสุข แต่มาเกิดเรื่องจนได้ตอนจะรับประทาน เพราะพบว่า ขาดข้าวหมกเนื้อไป 1 กล่อง จึงแจ้งไปยังศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอปพลิเคชันพร้อมเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ว่า ได้อาหารไม่ครบขาดข้าวหมกเนื้อ 1 กล่อง ราคา 50 บาท และส่งรูปภาพไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 10 – 15 นาที ก็มีอีเมล์ตอบกลับมาว่า ขออภัยและบอกว่าจะคืนเงินให้เป็น reward (reward คือการสะสมคะแนน เพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือแลกสิ่งของ) จำนวน 50 บาท และให้แบ่งใช้ 2 ครั้ง 40 บาท และ 20 บาท โดยสามารถใช้ได้ในครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามมีการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ด้วย         คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ เขารู้สึกว่า Grab เอาเปรียบเขา ทำไม Grab ไม่คืนเงินเข้าไปในวงเงินบัตรเครดิต หรือตัดบัตรเครดิตเพียงแค่ยอดที่เขาได้รับของมาคือ 260 บาท(หักข้าวหมกเนื้อออก) และการที่คืนเป็น Reward อาจจะฟังดูเป็นบุญคุณไปอีก “ไม่โอเค อ่ะ” ความผิดพลาดเกิดจากการส่งอาหารไม่ครบของพนักงาน (Rider) เอง สำหรับการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ก็ยิ่งไม่ควรทำหากจะเลือกเยียวยาด้วยวิธีนี้ คุณภูผาคิดว่า ความผิดไม่ได้เป็นของผู้บริโภค (อาจพลาดที่ไม่ได้ตรวจก่อนว่ารับสินค้าครบไหม) ดังนั้น Grab ควรติดต่อร้านให้นำของมาส่งเพิ่มตามที่ขาดไปยังจะดีกว่า หรือคืนเงิน หรือคิดเงินเขาในราคาเท่ากับของที่เขาได้รับจริง จะโอเคที่สุด  ดังนั้นเขาจึงได้ทำเป็นข้อแนะนำเสนอต่อ Grab Food ไป และมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ควรทำอะไรเพิ่มอีก แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า มีวิธีจัดการปัญหาเบื้องต้น 2 วิธี ดังนี้         1. ใช้ช่องทางผ่านตัวผู้ให้บริการแอป คือ ติดต่อไปยัง Grab Food อีกครั้ง โดยผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอป หรือโทรศัพท์ติดต่อไปยัง Grab เพื่อปฏิเสธการคืนเป็น reward และแสดงความต้องการขอรับคืนเป็นเงินสดหรือเป็นเงินคืนให้บัตรเครดิตเท่านั้น         2. ใช้ช่องทางบัตรเครดิต คือ ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตว่า สั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ครบถ้วน โดยอ้างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (8) (ข) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ธนาคารคืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต หรือให้ธนาคารเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่ได้รับสินค้า ไม่เรียกเก็บส่วนที่ไม่ได้สินค้า         เมื่อรับคำแนะนำแล้ว ผู้ร้องได้ลองติดต่อไปยังตัวผู้ให้บริการผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าขอให้ Grab คืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต เป็นจำนวนเงิน 50 บาท ปรากฎว่า คุณภูผาได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการด้วยการคืนวงเข้าบัตรเครดิตในวันรุ่งขึ้นทันที เขาจึงเสนอต่อ Grab เพิ่มว่า “ควรให้ลูกค้าเลือกใช้สิทธิว่าจะรับเป็น Refund, Reward, Re-Delivery ตั้งแต่แรกเลยจะจบแบบได้ใจลูกค้ามากกว่านี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 รับยาอย่างปลอดภัยในเทศกาลโควิด19

        ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังได้รณรงค์ให้ประชาชน ลดการเดินทางไปในที่ชุมชน โดยให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลเองก็พยายามหาทางลดความเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในการมารับยาที่โรงพยาบาลด้วยเช่นกัน เช่น มีการสั่งจ่ายยาในแต่ละครั้งในจำนวนเพียงพอที่จะรับประทานในระยะเวลาที่มากขึ้น มีนโยบายให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือส่งยาไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และให้ผู้ป่วยไปรับยาอีกทอดหนึ่ง         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า บางโรงพยาบาลเริ่มมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับยา เนื่องจากเกรงว่าอาจได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง จึงมีการไหว้วานให้คนใกล้ตัว หรือบางทีก็จ้างมอเตอร์ไซค์ไปรับยาจากร้านยาหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแทน         เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับยามาด้วยวิธีใด          มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้         1. ตรวจสอบ “ชื่อของตนเอง”ที่ระบุบนซองยาหรือฉลากยาเป็นอันดับแรก เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ได้รับมานั้น เป็นของเราจริง ไม่ได้สลับกับของผู้ป่วยรายอื่น และต้องเช็คชื่อให้ครบทุกชนิดของยาที่ได้รับ รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่ามียาใดที่หายไปจากเดิมที่เราเคยได้รับหรือไม่ หากไม่ตรง ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา         2. ตรวจสอบ ”ชื่อยา” บนฉลากว่าตรงกับยาเดิมที่เราเคยได้รับหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจให้เอายาเดิมที่เคยได้รับมาเทียบให้แน่ใจ และแม้ชื่อจะเหมือนเดิม แต่ถ้ารูปแบบยา หรือสีของยา เปลี่ยนไปจากยาเดิมที่เคยได้รับ ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา         3. ตรวจสอบ “ขนาดยา” ที่ระบุบนฉลากว่า ตรงกับขนาดเดิมที่แพทย์เคยสั่งให้ใช้หรือไม่ หากไม่ตรง ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา          4. ตรวจดู “ลักษณะ” ของยาด้วยสายตาว่า ยาที่ได้รับมีสภาพชำรุดหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยได้หรือเปล่า เนื่องจากอาจมีการขนส่งยาต่อกันมาหลายทอด หากยาที่ได้รับชำรุดหรือเสื่อมสภาพ ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา          5. รีบนำยาที่ได้รับไปเก็บในที่ที่เหมาะสมเหมือนเดิม เช่น บางชนิดอาจต้องเก็บให้พ้นแสง บางชนิดอาจต้องแช่ในตู้เย็น         6. ห้ามปรับขนาดในการใช้ยาด้วยตนเองอย่างเด็ดขาดหาก “ไม่มั่นใจ” ในการใช้ยา ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา หรือปรึกษาเภสัชกรใกล้ตัวท่าน         และที่สำคัญอีกประการหรึ่งคือ ไม่ต้องขวนขวายหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาหรือป้องกับ โควิด 19 มาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้เสียเงินแล้ว อาจส่งผลกระทบให้เสียสุขภาพอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (1)

        นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2562 บรรดาองค์กรผู้บริโภคมีความตื่นตัวไปใช้สิทธิจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ 150 องค์กรมารวมตัวกันเริ่มจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  มีฐานะเป็น “ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ” คอยเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้บริโภคเรา เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคอยรักษาประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ           ตอนนี้ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว  “สภาองค์กรผู้บริโภค”ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงเวลานื้ที่มีไวรัสโควิด 19 กำลังระบาดในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ขายเกินราคา ไม่มีคุณภาพสินค้าขาดตลาด  ถ้ามี"สภาองค์กรผู้บริโภค" ตอนนี้เราจะมีตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ในการตรวจสอบและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย โต้แย้งข้อมูลปลอมที่อ้างว่าหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายหน้ากากปลอม ไม่มีคุณภาพมาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย         หรือ “ปัญหาของสายการบิน” ที่พบว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด 19 สายการบินต่างๆ มีการประกาศระงับการบริการ และแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกระหว่างการเลื่อนวันเดินทาง หรือเก็บเครดิตวงเงินไว้เพื่อใช้ในภายหลัง ซึ่งมีกำหนดเวลา 365 วัน โดยไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้ หรือปัญหาสำหรับผู้ที่เลือกรับตามเงื่อนไขของสายการบิน แต่การติดต่อก็มีความยุ่งยาก เพราะไม่มีการใช้พนักงานมาประสานด้วยตนเอง กลับให้ผู้บริโภคติดต่อผ่านระบบ AI ที่เพียงการตอบคำถามตามที่ตั้งค่าไว้ ไม่สามารถให้คำอธิบาย หรือแก้ไขปัญหาแก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเผชิญคือ ถูกบังคับให้รับสิทธิตามที่บริษัทเสนอไว้ โดยไม่มีอำนาจต่อรอง บางคนติดต่อทำเรื่องขอเงินคืน แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล และเงื่อนไขการกำหนดวงเงินเครดิตที่ไม่เป็นธรรมของสายการบินที่ให้เราต้องรีบใช้เงินตัวเองภายใน 365 วัน เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป และเกิดซ้ำไปซ้ำมา เพราะเราไม่มี “ตัวแทน”มาคอยช่วยต่อรองแทนให้ ดังนั้น หากมี "สภาองค์กรผู้บริโภค" ก็จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค รวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย รวมกลุ่มผู้บริโภคเจรจาต่อรองกับสายการบินต่างๆ เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน รวมถึงตรวจสอบการกระทำของสายการบินต่างๆ ที่ออกเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไข หรือออกกติการมากำกับให้เกิดแนวทางหรือมาตรการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ยังมีทีมนักกฎหมาย ทั้งทนายความและนักวิชาการเพื่อเข้าช่วยเหลือเจรจาต่อรอง รวมถึงฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแทนผู้บริโภคได้ด้วย        ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคยังเชื่อมโยงถึงเรื่อง “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ด้วย โดยเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น การที่บริษัท ร้านค้าต่างๆ เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม หรือพลาสติก ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นรับส่งอาหารทางออนไลน์ มักไม่ทราบข้อมูลของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าใช้  ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรับส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้บริโภค มีการไปเก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านค้าเพิ่มขึ้น จนทำให้ร้านค้าต้องเพิ่มราคาอาหาร กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือหากร้านใดมีการคิดค่าบริการขนส่งสินค้า การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบข้อมูลได้ทั้งหมด จึงต้องมี “ตัวแทนผู้บริโภค” ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจำเป็นที่ผู้บริโภคควรรู้ในการเลือกใช้บริการรับส่งอาหาร เพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการที่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด มีข้อมูลเปรียบเทียบราคาค่าส่งของแต่ละราย รวมถึงช่วยตรวจสอบราคาอาหาร ค่าบริการเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม            นอกจากนี้ “ตัวแทนผู้บริโภค” ยังช่วยทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้น และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกฎหมาย หรือมาตรการดูแลผู้บริโภค อย่างเช่น กรณีของการจัดการปัญหาค่าบริการของธุรกิจรับส่งอาหารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของโรคระบาดโควิด 19  สภาองค์กรผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคสามารถเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ลดค่าจัดส่งอาหารแก่ผู้บริโภค โดยลดค่าส่วนแบ่งร้านค้า เนื่องจากช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคประสบปัญหาค่าใช้จ่าย มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด จึงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ มีรายได้มากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคใช้บริการรับส่งอาหารมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากหน้าร้าน หรือกักตัวอยู่ในบริเวณที่พักตนเองเพื่อป้องกันโรค ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ควรลดราคาค่าจัดส่งแก่ผู้บริโภค โดยอย่างน้อยราคาต้องไม่เกินกว่าราคาอาหารหน้าร้าน พร้อมทั้งส่งเสริมค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งร้านค้าและผู้ส่ง  รวมถึงเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน หลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม เพื่อลดขยะโลก โดยทำระบบแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารให้มีเมนูเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช้โฟม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ รวมถึงมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน เป็นต้น        ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การมีสภาองค์กรผู้บริโภคนั้น สำคัญต่อผู้บริโภคมากขนาดไหน เพราะเกี่ยวข้องในเกือบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน และสำคัญยิ่งที่วาระวิกฤต ไม่เพียงเท่านั้นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ สภาองคืกรผู้บริโภค คือ การสร้างและพัฒนาองค์กรที่ทำงานจริงจังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงในฉบับถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เงื่อนไขประกันภัยที่ต้องรู้

ช่วงนี้หลายคนคงสนใจทำประกันโควิด-19   ผมจึงขอแนะนำบางเรื่องที่ควรใส่ใจ แม้การทำประกันอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการวางแผนและประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่ทุกอย่างก็ย่อมทั้งมีข้อดีและข้อเสีย      หากไม่ศึกษารายละเอียดให้ดี อาจจะต้องทนปวดหัวกับปัญหาที่ต้องตามมา เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาก็ย่อมได้    ฉะนั้นก่อนทำสัญญาประกัน ขอให้ทุกท่านอ่านข้อความ เงื่อนไขต่างๆ ให้จบก่อน แล้วค่อยไปทำสัญญานะครับ         อย่างในตัวอย่างที่หยิบยกมาคุยในวันนี้ ก็จะเป็นคดีประกันที่ศาลฏีกาได้เคยตัดสินถึงความรับผิดของบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ยังต้องรับผิด  แม้รถยนต์ที่เอาประกันภัยจะมีการขายให้บุคคลอื่นไป แต่เมื่อการซื้อขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือว่ารถยนต์ยังเป็นของผู้เอาประกันภัย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหาย บริษัทประกันก็ย่อมมีหน้าที่ผูกพันตามสัญญาประกันภัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558         โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้         ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัย หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้ว ได้ขายรถให้ บ. ดังนั้น บ.จึงถือว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนโจทก์ เมื่อรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ บ. กฎหมายก็ถือเสมือนว่า โจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อร้ายแรงเองทำให้รถยนต์สูญหาย บริษัทประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879        “ มาตรา 879  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ”        อีกคดีเป็นเรื่องของผู้เอาประกันภัย ที่ประมาทเลินเล่อขับรถชนรถคันอื่นจนเกิดความเสียหาย เมื่อประกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ก็มีสิทธิเรียกร้องคืนจากผู้เอาประกันภัยที่ทำละเมิดได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559         การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้         ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)         สุดท้ายนี้ ฝากว่าหากมีคนใกล้ตัวกำลังวางแผนซื้อประกัน ขอให้มีสติ พึงระลึกว่าก่อนทำสัญญาประกัน เรามีอำนาจต่อรองมากกว่า มีสิทธิเลือกว่าจะทำกับเจ้าไหนก็ได้ ควรตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ให้ดี เพราะเมื่อทำสัญญาแล้ว เขาได้เงินเราไปแล้ว อำนาจต่อรองเราลดลงทันที และอาจต้องปวดหัวกับเงื่อนไขต่างๆ   ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าก่อนทำสัญญาอ่านเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีนะครับ เพื่อประโยชน์ของท่านเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ติดตาม COVID-19 กับ COVID Tracker

        ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นช่วงที่ทุกคนต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้มากที่สุด โดยแต่ละคนอาจใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ติดตามจากโทรทัศน์ จากเฟสบุ๊ค จากทวิตเตอร์ จากจังหวัด จากชุมชน ฯลฯ ซึ่งข่าวสารที่ได้รับมาอาจมีข้อมูลที่มีความผิดพลาด บิดเบือน หรือไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดสภาวะตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม        ฉบับนี้จึงมาแนะนำเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนศูนย์เช็คข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารการระบาดของเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยแบบเรียลไทม์ เว็บไซต์นี้มีชื่อว่า COVID Tracker หรือลิ้ง https://covidtracker.5lab.co/ ผู้ที่คิดค้นเป็นกลุ่มทีม 5lab ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ได้เห็นว่ามีข่าวปลอมและข้อมูลที่แพร่สะพัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือข้อมูลข่าวสารอันไหนดี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้มีความคิดที่จะสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารโดยการดึงข้อมูลจากสื่อหลักและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือมาประกอบ         ปัจจุบันเว็บไซต์ COVID Tracker มีผู้ติดตามอยู่จำนวนมาก โดยหน้าหลักในเว็บไซต์ COVID Tracker จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย และสัญลักษณ์เพื่อแสดงพิกัดของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไทย ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้จะเป็นภาพไอคอนต่างๆ และสีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงความหมายของสถานะผู้ป่วยและสถานะข่าวทีเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ติดตามสามารถคลิกดูความหมายของไอคอนได้จากมุมด้านล่างซ้าย         สัญลักษณ์ไอคอนเหล่านี้จะแสดงบนแผนที่ประเทศไทย ตามพิกัดที่เกิดข่าวหรือมีผู้ป่วยเกิดขึ้น เมื่อคลิกบริเวณสัญลักษณ์ไอคอน ระบบจะแสดงข้อความที่มีรายละเอียดของผู้ป่วย รายละเอียดสถานที่ แจ้งวันที่เกิดข่าว รายงานสถานะของผู้ป่วย รวมทั้งแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้วหรือไม่         ด้านบนสุดของหน้าเว็บไซต์จะเป็นตัวอักษรวิ่ง เพื่อแจ้งตัวเลขล่าสุดของจำนวนยอดสะสม จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่รักษาหาย ในแต่ละวัน และทางด้านบนขวาจะมีเมนูที่เขียนว่า ดูข่าวล่าสุด ซึ่งเป็นเมนูที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเรียงเหตุการณ์ก่อนหลังจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์จะลิ้งไปยังแหล่งข้อมูลที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น โดยสามารถเข้าไปคลิกเพื่ออ่านข้อมูลจากแหล่งข้อมูลได้โดยตรง         เว็บไซต์ COVID Tracker ยังมีการรวบรวมข้อมูลพิกัด รายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้บนหน้าเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดตามและผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล นอกจากนี้เว็บไซต์นี้ยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน เพื่อรองรับชาวต่างชาติอีกด้วย         สำหรับผู้ติดตามเว็บไซต์ COVID Tracker ยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ที่ @covidtrackerth ได้อีกช่องทางหนึ่ง         เว็บไซต์ COVID Tracker จึงเป็นเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มันมาแล้วกับโควิด 19

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนกและตื่นตัว ผู้บริโภคต่างแสวงหาวิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาป้องกันตนเองและครอบครัว หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขาดแคลนเป็นระลอกๆ        เมื่อเข้าตาจน ผู้บริโภคหลายรายที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ จึงแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เช่น มีการนำน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ล้างแผลมาใช้ล้างมือแทนแอลกอฮอล์ หรือนำสุราขาวมาใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล ซึ่งความจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดต้องมีความเข้มข้น 70% หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพจะลดลง        นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายถือโอกาสนำผลิตภัณฑ์แปลกๆ มาขายผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อแผ่นป้ายหรืออุปกรณ์ห้อยคอต่างๆ (เช่น ปากกา พัดลม) ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา เพื่อช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศได้ สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งความจริงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นั้น จะจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และต้องผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนด้วย จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ชนิดใด มาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเล         หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ทางออนไลน์อีก เป็นการเผยแพร่บทสวดมนต์อ้างว่า ปัดเป่าขับไล่ไวรัสได้ ในจังหวัดสมุทรสงครามเอง ก็มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเหรียญหรือยันต์มาชักชวนให้ตนซื้อ เพื่อใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน          ดังนั้นขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ คือ         1. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : รับประทานอาหารปรุงร้อนจนสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน         2. ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีผู้คนหนาแน่น         3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค         วัตถุประหลาดใดๆ ไม่อาจช่วยให้รอดจากไวรัสได้ อย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2563

กสทช. เคาะให้เน็ตฟรี 10 GB ปรับความเร็วเน็ตบ้านขั้นต่ำ 100 Mbps หนุนประชาชนทำงานที่บ้าน        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้        1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ครม.มีมติ เท่านั้น โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่         2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps   เลี่ยงใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโควิด         องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดหนักลงไปอีกได้         ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ตั้งข้อสงสัยว่า เอนไซม์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้        "เราแนะนำให้ใช้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลแทน และอย่าซื้อยาไอบูโพรเฟนมารับประทานเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน" โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกกล่าว เกษตรกรฟ้อง “เจียไต๋" 100 ล้าน เหตุเจ็บป่วยพิษพาราควอต        ศาลหนองบัวลำภู นัดสืบคดีไต่สวนครั้งแรกเป็นคดีประวัติศาสตร์ในไทยระหว่างเกษตรกรกับ “เจียไต๋” พร้อมเรียกค่าเสียหายพิษพาราควอตกว่า 100 ล้าน         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ““ที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นผลเสียหายจากการที่เกษตรกรได้ใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทในกลุ่มพาราควอต และได้เจ็บป่วยมีทั้งถูกตัดขา และมีผลกระทบเป็นโรคเนื้อเน่า รวมทั้งหมด 16 ราย เฉลี่ยรายละ 7-8 แสนบาท รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฟ้องศาลเรื่องสารเคมี สาเหตุที่ฟ้องเจียไต๋  เนื่องจากเป็นบริษัทรายใหญ่ที่นำเข้าและจำหน่ายของประเทศไทย การฟ้องครั้งนี้จะฟ้องแบบกลุ่ม แต่ถ้าทนายของเจียไต๋ระบุว่าฝ่ายบริษัทเสียเปรียบเนื่องจากคำฟ้องครอบคลุมเกษตรกรคนอื่นที่ไม่ใช่ 16 ราย ด้วย จะต้องไปพูดคุยกันที่ศาลฯ”        ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้ทำความจริงให้ปรากฏ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะนั้นขอบคุณเกษตรกรที่ฟ้อง ซึ่งความจริงต้องฟ้องรายตัวปลูกพืชไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ส่วนบริษัทใหญ่ที่นำเข้าพาราควอตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเอราวัณ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนรับมือโควิด -19         โดยลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19         นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 'คืนเงินประกันไฟฟ้า' ไม่เกี่ยวมิเตอร์         จากเหตุที่มีประชาชนจำนวนมากสงสัยในเรื่องการคืนเงินประกันไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุโควิด-19 โดยเข้าใจสับสนกับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ได้มีการชี้แจงรายละเอียดดังนี้         การของคืนเงินประกันไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยู่อาศัย และประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก จากฝ่ายผลิต(ผู้ให้บริการ) ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) “ไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โทรศัพท์มือถือ ...สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง         เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นคนละส่วนกับมิเตอร์ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้วางเป็นหลักประกันไว้ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกปน.  ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า         ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิด 2 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ 1.เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/  และ 2.การสแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  สงสัยสอบถามสายด่วน 1129        ส่วนการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์และทะเบียน หลายช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.mea.or.th 2.เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA 3.แอพพลิเคชัน MEA Smart Life 4.ทวิตเตอร์ @mea_news 5.ไลน์ @meathailand 6.สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  7.โทรศัพท์เบอร์ 02-256-3333 และ 8.ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่จะเปิดช่องทางนี้ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 สถานการณ์ฉุกเฉินจาก โรคติดต่อร้ายแรง Covid 19 ในเยอรมนี และเทคโนโลยีการพบแพทย์ที่ไม่ต้องเดินทางไปคลินิก

        วันนี้ผมขอนำเสนอสถานการณ์ของประชาชนในเยอรมนี ซึ่งกำลังประสบกับสถานการณ์ภัยพิบัติของ โรคติดต่อร้ายแรง Covid-19 ซึ่งทางเวบไซต์ของมูลนิธิทดสอบสินค้า ( Stiftungswarentest) ได้รวบรวมคำถามและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับผู้บริโภค ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งของข้อมูลทางวิชาการที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ และขอแนะนำการให้บริการปรึกษาแพทย์แบบ VDO call ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการต้องเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจาก โควิด 19 ดังนี้  เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ โลก กับการระบาดของ Covid-19 ได้จากไหนบ้าง         สำหรับประชาชนชาวเยอรมันสามารถหาข้อมูล ที่ทันสมัยได้จากเวบไซต์ของสถาบันวิชาการอิสระ Robert Koch Institute(https://www.rki.de/DE/Content/InfAZ/N/Neuartiges_Coronavirus/nCoV.html) ที่เผยแพร่จำนวนของผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค Covid 19 ซึ่งมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศ หรือพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ได้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ แผนที่แบบ อินเตอร์แอคทีฟของศูนย์ระบบวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (Center for Systems Science and Engineering: CSSE) ของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University แห่งสหรัฐอเมริกา(https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6) เราสามารถทราบถึงสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศปลายทางที่จะเดินทางไปได้อย่างไร         กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกคำเตือนประชาชนที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 แนะนำให้ยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็นในช่วงระยะเวลานี้ เพราะมีข้อจำกัดในการเดินทางทางอากาศ และมาตรการการกักตัว เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ และการจำกัดการใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ และบางประเทศกระทรวงต่างประเทศก็ประกาศยกระดับ เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง และอาจไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ถ้ามีมาตรการปิดประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเยอรมนีมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ โดยจัดลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งสามารถดูข้อมูลที่ทันสมัยเพิ่มเติมจากเวบไซต์ของกระทรวงต่างประเทศได้ เราสามารถยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศ ที่เป็นประเทศเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid-19 โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมได้หรือไม่         ผู้โดยสารสามารถใช้เหตุ ความไม่ปรกติของสถานการณ์ในการยกเลิกการเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงกับการติดโรค โควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สำหรับความหมายของคำว่า ความไม่ปรกติ ในกรณีของประเทศเยอรมัน คือ การประกาศเตือนของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ในการขอยกเลิกการเดินทาง จริงๆ แล้ว มีสภาพบ่งชี้ อื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการขอยกเลิกการเดินทางได้เช่นกัน เช่น การปิดเมือง การปิดสถานที่ท่องเที่ยวบางจุด การปิดประเทศทีเราอาต้องเดินทางผ่าน         ในกรณีที่เราจองกรุปทัวร์ไว้ และเตรียมตัวจะเดินทางก่อน 1 เดือน หรือ 2-3 สัปดาห์ ในกรณีของ ภัยพิบัติและความเสี่ยงสูงจากการติดโรค Covid-19 ก็เข้าเกณฑ์ในการเกิด เหตุการณ์ไม่ปรกติ บริษัททัวร์ต้องคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่มีค่าธรรมเนียมในการบอกเลิกการเดินทาง (หมายเหตุ สำหรับกรณีอื่นๆ นั้น ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย แล้วแต่กรณีในการที่จะ ใช้เหตุความไม่ปรกติของสถานการณ์) แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผ่านระบบ VDO ได้แล้ว ประชาชนควรต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง         ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทางระบบ VDO call โดยจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ แต่บริการนี้แพทย์ต้องเป็นฝ่ายเสนอการให้บริการลักษณะนี้เอง ปัจจุบันการให้บริการผ่าน VDO call ยังมีข้อจำกัดอยู่ และทำได้เพียง 20 % ของเคสเท่านั้น ในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2020 คาดว่า จะสามารถให้บริการผ่าน VDO call ได้เต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด สำหรับแพทย์ที่จะเปิดให้บริการผ่าน VDO call ต้องใช้ระบบ VDO call ที่ผ่านการรองรับมาตรฐานแล้วเท่านั้น         สำหรับการพบแพทย์ด้วยเทคโนโลยี VDO call นี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนานๆ และต้องรอคิวนานๆ ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการที่จะติดเชื้อระหว่างการรอพบแพทย์ และยังมีอาการเจ็บป่วยไม่มาก หรือการไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบอาการหลังการรักษา การให้คำปรึกษาของแพทย์ด้วยเทคโนโลยีนี้ได้เริ่มทดลองมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม ปีที่แล้ว (2019) การให้คำปรึกษาของแพทย์จะมีค่าธรรมเนียมที่คิดคำนวณจากระบบประกันสุขภาพ และไม่จำเป็นที่แพทย์และผู้ป่วยจะต้องรู้จักหรือพบปะกันมาก่อน นอกจากนี้ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิคก็สามารถใช้บริการ VDO  Call กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Care Giver) ได้อีกด้วย         สำหรับผู้ป่วยที่สนใจบริการผ่าน VDO Call จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเลคโทรนิค ที่ติดตั้ง ไมโครโฟน ลำโพง และเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และต้องผ่านระบบการนัดคิวของผู้ป่วยกับแพทย์ ที่สำคัญระบบ VDO Call ต้องเป็นระบบที่ได้รับมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการรักษาความลับของผู้ป่วย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล        แนวทางปฏิบัติของเยอรมนีนั้น ผมคิดว่า เยอรมนีได้วางระบบการปรึกษาแพทย์ผ่าน VDO call ซึ่งสามารถลดปัญหาการติดโรค โควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง และอาจเป็นทางเลือกการให้บริการผู้ป่วยของไทยในอนาคตอันใกล้ หลังจากผ่านวิกฤติ โควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตของมนุษยชาติตามมา  แหล่งข้อมูล มูลนิธิทดสอบสินค้า (Stiftungswarentest e.V.) https://www.test.de/Coronavirus-Was-Sie-zum-neuen-Virus-aus-China-wissen-sollten-5570361-0/#question-1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เหตุแห่งมาตรการทางกฎหมายกักตัวคุมโรค 14 วัน

        ในช่วงนี้หลายคนคงติดตามข่าวสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีมาตรการจัดการและป้องกันตามระดับความร้ายแรงของโรคที่เกิดขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวอยู่ต่อเนื่องว่าหลายคนไปต่างประเทศกลับมาก็มีอาการป่วยและเพื่อป้องกันความเสี่ยงการระบาดของโรค รัฐก็ประกาศ “ขอความร่วมมือ” กลุ่มคนดังกล่าวกักตัวเองอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 14 วัน ที่เน้นย้ำว่า เป็นการขอความร่วมมือเพราะช่วงนั้นยังไม่ได้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ใครไม่กักตัวก็ไม่ผิด ต่อมา วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศมาฉบับหนึ่ง คือ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2563” ซึ่งประกาศดังกล่าว มีผลให้โรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 นำไปสู่มาตรการทางกฎหมาย ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ในประเทศไทยหลายอย่าง         ดังนั้นรู้กฎหมายฯ ในฉบับนี้ ผมจึงขอกล่าวถึงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อดังกล่าว เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจและคลายความสงสัยว่า มาตรการทางกฎหมายที่รัฐมีนั้นใช้บังคับได้เพียงใด ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเราทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินไทย เรามีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางครับ ทุกคนมีสิทธิเดินทางจะไปเที่ยวที่ไหนก็ไปได้ ในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ ไว้ในมาตรา 38 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมืองหรือเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์”  และมาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ...”         ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ เรามีสิทธิเดินทางจะไปที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครจะมีสิทธิมาจับตัวหรือนำเราไปกักขังได้ครับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ทั่วโลกตื่นตัวกับเรื่องนี้และการติดเชื้อทำให้หลายประเทศมีผู้เสียชีวิต แถมพบการติดเชื้อในบ้านเราด้วย แบบนี้ถือว่าเกิดภาวะไม่ปกติแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องออกมาดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค สิ่งแรกที่รัฐทำเพื่อให้ตนเองมีอำนาจจัดการกับโรคติดต่อนี้ได้ตามกฎหมายคือ ออกประกาศก่อนเลยว่า โรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย ผลคือเมื่อโรคนี้ถูกประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว ก็จะถือว่าโรคดังกล่าวเข้าสู่มาตรการทางกฎหมายของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทันที ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออก ประกาศว่าโรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศดังกล่าวก็เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563         ดังนั้น นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เมื่อมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เริ่มมีผลใช้บังคับ ทำให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการจัดการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย ดังนี้             1. เจอคนต้องสงสัยเป็นโรค COVID-19 แล้วต้องแจ้ง (มาตรา 31 และ 32 ) หากมีการพบผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน สถานประกอบการ หรือสถานพยาบาล ต้องดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ภายใน 3 ชั่วโมงที่ตรวจพบ และแจ้งให้กับกรมควบคุมโรคทราบโดยเร็วที่สุดในทุกช่องทาง             2. เรียกคนต้องสัยว่าเป็นโรค COVID-19 มาตรวจ ควบคุมตัวไว้จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ( มาตรา 34 (1) )            3. ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 (มาตรา 34 (2) )             4. ให้นำศพหรือซากสัตว์ ซึ่งตายหรือสงสัยว่าตายด้วยโรค COVID-19 ไปรับการตรวจ หรือจัดการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ของโรค COVID-19 (มาตรา 34 (3) )            5. สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้านโรงเรือนสถานที่ หรือพาหนะ กำจัดความติดโรค COVID-19 หรือทำลายสิ่งใดๆ ที่มีเชื้อหรือสงสัยว่ามีเชื้อโรคติดต่อ COVID-19 (มาตรา 34 (4) )            6. สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือ พาหนะ กำจัดสัตว์ แมลง ตัวอ่อนของแมลงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค COVID-19 (มาตรา 34 (5) )             7. สั่งห้ามบุคคลไม่ให้กระทำการ หรือดำเนินการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นเหตุให้โรค COVID-19 ระบาดออกไป (มาตรา 34 (6) )             8. สั่งห้ามคนเข้าไปหรือออกจากที่ ซึ่งเจ้าพนักงานกำหนดให้เป็นสำหรับแยกกักหรือกักคนหรือสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรค COVID-19 แพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้อื่น (มาตรา 34 (7) )             9. เข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มี หรือสงสัยว่ามีโรค COVID-19 เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมมิให้มีการแพร่ของโรค (มาตรา 34 (8) )           10. กรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจในพื้นที่จังหวัดตนเอง ดังนี้                ·  สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว (มาตรา 35 (1) )                 ·  สั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 หยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว (มาตรา 35 (2) )                 ·  สั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษาหรือสถานที่อื่นใดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ (มาตรา 35 (3) )           11. ในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็น COVID-19 หรือเป็นพาหะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจสั่งให้บุคคล ดังกล่าว ถูกแยกกัก ถูกกักกัน ถูกคุมไว้สังเกต ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (มาตรา 42 )     ดังนั้น 11 ข้อข้างต้นนี้ ผมต้องเรียนว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ ยังมีอำนาจและหน้าที่อีกหลายอย่างที่กฎหมายให้ไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค COVID-19    ทั้งนี้ กฎหมายก็มีไว้เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม ก็อยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อตนเองและคนในครอบครัวและขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 กระแสต่างแดน

 งานด่วน        ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังแข่งกันว่าใครจะส่งสินค้าที่ “สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้” ออกสู่ตลาดได้ก่อนกัน         เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (เจ้าของแบรนด์เดทตอล) แถลงเป็นรายแรกว่าได้ซื้อสเตรนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากห้องปฏิบัติการอิสระมาแล้ว         ตามข้อกำหนดของยุโรปและอเมริกา ต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานควบคุมมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าไวรัสได้ร้อยละ 99.99 จึงจะสามารถโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ “ฆ่าไวรัสได้”         ผลทดสอบจะออกปลายเดือนเมษายนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการทดสอบอย่างเข้มข้นโดยหน่วยงานควบคุมอีกหลายครั้ง (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหนึ่งถึงสองแสนเหรียญ (3.2 ล้านถึง 6.4 ล้านบาท)         ข่าวไม่ได้ระบุราคาของไวรัส แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอีกสามค่าย (โคลร็อกซ์, ยูนิลเวอร์, และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล) คงจะซื้อสเตรนไวรัสสุดเฮี้ยนนี้มาแล้วเช่นกันคนจีนไม่ถูกใจสิ่งนี้        เป็นธรรมเนียมปกติสำหรับศิลปินดาราจีนที่จะต้อง “แทนคุณแผ่นดิน” ที่ผ่านมามีหลายคนมอบเงินบริจาคเพื่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ชาวเน็ตจึงรวบรวมรายชื่อดาราและเงินบริจาคมาแชร์กันในโลกออนไลน์        งานนี้หลายคนได้รับการชื่นชมมาก เช่น เจย์ โชว์และภรรยาที่บริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ยเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (13.7 ล้านบาท) หรือเจ้าเปิ่นชาน เจ้าพ่อแห่งวงการบันเทิงที่บริจาคให้กับเทศบาลเมืองอู่ฮั่นถึง 10 ล้านหยวน ( 45.8 ล้านบาท)         แต่บางรายโดนถล่มยับเพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวจีน เช่น หวงเสี่ยวหมิงและภรรยา ที่มอบเงินให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง 200,000 หยวน (917,000 บาท)         โดนหนักที่สุดคือ คริสตัล หลิว นางเอกภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน นอกจากถูกหาว่าขี้เหนียวเพราะบริจาคแค่ 200,000 หยวนแล้วเธอยังโดนประณามว่า “ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วย  ไหนว่าไม่มี        คอนแทค เอนเนอร์ยี ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 245,000 เหรียญ (4.8 ล้านบาท) เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.การค้าที่เป็นธรรม ถึงเจ็ดข้อหา          บริษัทยอมรับผิดกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของโปรโมชัน Fuel Rewards Plans ในปี 2017 ที่โฆษณาว่าลูกค้าจะได้ส่วนลดลดค่าน้ำมัน 10 ถึง 50 เซนต์ต่อลิตรทุกเดือน และยังคำนวณให้ด้วยว่าใครที่เลือกโปรฯ แบบหนึ่งปีจะประหยัดเงินได้ถึง 180 เหรียญ (3,500 บาท) สิ่งที่ไม่บอกให้ชัดคือ ผู้บริโภคมีสิทธิได้ส่วนลดที่ว่านี้เพียงเดือนละครั้ง และจำกัดที่ไม่เกิน 50 ลิตรแต่ที่น่าตีที่สุดคือบริษัทยังมั่นหน้าชูสโลแกน “ไม่ตุกติก ไม่ต้องรอ ไม่มีเซอร์ไพรซ์”          คณะกรรมการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทนี้บอกว่า การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคลดความระมัดระวังในการอ่านเงื่อนไขตัวเล็กๆ ก่อนตัดสินใจ น้องหมางานเข้า        มาตรการล็อกดาวน์ในสเปนที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกมาสูดอากาศนอกบ้านได้เลย          เฉพาะคนที่มีสุนัขเท่านั้นที่ได้สิทธิพามันออกมาเดินเล่นในระยะเวลาสั้นๆ ให้มันได้ทำธุระส่วนตัว         แต่คุณจะพากันออกมาทั้งครอบครัวไม่ได้ เขาให้โควตาน้องหมาหนึ่งตัวต่อคนจูงหนึ่งคน นอกจากจะต้องมีถุงเก็บมูลสุนัขแล้ว คนจูง (ซึ่งต้องจูงสุนัขตลอดเวลา) ต้องเตรียมน้ำยาทำความสะอาดละลายน้ำใส่ขวดมาราดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอึหรือฉี่ด้วย         เมื่อใครๆ ก็อยาก “จูงน้องหมา” ความฮาจึงบังเกิดในโลกโซเชียล... เราได้เห็นคลิปชายคนหนึ่งแอบจูงตุ๊กตาน้องหมาออกมานอกบ้าน หรือคุณพ่อที่จับลูกสาวแต่งเป็นดัลเมเชียนเพื่อจะพาเธอไป “เดินเล่น”         เรายังได้เห็นโฆษณา “ให้เช่าสุนัข” และภาพล้อเลียนที่น้องหมาในสภาพอิดโรยกำลังโอดครวญว่า “วันนี้แม่พาผมเดินไป 38 รอบแล้วนะ”  พักหรูสู้โควิด        หลายโรงแรมอาจเลือกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่ที่โรงแรม Le Bijou ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์         โรงแรมแห่งนี้เสนอ “แพ็คเกจสุดหรู ที่ควรคู่กับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ไวรัสโคโรนา” ที่นอกจากห้องพักหรูเลิศ ซาวนาและยิมส่วนตัวแล้ว คุณยังสามารถเลือกบริการเสริมต่อไปนี้ได้ตามใจชอบ          มาดูกันว่าคุณชอบค่าใช้จ่ายของแต่ละบริการหรือไม่         บริการตรวจหาเชื้อไวรัส  500 ฟรัง (17,000 บาท)  การเยี่ยมโดยพยาบาลวันละสองครั้ง 1800 ฟรัง (61,000 บาท)  หรือออปชันแบบมีพยาบาลส่วนตัวดูแล 24 ชั่วโมง 4,800 ฟรัง (164,000 บาท)         รวมๆ แล้ว ถ้าคุณพักที่นี่จนครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ก็เตรียมควักกระเป๋าอย่างน้อย 80,000 ฟรัง (2.7 ล้านบาท)  โอ... มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลอค่าจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาที

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาทีเวอร์ชั่นนี้มีข้อดีคือ1. ใช้วัสดุอย่างเดียวคือ พลาสติกใส2. ไม่ต้องติดแถบกาวหรือใช้ปืนกาว3. ไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้        หน้ากากป้องกันใบหน้าเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 เอกสารนี้บอกวิธีทำหน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันบุคลากรจากการสัมผัสกับละอองที่มีไวรัสจากผู้ป่วยเมื่อพวกเขาไอหรือจาม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ได้พัฒนาการออกแบบหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก หน้ากากป้องกันใบหน้าแบบอื่นใช้การพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีในการพิมพ์ แต่เวอร์ชั่นนี้ใช้แค่พลาสติกใสยืดหยุ่นสองชิ้นและแถบยางยืด สามารถประกอบได้ภายใน 1 นาที ซึ่งโรงงานที่มีอุปกรณ์สำหรับการผลิตสินค้าแบบแบนๆ เช่นที่เจาะรู เครื่องตัดเลเซอร์ สามารถนำไปผลิตแบบล็อตใหญ่ได้ เวอร์ชั่นนี้ออกแบบออกร่วมกับแพทย์ ทีมของ NYU ได้เผยแพร่วิธีทำแบบโอเพนซอร์ซ เปิดให้ทุกคนนำแบบนี้ไปใช้ได้ มีคำถามเพิ่มเติมติดต่อผ่านทาง covid19.taskforce@nyu.eduดาวน์โหลดแบบตัดและวิธีทำ https://open-face-website.now.sh/instructions#downloadแบบตัดหน้ากาก https://bit.ly/shieldcutfileแบบตัดแถบคาดศีรษะ https://bit.ly/3agdvEPวัสดุ 1. แผ่นพลาสติกใส PET หนา 0.25 มม หรือวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (เช่นโพลีคาร์บอเนต, PETA, PETG, ไวนิล)        ·        ส่วนโล่กันใบหน้า ขนาดประมาณ 31.75 x 26 ซม 1 แผ่น        ·        แถบคาดศีรษะ ขนาดประมาณ 27.3 x 2.5 ซม 1 แผ่น2. สายยางยืด กว้าง 1-1.5 ซม ยาว 40 ซม 1 เส้น3. แผ่นโฟม หนา 1 ซม ขนาด 2.5 x 25 ซม (ถ้าจะใช่แผ่นโฟมเสริมก็ได้ แต่จะทำความสะอาดยากกว่า) หน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัยไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้ อ้างอิง Retrieved and translate by Jittiporn: 30/03/2020 – 7.00NYU makes face shield design for healthcare workers that can be built in under a minute available to allDarrell Etherington @etherington / 12:40 am +07 • March 28, 2020https://techcrunch.com/2020/03/27/nyu-makes-face-shield-design-for-healthcare-workers-that-can-be-built-in-under-a-minute-available-to-all/https://open-face-website.now.sh/instructions#download

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 โควิด 19 โรคอุบัติใหม่

        การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อไวรัสว่า SARS CoV-2 และชื่อโรคว่าโควิด 19 (CoVID -19) นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งแห่งยุคสมัย การระบาดของเชื้อไวรัสที่มีแหล่งกำเนิดจากค้างคาวนี้มีจุดกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ธันวาคม ค.ศ. 2019  จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งได้แพร่ระบาดใหญ่ไปแล้วเกือบทั่วโลกอย่างรวดเร็ว   รวมแล้วไม่น้อยกว่า   189 ประเทศ แม้ประเทศจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มของการระบาด จะสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ทว่าการระบาดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศกลับมีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 330,000 คน เสียชีวิต มากกว่า 14,000 คน  ทั้งนี้เพราะไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อ มีความทนทานสภาวะแวดล้อมเมื่ออยู่นอกเซลล์ ทั้งในอากาศ และบนพิ้นผิววัตถุต่างๆ   นับว่า โควิด 19 ได้สร้างส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม  จนเป็นที่หวาดวิตกว่า กว่าจะค้นพบยาและวัคซีนป้องกันและรักษาโรคได้อาจมีความสูญเสียอย่างมาก         การจะรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากหน่วยงานของรัฐจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ทันสถานการณ์ และปฎิบัติอย่างจริงจังรอบด้านแล้ว ประชาชนจะต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และให้ร่วมมือปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวมด้วยอย่างรับผิดชอบ จึงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้โดยมีความสูญเสียไม่มากนัก  แต่เป็นที่น่าสลดใจว่า ความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจำนวนมาก ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่จัดว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว          สำหรับประเทศไทย ระยะแรกสามารถชะลอการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบคน และผู้เสียชีวิต 1 คน มีจำนวนคงที่เป็นเวลามากกว่า 2 เดือน แต่จากการอนุญาตให้มีกิจกรรมมวยที่มีผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ประกอบกับการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงรายเดียว  เป็นจุดตั้งต้นของการแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายร้อยคนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตามมา  ไวรัส คืออะไร         ไวรัสเป็นสิ่งไม่มีชีวิตขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  แต่ไวรัสไม่จัดเป็นเซลล์เพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นต้น  ไวรัสจึงมีสถานะเป็นเพียงอนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่าแบคทีเรียหลายเท่า มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 20-300 นาโนเมตรขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส         การที่ไวรัสเป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ จึงไม่สามารถอยู่เป็นอิสระได้  จะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างจำเพาะเท่านั้น เช่น ไวรัสพืชต้องอาศัยในเซลล์พืช ไวรัสสัตว์ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สัตว์ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยกลไกต่างๆ ของเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัยอยู่เป็นกลไกสำคัญ ทั้งนี้เพราะไวรัส มีองค์ประกอบเพียงสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอ  อาจถูกห่อหุ้ม ด้วยโปรตีนหน่วยย่อยที่รวมกันอยู่เป็นแคพซิด (capsid) นอกจากนี้ไวรัสบางชนิดอาจมีเยื่อหุ้มบางๆ ซึ่งเป็นสารพวกไลโปโปรตีนหรือไกลโคโปรตีน ที่ไวรัสได้จากเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัย ห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น         สำหรับ SARS CoV- 2 จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกับไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่เคยระบาดใหญ่มาก่อน คือ ซาร์ส ( SARS) และเมอร์ส ( MERS) ซึ่งเชื้อล้วนมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว แล้วแพร่ผ่านสัตว์ตัวกลางมาสู่คน เช่นเดียวกัน โดยทั่วไป ไวรัสแต่ละชนิดต้องอาศัยเซลล์เจ้าบ้านที่จำเพาะเจาะจงดังกล่าวแล้ว ดังนั้นตามปกติไวรัสไม่มีการก่อโรคในสัตว์ข้ามชนิดกัน  แต่อาจมีกรณีพิเศษเกิดการปรับตัวกลายพันธุ์ ทำให้มีการติดเชื้อข้ามกลุ่มจากสัตว์มาสู่คนได้ ตัวอย่าง เช่น ไข้หวัดนก เอชไอวี และซาร์ เมอร์ เป็นต้น         โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ  SARS CoV- 2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด- 19  มีขนาดเพียงประมาณ 0.125 ไมครอนหรือ 125 นาโนเมตร  มีสารพันธุกรรม เป็น  อาร์เอ็นเอสายบวก ซึ่งจะสามารถแปลรหัสสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนได้โดยตรง ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ปัจจุบัน(เท่าที่มีข้อมูล) พบว่าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็น 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการก่อโรคแตกต่างกัน ให้ชื่อว่า ชนิดเอส ( Serine) และชนิดแอล ( Leucine) ตามชนิดของกรดอะมิโนที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของจีโนม แนวโน้มสถานการณ์         องค์การอนามัยโลก ยกระดับการระบาดของโควิด 19 ให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก   นักระบาดวิทยาประเมินสถานการณ์ว่า  ไวรัสคงแพร่ระบาดอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี จนทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แล้วมีภูมิคุ้มกันกลุ่มเกิดขึ้น ทำให้คนมีภูมิต้านทาน  ดังนั้นไวรัสจะถูกยับยั้งได้ หรือถ้าสามารถค้นพบวัคซีนได้รวดเร็ว ก็จะช่วยลดระยะเวลาการระบาดให้สั้นลงได้         ในเมื่อมีแนวโน้มว่า ประชาชนคงต้องอยู่เผชิญกับโรคโควิด 19 กันอีกเป็นเวลานานพอสมควร ประชาชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในประเด็นที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง             -          ความทนทานของไวรัส มีรายงานการทดลองล่าสุดว่า ไวรัส SARS CoV- 2 มีความทนทานสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างอิสระในอากาศได้ 2 -8 ชั่วโมง และอยู่บนพื้นผิววัสดุชนิดพลาสติก เหล็ก ทองแดง กระดาษได้นานประมาณ 9 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้น ดังนั้น ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ             -          ระยะเวลาฟักตัว ประมาณ 2- 14 วัน พบในบางราย มีระยะฟักตัวนาน  21 วัน และ 28 วัน ซึ่งคงเนื่องมาจาก ปริมาณเชื้อเริ่มต้นที่ผู้ป่วยได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด และเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางไหน             -          ความสามารถในการแพร่เชื้อ จากการประมวลผล การแพร่ระบาดในประเทศจีน พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการใดๆ คือยังอยู่ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้แล้วในอัตรา RO  1.6 ทุกๆ 5.4 วัน ซึ่งเป็นความสามารถแพร่เชื้อได้ดี             -          การก่อโรคของไวรัสโควิด 19  แม้ว่าไวรัสจะมีระยะฟักตัวหลายวัน แต่ค้นพบว่า ไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอนุภาคของไวรัสจะจับกับตำแหน่งตัวรับจำเพาะที่อยู่บนเซลล์เจ้าบ้านเช่น เซลล์ปอดได้อย่างดี แล้วเข้าไปชักนำให้เซลล์เจ้าบ้านมาสร้างสารพันธุกรรม และโปรตีนของไวรัสแทน ในปริมาณมาก จนได้ส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัสจำนวนมาก เพื่อประกอบเป็นอานุภาคของไวรัสใหม่ๆ แล้วไวรัสจะออกจากเซลล์เดิมโดยนำเอาส่วนเยื่อหุ้มเซลล์ไปด้วย  ทำให้เซลล์เจ้าบ้านถูกทำลาย  ไวรัสก็จะไปเข้าสู่เซลล์ข้างเคียง แล้วทำลายเซลล์ต่อไปทำนองเดียวกัน  หากไม่สามารถยับยั้งกระบวนการนี้ อวัยวะเป้าหมายจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ             -          การติดเชื้อซ้ำ มีข้อสงสัยในประเด็นนี้ เพราะมีรายงานข่าวจากประเทศจีนว่า มีคนไข้บางราย ที่รักษาหาย ตรวจไม่พบกรดนิวคลิอิกของไวรัสแล้ว แต่หลังจากนั้นก็กลับมาป่วยใหม่ จึงมีข้อสงสัยและความเป็นไปได้ว่า                 o   คนไข้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากเชื้อเดิม หรือ                o   คนไข้ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ตรวจไม่เจอ และไม่มีอาการป่วยแล้วระยะหนึ่ง จากนั้นไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้นใหม่ วัคซีน เมื่อไหร่จะได้ใช้         จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถทราบสารพันธุกรรม องค์ประกอบของโปรตีน ลักษณะสามมิติ ตลอดจนวงจรชีวิต ของไวรัส SARS CoV- 2  อย่างรวดเร็ว การออกแบบพัฒนาวัคซีนจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน  โดยอาจมุ่งออกแบบวัคซีนเพื่อยับยั้งระยะการเข้าเซลล์ การสร้างโปรตีน หรือ การสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก  เป็นต้น  ปัจจุบัน อย่างน้อย 3 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล  ประกาศว่าได้พัฒนาวัคซีนถึงขั้นทดลองในสัตว์ และคนได้แล้ว โดยจำแนกเป็นวัคซีน 3 ชนิด คือ วัคซีนเชื้อตาย  วัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลงโดยเทคนิคพันธุวิศวกรรม  และแมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ วัคซีน (mRNA vaccine)  แต่การใช้วัคซีนใดๆ จำเป็นต้อง ทำการทดสอบหลายขั้นตอน ทั้งประสิทธิภาพ และความปลอดภัย คาดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถประเมินผลได้ หากได้ผลดีจึงจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป หากไม่ได้ผล ก็ต้องเริ่มต้นคัดเลือกโมเลกุลเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ จึงต้องใช้เวลาเช่นกัน  ดังนั้นการจะรีบนำวัคซีนที่พัฒนาได้มาใช้ในคน โดยลัดขั้นตอนพิสูจน์ความปลอดภัย อาจทำให้เกิดผลเสียกับคนไข้ได้        สำหรับประเทศไทย มีการแถลงข่าว ลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาวัตซีนโควิด 19 เช่นกัน จึงจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป         ดังนั้น ในระยะนี้ ประเทศต่างๆ จึงได้พยายามทดสอบหายาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อ SARS CoV- 2 ต่อไป ที่ผ่านมา ได้มีการนำยาต้านไวรัสชนิดอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ซาร์ส เอชไอวี หรือ ยาต้านมาลาเรีย มาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยร่วมกับการรักษาตามอาการ แต่ปรากฏว่า ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน ยังต้องทำการทดลองต่อไป การกลายพันธุ์         โคโรนาไวรัส เป็นอาร์เอนเอไวรัสสายเดี่ยวดังได้กล่าวมาแล้ว ไวรัสจึงมีความสามารถกลายพันธุ์แบบ ไม่เจาะจง (random mutation) ได้มาก ในระหว่างการเพิ่มสารพันธุกรรมของไวรัสในเซลล์เจ้าบ้าน  แต่ส่วนใหญ่การกลายพันธุ์จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไวรัส เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอเพียงหนึ่งตำแหน่ง หรือไม่กี่ตำแหน่ง  และตำแหน่งที่กลายพันธุ์อาจไม่ส่งผลให้ชนิดของกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงก็ได้  ดังนั้นการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้คุณสมบัติไวรัสเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ต้องใช้เวลา และการปัจจัยที่เหมาะสม         การกลายพันธุ์อาจทำให้เชื้อก่อโรครุนแรงขี้น หรืออ่อนกำลังลงก็ได้ หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติในการก่อโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลง  จึงไม่ควรวิตกกังวลประเด็นนี้มากนัก เพราะถ้าไวรัสทำลายแหล่งอาศัยอย่างรุนแรง จนเสียชีวิตจำนวนมาก ไวรัสก็อาจมีแหล่งอาศัยน้อยลงด้วย   ตัวอย่าง ไวรัสเอชไอวีที่ก่อโรคเอดส์ แม้เชื้อจะกลายพันธุ์มากมายในคนไข้แต่ไม่ได้ก่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้น  ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ใช้ คนไข้ที่กินยาต้านไวรัสก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้  ประชาชนจะรับมืออย่างไร            การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด 19 ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ ว่าพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมเพียงจุดเดียว สามารถนำเชื้อไวรัสในค้างคาวที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาก่อโรคในคน แล้วแพร่ระบาดไปตามเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบายในปัจจุบัน จนมีคนติดเชื้อทั่วทุกทวีปภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน  ทั้งๆ ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการรับมืออย่างเต็มที่ภายใต้บริบทและทรัพยากรของประเทศเหล่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง          ในกรณีของประเทศไทย   ณ ปัจจุบัน การระบาดดำเนินมาถึงจุดสำคัญมากว่า จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จำนวนคนป่วย คนเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในเวลาอันใกล้นี้  ซึ่งการจะควบคุมสถานการณ์ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนอย่างมาก          ประชาชนทั่วไปควรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัด และมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจังเพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม เพราะว่าไวรัสนี้ จะแพร่กระจายติดต่อได้ง่าย ผู้ติดเชื้อไวรัสมีระยะเวลาในการฟักตัวนานประมาณ 2-14 วันเป็นส่วนใหญ่ หรือบางรายอาจถึง 27 วัน  ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายครั้งแรกว่ามี มากน้อยเพียงใด  ไวรัสแพร่ออกจากร่างกายคนพร้อมสารคัดหลั่งต่างๆ โดยการ ไอ จาม  ของผู้ที่มีอาการแล้ว ในกรณีนี้ เราจะระมัดระวังได้ง่ายกว่าพวกที่ยังไม่มีอาการ        พึงตระหนักว่า ไวรัสแพร่จากร่างกายคนไม่มีอาการ หรืออยู่ในระยะฟักตัวได้  โดยที่ในระยะนี้ ไวรัสอาจอยู่บริเวณเยื่อเมือกบริเวณจมูก ปาก แล้วผู้ป่วยอาจสัมผัสร่างกายบริเวณนั้นๆ แล้วไปสัมผัสสิ่งของ วัตถุต่างๆ ซึ่งเราป้องกันการรับเชื้อได้โดยการล้างมือบ่อยๆ หลังจากไปสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว ไวรัสแพร่เชื้อจากคนสู่คน ดังนั้น การอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด พลุกพล่าน ย่อมมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย จึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น   หากไม่ระมัดระวังอาจจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก ตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 % อาการไม่รุนแรง  บางคนหายเองโดยภูมิต้านทานของตนเอง หรือเพียงแต่รักษาตามอาการ         ไวรัสก่อโรครุนแรง หากมีการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งตามรายงานปัจจุบันอยู่ที่ 4.23 % ผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อที่ปอด เมื่อหายแล้วพบว่ามียังรอยโรคที่ปอด ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้ปอดทำงานไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ไวรัสมีผลต่อระบบประสาทของการรับรสชาติในผู้ป่วยบางราย         ดังนั้นแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นผู้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้ดี ผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้วอาจมีปัญหาสุขภาพบางประการตามมา  การป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้เป็นมาตรการที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >