ฉบับที่ 268 ‘เนอสเซอรีเถื่อน !! โกงเงินอย่าวแยบยล’

        คุณมิน เป็นคุณแม่ที่ต้องวุ่นทำงานหารายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัวเมื่อมีลูกเล็ก จึงมองหาพี่เลี้ยงเด็กเข้ามาช่วยดูแลลูก แต่คุณมินไม่รู้จักใครจึงหาข้อมูลจาก กูเกิ้ล  เพราะหวังว่าจะเจอเนิร์สซิ่งโฮมที่ดีไว้วางใจได้ แล้วคุณมินก็เปิดเว็บไซต์เจอ  “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” (ชื่อสมมุติ) ที่อวดอ้างว่า รับจัด-ส่ง พี่เลี้ยงดูแลเด็กทั่วประเทศและมีรีวิวจากผู้ที่เคยใช้บริการเข้ามาชื่นชมบนเว็บไซต์มากมาย         “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” แจ้งคุณมินว่ามีค่าใช้จ่ายใช้บริการคือ ค่าเงินเดือนพี่เลี้ยง 16,000 บาท ค่ามัดจำล่วงหน้า 13,000 บาท โดยเป็นค่าประกันจ้างแรงงาน  1 หมื่นบาท และค่าบริการจัดส่งพี่เลี้ยง 3,000  บาท หาก “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” ไม่ส่งพี่เลี้ยงมาตามสัญญาจะคืนมัดจำให้ลูกค้าหรือหากส่งแล้วลูกค้าไม่เอาพี่เลี้ยง หรือไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้พี่เลี้ยง เสื้อน้อยจะยึดเงินมัดจำไว้เช่นกัน คุณมินตกลงจ่ายเงินและทำสัญญาว่าจ้างบริการดูแลพี่เลี้ยงเด็ก และเมื่อถึงวันที่ 12 ก.พ. ‘นิ่มนวล’ พี่เลี้ยงชาวลาว วัย 36 ก็มาที่บ้านตามนัด         พี่เลี้ยงทำงานเลี้ยงดูลูกของคุณมินอย่างดี แต่...ทำได้ไม่ถึง 3 วัน ‘นิ่มนวล’ ก็มาขอลาหยุดโดยอ้างว่าขอไปต่อใบอนุญาตทำงานต่างด้าว คุณมินเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงให้ลา แต่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งได้ 4 วัน นิ่มนวลก็บอกว่า จะไม่ทำงานต่อแล้วและขนของออกจากบ้านไปทันที ในวันที่ 23 ก.พ. 66         คุณมิน จึงติดต่อ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” เพื่อให้ส่งพี่เลี้ยงคนใหม่มาแทนแต่พยายามติดต่อเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ของ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม”ก็แค่รับปากว่าจะส่งพี่เลี้ยงคนใหม่มาให้แต่ก็ไม่ส่งมาให้เสียที คุณมินพยายามติดต่อหลายครั้ง และเริ่มติดต่อยากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่อ้างว่าป่วยเข้าโรงพยาบาลบ้าง อ้างเหตุอื่นๆ อีกหลายอย่าง สุดท้ายคุณมินก็ไม่ได้พี่เลี้ยงคนใหม่ และเจ้าหน้าที่ยังเบี้ยวนัดหลังจากรับปากว่าจะเข้ามาตกลงที่บ้านของคุณมิน จนวันที่ 5 มี.ค. คุณมินก็ติดต่อไม่ได้ทั้งเบอร์ ทั้งไลน์ ของ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม”        ด้วยมี สัญญาว่าจ้างบริการดูแลพี่เลี้ยงเด็กกันอยู่ คุณมินจึงเดินทางจาก กรุงเทพฯ ไปที่ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” ตามที่อยู่บนเว็บไซต์แต่พอไปถึงกลับโป๊ะแตก เพราะที่อยู่ดังกล่าว เป็นเพียงร้านซ่อมจักรยานยนต์ โดยที่เจ้าของร้านซ่อมจักรยานยนต์ไม่รู้จัก “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” และไม่รู้ที่มา ที่ไปของหมายศาลมากมายเลยที่ถูกส่งมาที่ร้านเลย         วันที่ 15 มี.ค. คุณมินจึงเดินทางมาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะไปแจ้งความแล้วและตำรวจไม่รับแจ้งความเพราะมองว่าเป็นคดีแพ่ง และคุณมินพยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อกลับไปค้นหา“เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” อีกครั้ง จนเจอตัวเจ้าของ ซึ่งเจ้าของไม่ได้หนีดังนั้นคุณมินจึงพาตัวไปหาตำรวจเพื่อขอให้คืนเงินมัดจำ 1 หมื่นบาท เจ้าของกิจการขอผัดผ่อนจ่ายก่อน 3,000 บาทและสัญญาว่าจะคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลือให้ในวันถัดไป แต่...กลับหายตัวไปเช่นเดิม ตอนนี้คุณมินจึงฟ้องเป็นคดีอาญาแล้ว เพราะมีเอกสารสัญญามีอยู่ครบทุกประการ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ความเสียหายกรณีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า เกิดจากมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ทางกฏหมาย โดยเลี่ยงคดีอาญาฐานฉ้อโกง ด้วยการรับเงินมัดจำ แต่ส่งคน ไปก่อนเพียง  2-3 วัน เพื่อจะใช้เป็นเหตุอ้างว่า บริษัทผิดไม่ได้ เพราะผู้รับจ้างไม่รับผิดชอบการทำงานไม่เกี่ยวกับบริษัท เหตุการณ์เช่นนี้จะทำเป็นขบวนการ เวียนคนไปรับจ้างแต่ละบ้าน แค่ 2-3 วัน หลอกเอาเงินค่ามัดจำบ้านละ 1.3 หมื่นบาท บางบ้านไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้องขบวนการนี้ก็จะได้เงินไปฟรีๆ        1.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่ต้องการ ว่าจ้างเนิร์สซิ่งโฮม ควรตรวจสอบไปยัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ เพื่อศึกษาข้อมูลระยะเวลาเปิดดำเนินการ ความไว้ใจของผู้ใช้บริการ แต่ปัจจุบันการยื่นจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ ทำได้ง่ายมาก จึงเป็นช่องโหว่ให้กับมิจฉาชีพ ใช้เป็นเกราะทำธุรกิจหลอกลวง การตรวจสอบเท่านี้จึงไม่พอ ควรตรวจสอบ ไปที่ กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย        2.ความเสียหายลักษณะนี้เข้าข่ายคดีอาญา ฐานฉ้อโกง ดังนั้น ผู้เสียหายหากจะเอาผิดให้ถึงที่สุด ต้องจ้างทนายความเพื่อดำเนินการส่งฟ้องชั้นศาล แต่หากเคสนี้เป็นคดีแพ่ง ตามที่ตำรวจอ้างถึงผู้เสียหายต้องฟ้องไปที่ “ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค “ ที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านคดีความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ถูกแอปฯ เงินกู้หลอก ต้องทำยังไง?

        ในยุคที่ข้าวของแพง ค่าแรงถูก คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หากบังเอิญมีแอปฯ เงินกู้นอกระบบเด้งขึ้นมาบนมือถือของพวกเขา พร้อมเสนอเงื่อนไขที่เชิญชวนให้เชื่อจนยากปฏิเสธ หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกให้เป็นหนี้เพิ่มก็สายไปซะแล้ว         เหมือนอย่างที่คุณอรสากำลังกังวลอยู่ตอนนี้ เธอเล่าว่าได้ทำสัญญากู้เงินจากแอปฯ เงินกู้นอกระบบแห่งหนึ่ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งทางแอปฯ หัก​ค่า​บริการไป 1,170 บาท เธอได้​รับ​เงิน​มาจริง 1,830 บาท โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกู้นั้น เธอก็พยายาม​จะ​สอบถาม​รายละเอียดในเงื่อนไขนี้กับทางแอปฯ แต่ติดต่อไม่ได้เลย จึงกดตกลงไปก่อน เพราะวันนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ          วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ จากตอนแรกทางแอปฯ แจ้งเงื่อนไขว่าให้ผ่อนใช้ได้ภายใน 91 วัน ซึ่งเธอคิดว่าคงพอมีเวลาที่จะหาเงินมาคืนได้ทัน แต่พอหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว ทางแอปฯ ดันกลับคำ มาบังคับให้เธอคืนเงินเต็มจำนวนทั้งหมด 3,000 บาท ภายใน 7 วัน           คุณอรสาสงสัยว่าตัวเองจะโดนแอปฯ เงินกู้หลอกเข้าแล้ว จึงเขียนมาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทาง​การ​แก้ไข​ปัญหา        ในกรณีนี้ คุณอรสากู้เงินจากแอปเงินกู้ที่เปิดแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ได้เงินมาจริงแม้จะมีเงื่อนไขโหด มพบ. จึงแนะนำให้​เก็บ​หลัก​ฐานต่างๆ และรีบไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งเรื่องที่โดนแอปเงินกู้ลวงให้กู้เงินและ​เรื่องการ​ทวง​หนี้​โดย​ผิด​กฎหมาย​ตาม​ พ​รบ​.​ทวง​หนี้ เมื่อ​แจ้ง​ความ​หรือ​ลงบันทึกประจําวัน​แล้วให้ถ่ายภาพเอกสารส่งกลับไปให้แอปฯ เงินกู้ดู ​อย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องจำไว้ว่า ถึงอย่างไรเราก็ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง (1,830 บาท) ขอให้เตรียมเงินไว้เพื่อคืนกับผู้ให้กู้ โดยเรียกหรือนัดหมายมาคืนเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจ่ายคืนไปทันที เพราะจะมีเรื่องผูกพันกันไปอีกมาก (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม) และทั้งนี้ทราบด้วยเช่นกันว่า ​คุณอรสาได้​ถ่าย​ภาพ​หน้า​/หลัง​บัตร​ประชาชน​ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​สําคัญให้แอปฯ เงินกู้ไปด้วย จึงแนะว่าให้รีบไปทําบัตร​ประชาชน​ใหม่ และให้คลายกังวลได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำร้ายผู้กู้ อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาต่อเนื่องทาง มพบ.ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อไป......         ก่อนตัดสินใจใช้บริการแอปเงินกู้ ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ “แอปเงินกู้” โดยนำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน

ขนส่งทางบกขยับใช้เทคโนโลยีแก้โกงแท็กซี่         15 มิถุนายน นายจักรกฤธ  ตั้งใจตรง  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ของสื่อมวลชน The Transport Talk ในหัวข้อเสวนา “แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค”  ว่า ขนส่งฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาและยกระดับบริการของแท็กซี่ โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาดูแลให้ผู้ขับแท๊กซี่ปฏิบัติตามกฏหมาย ป้องกันการโกงมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการขับรถเร็ว โดยจะเริ่มมีการนำจีพีเอสมาติดแท๊กซี่เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น TAXI OK  พิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้สอดรับกับต้นทุนค่าจีพีเอส กสทช. เตือนระวัง SMS หลอกลวง ป้องสูญเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มีประชาชนได้รับข้อความสั้นหรือ  SMS  แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งผู้ส่งตัวจริงคือมิจฉาชีพที่แอบอ้างใช้วิธีการส่งลิงก์ประกอบข้อความ ในลักษณะคล้ายการแจ้งเตือนแบบระบบ อี-แบงกิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางการเงิน ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับข้อความอาจไม่เคยทำธุรกรรมใดกับธนาคารนั้นๆ มาก่อนหรือติดต่อกับหน่วยงานมาก่อน เป็นการหลอกให้ประชาชนกดลิงก์แนบเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้สูญเสียเงินหรือถูกนำข้อมูลไปใช้ในคดีทางอาชญากรรมจนเกิดการความเสียหาย         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน กล่าวว่า กสทช. ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์ลักษณะดังกล่าวขอให้ตั้งสติหรืออย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่ได้รับ แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS  สังเกตลิงก์ก่อนกด หากเป็นมิจฉาชีพ Url จะมีลักษณะแปลก ไม่ตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อ้างใน SMS หากสงสัยอย่าไปกดลิงก์ ให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานแทน ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรมานาคมทุกรายตรวจสอบดูแลการส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ใช้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดกรณีหลอกลวง ขายประกันจำไว้ ถ้าถูกปฏิเสธภายใน 6 เดือนห้ามตื้อขายอีก        นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ยกร่างประกาศใหม่ สำหรับแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์วิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และดำเนินการของตัวแทน นายหน้า และธนาคาร พ.ศ.2563  เพิ่มเติมจากประกาศเสนอขายฉบับใหญ่เดิม โดยประกาศเดิมอาจมีถ้อยคำที่มีความยืดหยุ่นให้ธุรกิจไปปฏิบัติแต่บางเรื่องภาคธุรกิจยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความเป็นธรรม คปภ. จึงยกร่างแนวปฏิบัติใหม่ เปิดรับความคิดเห็นภาคธุรกิจ ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้         นายจอม กล่าวว่า  “ร่างใหม่จะเป็นไกด์ไลน์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถ้าเกิดกรณีมีความผิดปกติ หรือมีลักษณะทุจริต เราก็อ้างอิงแนวปฏิบัติจากตรงนี้ได้ ซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่ คปภ.พยายามกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติแก้ไขส่วนที่ยังคลุมเครืออยู่เพื่อลดข้อโต้แย้ง”สำหรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยใหม่1.ปลดล็อกขายยูนิตลิงก์ผ่านช่องทาง2.เปิดกว้างใช้วิธีเห็นชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันลูกค้าประสงค์ทำประกัน3.ห้ามเสนอขายประกันนอกเหนือวันและเวลา (วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น.) เว้นแต่มีนัดหมายล่วงหน้าและลูกค้ายินยอม4.หากลูกค้าไม่ประสงค์ทำประกันภัยจะต้องล่วงพ้นไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากวันปฏิเสธถึงเสนอขายใหม่ได้ห้ามใช้ถ้อยคำดูหมิ่น ข่มขู่ หรือไม่สุภาพ5.ใช้คำว่า ชำระเบี้ยประกันทุกครั้ง ห้ามใช้คำว่า ฝาก หรือ ฝากเงิน หากมีการระบุว่าเป็นการออม ระบุชัดว่าเป็นการออมในรูปแบบการประกันชีวิต      จับฉลากออนไลน์ ขายหวยไม่มีใบรางวัลที่ 1 ให้ครูชัยภูมิ         จากกรณีครูชาวชัยภูมิ ซื้อลอตเตอรี่จากแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายไม่ได้ให้ใบสลากและขอจ่ายเงินรางวัลเพียง 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายเป็นเช็คให้งวด 500,000 บาทจนครบ โดยอ้างว่าสลากที่ถูกรางวัลถูกพนักงานในบริษัทขโมยงัดตู้เซฟนั้น         พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการซื้อขายหมายเลขโดยไม่มีสลากมอบให้กับผู้ซื้อ แต่อ้างอิงผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 จึงมอบอำนาจให้นิติกรไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดจากพฤติกรรมดังกล่าว ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำการประชาสัมพันธ์เตือนผู้ซื้อสลากกินแบ่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากไม่ได้รับสลากมาครอบครองอาจไม่สามารถนำสลากมารับเงินรางวัลได้ และเตือนตัวแทนจำหน่าย การนำสลากไปขายต่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา หลักเกณฑ์การรับสลากไปจำหน่าย   มพบ.เสนอรัฐจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนป้องกันเหตุสลดซ้ำซาก         จากกรณีอุบัติเหตุรถสองแถวหกล้อรับส่งนักเรียนโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ เสียหลักพลิกคว่ำรับเปิดเทอมบริเวณสามแยกด้านหน้าทางเข้าโรงเรียน ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บกว่า 37 คน อาการสาหัสอีก 4 คนนั้น นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         “เฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นรถรับส่งนักเรียน รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถเป็นทั้งสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด”         จากปัญหาที่เกิดขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว         ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษา มีดังนี้        1. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน        2. กำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป        3. สนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม         สำหรับข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ เพื่อการบูรณาการคือ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ต้องกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือโรงเรียน เป็นต้น และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 228 ซื้อมะม่วง 1 กิโล แต่โดนโกงไป 2 ขีด

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน คุณสุรีย์ได้จอดรถแวะซื้อกับข้าว ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ขณะเดินจ่ายตลาดอยู่นั้น คุณสุรีย์ได้เหลือบไปเห็นมะม่วงในร้านผลไม้สดร้านหนึ่ง ดูแล้วน่ารับประทานดี แม้จะไม่เห็นป้ายราคาเขียนติดเอาไว้ คุณสุรีย์ก็คิดว่าราคาน่าจะไม่แพงเท่าไหร่ เพราะเป็นช่วงที่มะม่วงออกเยอะ จึงได้บอกแม่ค้าไปว่า ขอซื้อมะม่วง 1 กิโล เมื่อแม่ค้าได้ยินดังนั้น ก็หยิบมะม่วงใส่ถุงหูหิ้ว ขึ้นชั่งน้ำหนัก ครั้นส่งถุงมะม่วงให้ก็แจ้งราคาคุณสุรีย์ทราบ        ฝ่ายคุณสุรีย์แม้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราคามะม่วง แต่ก็แอบสังเกตเข็มตาชั่งของแม่ค้า พอรับถุงมะม่วง ก็ลองเอามือถ่วงๆ ดู ก็เดาว่ามะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม จึงได้ทักท้วงกลับไป  แม่ค้าเมื่อได้ยินคุณสุรีย์ทักท้วงเรื่องน้ำหนักมะม่วง แต่ยังคงยืนยันกลับมาว่า มะม่วงนั้นหนัก 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการชั่งน้ำหนักมะม่วงให้ลูกค้าดูอีกรอบ         หลังจากได้ยินแม่ค้าตอบอย่างนั้น คุณสุรีย์แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่า มะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโล แน่ๆ แต่ก็ไม่อยากต่อปากต่อคำกับแม่ค้า จึงควักเงินจ่ายไปแต่โดยดี เมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อคลายความสงสัยที่มี คุณสุรีย์จึงนำมะม่วงขึ้นชั่งบนตราชั่งที่บ้าน ปรากฏว่า น้ำหนักมะม่วงหายไปเกือบ 2 ขีด คุณสุรีย์รู้สึกว่าโดนแม่ค้าโกง แบบชัดแจ้ง จึงได้ร้องเรียนเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางแก้ไขแก้ปัญหา        ตาม  พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  มาตรา 79 กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีเครื่องชั่งตวงวัดไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีความเที่ยงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่าเครื่องชั่งนั้นชำรุด ก็จะทำการยึดเครื่องชั่งนั้นไปทำลายด้วย         กรณีที่แม่ค้ารู้อยู่แก่ใจว่า เครื่องชั่งที่ใช้ขายผลไม้นั้นชำรุด แต่ยังนำมาชั่งสินค้าขาย อาจเข้าข่ายความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ที่กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้ การไม่แสดงป้ายราคาสินค้าอย่างเปิดเผย ณ จุดขาย ยังมีโทษปรับตาม ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ในมาตรา 40 ที่ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับ ร้อยละ 25 ของค่าปรับด้วย         หากผู้บริโภคมาทราบทีหลังว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น น้ำหนักขาดไปจากความเป็นจริง ก็สามารถแจ้งกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อขอให้มาตรวจสอบร้านค้านั้นๆ ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โดนหลอกให้โอนเงิน ( อีกแล้ว)

        สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ทนายโสภณ กลับมารายงานตัว ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกเรื่องราวที่คนมักจะพบเป็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของการหลอกให้โอนเงิน เชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ พวกมิจฉาชีพมักแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ส่วนหนึ่งอาศัยความโลภ ความอยากของคนเรามาใช้ประโยชน์ ทำให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไป ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีแง่มุมทางกฎหมาย และมีคำตัดสินของศาลหลายๆ ส่วนที่น่าศึกษา และเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงเอามาบอกเล่ากับผู้อ่านทุกท่านครับ         คดีแรกที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน เพราะหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ(ร้อยละ 15 ต่อเดือน) โดยได้โอนเงินไปให้แก่จำเลยเกือบสองล้าน แน่นอนเพื่อให้เหยื่อตายใจ ในช่วงแรกก็มีการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันจริง แต่พอสักพักก็ไม่จ่ายให้ หายไปติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตำรวจก็ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อดำเนินการ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยก็อ้างว่า ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปแจ้งตำรวจเป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไป ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นหลักไว้ว่า การที่โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานโดยมีพนักงานสอบสวนเวรรับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษในความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558        รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่                คดีที่สอง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 61 คนว่า ผู้เสียหายแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรบ้าง หรือได้รับเงินประกันสังคมคืนจากสำนักงานประกันสังคมบ้าง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันอ้างว่าจะมีการโอนเงินภาษีหรือเงินประกันสังคมดังกล่าวคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (ตู้เอทีเอ็ม) ตามรายการขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกบอกซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนได้รับคืนเงินค่าภาษีจากกรมสรรพากร และเงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนหลงเชื่อนำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ของแต่ละคนไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารตามขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้มีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายแต่ละคนทั้ง 61 คนไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อหลายคนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้         จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ในการเบิกถอนเงินสดทำการเบิกถอนเงินสดที่มีการโอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายทั้ง 61 คน ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกได้เงินของผู้เสียหายทั้ง 61 คนไปในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีข้อน่าสนใจว่าการที่จำเลยกับพวก อ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ ต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินวางหลักไว้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด จำเลยกับพวกจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว         คำพิพากษาฎีกาที่ 8145/2559        "ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ถ้าผู้กระทำกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จะต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 342          การที่จำเลยเพียงแต่แสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 342 (1)"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 เป็นคนดี เสียภาษีน้อยกว่า รู้ยัง

นับตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2559 เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีประจำปี 2558 แฟนๆ ฉลาดซื้อยื่นแบบกันรึยังครับ สำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะได้เงินภาษีคืน รีบยื่นแบบหน่อยก็ดีนะครับ เพราะหากไปยื่นช่วงโค้งสุดท้ายก็จะต้องรอนานนิดหนึ่ง ส่วนคนที่ดูแล้วว่าอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่ได้เงินภาษีคืน ก็เลยยังนิ่งนอนใจอยู่ ก็อย่าชะล่าใจ เพราะยังไงเกิดเป็นคนไทยมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีกันทุกคน ปี 2558 ผ่านไปแล้วยังไงก็แก้ไขไม่ได้ มาเริ่มต้นวางแผนภาษีปี 2559 กันตั้งแต่วันนี้ดีกว่าครับ รับรองว่าปีหน้าคุณจะมีเงินเหลือติดกระเป๋ามากกว่าปีนี้แน่นอน     การวางแผนภาษีนี้ไม่ใช่การหนีภาษีนะครับ เพราะหนีภาษีหรือโกงภาษีนั้นมันผิดกฎหมาย แต่การวางแผนภาษี คือการใช้สิทธิต่าง ๆ มาลดหย่อน เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง ได้รับเงินภาษีคืนมากขึ้น ซึ่งการวางแผนภาษีนี้ก็มีหลากหลายวิธี แต่คุณรู้ไหมครับว่า “การเป็นคนดี” ก็ช่วยให้คุณเสียภาษีน้อยลง      1. เป็นคนดีมีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้ ถ้าคุณเป็นลูกที่ดีดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมิได้ทำงานมีเงินได้หรือมีเงินได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ทั้งพ่อแม่ของคุณหรือพ่อแม่ของแฟนคุณ(กรณียื่นภาษีร่วมกัน) ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ท่านละ 30,000 บาท สำหรับคนที่มีพี่น้องหลายคนก็ต้องพูดคุยตกลงกันนะครับว่าจะให้ใครเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนนี้ เพราะหากพ่อหรือแม่ออกหนังสือรับรองสิทธิลดหย่อนให้ลูกคนใดแล้ว ลูกคนอื่นก็จะมาใช้สิทธิซ้ำอีกไม่ได้     2. เป็นคนดีมีเมตตาดูแลคนพิการหรือทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้ถึงคนละ 60,000 บาท ถ้าคุณดูแลคนพิการในครอบครัว (ซึ่งกฎหมายจำกัดสิทธิเฉพาะ คู่สมรส พ่อแม่ ลูกหรือลูกบุญธรรม) ไม่ว่าจะกี่คนก็ตามกฎหมายให้สิทธิลดหย่อนคนละ 60,000 บาท และถ้าคุณรับอุปการะคนพิการอื่น ๆ อีก อันนี้กฎหมายให้สิทธิลดหย่อนได้อีก 1 คน แต่ทั้งนี้ในบัตรประจำคนพิการจะต้องระบุชื่อคุณเป็นผู้ดูแล     3. เป็นคนดีรู้จักเก็บออม ได้สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถนำเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ปีละไม่เกิน 10,000 บาทแล้ว ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์เดียวกับที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ     4. เป็นคนดีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บริจาคเงินก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษี ถ้าบริจาคให้สถานศึกษาสามารถนำมาหักภาษีได้ถึงสองเท่าของเงินที่บริจาค ส่วนการบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ นั้น จะต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามประกาศของกระทรวงการคลังจึงจะได้สิทธิลดหย่อนตามจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว     ถึงตรงนี้ก็อยากจะเชิญชวนผู้อ่านร่วมกันบริจาคเงินให้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ซึ่งนอกจากคุณจะได้ส่วนลดทางภาษีแล้ว เงินของคุณยังช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น ผ่านการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งในแต่ละปีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิฯ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่า 10,000 คน และยังยกระดับการทำงานคุ้มครองสิทธิไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม อาทิ การเรียกร้องให้โรงพยาบาลเอกชนยุติการเรียกเก็บเงินจากการใช้บริการกรณีฉุกเฉิน หรือการผลักดันให้มีการคิดค่าโทรศัพท์มือถือตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษ ซึ่งจะสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้มากกว่า 38,200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง “ฉลาดซื้อ” ที่อยู่ในมือของท่านผู้อ่านขณะนี้ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้สู่ผู้บริโภค

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point