ฉบับที่ 180 หมู่บ้านในแอ่งกระทะ

หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายหนัก ผู้ประสบภัยบางรายตัดสินใจขายทิ้งบ้านมากกว่าซ่อมแซม แต่หากทั้งขายและซ่อมไม่ได้ เพราะเพิ่งรู้ความจริงทีหลังว่าบ้านอยู่ในพื้นที่ต่ำ ที่ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังเช่นนี้ตลอดไป เราควรแก้ปัญหาอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 465 หลังคาเรือน จากโครงการ ศุภาลัย แกรนด์เลค (Suphalai Grand Lake Village) ที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่าหลังคาเรือนละ 4 ล้านบาท โดยภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พวกเขาพบว่า เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลซึมเข้ามาภายในโครงการตลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าพื้นที่ของทั้งโครงการต่ำกว่าพื้นที่รอบนอก หรือเป็นแอ่งกระทะนั่นเอง ทำให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าทำไมทั้งๆ ที่มีรั้วกั้นน้ำ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรั้วดังกล่าวกลับสร้างในระดับเดียวกันกับพื้นที่รอบนอกภายหลังทางโครงการฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยระบายน้ำออก แต่ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำเสียออกจากหมู่บ้านได้ทันกับระดับน้ำขังที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ผู้พักอาศัยจะแจ้งให้โครงการฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ชี้แจงเพียงว่า สาธารณูปโภคเป็นไปตามมาตรฐานและสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ไม่มีความเสียหายหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อการอยู่อาศัย โดยได้มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินต่ำไว้แล้ว ด้วยการนำท่อน้ำ พีวีซี มาเจาะรูแล้วนำไปฝังดักน้ำตามแนวรั้วด้านหลังบ้านแต่ละหลัง และนำอิฐมอญมาก่อเป็นกระถางต้นไม้ด้านหลังบ้านแล้วใส่ดินในกระถางอย่างไรก็ตามผู้ร้องต้องการให้บริษัทฯ ดำเนินการซ่อมแซมรั้วของหมู่บ้านใหม่ หรือหาแนวทางเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาภายในหมู่บ้านระยะยาว เนื่องจากบริษัทฯ ควรมีหน้าที่ส่งมอบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินกับโครงการฯ โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าโครงการฯ มีที่ดินสภาพต่ำกว่าพื้นที่รอบนอกหมู่บ้าน เพราะที่ดินดังกล่าวเคยเป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่า และเมื่อมีการก่อสร้างก็ไม่ได้ถมที่ดินเพิ่มเติมให้เท่ากับพื้นที่รอบนอก ทำให้มีน้ำขังเวลาฝนตก โดยน้ำจะซึมผ่านใต้บ้านตลอดเวลา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เช่น รูปถ่ายสถานที่ และข้อพิสูจน์เรื่องพื้นที่ต่างระดับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการฟ้องคดี โดยศูนย์ฯ ยังคงติดตามความคืบหน้าต่อไปทั้งนี้ก่อนรับโอนบ้านเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างที่ฝันไว้ ดังนี้1. พิจารณารายรับรายจ่าย ของตัวเองว่ามีกำลังซื้อหรือผ่อนบ้านได้หรือไม่2. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการ ที่ประกาศขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่3. ไปดูสถานที่จริง ว่าบ้านได้คุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ไม่ควรดูตามโฆษณาหรือโบชัวร์อย่างเดียว4. ศึกษารายละเอียดของสัญญา การจองซื้อบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ หรือการให้ประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจน ซึ่งในสัญญาจองควรระบุว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่านสามารถขอเงินคืนทั้งหมดได้5. สัญญาการจะซื้อจะขาย ควรจะมีการรับประกันโครงสร้างหรือการรับประกันบ้าน6. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่เร่งให้โอนกรรมสิทธิ์ขณะที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการอาจละทิ้งงานเพราะไม่มีข้อต่อรองแล้ว บางทีผู้ประกอบการอาจอ้างว่าจะมาซ่อมให้จนหมดอายุการรับประกันบ้านได้ ซึ่งอายุการรับประกันจะนับหนึ่งตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องเข้ามาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด7. การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หลังสร้างเสร็จแล้วผู้บริโภคต้องตรวจสอบว่า เป็นไปตามแปลนหรือข้อตกลงหรือไม่ หากยังจะผู้สร้างจะได้ปรับแก้ให้ตรงความต้องการที่ตกลงกันไว้8. ไม่ควรซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน9. ใช้สิทธิ์เมื่อเกิดปัญหา ทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ผ่านทางเว็บไซต์  http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์ 02-2483737ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. รู้ไว้ใช้สิทธิ์ก่อนซื้อบ้านต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน. http://www.consumerthai.org

อ่านเพิ่มเติม >