ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 จากแอชตัน อโศกถึงหมิงตี้ จากผังเมืองถึงชีวิตของเรา

ถ้าให้สรุปประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองเพียงประโยคเดียวก็คงได้ประมาณนี้...        ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’         การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่สักแห่งไปจนถึงผังเมืองที่กำหนดว่าพื้นที่ต่างๆ จะถูกใช้สอยอย่างไรนั้นใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่ด้วยข้อกฎหมายอันซับซ้อน เรื่องราวเชิงเทคนิคที่ยากเข้าใจ บวกกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวอะไรด้วยยิ่งทำให้มองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา         กรณีแอชตัน อโศกถึงการระเบิดของโรงงานหมิงตี้เป็นตัวอย่างที่ดีประโยคสรุปปัญหาข้างต้น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทั้งผู้บริโภคและชุมชนรอบข้าง กรณีแอชตัน อโศกเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ขณะที่ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 เกี่ยวพันกับกรณีโรงงานหมิงตี้ เหมือนเป็นคนละเรื่อง กฎหมายคนละฉบับ แต่...ไม่ใช่เลย จากแอชตัน อโศก...         กล่าวถึงกรณีแอชตัน อโศกอย่างรวบรัดได้ว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกรณีเกิดเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติ แต่แอชตัน อโศกไม่มีพื้นที่นี้ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนใบอนุญาต         ทั้งนี้ทางฝ่ายแอชตัน อโศก ชี้แจงว่าเดิมทีที่ดินดังกล่าวมีพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเจ้าของเดิมถูกเวนคืนที่ดินโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าจนกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมจึงฟ้องร้องและศาลฎีกาตัดสินให้ทำทางจำเป็นกว้าง 6.4 เมตร ผ่านที่ดินเวนคืนสำหรับออกสู่ถนนอโศก         เจ้าของโครงการแอชตัน อโศกจึงซื้อที่ดินผืนนี้โดยทำสัญญากับ รฟม. เพื่อสร้างทางเข้าออกโครงการให้มีความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดโดยจ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. แต่ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้าจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งที่ดินของ รฟม. ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแอชตัน อโศก จึงทำให้การก่อสร้างโครงการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือไม่มีทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ นั่นเอง         “กรณีของแอชตันมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเวนคืน” ภูดิท โทณผลิน ทนายความและกรรมการสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็น “ศาลจึงวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพราะการที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเวนคืนที่ดินและไปให้เอกชนเช่า ถึงแม้จะเป็นเงินเข้ารัฐก็ตาม แต่ศาลมองว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพราะไม่อย่างนั้นจะเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐทำแบบนี้โดยอ้างว่าเงินเข้ารัฐ แต่จะต้องให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย จึงน่าสนใจว่าการที่เขาเอาที่ดิน รฟม. มารวมเพื่อขอใบอนุญาตผมเห็นด้วยในทางกฎหมายว่ามันไม่ตรงตามเจตนารมณ์และจะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่หน่วยงานรัฐไปดำเนินการแบบนี้”         ภูดิทแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายว่า ถ้ากรณีแอสตัน อโศกถูกห้ามใช้อาคารและต้องดำเนินการรื้อถอนโดยไม่สามารถขอใบอนุญาตได้แล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินที่ได้ชำระไปคืนกับทางเจ้าของโครงการพร้อมดอกเบี้ย 2 ส่วน ส่วนแรกคือดอกเบี้ยผิดนัดจากการผิดสัญญา ส่วนที่ 2 คือดอกเบี้ยธนาคารที่ผู้บริโภคกู้มา ตึกสูง ผังเมือง และเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน         ยังมี พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 อีกฉบับที่เข้ามาพัวพันกับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน กลุ่มคัดค้านร่างผังเมืองรวม กทม. อดีตเครือข่ายคนคอนโดเล่าว่า ปัญหาคอนโดมิเนียมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจนถึงปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับนิติบุคคล ประเด็นที่เขาพบมาตลอดการทำงาน 2 ทศวรรษคือ         “พระราชบัญญัติอาคารชุดปี 2522 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีการแก้ไขฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ไม่ได้มีบทลงโทษกรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รวมทั้งเจ้าของโครงการมีการประกันทรัพย์ต่ำมากหรือไม่มีเลย ช่วงนั้นเครือข่ายคนคอนโดก็พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติอาคารชุดเป็นฉบับที่ 4 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษแล้วและให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการได้ สมัยก่อนที่บอกว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่อาจจะมองว่าไม่มีการเขียนไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุดให้เจ้าหน้าที่ทำอะไร เขียนไว้แค่ให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนเท่านั้น”         ในช่วงหลังปฐมพงศ์ตระหนักว่าการกระจุกตัวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังเมือง ทำให้เขาต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย         “ถ้าเราโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ ผังเมืองจะพยายามเพิ่มความหนาแน่นของประชากร เขากำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่ามันไปเพิ่มความหนาแน่นตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนที่จะเป็นฉบับที่ 4 นี้ จำนวนประชากรต่อพื้นที่มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการสร้างรถไฟฟ้าแล้วดันไปวางว่าพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าอนุญาตให้สร้างตึกสูงได้เกินกว่าที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือผังเมืองกำหนดไว้เพราะฉะนั้นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สร้างกัน”          และแม้ว่าจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำมาพิจารณา แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ต้องนำความเห็นของประชาชนมาดำเนินการแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐยังคงดำเนินการไปตามที่ตนเห็นชอบอยู่ดี โดยทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่กรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยอาคารสูง ซึ่งเวลานี้ก็ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การกระทบกระทั่งระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน การแย่งกันใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น แต่ควรใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ในการขนคนเข้ามาในเมืองเพื่อลดความแออัด         ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี สถาปนิกและตัวแทนชุมชนย่านศาลาแดงจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย เล่าจากประสบการณ์ของตนว่า         “เจ้าของโครงการไม่ได้รู้ลึกเรื่องกฎต่างๆ เขาก็โยนมาให้ผู้รู้เป็นคนศึกษาซึ่งก็คือสถาปนิก พอปฏิบัติจริงๆ เราต้องไปปรึกษากับพี่ใหญ่ซึ่งก็คือกรมโยธาธิการและผังเมือง เราก็ไปปรึกษาตามโยธาเขตขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นๆ ขออนุญาตที่เขตหรือที่ กทม. ผมเรียกพวกนี้ว่าเป็นลูกพี่และเราก็ให้ความเคารพพวกนี้มาตลอดเพราะเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขาตีความชี้ช่องบอกเรามาปฏิบัติได้ ถูกกฎหมาย สถาปนิกทำให้เกิดพื้นที่ขายให้เขาได้มากเท่าไหร่ คุณก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจรรยาบรรณในวิชาชีพ ก็เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้ ขออนุญาตก็ผ่าน แล้วผิดตรงไหน”        ต้นตอสาเหตุปัญหาที่สำคัญ​คือ​ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กทม.เกือบทั้งหมด ทั้งเรื่องการตรวจแบบ​ อนุมัติตีความตัดสินข้อบัญญัติ​ กฏหมาย​ กฏระทรวงต่างๆ​ การตรวจสอบทั้งระหว่างการก่อสร้าง​ ตั้งแต่เริ่มจนถึงสร้างเสร็จ​ และตรวจสอบเมื่อสร้างเสร็จ​ส่งมอบ​ เปิดใช้งาน​ ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่มีใครจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น​ จึงเห็นว่าควรต้องแยกอำนาจในขั้นตอนต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการประชุมรับฟังความเห็นจากชุมชน​ประชาชนที่มีการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) และต้องเพิ่มการตรวจสอบ​ การมีส่วนร่วม​ จากภาคประชาชน​  และตัวแทนหน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง​ ทั้งจากสภาสถาปนิกและวิศวกรรม​ เข้าร่วมรับฟัง​ แสดงความเห็น​ และตรวจสอบได้​ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงการเปิดใช้อาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส   ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย​ ที่ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆมาตั้งแต่ต้น กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์          นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อดูข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ พบว่าไม่ได้มีการกำหนดโซนอาคารสูงในกรุงเทพฯ เอาไว้ ทำให้มีการก่อสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายเกิดขึ้นจำนวนมาก        “พื้นที่พาณิชย์ในกรุงเทพฯ ถูกป้ายเป็นสีแดงทั้งหมด เพราะพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญ แล้วค่อยสร้างสาธารณูปโภค แต่ก่อนเขาบอกว่าเมืองต้องเจริญก่อน สาธารณูปโภคถึงจะมา ซึ่งมันไม่ใช่ หลักการคือเมื่อใดที่สาธารณูปโภคไปถึง เมืองจะเจริญเอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น อาศัยว่าถ้าคุณลงทุนในกรุงเทพฯ ได้คุณจะเป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะในกรุงเทพฯ สาธารณูปโภคคุณไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องทำถนนเข้าโครงการหมู่บ้าน ไม่ต้องทำอาคารจอดรถ ทำแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก็ได้เพราะกฎหมายล่าสุดที่แก้บอกว่าอาคารจอดรถให้ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาคาร เขาบอกว่าเป็นการบังคับให้คนที่ซื้อคอนโดฯ ไม่มีรถ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”         เพราะผังเมืองเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ โดยก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมืองในปี 2562 การทำผังเมืองเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เน้นเชิงเทคนิค มุ่งประมาณการในอนาคต และนำมาวางแผนการพัฒนาพื้นที่ เป็นเหตุให้ประชาชนมักไม่ให้ความสนใจผังเมือง จนในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การวางผังเมืองเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจึงมีการรวมกลุ่มของประชาชนติดตามการทำผังเมือง         “กฎหมายผังเมืองบ้านเราไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่คือไม่ค่อยมีผลในเชิงการบังคับใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ กล่าว “แต่อาจจะมีผลในการบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ในต่างประเทศกฎหมายผังเมืองค่อนข้างมีความศักดิ์สิทธิ์และเฉียบขาดในการบังคับใช้เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ การพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง แต่สำหรับประเทศไทยมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพูดอย่างไรแล้วผังเมืองก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม”ถึงหมิงตี้...         ไม่เพียงกฎหมายผังเมืองเท่านั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีกฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งยิ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ กรณีโรงงานหมิงตี้ที่กิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระเบิดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้         เพ็ญโฉมอธิบายว่าผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการประกาศประมาณปี 2536 ขณะที่โรงงานหมิงตี้สร้างปี 2534 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ต่อมาเมื่อผังเมืองประกาศใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงหมายถึงเป็นเขตพาณิชยกรรมและสีส้มคือเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน เท่ากับว่าผังเมืองประกาศทับที่ตั้งของโรงงาน ตามกระบวนการทางจังหวัดต้องจ่ายค่าชดใช้และทำการย้ายโรงงานไปยังพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ         เมื่อมีโรงงานบวกกับเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ชุมชนจึงขยายตัวหนาแน่นขึ้น มีการสร้างบ้านจัดสรรเข้าไปชิดโรงงาน ซึ่งเพ็ญโฉมเห็นว่าเป็นความผิดร่วมกันระหว่างจังหวัดสมุทรปราการกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองที่ไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองระหว่างชุมชนกับโรงงานที่ต้องมี Buffer Zone         “แล้วการออกใบอนุญาตให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างหมู่บ้านจัดสรรก็เป็นความผิดของหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่อนุญาตให้มีการสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงงานโดยไม่พิจารณาในแง่ความปลอดภัยจึงคิดว่ามันเป็นความผิดร่วมกันของผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ เริ่มแรกที่หมิงตี้ประกอบกิจการมีกำลังการผลิตที่ 24,000 ตัน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาออกใบอนุญาติให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 36,000 ตันในปี 2562 เท่ากับคุณรู้อยู่แล้วว่าผังเมืองไม่ใช่สีม่วงและชุมชนก็หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิตให้เขาโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทางโรงงานจะต้องมีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ภายในโรงงานเยอะมากซึ่งอันตรายต่อชุมชนที่อยู่รายล้อม”         การบังคับใช้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอ กฎหมายผังเมืองปัจจุบันปี 2562 ยังขัดหลักการที่ควรจะเป็น กล่าวคือไม่แยกเรื่องทางเทคนิคกับนโยบายออกจากกัน เพ็ญโฉมอธิบายว่า เพราะโดยปกติการประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ควรผูกรวมกับกฎหมายผังเมือง เนื่องจากประชาชนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ แต่เมื่อนำนโยบายมาอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองย่อมเท่ากับว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่กำลังทำผิดกฎหมายผังเมือง         จากแอชตัน อโศกถึงโรงงานหมิงตี้ จากอาคารแห่งหนึ่งถึงผังเมือง ผูกรัดกันอย่างวุ่นวายด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคดังที่แสดงให้เห็นแล้ว ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว หากจะแก้ไขคงต้องมุ่งตัดรากเหง้าของปัญหา...         ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’

อ่านเพิ่มเติม >