ฉบับที่ 119 “มูลค่า” ในกายทองคำ

  “มูลค่า” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “value” นั้น เป็นหัวใจหลักหรือเป็นคุณค่ามูลฐานที่สำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมแห่งการบริโภค  แล้ว “มูลค่า” กลายมาเป็นมูลฐานแห่งชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไร? เราอาจควานหาคำตอบได้จากโฆษณาผลิตภัณฑ์ประทินผิวยี่ห้อหนึ่งที่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์  โฆษณาชิ้นนี้เปิดฉากมาด้วยความอลังการของราชสำนักจีนในอดีตอันไกลโพ้น โดยเริ่มด้วยภาพของขุนนางนายหนึ่งส่งถวายแหวนทองคำให้แด่พระจักรพรรดิ แล้วพระองค์ก็นำแหวนมาร้อยเป็นสร้อยคล้องคอของราชินีรูปงาม ทันใดนั้นพระศอของพระนางก็เปล่งฉัพพันรังสีแห่งทองคำออกมาในบัดดล  เสียงผู้บรรยายสตรีก็พูดขึ้นในโฆษณาว่า “ผู้ใดได้ครอบครองทองคำ ผู้นั้นจะคงความเปล่งประกายแห่งวัยและความรักชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงกลายเป็นสุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด…”   ภาพตัดกลับมาที่ราชินีรูปงามขี่ม้าหนีศัตรูที่ตามล่าไปถึงหน้าผาแห่งหนึ่ง เมื่อพระนางจวนตัวและกำลังจะถูกชิงแหวนทองคำไป พระนางจึงกระชากแหวนทองออกจากพระศอ แล้วเขวี้ยงลงไปในหุบผา พร้อมกับเสียงผู้บรรยายกล่าวต่อไปว่า “...และแล้วฟ้าก็ลิขิตให้มันสูญหายไปในกาลเวลา...” จากนั้นโฆษณาก็ตัดมายังภาพแหวนที่กลิ้งลงไปด้านล่างของหน้าผา แล้วสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ประทินความงามบรรจุขวด พร้อมเสียงบรรยายว่า “…จนถึงวันที่อานุภาพแห่งทองคำกลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อสานต่อความรักให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์...” บัดนี้ราชินีนางนั้นได้กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน เธอเดินอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ และเอื้อมไปหยิบแหวนทองคำขึ้นมาเชยชม พร้อมกับมีรัศมีออร่าเปล่งออกมาจากเรือนกายของเธอ ชายหนุ่มเดินเข้ามาในร้านวัตถุโบราณ เขาถึงกับตะลึงงันและสัมผัสได้ถึงอดีตชาติที่แฝงอยู่ในรัศมีทองคำที่เคลือบกายของหญิงสาวนางนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แต่เธอก็ยังมี “ผิวที่เปล่งประกายดุจวัยเยาว์” ก่อนที่โฆษณาจะจบลงด้วยภาพของผลิตภัณฑ์ที่เปล่งรัศมีออร่าสีทองฉานต่อสายตาของผู้ชม จากโฆษณาข้างต้น ดูเหมือนว่า “ทองคำ” มิใช่จะเป็นแค่ “ทองคำ” หรือเป็นแค่ธาตุทางธรณีวิทยาชนิดหนึ่งที่ชำแรกอยู่ในสายแร่เหมือนกับโลหะชนิดอื่น ก่อนที่มนุษย์เราจะเพียรขุดค้นแร่ธาตุดังกล่าวนั้น ขึ้นมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย แต่ทว่า “ทองคำ” ดูจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เรา “เสกมนตรา” ให้มีมูลค่าบางอย่างที่มากเกินโลหะวัตถุ และจะมีก็แต่เฉพาะมนุษย์บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น ทองคำจึงมิใช่วัตถุที่มีไว้สำหรับปัจเจกบุคคลทั่วไป แต่เป็นวัตถุที่จำเพาะไว้ก็แต่ราชินีรูปงามที่จะมีไว้คล้องพระศอของพระนางเท่านั้น และยิ่งเมื่อมาถึงในกาลปัจจุบัน ทองคำจากพระศอของราชินีงามได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของสาวๆ รุ่นใหม่ ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์เราได้กำหนดมูลค่าบางอย่างที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นให้กับวัตถุอย่างทองคำ ในอดีตนั้น มูลค่าที่มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนนั้น จะเป็นบรรดามูลค่าที่เกิดจากอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทุกครั้งที่มนุษย์เราเสพหรือบริโภควัตถุใดๆ เป้าหมายเบื้องแรกสุดของเราก็มักจะเป็นการใช้วัตถุแห่งการบริโภคเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด หรือเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์บางประการต่อตัวเรา   ตัวอย่างของมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์นี้ก็เช่น เรากินข้าวบริโภคอาหารก็เพื่อให้อิ่มท้อง เราสวมเสื้อผ้าก็เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เราใช้ครีมชะโลมผิวก็เพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวกาย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบริโภคข้าว เสื้อผ้า และครีมบำรุงผิว ก็คือการบริโภคใน “มูลค่าใช้สอย” ของวัตถุต่างๆ ดังกล่าว จนเมื่อยุคสมัยผ่านไป ดูเหมือนว่า การบริโภคเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่ออิ่มท้อง อาจไม่ใช่เป้าหมายเดียวและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของผู้คนอีกต่อไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้เริ่มรู้จักมักคุ้นที่จะพัดพาเอามูลค่าแบบใหม่มาฉาบเคลือบให้กับชีวิตของตนเอง ด้วยเหตุดังกล่าว ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงได้สร้างวัตถุอย่างทองคำขึ้นมา ก็เพื่อให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ทองคำธรรมดาๆ หรือเป็นทองคำที่ผนวกมูลค่าเชิงความหมายหรือ “สัญญะ” ที่จะบอกคนอื่นว่า หากใครได้ครอบครองสัญญะแห่งทองคำแล้ว คนนั้นก็จะ “เปล่งประกายแห่งวัยเยาว์และความรักชั่วนิรันดร์”   ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรจีนโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จึงไม่ได้ไล่ล่าแค่วัตถุแบบทองคำ แต่เป็นการทั้งไล่และทั้งล่าตามหา “สัญญะ” หรือมูลค่าเชิงความหมายที่แนบมาในทองคำ เพราะมูลค่าเชิงสัญญะที่อยู่ในทองคำนี่เอง จะทำให้ผู้ครอบครองมูลค่าดังกล่าวมีอำนาจเปล่งประกายรัศมีเหนือผู้อื่น และเป็นรัศมีออร่าที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา   และที่น่าสนใจก็คือ ในยุคอาณาจักรจีนโบราณนั้น แม้จะมีการกำหนดคุณค่าแห่งสัญญะเอาไว้ในวัตถุอย่างทองคำ แต่มนุษย์เราหรือราชินีรูปงามก็พร้อมจะสลัดมูลค่าดังกล่าวทิ้งลงหุบเหวไป หากแม้นว่าสัญญะดังกล่าวได้ผันกลายเป็น “สุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด” ที่จะเข้ามาครอบงำมวลมนุษย์เอง   แต่ในยุคแห่งการบริโภคแล้ว อำนาจแห่งสัญญะนั้น จะมืดหรือจะสว่างก็คงไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนว่า จะเป็นมนุษย์เรานั่นเองที่จับเอามูลค่าสัญญะในทองคำมาบรรจุเอาไว้ในขวด ก่อนที่เราเองก็จะเลือกเอาสัญญะนั้นมาฉาบเคลือบชะโลมผิวพรรณให้เปล่งประกาย   มูลค่าเชิงสัญญะที่เคลือบเอาไว้ถ้วนทั่วสรรพางค์กายเช่นนี้ จึงทำให้มนุษย์เราติดกับอยู่ในวังวนของสิ่งปลอมๆ เพราะมันมิใช่การบริโภคของจริงที่เป็นรูปธรรม(แบบข้าวปลาอาหารที่เป็นอรรถประโยชน์ใช้สอยจริง ๆ) แต่ทว่า การบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงการเสพความหมายเชิงนามธรรม ที่ยิ่งกินยิ่งประทินยิ่งเสพ เราเองก็จะถูกลวงล่อว่าดูดีมีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น มนุษย์เรามีต่างเพศต่างผิวพรรณกันเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว แต่หากในวันนี้ ผู้หญิงรูปงามบางคนเริ่มใช้ผิวกายที่เปล่งรัศมีทองคำออกมาแสดงความหมายว่า เธอดูดีดูเด่นดูมีคุณค่ากว่าบุคคลอื่น ๆ บางทีเราเองก็อาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า แล้วมูลค่าในกายทองคำเป็นมูลค่าอันแท้จริงของอิสตรีกันจริงหรือ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point