ฉบับที่ 183 การแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์

ความจำเป็นในการที่ต้องกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  ในประเทศสิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไป "ประจาน" คนอื่นในสังคมออนไลน์ และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่  การติดต่อสื่อสารทางระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นมีเว็บไซต์ในลักษณะที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์(Relationship) ระหว่างผู้ใช้ในกลุ่มต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) บนโลกออนไลน์ที่สามารถเชื่อมโยงกันกลายเป็นสังคมเสมือนจริง( Virtual Communities) โดยมีความสัมพันธ์และทับซ้อนกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกของความเป็นจริง เครือข่ายสังคมออนไลน์ ประเภทเว็บไซต์ถือว่าเป็นการให้บริการโดยผู้ใช้สามารถสร้างแฟ้มข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจมีลักษณะสาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ โดยผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของผู้ใช้อื่นๆ ในระบบเครือข่ายสังคมนั้น เว็บไซต์เครือข่ายสังคม เช่น Facebook ,  Line เป็นต้น  ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่ของวัตถุประสงค์ การใช้งาน รวมทั้งรูปแบบและลักษณะ บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์ใช้เพื่อทางธุรกิจหรือทางวิชาชีพ ในขณะที่บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมและความบันเทิง บางเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ในขณะที่บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์แลกเปลี่ยนข้อมูลในลักษณะสื่อผสม ซึ่งในแต่ละเว็บไซต์จะมีลักษณะเฉพาะสำหรับการใช้งานแตกต่างกันออกไป และในปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ความนิยมใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์มิได้จำนวนอยู่เฉพาะการใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ทำให้การสื่อสารทางเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสังคมปัจจุบัน รูปแบบการสื่อสารในลักษณะสังคมเครือข่ายนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเปิดเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ทั้งที่เป็นตัวอักษร บทความ รูปภาพ รวมทั้งการสนทนาและแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมไปถึงเป็นแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผู้ใช้สามารถช่วยกันสร้างเนื้อหาขึ้นตามความสนใจของแต่ละบุคคล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการ ในความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้น เราอาจแยกพิจารณาออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก คือความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เช่น สิทธิในความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล  ประเภทที่สอง คือความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การเผยแพร่ภาพหรือข้อความในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์     ขณะเดียวกันผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต หากเป็นกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตที่อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย  โดยหลักแล้วสิทธิและเสรีภาพในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนเราจะไม่แตกต่างกับสิทธิและเสรีภาพในการใช้สื่ออื่นๆ  เมื่อมีเสรีภาพเกิดขึ้น เป็นที่แน่นอนว่าเขตแดนของเสรีภาพแต่ละบุคคลย่อมจะชนและทับซ้อนกัน ในบางกรณีกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าเขตแดนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะมีมากจนบางครั้งอาจมีมากเกินไปด้วยซ้ำ ความจำเป็นในการที่ต้องกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  ในประเทศสิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไปประจานคนอื่นในสังคมออนไลน์ และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่  เช่นมีการแชร์ภาพโปสเตอร์แคมเปญของ Singapore Kindness Movement(ขบวนการสิงคโปร์เอื้อเฟื้อ) เป็นภาพผู้ชายกำลังงีบบนเก้าอี้สำรองบนรถโดยสารสาธารณะ โดยมีผู้หญิงที่กำลังท้องกำลังยืนประจันหน้าอยู่ พร้อมกับคำโปรยว่า "จะแชะภาพ หรือแตะไหล่ปลุก - อยู่ที่ตัวคุณว่าจะเอื้อเฟื้ออย่างไร" หมายความว่า แทนที่จะรีบถ่ายรูปประจานชายคนนี้ เราควรปลุกเขาจะดีกว่าไหม?  เพราะอาจมีเหตุผลอื่นนอกจากจะแย่งที่นั่งคนท้องก็เป็นได้              ความเป็นจริงแล้วสังคมออนไลน์ เปรียบเสมือนคำว่า ‘ดาบสองคม’ ที่มีความหมายว่า การกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอๆ กัน เช่นเดียวกับ หากผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์ได้เล่นสื่อต่างๆ แบบไม่ระมัดระวังคำพูด พาดพิง หรืออาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อาจจะต้องรับผิดทางอาญาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14 บัญญัติว่า      “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน       (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน       (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา       (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้       (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”              ซึ่งผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ควรจะรู้และทราบด้วยว่าหากตนเองได้เผยแพร่ภาพหรือกระทำการด้วยวิธีการอื่นใดในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ แล้วทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายอาจจะต้องรับผิดตามกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ แต่ทั้งนี้การจะเป็นความผิดได้ก็จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบตามกฎหมายอีกหลายประการด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สาระสำคัญอยู่ที่ว่าผู้โพสต์ หรือแชร์ภาพนั้นมีเจตนาที่จะทำให้บุคคลอื่นเสียหายหรือไม่อย่างไรหรือเป็นเพียงแค่การใช้สิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นในการแสดงออก  ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์มุ่งเน้นแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยแท้มากกว่า  เพราะไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับผู้กระทำความผิดได้  เนื่องจากมีองค์ประกอบแตกต่างกัน  แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับพบว่ายังมีบุคคลอีกหลายคนใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการนำมาใช้จัดการเนื้อหาที่เผยแพร่ในสื่ออินเทอร์เน็ตที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า   ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน              ดังนั้น หากผู้ใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์ประสงค์ที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์คงต้องใช้สติก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์ต่อไปยังพื้นที่สาธารณะทางออนไลน์ว่า ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือไม่  เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเสียหายหรือไม่  เป็นการกระทำโดยผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องแล้วหรือยัง  เป็นต้น  “นิ้วเป็นอวัยวะที่เล็กแต่ก็ทำให้คนติดคุกมาก็หลายคนแล้ว อย่าประมาทนะครับ”  

อ่านเพิ่มเติม >