ฉบับที่ 218 แว่นกันแดดสำหรับเด็ก

        ฉลาดซื้อรับร้อนด้วยผลทดสอบแว่นกันแดดที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT โดยสมาคมผู้บริโภคออสเตรีย (VKI) เป็นเจ้าภาพทำไว้ เขาทดสอบแว่นกันแดดสำหรับเด็กที่เป็นที่นิยมในยุโรป (แต่ผลิตในจีนหรือไต้หวันเป็นส่วนใหญ่) ไว้ทั้งหมด 30 รุ่นการทดสอบครั้งนี้ใช้ต้นทุนไม่มากเมื่อเทียบกับการทดสอบเรื่องอื่นๆ แต่ก็ได้ผลทดสอบที่ยืนยันว่าราคาอาจไม่บ่งบอกคุณภาพ แว่นสองรุ่นที่ได้คะแนนเต็ม 100 ได้แก่ Primetta และ Marvel Ultimate Spider-Man นั้นราคาไม่เกิน 300 บาท แต่แว่นราคาเกือบ 900 บาทกลับได้คะแนนไปแค่ 48 คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ระดับการป้องกันยูวี ความทนทานต่อการตกหล่น (สำรวจความเสียหายหลังปล่อยแว่นจากความสูง 1.5 เมตร ทั้งหมด 5 ครั้ง) ความทนทานต่อการแตกหัก (หลังถูกอาสาสมัครน้ำหนัก 75 กิโลกรัม นั่งทับบนเก้าอี้ 5 ครั้ง) การทนต่อรอยขีดข่วน (โดยใช้ปากกาทดสอบ Erichsen Hardness รุ่น 318S) การป้องกันแสงจากด้านข้างดวงตา (จากการสัมภาษณ์เด็กอายุระหว่าง 3 ถึง 6 ขวบจำนวน 4 คนที่ทดลองสวม) การเช็ดทำความสะอาดเลนส์ (โดยดูว่าเลนส์หลุดออกจากกรอบหรือไม่ขณะเช็ดทำความสะอาด) และการเลือกใช้วัสดุที่ปลอดโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิ้ล สารหนู และสารเคมีอันตรายเช่น พทาเลทและ PAH หรือโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 “จะเท่ทั้งที ต้องป้องกัน UV ด้วยนะ”

  ผลทดสอบการป้องกันรังสี UV ในแว่นกันแดด เมื่อพูดถึง “แว่นกันแดด” สำหรับบางคนอาจให้ค่าว่าเป็นเพียงแค่เครื่องประดับชิ้นหนึ่ง หรืออาจใส่ไว้เพื่อบ่งบอกรสนิยม เชื่อว่าใส่แล้วจะดูเท่ความหล่อความน่ารักจะเพิ่มขึ้น บางคนก็อาจใช้แว่นกันแดดเพื่อปกปิดอำพรางความรู้สึกทางสายตา กลัวว่าคนอื่นมองตาแล้วจะรู้ความคิดที่อยู่ในใจ หรืออาจใส่เพื่อปลอมตัวแบบที่เคยเห็นบ่อยๆ ในละครทีวี ที่แย่กว่านั้นบางคนก็ใช้แว่นกันแดดแทนที่คาดผม ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดแต่ก็ดูเป็นการใช้งานที่ผิดหลักการไปสักหน่อย  เพราะความจริงแล้วแว่นกันแดดถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเรามาก เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องดวงตาของเราจากอันตรายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) ซึ่งเป็นวายร้ายคอยทำลายดวงตาของเรา ทั้งส่งผลเสียต่อจอประสาทตา และเป็นสาเหตุของโรคต้อหิน ดังนั้นการสวมแว่นกันแดดในช่วงเวลาที่ตาของเราต้องปะทะกับแสงแดดจ้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก   แว่นกันแดดที่ดีต้องป้องกันรังสี UV ไม่ใช่มีแค่ความเท่หน้าที่หลักของแว่นกันแดด คือการช่วยป้องกันอันตรายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต (รังสี UV) โดยปกติแล้วแว่นกันแดดที่ดีต้องสามารถป้องกันรังสี ได้ไม่น้อยกว่า 95% (มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าในสหรัฐฯ The American National Standards Institute (ANSI)) นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันแสงที่เกิดจากการสะท้อนบนผิววัตถุที่มีความมันวาว เพราะแสงประเภทนี้ก็ทำอันตรายกับดวงตาของเราด้วยเช่นกัน อาจทำให้ตาพร่ามั่วชั่วขณะหนึ่ง  รังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นและไม่สามารถรับรู้หรือรู้สึกได้ ซึ่งรังสี UV สามารถทำอันตรายกับดวงตาของเรา ทำให้จอประสาทตาเสื่อมและเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นของเราแย่ลง และอาจรุนแรงถึงขึ้นทำให้ตาบอดสนิทได้เลยทีเดียว   รังสี UV ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจจะมองข้าม เพราะชีวิตประจำวันของเราต้องเสี่ยงกับรังสี UV ยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่ต้องทำงานการกลางแดดจ้า คนที่ต้องขับรถ และคนที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง   นอกจากนี้แว่นกันแดดยังใช้สวมเพื่อปกปิดความผิดปกติของดวงตา ป้องกันดวงตาของเราจากฝุ่นละอองและลมด้วย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าเราไม่มีหมวก หรือร่ม เมื่อต้องออกเผชิญแดดจ้า เราควรต้องใส่แว่นกันแดด เพื่อช่วยดูแลปกป้องรักษาดวงตาให้อยู่กับเราไปนานๆ  เรื่องควรรู้ -สภาพอากาศ ฟ้าที่มีเมฆหรือหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ -ยิ่งอยู่กลางแดดนานก็ยิ่งได้รับรังสี UV มากตามไปด้วย  -ช่วงเวลาที่แสงแดดมีรังสี UV มากคือประมาณ 10.00 น. – 16.00 น. มีมากที่สุดคือช่วงเที่ยงวัน  -ประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร (อย่างเช่นประเทศไทยของเรา) มีโอกาสได้รับรังสี UV มากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก   -ยิ่งอยู่ที่สูงโอกาสที่เสี่ยงต่ออันตรายของแสง UV ก็ยิ่งมีมาก  -ความเข้มของสีเลนส์แว่นตากันแดดไม่ได้มีผลกับประสิทธิภาพในการการป้องกันรังสี UV  -แว่นตากันแดดที่ไม่ได้มาตรฐานไม่มีการเคลือบสารกรองหรือป้องกันรังสี UV นอกจากไม่ช่วยลดอันตรายของรังสี UV แล้ว กลับจะยิ่งทำอันตรายกับดวงตาของเรา เพราะเมื่ออยู่ในที่มืดหรือที่แสงสลัวรูม่านตาของเราจะขยายตัวมากขึ้น ยิ่งทำให้รังสี UV เข้าสู่นัยน์ตาเรามากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงแว่นที่มีการหักเหของแสงที่ไม่เหมาะสม เมื่อใช้แล้วเกิดมุมมองภาพที่บิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยนไปจากปกติ ซึ่งทำให้ตาของเราทำงานหนัก อาจทำให้ปวดตาหรือเวียนหัว  -แว่นกันแดดชนิดโพลารอยด์ (polaroid) มีคุณสมบัติช่วยป้องกันแสงที่สะท้อนผ่านเลนส์ ไม่ทำให้สายตาพร่ามั่วและช่วยตัดแสงที่ทำมุม 45 องศาที่เข้ามากระทบ ช่วยตัดแสงไม่ให้เห็นภาพลวงตาที่เกิดจากการหักเหของแสงบนพื้นถนนและช่วยลดความเข้มของแสง ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อตาและประสาทตาเกิดอาการอ่อนล้า  -แต่แว่นตากันแดดถึงดียังไง จะได้รับการรับรองว่ากันแสงหรือรังสี UV ได้มากสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการมองที่ดวงอาทิตย์โดยตรง  -การใส่หมวกที่มีปีกช่วยบังทิศทางของแสงที่เข้าหาดวงตา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอันตรายของรังสี UV ต่อดวงตาของเราได้  -แว่นสายตาใสๆ ธรรมดา ก็สามารถป้องกันรังสี UV ได้ด้วยเช่นกัน หากมีการรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้ขายว่าป้องกันได้   ฉลาดซื้อแนะนำวิธีเลือกซื้อแว่นกันแดดการจะทดสอบเรื่องของประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV ในแว่นตากันแดด อาจเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผู้บริโภคอย่างเรา แต่ก็ใช่ว่าเราจะมองข้ามเรื่องคุณภาพของแว่นกันแดดจนสนใจแต่เรื่องรูปทรงความสวยงามเท่านั้น เพราะยังมีวิธีง่ายๆ ในการเลือกซื้อแว่นกันแดดให้ได้คุณภาพที่คุ้มค่า   1.ถ้าหากแว่นกันแดดมีการระบุข้อความว่า “400 UV Protection” ก็น่าจะพอเชื่อใจได้ระดับหนึ่งว่า แว่นกันแดดที่เราจะซื้อมีการป้องกันรังสี UV ที่ระดับสูง (ตัวเลข 400 มาจาก 400 นาโนเมตร ซึ่งเป็นระยะปลอดภัยของรัสี UV หรือเป็นระยะที่ป้องกันรังสี UV ได้ 100% ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ใน ยุโรป อเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศ)  2.ถ้ามีสัญลักษ์ CE ซึ่งเป็นตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากยุโรป ก็ถือเป็นการการันตีคุณภาพได้เช่นกัน  3.ให้ลองมองแนวที่เป็นเส้นตรงผ่านเลนส์ข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นให้ขยับแว่นเลื่อนเข้าเลื่อนออกช้าๆ เลนส์ที่ดีต้องไม่ทำให้เส้นตรงที่มอง คดหรือเบี้ยวขณะขยับแว่น  4.รูปทรงของแว่นต้องเหมาะกับรูปหน้าของเรา ไม่คับเกินไปจนอึดอัดหรือเจ็บที่ขมับ และก็ต้องไม่หลวมมากจนเกินไปจนตกลงมาอยู่ที่ปลายจมูกทำให้ต้องเลื่อนสายตาลงมาเวลามอง  5.เวลาสวมแว่นกันแดดแล้วต้องให้แสงแดดลอดเข้ามาหาดวงตาน้อยที่สุด ทั้งจากด้านบนและด้านล่าง แต่ก็ไม่ถึงกับใกล้ขนาดใส่แล้วเลนส์มาชิดติดกับขนตา  6.แม้เรื่องราคาและยี่ห้อของแว่นจะไม่ใช่ตัวการันตีเรื่องคุณภาพในการป้องกันรังสี แต่การซื้อกับร้านที่มีที่อยู่แน่นอน ตัวแว่นกันแดดมีรายละเอียดข้อมูลที่อยู่ผู้ผลิต มีใบรับประกัน ก็น่าจะทำให้ผู้ใช้อย่างเรามั่นใจคุณภาพได้มากกว่า  7.ถ้าหากมีการรับประกันก็ต้องศึกษาให้ดี ยิ่งเป็นแบบที่ราคาแพงยิ่งต้องศึกษาและสอบถามจากร้านค้าหรือพนักงานขาย ดูว่ารับประกันกี่ปี อะไรบ้างที่อยู่ในข่ายรับประกันและไม่รับประกัน เช่น ถ้าซื้อมาใช้แล้วเกิดรอยขีดข่วนที่เลนส์สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมให้ฟรีหรือเปล่า  8.อย่าลืมสอบถามกับพนักงานที่เราซื้อแว่นตากันแดดว่า แว่นที่เราซื้อต้องดูแลรักษายังไง มีขอควรระวังในการใช้อะไรบ้าง  9.แว่นกันแดดเองก็มีกำหนดอายุการใช้งานด้วยเช่นกัน (ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 2 – 3 ปี) เพราะฉะนั้นเวลาซื้อก็ต้องอย่าลืมศึกษาข้อมูลวันที่ผลิตจากคู่มือหรือใบรับรอง หรือไม่ก็สอบถามจากพนักงานขาย -------------------------------------------------------------------------------- สีของเลนส์แว่นกันแดดที่ควรเลือกใช้คือ แดง เทา เขียว น้ำตาล เพราะสีที่เห็นจะเพี้ยนน้อย ซึ่งจะปลอดภัยเวลาต้องสังเกตสัญญาณไฟจราจรขณะขับรถ เลนส์ที่ออกโทนสีเทาและเขียว เป็นเลนส์ที่ให้การมองเห็นเป็นสีจริง ส่วนโทนสีน้ำตาล จะช่วยเพิ่มความคมชัดและการรับรู้ภาพแบบตื้นลึก ซึ่งเหมาะกับนักกีฬา นักบิน คนที่ต้องขับรถเป็นประจำ สำหรับคนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การใส่แว่นกันแดดก็ช่วยถนอมสายตาและเพิ่มความคมชัดในการมองได้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องเลือกแว่นกันแดดเลนส์สีอ่อนๆ เพราะเมื่อใส่แล้วจะช่วยทำให้การมองเห็นดูนุ่มนวลขึ้น --------------------------------------------------------------------------------   อย่าลืมซื้อแว่นกันแดดป้องกัน UV ให้กับเด็กๆ ด้วยนะรังสี UV ไม่เป็นมิตรกับใครทั้งนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แถมเด็กๆ ยังมีโอกาสเสี่ยงอันตรายจากรังสี UV มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะดวงตาของเด็กๆ จะเปิดรับการมองเห็นได้มากกว่าผู้ใหญ่ เลนส์แก้วตาก็ยังมีความชัดเจนกว่า จึงเป็นเรื่องที่พ่อ – แม่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามสุขภาพตาของเด็กๆ อย่าปล่อยให้ลูกของเราต้องเผชิญแสงจ้าโดยไม่ได้สวมแว่นกันแดด และที่สำคัญเวลาเลือกซื้อแว่นกันแดดให้กับเด็กๆ ก็ต้องดูที่ประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV เป็นอันดับแรก ไม่ใช่ดูแต่รูปลักษณ์ภายนอก เลือกซื้อแต่แบบที่น่ารักกุ๊กกิ๊กซึ่งอาจกันรังสี UV ไม่ได้   ผลทดสอบการป้องกันรังสี UV ในแว่นกันแดด Vans ราคา 700 บาท ค่าการผ่านของแสง                     17% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.7% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    3.7%     Ray Ban ราคา 6,000 บาท ค่าการผ่านของแสง                     14.5% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.3% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.6%     ไม่มียี่ห้อ (1) ราคา 60 บาท ค่าการผ่านของแสง                     22.5% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.4% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    3.6%     ไม่มียี่ห้อ (2) ราคา 39 บาท ค่าการผ่านของแสง                     6.0% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.6% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0.2% ค่าการสะท้อนรัง UV                    3.8%     LE Club ราคา 590 บาท ค่าการผ่านของแสง                     11.8% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.3% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.6%     Action Eyewear (1) ราคา 299 บาท ค่าการผ่านของแสง                     13.1% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.7% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    5%     Estoffi ราคา 3,000 บาท ค่าการผ่านของแสง                     15.4% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.5% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.7%     Action Eyewear (2) ราคา 199 บาท ค่าการผ่านของแสง                     20.2% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.9% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.2%     Action Polarised ราคา 399 บาท ค่าการผ่านของแสง                     9.4% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.6% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    5.1%   ********************************************************************************* ผลการทดสอบ เมื่อราคาไม่ใช่ตัวการันตีประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV ฉลาดซื้อได้สุ่มซื้อตัวอย่างแว่นกันแดดจำนวน 9 ตัวอย่าง โดยเน้นที่ความหลากหลายของราคา เพื่อจะดูว่าราคามีผลกับประสิทธิภาพการป้องกันการส่งผ่านของรังสี UV หรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแว่นกันแดดทุกตัวอย่างที่เราส่งให้ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการทดสอบนั้น มีค่าการส่งผ่านรังสี UV ที่ 0% คือไม่สามารถผ่านได้เลย เท่ากับว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100% มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ยังมีการส่งผ่านของรังสี UV อยู่บ้างคือ ตัวอย่างที่ไม่มียี่ห้อซึ่งมีราคา 39 บาท ที่รูปร่างลักษณะออกจะเป็นแว่นกันแดดเฉพาะโอกาสไว้ใส่สนุกสนานดูเป็นแว่นแฟชั่นมากกว่า โดยรังสี UV สามารถส่งผ่านได้ 0.2% ซึ่งก็ถือว่าน้อยมาก   จากเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าในสหรัฐฯ The American National Standards Institute (ANSI) รังสี UVB ซึ่งเป็นรังสีระยะสั้น 280 – 315 นาโนเมตร ค่าการส่งผ่านไม่ควรเกิน 0.1% ส่วนรังสี UVA ที่ระยะรังสีอยู่ที่ 315 – 380 นาโนเมตร ค่าการส่งผ่านไม่ควรเกิน 0.5% ซึ่งระยะปลอดภัยสูงสุดของรังสี UV อยู่ที่ 400 นาโนเมตร ค่าการส่งผ่านจะเท่ากับ 0% แม้การทดสอบของเราไม่ได้มีการประเภทของรังสี แต่การทดสอบก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจเพราะเกือบทั้งหมดมีค่าการส่งผ่านของรังสี UV ที่ 0%   ผลทดสอบนี้สามารถบอกเราได้ว่าราคาไม่มีผลกับเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV จะถูกจะแพงก็ป้องกันรังสี UV ได้เหมือนกัน ส่วนเรื่องการทดสอบอื่นๆ ทั้งค่าการผ่านของแสง ค่าการสะท้อนของแสง และค่าการสะท้องรังสี UV ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันทุกตัวอย่าง   แต่การทดสอบนี้เป็นเพียงแค่ส่วนของการผ่านของแสงและรังสี UV เท่านั้น ซึ่งแว่นกันแดดที่ดียังมีต้องคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบอีกหลายอย่าง ทั้งความคงทนของเลนส์ กรอบแว่น ขาแว่น ส่วนข้อต่อต่างๆ วัสดุที่ผลิต รวมทั้งเรื่องการออกแบบ และบริการหลังการขาย ซึ่งเรื่องพวกนี้แหละที่มาเป็นเงื่อนไขเรื่องของราคา

อ่านเพิ่มเติม >