ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 จัดฟันแฟชั่น แก้ที่กฎหมายยังไม่พอ

พบท่อสี “จัดฟันแฟชั่น” ปนเปื้อนแคดเมียมปริมาณสูง ฉลาดซื้อ ทันตแพทยสภาและแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) เก็บตัวอย่างยางจัดฟัน ท่อสี ลวดมัดฟันและแบรกเก็ตจัดฟัน เมื่อเดือน ก.พ. 60 จากร้านค้าออนไลน์ พบตัวอย่างท่อสี(ท่อยางที่ใช้ร้อยกับลวดรีเทนเนอร์) สีดำและสีชมพู ซึ่งเป็นสียอดนิยมในหมู่วัยรุ่นผู้ชื่นชอบการใส่รีเทนเนอร์แฟชั่น  พบว่า มีปริมาณแคดเมียม สูงถึง 695  mg/kg ในท่อสี สีดำ และ 692  mg/kg ในท่อสี สีชมพู   ซึ่งแคดเมียมปริมาณสูงที่พบในท่อสี เมื่ออยู่ในปากจะถูกละลายโดยน้ำลายและถูกกลืนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากโลหะหนัก ตับวาย ไตวาย และมะเร็ง  การทดสอบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อยืนยันว่า อุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น ได้แก่ ลวด แบรกเก็ต ยางโอริง ยางซีเซน ท่อสี ที่จำหน่ายโดยร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าที่ขายส่งอุปกรณ์จัดฟัน จะยังเข้าข่ายสินค้าอันตรายหรือไม่ เพื่อประเมินว่า ความเสี่ยงในการตกค้างของสารโลหะหนักจะยังคงรุนแรง อย่างเช่นการทดสอบในครั้งก่อนตอนที่การจัดฟันเถื่อนเริ่มฮิตใหม่ ซึ่งขณะนั้นวัสดุและอุปกรณ์จัดฟันเถื่อนจะเป็น “ของเลียนแบบ” เครื่องมือจัดฟันที่ใช้ในทางการแพทย์ เป็นส่วนใหญ่  ครั้งนี้ฉลาดซื้อ ได้ซื้อสินค้าอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นจากร้านค้าทางออนไลน์ 38 ตัวอย่าง จากร้านค้าบนเฟซบุ๊คสองร้าน ร้านละ 19 ตัวอย่าง และจากตัวแทนร้านค้าอุปกรณ์ที่จำหน่ายให้กับทันตแพทย์ 9 ตัวอย่าง แล้วส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และสารหนู  ผลการวิเคราะห์(จากจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 47 ตัวอย่าง) พบสองตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ได้แก่ ท่อสี สีชมพูของร้านค้าจากเฟซบุ๊คที่เลือกเป็นตัวแทนร้านค้าออนไลน์ทั่วไป  มียอดผู้กดถูกใจจำนวนมาก โดยพบปริมาณแคดเมียม 692  mg/kg และ ท่อสี สีดำของร้านค้าเดียวกัน พบปริมาณแคดเมียม 695  mg/kg   ซึ่งสินค้าจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนร้านจัดฟันแฟชั่นที่ขายสินค้าบนเฟซบุ๊คแห่งนี้ มีการจำหน่ายสินค้าในราคาถูกมาก สั่งซื้อง่าย ฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างจากร้านค้าแห่งนี้ จำนวน 19 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนสองตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ   10.5    ซึ่งการพบการปนเปื้อนครั้งนี้ ต้องถือว่า ผู้ชื่นชอบการจัดฟันแฟชั่นยังคงมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในวัสดุจัดฟันแฟชั่น ที่มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายในร้านค้าบนโลกออนไลน์  จากจัดฟันเถื่อนหน้าร้านสู่จัดฟันแฟชั่นบนโซเชียล การทำทันตกรรมจัดฟัน โดยบุคคลที่มิใช่ทันตแพทย์ เป็นปัญหาที่ยังคงคุกคามสุขภาพในช่องปากของเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีการรับทำจัดฟันแบบห้องแถว ตลอดจนร้านค้าตามแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ที่คึกคักโจ่งแจ้ง จนขนาดสำนักงานต่างประเทศเอาไปออกข่าวยกให้เป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่ “วัยรุ่น” ชื่นชอบการจัดฟัน โดยคนที่ไม่ได้เป็นหมอฟัน ยกย่อง(ประชด) ว่า ช่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ห่วงอย่างเดียวคือ กลัวตกเทรนด์แฟชั่น ร้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเร่งปราบปรามกันไปครั้งหนึ่ง แต่แฟชั่นยิ้มอวดฟันเหล็กและยางสีสวยๆ นั้นมันไม่เคยหายไป  จากการจัดฟันแฟชั่นที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2547 โดยการวางขายลวดดัดฟัน ที่มีลักษณะคล้ายกำไลข้อมือโดยมีปลาย 2 ข้างไว้ใช้ทาบกับพื้น และแหย่เข้าไปหักงอไว้ในซอกฟันเพื่อยึดไว้ ทำให้เวลายิ้มจะดูเหมือนคนจัดฟันมา ซึ่งรูปแบบนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยถูกมองว่า “เป็นงานหยาบ” และปัจจุบันอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นได้ถูกพัฒนาให้มีลักษณะใกล้เคียงกับการจัดฟันจริงมากขึ้น หรือบางทีก็ใช้วัสดุเดียวกันกับร้านค้าส่งที่ทางทันตแพทย์ใช้จริงหรือสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ  เรียกตามภาษาแม่ค้าว่า “แบบเดียวกับร้านหมอฟัน” หรือ  “คุณภาพสินค้าเท่าเทียมกับคลินิกทันตแพทย์จัดฟัน (medical grade)” ซึ่งกลุ่มผู้นิยมฟันเหล็กสามารถซื้อหามาติดเองได้ โดยมีช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เพราะการเปิดกว้างของโซเชียลมีเดีย โดยช่องทางที่นิยมกันมากคือ  อินสตาแกรม เฟซบุ๊ค ไลน์ และหน้าเว็บไซต์ รูปแบบการจัดฟันปัจจุบันจะแบ่งเป็นสองแบบหลักๆ คือ จัดฟันแฟชั่นแบบติดแน่น เป็นการเลียนแบบการจัดฟันของทันตแพทย์ให้เหมือนมากขึ้น โดยจะมีการติดเครื่องมือ "แบรกเกต" เป็นโลหะรูปสี่เหลี่ยมที่มีร่องใส่ลวดจัดฟันและมีส่วนยื่นออกมาสำหรับคล้อง ยาง สามารถเลือกสีของยาง รูปร่างของยาง เช่น รูป ดอกไม้ ลายการ์ตูนยอดนิยม อย่าง มิกกี้เม้าส์ โดราเอมอน เป็นต้นจัดฟันแฟชั่นแบบถอดได้ เป็นการใช้เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือ "รีเทนเนอร์" ที่เหมือนกับทันตแพทย์ใช้ มีลักษณะเป็นแผ่น พลาสติกปิดอยู่ที่เพดาน หรือข้างลิ้น มีลวดคอยบังคับฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ มีการดัดแปลง เพิ่มแบรกเกตให้ติดอยู่บนลวด ขั้นตอนการทำจะต้องมีการพิมพ์ฟันก่อน เพื่อทำให้ออกมาพอดีกับลักษณะฟัน โดยสามารถเลือกสี ลายของแผ่น พลาสติก และลวดได้ ในรูปแบบ รีเทนเนอร์นี้ ยังพัฒนาเป็น “รีไร้เหงือก” ด้วย คือ ทำออกมาแล้วใส่ได้สะดวก โดยไม่ต้องพิมพ์ฟันก่อน ภาษาแม่ค้าเรียกว่า เป็นโมเดลมาตรฐาน โดยบรรยายสรรพคุณว่า เหมาะสำหรับ ใส่ถ่ายรูป ใส่เที่ยว ไม่อันตราย--------------------------------------------------------------------------------ทำความรู้จักอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น• ลวดจัดฟัน (Archwire)• แบรกเกต (Brackets)• ยางจัดฟัน  แบบ O-Ring มีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายๆ นั่นคือ มีห่วงกลมๆ อันเล็กๆ ที่มีลักษณะที่ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ไม่มาก มีสารพัดสีให้เลือก ทำหน้าที่ยึดแบรกเกตกับลวด • ยางจัดฟัน  แบบ C-Chainมีลักษณะเหมือนกับโซ่ แบบ ซีเชน นี้ จะได้รับความนิยมมาก หลายคนชอบ อยากใส่ เพราะมันดูสวยดียามเมื่อยิ้มออกมา• ท่อสี  ไม่ได้มีผลกับการดึงฟัน แต่เป็นท่อยางที่ใช้ร้อยกับลวดรีเทนเนอร์พาดไปบนแนวฟัน เพื่ออวดสีสัน ดูสวยงามสำหรับกลุ่มผู้ชื่นชอบแฟชั่นนี้อันตรายจากการจัดฟันแฟชั่นการจัดฟันแฟชั่นเป็นเพียงการนำเครื่องมือจัดฟันติดบนหน้าฟันเท่านั้น ไม่มีผลในการรักษา แต่เป็นการนำของแปลกปลอมใส่เข้าไปในช่องปาก ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนี้ อันตรายจากขั้นตอนการทำ ซึ่งหากทำโดยผิดหลักวิชา อาจเกิดปัญหาจากการติดเชื้อ เพราะกระบวนการทำไม่สะอาดตามมาตรฐาน อันตรายจากวัสดุ วัสดุจัดฟันแฟชั่น บางชนิดยังพบการปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  หากสะสมในร่างกายมาก ๆ จะเป็นอันตรายต่อไต ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของเซลล์ตาย อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ อันตรายต่อฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก ในขั้นตอนการทำ จะมีการใช้หัวกรอ กรอเอาเคลือบฟันที่ดีออกไป รวมทั้งใช้กรดกัดฟัน ซึ่งจะทำให้เคลื่อนฟันบางลง ทำให้ความแข็งแรงของฟันลดลง ทำให้เสียวฟันได้ง่าย การปรับแต่งลวดโดยผู้ที่ไม่มีความรู้จะทำให้เกิดแรงกดไปที่ตัวฟัน และฟันเคลื่อนไปจากเดิม ทำให้มีอาการปวดฟันมากอาจทำให้ฟันซี่นั้นกลายเป็นฟันตาย รากฟันละลาย อาจจะต้องถอนฟันซี่นั้นทิ้งไปนอกจากนี้การใส่เครื่องมือจัดฟันแฟชั่นมักทำให้เกิดการบาดกระพุ้งแก้ม หรือเนื้อเยื่อในช่องปากกลายเป็นแผล เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อในช่องปาก อีกทั้งเครื่องมือที่ใส่ในปาก จะขัดขวางการแปรงฟันและทำความสะอาดฟัน อาจทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ บวมแดง มีกลิ่นปาก ยิ่งถ้ากระทำด้วยตนเอง ไม่ได้รับการอบรมที่ถูกวิธีหรือคอยดูแลตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอโดยทันตแพทย์ ย่อมเกิดปัญหาสุขภาพฟันติดตามมา บางทีก็ผิดพลาดจนยากจะแก้ไขได้ทัน การจัดการกับปัญหาการจัดฟันแฟชั่นด้วยมาตรการทางกฎหมายอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น• คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่พบว่า ลวดดัดฟันแฟชั่น นั้น พบสารปนเปื้อนซึ่งเป็นโลหะหนัก และวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุที่ไม่มีมาตรฐาน ลักษณะการนำมาคล้องที่ฟันด้วยลวดที่ไม่แข็งแรง มีโอกาสหลุดลงคอ ทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียด้านสุขอนามัย สคบ. จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคสอง ประกาศห้ามขายถาวรตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2552  ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่10/2552 เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่น ซึ่งประกาศนี้มีผลเฉพาะ “ลวดดัดฟัน” เท่านั้น ปัจจุบัน สคบ.กำลังเร่งพิจารณาเพื่อออกกฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงวัสดุอื่นๆ ด้วย • อุปกรณ์จัดฟัน ยังไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ จึงไม่ได้รับการกำกับดูแล ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 • อุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นที่ขายทางอินเทอร์เน็ต จะเข้าข่าย ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  ปัจจุบันปรับมาเป็น ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2560   กำกับดูแลโดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.)สถานที่และผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่น• ผู้ลักลอบดำเนินการจัดฟันแฟชั่นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำการประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว• สถานที่ที่มีการประกอบการทันตกรรมหรือคลินิกที่ประกอบกิจการสถานพยาบาลทันตกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องโทษ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ทว่าเมื่อลองประเมินจากบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อที่จะควบคุมกำกับปัญหาการจัดฟันแฟชั่นเถื่อน อาจเรียกได้ว่า ยังอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมอย่างที่ควรจะเป็น ภาพที่ผู้ค้าบางรายยังสามารถขายสินค้าแฟชั่นนี้ได้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายยังปรากฏให้เห็นผ่านช่องทางสื่อสารทางโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา บวกกับค่านิยมของวัยรุ่น ที่ยอมจะสวยในแบบฉบับที่ไม่ตกเทรนด์แฟชั่น มากกว่าการห่วงเรื่องสุขภาพในช่องปาก หรืออันตรายที่แฝงอยู่ในการจัดฟันแฟชั่นนี้ เราคงจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ไปอีกนาน ซึ่งไม่ต่างจากเรื่องที่เราเป็นห่วงคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่อยากขาว อยากผอม ตามค่านิยมยุคสมัย แต่เลือกวิธีการที่ไม่เหมาะสมด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการหวังเพียงให้กฎหมายช่วยจัดการอาจจะยังไม่พอ เพราะเป็นแค่การตัดช่องทางซื้อขาย  อย่างไรก็ตามคงต้องร่วมกันกับการปรับค่านิยมให้แก่คนกลุ่มเสี่ยงด้วย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ปากของเรา อย่าให้ของเสี่ยง เข้ามา

สิงหาคม 2552 มีข่าวเศร้าทางหน้าสื่อมวลชน เด็กนักเรียนหญิง ม.5 จากสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น ขอเงินแม่ 2 พันบาท เข้าคลินิกเสริมความงามใส่เหล็กดัดฟันแฟชั่น กลับมาไม่กี่วันปวดฟันจนเหงือกบวม สุดท้ายทนไม่ไหวต้องนำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบเป็นโรคหัวใจ – ไทรอยด์ติดเชื้อ และเสียชีวิตในสามวันต่อมา การใส่เหล็กดัดฟันที่วัยรุ่นนิยมกันมากจนเกิดเป็นแฟชั่นหลากหลายนั้น ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ หรือใครก็ทำให้ได้ เราต้องให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำเท่านั้น และเหล็กที่ใส่จะต้องเป็นเหล็กสเตนเลสสตีลหรือเหล็กที่ใส่แล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และการจัดฟันหรือใส่เหล็กดัดฟันนั้นจะไม่สามารถใส่ได้ทันที ทันตแพทย์จะต้องตรวจสุขภาพของผู้จัดฟันให้ละเอียดเสียก่อนถึงสามารถใส่ได้ แต่การไปใส่เหล็กดัดฟันแฟชั่นจากผู้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่ใช่ทันตแพทย์ที่ได้รับอนุญาต จะมีอันตรายทั้งจากวัสดุที่ใช้ทำลวดดัดฟัน ซึ่งจะเป็นลวดราคาถูก ไม่ใช่ลวดที่ใช้ทางการแพทย์ จึงอาจเป็นสนิมและมีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักต่างๆ เช่น ตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียม สารหนู สีสังเคราะห์ นอกจากนี้พบว่าผู้ให้บริการบางรายใช้กาวช้างหรือกาวทั่วไปในการยึดติดซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่นเหล่านี้จะไม่มีความรู้ด้านทันตกรรม การจัดฟันจึงมักใช้กรดกัดฟันหรือกรอเคลือบฟันที่ดีๆ ออกไป จนทำให้ซี่ฟันเคลื่อนไปจากเดิมจนฟันตาย หากการใส่ลวดดัดฟันยึดไม่แน่นพอจะทำให้ลวดมีโอกาสหลุดลงคอ และอาจบาดช่องปากจนเกิดแผลติดเชื้อในเลือดจนเสียชีวิตได้  นอกจากนี้หากเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดฟันมีคุณภาพต่ำก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสนิม และหากฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือไม่หมดจะทำให้ติดเชื้ออันตราย เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค คอตีบ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ฯลฯ จนอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ตามที่เป็นข่าว แม้หน่วยงานสาธารณสุขจะพยายามติดตามดูแล ไม่ให้มีผู้ลักลอบจัดฟันด้วยลวดดัดฟันแฟชั่นที่อันตราย แต่ผู้ประกอบการก็หาทางออกหลบหลีกไปเรื่อยๆ ล่าสุด มีพลเมืองดีแจ้งเตือนภัยให้ทราบว่ามีการจำหน่ายชุดเซ็ตจัดฟันเองที่บ้านและชุดอุปกรณ์จัดฟันทุกชนิด มีการหลอกลวงอ้างว่า ใช้อุปกรณ์จัดฟันเกรดดี ปลอดภัย เทียบเท่ากับคลินิกทันตกรรม มีให้เลือกทั้งแบบติดแน่น และแบบถอดได้หรือรีเทนเนอร์ (ซึ่งมีทั้งแบบ ลวดเส้นเดียว ลวดสี แบบติดเม็ด) นอกจากนี้ยังอ้างว่าไม่มีผลกระทบกับฟัน  แถมมีวิธีติดพร้อมภาพประกอบอย่างละเอียด พร้อมส่งจำหน่ายให้กับเด็กวัยรุ่นที่หลงเชื่อ ขอแจ้งเตือนผู้ปกครองตลอดจนอาจารย์โรงเรียนทุกแห่ง ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเด็กนักเรียนด้วย หากพบว่าเด็กวัยรุ่นไปจัดฟันแฟชั่นที่อันตราย ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อถอดเหล็กดัดฟันได้โดยด่วน และหากพบเบาะแสการจัดฟันแฟชั่น หรือมีการเชิญชวนไปรับบริการดังกล่าว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทราบ เพื่อช่วยเด็กๆ วัยรุ่นให้ปลอดภัยจากอันตรายนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >