ฉบับที่ 271 สตรีมมิ่ง

          ปี 2560 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มรู้จักกับบริการ สตรีมมิ่ง เมื่อ Netflix ได้เข้ามาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ         ผ่านไป 6 ปี ในปี 2566 มีแพลตฟอร์มที่ให้บริการสตรีมมิ่งในประเทศไทยแล้วมากกว่า 10 แพลตฟอร์มและสถานการณ์การแข่งขันยังดุเดือด ในปี 2565 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ บริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจ ทำการศึกษา Business Model ของ Streaming Platform เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุค Platform Economy ยังพบว่าในปี 2566 ยอดคนไทยดู Streaming จะเติบโตขึ้นสูงถึง 2.10 ล้านราย คิดเป็น 3.04% ของประชากรไทยทั้งหมด         บริการสตรีมมิ่งเป็นบริการที่แพร่หลายอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกช่วงวัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับ สสส. จึงจัดทำทดสอบบริการสตรีมมิ่ง จำนวน 9 แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ WeTV , VIU, MONOMAX , iQIYI , FLIXER , Netflix , Disney+ Hotstar , Amazon Prime Video และ HBO GO เพื่อสำรวจความแตกต่างในคุณภาพการบริการว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร   วิธีการทดสอบ         -  สำรวจสตรีมมิ่ง 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือสตรีมมิ่งผู้ให้บริการระดับภูมิภาค คือ We TV , VIU ,MONOMAX , iQIYI และ FLIXER สำรวจในช่วงวันที่ 17 มิ.ย. - 17 ก.ค. 2566 กลุ่มที่ 2 คือ สตรีมมิ่งที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกคือ  Netflix , Disney+ Hotstar  ,  Amazon Prime Video และ HBO GO  สำรวจวันที่ 17 ก.ค. 2566 – 17 ส.ค. 2566          -  ในแต่ละแพตฟอร์มเลือกสำรวจ แพ็คเกจที่มีราคาสูงสุด เพื่อสำรวจคุณภาพ บริการสูงสุดที่ผู้บริโภคสามารถได้รับจากแต่ละแพลตฟอร์ม         -  สำรวจขั้นตอนการสมัคร ราคา คลังเนื้อหา และความหลากหลาย คุณภาพของภาพและเสียง จุดเด่นของแต่ละแพลตฟอร์ม การสร้างการมีส่วนร่วมต่อผู้รับชม  ความสะดวกในการยกเลิกเป็นสมาชิก         -  สำรวจด้วยการดูด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้ง โทรทัศน์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ค   1. We TV , VIU ,MONOMAX , iQIYI และ FLIXER สำรวจในวันที่ 17 มิถุนายน  -  17 กรกฎาคม 2566 ผลการทดสอบ         1.ทุกแพลตฟอร์ม มีขั้นตอนการสมัคร และการยกเลิกที่สะดวก และไม่ยุ่งยาก โดยสามารถสมัครและจ่ายเงินได้หลากหลายช่องทางเช่น  google play บัครเครดิตและเดบิต และ อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งต่างๆ  Rabbit Line pay, พร้อมเพย์, Truemoney Wallet และ ShopeePay การยกเลิกสามารถทำได้ทุกเมื่อ         2.ผลการสำรวจสอบ พบว่าหลายแพลตฟอร์มมีเนื้อหาที่ให้บริการลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น We TV  และ iQIYI มีเนื้อหาในกลุ่มเดียวกันค่อนข้างมาก คือ ซีรีส์จีน         3.ทุกแพลตฟอร์มมีการแจ้งเตือน เพื่อโปรโมทเนื้อหาใหม่ๆ สม่ำเสมอ          4.การสำรวจด้านราคาพบว่า แต่ละแพลตฟอร์มมีแพ็คเกจให้เลือกสมัครหลากหลาย ทั้งรายเดือน   ราย 3 เดือน และ รายปีแพลตฟอร์มที่มีให้เลือกสมัครทั้งแบบรายเดือน ราย 3 เดือน และรายปี มี  5 แพลตฟอร์ม คือ WeTV , VIU, MONOMAX , iQIYI , HBO GO แพลตฟอร์มที่ให้บริการเฉพาะรายเดือนมี 2 แพลตฟอร์ม คือ Netflix , Amazon Prime Video และที่ให้บริการแบบรายเดือนและ รายปี มี 2  แพลตฟอร์มคือ Disney+ Hotstar  และ FLIXER         5.ปัจจุบันแต่ละแพลตฟอร์มให้บริการโดยกำหนดคุณภาพของภาพและเสียงที่ใกล้เคียงกัน คือคุณภาพของภาพที่ 1080p (Full HD) และคุณภาพของเสียงที่ระบบสเตอริโอ 5.1โดยมี 4 แพลตฟอร์มที่มีคุณภาพภาพของภาพและเสียงด้วยเทคโนโลยีสูงสุดในปัจจุบัน คือ iQIYI , Netflix , Disney+ Hotstar  ,  Amazon Prime Video สามารถให้คุณภาพของภาพได้ถึงระดับ 4K และระบบเสียงอยู่ที่ระบบ  Dolby Atmos ซึ่งเป็นระบบเสียงล้อมตัวผู้ชมแบบโรงภาพยนตร์         6.แพลตฟอร์มทั้ง 9 มีการจัดหมวดเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีความต่างที่เด่นชัด เช่น การจัดหมวดหมู่ตามประเภทของเนื้อหา เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ วาไรตี้  รายการสำหรับเด็ก ฯลฯ  จัดหมวดตามประเภท เช่น ไซไฟ ดราม่า ฯลฯ การจัดหมวดที่ได้รับความนิยมในรอบสัปดาห์  เนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุด  การจัดกลุ่มซีรีส์ รายการที่มีพากษ์ไทย          7.มี 2 แพลตฟอร์มที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบดาวน์โหลดเพื่อรับชมแบบไร้อินเตอร์เน็ตคือ MONOMAX และ FLIXER         8.แพลตฟอร์มที่การเพิ่มเติมเนื้อหา ค่อนข้างถี่ คือ  VIU  และ iQIYI  โดยสามารถรับชมเนื้อหาหลังประเทศต้นทางออกอากาศแล้ว ได้ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงเป็นต้นไป         9.อุปกรณ์มีผลอย่างสำคัญ ต่อการได้รับภาพและเสียงที่มีคุณภาพ โดยแม้บางแพลตฟอร์มจะมีการกำหนดคุณภาพการให้บริการทั้งภาพและเสียงไว้ในระดับสูงแต่จากการทดสอบด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้ง โทรทัศน์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ค ระบบคุณภาพดังกล่าวยังไม่สามารถแสดงผลได้เต็มที่หรือเสมอกัน         10.แพลตฟอร์มที่พัฒนาฟีเจอร์เพื่อ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้แสดงความคิดเห็น ได้มีส่วนร่วมอย่างโดดเด่น คือ  WeTV มีช่องแนะนำ ติชม แสดงความเห็นพูดคุยกับผู้ชมคนอื่นๆ ได้ , iQIYI ผู้ชมแสดงความเห็นและให้คะแนนได้, Amazon Prime Video มีฟีเจอร์ Watch Party ผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ชมภาพยนตร์เดียวกัน  ข้อสังเกต         ·  บริการสตรีมมิ่งในปัจจุบันกระตุ้นให้ผู้บริโภคสมัครสมาชิก ด้วยกลไกราคาที่ถูกลงเมื่อสมัครรายปี หรือการสมัครแบบระบบการจ่ายเงินแบบต่ออายุอัตโนมัติ ที่จะจ่ายราคาถูกลงมากกว่าแบบสมัครใช้ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม โปรโมชั่นด้านราคานำมาใช้น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 3 ปีแรกของการแข่งขัน และยังมีแนวโน้มที่ราคาค่าสมัครใช้บริการจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้น        ·    คุณภาพของภาพ และเสียงในแต่ละแพลตฟอร์ม ได้รับการพัฒนามากขึ้นต่อเนื่อง จนใกล้เคียงกันทั้งหมด และในอนาคตคาดว่าจุดนี้จะไม่ได้เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างได้อีกต่อไป         ·    แพลตฟอร์มที่ให้บริการในระดับภูมิภาค มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาภาษาในการรับชม  เช่น VIU มีการพัฒนาภาษาพากษ์แบบภูมิภาคด้วย และล่าสุดยังมีภาษามือ  และ MONOMAX ที่มีพากษ์ไทยทุกเรื่อง แสดงถึงความพยายามสร้างความแตกต่างที่มีผลดีให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น         ·     Original Content  ยังเป็นจุดที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ เพราะสะท้อนถึงเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนเฉพาะของแต่แพลตฟอร์มได้ชัดเจน   บทสรุป         ท่ามกลางบริการสตรีมมิ่งที่มีให้เลือกมากมายหลายแพตฟอร์ม  นิตยสารฉลาดซื้อเสนอแนวทางในการสมัครใช้บริการดังนี้         1.เลือกจากคลังเนื้อหาว่ามีความหลากหลาย และ Original Content  มีเอกลักษณ์ที่ตรงกับความสนใจหรือไม่ เพราะเป็นเนื้อหาที่สามารถรับชมได้ในแพลตฟอร์มที่สมัครเท่านั้น           2. ความถี่ในการเพิ่มเติมเนื้อหา เพราะแต่ละแพลตฟอร์มทำได้แตกต่างกัน  เช่นบางแพลตฟอร์มเพิ่มเติมทุกสัปดาห์  และบางแพลตฟอร์มเป็นรายเดือน เป็นต้น        3. หากผู้บริโภคตัดสินใจสมัครใช้บริการโดยคำนึงถึงคุณภาพของภาพและเสียงเป็นปัจจัยแรก กรณีนี้มีข้อที่ต้องคำนึงคือ การแสดงผลภาพคุณภาพสูงสุดคือ 4K และ เสียงแบบ Dolby Atmos ต้องการอุปกรณ์ที่ทันสมัย และสัญญาณอินเตอร์ที่เร็วแรงพร้อมรองรับได้  เพราะแม้บางแพลตฟอร์มจะนำมาเป็นจุดโฆษณาขายแต่เมื่อรับชมจริงระบบจะเลือก Stream ไฟล์ที่คุณภาพสูงสุดที่เครื่องปลายทางจะรองรับได้นั่นเอง ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาถึงอุปกรณ์การรับชมที่ท่านรับชมจริงด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผู้สูงอายุกับการซื้อของออนไลน์

        ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว        ปัจจุบันกลุ่มคนสูงวัยมียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย และลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยหลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการชอปปิงออนไลน์  ผู้สูงอายุถูกหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ (สรุปปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง จ.พะเยา)        เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง คุณพวงทอง ว่องไวและเครือข่ายผู้สูงอายุ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุใน 9 อำเภอ ของจ.พะเยา แบ่งเป็นช่วงอายุ 60 – 65 ปี (46.8%) ช่วงอายุ 66-70 ปี (26.8%) และช่วงอายุ 71-75 ปี (13.9%) แบ่งเป็นเพศชาย 101 คน และเพศหญิง 130 คน โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 231 ชุด เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุใน จ.พะเยา ถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสรุปผลสำรวจในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้         ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสื่อสารในการซื้อสินค้า – ทีวี เป็นสื่อที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับชมทีวีกัน ประกอบกับทุกวันนี้มีการขายสินค้าผ่านทางรายการทีวีมากขึ้น ส่วนทาง Line และ Facebook นั้น ผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ตโฟนกันมาก จึงทำให้เข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น         ประเภทสินค้าออนไลน์ที่ซื้อ - อาหารเสริม และ ยา เป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เลือกซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนอันดับที่สามคือ อุปกรณ์ของใช้ (อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์แต่งรถ) เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุเพศชายเลือกซื้อมากกว่าเพศหญิง          เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ - สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือ เพื่อรักษาสุขภาพ และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นได้ว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเองก็หันมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอยากทดลอง อีกด้วย          ปัญหาที่พบในการซื้อสินค้าออนไลน์ – ปัญหายอดฮิตอันดับแรกคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา รองลงมาจะเป็นไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งและได้รับสินค้าล่าช้า จากปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ของผู้สูงอายุลดลงได้         เมื่อประสบปัญหาแล้วท่านทำอย่างไร – ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสานร้านค้า เพื่อให้ทางร้านดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รองลงมาคือ ไม่ได้ทำอะไร และ ทิ้งสินค้านั้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเสียเงินเปล่าและเสียโอกาสไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่จะประสานหน่วยงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แสดงว่าจำนวนผู้เสียหายจริงๆ น่าจะมีมากกว่าที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หลายเท่าตัว)        ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา –ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นควรให้ควบคุมคุณภาพร้านออนไลน์และกำหนดบทลงโทษและการชดเชยเยียวยา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์เกรงกลัวในการทำความผิด และมีการจัดทำทะเบียนร้านค้าเพื่อให้การขายออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน         ทั้งนี้ ผู้สำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า ด้วยวิธีการโฆษณาขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดที่ขายตามปกติมาก และช่องทางการติดต่อเพื่อชำระเงินไม่ยุ่งยาก ก่อนซื้อติดต่อพูดคุยสอบถามเรื่องสินค้าง่าย แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้ากลับพบปัญหาต่างๆ         ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ หรือผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ติดฉลากที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ระบุเลขสาระบบอาหาร การโฆษณาขายสินค้าที่มีข้อความหรือ โฆษณาเกินจริง หรือสินค้าไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ค้าออนไลน์ จัดการผู้กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่โดยสภาพบังคับใช้ยังไม่เอื้อต่อการปรามการกระทำความผิด และยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถกำกับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ           ผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันกลโกงของร้านค้าออนไลน์         จากเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้น โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนะแนวทางลดความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุไม่ถูกโกงจากการชอปปิงออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้         - ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (44 %) รองลงมาคือทางไลน์ (31.25%)         - ผู้สูงอายุมักถูกดึงดูดจากการโฆษณาที่ใช้วิธีการลดราคาสินค้าลงมาก ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ ใช้ข้อความที่เกินจริง สร้างเรื่องราวให้เชื่อ และมีผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์         - หากสินค้ามีการอ้างข้อมูลทางสถิติ จะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรซื้อ           - ถ้ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่ามาหลอกขาย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ        - ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ        - การซื้อสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรเช็กข้อมูลหรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.หรือ อย.ก่อน เพื่อความปลอดภัย         - อย่าเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ให้หาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย โดยนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)         - เลือกซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ        - ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวได้ยาก         - ผู้สูงอายุอย่าอายที่จะปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ         - ในจำนวนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ทั้งหมดที่มีผู้ร้องเรียนกับ สพธอ. พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง สพธอ. จึงได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์         - กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์         อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวควรมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา และแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติ         จากที่ Nikkei Asian Review นำเสนอกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) สาเหตุหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต นอกจากนี้ อาการป่วยของผู้สูงวัยก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติด้วย เช่นกรณีของคุณยายฐานะดีชาวญี่ปุ่นวัย 86 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้กดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ชนิดเดิม ๆ ซ้ำๆ ไปมากถึง 10 ล้านเยน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือน นั่นเอง         สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น  Amazon ที่สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป         ไม่แน่ว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทยได้เช่นกัน       ก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         1.ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free-WiFi) - มิจฉาชีพอาจปล่อยสัญญาณให้ใช้ โดยให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขอใช้สัญญาณ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ดังนั้น เพื่อป้องกันโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน จึงควรใช้ WiFi ที่มีรหัสอย่างชัดเจน หรือเชื่อมต่อผ่านระบบสัญญาณมือถือส่วนตัวดีที่สุด         2. ตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้ง - บ่อยครั้งที่เวลาสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มักมีป็อบอัปเด้งข้อมูลโปรโมชั่น หรือส่วนลดต่างๆ ขึ้นมา ผู้ซื้อควรอ่านให้ละเอียดก่อนคลิกทุกครั้ง เพราะอาจโดนมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แฝงมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คลิกเข้าไปดูได้         3. เลือกซื้อจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านที่เชื่อถือได้ – ร้านค้าต้องไม่มีประวัติการโกง ส่งสินค้าจริง เเละขายสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่าสั่งซื้อเป็นอันขาด        4. เปรียบเทียบราคา และอ่านรีวิวจากผู้ซื้อ – ราคาควรสมเหตุสมผลกับตัวสินค้า ระวังสินค้าถูกเกินไปอาจเสื่อมคุณภาพหรือใกล้หมดอายุ และสังเกตด้วยว่ามีรีวิวจากหน้าม้าที่มาอวยเกินจริงหรือเปล่า         5. อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ครบ - ร้านค้าต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าให้ครบถ้วน เช่น ขนาด สี ลวดลาย จำนวนชิ้น ฯลฯ ค่อย ๆ พิจารณา อย่าพึ่งรีบกดซื้อ เพราะอาจถูกกลโกงจากภาพสินค้าเเละข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้         6. สอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย – ร้านค้าที่ดีควรมีช่องทางการติดต่อผู้ขายเสมอ หากไม่มั่นใจในสินค้า มีข้อสงสัย หรืออยากทราบที่มาของสินค้า ควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย รวมถึงขอดูรูปถ่ายสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกได้อีกหนึ่งทาง การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         7. กรอกข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกรอกทุกช่อง - สังเกตจากเครื่องหมายว่า ส่วนใดจำเป็นต้องกรอก เช่น เครื่องหมาย *         8. อ่าน “เงื่อนไขในการให้บริการ” และ “การขอความยินยอม” หรือนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดด้วย - จะได้รู้ว่ามีการเก็บข้อมูลเราไปเพื่ออะไร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เอาข้อมูลที่เรากรอกไปส่งต่อให้คนอื่นหรือไม่         9. พยายามจำรหัสผ่านให้ได้ หรือจดไว้ในที่ลับเฉพาะ - เมื่อใช้งานเว็บไซต์ หรือจะจ่ายเงิน ถ้ามีบริการช่วยจำหรือให้บันทึกรหัสผ่าน อย่าเผลอกด “ตกลง” แม้สะดวกสบายสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป แต่อาจโดนสวมรอยได้         10. ตรวจสอบขั้นตอนวิธีการสั่งสินค้า และการส่งสินค้า – ผู้ซื้อควรรู้ขั้นตอนการสั่งและการส่งสินค้าของผู้ให้บริการ รวมถึงดูวันจัดส่ง วิธีการจัดส่ง โดยการยืนยันด้วยหมายเลขพัสดุ เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้า        11.การชำระเงิน ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ผู้สูงวัยเลือกจ่ายเงินแบบเก็บปลายทาง เพื่อความปลอดภัยเเละมั่นใจว่าได้ของแน่นอน แต่ต้องเช็กก่อนว่าได้สินค้าตรงปกจริงๆ จึงค่อยจ่ายเงิน หากเลือกการโอนเงินหรือตัดบัตรเครดิต ก็ต้องตรวจสอบจำนวนเงิน ชื่อและเลขบัญชีให้ถูกต้องก่อนกดยืนยันทุกครั้ง หลังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         12.เก็บหลักฐานซื้อขายทุกชิ้นไว้ให้ครบ –ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการชำระเงิน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารของเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ รวมถึงบันทึกหน้าจอสนทนากับผู้ขายไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาตามหลังมา ผู้ซื้อจะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง         13.เช็กว่าร้านค้านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ซื้อไปเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะหรือเปล่า เพราะในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากห้ามร้านค้าขอข้อมูลของลูกค้าเกินความจำเป็นแล้วยังห้ามเผยแพร่สลิปที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุของลูกค้า ในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ ด้วย แต่ให้แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าในช่องทางส่วนตัวได้ หรือในกรณีที่พนักงานขนส่งสินค้าขอถ่ายรูปใบหน้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ผู้รับสามารถปฏิเสธการถ่ายภาพได้ และเปลี่ยนให้ถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทน         15. เมื่อผู้ซื้อได้สินค้าแล้ว ก่อนจะเปิดกล่องพัสดุ ให้ตรวจเช็กชื่อผู้ส่งและผู้รับว่าถูกต้องหรือไม่รวมถึงอัดคลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุเก็บไว้ทุกครั้ง พร้อมตรวจเช็กสินค้าให้ละเอียดไปด้วย เพื่อป้องกันสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ซื้อ และใช้เป็นหลักฐานหากได้รับสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ถูกต้องตามรายการที่สั่งซื้อ รวบรวมข้อมูลจาก...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)เพจเฟซบุ๊กกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องยูทูบ NSMThailand และ เว็บไซต์ myhellomonday.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ยอมได้ไหม เมื่ออายุเป็นมากกว่าตัวเลข

        การคิดราคาไม่เท่ากันสำหรับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน มีข้อดีตรงที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางหรือรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าวในราคาที่เอื้อมถึง (เช่น ราคานักศึกษา หรือบัตรสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น) และยังช่วยให้เกิดสมดุลขอดีมานด์และซัพพลาย (เช่น ตั๋วถูกนอกเวลาเร่งด่วน) แต่ขณะเดียวกันการใช้นโยบาย “การตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือในธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ก็อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนัก เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินหรือห้องพักที่หลายคนได้ราคาต่างกันโดยไม่ทราบเหตุผล หรือกรณีที่ Uber แพลตฟอร์มบริการเรียกรถ ใช้อัลกอริทึมประเมินราคาสูงสุดที่คน “พร้อมและยินดี” จ่าย สำหรับการเดินทางในช่วงเวลาต่างๆ (ข้อมูลจากการเปิดเผยของ “คนใน”) หรือกรณีของ บางประเทศ เช่นบราซิล ก็จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ในปี 2017 เว็บขายทัวร์ Decolar.com ถูกสั่งปรับ 7.5 ล้านเรียล (ประมาณ 48.6 ล้านบาท) โทษฐานที่คิดราคาทัวร์ต่างกันตาม “ที่อยู่” ของลูกค้า         อีกบริการหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมได้แก่ แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ก็มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างกว้างขวางเช่นกัน เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International ร่วมกับมูลนิธิมอซิลลา Mozillia Foundation ที่เปรียบเทียบราคาสมาชิกของผู้ใช้แพลตฟอร์มเจ้าดังอย่าง Tinder ในหกประเทศ ได้แก่ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ บราซิล อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์         การสำรวจดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการดังนี้        - ไม่มีการแจ้งผู้ใช้เรื่องนโยบายการตั้งราคาแบบเฉพาะบุคคลอย่างชัดเจน มีเพียงเนื้อหาใน “ข้อตกลงการใช้งาน” ที่ระบุว่าจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำเสนอดีลและส่วนลดที่เหมาะกับโพรไฟล์ของผู้ใช้         -  “ราคาสมาชิก” มีหลายระดับ        Tinder Plus ในเนเธอร์แลนด์มีถึง 21 ระดับระคา ในขณะที่อเมริกามี 9 ระดับ น้อยที่สุดคือบราซิล (2 ระดับ)ราคาสูงสุด แพงกว่าราคาต่ำสุดประมาณ 4 ถึง 6 เท่า ในกรณีของเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์  ส่วนของอินเดียก็ต่างกันมากกว่าสองเท่า        - \ อายุ เป็นปัจจัยในการกำหนดราคา        ร้อยละ 65.3 ของคนในช่วงอายุ 30 – 49 ปี จ่ายค่าสมาชิกแพงกว่ากลุ่ม 18 – 29 ปี        ในทุกประเทศที่สำรวจ (ยกเว้นบราซิล) กลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ถูกเรียกเก็บค่าสมาชิกแพงกว่า ในขณะที่กลุ่มอายุระหว่าง 30 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป จ่ายไม่แตกต่างกัน          แต่อายุอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมากำหนดราคา เช่น กรณีของบราซิลและนิวซีแลนด์ มีกลุ่มอายุมากกว่าที่ได้ราคาต่ำกว่า ในขณะเดียวกันก็พบคนกลุ่มอายุน้อยในเกาหลี เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ที่ต้องจ่ายในราคาสูงเช่นกัน         พื้นที่อยู่อาศัยก็อาจเป็นอีกปัจจัย แต่ยังสรุปไม่ได้จนกว่าจะมีการสำรวจเพิ่มเติม การสำรวจนี้พบว่าคนเมืองในอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ เสียค่าสมาชิกถูกกว่า แต่คนเมืองในเกาหลีและอินเดีย กลับต้องจ่ายแพงกว่า เป็นต้น          -   ผู้บริโภคยังมีความกังวล          ร้อยละ 56 ของผู้ใช้ กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ในขณะที่หนึ่งในสามรู้สึกว่าการตั้งราคาแบบนี้ไม่ยุติธรรม เมื่อถามถึงประโยชน์ของการตั้งราคาเฉพาะบุคคลร้อยละ 14 ไม่เห็นประโยชน์ร้อยละ 38 เชื่อว่ามันช่วยให้ได้สินค้าและบริการตรงใจขึ้นร้อยละ 40 เชื่อว่ามันอาจทำให้พวกเขาได้ราคาที่ถูกลง          แต่เมื่อถามว่าถ้ามีปุ่มให้เลือก “ไม่ต้องตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ก็มีถึงร้อยละ 83 ที่จะคลิก         ทีมสำรวจยังพบด้วยว่าแต่ละประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ส่วนที่มีก็ยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การตั้งราคาส่วนบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันควรจะเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มข้นขึ้น เช่น ผู้ใช้จะต้องรู้ตัวว่าจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และแพลตฟอร์มจะต้องต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้ รวมถึงควรมีความโปร่งใสในนโยบายการตั้งราคา ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดดิจิทัลโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อเครื่องอบผ้าจากออนไลน์ แต่เสียงดังเกินไป ทำอย่างไรดี

ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ ในปัจจุบันนอกจากจะสะดวกสบายในการซื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนติดกับดักหลุมพรางจนต้องเสียเงิน ก็คงหนีไม่พ้นการขยันออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะโปรโมชัน  9.9 , 10.10 , 11.11 ที่ขยันออกมา ล่อตา ล่อใจ ล่อเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย ทำให้หลายคนที่มีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือคงสั่นไม่น้อย พร้อมจะเสียเงินไปกับร้านค้าต่างๆ ที่จัดโปรโมชันเอาใจลูกค้าอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก แถม ลดแล้วลดอีก ก็แหมใครจะไปทนไหวกับโปรโมชัน ล่อตา ล่อใจ ขนาดนี้ล่ะเนอะ        ในกรณีนี้ คุณภูผาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชันนี้เช่นกัน แถมเขายังอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “งานบ้านที่รัก”อีกด้วย พอดีช่วงหน้าฝน มีคนในกลุ่มเฟซบุ๊กมาโพสต์รีวิวเครื่องอบผ้ายี่ห้อหนึ่งว่า “ของมันต้องมี มีแล้วชีวิตดีมาก ผ้าแห้งเร็ว ไม่ต้องง้อแดด ผึ่งแปบเดียวแห้ง ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง” เมื่อคุณภูผาเห็นโพสต์รีวิว พร้อมข้อความรีวิวดังกล่าวดูน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องอบผ้ายี่ห้อ G จากร้าน Power Buy ทางออนไลน์ ราคาประมาณ 20,000 บาท ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันที สินค้ามาส่งทันใจไม่รอนาน แต่...         เมื่อใช้งานโดยหวังว่าจะตากผ้าโดยไม่ต้องง้อแดดอย่างคำโฆษณา เพราะช่วงนี้ฝนตกทุกวันหากไม่อบผ้าผ้าก็อาจจะไม่แห้งและเหม็นอับจากการตากในที่ร่ม แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ ผ้าที่อบได้นั่นโอเคไม่มีปัญหา ที่ไม่โอเคคือ เจ้าเครื่องอบผ้าที่เขาซื้อมาตอนปั่นหมาดนั้นมีเสียงดังมาก ดังราวกับจะพัง แก้อย่างไรก็ไม่หายสักที “จะทำยังไงดีล่ะเนี้ย” ภูผาปวดหัวตึ้บ จึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องการขอเงินคืนจากทางบริษัทจะต้องทำอย่างไร ทำได้ไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้ร้องเบื้องต้นให้ทำหนังสือไปยังสามบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องอบผ้า และบริษัท Power Buy ซึ่งเป็นผู้ขาย โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ และแจ้งความต้องการว่าต้องการขอเงินคืน พร้อมส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ และระบุในหนังสือว่าผู้ร้องสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย         เมื่อผู้ร้องได้ทำตามคำแนะนำของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่อมาผู้ร้องหรือคุณภูผาแจ้งกลับมาว่าได้รับเงินคืนเป็นยอดในบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว และขอบคุณที่ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้บริโภค วิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีใกล้เคียงกันหรือปรึกษามาที่มูลนิธิฯ เมื่อท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะในการแสดงความเห็นออนไลน์

        ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มรีวิวเรื่องต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับใคร ในเรื่องใดก็ได้ แต่เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับคนที่เรากำลังวิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเห็นแบบไม่ระบุชื่อ อาจทำให้หลายคนแสดงความเห็นด้วยความโกรธ ความผิดหวัง หรือเกลียดชัง โดยไม่มีการกลั่นกรอง แต่การใช้แพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ไม่ต่างจากการใช้รถใช้ถนนบนโลกจริง การแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงกฎและมารยาทเช่นกัน         ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การเขียนสิ่งที่เป็นโดยไม่ตรงกับความจริงนั้นอาจมีผลทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องที่เราอาจจะมองข้าม เช่นการเขียนวิจารณ์ว่า "ผมว่าพิซซ่าร้านนี้ไม่อร่อย" นั้นถือเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเขียนว่า "ร้านนี้เอาพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นให้ลูกค้า" อาจเข้าข่ายการใส่ความ หากทางร้านไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง ความแตกต่างระหว่าง การแสดงความคิดเห็นและการตั้งข้อกล่าวหา อาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่         ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น เราควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้        1. ตั้งอยู่บนความจริง        การวิพากษ์วิจารณ์ร้านค้าหรือบริการต่างๆ นั้นได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรม พยายามกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง  ระวังอย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวกำหนด เพราะอาจทำให้ความเห็นของเรากลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมาย        2. การเปิดเผยข้อมูล        เมื่อเข้าใช้ระบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้คิดอย่างรอบคอบว่าใครอ่านความเห็นของเราได้บ้าง ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อดูว่าใครสามารถเข้ามาดูข้อมูลโปรไฟล์และกิจกรรมของเราได้        3. อย่าใช้อารมณ์นำ        ถ้าเราได้แสดงความเห็นออกไป ที่เข้าข่ายดูถูกเหยียดหยามหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ขอให้รีบลบโพสต์นั้นโดยเร็วที่สุด อย่าเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าถูกส่งต่อไป อาจทำให้ถูกออกจากงานได้         โดยทั่วไปไม่มีใครต้องกังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นในด้านลบ ถ้าสิ่งที่กล่าวนั้นเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความจริงและเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการแล้วการวิจารณ์ไม่ควรมุ่งทำร้ายผู้อื่นหรือเป็นการแก้แค้น        วิจารณ์อย่างไรให้ได้ผล        · แนะนำว่าปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะเขียนแค่ว่าอะไรต้องปรับปรุง หรือแค่ติว่าอะไรไม่ดี        · วิจารณ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัสหรือประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น        · เน้นว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเราเอง เช่น "ผมคิดว่ากาแฟเข้มไปหน่อย"        · ไม่อ้างข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        · ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล (อาจมีข้อยกเว้น)        สำหรับเจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำงานกับผู้คนนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประเมินและวิพากษ์วิจารณ์เสมอ  โดยทั่วไปผู้มีอาชีพในกลุ่มนี้ ต้องยอมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับบริการของพวกเขา แต่เมื่อพบเจอกับการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีจัดการเบื้องต้นดังนี้         · ในคำวิจารณ์ที่รุนแรง มักมีคำแนะนำที่นำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้ซ่อนอยู่เสมอ        · ระบบโซเซียลหรือแพลตฟอร์มบางแห่ง อนุญาตให้เจ้าของกิจการเข้าไปชี้แจงต่อคำวิจารณ์ได้ ให้รีบเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง จะสามารถลดความเสียหายจากความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมได้        · หากพบคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของแพลทฟอร์มนั้นโดยตรง ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องให้ทางกฏหมายจัดการ        · สำหรับเรื่องที่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ควรไปแจ้งความ         ผู้รับคำวิจารณ์ควรตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตมักจะแตกต่างจากการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเสมอ การที่ไม่ต้องระบุตัวตนอาจทำให้ผู้วิจารณ์ขาดความระมัดระวังในการใช้คำพูด ส่วนทางผู้วิจารณ์เองก็ควรจะระลึกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน ควรยึดหลักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ถูกวิจารณ์ได้นำความคิดเห็นนั้นไปใช้ปรับปรุงบริการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >