ฉบับที่ 180 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2559โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโม้สรรพคุณระบาดหนัก เจอเพียบในวิทยุปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์หลอกลวงผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาที่แก้ยังไงก็ไม่หมดไปจากสังคมไทยสักที ล่าสุดเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แถลงผลการดำเนินงานเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั้งทางสื่อต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายออกอากาศ เป็นจำนวนมาก จากการเฝ้าระวังพบว่ามีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่เผยแพร่อยู่จำนวน 206 ผลิตภัณฑ์ โดยสื่อวิทยุชุมชนถือเป็นช่องทางหลักที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงใช้เป็นทางช่องทางหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่รับฟังรายการเป็นประจำ รองลงมาคือ ดิจิตอลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ตัวอย่างที่พบการทำผิดกฎหมายก็มีอย่างเช่น โฆษณาไม่ตรงกับสรรพคุณที่ระบุไว้ ส่วนมากจะเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ใช้แล้วผิวขาว รักษาสิว ฝ้า หรือลดริ้วรอย ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังที่ได้ ทางเครือข่ายฯจึงอยากกระตุ้นไปถึงภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลปัญหาดังกล่าว อย่าง อย.และ กสทช. ออกมาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง รวดเร็ว และเด็ดขาด ใครที่พบเจอโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายหลอกลวง สามารถส่งข้อมูลแจ้งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ทั้ง อย.และกสทช. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   อย่าหลงเชื่อ “แผ่นหยกความร้อน” อ้างรักษาโรคอย.ออกมาเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ “แผ่นหยกให้ความร้อน” ที่มาในรูปแบบของ แผ่นรองนั่ง หมอน เตียงนอน ฯลฯ ที่อวดอ้างว่าสามารถช่วยเร่งการขับสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหายใจ แถมยังบอกว่าสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งความคัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และ มะเร็ง ซึ่งข้อความสรรพคุณต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมด อย.ยืนยันแล้วว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทั้งสิ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรืออาการบาดเจ็บต่างๆ จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 การจะผลิตหรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจาก อย. เสียก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลการขออนุญาตด้านเครื่องมือแพทย์ของ อย. ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวกับแผ่นหยกให้ความร้อนที่มีสรพพคุณตามที่แอบอ้าง นอกจากนี้ อย.ยังฝากเตือนว่าแผ่นหยกให้ความร้อนนอกจากจะไม่ช่วยรักษาโรค ผู้ใช้อาจเกิดอันตรายจากผลของกระแสไฟฟ้า เช่น ถูกไฟดูดจากไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งผิวหนังอาจเกิดการแพ้ต่างๆ ได้ด้วย คมนาคมคาดโทษ “นกแอร์” ทำผิดซ้ำเจอถอนใบอนุญาตจากเหตุการณ์ที่สายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จากเหตุผลที่นักบินประท้วงสายการบินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้โดยสารกว่า 3,000 คนได้รับผลกระทบ ทางด้านหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับปัญหาดังกว่างอย่าง กระทรวงคมนาคม ได้ออกมาจัดการกับสายบินนกแอร์ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยทางกระทรวงคมนาคมได้ออกคำสั่งเตือนไปยังสายการบินนกแอร์ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเป็นครั้งที่สองจะพักใช้ใบอนุญาต และถ้าซ้ำครั้งที่สามจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตด้านการบิน พร้อมกันนี้ได้แจ้งไปยังสายการบินต่างๆ ทั้งหมด ว่าต้องมีแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคในลักษณะแบบเดียวกัน ส่งให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ และต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน เสนอติดคำเตือน “ฟ้าทะลายโจร” ช่วยควบคุมมาตรฐานสร้างความตื่นตกใจให้กับผู้บริโภคไม่น้อย หลังจากที่ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เอกสารของอย. ซึ่งลงนามโดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ อย.ที่มีเนื้อหาขอให้เพิ่มข้อความ “คำเตือนของยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร” ที่ฉลากและเอกสารกำกับยา เนื่องจาก อย.ได้รับรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาฟ้าทะลายโจร อาจเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) แม้ว่าจะมีจำนวนรายงานไม่สูงมากนัก โดยคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาสำหรับมนุษย์ ได้ทบทวนข้อมูลความปลอดภัย ประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของยาฟ้าทะลายโจร เห็นควรกำหนดให้ยาฟ้าทะลายโจรต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา เช่น ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ในผู้มีประวัติแพ้ยา ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยาควรหยุดและพบแพทย์ทันที นพ.ไพศาล จึงต้องออกมาชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นการขอความคิดเห็นจากผู้รับอนุญาตผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเท่านั้น ประชาชนไม่ต้องตกใจหรือเกิดความกังวล ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หากมีรายงานพบผลข้างเคียง ตามขั้นตอนต้องมีการพิจารณามาตรการป้องกัน ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือการติดฉลากเตือนเหมือนยาแผนปัจจุบันทั่วไป ทั้งนี้ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ได้รับข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ หลังใช้ยาฟ้าทะลายโจร ว่าอาจมีอาการ เช่น ผื่น ปากบวม ตาบวม หน้าบวม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีตั้งแต่ปี 2544 แต่กลุ่มที่มีอาการข้างเคียงนั้นถือว่าน้อยมาก โดยจะพบได้ประมาณ 2 - 3 คนในหมื่นคน ภาคประชาชนร้องรัฐบาลต้องมี “กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค”คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 150 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านมติการประชุมหารือการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน เนื่องจากกระบวนการหารือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 2 ต.ค.58 ไม่มีผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภค องค์กรภาคประชาชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีเพียงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ยิ่ง ณ ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไทยยังคงถูกละเมิดสิทธิในหลายเรื่อง โดยที่หน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันยังดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ไม่ครอบคลุมทั่วถึง เครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศจึงร่วมกันแสดงพลังเพื่อขอให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีส่วนในการพิจรณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้ช่วยเร่งพลักดันและทำให้เกิดขึ้นกฎหมายฉบับนี้เป็นจริง ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญตลอด 19 ปีที่ผ่าน

อ่านเพิ่มเติม >