ฉบับที่ 242 วิธีบรรเทาอาการร้อนใน

        อาการร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นกันได้ทุกเพศวัย โดยอาการที่พบบ่อยคือ แผลในปาก (จุดขาวขอบแดงนูน) บริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม อาการร้อนใต้ลิ้นหรือในคอ ซึ่งเป็นอาการที่สร้างความรำคาญและรบกวนใจ ซึ่งสาเหตุแน่ชัดยังไม่สามารถระบุได้ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายใน ได้แก่ พักผ่อนน้อย เครียด แพ้อาหารหรือสารเคมี พันธุกรรม ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยจากภายนอก เช่น อากาศร้อน กินอาหารแสลง ดื่มน้ำไม่เพียงพอ         ร้อนในไม่ใช่อาการร้ายแรงมักหายเองได้ในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ เว้นแต่อาการลุกลามควรรีบพบแพทย์ แม้อาการร้อนในหายเองได้ แต่ก็มีวิธีบรรเทาอาการเพื่อให้ไม่รบกวนกายใจ ดังนี้         การดูแลทั่วไป        -        เลี่ยงอาหารรสจัด        -        การทำความสะอาดฟันควรระวังไมให้กระทบแผล        -        เลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่รสเผ็ดร้อน ควรใช้แบบอ่อน        -        การดื่มน้ำ อาจใช้หลอดดูดแทนการดื่มเพื่อไม่ให้น้ำโดนแผล        -        การบ้วนน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง        -        ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ          การใช้ยา        -        ยาที่ใช้บรรเทาอาการร้อนในมีทั้งชนิดป้ายและรับประทาน ทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาได้ หรือการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดต้านแบคทีเรีย          อาหารและเครื่องดื่มที่แนะนำเพื่อบรรเทาอาการร้อนใน         1.มะระขี้นก มีสรรพคุณแก้ร้อนใน อาจรับประทานในรูปแบบปั่นผลสด หรือใช้แบบผลิตภัณฑ์สกัดเย็นซึ่งรับประทานได้ง่าย        2.ใบบัวบก เครื่องดื่มน้ำใบบัวบก อย่างไรก็ตามใบบัวบกเป็นพืชที่พบว่ามีการใช้สารเคมีเกษตรสูง ควรเลือกแบบที่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือล้างให้สะอาด        3.รางจืด ดื่มน้ำต้มรางจืดหรือชารางจืด ช่วยแก้ร้อนในและช่วยถอนพิษเมาต่างๆ        4.เก๊กฮวย ช่วยแก้ร้อนในได้ แต่ไม่ควรชงหวาน และดื่มบ่อยเพราะมีฤทธิ์ขับลมและระบายอ่อนๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 รับมือกับแผลน้ำร้อนลวก

        โอกาสโดนน้ำร้อนลวกหรือน้ำมันร้อนกระเด็นใส่นั้น ทุกคนมีความเสี่ยงพบเจอได้ ยิ่งเป็นคนที่ชอบทำอาหารโดนกันประจำ การจะดูแลปฐมพยาบาลแผลน้ำร้อนลวกนั้น ต้องประเมินจากขนาดของแผลและบริเวณที่สัมผัสความร้อน เพื่อที่จะประเมินได้ว่า ต้องจัดการอย่างไร ที่แน่ๆ พอโดนลวกแล้วปวดแสบปวดร้อนจนสุดทน จนบางคนต้องหาของที่เอ่ยอ้างต่อๆ กันมากันว่าบรรเทาได้ อย่างยาสีฟัน น้ำปลา น้ำแข็ง มาทา ประคบ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผสมความเข้าใจผิด และอาจทำให้แผลยิ่งอักเสบจนกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ คราวนี้จึงจะนำวิธีการรับมือแบบถูกต้องมาฝากกัน ประเมินบาดแผลและการรักษา         1. แผลระดับแรก เป็นแผลกินบริเวณไม่กว้าง ความร้อนทำลายแค่ผิวหนังกำพร้าชั้นนอกเท่านั้น โดยแผลนั้นจะไม่มีตุ่มพองใส แต่จะแค่ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีแดงกว่าปกติ มีความรู้สึกว่าปวดแสบและร้อนแบบพอทนได้ ซึ่งจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้เมื่อหายปวด โดยทั่วไปแผลระดับแรกนี้จะหายไปในระยะเวลา 7 วัน วิธีการรักษา แค่ใช้น้ำอุณหภูมิปกติไหลผ่านแผล แล้วจึงใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบไว้สักครู่หนึ่ง อาการปวดก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือถ้าใครมีคูลฟีเวอร์ ( แปะหน้าผากลดไข้เด็ก ) ก็สามารถนำมาแปะที่แผลไว้ นอกจากนี้การใช้สมุนไพรบางตัว อย่าง ว่านหางจระเข้ ใบบัวบก หรือบัวหิมะ พอกทาที่แผล ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนได้ดี พออาการปวดดีขึ้นก็ให้ทายารักษาอาการ ยาทานั้นมีขายทั่วไปตามร้านขายยา สอบถามได้จากเภสัชกรในร้าน         2. แผลระดับสอง คือแผลที่โดนลึกขึ้น และกินบริเวณกว้างกว่าแผลในระดับแรก เข้าไปถึงชั้นหนังกำพร้า แล้วลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังหลงเหลือเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตมาทดแทนชั้นหนังที่ตายแล้วได้อยู่ แผลนั้นจะมี 2 แบบ คือทั้งแบบเป็นตุ่มพองมีน้ำใสๆ ข้างใน พอแกะน้ำออกมาผิวบริเวณนั้นจะมีสีชมพู และมีน้ำเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย แผลระดับนี้จะเริ่มมีอาการปวดแสบมากขึ้น เพราะเส้นประสาทถูกทำลายไปด้วย แต่ไม่เยอะมากนักและแผลจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะไม่เกิดแผลเป็น ส่วนอีกแบบนึงจะเป็นแผลที่ไม่มีตุ่มพองแผลจะแห้ง มีสีเหลืองขาวและไม่ค่อยปวด แต่จะทำให้เกิดแผลเป็นได้วิธีการรักษา ใช้วิธีการเดียวกับแผลระดับแรก เพียงแต่อาการแสบร้อนอาจมีมากกว่ากินระยะเวลาการรักษานานกว่า หากมีอาการตุ่มพองน้ำใส อย่าแกะหรือสะกิดให้น้ำออก น้ำด้านในจะค่อยๆ แห้งลงเอง แต่ถ้าแผลเปิดออก ต้องทายาเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อ และบางครั้งอาจต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ            3. แผลระดับสาม แผลลึก รุนแรงกินลึกลงไปถึง หนังแท้ รูขุมขน ต่อมเหงื่อ และเซลล์ประสาทจนหมด ซึ่งแผลระดับนี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะอาจกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก แต่จะไม่มีอาการปวดจากแผล เพราะเซลล์ประสาทโดนทำลายไปทั้งหมด ทำให้ไม่รับรู้ถึงอาการปวด ระดับนี้รักษาเองไม่ได้ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น สมุนไพร ที่ช่วยในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บรรเทาอาการแสบร้อน        1. ว่านหางจระเข้ วุ้นของว่านหางจระเข้นั้นมีสาร ไกลโคโปรตีน มีสรรพคุณในการลดการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อในแผลและห้ามเลือด เหมาะกับการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้เป็นอย่างดี วิธีการใช้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ ทั้งแบบครีมและเจลเพื่อให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือถ้าไม่อยากซื้อใช้ ก็แค่เพียงนำว่านหางจระเข้สดๆ ล้างน้ำเอายางออกปอกเปลือกให้หมด แล้วจึงขูดเอาเนื้อวุ้นมาปิดที่บริเวณแผล ระยะแรกอาจต้องเปลี่ยนบ่อยเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนจนอาการดีขึ้น จากนั้นพอกทาวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น จนกว่าแผลจะหาย         2. ใบบัวบก มีสรรพคุณในรักษาแผลอักเสบ และสมานแผลทำให้แผลหายเร็ว ลดอาการปวดแสบร้อนได้ดีเช่นกัน วิธีการใช้ ให้นำใบบัวบกสดล้างให้สะอาด แล้วนำไปตำจนละเอียด กรองเอาน้ำแต่ติดกากใบมาด้วยเล็กน้อย แล้วเอามาชโลมที่แผลเรื่อยๆ จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น หรือใช้ครีมบัวบกซึ่งพัฒนาเป็นยาเพื่อใช้บรรเทาอาการแสบร้อนและสมานแผลน้ำร้อนลวก         3. นมสด หรือโยเกิร์ตแช่เย็น ทั้ง 2 อย่างนี้ มีปริมาณไขมันและโปรตีน ที่ช่วยในการสมานแผล และลดอาการปวดแสบร้อนได้ดี วิธีการใช้ แช่แผลลงในนมสดหรือโยเกิร์ต ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก วิธีนี้นอกจากจะลดอาการปวดได้แล้ว ยังทำให้ไม่เป็นแผลเป็นอีกด้วย         4. เกลือ มีสรรพคุณในการสมานแผล และลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ดี อย่างไม่น่าเชื่อ วิธีการใช้ เมื่อเกิดแผลให้รีบนำเกลือป่นมาพอกไว้ที่บริเวณแผล  แล้วหยดน้ำลงไปเล็กน้อย จะทำให้แผลที่ปวดแสบปวดร้อนดีขึ้น        5. บัวหิมะ สมุนไพรจากจีนที่ค่อนข้างหาซื้อยาก แต่มีสรรพคุณแก้พิษจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการอักเสบปวดแสบร้อนอย่างรุนแรงได้ดี เพราะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น แล้วยังทำให้ผิวบริเวณที่โดนลวกหรือไหม้นั้นไม่เป็นแผลเป็นอีกด้วย วิธีการใช้ ปัจจุบันมีการนำมาทำในรูปแบบของ ผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อใช้ได้ง่ายขึ้น แต่อาจมีราคาที่ค่อนข้างสูง บรรเทาอาการและช่วยสมานแผล 1. น้ำส้มสายชู ด้วยกรดอะซีตริกที่อยู่ในน้ำส้ม ช่วยบรรเทาอาการ อักเสบ ปวด และการคันจากการโดนของร้อน และการเผาไหม้ นอกจากนี้ยังช่วยฆ่าเชื้อและป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้ออีกด้วย วิธีการใช้ ล้างแผลให้สะอาด แล้วใช้สำลีจุ่มลงไปในน้ำส้มสายชู บีบน้ำออกเล็กน้อยแล้วนำมาวางโปะไว้บนแผลสักครู่ รอจนแผลหายปวดแล้วจึงเอาออก สามารถทำได้ทุกวันจนกว่าแผลจะหาย2. น้ำมันมะพร้าว สามารถป้องกันแผลจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่มาของการอักเสบ และเกิดรอยแผลเป็นได้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอีและกรดไขมัน เหมาะสำหรับแผลที่หายแล้ว วิธีการใช้ นำน้ำมันมะพร้าวมาชโลม แล้วนวดตรงบริเวณที่เป็นแผลเป็น จนผิวและแผลบริเวณนนั้นนุ่มและอ่อนลง สามารถทาได้ทุกวัน 3. น้ำผึ้งจากธรรมชาติ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและลดอาการเจ็บปวดของแผลได้เป็นอย่างดี วิธีการใช้ ล้างแผลให้สะอาดแล้วนำน้ำผึ้งมาหยด จากนั้นนวดตรงบริเวณแผล สามารถทำได้เรื่อยๆ จนกว่าแผลจะหายปวด ข้อมูลจาก  https://www.honestdocs.co/burn-wound-treatment

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ล้างแผลถูกวิธี แผลดีไม่มีปัญหา

        หลายวันก่อนพบว่าในกลุ่มเพื่อนยังมีบางคนเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องการล้างแผล ถกกันเรื่องการใช้แอลกอฮอล์กับการใช้น้ำเกลือ ว่าอย่างไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน สวยอย่างฉลาด คราวนี้จึงขอนำเรื่องการล้างแผลที่ถูกวิธีมาเสนออีกครั้ง เพราะถ้าเราทำความสะอาดแผลได้ดี แผลก็จะไม่ติดเชื้อลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไปเข้าใจเรื่องแผล        นิยามของ บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้นชนิดของแผลแบ่งตามสาเหตุ เป็น 2 กลุ่มดังนี้        1. แผลเฉียบพลันหรือแผลสด คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตามกระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม        2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือนแผลหายเร็วหรือสมานตัวได้อย่างไร        การสมานตัวหรือการติดประสานของเนื้อเยื่อที่บาดแผล ร่างกายของเราจะเป็นผู้จัดการตัวเอง ทั้งการห้ามเลือดให้หยุด ส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค และเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเพื่อทำให้เกิดการสมานตัวโดยมีสารโปรตีนเป็นตัวการสำคัญ        การทำความสะอาดแผลจึงเป็นการช่วยเหลือจากภายนอก คือช่วยทำให้แผลสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ลงเพื่อให้ร่างกายทำงานซ่อมแซมบาดแผลได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดแผล        1.ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่เรียกว่า Normal saline ซึ่งเป็นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยความเข้มข้นของน้ำเกลือชนิดนี้ จะมีความสมดุลกับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงไม่ทำให้รู้สึกแสบ ใช้ล้างตรงๆ บริเวณบาดแผลได้เลย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด รบกวนการสมานตัวของแผลน้อยที่สุด แต่เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้วจะมีอายุการใช้งานได้อีก 30 วัน หากเกินนั้นไปแล้วไม่ควรใช้         2.ถ้าไม่มีน้ำเกลือสามารถล้างแผลด้วยน้ำประปากับสบู่ได้ แต่น้ำประปามีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงอาจทำให้รู้สึกแสบแผลเล็กน้อย และรบกวนการสมานแผลของร่างกาย แต่ช่วยให้แผลสะอาดได้ไม่แพ้น้ำเกลือ        3.การใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมาตลอดคือ การนำแอลกอฮอล์ราดหรือเช็ดไปที่แผลโดยตรง ถือว่าผิดวิธีเพราะแอลกอฮอล์เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผลก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยาเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรครอบปากแผลจะเข้าสู่แผลได้ หากเช็ดแอลกอฮอล์ไปที่แผลตรงๆ แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย แสบร้อนแผล และทำให้แผลหายช้า         4.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายคนชอบใช้ล้างแผล ซึ่งผิด เพราะไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อและรบกวนการสมานแผลของร่างกายไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ จึงควรใช้เช็ดรอบปากแผลเท่านั้น        5.เมื่อทำความสะอาดแผลแล้ว ระยะแรกควรปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และอย่าให้แผลโดนน้ำ แต่ไม่ควรปิดแผลจนแน่นเกินไป ควรให้แผลได้ถูกอากาศบ้าง เพื่อป้องกันแผลอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคบูมขึ้นได้        การใช้ยาใส่แผลจำพวก ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ ก็สามารถทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายหรือขัดขวางเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ        อย่างไรก็ดี สำหรับแผลที่ค่อนข้างลึก ใหญ่ และรุนแรง หรือเป็นแผลบริเวณใกล้ดวงตา แผลที่ศีรษะ แผลเปิดกว้าง แผลเกิดจากของขึ้นสนิม หรือโดนสัตว์กัด เลือดไหลไม่หยุดยาวนานประมาณ 5-10 นาที ให้ไปพบแพทย์เพื่อจัดการดูแลแผลอย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 แผลจากแมลงกัด

หลายคนเลยนะคะที่ต้องมีแผลเป็นที่เกิดจากการแพ้พิษของแมลงต่างๆ เห็นตัวเล็กแบบนั้น หลายชนิดมีพิษมากขนาดทำให้แพ้จนร่างกายแย่ไปเลยก็มี ซึ่งจะพบได้ไม่บ่อยเพราะเขาก็กลัวๆ คนเหมือนกัน อย่างผึ้งต่อ แตน ส่วนที่พบว่าโดนกัดบ่อย แต่พิษน้อยจะเป็นแมลงที่เราเจอกันเป็นปกติ อย่าง มด ยุง หรือ เห็บ หมัด ที่อาศัยอยู่กับสัตว์เลี้ยงจนไปถึงพวกตัวเล็กๆ มองแทบไม่เห็นอย่างไร ไรฝุ่น ซึ่งฝังตัวกับที่นอนของเรา และที่ช่วงหลังๆ หน้าฝนพบเจอกันบ่อย คือ แมลงก้นกระดก ที่พิษของมันทำให้แสบร้อนจนเกิดแผลพุพองได้ แต่ถึงแม้จะพิษน้อย หากเราดูแลรักษาแผลได้ไม่ดี หรือบางคนที่มีอาการแพ้มากๆ โอกาสที่ผิวของเราจะเกิดบาดแผลแข้ง ขาลาย ทำให้หมดสวยก็เกิดขึ้นได้ วิธีดูแลแผลจากแมลงกัดต่อยส่วนแรก ขอกล่าวถึงเฉพาะอาการเล็กน้อยลักษณะเป็นตุ่มคัน ที่เกิดจากแมลงทั่วไปที่ไม่ทำให้เกิดรอยชัดเจน ที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างแมลงก้นกระดก ที่รอยแผลจะคล้ายการถูกสารเคมีแบบกรดด่าง คือมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย  1.ทำความสะอาดแผลด้วยการล้างน้ำสบู่ อาจทาครีม หรือขี้ผึ้งที่ระบุคุณสมบัติ แก้พิษแมลงกัดต่อย2.พยายามอย่าเกาอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นแผลอักเสบ จากการติดเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรอยดำตามมา หลังการอักเสบหายแล้ว3.หากเกิดอาการคันมาก อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคันจากการแพ้ โดยใช้สเตียรอยด์* ความเข้มข้นปานกลางเช่น 0.1% Triamcinolone ทาที่ตุ่มคันเช้าเย็นไม่เกินสองสัปดาห์ หรือ รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อลดอาการคัน4.หากเกิดรอยดำหลังแผลหาย สามารถใช้ครีมทาผิวชนิดช่วยให้ผิวขาว(Skin whitening) ทา เพื่อให้รอยดำจางลงได้5.แผลที่ติดเชื้อหากมีอาการลุกลามรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แนะนำให้พบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง *ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์มีข้อควรระวัง คืออาจจะทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคของผิวหนังลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนที่สอง เนื่องจากระยะหลังพบปรากฏการณ์ มีคนถูกพิษของแมลงก้นกระดกกันได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน จึงขอนำวิธีการดูแลแผลจากแมลงดังกล่าวมานำเสนอด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน หรือแมลงน้ำกรด หรือแมลงเฟรชชี่ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีลักษณะเด่น คือ ก้นกระดกหรืองอนขึ้น ทำให้เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก หรือด้วงก้นงอน เมื่อโดนกัด แมลงจะปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้ โดยจะเกิดขึ้นหลังโดนกัดภายใน 12-36 ชั่วโมง เมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดกใหม่ๆ จะมีแผลเหมือนรอยไหม้เป็นแนวเส้นยาว ร่วมกับอาการคันและแสบร้อน หากแพ้มากอาจเป็นตุ่มน้ำใส ดูคล้ายผื่นโรคงูสวัดได้ ผื่นที่เกิดขึ้นจะแห้ง ตกสะเก็ดหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน การดูแลมีดังนี้ หากเพิ่งโดนแมลงกัดใหม่ๆ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งทันที เพื่อเจือจางสาร Pederin หากเห็นเป็นผื่นเกิดขึ้นแล้ว และมีอาการแสบร้อน ให้ใช้การประคบเย็นที่ผื่น และใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ความเข้มข้น 0.1% mometasone furoate cream หรือ 0.05% clobetasol propionate cream โดยทายาวันละ 1 - 2 ครั้ง ถ้าโดนบริเวณหน้า ต้องระวังไม่ให้เข้าดวงตาด้วย หากมีอาการคันมาก ควรรับประทานยาแก้แพ้ และห้าม แกะและเกาผื่น หากทนไม่ไหวรู้สึกว่า อาการเริ่มลุกลามควรรีบพบแพทย์ โดยทั่วไป ตุ่มแพ้แมลงกัด มักดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนรอยดำหลังการอักเสบจะค่อยๆ จางลงในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดรอยแผลและสภาพผิวของแต่ละคน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 รู้เท่าทันการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปา

เมื่อร่างกายเกิดแผลขึ้น  ความเชื่อที่ถูกสอนกันมาอย่างต่อเนื่องและสอนกันผิดๆ ก็คือ เราต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโดยเฉพาะทิงเจอร์ไอโอดีนเทลงบนแผลหรือทาที่แผลสดเลยเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค  ความจริงแล้วเราสามารถใช้น้ำประเภทต่างๆ มาทำความสะอาดแผลได้  โดยไม่ต้องหรือที่ถูกก็คือห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทาที่แผล  น้ำที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ น้ำเกลือธรรมดา(น้ำเกลือธรรมดาที่มีความเข้มข้นร้อยละ 0.9 ซึ่งเท่ากับกับความเข้มข้นของเกลือในกระแสเลือดของคนปกติ)  เหตุที่ทางการแพทย์นิยมใช้น้ำเกลือธรรมดาเพราะว่ามีเข้มข้นของเกลือเท่ากับเลือดและไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการเยียวยาของแผลตามปกติ  อย่างไรก็ตาม น้ำเกลือมีจำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาและใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น  เราสามารถใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลแทนน้ำเกลือได้หรือไม่?  และมีผลในการหายของแผลได้เหมือนน้ำเกลือธรรมดาหรือไม่?  ถ้าได้จะเป็นการประหยัดและสะดวกอย่างมาก  เราลองมารู้เท่าทันการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปากันเถอะ    ห้องสมุดคอเครน  ได้ทำการทบทวนข้อมูลและการศึกษาวิจัยจากงานการทบทวนของคอเครนเอง และงานวิจัยของ MEDLINE, EMBASE และ EBSCO CINAHL โดยได้ทำการคัดกรองการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่เปรียบเทียบการใช้น้ำกับสารอื่นๆ ในการทำความสะอาดแผล  การรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลใช้นักวิชาการสองท่านทำงานแยกจากกัน    ผลการทบทวนงานการศึกษาทดลอง 11 การศึกษา พบว่า  การใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลในผู้ใหญ่และเด็กไม่มีผลต่อการติดเชื้อที่แผลอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำเกลือ  และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการติดเชื้อที่แผลระหว่างการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปากับการไม่ทำความสะอาดแผลด้วยวิธีการใดๆ  ในแผลเรื้อรังก็ไม่พบมีความแตกต่างของการติดเชื้อเช่นเดียวกัน  การใช้น้ำเกลือธรรมดา น้ำกลั่น และน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในการทำความสะอาดแผลกระดูกหักแบบเปิดก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการติดเชื้อที่กระดูก     ผลการทบทวนสรุปว่า  ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลสดในผู้ใหญ่หรือเด็กจะเพิ่มหรือลดการติดเชื้อ  ยังไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอว่า การล้างแผลนั้นช่วยให้การหายของแผลเร็วขึ้นหรือลดการติดเชื้อ  ในกรณีที่ไม่มีน้ำประปา อาจใช้น้ำที่ต้มสุกและเย็นแล้ว เช่นเดียวกับน้ำกลั่นในการทำความสะอาดแผลได้    ท่านผู้อ่านคงสบายใจได้แล้วนะครับว่า  ถ้ามีแผลสด แผลเรื้อรัง  เราสามารถใช้น้ำประปา (ที่สะอาดและดื่มได้) หรือน้ำดื่มที่มีตราของอย. มาทำความสะอาดแผลได้โดยไม่ต้องวิ่งหาซื้อน้ำเกลือธรรมดา  โรงเรียนในชนบทก็ไม่ต้องซื้อน้ำเกลือธรรมดามาเก็บตุนไว้เพื่อรอทำแผลเด็กนักเรียน  ใช้น้ำเปล่าบรรจุขวดที่มีตราอย.แทนได้เลย ที่สำคัญเลิกใช้ยาฆ่าเชื้อทาที่แผลสดโดยตรง  อย่างมากก็ทารอบๆ แผลก็พอหมายเหตุ:  ศึกษาเพิ่มเติมใน  Water for wound cleansing  โดย  Ritin Fernandez, Rhonda Griffiths ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 รอยแผลเป็น

เมื่อมีบาดแผลหรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อของผิวหนัง ร่างกายจะเริ่มกระบวนการสมานแผลหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเนื้อเยื่อที่ฉีกขาด ซึ่งผลที่ออกมาจะไม่เรียบเนียนเหมือนเก่า แต่อาจทิ้งรอยนูนหรือหลุมไว้เป็นหลักฐานที่ผิว ที่เรียกว่า แผลเป็น แผลเป็นจะหนักเบาขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ ความรุนแรงของบาดแผล ถ้าเป็นแผลเล็กๆ น้อยๆ แค่ระดับผิวชั้นหนังกำพร้าเมื่อแผลหาย อาจไม่เหลือรอยแผลเลย แต่ถ้าแผลลงลึกไปถึงชั้นหนังแท้หรือกล้ามเนื้อ กระดูก ร่องรอยของแผลเป็นก็จะยิ่งชัดเจน ซึ่งถ้าเกิดในบริเวณนอกร่มผ้าจะสร้างความกังวลให้กับคนที่รักสวยรักงามเป็นพิเศษ ชนิดของแผลเป็นรอยแผลเป็นมีมากมายหลายชนิด แต่ที่เป็นปัญหาหลักๆ จะมี 2 ชนิดใหญ่ ดังนี้1.รอยแผลเป็นนูนหนา (Hypertrophic scar) คือ แผลเป็นที่มีสีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังปกติ แต่ ไม่กินวงกว้างไปจากรอยแผลเดิม ส่วนที่นูนขึ้นมาเกิดจากการสร้างคอลลาเจนมากเกินไปของร่างกาย   2.คีลอยด์ (Keloid) คือ แผลเป็นที่มีอาการนูนและแดงคล้ายกับรอยแผลเป็นนูนหนา แต่มีความ ผิดปกติทำให้เกิดการขยายตัวกว้างขึ้นเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบๆ รอยโรคของแผลตอนแรกเริ่ม การรักษารอยแผลเป็นในท้องตลาดมีสารพัดครีม สารพัดยา ออกมาวางขายกันมากมาย ก็มีทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผล แต่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับมีดังต่อไปนี้ 1.แผ่นเจลซิลิโคน (silicone gel sheet) เป็นแผ่นซิลิโคนใสที่เหมาะสำหรับแผลเป็นที่มีสีแดงหรือสีคล้ำหรือนูน เคยมีรายงานการใช้แผ่นเจลซิลิโคนรักษาแผลแล้วพบว่า จะช่วยให้สีของแผลจางลงและแผลแบนราบลงได้ 2. การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Intra lesional corticosteroid) การฉีดยาสเตียรอยด์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง ซึ่งจะฉีดยาสเตียรอยด์นี้เข้าใต้ตำแหน่งของแผลเป็น จะช่วยให้แผลเป็นนั้นนุ่มลงและแบนราบลงได้ หรืออาจเป็นการใช้ยาทาสเตียรอยด์ทาบริเวณแผลเป็น จะช่วยบรรเทาอาการคัน ตึง ปวด เพื่อไม่ให้ลุกลามขึ้น แต่ไม่ช่วยให้แผลเป็นหรือคีลอยด์ยุบลงได้ 3. การผ่าตัด การผ่าตัดจะช่วยจัดตำแหน่งร่องรอยแผลเป็นให้ดูดีขึ้นได้ แต่ทุกครั้งที่มีการผ่าตัดก็จะเกิดแผลเป็นใหม่แทนที่แผลเป็นเก่าเสมอ การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ได้ผลดีพอสมควร แต่ยังขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็นด้วย 4.การใช้สารเคมีในการรักษา ตัวอย่างสารที่นำมาใช้ในการรักษาแผลเป็น มีดังนี้ : วิตามิน ได้แก่ วิตามินเอ หรือ retinoic acid นิยมใช้สำหรับแผลเป็นชนิดที่เป็นหลุม โดยไปกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ และทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าหนาตัวขึ้น จะให้ผลดีกับแผลเป็นชนิดตื้นๆ และค่อนข้างใหม่ วิตามินอี มีรายงานกล่าวอ้างว่า วิตามินอี ช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งแพทย์บางคนแนะนำให้ใช้ แต่ก็มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบขี้ผึ้งวิตามินอีกับยาหลอกแล้วพบว่า ขี้ผึ้งวิตามินอีไม่ช่วยให้แผลเป็นดีขึ้นแตกต่างจากยาหลอก อีกทั้งมีรายงานการเกิดผื่นแพ้สัมผัสจากขี้ผึ้งวิตามินอีด้วย สารที่มีฤทธิ์ลอกผิว (chemical peeling) สารที่ใช้ในการลอกผิวมีหลายชนิดและมีการพัฒนาตามลำดับ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ตัวอย่างของสารเคมีที่นิยมใช้ ได้แก่ sulfur, resorcinol, alpha hydroxy acid 30-70%, betahydroxy acid 10-30%, trichloracetic acid 20-90% และ phenol peel เป็นต้น สารแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยแตกต่างกัน สารที่มีความเข้มข้นต่ำทำให้มีการลอกผิวในชั้นตื้นๆ ส่วนสารที่มีความเข้มข้นสูงหรือ phenol ทำให้มีการลอกผิวในชั้นลึก ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีกว่า แต่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น จึงควรใช้โดยผู้มีประสบการณ์เท่านั้น   สารสกัดจากสมุนไพร มีการค้นหาสมุนไพรสำหรับรักษาแผลเป็น ซึ่งที่กำลังแรงในปัจจุบันคือ บัวบก (Centella asiatica (Linn.) Urban) และ หอมหัวใหญ่ (Allium ascalonicum Linn.) โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์รักษาแผลเป็นในบัวบก คือ asiaticoside, asiatic aicd และ madecassic acids  สารสำคัญเหล่านี้จะช่วยกันออกฤทธิ์ในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและ glycoaminoglycan ซึ่งมีผลต่อการสร้างเนื้อเยื่อ  นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งกระบวนการการเกิดแผลเป็นชนิดนูนด้วย ส่วนสารสำคัญที่ออกฤทธิ์รักษาแผลเป็นในหอมหัวใหญ่คือ quercetin ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ยับยั้ง proliferation ของไฟโบรบลาสและยับยั้งการสร้างคอลลาเจนด้วย สามารถยับยั้งกระบวนการการเกิดแผลเป็นชนิดนูนด้วยเช่นกัน ------------------------------------------------------------------------------------------------- ปล่อยให้แผลเป็นจางลงเองตามธรรมชาติ ร่างกายคนเราเยี่ยมที่สุดแล้ว แผลเป็นเล็กๆ น้อยๆ ใช้เวลาไม่นานลืมๆ ไปบ้าง แผลก็จะดูจางลงไปเอง ดังนั้นเวลาคุณไปขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้ชำนาญการหรือศัลยแพทย์ตกแต่ง หลายท่านจะแนะนำให้ทิ้งรอยแผลนั้นไว้เฉยๆ เสียก่อนเป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จนแผลเป็นเดิมๆ ที่มีอยู่ ค่อยๆ จางลงไปเรื่อยๆ จนเต็มที่ ถ้าร่องรอยยังบาดใจ ก็ค่อยมาให้การรักษา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 หน้าเป็นแผล เพราะเลเซอร์

แม้ปัจจุบันสถานบริการความงามต่างๆ จะมีบริการกำจัดไฝหรือขี้แมลงวันด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมักโฆษณาว่าเป็นวิธีที่สะดวก เห็นผลชัดเจนและราคาไม่สูงมากนัก แต่เราสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้จริงหรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอตกลงใช้บริการเลเซอร์ลบขี้แมลงวันบนใบหน้า ที่คลินิกแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำโดยคิดราคาเป็นคอร์สละ 16,500 บาท อย่างไรก็ตามระหว่างที่กำลังใช้บริการ เธอได้ยินพนักงานคุยกันว่า “เลเซอร์เครื่องนี้ไม่ดีเลย ไม่ยอมโฟกัสจุดบนผิวหน้า” ซึ่งเธอก็คิดว่าพนักงานจะหยุดใช้เครื่องดังกล่าว แต่เธอคิดผิด เพราะพนักงานยังคงใช้เครื่องเลเซอร์นั้นบริการเธอต่อไป ซึ่งภายหลังการยิงเลเซอร์ เธอก็รู้สึกร้อนผ่าวไปทั่วหน้า และพบว่ามีรอยแผลเป็นจุดแดงๆ ที่ทราบภายหลังว่า ไม่สามารถหายเองได้ เธอจึงร้องเรียนไปยังคลินิก เพื่อให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กลับได้รับคำตอบว่าให้มารักษากับทางคลินิก ซึ่งเธอไม่ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของคลินิกดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้นเธอจึงไปรักษาต่อที่สถาบันด้านผิวหนังด้วยตนเอง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังต้องเลื่อนงานแต่งงานของตัวเองออกไปอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากการเข้ารับบริการเลเซอร์ขี้แมลงวันบนใบหน้า ซึ่งถือเป็นความประมาทเลินเล่อของแพทย์จากคลินิกดังกล่าว โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาแผลบนใบหน้า ที่เกิดจากความผิดพลาดในการรักษาอีกด้วย ศูนย์ฯ จึงส่งหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา โดยผู้ร้องได้เสนอให้ทางคลินิกช่วยเยียวยาความเสียหาย ซึ่งภายหลังคลินิกก็ยินยอมช่วยเหลือผู้ร้อง ด้วยการคืนเงินค่าคอร์ส พร้อมชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ค่าเสียเวลา และค่าทำขวัญ รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และยุติการร้องเรียนไป  

อ่านเพิ่มเติม >