ฉบับที่ 256 แค่มันทอด จะอะไรกันนักกันหนา

        สารปนเปื้อนในอาหารนั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่อาหารดิบไปจนถึงอาหารปรุงสุกและ/หรือแปรรูป ประเด็นที่น่าวิตกนี้ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง Fried potato chips and French fries-Are they safe to eat? ในวารสาร Nutrition ของปี 2011 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า ปริมาณอะคริลาไมด์ (acrylamide) ในมันฝรั่งทอดเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลเมื่ออุณหภูมิในการทอดเพิ่ม สารอะคริลาไมด์นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการซึ่งรวมถึงความเป็นพิษต่อระบบประสาท ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมรวมถึงการก่อมะเร็ง         ในทางอุตสาหกรรมอะคริลาไมด์ผลิตได้จากการสังเคราะห์และถูกใช้ในการผลิตโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทำเรซินของไส้กรองเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่ม ดังนั้นมนุษย์จึงมีโอกาสได้รับอะคริลาไมด์บ้างไม่มากก็น้อย         ผู้บริโภคได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น Wikipedia ให้ข้อมูลว่า ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังได้พบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว และถั่วลิสงคั่ว และพบเป็นองค์ประกอบในควันบุหรี่ด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารพิษนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม เมื่อผู้บริโภคมีอวัยวะภายในเช่น ตับและไต ไม่แข็งแรง         ประเด็นที่เริ่มน่ากังวลคือ อะคริลาไมด์ถูกวิเคราะห์พบเป็นสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับทารกและเด็ก บทความเรื่อง Toxicity of acrylamide and evaluation of its exposure in baby foods ในวารสาร Nutrition Research Reviews ของปี 2010 คาดว่า ทารกและเด็กได้รับสารพิษนี้จากการบริโภคที่มากกว่าผู้ใหญ่สองถึงสามเท่าเมื่อคำนึงถึงน้ำหนักตัว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ความเป็นพิษของอะคริลาไมด์น่าจะสูงขึ้นในเด็ก และเนื่องจากทุกวันนี้การสัมผัสกับอะคริลาไมด์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปกป้องทารกและเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต้องการประชากรวัยทำงานในอนาคตที่มีคุณภาพดี         นอกจากอะคริลาไมด์เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สารพิษนี้เป็นสารก่อลูกวิรูป (Teratogen) ที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของทารกในครรภ์เมื่อแม่สัมผัสกับสารพิษนี้จากอาหาร งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ตัวอ่อนในท้องมีการเจริญเติบโตลดลงซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้านอาหารที่แม่กิน ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Importance of growth for health and development ซึ่งอยู่ในหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยของการประชุม 65th Nestlé Nutrition Institute Workshop, Pediatric Program, Kuala Lumpur, March 2009 หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Karger, Basel ในปี 2010 ซึ่งได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่า จำนวนการเกิดลูกวิรูปในสังคมมนุษย์เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมของทารกในครรภ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ ในอาหารของแม่ที่ส่งผลถึงสมองที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์และหลังคลอด         ปรกติแล้วอันตรายต่อสมองและระบบประสาทของทารกในท้องแม่มักเกิดจากสารพิษที่มีอยู่ในอาหาร ยา หรือการติดเชื้อโรค และในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า อันตรายต่อสมองและระบบประสาทยังคงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดความบกพร่องต่อการพัฒนาการของระบบประสาทส่งผลให้เด็กมีการรับรู้ล่าช้าและความพิการตลอดชีวิต ส่งผลต่อการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทักษะการปรับตัวของกล้ามเนื้อในภาพรวม ระบบการคิดรับรู้ของสมอง การใช้ภาษา การใช้เหตุผลและความจำ การมีสมาธิ และความสนใจในสิ่งรอบตัว         บทความเรื่อง Structural and ultrastructural evidence of neurotoxic effects of fried potato chips on rat postnatal development ในวารสาร Nutrition ของปี 2011ให้ประเด็นที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นการนำเสนอหลักฐานการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบประสาทของมันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์ในระหว่างการพัฒนาของทารกก่อนคลอดและหลังคลอด งานวิจัยนี้ระบุว่า การที่แม่หนูกินมันฝรั่งทอดซึ่งมีอะคริลาไมด์ทำให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (cerebellum) และพัฒนาการที่ด้อยลงของกล้ามเนื้อน่องของลูกหนูหลังคลอด ในการศึกษานี้หนูทดลองได้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตที่ช้าและน้ำหนักร่างกายและสมองต่ำกว่าควรนั้นเกิดจากการให้แม่หนูกินอาหารที่มีอะคริลาไมด์ผสมอยู่ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การบริโภคอะคริลาไมด์เช่นที่มีในมันฝรั่งทอดเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์น่าจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในท้องตลอดจนในเด็กปฐมวัย ซึ่งรวมถึงอันตรายต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ข้อมูลในบทความเรื่อง Acrylamide: increased concentration in homemade food and first evidence of its variable absorption from food, variable metabolism and placental and breast milk transfer in humans ในวารสาร Chemotherapy ของปี 2002 ได้กล่าวถึงผลในทำนองเดียวกันที่เป็นหลักฐานสำหรับผลกระทบที่เป็นอันตรายเนื่องจากการบริโภคอาหารทอดที่มีปริมาณอะคริลาไมด์เพิ่มขึ้น         ดังนั้นการได้รับอะคริลาไมด์ในอาหารจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและสำคัญสำหรับนักวิจัยด้านสุขภาพที่สนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กก่อนคลอดและหลังคลอด จากการศึกษาต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า อะคริลาไมด์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์แป้งทอดหรือผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบนั้นอาจมีผลต่อระบบประสาทของประชากร เพราะปัจจุบันการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์นั้นเป็นแหล่งอาหารแป้งอันดับต้นๆ ในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา พฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดใหม่ต่ำลง         งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวประมาณว่า อะคริลาไมด์สามารถทำให้เกิดการตายของเซลล์ต้นกำเนิดของระบบประสาทและส่งผลต่อการสร้างเซลล์ประสาทของฮิบโปแคมปัส ตัวอย่างเช่นในบทความเรื่อง Acrylamide induces cell death in neuronal progenitor cells and impairs hippocampal neurogenesis. ในวารสาร Toxicology Letter ของปี 2010 ซึ่งกล่าวถึงแนวโน้มว่า อะคริลาไมด์อาจมีผลเสียต่อการซ่อมแซมตัวเองของสมอง การที่สมองสามารถฟื้นตัวและปรับโครงสร้างตัวเองได้หลังจากอาการบาดเจ็บหรือการเสื่อมสภาพของเซลล์และการฟื้นตัวในการทำงานของเซลล์สมอง ประเด็นที่กล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การป้องกันและป้องกันระบบประสาทอย่างมีเหตุผล เพื่อลดปัญหาของการพัฒนาสมองต่ำกว่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้การทำงานและแสดงผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีในประชากร         จากหลักฐานดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ความกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น มันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภค ผู้ผลิตอาหาร และผู้ที่ทำงานดูแลความปลอดภัยในการกินอาหาร ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการกินให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคทั่วไปควรรู้ว่า อาหารปรุงเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความร้อนอย่างไม่เหมาะสมอาจเต็มไปด้วยสารพิษจากการปรุงอาหารเช่น อะคริลาไมด์         ผู้เขียนเข้าใจว่า ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้หรือสนใจรู้ในปัญหาของการสัมผัสและผลกระทบต่อระบบประสาทของอะคริลาไมด์ในอาหาร ข้อมูลงานวิจัยใหม่ในปัจจุบันนั้นแนะนำว่า ควรตรวจสอบอาหารสำหรับทารกและอาหารทอดทางอุตสาหกรรมเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดควรดำเนินการเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งควรมีการตรวจหาสารปนเปื้อนที่สามารถเกิดได้ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่ได้รับความนิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน หารับประทานได้ไม่ยากมีตั้งแต่ราคาพอเหมาะจ่ายได้ไม่แพงจนถึงราคาแพงหรูหรา อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทนี้จะมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการถนอมอาหารและให้สีสันที่สวยงาม ดังนั้นหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่ถูกต้อง ใช้ตัวที่ห้ามใช้หรือใช้เกินมาตรฐาน ก็จะได้ยินข่าวตามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อ่อนไหวง่ายอย่างเด็กๆ         เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน (methemoglobinemia) จำนวน 14 รายใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกิน "ไส้กรอก" ซึ่งจากการสืบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า เป็นไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ “ฤทธิ์” ฮอทดอก รมควัน และฟุตลองไก่รมควัน ไม่ระบุยี่ห้อ  พบว่ามีปริมาณไนไตรท์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง  35-48 เท่า ทำให้ อย.ขยายผลต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ต่อมามีรายงานข่าวว่า อย.จับกุม 2 โรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ. 65 แต่กว่า อย.จะแถลงว่าพบสินค้าไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานยี่ห้อใดบ้าง ก็ผ่านเวลาไปหลายวัน (แถลงผลวันที่ 13 ก.พ.) ซึ่งในช่องว่างของระยะเวลาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่ออกจากโรงงานไปนั้นประเทศไทยไม่มีระบบการเรียกคืน และระบบการกระจายสินค้าของโรงงานไม่สามารถบอกได้ว่าส่งขายไปที่ไหนบ้าง ผู้บริโภคจึงยังคงเสี่ยงภัยกับสินค้าจากโรงงานดังกล่าว           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางจึงลงพื้นที่และทำงานร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกจำนวน 17 ตัวอย่างภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลาดวังน้อย เมืองใหม่, ตลาดเจ้าพรหม, ห้ามแมคโคร อยุธยา, ร้านซีพีเฟรชมาร์ท สาขาอยุธยา เดชาวุธ เมื่อวันที่  24  กุมภาพันธ์ 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ สรุปผลทดสอบ1.พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 20.67 – 112.61 มก./กก. ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น) 2.พบสารซอร์บิก ปริมาณเกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 2191.75 มก./กก. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์3.พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Kfm ไส้กรอกไก่รมควันหนังกรอบ ป๊อบปูล่า ปริมาณ 148.28 มก./กก. , ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 58.87 มก./กก. และ CFP ไส้กรอกจัมโบ้หมูรมควันหนังกรอบ ปริมาณ 41.05 มก./กก.  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid)4.พบสารไนไตรท์ใน 12 ตัวอย่าง ไม่พบ 5 ตย. ทั้งนี้ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (<10.00 – 53.74 มก./กก.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก. ข้อสังเกตจากผลการทดสอบพบว่า        1.มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบทั้งซอร์บิก เบนโซอิก และไนเตรท ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ (วันผลิต/วันหมดอายุ ) ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มซอร์บิกร่วมกับสารกลุ่มไนไตรท์ และไม่อนุญาตการใช้เบนโซอิก เท่ากับว่าผิดมาตรฐานเพิ่ม        2.การพบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการผลิตไส้กรอก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดสุกหรือก็คือห้ามใช้ (หากเป็นไส้กรอกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกำหนดมาตรฐานให้ใช้ในปริมาณไม่เกิน 200 มก./กก.) แต่กลับพบในทุกตัวอย่าง ทั้งนี้การปนเปื้อนของไนเตรทอาจเป็นไปได้ทั้งจากการที่ผู้ผลิตจงใจใช้ทั้งที่กฎหมายห้าม หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต เนื่องจากเดิมเคยอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณ ไม่เกิน 500 มก./กก. ซึ่งต่อมาปรับเป็นไม่ได้กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 และประกาศฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หรือการที่พบในปริมาณน้อยอาจเกิดจากการปนเปื้อนที่มาจากวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิตข้อแนะนำในการบริโภค        หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกชนิดสุก ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่สดจัดจนเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก (เลข อย.) สำหรับการซื้อจากร้านค้าที่อาจไม่ทราบว่าไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป และเนื่องจากเด็กๆ จะชอบรับประทานอาหารประเภทนี้ แต่เด็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีความไวต่อวัตถุกันเสียโดยเฉพาะประเภทไนไตร์ท ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาให้เลือกรับประทานอย่างเหมาะสมข้อมูลอ้างอิง- กิตติมา โสนะมิตร และ เอกสิทธิ์ เดชานุวัตร.การประเมินการได้รับสัมผัสไนไตรท์และไตรทจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์. ว.กรมวิทย์ พ.2564 ; 63 (1) : 160-172.- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) - พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระแสต่างแดน

ทำบุญวิถีใหม่           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยนิยม “ทำบุญ” ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยการบริจาคแพะให้กับผู้คนในประเทศยากจน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสนนราคาเพียงตัวละ 12.50 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาท) ที่ผ่านมาจึงมีแพะจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่กันดาร แถมแพะยังให้ลูกได้ถึงปีละหกตัว เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากแต่ล่าสุด เจน กูดดอลล์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังออกมาเปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะนั้นต้องใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่ๆ แห้งแล้งอยู่แล้วเสี่ยงที่จะแล้งกว่าเดิม ยังไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประกอบกับไม่มีสัตว์แพทย์ที่จะดูแลรักษาแพะที่ป่วย โอกาสที่พวกมันจะอยู่รอดจนโตเต็มวัยจึงมีน้อยเธอแนะนำว่า หากต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้อย่างยั่งยืน ให้นำเงินไปสมทบทุนโครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน หรือโครงการทำระบบชลประทาน จะดีกว่า ผลกระทบมาไกล         งานสำรวจโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยคิวชู พบว่า การบริโภคโดยคนญี่ปุ่นส่งผลให้มีผู้คนในประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เสียชิวิตก่อนวัยอันควรถึง 42,000 คนต่อปีในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่ที่อายุเฉลี่ย 70 ปี และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 1,000 คนทีมวิจัยใช้วิธีคำนวณจากข้อมูลประชากร ข้อมูลการปล่อย PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานที่ผลิตสินค้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากห้าโรคร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อบางชนิดนักวิจัยเสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งในประเทศตัวเองและที่อื่นๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนการบริหารจัดการมลพิษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ การขายเชิงรุก           วิธีการขายแบบ “ตีหัวเข้าร้าน” ดูจะไม่จำกัดอยู่ในแวดวงฟิตเนสหรือศัลยกรรมความงามเท่านั้นล่าสุดองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ “ได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น” เพราะถูกชักชวนแกมกดดันถึง 71 เรื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เทคนิคการขายแบบนี้เริ่มจากการสร้างความวิตกด้วยการบอกความรุนแรงของอาการเกินจริง จากนั้นก็เสนอบริการที่ “ค่อนข้างแพง” แต่ “จำเป็น” ว่าแล้วก็กดดันให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อบริการผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 30 กว่า เสียเงินไป 150,000 เหรียญ (ประมาณ 650,000 บาท) เริ่มจากการเดินเข้าไปถามราคาบริการตรวจสุขภาพ เขาถูก “ต้อน” อยู่ 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็เสียค่าถอนฟันไป 10,000 เหรียญ ตามด้วยค่าบริการนวดจัดกระดูกอีก 29,080 เหรียญ และอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจลำไส้ ค่าอาหารเสริม เป็นต้นข่าวระบุว่าเขาได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร ไข่ต้องมีข้อมูล           ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวันกำหนดให้ไข่สดแต่ละฟองที่ผ่านการล้างและบรรจุลงกล่องต้องมีข้อมูลฟาร์มที่เลี้ยง โรงงานล้างบรรจุ วันที่บรรจุ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยง บนเปลือกด้วยสภาเกษตรของไต้หวันระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับและการแจ้งเตือนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวจะทำให้ไข่ไก่ขนาดแพ็ค 10 ฟอง มีราคาเพิ่มขึ้น 1 เหรียญไต้หวัน ส่วนทางด้านผู้ผลิต หากฝ่าฝืน จะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 6,000 ถึง 30,000 เหรียญไต้หวันผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 22 ล้านฟอง ร้อยละ 65 เป็นแบบล้างและบรรจุกล่องการพิมพ์รหัสลงบนเปลือกไข่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว สหภาพยุโรปกำหนดให้พิมพ์ “รหัสผู้ผลิต” มาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยวิธีใด เช่น ปล่อยอิสระ เลี้ยงในกรง หรือเลี้ยงแบบออกานิก  จุดขายใหม่           สหภาพยุโรปเคาะแล้ว ในปี 2022 เขาจะทุ่มงบประมาณ 185.9 ล้านยูโร ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช พูดง่ายๆ คือเขาต้องการจูงใจผู้ผลิตให้หันมาเลือกแนวทางสายเขียวกันมากขึ้นด้วยการสร้างความต้องการในตลาดให้กับอาหารที่ทำจากพืชนั่นเองนอกจากนี้ยัง “ตีตรา” เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เคยเป็นดาวเด่นมานานว่าเป็น “อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” ด้วยเรื่องนี้ถูกใจสายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเห็นการลดการใช้น้ำและพลังงานมหาศาลในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า รวมถึงสายวีแกนที่อยากเห็นความเป็นมิตรต่อสัตว์โลกแต่แผนนี้ก็ขัดใจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ออกมาโต้ว่า การจะทำอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ ให้ถูกปากผู้บริโภค ก็ต้องผ่าน “การสร้าง” หรือการ “การแปรรูป” อย่างเข้มข้นเช่นกันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสิ่งที่โลกต้องการอย่างเร่งด่วนคือ นวัตกรรมอาหาร และการหาสมดุลระหว่างการผลิตพืชและสัตว์ให้ได้นั่นเอง    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน เนื้อเค็ม”

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 200 บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็มหรือเนื้อเค็ม นอกจากจะเป็นอาหารถูกปากของใครหลายคนแล้ว ยังเป็นของฝากยอดนิยมอีกด้วย เพราะมีรสชาติอร่อยและสะดวกพร้อมรับประทาน โดยสามารถนำมาเป็นของกินเล่น หรือกินคู่กับข้าวสวยหรือเหนียวร้อนๆ ก็ยังได้อย่างไรก็ตามอาหารเหล่านี้ต้องผ่านการแปรรูป เพื่อเพิ่มรสชาติ ช่วยถนอมอาหารและทำให้สามารถจำหน่ายได้สะดวกขึ้น ซึ่งบางเจ้าอาจใส่สารเคมีอย่าง เกลือไนเตรทและเกลือไนไตรท์เข้าไป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะโดยรวมตามที่ควรเป็น โดยหากผู้บริโภคได้รับสารเคมีดังกล่าวในปริมาณที่มากเกินไป สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปดูผลทดสอบ เกลือไนเตรทและเกลือไนไตรท์ใน หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็มและเนื้อเค็มจำนวน 14 ยี่ห้อ หลังจากที่เราเคยเสนอผลทดสอบสารดังกล่าวในไส้กรอกกันแล้ว ซึ่งรับรองว่าผลทดสอบคราวนี้ยังน่าสนใจเหมือนเดิม   มาตรฐานสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ... ข้อ 6  การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชนิดวัตถุเจือปนอาหาร ชนิดของอาหารและปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ ตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ดังนี้  6.1 ตามมาตรฐานทั่วไปสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ (Codex General Standard for Food Additives) ฉบับล่าสุด 6.2 ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร ซึ่งในกรณีของ หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็ม เนื้อเค็ม ไม่มีการกำหนดเฉพาะไว้ตามประกาศข้อ 6.2 (ประกาศ อย.) จึงยึดตามเงื่อนไขของประกาศ ข้อ 6.1 (โคเด็กซ์) คือ สามารถใช้ "โซเดียมไนไตรท์" (INS 250) ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง แปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อน และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง ทำให้สุกโดยใช้ความร้อน ซึ่งกำหนดให้ใช้โซเดียมไนไตรท์ ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม (ตามประกาศ อย. มีกำหนดการใช้ไนไตรท์ไว้เฉพาะเนื้อหมัก เช่น ไส้กรอก แฮม ให้ใช้ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ซึ่ง หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็ม เนื้อเค็ม ไม่น่าจะใช่เนื้อหมักตามประกาศ อย.) สำหรับกรณีการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่เป็น "โซเดียมไนเตรท" (INS 251) ในผลิตภัณฑ์เนื้อประเภท หมูแผ่น หมูสวรรค์ เนื้อเค็ม ไม่มีกำหนดไว้ในโคเด็กซ์ และไม่มีการกำหนดเฉพาะไว้ใน ประกาศ อย. แต่คงเทียบเคียงได้กับปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ในเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมัก(ไส้กรอก แฮม) ที่มีการกำหนดเฉพาะไว้ คือ “โซเดียมไนเตรท” ปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ในประกาศ อย. เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2548) ยังได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้ว ไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด” ซึ่งถ้ายึดตามเกณฑ์นี้ การใช้ทั้งไนเตรทและไนไตรท์ร่วมกัน  ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่งให้สุกโดยใช้ความร้อน และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งตัวหรือตัดแต่ง แปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อน ก็คือ ต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ผลการทดสอบ             ตัวอย่างที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกัน เกิน 80 มิลลิกรัม/อาหารน้ำหนัก 1 กิโลกรัม   ตัวอย่างที่พบการใช้ไนเตรท เกิน 500 มิลลิกรัม/อาหารน้ำหนัก 1 กิโลกรัม      สรุปผลการทดสอบ- จากทั้งหมด 14 ตัวอย่าง พบว่ามี 10 ตัวอย่าง(ร้อยละ 71) ใส่สารไนเตรท ไนไตรท์ ไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้ใช้ ตามประกาศ อย เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร- มี 1 ตัวอย่างที่มีไนเตรทเกินกว่าค่าปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ ยี่ห้อ หมูสวรรค์ ร้านหมู หมู โดยตรวจพบไนเตรทสูงถึง 2033.16 มก./กก.- พบ 1 ตัวอย่างที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกัน เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ   ตราบ้านไผ่ เนื้อสวรรค์ พบไนเตรท 94.66 มก./กก. และพบไนไตรท์น้อยกว่า 10 มก./กก. รวมแล้วอยู่ระหว่าง 94.66  - 104.66 มก./กก- พบ 2 ตัวอย่าง. ที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกัน เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ(1)  เนื้อเค็ม ตราลัดดา พบไนเตรท 169.93 มก./กก. และไนไตรท์ 55.68 มก./กก. รวม 225.61 มก./กก.(2) เนื้อเค็ม ร้านหมู หมู พบไนเตรท 216.05 มก./กก. และไนไตรท์ 17.17 มก./กก. รวม 233.22 มก./กก.ฉลาดซื้อแนะ    ไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปบ่อยครั้งเกินไป เพราะมีความเสี่ยงต่อการรับเอาสารเคมีที่ใช้เจือปนเพื่อการถนอมอาหารในปริมาณมาก เนื่องจากหลายครั้งพบว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีการใช้ในปริมาณที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว  ข้อมูลอ้างอิง :•    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร•    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2548)•    ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามมาตรฐานทั่วไปสำหรับวัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ http://food.fda.moph.go.th/data/FoodAdditives/GSFA_2014.pdf •    แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2556•    การใช้วัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ http://food.fda.moph.go.th/data/news/2558/sum_newser/TrainingFA2011/3.2Meat54.pdf-------------------------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค--------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง

ปลาหมึกแห้ง จัดเป็นอาหารแปรรูปที่ขายดีอันดับหนึ่ง หาซื้อไม่ยากจะเอามาทำอะไรกินก็ง่ายจะทอดหรือย่างก็อร่อย ปลาหมึกที่นำมาทำปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ  ปลาหมึกกล้วย และปลาหมึกสาย ผลการทดสอบที่นำเสนอนี้เป็นผลจากการทดสอบตัวอย่างอาหารจำนวน 8 ตัวอย่างจาก 8 จังหวัด ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ โดยเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 2553 ครับ   ปลาหมึกแห้งที่เก็บตัวอย่างนี้เรานำมาทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 กลุ่ม คือ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด โลหะหนักในอาหาร ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารทะเลและสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายมักฉีดพ้นเพื่อป้องกันแมลงมาตอมปลาหมึกแห้งในร้านครับ   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียมในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 3.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ-CODEX อยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และหากนำค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดจะพบว่ามีตัวอย่างที่พบค่าแคดเมียมเกินกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ต้อย ซึ่งเก็บจากตลาดสดมหาสารคาม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม ซึ่งเก็บตัวอย่างจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแคดเมียมที่ปริมาณ 3.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (4) ตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น พบแคดเมียมที่ปริมาณ 2.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม -พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทตะกั่วในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.137 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณตะกั่วสูงสุดที่พบในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยาที่ปริมาณ 0.46 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล โดยมีปริมาณปรอทที่พบสูงสุดในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 62 โดยพบสารตกค้างชนิดเพอร์เมทริน (Permethrin) ในตัวอย่างจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยา และ ตัวอย่างจากผู้ผลิต บมจ.สยามแมคโคร กรุงเทพฯ โดยมีปริมาณที่พบเท่ากับ 0.18 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบสารตกค้างชนิดไซไฟทริน (Cyflythrin) ในตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ปริมาณ 0.12 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ ท้ายที่สุด พบสารพิษตกค้างชนิดไบเฟนทริน (Bifenthrin) ในตัวอย่างเก็บจากร้านป้าอร ตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรประเภทคาเบนดาร์ซิม (ยากันรา) ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่พบคือ 0.44 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างที่เก็บในตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่   ข้อสังเกต- ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างที่เก็บจากห้างแมคโคร กรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียม สารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ และยากันรา-คาร์เบนดาซิมในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ - ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงคราม พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) กำหนด (2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยพบในปริมาณที่สูงถึง 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทในระดับพอสมควร อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างอีกด้วย - ตัวอย่างกว่าร้อยละ 90 ที่ทำการทดสอบไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบผู้ผลิต และไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งอันตรายจากแคดเมียม – ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ทำให้กระดูกและไตพิการ อันตรายจากตะกั่ว – จะทำให้เบื่ออาหาร ปวดท้อง มือเท้าอ่อนแรง เลือกจาง ถ้าเป็นเด็กจะทำให้สมองพิการได้ การเรียนรู้ด้อยลงอันตรายจากปรอท – เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมไปถึงแขน ขา ริมฝีปากและเป็นอัมพาตในที่สุด ---------------------------------------------------------------------------------------------------- *จากผลทดสอบจะเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปลาหมึกแห้งก็คือ การปนเปื้อนของแคดเมียม และสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช การปนเปื้อนของแคดเมียมส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องธรรมชาติความสะอาดในท้องทะเล เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายธรรมชาติชอบทิ้งสารเคมีลงในทะเล ถ้าอยากกินอาหารทะเลดีๆ ที่ปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาท้องทะเล ส่วนเรื่องสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ก็ต้องฝากวอนไปถึงพ่อค้า-แม่ค้าอย่าได้ใส่อะไรไม่พึ่งประสงค์ลงไปเลย ผู้บริโภคเราอยากรับประทานของสะอาดและมาจากธรรมชาติจริงๆ ครับ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนข้อ 4 (2) ระบุการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมข้อ 4 (1) (ง) ระบุการปนเปื้อน ตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อ 4 (1) (ฉ) ระบุการปนเปื้อน ปรอท   ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288  (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร -ค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX)กำหนดค่าการปนเปื้อนของ แคดเมียม ในอาหารประเภทปลาหมึก อยู่ที่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่) วิธีการทำปลาหมึกแห้ง ไม่ยากแต่อาจจะมีหลายขั้นตอนอยู่สักหน่อย เอาปลาหมึกไปตากแดดแล้วก็คอยพลิกกลับตัวปลาหมึกเพื่อให้ปลาหมึกแห้งทั่วกัน ถ้าแดดดีๆ 20 -30 ชั่วโมงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ยังกินไม่ได้นะ ต้องนำปลาหมึกที่ตากแล้วนำมาวางซ้อนทับกันแล้วใช้ผ้าใบหรือพลาสติกคลุมไว้แล้วหาอะไรหนักๆ ทับไว้ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ปลาหมึกจะยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะความชื้นเกิดขึ้นในเนื้อปลาหมึก หลังจากนั้นก็นำมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งประมาณอีก 2-3 วัน ที่นี้ก็นำมาทำอาหารรับประทานได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point