ฉบับที่ 264 ลายกินรี : อคติทางเพศกับนิติวิทยาศาสตร์แบบสตรี

          ละครโทรทัศน์แนวสืบสวนสอบสวนของต่างประเทศ มักยืนอยู่บนความคิดที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่การเข้าถึงความจริงในคดีความฆาตกรรมต่างๆ นั้น ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยมาเป็นคำตอบ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อละครแนวพีเรียดอย่าง “ลายกินรี” หันมาผูกเรื่องราวการ “สืบจากศพ” ชนิดย้อนไปในยุคประวัติศาสตร์ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาเป็นคำตอบกันโน่นเลยทีเดียว         เปิดเรื่องละครย้อนไปในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อผัวเมียคู่หนึ่งกำลังตกปลาไปขาย แต่กลับพบศพชายต่างชาติคนหนึ่ง ที่ท่อนบนแต่งกายคล้ายสตรีและมีผ้านุ่งลายกินรีพันติดอยู่กับร่างกาย ส่วนท่อนล่างนั้นเปลือยเปล่า ซึ่งต่อมาละครก็เฉลยว่าเป็นศพของ “กปิตันฌอง” ชาวฝรั่งเศสที่ผูกพันกับราชสำนักยุคนั้น จุดเริ่มเรื่องแบบนี้ดูผิวเผินก็ไม่ต่างจากการวางพล็อตของซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป         แม้จะมีเส้นเรื่อง “สืบจากศพ” เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรฆ่ากปิตันฌอง แต่ในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ย้อนกลับไปราวสามร้อยกว่าปีก่อน ละครจึงเป็นประหนึ่ง “ห้องทดลอง” ให้ผู้ชมในกาลปัจจุบัน ได้หันมาทบทวนหวนคิดถึงคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือกันแนบแน่นในสังคมทุกวันนี้         และค่านิยมหนึ่งที่คดีฆ่ากปิตันฌองได้ตีแผ่ให้เห็นก็คือ การตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้หญิง เมื่อต้องดำรงตนอยู่ในวิถีแห่งชายเป็นใหญ่ที่มายาคติหลักของสังคมโอบอุ้มเอาไว้ โดยสะท้อนผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงที่ถูกผูกโยงเข้ากับการเปิดโปงปมที่มาและที่ไปแห่งการฆาตกรรม         ตัวละครผู้หญิงคนแรกที่เกี่ยวพันกับกรณีนี้ก็คือ นางเอก “พุดซ้อน” หญิงสาวที่สืบทอดวิชาชีพหมอรักษาคนไข้จาก “หมอโหมด” ผู้เป็นบิดา แต่เพราะคนในสมัยก่อนโน้นไม่เชื่อมั่นในหมอผู้หญิง พุดซ้อนจึงบังหน้าโดยใช้ชื่อ “หมอมี” ผู้เป็นพี่ชายที่ไม่เอาถ่าน มาเป็นหมอรักษาผู้ไข้แทน         เมื่อชะตาชีวิตของพุดซ้อนถูกลากโยงให้ได้มาตรวจศพของกปิตันฌอง และเธอลงความเห็นว่า ชายชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตก่อนที่จะถูกลากศพมาทิ้งอำพรางในแม่น้ำ พุดซ้อนก็ถูกดูแคลนจาก “หลวงอินทร์” หรือ “ออกญาอินทราชภักดี” เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา พระเอกหนุ่มผู้ไม่เพียงตั้งแง่กับหมอพุดซ้อน แต่ยังใช้ข้ออ้างเรื่องความเห็นของหญิงสาวจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยามประเทศ อันจะนำไปสู่ภัยสงครามในยุคที่จักรวรรดิยุโรปเรืองอำนาจอยู่         อย่างไรก็ดี หน้าฉากของวาจาดูถูกเหน็บแนม และข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจ แท้จริงแล้วยังมีเบื้องลึกอีกด้านที่สังคมพยายามกีดกันผู้หญิงออกไปจากการเข้าถึงสรรพวิชาความรู้ของพวกเธอ         ทั้งนี้ หากความรู้แพทยศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ถูกขีดขอบขัณฑ์ให้อยู่ใต้อำนาจบัญชาแห่งบุรุษเพศ สังคมก็จะมีความพยายามปิดกั้นศักยภาพของสตรีที่ก้าวล่วงมาใช้อำนาจแห่งความรู้เพื่อสืบสวนคดีความฆาตกรรม ไม่ต่างจากที่พุดซ้อนได้เคยพูดตอกหน้าหลวงอินทร์ว่า “ท่านตั้งป้อมใส่ข้า เพียงเพราะว่าหมอหญิงถูกมองเป็นเพียงหมอตำแยเท่านั้น”         แม้จะถูกด้อยค่าความรู้ที่มี แต่เพราะวิถีแห่งผู้หญิงมีลักษณะแบบ “กัดไม่ปล่อย” เหมือนที่พุดซ้อนกล่าวว่า “พ่อข้าสอนไว้เสมอว่า หากตั้งใจทำสิ่งใด จงมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ ยิ่งเกิดเป็นแม่หญิง ยิ่งต้องพิสูจน์ให้คนที่ปรามาสมองให้เห็นจงได้” ดังนั้น เราจึงเห็นภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหมอพุดซ้อนที่พากเพียรใช้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาจากบิดา เพื่อเผยให้ฆาตกรที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของเหตุฆาตกรรม         เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ความรู้ด้านเภสัชและเคมีโบราณมาทดสอบสารพิษของ “เห็ดอีลวง” ที่คนร้ายใช้วางยาฆ่ากปิตันฌอง การประยุกต์ทฤษฎีด้านนิติวิทยาศาสตร์มาวินิจฉัยรอยมีดที่อยู่บนร่างของศพ ไปจนถึงการใช้ชุดความรู้การผ่าศพที่ทั้งผิดธรรมเนียมจารีตของชาวสยาม และไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่ผู้หญิงพึงจักกระทำ         และที่สำคัญ ดังที่คนโบราณมักกล่าวว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่สำหรับพุดซ้อนแล้ว แม้นางเอกของเราก็เรียนรู้อยู่แก่ใจว่า “ความจริง” เองก็อาจนำหายนภัยมาให้เกือบปางตาย แต่เจตจำนงแน่วแน่ของเธอก็ยังคงยืนหยัดใช้ความรู้เพื่อพิสูจน์ “ความจริง” ที่ผู้หญิงก็เข้าถึงได้เช่นกัน         สำหรับตัวละครผู้หญิงคนที่สองก็คือ “มาดามคลารา” ภรรยาของกปิตันฌอง แม้มาดามจะพูดให้การกับหลวงอินทร์ว่า “สามีข้าเป็นคนดี เป็นลมหายใจ เป็นที่รักของข้า” แต่เบื้องหลังคราบน้ำตาที่คลาราแสดงออกให้กับสามีที่เสียชีวิต กลับซุกซ่อนภาพความรุนแรงทางสังคมที่กระทำต่อกายวาจาใจของสตรี ซึ่งแท้จริงแล้วก็หาใช่สิ่งห่างไกลไปจากตัวของผู้หญิงไม่ เพราะความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้แม้ในครอบครัว อันเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากที่สุด         ไม่เพียงแต่คลาราจะถูกบิดาจับคลุมถุงชนกับกปิตันฌองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังแต่งงานเธอก็ต้องขมขื่นกับสามีฝรั่งที่มองว่า “เมียเป็นเพียงสัตวเลี้ยงตัวหนึ่งเท่านั้น” ดังนั้น ทุกครั้งที่น้ำจัณฑ์เข้าปาก และด้วยลุแห่งอำนาจชายเป็นใหญ่ กปิตันฌองก็จะวิปลาสเสียสติลงมือทำทารุณกรรมภรรยา ไปจนถึงทำร้าย “เอี้ยง” สาวใช้จนขาพิการ และยังก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่า “อุ่น” เมียของ “จั่น” ผู้เป็นบ่าวในเรือน         เพราะความอดทนของผู้หญิงมีขีดจำกัด แม้สังคมจะบอกหญิงผู้เป็นภรรยาทั้งหลายว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่เหตุปัจจัยมาจากความอยุติธรรมทางเพศ มีผลไม่มากก็น้อยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคดีความฆาตกรรมดังกล่าว ดังที่คลาราเองก็พูดเพราะเข้าใจผิดเรื่องตนเป็นคนฆ่าสามีว่า “ข้าไม่เคยเสียใจสักนิดที่ฆ่ากปิตันด้วยมือของข้าเอง”         และสำหรับตัวละครผู้หญิงคนสุดท้ายก็คือ “เจ้าจอมกินรี” เจ้าจอมคนโปรดในรัชสมัยนั้น และเป็นเจ้าของผ้านุ่งลายกินรีที่พบบนศพกปิตันฌอง ซึ่งในตอนจบเรื่องละครก็ได้เฉลยว่า เจ้าจอมกินรีเป็นผู้ชักใยข้างหลังความตายของกปิตันและอีกหลายชีวิตในท้องเรื่อง         แม้ละครอาจตีความว่า การกระทำของเจ้าจอมกินรีเป็นตัวอย่างของคนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครนี้ก็แสดงนัยว่า ในขณะที่ใครต่อใครเชื่อว่า การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นคุณค่าที่มีเฉพาะในเพศบุรุษ เจ้าจอมกินรีก็คือผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำเพื่อชาติได้ แม้ว่าบางครั้งก็ต้องยอมแลกมากับความสูญเสียและถูกตราหน้าจากประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะหรือบุรุษเพศก็ตาม         แม้ “ลายกินรี” จะมีจุดร่วมไม่ต่างจากละครแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องอื่นที่ต้องเผย “ความจริง” เรื่องตัวฆาตกรผู้ฆ่าก็ตาม แต่จากคำพูดของ “คุณหญิงแสร์” ซึ่งกล่าวกับหลวงอินทร์บุตรชายที่ว่า “อคติในหัวใจทำลายแง่งามในชีวิตเสมอ” บางทีคำพูดนี้ก็เป็นบทสรุปดีๆ ที่บอกกับเราด้วยว่า การลดอคติทางเพศลงเสียบ้าง จะทำให้เรามองเห็นตัวตนและเจตจำนงของสตรีที่มุ่งมั่นทำเพื่อวิชาความรู้ ครอบครัว และชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >