ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว “บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี” ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน        “เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา”        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน”        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า “ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 ซื้ออย่างฉลาด ด้วยระบบแนะนำสินค้า

  ผู้เขียนเป็นนักซื้อ(shopper) ที่ไม่ดีเพราะเท้าไม่ติดดิน เนื่องจากเวลามีดินติดเท้ามักมีความรู้สึกว่ามันไม่สะอาด แต่ถ้าต้องลุยลงสนามเพื่อทำอะไรสักอย่างที่เลอะดินก็มักไม่ปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องจำเป็นต้องสกปรก แต่ถ้าต้องสกปรกแบบไม่จำเป็น เช่น การเดินไปซื้อกับข้าวหรือวัตถุดิบในการปรุงอาหารจากตลาดทั่วไปของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้เขียนมักปฏิเสธเพราะมีภาพพจน์ที่ไม่ดีเรื่องความแฉะของตลาดแบบนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วตลาดหลายๆ แห่งในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่อื่นๆ ค่อนข้างแห้งและสะอาดแล้วดังนั้นผู้เขียนจึงยอมถูกกล่าวหาว่า นิยมชมชอบตลาดติดแอร์ ในแต่ละครั้งที่เดินในตลาดติดแอร์นั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดอยู่ตลอดเวลาคือ การตัดสินใจซื้อสินค้าอาหารนั้น เราควรใช้อะไรเป็นเกณฑ์ หลายคนรวมทั้งผู้เขียนในบางครั้งใช้ราคาต่อหน่วยน้ำหนักเป็นตัวตัดสินใจ เช่น กรณีกาแฟที่ขายในรูป 3 in 1 ซึ่งยี่ห้อไหนก็ไม่อร่อยเท่ากัน เหมาะต่อการดื่มเพื่อเลิกกาแฟหรือดื่มเพื่อบอกกระเพาะอาหารว่า ดื่มกาแฟแล้วนะเลิกอยากสักที ส่วนสินค้าอื่นบางชนิดที่ไม่ใช่อาหารเช่น ตู้เย็น อาจใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวตัดสิน แต่เวลาที่ผ่านไปเครื่องหมายการค้าที่เชื่อถือนั้นบางครั้งก็ต้องเลิกเชื่อ เพราะข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าที่ไม่เคยเชื่อถือนั้นดีขึ้น จะเห็นว่าเกณฑ์ในการซื้อสินค้าของผู้เขียนไม่ได้เรื่อง ขาดรูปแบบที่ดี ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์สักเท่าไร การดูฉลากของอาหารนั้นก็ไม่ได้ช่วยสักเท่าไร เพราะขนาดผู้เขียนทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพทางโภชนาการ บางครั้งก็งงกับตัวฉลากและรู้สึกว่าเป็นการสิ้นเปลืองในการทำฉลากอาหารตามวิธีการปัจจุบัน จนวันหนึ่งในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2554) ก่อนจะรู้จักกับประสบการณ์น้ำท่วมหลายเดือน ผู้เขียนก็ได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่มีรายงานข่าวถึงระบบที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ข่าวนั้นสั้นมากจนต้องเข้าไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วนำไปสอนนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเท่าไร จนปีนี้เมื่อนำมาใช้สอนอีกครั้งปรากฏว่าได้รับการตอบสนองที่ดีขึ้น จึงคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง   ระบบการแนะนำสินค้าอาหาร ระบบการแนะนำในการซื้อสินค้าอาหารนั้น อาจมีหลายระบบ แต่ผู้เขียนหาพบเพียงสองระบบคือ ระบบ Guiding Stars และ NuVal โดยระบบแรกคือ Guiding Stars นั้นได้แบ่งระดับความน่าซื้อสินค้าไว้ด้วยการติดดาวซึ่งมีมากสุด 3 ดวง เมื่อเข้าไปในเว็บของ Guiding Stars นั้นก็ไม่ใคร่ได้ข้อมูลที่น่าสนใจสักเท่าไร ดังนั้นในฉบับนี้จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะระบบ NuVal ว่าเป็นอย่างไร ก่อนอื่นคงต้องเล่าให้ฟังว่า การแนะนำว่าสินค้าห่อใดควรซื้อหรือไม่นั้นเป็นระบบที่ร้านค้าในรูปของ Chain Stores จ้างหน่วยงานเอกชนทำการจัดระดับความน่าซื้อสินค้าอาหารต่างๆ โดยการให้ระดับความน่าสนใจ เช่น ดาว หรือตัวเลข ซึ่งในกรณีของ NuVal นั้นให้ตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดย 100 นั้นแสดงว่าอาหารนั้นมีความน่าซื้อที่สุดเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับโดยคำนึงถึงสุขภาพที่ดี NuVal นั้นคำนึงถึงทั้งประโยชน์และโทษของสินค้าที่ผู้บริโภคได้ในแง่โภชนาการ สิ่งที่มีประโยชน์คือ สารอาหารทั่วไป ส่วนที่เป็นโทษนั้น เช่น น้ำตาลและเกลือแกง (เมื่อมากไป) โคเลสเตอรอล ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นไขมันเลว โดยข้อมูลทั้งดีและไม่ดีนั้นจะถูกนำมาผสมผสานเพื่อการตัดสินใจให้ระดับความน่าซื้อเป็นตัวเลขที่ประชาชน (ซึ่งเชื่อในหลักการของระบบนี้) ใช้ตัดสินใจซื้อได้ในเวลาไม่กี่วินาทีโดยไม่ต้องอ่านฉลาก (ซื่งมักแสดงด้วยตัวหนังสือเล็กจิ๋ว) นานนัก กระบวนการตัดสินใจให้ตัวเลขลำดับนั้นเป็น อัลกอริธึม (Algorithm) โดยที่อัลกอริธึมนั้นเป็นกระบวนการนำหลักเหตุผลและคณิตศาสตร์มาช่วยเลือกวิธีการหรือขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปจนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้าย เป็นวิธีการที่ใช้แยกย่อยและเรียงลำดับขั้นตอนของกระบวนการในการทำงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและแก้ไขปัญหา โดยผู้ที่เข้ามาดำเนินการในองค์กรเอกชนนี้เป็นทั้งนักวิชาการในวงการโภชนาการ สาธารณสุข และด้านการแพทย์ต่าง ๆ ฐานข้อมูลความรู้หลักที่ใช้ของ NuVal นั้นได้มาจาก  Institute of Medicine’s Dietary Reference Intakes ซึ่งให้ข้อมูลว่าสารอาหารอะไรที่มนุษย์ควรกินเข้าไป และข้อแนะนำการบริโภคอาหารของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า Dietary Guidelines for Americans ในการคำนวณหาตัวเลขนั้นหลังจากได้ข้อมูลแล้ว ข้อมูลที่ดีของอาหารที่สนใจจะเป็นตัวตั้งที่หารด้วยข้อมูลที่ไม่ค่อยดีของอาหารนั้น เพื่อให้เห็นภาพชัด ก็จะขอเสนอภาพที่ NuVal แสดงไว้ในเว็บ จะเห็นว่า ตัวตั้งหรือ numerator นั้นคือ สารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น ใยอาหาร วิตามินโฟเลท วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี วิตามินบี 12 วิตามินบี 6 โปแตสเซียม แคลเซียม สังกะสี แมกนีเซียม เหล็ก กรดไขมันโอเมกา 3 ไบโอฟลาโวนอยด์ แคโรตีนอยด์ เป็นต้น ส่วนตัวหารนั้นที่ยกตัวอย่างชัดๆ คือ ไขมันทรานซ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาในการทำงานของหัวใจ เกลือแกงซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิต น้ำตาลซึ่งเป็นต้นเหตุของเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับ คุณภาพของโปรตีน ไขมัน พลังงานที่ได้ ค่าดัชนีน้ำตาล คือ ค่าที่บอกถึงอัตราการเพิ่มของกลูโคสในกระแสเลือดภายหลังจากการรับประทานอาหาร เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากเว็บของ NuVal นั้นไม่ละเอียดถึงขั้นว่า การนำข้อมูลมาใช้นั้นใช้หน่วยน้ำหนักอย่างไร หรือมีชนิดข้อมูลเท่าไร ทั้งนี้คงเป็นเพราะระบบของ NuVal นั้นมีลิขสิทธิ์ที่วิธีการประเมินให้ตัวเลขนั้นจึงลับพอควรแต่ก็อาจเข้าถึงได้ถ้าสนใจเป็นลูกค้าจริง ตัวอย่างสินค้าที่ได้ค่า NuVal แบบเสียไม่ได้คือ 1 นั้นได้แก่ น้ำอัดลมรสองุ่น ซึ่งบ้านเรามีขายหลายยี่ห้อ ส่วนสินค้าที่ได้ค่า NuVal สูง ๆ ได้แก่ หอมใหญ่เหลือง (yellow onion) และแอปเปิ้ลการา ได้ค่าระดับ 93 และ 93 ตามลำดับ ที่น่าสังเกตคือ สินค้าเกษตรนั้นมักได้ค่า NuVal สูง ทั้งนี้เพราะยังไม่มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับพิษวิทยามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่ความจริงแล้วผักผลไม้ดิบนั้นส่วนใหญ่มีสารพิษเกิดตามธรรมชาติปนอยู่แทบทั้งนั้น การทำลายสารพิษจะต้องใช้กระบวนการปรุงอาหาร เช่น ความร้อนเป็นวิธีการกำจัดสารพิษที่เกิดตามธรรมชาติดังนั้นเรื่องของสารพิษจึงยังเป็นจุดด้อยของ NuVal การขาดการนำขอมูลของการปนเปื้อนของสารพิษมาประกอบการให้ลำดับตัวเลข ทั้งที่สารพิษนั้นมีแน่ๆ นั้น อาจเป็นเพราะสารพิษที่เป็นองค์ประกอบของอาหารดิบ หรือที่อาจปนเปื้อนลงในอาหาร(ซึ่งรวมถึงแบคทีเรีย) นั้นเป็นข้อมูลด้านความปลอดภัยซึ่งต้องมีการวิเคราะห์เป็นครั้งๆ ไป (ไม่สามารถวิเคราะห์ครั้งเดียวแล้วใช้ไปตลอดชาติเหมือนองค์ประกอบทางอาหาร) จึงจะบอกได้ว่า มีหรือไม่มี ทั้งที่กฎหมายของทุกประเทศนั้นมักกำหนดให้ไม่มีหรือมีสารพิษในระดับไม่ก่ออันตราย แต่ข้อมูลประเภทนี้ในทางพิษวิทยาแล้วเป็นข้อมูลที่ต้องระบุเป็นความเสี่ยง ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนักในการตั้งระบบขึ้นด้วยองค์กรเอกชน แม้ในประเทศที่นำหน้าในเรื่องพิษวิทยาอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังทำได้เท่าที่ NuVal ทำ ประเด็นที่ผู้เขียนตั้งคำถามในเรื่องการดำเนินการของระบบแนะนำการซื้อสินค้าอาหารนั้นคือ ผู้ประกอบการที่สินค้าถูกให้คะแนนต่ำคงไม่พอใจ แล้วสามารถฟ้องร้องว่า NuVal หมิ่นประมาทสินค้าหรือบริษัทหรือไม่ ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่การค้าความนั้นเป็นอาชีพที่ได้เงินมากที่สุด หมอความนั้นค่อนข้างรวยกว่าหมอรักษาคน ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า บริษัทเจ้าของ NuVal นั้นคงมีนักกฎหมายประเภทเซียนเหยียบเมฆเรียกพี่อยู่หลายคนแน่ๆ จึงยังอยู่รอดปลอดภัยได้ บทความนี้เขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านวารสารฉลาดซื้อได้ทราบความก้าวหน้าของการทำฉลากอาหารในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้หวังว่าบ้านเราจะมีการนำมาใช้เพราะเป็นการเพิ่มราคาของสินค้าอาหารให้สูงขึ้น เนื่องจากเป็นระบบที่แพงเหมาะกับประเทศที่ประชาชนมีความสนใจรักษาสุขภาพ หรือเป็นประเทศที่มีสุขภาพเป็นปัญหา เช่น สหรัฐอเมริกา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point