ฉบับที่ 206 โซเดียม และพลังงาน น้ำตาล จากบิสกิต-แซนวิช-แครกเกอร์

ขนมห่อเล็กๆ ที่เด็กมักจะเลือกหยิบฉวยเมื่อมีโอกาสได้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะขนมอบกรอบ ตลอดจนขนมประเภทบิสกิต แซนวิช และแครกเกอร์ ที่มีบรรจุภัณฑ์สีสันสวยงาม รสชาติอร่อย และราคาไม่แพง ขนมเหล่านี้ล้วนสร้างความพึงพอใจและรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ไม่น้อย ไม่เพียงแต่เด็ก ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งเวลาเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า แล้วยังไม่รู้ว่าจะเลือกซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน ขนมประเภทนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หรือแม้แต่จะซื้อไปทำบุญใส่บาตร ก็รู้สึกเข้าท่าดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตามขนมประเภทนี้แม้เห็นว่าห่อเล็กๆ หน่วยบริโภคไม่ถึง 30 กรัม แต่ก็ให้พลังงานที่สูง และที่สำคัญมีปริมาณโซเดียมสูงด้วย การรับประทานจึงต้องเพิ่มความระวัง ซึ่งวิธีหนึ่งที่เราจะเลือกรับประทานให้ได้อย่างเหมาะสม ก็คือการพิจารณาฉลาก โดยเฉพาะฉลากโภชนาการ ซึ่งฉลาดซื้อฉบับนี้อาสานำข้อมูลบนฉลากโภชนาการของขนมประเภทนี้ มานำเสนอไว้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ  ข้อสรุปจากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ เมื่อพิจารณาที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้ง 35 ตัวอย่าง พบว่า หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ แซนวิชเค้กสอดไส้ครีมคัสตาร์ด ตราฟันโอ คือ 1 ชิ้น 13 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 40 มก. ขณะที่หน่วยบริโภคซึ่งมากสุด คือ ยี่ห้อ  เลมอน ครีมแซนวิซ ตราเบลลี่ คือ 1 ชิ้น 100 กรัม ให้พลังงาน 498 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 390.2 มก.   ส่วนผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ ส่วนใหญ่น้ำหนัก 1 หน่วยบริโภคจะอยู่ที่ประมาณ 30-35 กรัม  และหากลองนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง(30 กรัม) จะพบว่า ขนมอบที่นำมาดูฉลาก จะมีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-160 กิโลแคลอรี สำหรับปริมาณโซเดียมนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของขนม โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคสูง(หน่วยบริโภคไม่เกิน 42 กรัม) คือ 1.แครกเกอร์สอดไส้ช็อคโกแลต ตรา มอลคิสท์  โซเดียม 200 มก. ต่อหน่วยบริโภค 42 กรัม 2.แครกเกอร์ไส้ครีม กลิ่นวานิลลา ตรา ไวโอเลต โซเดียม 160 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม3.คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลต ตรา เพรสโต้ ครีมโอ โซเดียม  150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม4.โอรีโอ คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลตสอดไส้ครีมกลิ่นวานิลลา โซเดียม 150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 29 กรัม5.คุกกี้สตัฟ รสคุกกี้และครีม ตราวอยซ์ โซเดียม 130 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม อย่างไรก็ตาม หากดูจากฉลากที่นำมาเปรียบเทียบทั้งหมด ยี่ห้อ เลมอน ครีมแซนวิซ (ตราเบลลี่) ซึ่งมีหน่วยบริโภคที่ 100 กรัม(ชิ้นใหญ่) จะให้ปริมาณโซเดียมมากถึง 390.2 มก/100 กรัม ดังนั้นจึงควรแบ่งรับประทานในสัดส่วนที่เล็กลงมา ความสำคัญของฉลากโภชนาการนอกจากฉลากสินค้าจะบ่งบอกปริมาณหรือน้ำหนัก ให้เราได้เทียบความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายจริงแล้ว ฉลากบนสินค้ายังมีประโยชน์มากกว่านั้นอีก โดยเฉพาะฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่สามารถบอกเราได้ว่า หนึ่งหน่วยของอาหารที่เราบริโภคนั้น ได้มอบคุณค่าทางโภชนาการอะไรแก่ร่างกายเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งหน่วยบริโภคของขนมแครกเกอร์ 1 ห่อ (คำแนะนำว่า เราควรบริโภคเพียงครั้งละกี่ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักกี่กรัม), จำนวนหน่วยบริโภคต่อบรรจุภัณฑ์ (แครกเกอร์ 1 ห่อ ควรแบ่งกินกี่มื้อ) หรือบอกว่าในหนึ่งหน่วยบริโภค (ปริมาณที่เราบริโภค 1 มื้อ) นั้นให้พลังงานต่อร่างกายเราทั้งหมดเท่าใดหากผู้บริโภคสังเกตบริเวณด้านหน้าของห่อขนม จะเห็นฉลากพื้นสีขาวที่มีลักษณะคล้ายปล้องไม้ไผ่ ถูกแบ่งเป็น 4 ช่อง ได้แก่ พลังงาน, น้ำตาล, ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเรียกว่า ฉลากหวานมันเค็ม หรือ ฉลากจีดีเอ (Guideline Daily Amount; GDA) ซึ่งเป็นฉลากที่บอกให้ทราบว่าเมื่อกินขนมเข้าไปทั้งถุงหรือซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมปริมาณทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าเราดูเฉพาะตัวเลขในช่องพลังงาน จะเป็นตัวเลขค่าพลังงานของขนมทั้งซอง ถ้าสมมติว่าเป็นขนมห่อใหญ่ที่สามารถแบ่งกินได้ 4 ครั้ง ก็จะต้องนำค่าพลังงานจากฉลากจีดีเอ ไปหาร 4 จึงจะได้ค่าพลังงานที่ได้ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่ฉลากแนะนำ ในความเป็นจริง ผู้บริโภคสามารถพลิกดูบนฉลากข้อมูลโภชนาการได้เลย ว่าขนมแต่ละซองได้แนะนำให้แบ่งกินกี่ครั้ง ครั้งละกี่ชิ้น และในการกินแต่ละครั้งตามคำแนะนำบนฉลาก จะได้รับพลังงานทั้งหมดเท่าใด ซึ่งง่ายต่อการสอนให้เด็กๆ รู้จักการแบ่งขนมห่อใหญ่รับประทานแต่พอดี ตามความเหมาะสมที่ฉลากแนะนำไว้ โดยร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI)* โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี (kcal), ไขมันทั้งหมดไม่เกิน 65 กรัม, โซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม และร่างกายของคนเรามีความต้องการน้ำตาลต่อวันประมาณ 6 ช้อนชา (ประมาณ 23-25 กรัม) หรือ สูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชา (40 กรัม) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเอาไว้การใช้ข้อมูลฉลากโภชนาการทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกินอาหารได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันขนมหลายยี่ห้อมีการบรรจุในหีบห่อขนาดใหญ่วางจำหน่ายในร้านค้า ซึ่งขนมห่อใหญ่เหล่านี้ สามารถแบ่งกินได้มากกว่า 1 ครั้ง การบริโภคในปริมาณมากเกินพอดี หรือกินหมดทั้งห่อ อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน ไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมเกินความจำเป็นของร่างกายในหนึ่งวัน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point