ฉบับที่ 271 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2566

เตือน! “อย่าซื้อขนมโรลออน” ที่ลักลอบนำเข้าไทย        3 กันยายน 2566 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า พบขนมบรรจุขวดที่มีหัวเป็นลูกกลิ้ง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โรลออน” วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน และช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต สังเกต คือ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลข อย. รวมถึงไม่ทราบส่วนประกอบหรือส่วนผสม และไม่มีผู้นำเข้า         ทางอย.จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมาบริโภค ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงได้รับอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งอาจมีสารปนเปื้อนจากการผลิตจากภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ขนมที่ได้รับอนุญาตต้องมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วน  สำหรับ ผู้นำเข้าและจำหน่าย ขนมที่ไม่ขออนุญาตนำเข้ามีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  BTS ชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าขัดข้องไม่ยอมปิดขณะเดินทาง         จากกรณีที่มีดราม่าระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง โดยได้มีผู้ใช้ติ๊กต๊อกบัญชี @star111042 ได้โพสต์คลิปประตูรถไฟฟ้า BTS เปิดขณะวิ่งอยู่ พร้อมแคปชันระบุว่า "เมื่อคนซวยๆ อย่างฉันมาขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเลยซวยไปด้วย” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่มีประตูรถไฟฟ้าเปิดค้างไว้ ขณะเดินทางระหว่างสถานีบางจาก-สถานีปุณญวิถี หลังเกิดเหตุ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบความปลอดภัยมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า (TC) จึงรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) และประสานเจ้าหน้าที่ไปยืนดูแลบริเวณประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้ประตู พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการแก้ไขประตูดังกล่าวที่สถานีถัดไป        อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว และประตูที่ขัดข้องอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก อย่าซื้อ นมแม่แช่แข็งให้ลูกกิน         20 กันยายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์เตือนกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์ ซื้อ-ขาย นมแม่แช่แข็ง โดยมีการระบุข้อความว่า "มีคนไปโพสต์ในกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง บอกว่ามีนมแม่แช่แข็งเหลือ จะขาย คนก็แชร์ไปหลายพันละ อันนี้เตือนแม่ๆ ว่า นมแม่นี่ ของใครของมัน ไม่ควรเอานมแม่คนอื่นมาป้อนให้ลูกตัวเอง ถ้าไม่ผ่านการตรวจเชื้อ และผ่านธนาคารนมแม่มาแล้ว เพราะนมแม่ เป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสที่จะมีเชื้อต่างๆ จากแม่ที่ผลิตนมนั้น เช่น HIV ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี EBV CMV herpes  ซึ่งหากเด็กติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่” นอกจากนี้  ปกติหากนมแม่เหลือและอยากแบ่งปันให้คนอื่น  จะมีธนาคารนมแม่ ที่เขาจะตรวจสอบว่าแม่ติดเชื้อไหม นมปลอดภัย มีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยาต่างๆ หรือไม่ เพื่อให้เด็กที่กินนั้นปลอดภัย Bangkok Airways ประกาศ “ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร สัมภาระก่อนบิน”         17 กันยายน 2566 หลังจากที่สายการบินต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ได้มีการออกกฎชั่งน้ำหนักและสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อสำรวจและนำมาคำนวณกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิงนั้น         ทางบางกอก แอร์เวย์ส สายการบิน ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย โดยระบุข้อความดังนี้ “เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนสากล เรื่องการใช้ข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับคำนวณน้ำหนักผู้โดยสารและสัมภาระถือขึ้นเครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักของเที่ยวบินอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำหนดน้ำหนักอากาศยานสำหรับการวิ่งขึ้นสูงสุด (Maximum Take-Off Weight) และทำการบินได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งแต่ 15 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. 66 เป็นต้นไป บริษัทขออนุญาตเก็บข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารรวมสัมภาระถือขึ้นเครื่อง ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง จึงขอความร่วมมือจากท่านผู้โดยสารชั่งน้ำหนัก นอกจากนี้  บริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานเท่านั้น มพบ.เผยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดจะได้รับเงินคืนจาก “Thai Air Asia X”         หลังจาก วันที่ 31 สิงหาคม 66 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัสเที่ยวบิน XJ บริการสายการบินราคาประหยัด เส้นทางไปต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี         15 กันยายน 2566 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ)” มีผลครอบคลุมเจ้าหนี้ทุกคนที่เป็นผู้โดยสาร ทั้งผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่างได้สิทธิรับคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องทั้ง 2กรณี ส่วนที่ก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 11 คน พากันมายื่นร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนบาทนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนให้ดำเนินการหาทนายฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทาง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ยื่นคำร้องค้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำหน่ายคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเพราะศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น คดีอื่นๆ ที่มีการยื่นฟ้องหรือบังคับคดีจึงต้องหยุดชั่วคราวเพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ศาลมีข้อแม้ว่า หากสายการบินไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา ก็จะเดินหน้าในกระบวนการทางศาลต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ใส่น้ำมันในข้าวสวยทำไมไม่บอก

        อาหารแช่เย็น แช่แข็งในร้านสะดวกซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวก ตอบโจทย์ชีวิตสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาไปกับการเตรียมอาหาร แต่กระนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็คือฉลากสินค้าที่ต้องครบถ้วนเพียงพอสำหรับการซื้อ ส่วนประกอบสำคัญต้องมีอะไรบ้างก็ต้องบอกให้หมดไม่ปิดบัง เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์         คุณภูผาเป็นหนุ่มโสดรักสุขภาพ แต่ก็ไม่อยากหุงข้าวรับประทานเองสักเท่าไรเพราะไม่ค่อยสะดวก จึงเลือกซื้อข้าวสวยอีซี่โก ในร้านสะดวกซื้อชื่อดังมารับประทานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิหุงสุก ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซเบอรี่ผสมข้าวหอมมะลิ เพราะสะดวกเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา และเชื่อมั่นในตราสินค้าด้วยว่าคงไม่เอาเปรียบผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภูผาได้เห็นข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า ข้าวที่เขาซื้อประจำนั้นมีน้ำมันผสมอยู่ ซึ่งในฉลากอาหารก็ไม่ได้ระบุว่ามีน้ำมันเป็นส่วนผสม เขารู้สึกเหมือนถูกหลอก เพราะเขาไม่ต้องการร้บประทานข้าวที่ผสมน้ำมันเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับสุขภาพ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้มูลนิธิฯ ไม่เพียงได้รับเรื่องจากคุณภูผา ยังได้ร้บการร้องเรียนจากสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้ออีกหลายท่านด้วย  จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของตราผลิตภัณฑ์อีซี่โก เพื่อขอคำชี้แจ้งว่ามีการใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมในการหุงข้าวจริงหรือไม่ และหากมีจริงดังปรากฎเป็นข่าวบริษัทควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงฉลากให้เป็นฉลากสินค้าที่บอกข้อมูลที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภคต่อมาทางบริษัท ซีพีแรมฯ ได้ชี้แจงต่อมูลนิธิฯ ว่า บริษัทฯ มีการเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันรำข้าวจริงในผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการเติมน้ำมันรำข้าวไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำมันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าว และเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทที่ได้วิจัยมา ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยข้าวเมื่อทำให้เป็นอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง การใช้น้ำมันรำข้าวจึงช่วยรักษาคุณภาพข้าวหลังแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง ให้มีคุณภาพ เหนียว นุ่ม หนึบ และอร่อย ตลอดอายุการจัดเก็บจนถึงการบริโภค         ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มข้อมูลว่าใส่น้ำมันรำข้าวไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ข้าวแช่เย็น แช่แข็ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564         ดังนั้นผู้บริโภคทุกท่านโปรดอ่านฉลากสินค้าให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง และหากพบข้อสังเกตใดที่สร้างความไม่มั่นใจ ควรสอบถามต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าโดยตรงหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 อาหารพร้อมทานร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จานไหนโซเดียมสูง

        วิถีชีวิตแบบเร่งรีบของคนทุกวันนี้ ก่อให้เกิดวิถีการบริโภคอาหารที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว กล่าวคือ ง่าย อิ่มและไม่แพง  ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์พิเศษโควิด 19 ที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ ยิ่งส่งผลให้อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ได้อย่างดี ไม่ต้องไปนั่งในร้านอาหาร ไม่ต้องยืนรอคิว ไม่ต้องสั่งให้คนนำอาหารมาให้ แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเลือกหยิบเมนูที่ชอบ นำเข้าไมโครเวฟอุ่นร้อนก็รับประทานได้ในเวลาอันรวดเร็ว         ดังนั้นเมื่อนิตยสารฉลาดซื้อได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจาก “สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อรถรงค์ ลดเค็ม ลดโรค โดยคณะทำงานของทางโครงการฯ ได้เก็บตัวอย่างสินค้า อาหารพร้อมทานทั้งแบบแช่เย็น แช่แข็ง จำนวนถึง 53 รายการ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 แล้วนำมาอ่านฉลากโภชนการว่าแต่ละเมนูที่เลือกมามีปริมาณโซเดียมเท่าไร ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า อาหารพร้อมทานแบบแช่เย็น แช่แข็งนั้น มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในอาหารกลุ่มเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรตไต และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคทั่วไปจะได้รับโซเดียมเกินในแต่ละวัน         ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู คือแชมป์โซเดียมสูง        จากผลการสำรวจฉลากอาหารพร้อมรับประทานแบบแช่เย็น แช่แข็ง ทั้ง 53 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย        · อาหารจานหลัก ได้แก่ ข้าวผัด ข้าวหน้าต่างๆ ข้าวกะเพรา ยากิโซบะ และผัดไทย (จำนวน 35 ตัวอย่าง)         · อาหารอ่อน ได้แก่ โจ๊ก ข้าวต้ม เกี๊ยวน้ำ (จำนวน 15 ตัวอย่าง)         · ขนม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ บัวลอยมันม่วง บัวลอยเผือก และสาคูถั่วดำ         พบว่ามีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมทั้ง 53 ตัวอย่าง อยู่ที่ 858 มิลลิกรัม (ระหว่าง 210 – 1,390 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค) โดยเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มอาหาร           o กลุ่มอาหารจานหลัก ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 450 – 1,390   มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค        o กลุ่มอาหารอ่อน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 380 – 1,340   มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค และ        o ขนมหวาน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 210 - 230  มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค            และ 10 อันดับเมนูโซเดียมสูง จากการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่        1.ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู อีซี่โก 1,390 มก./  หน่วยบริโภค 240 กรัม        2.ผัดไทยกุ้งสด อีซี่โก  1,360 มก./ หน่วยบริโภค 225 กรัม        3..ข้าวต้มหมู แฟมิลีมาร์ท 1,340 มก./ หน่วยบริโภค 300 กรัม        4.ผัดไทยกุ้งสด มาย ช้อยส์ 1,310 มก./ หน่วยบริโภค 235 กรัม        5..ยากิโซบะหมู อีซี่โก  1,290 มก./ หน่วยบริโภค 195 กรัม.        6. ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม อีซี่โก 1,280 มก. / หน่วยบริโภค 210 กรัม        7 ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ อีซี่โก 1,200 มก. / หน่วยบริโภค 200 กรัม        8. ข้าวผัดปู เดลี่ไทย  1,200 มก. / หน่วยบริโภค 250 กรัม        9. เกี๊ยวกุ้ง ซีพี  1,160 มก. / หน่วยบริโภค 145 กรัม        10.เกี๊ยวกุ้ง บิ๊กมีล  1,130 มก. / หน่วยบริโภค 300 กรัม ทำไมอาหารแช่เย็นแช่แข็งถึงมีโซเดียมสูง         ในการผลิตอาหารแช่เย็นแช่แข็ง นอกจากโซเดียมซึ่งอยู่ในรูปของวัตถุดิบ และเครื่องปรุงรสต่างๆ อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว แล้ว ยังมีการใส่วัตถุเจือปนอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารคงสภาพดีไปจนตลอดอายุ เช่น วัตถุกันเสีย (โซเดียม เบนโซเอต) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) สารเพิ่มความข้นเหนียว. (โซเดียม อัลจิเนต)  ฯลฯ ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ทางการอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ แต่ก็เพิ่มปริมาณโซเดียมเข้าสู่อาหารแช่เย็นแช่แข็งด้วยเช่นกัน แพทย์แนะวิธีบริโภคอาหารแช่เย็นแช่แข็ง         “อาหารแช่แข็ง หากมีความจำเป็นต้องรับประทานควรดูที่ฉลากโภชนาการ หากมีโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ หรือบวกได้อีก 100 มิลลิกรัมต่อมื้อ ถือว่ายังได้รับปริมาณโซเดียมในระดับที่ไม่อันตราย” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2559แพทย์เฉพาะทางบาทเดียวปัจจุบันนี้มีการส่งต่อและแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกต้อง หรือให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน นำมาซึ่งความเข้าใจผิด หากนำไปใช้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ในชื่อของ “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” (SOS Specialist) โดยกลุ่มแพทย์จิตอาสากลุ่มนี้จะคอยให้บริการตอบคำถามสุขภาพผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามความรู้ที่ถูกต้องเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลกับแพทย์ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้โดยตรง โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนสอบถามและขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากถึง 50,519 คำถาม ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากห้องอายุรกรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ อัมพาต รองลงมาคือ ห้องเด็ก ห้องสูติ เช่น เรื่องการคุมกำเนิด ประจำเดือน ฯลฯ และห้องจิตเวช ซึ่งผู้ที่ส่งคำถามมาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ และกลุ่มที่ผ่านการตรวจรักษาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัย ใครที่สนใจอยากสอบถามปัญหาเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลกับแพทย์ตัวจริงเสียงจริง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว www.sosspecialist.com หรือที่เฟซบุ๊คแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว เลิกสงสัย!!! “น้ำผักชี” ไม่ช่วยล้างไตมีการแชร์ข้อมูลที่อ้างว่า “น้ำผักชี” ช่วยล้างไตได้ ซึ่งสร้างความสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จประการใด จนล่าสุด ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น  และรักษาการประธานชมรมเภสัชกรสมุนไพร ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า น้ำผักชีไม่ได้มีผลในการช่วยล้างไต ข้อมูลที่มีการแชร์กันอยู่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดเป็นตัวยืนยัน ที่สำคัญคือในผักชีมีสารโพแทสเซียมสูงถึง 540 มิลลิกรัมต่อผักชี 100 กรัม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลให้ไตทำงานหนัก เพราะถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปจะเป็นภาระต่อไตที่ต้องทำหน้าที่ขับออกจากร่างกาย ซึ่งปกติใน 1 วันร่างกายของเราควรได้รับโพแทสเซียที่ปริมาณ 4.7 มิลลิกรัมเท่านั้นแต่ทั้งนี้คนที่บริโภคผักชีทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะโดยปกติเรากินผักชีในปริมาณไม่มากถึงขนาดที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งผักชีถือเป็นผักที่มีประโยชน์ ช่วยในการขับลม ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ซื้อสินค้าลดราคา ระวังเจอของหมดอายุ!!!ใครที่ชอบซื้อสินค้าลดราคาโดยเฉพาะพวกอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าลืมเช็คเรื่องคุณภาพสินค้าและวันหมดอายุให้ดี ระวังได้จะของถูกแต่ไม่มีคุณภาพเหมือนกับกรณีที่มีการแชร์กันในสื่อออนไลน์ เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่งได้ซื้อไข่ไก่ลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 โดยผู้บริโภครายนี้พยายามมองหาข้อมูลวันหมดอายุที่ตัวสินค้า แต่กลับพบว่าป้ายที่แจ้งลดราคาแปะทับเอาไว้อยู่ เมื่อแกะป้ายราคาออกก็ต้องตกใจเมื่อเจอกับข้อมูลวันหมดอายุที่แจ้งว่าไข่ไก่แพ็คนี้หมดอายุมาแล้ว 2 วัน!!!นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะห้างมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสินค้าก่อนที่จะขาย เมื่อสินค้าหมดอายุก็ควรรีบจัดเก็บทันที เพราะถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าและรับประทานเข้าไปก็อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารหมดอายุได้ นอกจากนี้ยังถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่องอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับโดยผู้บริโภคที่พบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพบสินค้าหมดอายุถูกนำมาวางจำหน่าย การปกปิดข้อมูลเรื่องวันหมดอายุ หรือการแจ้งราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาที่ขาย สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ไมว่าจะเป็น อย., สคบ. และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บังคับติด “ฉลากหวานมันเค็ม” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป – อาหารแช่แข็งกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเพิ่มชนิดอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และ โซเดียม แบบ GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ “ฉลากหวานมันเค็ม” จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยในประกาศฉบับใหม่จะมีการเพิ่มกลุ่มอาหารที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน อย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงเข้าไปประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ ได้กำหนดกลุ่มอาหารที่ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ออกเป็น 5 กลุ่ม 15 ชนิด ดังนี้1.อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรือทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอดหรืออบกรอบ หรือปรุงรส2.ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทํานองเดียวกัน3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้4.อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง5.อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่ายทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการบังคับให้อาหารเหล่านี้ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ก็เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการใช้เป็นข้อมูลในเลือกรับประทานให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดการบริโภค หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศฉบับนี้จะต้องทำการติดฉลากหวานมันเค็มตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป เชิญร่วมงานเวทีประชุมแลกเปลี่ยน “ตลาดที่มีจิตสำนึก” ครั้งที่ 3ในยุคที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะฝากท้องไว้กับอาหารจากระบบอุตสาหรรม อาหารแปรรูปที่ผ่านการปรุงแต่งดัดแปลง ซึ่งแม้จะได้ความสะดวกสบายแต่กลับเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนของสารเคมีปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สีสังเคราะห์ สารปรุงแต่งรสและกลิ่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา    “ตลาดที่มีจิตสำนึก” จึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้ผลิต เกษตรกร ที่ใส่ใจในการผลิตอาหารปลอดภัย ได้นำสินค้าของตัวเองมาส่งต่อโดยตรงถึงมือผู้บริโภค คนกินได้อาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนคนขายคนผลิตก็ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม ได้กำลังใจในการทำเกษตรกรที่ปลอดภัยที่ต้องใช้ความใส่ใจในปลูกมากกว่าการเกษตรทั่วไป    ในวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย 59 นี้ จะมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนตลาดทางเลือกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยผู้ประกอบการสังคมและผู้บริโภคสีเขียว ภายใต้ชื่องานว่า “ตลาดที่มีจิตสำนึก #3” ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงความสำคัญของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อสังคม โดยจะมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาบอกเล่าในงานประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการทางสังคมที่จะมาบอกเล่าว่าการทำธุรกิจโดยใส่ใจสังคมเป็นมิตรกับชุมชนนั้นต้องเริ่มต้นยังไง    ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ สวนเงินมีมา โทร. 02-622-0955, 02-622-2495-6 www.suan-spirit.com  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 อย่าลืมดู “ส่วนประกอบ” ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป

  เมื่อหมูย่างกลายเป็นไก่ย่าง             ในวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแต่ความเร่งรีบ เรื่องของความสะดวกและรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน จากวิถีการบริโภคที่เนิ่นช้า ใช้เวลาในการประดิดประดอย ตกแต่งทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาของอาหารให้มีความสวยงาม เปลี่ยนมาสู่อาหารที่พร้อมบริโภคได้ทันที เพียงแค่เอาออกจากตู้แช่แล้วผ่านความร้อนแค่ไม่กี่นาที จากเตาไมโครเวฟ โดยเราเรียกมันว่า “อาหารแช่เย็น – แช่แข็ง”    ถ้ามองผ่านๆ รูปร่างหน้าตาบนฉลากสินค้าเหล่านี้จะดูน่ารับประทานและมีความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์สูง เรียกว่า อยากกินเมนูอะไรก็มีให้เลือกมากมาย แต่เดี๋ยวก่อน ...การมองเฉพาะชื่ออาหารบนผลิตภัณฑ์อาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด เพราะเป็นไปได้ว่า หมูย่างที่คุณกำลังจะกินอาจมีไก่ผสม หรือ ลูกชิ้นกุ้ง ไม่ได้เป็นกุ้งล้วน แต่เป็นเนื้อปลา   ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” จึงได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชนสุ่มสำรวจตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภคชนิดแช่เย็นและแช่แข็ง จำนวน 76 ตัวอย่าง 3 กลุ่มอาหาร ประกอบด้วย กลุ่มเบอร์เกอร์-ฮอทดอก-แซนวิช กลุ่มติ่มซำ-อาหารเรียกน้ำย่อย และกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป จากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โฮมเฟรชมาร์ท บิ๊กซี โลตัส และกูร์เม่ มาร์เก็ต สยามพารากอน เซเว่นอีเลฟเว่น ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2556 เมื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบการแสดงรายละเอียดของชื่ออาหาร และส่วนประกอบ ว่ามีความสอดคล้องหรือไม่ และอาจจะนำมาซึ่งความสับสนแก่ผู้บริโภคหรือไม่   ผลทดสอบ  ร้อยละ 62 ฉลากควรต้องปรับปรุง            “ฉลาดซื้อ” พบว่า จาก 76 ตัวอย่าง มี 29 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่ฉลากแสดงข้อมูลได้ค่อนข้างดี คือ มีการใช้ชื่ออาหารที่ชัดเจนเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านชื่ออาหาร มีการแสดงชื่ออาหารที่สอดคล้องกับส่วนประกอบ และมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ค่อนข้างละเอียดและชัดเจน ขณะที่อีก 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62) มีการแสดงข้อมูลบนฉลากที่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค บางรายการอาจเข้าข่ายทำให้เข้าใจผิดและเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้องได้ (มาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522) โดย แบ่งตามลักษณะการกระทำความผิดได้เป็น 5 ลักษณะ คือ   ชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบ การแสดงชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบหลักของอาหาร เช่น ตรา เดลี่ไทย ใช้ชื่ออาหารว่า ข้าวเหนียวหมูย่าง แต่มีส่วนประกอบของหมูและไก่ อีกทั้งปริมาณและสัดส่วนของเนื้อสัตว์ทั้งสองชนิดยังใกล้เคียงกันมากคือ ร้อยละ 10 และ ร้อยละ 9 ตามลำดับ หรือ ไส้กรอกชีสต์หมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด ที่ส่วนประกอบไม่มีการระบุว่า มีชีสต์ ทั้งที่ในชื่ออาหารแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นไส้กรอกชีสต์ กุ้งทอดสอดไส้ชีส ตราสุรพลฟู้ดส์ ที่ชื่อบอกว่ากุ้ง แต่มีส่วนประกอบ ทั้งกุ้งและปลา คือ กุ้ง 23%, เกล็ดขนมปัง 17%, เนื้อปลาบด 15%, ชีส 6% เป็นต้น   การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บอกว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บ่งชี้ว่าอาหารชนิดนั้นคืออะไร ทำมาจากอะไร เช่น แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่น เฟรช ที่ส่วนประกอบระบุว่า ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20%, แป้งสาลี 10.8%... ฯลฯ ซึ่งทั้งชื่ออาหารและส่วนประกอบไม่ได้ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ไส้กรอกนั้น ๆ คืออะไร หรือ WAVE DOG ฮอทดอกซอสพิซซ่า ที่ส่วนประกอบแสดงว่าทำจากไส้กรอกไก่ แต่มิได้แสดงชื่อไส้กรอกไก่ไว้บนฉลาก   การแสดงชื่ออาหารไม่ชัดเจน เมื่อชื่ออาหารไม่ชัดเจน ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไรเป็นจริงตามชื่ออาหารที่กล่าวอ้างหรือไม่ รวมถึงมิได้มีการแสดงส่วนประกอบเป็นร้อยละ หากแต่แสดงเพียงรายการวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นอาหารเท่านั้น เช่น ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตรา เซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ ที่ส่วนประกอบระบุแค่ เนื้อสัตว์ เพียงอย่างเดียว หรือ เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน ที่ระบุส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%, มันแกว 11.5% ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) ที่ชื่อไม่บอกว่าทำจากสัตว์ โดย ส่วนประกอบ แสดงแค่ว่าทำจากเนื้อสัตว์ + เครื่องปรุงรส แต่บนฉลากกลับมีการแสดงรูปไก่ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นยอไก่ได้ เป็นต้น   มีการแสดงฉลากอาหารสองชุด คือมีฉลากที่สลักติดมากับบรรจุภัณฑ์และฉลากแบบที่เป็นสติ๊กเกอร์ที่แปะมาในภายหลังซึ่งฉลากทั้งสองชุดมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ไม่ตรงกัน เช่น ไส้กรอกคอกเทลรมควัน ตรา ซีพี ซึ่งฉลากที่ติดมากับซองแสดงรายละเอียดว่า เนื้อสัตว์ ขณะที่ ฉลากที่เป็นสติ๊กเกอร์ ระบุว่า ทำมาจาก เนื้อหมู และเนื้อไก่ หรือ ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว ที่มีฉลาก 2 ชุด ชุดแรกเป็นสติ๊กเกอร์แสดงรายละเอียดว่า ทำจากเนื้อหมูและอื่น ๆ กับ ฉลากชุดที่สองเป็นตัวหนังสือสลักบนซองบอกรายละเอียดว่าทำจากเนื้อสัตว์และอื่น ๆ เป็นต้น   มีชื่ออาหารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ความหมายไม่ตรงกัน ชื่อที่อาจสร้างความสับสน เช่น ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงรส) ขณะที่ ชื่อภาษาอังกฤษ แสดงคำว่า Lobster Ball ซึ่งหมายถึงว่าทำมาจากกุ้งมังกรแท้ กับ Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p ที่ชื่อภาษาอังกฤษแสดงว่าเป็นขนมจีบกุ้ง ขณะที่ชื่อภาษาไทยบอกแค่ขนมจีบ เป็นต้น   ข้อควรระวัง สีของซองกับตัวอักษรบนซองกลืนกัน อ่านได้ยาก เช่น กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) ที่ทำสีซองและตัวหนังสือเป็นสีเหลืองกลืนกับสีพื้น ชื่ออาหารตัวเล็กอ่านได้ยากเนื่องจากมีชื่ออาหารที่ยาวเกินไป เช่น เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบบางครั้งยังไม่ละเอียดเพียงพอ ไม่สามารถทราบได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร เช่น เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้กุ้งทรงเครื่อง ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า ที่ส่วนประกอบหลักระบุเพียงแค่ว่าทำจาก ไส้กุ้งทรงเครื่อง 57% ขณะที่เกี๊ยวหมูซอสญี่ปุ่น ตรา ซีพี ที่มีการแสดงส่วนประกอบคล้าย ๆ กัน กลับแสดงรายละเอียดเป็นวงเล็บไว้ว่าไส้หมูสูตรญี่ปุ่นทำจาก เนื้อหมู ผัก และเครื่องปรุงรส การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบที่อาจมีผลต่อการก่อภูมิแพ้สำหรับผู้แพ้อาหารยังคงเป็นการแสดงโดยสมัครใจ (ผู้ผลิต เป็นผู้อาสาแสดงรายละเอียดเองโดยไม่มีกฎหมายบังคับ) และยังไม่โดดเด่นพอที่จะเป็นจุดสังเกตให้ผู้บริโภคต้องระวังเมื่ออ่านฉลาก ส่วนใหญ่ของอาหารที่ฉลาดซื้อนำมาสำรวจในครั้งนี้ใช้ ผงชูรส (msg-โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และวัตถุปรุงแต่งรสอาหารชนิดอื่น ๆ ประกอบอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาโรคไตหรือมีปัญหากับผงชูรส ไม่มีตัวเลือกเท่าไหร่นัก กว่าหนึ่งในสามของตัวอย่างที่ทดสอบจะมีการใช้เนื้อสัตว์อื่นนอกจากเนื้อสัตว์ที่เป็นชื่ออาหารมาผสมเป็นอาหาร ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาแพ้อาหารหรือไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์บางประเภทได้ด้วยปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัว (เช่น เป็นโรคแพ้กุ้ง หรือเป็นโรคเก๊าท์ ทานเนื้อไก่ไม่ได้ เป็นต้น) จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะได้เนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ต้องการเป็นของแถมเมื่อบริโภคอาหารในกลุ่มนี้   ฉลาดซื้อแนะนำ 1.อ่านฉลากอาหารโดยละเอียด อย่าดูเพียงแค่วันผลิต – วันหมดอายุ โดยให้อ่านทั้งชื่ออาหาร ส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าสอดคล้องกับชื่ออาหารที่แสดงไว้หรือไม่ และอย่าลืมดูชื่อผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่ายด้วย เนื่องจากหากต้องการร้องเรียนหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาด จะได้ดำเนินการได้โดยตรง 2.ให้ดำเนินการร้องเรียน เมื่อพบอาหารที่มีปัญหาการแสดงฉลาก หรือสงสัยว่าจะมีปัญหากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยทำหนังสือเป็นทางการพร้อมส่งภาพฉลากอาหารที่สงสัยให้กับ อย. เพื่อให้วินิจฉัย พร้อมดำเนินการทางกฎหมายหากพบว่าเป็นการกระทำความผิดจริงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 3.ควรซื้อหรือรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และ/หรือปรุงอาหารรับประทานเองบ้าง อาหารแช่แข็งควรเป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น อย่าจำกัดชีวิตตัวเองมากเกินไป   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่การแสดงฉลากควรปรับปรุง   ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 71.4%, เนื้อหมู 10.6%, เนื้อไก่ 9.1% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0347 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 14.0%, เนื้อไก่ 12.0% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0726 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมู ตรา 7 เฟรช ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 12.7%, เนื้อไก่ 7.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0611 แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่นเฟรช Sausage Cake Sandwitch ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20% แป้งสาลี 10.80%... ฯลฯ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด 12-2-01653-2-0002 เกี๊ยวหมูซอสสุกี้ ตราซีพี แผ่นเกี๊ยว 31%, เนื้อหมู 26%, ผัก 23 %, เนื้อไก่ 14% บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 24-2-02255-2-0029 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น ไส้หมู ตรา สุรพลฟู้ดส์ Pork Gyoza ผัก 27.1%, แป้งเกี๊ยว 22.8% เนื้อหมู 21.3%, เนื้อไก่ 15.4% บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ 11-1-21429-2-0353 ขนมจีบกุ้ง ตรา เทสโก้ Shrimp Shumai กุ้ง 39%, มันแกว 27%, ปลาบด 10% บริษัท พัฒนาซีฟู้ดส์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) 74-2-00644-2-0068 Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p กุ้ง, หมู, แป้งสาลี, เครื่องปรุงรส บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 11-1-21429-2-0056 กุ้งบอมบ์ ตรา สามสมุทร Sea Shrimp Bomb ขนมปังหั่นเต๋า 40%, เนื้อปลา 35% กุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท เค. แอล. ห้องเย็นจำกัด 74-2-03448-2-0075 เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน Crab Dumpling เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%,มันแกว 11.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0693 ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อสัตว์ บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0001 ลูกชิ้นปลาหมึก (cuttlefish ball) ตราแต้จิ๋ว เนื้อปลา 58% ปลาหมึก 15% บริษัท มหาชัยฟู้ดโปรเซสซิ่ง จำกัด 74-2-00637-2-0001 ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงแต่งรส) Lobster Ball เนื้อปลา 60% น้ำ 35% แป้ง 6% ผลิตโดย บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด 74-1-28034-2-0010 ชิกเก้นแฟรงค์ (ไก่) ตรา ซีพี มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกป้ายแปะบนซอง : เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ ชุดที่สองตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือเสริมไอโอดีน น้ำตาล เครื่องเทศ ผลิต/บรรจุโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   10-1-05649-1-0678 ไส้กรอกชีสไก่ Halal ตรา บีเคพี มีฉลาก 2 ชุด แสดงข้อมูลตรงกัน คือ เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ (ไม่มีการแสดงชีสในส่วนประกอบ) ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   19-2-01155-2-0031 ไส้กรอกไก่-หนังกรอบ ตรา SSP (ฉลากบนซองไม่ระบุชนิดของไส้กรอก บอกเพียงแค่ ไส้กรอก SSP) เนื้อสัตว์ 80%, ไขมัน 12% น้ำ 2%, แป้ง 4%, เครื่องปรุง 2% ผลิตโดย บริษัท เจพีเอ็ม ซอสเซส จำกัด 26-2-00250-2-0022 ไส้กรอกจูเนียร์ไก่ ตรา โชคุ-ดี เนื้อสัตว์ 85%, ไขมัน 10%, เกลือ-น้ำตาล 4%, เครื่องเทศ 1% บริษัท ทีดี มีท โปรดักส์ จำกัด 30-2-03153-2-0001 ไส้กรอกชีสหมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด โรงงาน: อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 16-2-01746-2-0271 ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกเป็นป้ายแปะบนซอง : เนื้อหมู น้ำตาล เครื่องเทศ เกลือเสริมไอโอดีน ชุดที่สองเป็นตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท บางกอกแฮม โปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด 11-2-10747-2-0037 ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน วิตามิน น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท แอดวานซ์ มีท โปรดักส์ จำกัด 13-2-06647-2-0072 ตับบด (ก้อน) ตรา ทีจีเอ็ม Liver Sausage เนื้อหมู 60%, ตับหมู 15%, มันหมู 15%, น้ำ 5%,… ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0102       ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากชัดเจน ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวไก่ทอดหาดใหญ่ ตรา เซเว่นเฟรช Hat Yai Fried Chicken Sticky Rice Burger ข้าวเหนียว 61.5%, เนื้อไก่ 22.5%, เครื่องปรุงรส 6.9% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0836 ข้าวเหนียวไก่ทอด ตรา พรานไพร Fried Chicken with Sticky Rice ข้าวเหนียว 70% เนื้อไก่ 24.5%...ฯลฯ บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด 74-2-01249-2-0221 หมูปิ้งสูตรนมสด ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อหมู 73%, เครื่องปรุง 11.26% (พริกไทย,…ฯลฯ), นมข้นจืด 1.50% บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0014 แซนวิชกุ้งชีส ตรา I-Bake Sandwich Shrimp & Cheese ขนมปังแซนวิชนมสด 40% เบอร์เกอร์กุ้ง 32%, แซนวิช สเปรด 22%, ชีสสไลด์ 6% บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด   12-2-01653-2-0043 เบรก แอนด์ ฟาสต์ แซนวิช ไส้หมูอบซอสญี่ปุ่นและชีส ตรา โออิชิ ขนมปังแซนวิช 54%, มายองเนสซอสญี่ปุ่น 24%, หมูอบ 18%, เชดด้าชีส 4% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0416 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้หมู ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า เนื้อหมู 45%, แป้ง 35% กะหล่ำปลีและหอมใหญ่ 20% เครื่องปรุงรส 3% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0055 เกี๊ยวหมูลุยสวน ตรา ซีพี ไส้หมูลุยสวน (เนื้อหมู, ผัก และเครื่องปรุงรส) 48%, แผ่นเกี๊ยวผัก 30%, น้ำจิ้มลุยสวน 22% ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   24-2-02255-2-0017 กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) เนื้อปลาบด 64.08% น้ำแข็ง 17.68% เนื้อกุ้งบด 8.59% เกล็ดขนมปัง 6.71% ผู้ผลิต บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด   90-1-22129-2-0004 กุ้งระเบิด Shrimp Bomb เนื้อปลาบดปรุงรส ผสมกุ้งชุบเกล็ดขนมปัง เนื้อปลาบด 30%, น้ำ 23%, เกล็ดขนมปัง 15%, เนื้อกุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0007 นักเก็ตกุ้ง ตรา ซีพี CP Appetizer แป้งทอด 50% กุ้ง 48% เครื่องปรุงรส 2% ผลิต/บรรจุโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 74-2-00348-2-0029 หมูพันสาหร่าย ตรา เจด ดราก้อน Seaweed Pork Roll   เนื้อหมู 60%, เครื่องปรุงรส 16%, โปรตีนถั่วเหลือง 12%, น้ำกรอง 6%, สาหร่ายทะเลอบแห้ง 4%, น้ำมันงา 2% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด   13-1-19233-20004 ขนมจีบไก่สับ ตรา เปาสตาร์ Chicken Shu Mai เนื้อไก่ 58.4%, มันแกว 13.3%, เครื่องปรุง 12.9%, แป้งสาลี 10%, …ฯลฯ ผลิตโดย บริษัท บีดีซี สเปเชียลตี้ฟู้ดส์ จำกัด 13-2-00549-2-0022 ไส้กรอกพ๊อคจูเนียร์ ตรา ทีจีเอ็ม Junior Pork Sausage เนื้อหมู 80%, น้ำ 15%, เครื่องปรุงรส 5% ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0267 ไส้กรอกเวียนนาหมู ตรา บิ๊กซี Pork Vienna Sausage เนื้อหมู 85%, น้ำ 10%, เครื่องปรุงรส 5% บริษัท พลายฟู้ดส์ จำกัด 74-2-02551-2-0010 ไส้กรอกหมูกระเทียมพริกไทย ตรา S&p Premo Pepper and Garlic Pork Sausage เนื้อหมู, เครื่องเทศ, น้ำตาล, เกลือ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)   10-1-07036-1-0250 ลูกชิ้นหมู ปิ้ง – ทอด ตรา โฮเด้ง เนื้อหมู 70%, แป้งมัน 20%, พริกไทยและอื่น ๆ 6%... บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ดส์ จำกัด 73-2-06146-2-0012 เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake เนื้อปลาบด 50% น้ำ 34.8% แป้งมันฝรั่ง 10% บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0181 มูส เดอ ฟัว (ตับหมูบดนึ่ง) ตราคาสิโน ตับหมู 30%, ไขมัน 30%, หนังหมู 10%, …. ฯลฯ ผลิตโดย Madrange La Valoine ประเทศฝรั่งเศส นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 10-3-07554-1-0112  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point