ฉบับ 256 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2565

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)        1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 (PDPA) มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรฐานการใช้ เก็บ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้อยู่ในระดับสากล ในส่วนของกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง         ตัวอย่างกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1.การนำประวัติทำความผิดคนอื่นโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม 2. นำเรื่องราวเจ็บป่วยของคนอื่นมาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ 3.นำรูปคนอื่นในกูเกิ้ลมาตกแต่งรูปภาพ ใส่ข้อความไม่ว่าจะชื่นชม หรือด่าทอ หากคนอื่นโพสต์รูปภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วหมั่นไส้เลยเข้าไปคอมเม้นต์ทำให้เขาเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 4.หัวหน้างานลงโทษออกใบเตือนลูกน้องแล้วนำใบเตือนมาติดบอร์ด ส่งในไลน์กลุ่ม หรือไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก 5.การไปแจ้งความว่าโดนคนอื่นฉ้อโกง พอได้ใบแจ้งความจากตำรวจแล้วนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้หลงกลถูกหลอกอีก เป็นต้น โดยการกระทำดังกล่าว โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สธ.ประกาศให้ “กลิ่น-ควัน” กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ         หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้ “ปลดล็อกกัญชา-กัญชง” อย่างเป็นทางการ อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมา วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น ควันกัญชา กัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาในประกาศได้ระบุว่า         “เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวมีอนุภาคขนาดเล็กที่เข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข”             นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ บุคคลที่มีประวัติโรคซึมเศร้า ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยงในการใช้และสัมผัสควันกัญชา และสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ ควรหลีกเลี่ยงการจัดรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการอีกด้วย แท็กซี่วิ่งนอกเขต 6 จังหวัด ไม่ต้องกดมิเตอร์ได้         ประกาศกรมการขนส่งทางบก 10 มิถุนายน 65 เป็นต้นไป รถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถใช้วิธีตกลงราคานอกจากการใช้มาตรค่าโดยสาร พ.ศ. 2565 ได้ โดยหากทำการรับจ้างนอกเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 6 จังหวัด โดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และนครปฐม หรือรับจ้างจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ โดยสามารถตกลงราคาในรูปแบบเหมาจ่ายได้ นอกเหนือจากการกดมิเตอร์        โดยสาเหตุที่มีการปรับใช้ราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรูปแบบนี้ เป็นการปรับตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งผู้โดยสารส่วนมาก มักนิยมวิธีการตกลงราคาโดยเหมาจ่ายแทนการกดมิเตอร์ เมื่อได้ทำการจ้างไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่สอดคล้องกับระเบียบในปัจจุบัน จึงสมควรที่จะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและหมาะสมมากขึ้น ให้เกิดความคล่องตัวในการรับจ้างที่มีระยะทางไกล และเป็นไปตามความตกลงของผู้ใช้บริการและผู้ขับรถยนต์รับจ้าง น้ำปลาร้ากินมากเสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย                    จากกรณีดราม่าที่มีเน็ตไอดอลที่ขายสินค้าน้ำปลาร้า ได้ทำการพรีเซนต์โดยเทน้ำปลาร้าใส่แก้วน้ำแข็งและยกดื่ม นั้น หลายคนยังห่วงว่าหากเป็นน้ำปลาร้าจริง กลัวจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หากรับประทานปริมาณที่มากอาจอันตรายต่อไตได้ นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า กรณีที่มียูทูบเบอร์นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่านำมาเป็นเครื่องดื่มได้ เนื่องจากน้ำปลาร้าคือเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง ไม่ควรนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่ม  อาจจะก่อให้เกิดโรคชนิดต่างๆ ยกตัวอย่าง โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง ข้อมูลโซเดียมของเกลือและผงชูรสในปลาร้าแต่ละชนิด รวมทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ ตลาด พบว่ามีโซเดียมในระดับที่สูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินคำแนะนำขององค์กรอนามัยโรค 10 ปี ยังไม่จบ คดี “แคลิฟอร์เนีย ว้าว”          จากกรณี “คดีแคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ปิดกิจการหนี ทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดจำนวน 5 รายการ ราคาประเมิน 293 ล้านบาท ให้นำไปชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ที่ได้ “ยื่นคุ้มครองสิทธิ์” กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 849 ราย เป็นเงิน 46 ล้านบาท และให้ดอกผลแก่ผู้เสียหาย ในวันที่ได้รับเงินเยียวเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยจากร้อยละ 7.5 นับจาก “วันที่ดำเนินคดี” และนับต่อเนื่องให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ตามกฎหมายใหม่ที่กำหนด จนกว่าคดีจะสิ้นสุด         อย่างไรก็ตาม นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ แต่ยังมีกระบวนการที่ฝ่ายผู้ร้องค้านนั่นคือ “บริษัท ฟิทเนส เอสเตท” และ “บริษัท มัสมั่น วิลล่า“ อาจต้องสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยกระบวนการนี้ศาลให้เวลา 30 วัน ยื่น “คำร้องค้าน” นับจาก 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระบวนการระหว่างทางจนถึงวันศาลรับคำร้องไว้พิจารณา จนถึงวันพิพากษาอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี        ย้อนไปในปี 2543-2556  “คดีแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” ที่มีนายแอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปี-ตลอดชีพ กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมากได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้ทำการดำเนินการเป็นตัวแทนเพื่อฟ้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” นอกจากนี้ ผู้ต้องหานายแอริค มาร์ค เลอวีน ยังคงล่องหน  จนวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยไม่มาศาล จึง “เลื่อนคดีไม่มีกำหนด” พร้อมออกหมายจับอายุความ 10 ปี  เมื่อนับจากเหตุเกิดปี 2555 จนถึง 2565 หมายจับถือว่าหมดอายุความแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมกราคม 2559อย.ยืนยันไม่เคยขึ้นทะเบียน “ยาฉีดสลายไขมัน” อย.ออกมายืนยันไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาใดๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน หลังจากพบว่ามีการโฆษณาฉีดสารสลายไขมันจากผู้ที่แอบอ้างเป็นหมอ หรือ “หมอกระเป๋า” ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการรักษาใดๆ แต่รับฉีดยาให้กับผู้ที่ติดต่อซื้อบริการ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ อย.ย้ำว่าการที่ผลิตภัณฑ์ใดจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะต้องผ่านการพิจารณาในด้านการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา โดยต้องผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักวิชาและข้อกำหนดตามกฎหมาย ผลิตภัณฑ์สลายไขมันซึ่งใช้วิธีฉีดเข้าสู่ร่างกายที่มีจำหน่ายและบริการอยู่เป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย การฉีดสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการแพ้ขั้นรุนแรง เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การจะเข้ารับบริการฉีดสารใดๆ เพื่อผลเรื่องความสวยความงามหรือผลต่อสุขภาพนั้น ควรเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย   ปปง.สั่งยึดทรัพย์ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” แล้วหลังจากเป็นคดีมาตั้งแต่ปี 2555 ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ได้ทำการดำเนินการยึดทรัพย์ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หลังจากทำการปิดสถานบริการออกกำลังกายชื่อดัง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” โดยไม่มีการแจ้งให้กับผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า แถมไม่มีการดำเนินการชดเชยใดๆ ให้กับสมาชิกที่มีมากกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหายหลาย 10 ล้านบาท  ซึ่งผู้เสียหายได้ร่วมตัวกันโดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเป็นตัวแทนในการดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมาย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิบพบว่าบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่มี นายเอริค มาร์ค เลอวียน เป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยนั้น ได้มีการโอนเงินจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ไปซื้อที่ดิน จำนวน 5 แปลง โดยมีบริษัท ฟิตเนส เอสเตท จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัท ฟิตเนส เอสเตท มีรายชื่อของนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท แม้ต่อมาได้มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัท มีบริษัท ละติจูด 43 จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ละติจูด 43 จำกัด มีบุคคลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง คือ นายเอริค มาร์ค เลอวีน ทั้งนี้ โดยการหลอกลวงนั้น ทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมจ่ายเงินเป็นค่าสมัครและใช้บริการ ก่อนจะปิดกิจการหนีหายไป จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเชื่อว่าบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลอาญาแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปปง. จึงมีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกไว้ชั่วคราว เป็นที่ดินในจังหวัดพังงาจำนวน 5 รายการ รวมประมาณ 17 ไร่ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 88,332,500 บาท จากนี้ก็จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป อิเกีย เรียกคืนของเล่นเด็กอิเกีย ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่มีสาขาไปทั่วโลก ล่าสุดอิเกียประเทศไทยได้เรียกคืนสินค้า “ไม้กลองและกลองทังก์ดรัม รุ่น LATTJO/ลัททิโอ” หลังมีรายงาน 6 ฉบับจากพนักงานอิเกียที่ระบุว่า หัวยางบนไม้กลองอาจหลุดหรือหมุนออกมาได้ และอาจติดคอเป็นอันตราย หากเด็กเล็กกลืนลงคอด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ว่าสินค้านี้จะผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับของเล่น แต่เมื่อมีการตรวจสอบในภายหลังแล้วพบว่าสินค้าอาจเกิดอันตราย อิเกียจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเบื้องต้นคือการเรียกคืนสินค้าและหยุดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ที่ผ่านมา อิเกียประเทศไทยได้มีการเรียกคืนสินค้ามาแล้วหลายรายการ เช่น ชิงช้า รุ่น GUNGGUNG/ยุงยุง เนื่องจากพบว่าอุปกรณ์แขวนชิงช้าไม่ผ่านข้อกำหนดด้านคุณภาพ หรือแม้สินค้าประเภทอาหารอย่าง พาสต้ารูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR) และพาสต้าโฮลเกรนรูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR FULLKORN) เนื่องจากมีส่วนผสมของถั่วเหลืองแต่ไม่ได้ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้แพ้ถั่วเหลือง ปี 58 จับยาปลอม-อาหารเสริมโม้สรรพคุณ มูลค่ารวมถึง 180 ล้านบาทในปี 2558 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเรื่องของการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทั้งอาหารเสริมและยาปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก เหมือนกับว่าปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ยิ่งจับก็ยิ่งเจอ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยเรายังตะหนักถึงเรื่องอันตรายของยาและอาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณกันไม่มากพอ ทำให้เกิดเป็นช่องทางให้พ่อค้า-แม่ค้าที่ไม่หวังดีนำสินค้าอันตรายมาหลอกขาย มีข้อมูลในปี 2558 ที่ผ่านมา อย.ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ทำการการจับกุมและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางจำนวน 101 ครั้ง พบผู้กระทำความผิดจำนวน 148 ราย จำนวนของกลาง 1,019 รายการ คิดเป็นมูลค่า 185.55 ล้านบาท แยกเป็น ยา มูลค่าของกลาง 31.17 ล้านบาท จำนวน 729 รายการ, อาหาร มูลค่าของกลาง 151.21 ล้านบาท จำนวน 181 รายการ, เครื่องสำอาง มูลค่าของกลาง 2.45 ล้านบาท จำนวน 84 รายการ, วัตถุอันตราย มูลค่าของกลาง 5 แสนบาท จำนวน 11 รายการ, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มูลค่าของกลาง 1.7 แสนบาท จำนวน 13 รายการ และยาเสพติด 5 หมื่นบาท จำนวน 1 รายการ นอกจากนี้ ในปี 2558 อย. ยังมีการเผาทำลายของกลางผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว รวมทั้งสิ้น 132 คดี น้ำหนัก 32,730 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าของกลางกว่า 100 ล้านบาท NGO ร้องรัฐบาลตรวจ สสส. ต้องโปร่งใส อย่าให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์“ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ประกอบด้วย 20 เครือข่าย อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ ฯลฯ ร่วมกันแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยื่นต่อกรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ตามคำสั่งของ คสช. รวมถึงกรณีการสั่งชะลอโครงการกว่า 2,000 โครงการที่ภาคประชาชนรับงบสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานด้านพัฒนาสังคม งานพัฒนาสังคมหลายๆ ด้านต้องใช้พลังในการทำงานจากภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีงานที่ทำโดยภาคประชาชนแล้วเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานด้านการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน การให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการเท่าทันสื่อ เรื่องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ซึ่งการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องมีงบประมาณในการทำงานซึ่งที่ผ่านมา สสส. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ค่อยทำหน้าที่สนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในการทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด หากรัฐบาล คสช. ยืนยันที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงานของ สสส. และยุติการสนับสนุนทุนให้กับกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาสังคม ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาและการเสริมสร้างความรู้ความเข้มแข็งของคนในประเทศอย่างแน่นอน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องบอร์ด สสส. แต่มาเพื่อประชาชน เพราะการเหมารวมตรวจสอบทุกโครงการทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การตรวจสอบสามารถทำได้แต่ต้องโปร่งใสและยุติธรรม การปฏิรูป สสส. ต้องมีภาคประชาชนเจ้าไปมีส่วนร่วมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2555 6 กีฬาระดับชาติห้าม “จอดำ” หลังจากเหตุการณ์ “จอดำ” ช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องเร่งออกมาตรการมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ซึ่งทาง กสทช. ก็เตรียมออกประกาศให้รายการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 6 รายการ ต้องมีการเผยแพร่ผ่านทางช่องฟรีทีวีโดยไม่สนว่าผู้ชมจะรับชมผ่านระบบการรับสัญญาณชนิดใด จะเป็นเสาก้างปลาหนวดกุ้ง เคเบิลทีวี จานดาวเทียมสีไหนหรือกล่องรับสัญญาณของใคร เมื่อกำหนดให้เผยแพร่ทางช่องฟรีทีวีแล้ว ผู้รับชมทีวีทุกคนต้องสามารถรับชมได้ สำหรับ 6 รายการแข่งขันกีฬาที่ทาง กสทช. บังคับว่าห้ามจอดำ ประกอบด้วย ซีเกมส์, พาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และการแข่งขันฟุตโลกรอบสุดท้าย มาตรการนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่ กสทช. บังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์จอดำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมผู้ให้บริการจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ และเคเบิลทีวี ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีโดยทั่วถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ หรือตัดสัญญาณ จนทำให้ผู้บริโภคพลาดการรับชม     รักใครให้ล้างมือ การล้างมือให้สะอาดถือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่หลายคนกลับมองข้าม  ภญ.อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยล้างมือลดโรคในโรงเรียน จึงขอนำเสนอผลการศึกษาการลดการเจ็บป่วยที่ได้จากการล้างมือ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ชัดว่าการล้างมือบ่อยๆ ช่วยให้เราห่างไกลโรค โดยเป็นการทดลองในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จำนวน 553 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2555 โดยเก็บข้อมูลการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยในช่วงก่อนและหลังให้ความรู้ในการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จำนวนการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยลดลงจาก 156 คน เหลือ 74 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 การล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะโรคหลายโรคเริ่มจากมือที่ไม่สะอาดเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง ไข้หวัด ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับการล้างมือหลังจากมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เห็นประโยชน์ของการล้างมือ ถึงขนาดที่เมื่อปี 2008 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) จับตา...อาคารไม่ปลอดภัย ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยตามอาคารและตึกสูงต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้หรืออาคารถล่ม ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าของอาคารและผู้รับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้จับมือร่วมกันเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาคารที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบการหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะใน กทม. ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ อย่าง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ อาคารที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยรวม เช่น คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ รวมทั้งอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดใช้งาน ซึ่งจากสถิติการเกิดอัคคีภัยปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอัคคีภัยเกิดในคอนโดมิเนียม สำนักงานและอาคารสูงมากกว่า 180 แห่ง ขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกิน 10 ชั้นยังมีจำกัดและถนนของซอยที่คับแคบยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอาคารที่เสี่ยงอันตราย หากใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอาคารที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานได้ทันที   “ฟิลเลอร์”  เสี่ยงมากกว่าสวย ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสาวๆ ที่อยากสวยด้วยการฉีดสารต่างๆ กับกรณีของพริตตี้สาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการฉีดสารฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน และ กลูตาไธโอน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสวยความงาม แต่ทางการแพทย์เอาไว้ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติต่างของร่างกาย แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีหรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้มาอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำมาฉีดให้กับผู้ที่หลงเชื่อตาคำโฆษณาว่าฉีดแล้วสวยฉีดแล้วขาว โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่าไม่มีการรับขึ้นทะเบียนยาฉีดคอลลาเจน เพราะยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ขณะที่สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronicacid) ส่วนสารกลูตาไธโอนก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ว่าช่วยทำให้ผิวขาว การฉีดสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายเพื่อความสวยความงาม ควรเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งจะมีเครื่องแพทย์และยารักษาคนไข้ได้ทันท่วงที สำหรับแพทย์ที่ทำการฉีดยาควรเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เพราะการฉีดต้องไม่ให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และปริมาณของยาต้องเหมาะสม อันตรายจากผลข้างเคียงของการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออวัยวะส่วนที่ฉีดสารนั้นเกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว ในผู้ที่แพ้มากๆ ก็อาจเกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้บริโภคแสดงพลัง กรณี “แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว” ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ได้รับความเสียหายจากใช้บริการ ไม่ได้รับบริการตามที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากมีสาขาที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จากการที่บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย แถมยังถูกละเมิดสิทธิอย่างการไม่อนุญาตให้เขาไปใช้บริการหากไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มทั้งที่ไม่เคยได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ที่สำคัญสมาชิกหลายคนชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ทำให้ถูกธนาคารหักเงินค่าบริการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแม้จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งยอดผู้ร้องเรียนที่เข้ามายังมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มีจำนวนมากกว่า 500 คน รวมเป็นค่าเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนสมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส เดินหน้าเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ทำหนังสือถึงบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากับสมาชิก โดยขอให้ทางบริษัทแจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และสมาชิกที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี ต่อด้วยการจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความใจที่ถูกต้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องสิทธิ จากนั้นก็มีเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำนานการเอาผิดกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตามกฎหมายต่อไป ต้องคอยติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิทธิของผู้บริโภคในเมืองไทย จะยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอยู่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2555 “RFID” อาจมีปัญหา เพิ่งเริ่มใช้ได้ไม่ทันไรก็ทำท่าจะมีปัญหาซะแล้ว สำหรับระบบตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสาร หรือระบบ RFID เมื่อ นายรักษิต ฐิติพัฒนพงศ์ และนายสัญญา คล่องในวัย จากหน่วยวิจัยสารสนเทศ การสื่อสารและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้นำเสนองานวิจัย “ข้อจำกัดของการใช้ RFID ในการตรวจจับความเร็วในยานพาหนะ” พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการรายงานผล เพราะใช้วิธีการจับความเร็วของรถที่วิ่งผ่านจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ซึ่งทำให้การรายงานผลมีความล่าช้ากว่าจะประมวลผลมายังตัวผู้ขับรถ ซึ่งเท่ากับผู้โดยสารก็ยังพบกับความเสี่ยงอยู่เช่นเดิม สำหรับทางเลือกที่น่าจะนำมาใช้ควบคุมความเร็วของรถตู้โดยสารคือระบบ GPS ซึ่งเป็นระบบที่รายงานผลโดยตรงผ่านระบบดาวเทียมและสามารถแจ้งเตือนไปยังพนักงานขับรถได้ทันที ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้หยุดการจดทะเบียนรถตู้เพิ่มเติมและให้ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้รถสาธารณะ ----------------------------------------------------------------------------------------   ไม่รับขึ้นทะเบียนรถประกอบจากชิ้นส่วนมือสอง ถึงแม้หลายคนๆ จะบ่นเรื่องน้ำมันราคาแพง แต่เราก็ยังเห็นรถยนต์ป้ายแดงออกมาวิ่งบนถนนเต็มไปหมด แสดงว่าคนไทยเราก็ยังซื้อรถกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจมีบางคนที่เลือกซื้อรถมือสองหรือรถนำเข้า แต่ต่อจากนี้ไปรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ผ่านการใช้งานแล้วจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการและเตรียมร่างเป็นกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถที่ใช้แล้ว 4 ประเภท ประกอบด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล มาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้บริโภคที่ไม่ต้องเสี่ยงกับรถยนต์ที่ไม่ได้คุณภาพและผิดกฎหมาย ส่วนภาครัฐก็สามารถควบคุมดูแลเรื่องจากจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่ วย เพราะบรรดาชิ้นส่วนหรือโครงสร้างรถยนต์ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วมาประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ที่สำคัญคือผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศจะได้รับการดูแลไม่ต้องถูกแย่งตลาดจากผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ------------------------------------------------------------------------   โทรนานระวังสูญเสียการได้ยิน เดี๋ยวนี้ไม่ว่าใครก็ใช้โทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็สามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างง่ายดายทันใจ แต่ถึงจะมีข้อดีมากมายก็ใช่ว่าจะหนีพ้นเรื่องข้อเสีย มีการศึกษาพบว่า การคุยโทรศัพท์มือถือนานๆ อาจทำให้เซลล์ประสาทหูชั้นในเสื่อมสมรรถภาพ ซึ่งอาจส่งผลร้ายถึงขั้นมีผลทำให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่ง รศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต สอ นาสิกแห่งประเทศไทย ได้ฝากเตือนถึงคนที่ชอบคุยโทรศัพท์มือถือให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้หูได้รับบาดเจ็บ ทั้งการใช้โทรศัพท์ในลักษณะกดแนบแน่นกับหูเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบที่กระดูกใบหู การใช้สมอลล์ทอล์กหรือบลูทูธก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บได้เช่นเดียวกัน เพราะจะเป็นการกดระบบประสาทในบริเวณนั้น อาจทำให้เนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บและเป็นแผลได้ หรือการเปิดเสียงโทรศัพท์ดังๆ ก็อาจเป็นอันตรายกับประสาทหูโดยตรง ยิ่งคนที่มีปัญหาประสาทหูเสื่อมอยู่แล้วยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้หูของเราได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียการได้ยินก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมา การคุยโทรศัพท์ในแต่ละครั้งก็ไม่ควรใช้เวลานานเกิน 30 นาที และควรผลัดเปลี่ยนการใช้งานทั้งหูข้างซ้ายและข้างขวา -----------------------------------------------------------------------------------------   แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว ใครจะคิดว่าฟิตเนสชื่อดังอย่าง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” จะถูกฟ้องล้มละลาย เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับแจ้งจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ว่าทาง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้ ได้ฟ้องล้มละลายบริษัท เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ยืมมูลหนี้ตามที่ระบุในคำฟ้อง 71.90 ล้านบาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ระบุในคำฟ้อง 3.97 ล้านบาท รวมมูลหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำฟ้อง 75.87 ล้านบาท ซึ่งผลที่จะตามมาคือ บริษัทประสบปัญหาในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารในอนาคต และต้องเข้าสู่ระบบดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนผู้ที่ใช้บริการฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย ว้าว ณ ขณะนี้ยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติตามสัญญาเดิมที่ได้ตกลงเอาไว้ แต่ก็คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาเรื่องการใช้บริการที่ไม่เป็นไปตามสัญญา สามารถฟ้องร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) --------------------------   เมื่อ “ทรุด” ก็ต้องซ่อม กทม.เดินหน้าปรับปรุงถนนทั่วกรุง หลายคนคงตกใจกับข่าวถนนในกรุงเทพฯ ที่เกิดการทรุดตัวหลายจุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายเพราะอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้จึงได้เตรียมมาตรการแก้ไข ปฏิบัติการซ่อมบำรุงถนนที่มีปัญหาทั่วกรุงเทพฯ โดยหลังจากตรวจสอบพบพื้นที่จำนวน 155 จุด ในถนน 65 สาย ใน 36 เขต ที่มีความเสี่ยง ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 4 จุด คือ 1.ถนนรามคำแหง 24 2.ถนนหัวหมาก 3.ปากซอยรามคำแหง 68 และ 4.ถนนพระรามที่ 4 บริเวณแยกมหานครขาออก ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผิวจราจรและคันทางชำรุด โดยการซ่อมแซมจะเป็นหน้าที่ของสำนักการโยธา ซึ่งคาดการณ์ว่าการซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน การซ่อมแซมจะแบ่งเป็น 3 ระดับ 1.หากไม่พบโพรงใต้ดินจะใช้วิธียาแนวผิวคอนกรีตที่แตกร้าว 2.ถ้าพบโพรงแต่ไม่ใหญ่มาก จะใช้ซีเมนต์อัดปิดโพรง และ 3.ถ้าพบโพรงใหญ่ จะทุบรื้อเพื่อหาสาเหตุว่ามีดินไหลหรือไม่ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการซ่อมแซมที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนนี้ทางกรุงเทพฯ จะหารือกับทางวิศวกรรมสถานแห่งชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เพื่อหาข้อสรุปของการทรุดตัวของถนนก่อนเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 เจาะเส้นทางโกง ฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย

ผู้บริโภคจำนวนมากบอก ไม่อยากจะเชื่อว่า บริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีหลายสาขา เป็นแบรนด์ดังระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย  "แอริค มาร์ค เลอวีน" นักธุรกิจที่ใช้กลยุทธการตลาด ด้วยการสมัครสมาชิกตลอดชีพ และการออกกำลังกายด้วยผู้เชี่ยวชาญเป็นแรงจูงใจ จะล้มละลาย และถูกผู้บริโภคฟ้องร้องในข้อหาเข้าข่ายหลอกลวงและฉ้อโกงผู้บริโภค ผู้บริโภคที่เสียหายยอมรับไม่ได้ที่ถูกโกงแล้วกรรมการของบริษัททั้งอดีตและปัจจุบัน อยู่ดีกินดี ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งที่เกิดขึ้น?? ทั้งข่าวซื้อแหวนเพชรแต่งงานราคาแพง สัมภาษณ์ว่าใช้ช้อนเงินป้อนข้าวลูก แถมสามารถโอนเงินไปออกนอกประเทศเป็นเงินรวมกว่า 1,699 ล้านบาท เป็นเรื่องให้เจ็บใจของคนที่ถูกหลอกถูกโกง พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.หรือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ถึงกับออกมาให้ข่าวว่า “ผู้บริหารแห่งนี้ วางแผนโกงมาตั้งแต่ต้น” บริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส เซ็นเตอร์ส จำกัด จดทะเบียนบริษัทครั้งแรก เมื่อ 25 กรกฎาคม 2543 และร่วมทุนกับกลุ่มเมเจอร์ซีนีเพล็ก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อกันยายน 2547 เพื่อประกอบกิจการศูนย์สุขภาพ  ศูนย์ออกกำลังกาย  ศูนย์ฝึกสอนออกกำลังกาย จนเป็นผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ที่สุดที่มีสมาชิกมากถึง 1.6 แสนราย  โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ  2 หมื่นรายต่อวัน ในปี 2553  จากเริ่มต้นในปี 2544 ที่มีสมาชิกเพียง 8,500 คน     โกงอย่างมีแบบแผน “เซียนเท่านั้นที่ทำได้”   เริ่มต้นด้วยลักษณะของมืออาชีพ 1. เริ่มต้นจากการขยายแนวคิดการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และย้ำว่า การออกกำลังกายที่ถูกต้อง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล 2. กลยุทธการตลาด ทั้งแจกทั้งแถม แจกคูปองให้ไปทดลอง พาเพื่อนไปออกกำลังกาย พาครอบครัวไปออกกำลังกาย ทั้งลดทั้งแถมในการหาสมาชิก เทคนิคนำบัตรเครดิตไปตรวจสอบว่ามีลดราคาร่วมกับธนาคารนี้หรือไม่ พอจ่ายได้ จัดโปรโมชั่นสารพัดรูปแบบ เช่น ค่าสมาชิก ถ้าจ่ายเป็นรายปี หรือมากกว่าปี จนถึงตลอดชีพ ซึ่งจะมีราคาถูกกว่ามากๆ จนทำให้ได้สมาชิกตลอดชีพจำนวนมากมาย รวมถึงค่าจ้างผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล (Trainer) ในการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ที่ขายจำนวนชั่วโมงล่วงหน้าทีละมาก ๆ  เพื่อได้บริการส่วนบุคคล ทำให้มีรายได้จำนวนมาก 3. ร่วมทุนกับกลุ่มเมเจอร์ซีนีเพล็ก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อกันยายน 2547 เพื่อประกอบกิจการศูนย์สุขภาพ  ศูนย์ออกกำลังกาย  ศูนย์ฝึกสอนออกกำลังกาย มีสมาชิกมากถึง 1.6 แสนราย   น้ำลดตอผุด 1. เมื่อมีสมาชิกจำนวนมากจนให้บริการไม่ทัน สมาชิกจะพบกับปัญหาสารพัน ทั้งสถานที่ไม่เพียงพอ คนล้น เทรนเนอร์ที่สมัครเฉพาะบุคคล ไม่มีจริง เทรนเนอร์ลาออก และอาจจะเรียกได้ว่า ทำให้เกิดข้อเรียกร้องในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งพบว่าข้อสัญญาเป็นอุปสรรคต่อการบอกเลิกสัญญามาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ตั้งครรภ์ ลาบวชก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ จนทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้ บริโภคอาศัยอำนาจตามโกงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. เมื่อถูกจำกัดให้รับสมาชิกได้ไม่เกิน 1 ปีจาก สคบ. และประกอบกับข้อร้องเรียนเรื่องการให้บริการ ที่ไม่เพียงพอ บริษัทเลือกใช้วิธีเดินหน้าเปิดรับสมาชิกตลอดชีพราคาถูกกว่าเดิม และใครที่มีความรู้เรื่องรับสมัครตลอดชีพไม่ได้ ก็จะใช้การรับรองว่าใช้ได้ตลอดชีพ แต่เขียนในสัญญาไม่ได้  “หนู(ผม) รับรอง” และหากผู้บริโภคไม่ยอม มีบางรายที่ยอมเขียนในสัญญาว่า ตลอดชีพ หรือมากกว่า 1 ปี ตั้งแต่ 2-3 ปี รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการเป็นต่ออายุทุกปี ราคาถูกเพียงตั้งแต่ 100-1,500 บาท ในทุกๆ ปี ในทางพฤตินัยผู้บริโภคทุกคนที่สมัครต่างรับรู้เป็นการทั่วไปว่า สมัครสมาชิกตลอดชีพและใช้เทรนเนอร์ ออดอ้อนลูกค้าว่า กำลังจะถูกไล่ออกเพราะหาสมาชิกไม่ได้ เดือนนี้ไม่รู้จะได้เงินเดือนหรือไม่ ทำให้สามารถเก็บเงินค่าสมาชิกไปได้อีกก้อนโต ถึงแม้กำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย 3. หลังยุติการให้บริการบางสาขา เรื่องร้องเรียนเริ่มมีมากขึ้น บริษัทยังเปิดรับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีขบวนการเรียกร้องจากกลุ่มผู้เสียหาย ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2555 ทำให้ข้อมูลต่างๆ หลั่งไหลออกมามากขึ้น เช่น หนี้สินมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินถึง 619. 5 ล้านบาท ไม่สามารถชำระเงินยืมได้ 50 ล้านบาท ปิดสาขาลง 1 สาขา ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่า งบการเงินมีข้อบ่งชี้ที่มีสาระสำคัญ ในปี 2552 4. ปี 2553 ผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท หนี้สินมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินถึง 1,069.87 ล้านบาท ธนาคารทหารไทยและกรุงศรีอยุธยาฟ้องศาลให้ชำระ รวม 183.82 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 225.29 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย(Trading Suspension, SP) และเป็นบริษัทที่เข้าข่ายการถูกเพิกถอนออกจากตลาด(Non Compliance, NC) 5. ปี 2554 ผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท เครือเมเจอร์ขายหุ้นทั้งหมด สาขาต่าง ๆ เริ่มทยอยปิดตัวลง นอกจากสองธนาคารเดิมฟ้องธนาคารกรุงเทพ ฯ บอกเลิกสัญญาเงินกู้ 72.94 ล้านบาท และยังคงติด SP และ NC 6. กลุ่มผู้เสียหายได้ไปร้องเรียนกับหลายหน่วยงาน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา (ขอชื่นชมทุกหน่วยงาน) ช่วยกันตรวจสอบจน ปปง. พบ เส้นทางการโอนเงินไปต่างประเทศ CAWOW เริ่มทยอยปิดสาขาต่างๆ ก่อนยุติการให้บริการ และโดนข้อหาล้มละลายในที่สุด 7. กลยุทธให้พนักงานหรือลูกน้องเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจในบริษัทหลังจากโกยเงินไปเรียบร้อย แล้วทำบริษัทให้ล้มละลาย ? หวังไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค? ถึงแม้อาจจะเข้าข่ายคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงหลอกลวงผู้บริโภค ผิดสัญญาอย่างร้ายแรงซ้ำซาก แถมผู้บริโภคยังต้องผ่อนหนี้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินแทนทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้บริการ   ลักษณะความผิดเบื้องต้น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้แจ้งข้อหากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ กับกรรมการบริษัทอีก 4 คน ประกอบด้วย แอริค  เลอวีน, ไซ่ม่อน ดักลาส โฮวาร์ด , จอร์จ ซาบ และ สุรศักดิ์ กองปัญญา แต่ถึงขณะนี้มีเพียงนายสุรศักดิ์ กองปัญญา ที่เข้ามาพบเจ้าพนักงานสอบสวน และนายไซ่ม่อน ดักลาส โฮวาร์ด ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฝากขังที่ศาลอาญา ส่วนรายอื่น ๆ ยังไม่มีความคืบหน้า ในข้อหาความผิดฝ่าฝืนประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กรณีที่กำหนดอายุสมาชิกตลอดชีพ ซึ่งมีโทษ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือสัญญาละไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนคดีฉ้อโกงมีความผิดมูลฐานพระราชบัญญัติ ปปง.   ปฏิบัติการทวงสิทธิของผู้บริโภค สมาชิก CAWOW ได้ปฏิบัติการทวงสิทธิจำนวนหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน ยื่นหนังสือทุกหน่วยงานในประเทศนี้ ที่ระบุในนี้เป็นเพียงการทำจดหมายเป็นทางการเท่านั้น ยังไม่นับรวมการใช้โทรศัพท์ติดตาม การไปพบที่ไม่มีการยื่นหนังสือ แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน .... ทุกคนต่างมีความหวังว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 แก้ไข พ.ศ. 2556 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 12 ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมจะช่วยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคได้ในท้ายที่สุด   พ.ศ. 2555 21 ส.ค.  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ผู้เสียหายมาร้องเรียนพร้อมกันภายในวันที่ 31 ส.ค. 31 ส.ค.  ผู้เสียหายเข้าชื่อร่วมกันทั้งหมด 639 ราย ความเสียหายมากกว่า 30 ล้านบาท 8  ก.ย.  ประชุมเพื่อวางแนวทางการทำงานกับแกนนำผู้เสียหาย 12 ก.ย. แกนนำฯ ยื่นหนังสือให้บริษัทแคลิฯ แจ้งกับธนาคารและหน่วยงานผู้ให้บริการบัตรเครดิตยุติการเรียกเก็บเงินผ่านบัตรเครดิต และให้บริษัทฯ คืนเงินค่าสมาชิกและบริการเสริมอื่นๆ ให้กับสมาชิกผู้ประสงค์ยกเลิกสัญญา พร้อมดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด 23 ก.ย. เวทีสาธารณะ “ถูกโกง ไม่ใช่ เรื่องเวรกรรม ตอน สัญญา ไม่เป็นสัญญา กรณีฟิตเนสไม่ว้าววว”  เพื่อหาทางออก 26 ก.ย. แกนนำฯ ยื่นหนังสือพร้อมเอกสาร และรายชื่อผู้เสียหาย 639 รายกับ ร.ม.ต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล   เพื่อให้ช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย 30  ก.ย.  ผู้เสียหาย 50 ราย เข้าแจ้งความ ที่กองบังปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค  เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฯ ข้อหา “เข้าข่าย ฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน” 2  ต.ค.   ผู้เสียหายยื่นหนังสือต่อ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ (ดู**) 7  ต.ค. ประชุมหาแนวทางการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ร่วมกับนักวิชาการ 8  ต.ค. ผู้เสียหายพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานเลขาธิการ กลต. 19 พ.ย. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะตัวแทนผู้เสียหาย 26 ธ.ค.  ผู้เสียหายยื่นหนังสือนายกสภาทนายความเพื่อสนับสนุนการฟ้องคดี 27 ธ.ค. ผู้เสียหายยื่นหนังสือต่อนายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สคบ. เพื่อขอให้ดำเนินคดี   พ.ศ. 2556 14 ก.พ. มูลนิธิฯ ออกจดหมายติดตามความคืบหน้ากับ สคบ. ฉบับที่ 1 9 มี.ค. มูลนิธิฯ ออกจดหมายติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการกับ สคบ. ฉบับที่ 2 15 มี.ค. สคบ. แจ้งว่า ได้ส่งรายชื่อผู้ร้องจำนวน 639 รายให้ DSI พิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่บริษัทฯ ในความผิดฐานฉ้อโกงแทนผู้บริโภค  และให้ มูลนิธิฯ แจ้งให้ผู้ร้องทั้งหมดนำหลักฐานยื่นกับ สคบ. เพื่อฟ้องคดีแพ่งฐานผิดสัญญา 10 เม.ย.  มูลนิธิฯ นำผู้เสียหายยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ กรรมาธิการฯ พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล  พบเข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน 2 พ.ค. ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทแคลิฯ 8 พ.ค. ตำรวจ ปคบ. แจ้งข้อกล่าวหา "ร่วมกันไม่ส่งมอบสัญญาที่มีข้อสัญญาหรือมีข้อสัญญาและแบบถูกต้องตามมาตรา 35 ทวิ, 59 ตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ต่อ ผู้ต้องหา 3 ราย คือ 1) บริษัทแคลิฯ  2) นายไซม่อน ดักลาสโฮวาร์ด และ 3) นายสุรศักดิ์ กองปัญญา 7 มิ.ย. ปปง.ได้พิจารณาเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน (ดู***) 1 ก.ค.  มูลนิธิฯ ขอให้ทบทวนให้ กรณีคดี CAWOW เป็นคดีพิเศษ หลังจากที่ดีเอสไอแจ้งไม่เข้าข่ายคดีพิเศษ 23 ก.ค. ไซม่อน ดักลาส โฮวาร์ด ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฝากขังที่ศาลอาญา 2 ก.ย.  มูลนิธิฯ ได้รับจดหมายจากนายชาตรี ตันเจริญ อ้างได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นของบริษัท CAWOW ตามที่บริษัทได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่บรรดาผู้ถือหุ้นขอเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และขอปรึกษาเสนอแนะแนวทางในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ลูกค้าของบริษัท 28 ต.ค. ตำรวจ ปคบ. ขอความร่วมมือประสานให้ผู้เสียหายไปแจ้งความเพิ่มเติม 21-28 พ.ย. ผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มเติม     ** โดยมี 3 มูลเหตุ 1) บริษัทฯ กระทำการผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยให้สมัครสมาชิกแบบตลอดชีพ เป็นที่รับรู้ทั่วไปของผู้บริโภคที่ใช้บริการ  หรือ เก็บเงินค่าสมาชิกล่วงหน้ามากกว่า 1 ปี  ซึ่งขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 2) การกระทำความผิดฐานโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 3) พฤติการณ์ของบริษัทฯ ที่อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าทำสัญญา ปกปิดความจริงทำให้บริษัทฯ ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้บริโภค  ทั้งที่บริษัทฯ ทราบหรือทราบเป็นอย่างดีว่าสถานะทางการเงินของบริษัทฯ มีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายเหตุการณ์ในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ  ที่อาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฐานะการเงินผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดของบริษัท  ดังรายงานที่ผู้สอบบัญชีอนุญาตไม่อาจแสดงความเห็นและไม่รับรองบัญชีต่องบการเงินสำหรับปี 2553 และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ของบริษัท     *** เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หลังการสอบสวนพบว่าบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ไม่ได้มีเจตนาทำธุรกิจให้บริหารฟิตเนสตั้งแต่ต้น แต่ได้ประกอบกิจการโดยการวางแผนอย่างชาญฉลาด เพื่อระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์และจากสมาชิกที่ใช้บริการของฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย ว้าว จากการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว พบว่าปริมาณธุรกรรมที่มีการทำมาแต่ละปี มีรายได้เข้ามาจำนวนมากมาย แต่รายได้ที่เข้ามาในบริษัทไม่ได้มีการนำรายได้มาใช้ในการประกอบการ แต่กลับนำเงินรายได้ที่ได้มาส่งโอนออกไปต่างประเทศ   พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนพบว่า บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว มีการโอนเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการทำธุรกรรมรายปีตั้งแต่ปี 2545 – 2556 บางช่วงเวลามีการทำธุรกรรมจำนวนสูงกว่า 400 ล้านบาท เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่ามีธุรกรรมหมุนเวียนในช่วง 10 ปีมานี้ กว่า 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา พบว่ามูลค่าสูงสุดของการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในช่วง 3 ปี คือ 2552 – 2554 โดยร้อยละ 99 เป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบ SWIFT คือ การโอนเงินออกไปต่างประเทศ     ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 บังคับใช้ 1 สิงหาคม 2554 สาระสำคัญ สัญญาการให้บริการที่ผู้ประกอบการทำกับผู้บริโภคถูกกำหนดให้ต้องมีข้อความ ภาษาไทย ที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน และข้อความในสัญญาจะต้องมีสาระสำคัญและเงื่อนไขดังนี้ 1.รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่สถานให้บริการ จำนวนประเภท และจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการอื่น ๆ 2.รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเรียกเก็บ เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 3.ผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจนว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีสิทธิบอก เลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งได้ แต่ก่อนบอกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นผู้บริโภคผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญดังนี้ ก.กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา ข.มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น ค.เป็นโรคติดต่อร้ายแรง...   การบอกเลิกสัญญาการใช้บริการออกกำลังกายโดยได้เงินคืน 3 กรณี คือ 1.ผู้ประกอบการไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่น มีอุปกรณ์แต่ชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ ไม่เหมาะสมและเพียงพอ และไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ มาทดแทนได้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันรับแจ้ง 2.มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 3.รับได้บาดเจ็บเนื่องจาก ผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่อง โดยผู้ประกอบการ จะต้องคืนเงินสด เช็ค หรือนำเงินเข้าบัญชีตามจำนวนเงิน ที่เหลือจากค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และตามระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการภายใน 30 วันนับแต่เลิกสัญญา นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ผู้บริโภคยังมีสิทธิอื่น ๆ เพิ่ม ได้แก่ สิทธิในการโอนสิทธิตามสัญญาไปให้บุคคลที่ 3 ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการ สิทธิในการต่อระยะเวลาการใช้บริการเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยผู้ประกอบการต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ฯลฯ ขณะเดียวกันข้อสัญญาที่ผู้ประกอบการทำกับผู้บริโภค กฎหมายใหม่ก็กำหนดข้อห้ามไม่ให้เป็นลักษณะสัญญาฝ่ายเดียว เช่น ให้ผู้บริโภคต้องผูกพันตามประกาศหรือหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการกำหนด เว้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม ข้อสัญญาที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากผู้ประกอบการผิดสัญญาหรือ ละเมิด เช่น ผู้บริโภคบาดเจ็บ เจ็บป่วยจากการใช้บริการออกกำลังกาย รวมทั้งทรัพย์สินสูญหายในสถานประกอบการ การให้สิทธิผู้ประกอบการบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภคโดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นลาย ลักษณ์อักษร หรือผู้บริโภคไม่ได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ข้อสัญญาที่กำหนดระยะเวลาตามสัญญาเกิน 1 ปี และข้อสัญญาที่กำหนดให้การต่อระยะเวลาการให้บริการมีผลบังคับทันทีเมื่อครบ กำหนด เป็นต้น   ฉลาดซื้อแนะ ก่อนตัดสินใจเลือกฟิตเนสครั้งต่อไป 1. ผู้ให้บริการ 1.1  ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคล (เช่น บริษัทจำกัด) จึงควรตรวจสอบรายที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการซึ่งมุ่งเน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก โดยไม่มีการขายสินค้าอื่นแอบแฝง 1.2  สถานภาพของผู้ให้บริการ รวมถึงกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้น ไม่ควรมีหนี้สินมากเกินสมควร และไม่ควรมีผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง 1.3  ไม่สามารถเชื่อถือชื่อเสียงของผู้ให้บริการที่มีสาขาจากต่างประเทศได้เสมอไป 1.4  ควรดูระยะเวลาที่ผู้ให้บริการรายนั้นได้ดำเนินกิจการมาเพื่อประกอบการตัดสินใจของท่าน 2. สถานที่ 2.1  ควรตั้งอยู่ในจุดที่สะดวกต่อการเดินทาง และต้องคำนึงถึงที่จอดรถและค่าจอดรถที่ต้องจ่ายเพิ่ม 2.2  จำนวนสาขาที่เปิดให้บริการ ควรมีทางเลือกให้สามารถเข้ารับบริการได้มากกว่าจุดเดียว 2.3  ช่วงเวลาการเปิดให้บริการ ควรมีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตลอดทั้งวัน 2.4  ขนาดของสถานที่กับปริมาณสมาชิกที่ผู้ให้บริการอนุญาตให้เข้าใช้บริการควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่หนาแน่นมากจนเกินไป 2.5  สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย และความสะอาดควรมีการให้บริการห้องล็อกเกอร์, ห้องน้ำ, ห้องอาบน้ำ, อุปกรณ์ สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว โดยจัดให้มีพนักงานรับผิดชอบคอยตรวจสอบดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และมีพนักงานดูแลความปลอดภัยจากผูที่ปะปนเข้ามาเพื่อขโมยสิ่งของ 2.6  ระบบปรับอากาศ และระบายอากาศควรสมดุลกับปริมาณสมาชิกที่กำลังออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้อากาศร้อนหรือเย็นจนเกินไป  อีกทั้งไม่ควรมีกลิ่นอับหรือกลิ่นเหงื่อเกาะติดกับอุปกรณ์ออกกำลังกาย 2.7  ควรแยกสัดส่วนการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยบรรยากาศแสงและเสียงควรส่งเสริมและเหมาะสมกับการออกกำลังกายประเภทนั้น ๆ 3. อุปกรณ์ออกกำลังกาย 3.1  อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ผู้ให้บริการจัดไว้ให้ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งานตลอดเวลา มิใช่มีเป็นจำนวนมาก แต่ใช้งานจริงได้เพียงไม่ถึงครี่ง 3.2  อุปกรณ์ฯ ควรมีความหลากหลายเพื่อให้สามารถเลือกออกกำลังกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ  ได้ครบทุกส่วนของร่างกาย 3.3  ควรมีพนักงานแนะนำการใช้งานอุปกรณ์ฯ โดยที่ไม่หวังผลจากการขายชั่วโมงฝึก หรือควรมีภาพอธิบายประกอบการใช้ติดตั้งในบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์ฯ นั้น ๆ 3.4  ควรมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์ฯ 4. ผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล และโปรแกรมการฝึก 4.1  เนื่องจากสถานให้บริการออกกำลังกายส่วนใหญ่มักไม่เคร่งครัดและไม่มีข้อกำหนดในการรับผู้ฝึกสอนเข้าปฏิบัติงาน จึงควรเลือกสถานให้บริการออกกำลังกายที่มีมาตรฐาน โดยผู้ฝึกสอนควรได้ผ่านการเรียนในการออกกำลังกายประเภทที่สอนมาอย่างถูกวิธี (เช่น ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง) 4.2  ผู้ฝึกสอนควรมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการเฉพาะการฝึกเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก แต่ไม่ควรมีหน้าที่ในการขายชั่วโมงฝึกด้วย 4.3  ผู้ฝึกสอนควรจัดโปรแกรมการฝึกแบบมีจุดมุ่งหมาย พร้อมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน 4.4  ผู้ฝึกสอนไม่ควรสอนการออกกำลังกายหลายประเภทมากเกินไป โดยควรเน้นที่ตนเองถนัดเป็นหลัก 4.5  ผู้ฝึกสอนจะต้องสามารถให้บริการตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ร่วมกันกับผู้ออกกำลังอย่างครบถ้วน และจะต้องไม่รับฝึกผู้อื่นทับซ้อนในช่วงเวลาดังกล่าว 4.6  ควรมีการประเมินผลการฝึกสอนของผู้ฝึกสอนอย่างเป็นระบบ 4.7  การฝึกออกกำลังกายแบบกลุ่ม (Group Exercise) ควรมีชั้นเรียนที่หลากหลายไว้บริการ ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้ผู้ฝึกส่วนตัว 5. อัตราค่าให้บริการที่เหมาะสม 5.1  ค่าผู้ฝึกสอนส่วนบุคคลนั้นยังไม่ปรากฏข้อจำกัดที่ชัดเจน โดยแตกต่างกันไป อาทิ ค่าฝึกการออกกำลังกายประเภทยกน้ำหนัก และประเภท TRX  ควรอยู่ระหว่าง 300 -700 บาท ต่อชั่วโมง ค่าฝึกออกกำลังกายประเภทโยคะ และพิลาทิส (Pelates) ควรอยู่ระหว่าง 500 –2500 บาท ต่อชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้ฝึกสอน) 5.2  ไม่ควรซื้อชั่วโมงฝึกสะสมไว้มาก ๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ฝึกสอนเป็นผู้ขายด้วย เพราะชั่วโมงฝึกจะมีวันหมดอายุ 5.3  ค่าฝึกการออกกำลังกายกลุ่ม บางสถานประกอบการมักรวมอยู่ในค่าสมาชิก หรืออาจแยกจ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทฯ รายละเอียดที่ควรพิจารณาประกอบได้แก่ 5.3.1   ประเภทของการออกกำลังกาย 5.3.2   จำนวนคนในกลุ่มแต่ละครั้ง ทั้งนี้ราคาต่อครั้ง ต่อชั่วโมงไม่ควรมากไปกว่า 300 บาทในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์การฝึกประกอบ และถ้ากลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ค่าฝึกควรต้องลดลง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point