ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ถังก๊าซสนิมขึ้นเกรอะ เปลี่ยนกี่รอบ กี่รอบก็ให้แบบเดิม

       ถังก๊าซหุงต้มที่เราใช้อยู่ในครัวเรือนอยู่ทุกวันนี้ หากเห็นว่าถังมีสภาพเสื่อมโทรมชำรุด ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าทุกครั้งที่ใช้งานว่ามันจะมีความปลอดภัยไหม เราก็จะต้องรีบใช้สิทธิผู้บริโภคขอเปลี่ยนถัง อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ        คุณพีพี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ปกติใช้บริการร้านก๊าซหุงต้มที่เป็นร้านประจำอยู่ร้านเดียวคือ ร้าน xxx ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านของคุณพีพี ครั้งนี้เมื่อก๊าซหมด คุณพีพีได้ไปติดต่อใช้บริการ แต่เมื่อพนักงานนำถังก๊าซมาส่งที่บ้าน เขาพบว่าได้ถังแก๊สเก่ามาก เก่าขนาดว่ามองไม่เห็นรายละเอียดความปลอดภัยของถังก๊าซที่สำคัญเลยทั้ง ชื่อบริษัทผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิตถังและหมดอายุ คุณพีพีจึงขอให้ทางร้านเปลี่ยนถังใหม่ให้ แต่ทางร้านก็ยังส่งถังก๊าซในสภาพ “อันตราย” กลับมาให้อีก และอีกสองสามครั้งเมื่อเรียกใช้บริการร้านก๊าซ เขาก็ได้รับถังที่ในสภาพทรุดโทรมทุกครั้ง คุณพีพีเกรงว่าปล่อยไว้แบบนี้ชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สินอาจจะไม่ปลอดภัย จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอคำแนะนำว่าตนเองจะได้ก๊าซหุงต้มที่มีสภาพถังปลอดภัยได้อย่างไร        แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ติดต่อประสานแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงาน ให้เข้าตรวจสอบในร้านดังกล่าวและอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ        2.มูลนิธิได้เข้าไปสังเกตการณ์หน้าเพจของร้านดังกล่าว ร้านได้ประกาศข้อความว่า “ถังแก๊ส เป็นสินค้าหมุนเวียน เมื่อแก๊สหมดหลังการใช้งาน (ต้องสลับถัง) กับลูกค้าท่านอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ ที่ลูกค้าจะได้รับถังสภาพใหม่ทุกครั้งในการสั่งซื้อ ร้านขอสงวนสิทธิ์ เลือกถังแก๊สให้ลูกค้าเอง การเลือกถังแก๊สถือเป็นสิทธิ์ขาด” ซึ่งกรณีนี้ มูลนิธิมองว่า ถึงแม้ร้านจะเป็นผู้เลือกถังก๊าซ แต่ถังก๊าซก็จะต้องมีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้            - ถังก๊าซ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพมีซีลปิดผนึกที่หัวถังในสภาพสมบูรณ์ พร้อมหมายเลขถังกำกับ และมีข้อความระบุชื่อบริษัท เดือน ปีที่ตรวจสอบถังครั้งสุดท้าย น้ำหนักถัง และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิท            - สายนำก๊าซ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม ไม่ทำจากยางหรือพลาสติก เพราะเมื่อถูกก๊าซหุงต้มจะละลายทำให้เกิดการรั่วไหลได้ ที่สำคัญต้องไม่หักงอง่าย ทนต่อแรงดันและการขูดขีด สามารถต่อกับลิ้นเปิด – ปิดได้สนิทและแน่นหนา            - เหล็กรัดสายยางส่งก๊าซ ต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน และควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 ปี        3. ดังนั้นหากประชาชนได้รับบริการถังบรรจุก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อ 2 สามารถแจ้งร้องเรียน พร้อมหลักฐานประกอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด และ กองความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน และ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่าล้านคน        สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา         โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย จึงมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัย         สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และการให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี รัฐบาลเตรียมกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายแก๊ส         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบไปด้วย           - ห้ามตั้งร้านจำหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว           - ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นไม่เกิน 6 เมตร ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่นเกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร           - ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ        สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน  ผลตรวจน้ำมะพร้าวไม่พบยาฆ่าแมลงแต่โพแทสเซียมสูงผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่สรรพคุณของน้ำมะพร้าว ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย และทำให้เกิดกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช         “ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81 – 215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04 – 0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28 – 2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9 – 5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว         จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อน จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี         “น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม” นพ.ศุภกิจ กล่าว ศาลปกครองรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณี กขค.         ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย        โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​         ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564         ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 ถังแก๊สเป็นสนิมทำไงดี

แก๊สหุงต้มเป็นเรื่องใกล้ตัวและจำเป็นต้องใช้กันอยู่ทุกครัวเรือน นอกจากราคาที่แพงเอาๆ แล้วก็ไม่น่ามีปัญหาอื่น แต่ก็มีจนได้ครับ มันคือเรื่องของถังแก๊สเป็นสนิมเช้าวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 8.00 น.สมชายได้สั่งซื้อแก๊สยี่ห้อ ปตท.น้ำหนัก 15 กิโลกรัม จากร้านค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่แถวถนนสรรพวุธ บางนา  เป็นร้านที่สมชายสั่งซื้ออยู่เป็นประจำ เมื่อแก๊สหมดถัง ก็โทรไปสั่งตามปกติแต่วันนี้เป็นผู้ชายรับสายแทนที่จะเป็นผู้หญิงเหมือนแต่ก่อนสมชายสั่งไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เด็กส่งแก๊สก็นำแก๊สมาส่งถึงที่บ้าน ขณะที่แกะสายรัดและเอาถังแก๊สลงมาข้างล่าง สมชายมองเห็นสภาพถังเห็นเป็นถังเก่ามาก  เป็นสนิม ตัวหนังสือแทบจะไม่มี ผิดกับถังของตนซึ่งอยู่ในสภาพที่ใหม่จึงถามเด็กส่งแก๊สว่า “ทำไมถังถึงเก่าอย่างนี้ ช่วยเปลี่ยนใบใหม่ให้ได้ไหม กลัวใช้แล้วอาจเกิดอันตรายได้” เด็กส่งแก๊สตอบว่า “ถังมีแต่แบบนี้คราวนี้ใช้ไปก่อนคราวหน้าค่อยเปลี่ยนถังใบใหม่ให้” สมชายก็บอกว่า “ช่วยเปลี่ยนให้หน่อยเถอะเพราะที่บ้านใช้แก๊สนานหลายเดือนกว่าจะหมดและประการสำคัญถ้าเกิดเป็นอันตรายใครจะรับผิดชอบ”“ถ้าไม่เอาก็ต้องคิดค่าแบกขึ้นอีก 25 บาท” นี่คือคำสุดท้ายจากเด็กส่งแก๊สสมชายขอบิลดูก็พบว่าราคาแก๊สแตกต่างไปจากครั้งก่อน ซื้อกับผู้หญิงจะเป็นราคา 295 บาทบวกค่ายกอีก 25 บาท รวมเป็น 320 บาท แต่นี่คิดราคา 310 บาทถ้ารวมกับค่ายกก็เป็น 310+25 รวมเป็น 335 บาทสมชายจึงตกลงใจที่จะไม่ซื้อแก๊สถังดังกล่าวไว้ เนื่องจาก ข้อแรก ถังอยู่ในสภาพเก่า เกรงว่าเมื่อใช้จะเกิดอันตรายขึ้นได้ ข้อสอง ราคาแตกต่างกับที่เคยซื้อครั้งก่อน(ซึ่งสมชายใช้สิทธิตามโครงการรัฐสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่) เรื่องเป็นมาแบบนี้สมชายจึงขอปรึกษาว่าถ้าไม่ต้องการซื้อร้านนี้อีกต่อไป โดยต้องการเปลี่ยนร้านใหม่จะสามารถทำได้หรือไม่และสิทธิยังใช้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาปกติถังแก๊สทั่วไปจะหมดสภาพการใช้งานประมาณ 5 ปี แต่ถ้าเกิดถังเก่าก่อนกำหนดหรือใช้แล้วเป็นสนิม หน้าที่ในการซ่อมหรือเปลี่ยนถังแก๊ส เป็นของบริษัทแก๊ส เช่นแก๊สของ ปตท.หากถังแก๊สของ ปตท. มีการขึ้นสนิมหรือทรุดโทรมอย่างไร ผู้ใช้ก็สามารถคืนหรือเปลี่ยนถังแก๊สเป็นถังใหม่จากร้านค้าแก๊สนั้นได้ ซึ่งหลังจากนั้นทางร้านก็จะส่งคืนให้ทาง ปตท. ทางปตท.ก็จะเป็นผู้บำรุงรักษาถังนั้นเองด้วยค่าใช้จ่ายของ ปตท.เองในส่วนของการร้องเรียนของแก๊ส ปตท. นั้นผู้ร้องสามารถร้องเรียนได้ที่ เบอร์ 02 5372000 ต่อ แผนกร้องเรียน ซึ่งขั้นแรกอาจจะทำการตักเตือนกับทางร้านค้าก่อน ถ้ายังทำอีกก็อาจจะมีการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไปส่วนในกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้า สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  โทรสายด่วน 1569 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะทำเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับก็ได้สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อจะได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงอีกกรณีที่ผู้ร้องได้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิแล้วจะเปลี่ยนร้านจำหน่ายซื้อก๊าซหุงต้มนั้น สามารถเปลี่ยนได้ โดยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สามารถกดลงทะเบียนใหม่ได้ด้วยตนเอง ตามขั้นตอนของการลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิ แต่มีเงื่อนไขว่า ร้านจำหน่ายใหม่ที่จะซื้อก๊าซจะต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันกับที่อยู่ของผู้ร้องถ้าผู้ร้องร้องเรียนแล้วยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข ผู้ร้องสามารถส่งเรื่องและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบให้กับผู้ร้องอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 รัฐบาลโหมโฆษณากล่อมชาวบ้าน เมษานี้ขึ้นแน่...แก๊สหุงต้ม 100 บาท/ถังใน 1 ปี

 มีผู้บริโภคหลายรายถามมาว่า แก๊สหุงต้มจะขึ้นจริงหรือเปล่า เห็นบอกว่าจะขึ้นช่วงปีใหม่ แต่ผ่านมาแล้วยังไม่เห็นขึ้นซะที แล้วถ้าขึ้นจริงราคาจะขึ้นเป็นเท่าไรแน่“เสียงจากผู้บริโภค” ในฉลาดซื้อ ฉบับรับปีใหม่ ได้นำเสนอข่าวที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดชงแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอต่อนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 27.76 บาท/กก. และราคาขายปลีก 36.35 บาท/กก.)มาใช้อ้างอิง แต่พอมีเสียงทัดทานจากผู้บริโภคออกไป รมต.พลังงานคงเห็นว่าขึ้นราคาแบบนี้คงไม่เนียน ใส่เกียร์เจ้าตูบถอยหลังปรับทัพสักหน่อย สั่งเลื่อนเวลาปรับขึ้นราคาไปอีก 2 เดือน และให้ สนพ. ไปจ้างสวนดุสิตทำการศึกษาหามาตรการบรรเทาช่วยเหลือกับผู้มีรายได้น้อยและร้านค้าหาบเร่เพื่อลดแรงต้านรมว.พลังงานส่งสัญญาณมาแบบนี้ ก็กระจ่างชัดเจนแล้วว่า แก๊สหุงต้มปรับขึ้นราคาแน่...พี่น้อง มาตรการปรับราคาแก๊สหุงต้มของรัฐบาลก่อนการปรับขึ้นราคา LPG กระทรวงพลังงานได้จัดพิมพ์แผ่นพับ “ความจริงวันนี้ของ LPG” จำนวน 2 ล้านชุด เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนยอมรับ LPG ราคาใหม่ด้วยความสงบสาระสำคัญคือ จะมีการปรับราคา LPG กับภาคครัวเรือนและรถยนต์เริ่มเดือนเมษายน 2556 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งดังนี้1.ภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นราคาจาก 18.13 บาท/กก. ขึ้นเป็น 24.82 บาท/กก. หรือเพิ่ม 100 บาท/ถัง(15 กก.) ภายในสิ้นปี 25562.ภาครถยนต์ จะปรับขึ้นราคาจาก 21.38 บาท/กก. เป็น 24.82 บาท/กก. เช่นเดียวกัน ส่งผลให้ก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์จากปัจจุบันอยู่ที่ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร) จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 13.42 บาท/ลิตร ภายในปี 2556(เอกสารไม่แจ้งว่าจะใช้วิธีทยอยปรับขึ้นราคาหรือไม่)3.กระทรวงพลังงานจะลดแรงต้านทานจากประชาชนด้วยการให้ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 9 ล้านครัวเรือน และร้านหาบเร่แผงลอยประมาณ 500,000 ร้าน ได้ใช้ LPG ในราคาเดิมคือ 18.13 บาท/กก. (คาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนเข้าไปจ่ายชดเชยให้) ใครได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคา LPG บันไดปรับราคาก๊าซ LPG (แก๊สหุงต้ม) ขั้นที่ ราคา ต้นทุนที่โรงแยกได้ ราคาขายปลีก เหรียญสหรัฐ/ตัน บาท/กก. บาท/กก. 1 ราคาปัจจุบัน 333 10.26 18.13 2 ราคาโรงแยก 550 16.96 24.82 3 ราคาตลาดโลก 900 27.76 36.35   LPG ราคาที่ 24.82 บาท/กก. ซึ่งกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณจะปรับขึ้นราคาในไตรมาสที่ 2/2556 หรือเมษายนนี้ เป็นการปรับราคาตามแผนขั้นที่ 2 โดยตัวเลขที่ 24.82 บาท/กก. นี้เป็นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่รวมภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินจ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อแยกออกมาให้เหลือเฉพาะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท ได้รับจะอยู่ที่ 16.96 บาท/กก. (550 เหรียญสหรัฐ/ตัน)ปตท.อ้างว่า ตัวเลข 16.96 บาท/กก.นี้เป็นราคาต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของตน (ปัจจุบันยังไม่เคยมีหน่วยงานวิชาการที่เป็นกลางตรวจสอบว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่) แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพบว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ซื้อและใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิตก๊าซ LPG ในราคาเฉลี่ย 8.42 บาท/กก. (เป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ประชาชนซื้อก๊าซธรรมชาติผ่านราคาค่าไฟฟ้า) ดังนั้น การที่รัฐบาลกำหนดราคา LPG จากโรงแยกก๊าซไว้ที่ 10.26 บาท/กก. (333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามบันไดขั้นที่ 1)ก็ถือว่าเป็นราคาที่โรงแยกก๊าซได้กำไรพอสมควรอยู่แล้ว (มีส่วนต่าง 1.84 บาท/กก.)แต่เมื่อรัฐยอมให้โรงแยกก๊าซขยับราคาต้นทุนขึ้นมาที่ 16.96 บาท/กก.ตามบันไดขั้นที่ 2 จะทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาขายก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบมากถึง 8.54 บาท/กก.หรือสูงราว 1 เท่าตัวของราคาวัตถุดิบ ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไปอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับธุรกิจผูกขาดอย่างกิจการก๊าซธรรมชาติ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้รายงานปริมาณการใช้ LPG ของประเทศในปี 2555 ว่า ภาคครัวเรือนใช้ LPG ประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนรถยนต์ใช้ประมาณ 1 ล้านตัน ดังนั้น ผลของการปรับราคาก๊าซ LPG จะทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ป ตท มีรายได้เป็นเงินสดๆจากการจำหน่าย LPG ให้ภาคครัวเรือนและรถยนต์เพิ่มขึ้นราว 23,540 ล้านบาทภายใน 1 ปี (ไม่ต้องเสียเวลารอเบิกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง) และนั่นยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะกระทรวงพลังงานยังคงมีแผนบันไดขั้นที่ 3 ปรับราคา LPG ให้ขึ้นตามราคาตลาดโลก ไว้รอประชาชนอยู่เห็นแผนการทยอยปรับขึ้นราคาแบบนี้ ทำให้นึกถึงการทดลองวิทยาศาสตร์สมัยเรียนหนังสือ การทดสอบเรื่องปฏิกิริยาของกบในหม้อน้ำร้อน คือถ้าเราโยนกบลงไปในหม้อที่ต้มน้ำร้อนเดือดอยู่แล้ว กบจะรู้สึกร้อนและกระโดดหนีทันที แต่ถ้าปล่อยให้กบอยู่ในหม้อน้ำอย่างสบายใจไปก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิความร้อนของน้ำทีละนิดๆ กบจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรและนั่งอยู่ในหม้อต่อไป จนเมื่อน้ำร้อนจนถึงขั้นเดือดปุดๆ กว่ากบจะรู้ตัว น้ำร้อนก็ลวกกบตายเสียแล้ว ขอไว้อาลัยกับกบไทยทุกตัว ตารางแสดงรายได้ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคครัวเรือน รายได้จาก LPG ภาคครัวเรือน ราคาปัจจุบัน ราคาใหม่ โรงแยกมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก 18.13 บาท/กก. 24.82 บาท/กก.   ราคาที่โรงแยกได้ 10.26 บาท/กก. 16.96 บาท/กก. 6.70 บาท/กก. ครัวเรือนใช้ 3,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี โรงแยกจะมีรายได้ 30,780 ล้านบาท 50,880 ล้านบาท 20,100 ล้านบาท   ตารางแสดงรายได้ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคครัวเรือน รายได้จาก LPG ภาครถยนต์ ราคาปัจจุบัน ราคาใหม่ โรงแยกมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก 21.38 บาท/กก. 24.82 บาท/กก.   ราคาที่โรงแยกได้ 14.34 บาท/กก. 17.78 บาท/กก. 3.44 บาท/กก. รถยนต์ใช้ 1,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี โรงแยกจะมีรายได้ 14,340 ล้านบาท 17,780 ล้านบาท 3,440 ล้านบาท หมายเหตุ : ราคาขายปลีก และราคาที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ รวบรวมจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ก.พลังงาน   จริงหรือไม่ แหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นแหล่งเล็ก ขุดหายาก ต้นทุนสูงช่วงนี้มีคำถามเรื่องพลังงานของประเทศไทยเข้ามาเยอะ คงเพราะประเด็นเรื่องพลังงานกำลังเป็นเรื่องร้อนและสร้างผลกระทบกับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องราคาเชื้อเพลิงมีข้อสงสัยเรื่องพลังงานมาอีกหนึ่งเรื่อง ถามมาว่า เห็นกระทรวงพลังงานทำเอกสารประชาสัมพันธ์ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ บอกว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ยากที่จะทำการค้นหา ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสำรวจและมีความเสี่ยงสูง การคิดผลตอบแทนให้กับรัฐ จึงต้องกำหนดให้เหมาะสม มิเช่นนั้นจะไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน จริงหรือไม่ ตอบข้อสงสัยจากเอกสารเผยแพร่ที่ชื่อว่า ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ใน http://www.chevronthailand.com/knowledge/history.asp ได้กล่าวถึงเทคนิคการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole drilling ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขอคัดมาให้อ่านกันชัดๆ เพื่อคลายข้อสงสัยที่ถูกปกปิดกันมานานในการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีความลึกแต่ละหลุมประมาณ 9,000 – 9,500 ฟุต (2,700 – 2,900 เมตร) จากระดับความลึกของผิวน้ำทะเล การขุดเจาะหลุมแคบ หรือ Slim hole เป็นวิธีการขุดเจาะหลุมที่มีขนาดหลุมเล็กกว่าการเจาะแบบปกติ ที่ต้องขุดเจาะหลุมขนาดใหญ่ 26-30 นิ้ว และ 17 ½ นิ้ว ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 12 ¼  นิ้ว แล้วจึงทำการขุดเจาะหลุมเล็กขนาด 8 ½ นิ้ว และใส่ท่อผลิตขนาด 7 นิ้ว แต่ในการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole นี้ จะแบ่งเป็นสามชั้น ขนาด 12 ¼ นิ้ว และ 8 ½ นิ้ว ขนาดหลุมผลิตที่ต้องขุดเจาะเล็กลงเหลือ 6 ½ นิ้ว  และใส่ท่อขนาด 2 ¾ นิ้วหรือ 3 ½  นิ้ว เท่านั้นจากประสบการณ์ในการพัฒนาแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยของกลุ่มบริษัทเชฟรอนฯ พบว่า ทั้งแหล่งก๊าซหรือแหล่งน้ำมันที่มีกาขุดเจาะด้วยวิธีดังกล่าว จะมีขนาดเล็กกว่าแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแหล่งปิโตรเลียมในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่ปิโตรเลียมมักถูกพบอยู่รวมกันเป็นกระเปาะเล็กๆ ตามแนวแตกของหิน ดังนั้น การจะพัฒนาแหล่งผลิตเพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด จึงจำเป็นต้องขุดเจาะหลุมจำนวนมาก และแต่ละหลุมควรต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ซึ่งขาดขุดเจาะด้วยวิธีนี้นั้นทำได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และสามารถออกแบบแท่นผลิตให้เล็กลงจากปกติได้ ส่งผลให้มีต้นทุนการเจาะหลุมที่ต่ำกว่าการเจาะหลุมแบบปกติ หรือ Conventional hole drilling (เป็นแท่นเจาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อุปกรณ์และส่วนประกอบมีขนาดใหญ่ และสามารถเจาะได้ลึกมาก อาจถึง 35,000 ฟุต หรือ 10-11 กิโลเมตร ในขณะที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยอยู่ลึกเพียง 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้ การนำเทคนิคการเจาะหลุมแบบแคบมาใช้จึงเป็นคำตอบสำหรับแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่บริษัท เชฟรอนฯ นำมาใช้พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีอยู่นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เนื่องจากสามารถเจาะหลุมสำรวจและผลิตได้จำนวนมาก และสอดคล้องกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาใต้ดินในอ่าวไทย แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย เจาะง่ายและไวที่สุดในโลก ลึก 3 กิโลเมตรใช้เวลาแค่ 46 ชั่วโมงในด้านความเร็วของการขุดเจาะ สถิติที่น่าจดจำที่ถูกบันทึกไว้สำหรับในการนำเทคนิคการขุดเจาะหลุมแคบ (Slim hole) มาใช้คือ การเจาะหลุมฟูนาน เจ-13 ในอ่าวไทยเมื่อปี 2542 ของทางเชฟรอน (หรือยูโนแคลไทยแลนด์ในช่วงนั้น) โดยอาจเรียกได้ว่า เป็นการเจาะหลุมที่เร็วที่สุดในโลก โดยสามารถเจาะได้ด้วยอัตราความเร็ว  5,145 ฟุตต่อวัน( 1,568 เมตรหรือ 1.5 กม.ต่อวัน) ทำลายสถิติที่เคยเจาะหลุมสตูล เอ-17 ที่เคยทำได้ 4,720 ฟุตต่อวัน (1,439 เมตร หรือ 1.4 กม.ต่อวัน) เมื่อปี 2540 ซึ่งหลุมฟูนาน เจ-13 นี้ เจาะถึงความลึกที่ 9,882 ฟุต หรือ 3,012 เมตร (ความลึกตามแนวดิ่ง 7,900 ฟุต หรือ 2,408 เมตร) ภายในเวลาเพียง 46 ชั่วโมงเท่านั้น จากหลุมแบบใหญ่ เปลี่ยนเป็นหลุมเล็กหลายหลุม ต้นทุนถูกกว่า ผลิตก๊าซได้มากกว่าบริษัทเชฟรอนฯ ยังมีแท่นผลิตเก่าที่เคยออกแบบไว้เป็นหลุมใหญ่ 12 หลุม ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยเทคนิคการเจาะแบบหลุมแคบ โดยแบ่งหลุมใหญ่ดังกล่าวออกได้เป็น 3-4 หลุมย่อย ทำให้ได้จำนวนหลุมเพิ่มขึ้นเป็น 24 หลุมหรือ 36 หลุม ซึ่งช่วยให้ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง (เอกสาร เรื่อง “วิธีการเจาะสำรวจ“ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่าเทคนิคการเจาะแบบนี้ ช่วยให้การปฏิบัติงานเจาะเร็วขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงมากกว่า 30%)ผลของเทคนิคการขุดเจาะดังกล่าวที่นำมาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย ได้ผลที่น่าตื่นใจตรงกันข้ามกับที่กระทรวงพลังงานทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไป โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้รวบรวมจำนวนหลุมสำรวจปิโตรเลียม ในแหล่งในทะเลของไทย ตั้งแต่ปี 2515-2554 ซึ่งรายงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ประเทศไทยมีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลทั้งหมด 852 หลุม พบปิโตรเลียมมากถึง 679 หลุม หรือคิดเป็นร้อยละ 80 และมีหลุมที่สำรวจไม่พบปิโตรเลียมเพียง 173 หลุม หรือร้อยละ 20 เท่านั้น โดยพบก๊าซธรรมชาติ 495 หลุม (73%) คอนเดนเสท 97 หลุม(14%)   และ น้ำมันดิบ 87 หลุม (13%)นับตั้งแต่ปี 2524 ถึง 2554  อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตปิโตรเลียมรวมเวลา 30 ปี ปิโตรเลียมที่ผลิตได้มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.4 ล้านล้านบาท รัฐยอมให้เอกชนผู้รับสัมปทานนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาทมาหักออก ก่อนจะนำรายได้ส่วนที่เหลือประมาณ 2 ล้านล้านบาทมาหักแบ่งกันอีกครั้ง  โดยรัฐได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายของเอกชนแล้วตกราว 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนนอกจากจะได้รับเงินลงทุนคืนไปทั้งหมดแล้วยังได้รับผลตอบแทนเพิ่มอีกกว่า 9 แสนล้านล้านบาทเป็นรางวัลอีกด้วย สรุปว่ามูลค่าปิโตรเลียมทั้งหมด 3.4 ล้านล้านบาท ตกเป็นของรัฐเพียง 30% ส่วนที่เหลือ 70% ตกเป็นของเอกชนทั้งในรูปของเงินลงทุนและผลกำไรล่าสุดกำลังจะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และมีความพยายามที่จะขยายเวลาสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุไปแล้ว คำถามคือว่า รัฐจะมีการแก้ไขเงื่อนไขผลตอบแทนให้รัฐได้รับมากไปกว่านี้หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่สังคมควรจับตาเป็นอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 สวัสดีปีใหม่ แก๊สหุงต้มจะปรับขึ้นราคา ?

เรื่องนี้ยังไม่มีใครร้องเรียน เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่า แก๊สหุงต้มกำลังนับถอยหลังดีเดย์ปรับขึ้นราคา ในเดือนมกราคม ปี 2556 หน้าค่อนข้างแน่นอนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้สรุปแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้ราคา LPG ขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 18 บาท/กก. สำหรับก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนสนพ. ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้นอย่างนี้ราคาก๊าซที่ขายในประเทศก็ต้องสูงตามไปด้วย แต่เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ จึงเสนอให้ใช้วิธีขึ้นราคาแบบนวดคลึง คือค่อยๆปรับ ค่อยๆเจ็บ สู่ราคาเป้าหมายที่ 36 บ./กก. ภายใน 2 ปี จากเดือนมกราคม 2556-ธันวาคม 2557โดยภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บ./กก. ภาครถยนต์จะปรับขึ้นเดือนละ 1.20 บ./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 21.38 บ./กก. และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 30.13 บ./กก.คาดว่ารัฐบาลจะลดแรงต้านด้วยการเสนอมาตรการบรรเทาความด้วยร้อนด้วยการแบ่งแยกกลุ่มประชาชน ผ่านกลไกบัตรเครดิตพลังงานที่จะให้ส่วนลดแก่ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 6 ล้านครัวเรือน และร้านค้า หาบเร่ แผงลอย อีกราว 2 แสนกว่าราย ซึ่งจะมีลักษณะให้ไปลงทะเบียนคล้ายกับบัตรเครดิตพลังงานที่ใช้กับกลุ่มรถแท๊กซี่และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วงที่ผ่านมา   ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ผลกระทบโดยตรง สำหรับบ้านที่ใช้แก๊สถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 50 สต./กก.ราคาแก๊สจะขยับจากถังละ 290 บาท ขึ้นเป็น (0.50 x 15) + 290 = 297.50 บาท/ถังหลังปรับขึ้นราคาครบปีที่ 1ราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x 12) + 290 = 380 บาท/ถัง (สูงขึ้น 31%)หลังปรับราคาครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x24) + 290 = 470 บาท/ถัง (สูงขึ้น 62%)หมายเหตุ : ราคายังไม่รวมค่าบริการส่งก๊าซถึงที่อยู่อาศัย   สำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงราคาแก๊สปัจจุบันอยู่ที่21.38 บ./กก. หรือ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร)ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 1.20 บ./กก.ราคาแก๊สจะขยับจาก21.38 บ./กก. ขึ้นเป็น (21.38 + 1.20 ) = 22.58บ./กก. (12.20 บ./ลิตร)หลังปรับขึ้นราคาครบ 1 ปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 12) + 21.38 = 35.78 บ./กก. (19.34 บ./ลิตร) หรือ สูงขึ้น 67.35%หลังปรับขึ้นครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 24) + 21.38 = 50.18 บ./กก. (27.12 บ./ลิตร) หรือสูงขึ้น 134.7% ผลกระทบโดยอ้อม ประชาชนอาจจะใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือนและในรถยนต์น้อยลง แต่ในทางเดียวกันประชาชนก็ไม่มีทางเลือกการใช้พลังงานมากขึ้น ป่าไม้อาจถูกทำลายมากขึ้น จากการที่ประชาชนหันกลับมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ไม่มีหลักประกันใดว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะสามารถดูแลราคาสินค้าเครื่องใช้อุปโภค บริโภค ต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคได้ เพราะจากอดีตที่ผ่านมาในการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ NGV แม้รัฐบาลจะมีมาตรการบัตรเครดิตพลังงานให้ส่วนลดค่าเชื้อเพลิง มาตรการเปิดร้านค้าธงฟ้าที่ต้องใช้งบประมาณมากมาย หรือมาตรการประกาศราคาแนะนำข้าวแกงขึ้นมา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำให้ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นไปแล้วทยอยลดราคากลับคืนมาแต่อย่างใด แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาก๊าซ LPG ขาดแคลน โดยอ้างว่ามีการใช้ผิดประเภทในภาครถยนต์และในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป จนทำให้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างของราคานำเข้า LPG ตลาดโลก นับแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบันรวมเกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนแก่ประชาชน เนื่องจากในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้ก๊าซ LPG ในราคาประมาณ 18 บ./กก. ส่วนผู้ใช้รายอื่นใช้ในราคาที่สูงกว่านี้อีก แต่ปรากฏว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมของตนกลับใช้ LPG ในราคาเพียง 16 บ./กก. เท่านั้น และมีสัดส่วนการใช้มากถึง 33-34% ของกลุ่มผู้ใช้ทั้งหมด (รถยนต์ใช้เพียง 14% )และยังเป็นการใช้ก๊าซโดยตรงจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิต จึงมีราคาถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน หรือก๊าซนำเข้าด้วยเรื่องนี้เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับประชาชนทั้ง 70 ล้านคน  จึงน่าจะมีกระบวนการประชาพิจารณ์ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเปิดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนทั่วไปเสียก่อน หากตรวจสอบแล้วว่า มีข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือมีการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม จะได้มีมาตรการจัดการปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปั๊มแก๊สไม่ยอมทอนเศษสตางค์

ดิฉันมีข้อสงสัยที่จะหารือดังนี้ค่ะ คุณนลินศิริเริ่มเรื่องดิฉันเพิ่งซื้อรถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV มาใช้ค่ะที่สงสัยคือเวลาไปเติมแก๊ส NGV แต่ละปั๊ม เวลามีเศษสตางค์ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ จะถูกปั๊มปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม 1 บาทเพิ่มทุกปั๊ม อย่างเติมเป็นเงิน 87.40 บาทหรือ 87.90 บาทก็จะถูกคิดเป็น 88.00 บาทคุณนลินศิริให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีครั้งหนึ่งเคยไปเติมแก๊สและต้องจ่าย 87.40 บาท คุณนลินศิริพอดีมีเศษสตางค์ก็เลยให้เด็กปั๊มไป 87.50 บาท“เขามองหน้า แล้วบอกเอาคืนไปเหอะ ดิฉันก็รับเงินเศษ 50 สตางค์คืน”อย่างนี้ก็ถือว่าโชคดีเพราะปั๊มรังเกียจเศษสตางค์“แต่บางครั้งเราก็คิดว่าเศษน้อยคือแค่ 9-10 สตางค์เขาน่าจะปัดทิ้ง เขาก็ไม่เคยปัดทิ้งมีแต่จะปัดขึ้นแล้วไม่ใช่ปัดเป็นสลึงหรือห้าสิบสตางค์ ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นเป็นหนึ่งบาทเลย” “ดิฉันสงสัยว่า เราดูถูกค่าเงิน 25 สตางค์กันแล้วหรือถ้าเด็กปั๊มจะบอกว่า ผมไม่สะดวกทอนเงินดิฉันก็คงยินดีที่จะให้มากกว่ามาบังคับกัน เคยได้ยินข่าวพักหนึ่งเรื่องเดียวกันกับปั๊มแก๊ส LPG แล้วเงียบหายไป ก็เลยสงสัยว่าเรื่องนี้(ปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นหนึ่งบาท) เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าจะได้ทำใจค่ะแนวทางแก้ไขปัญหาปัจจุบันประเทศไทยมีเหรียญที่มีค่าเงินที่น้อยที่สุดที่สามารถนำมาชำระหนี้กันได้คือที่ 25 สตางค์ หากเราซื้อสินค้าแล้วมีเศษสตางค์ที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 25 สตางค์คือ 12.50 สตางค์ ในทางปฏิบัติก็ควรจะปัดเป็น 0 สตางค์ เพราะไม่สามารถหาเหรียญหรือธนบัตรมาชำระหนี้กันได้ แต่หากมูลหนี้นั้นมีค่าตั้งแต่ 12.50 สตางค์ขึ้นไป ก็ให้ชำระหนี้หรือทอนเงินด้วยเหรียญ 25 สตางค์ แต่การที่สินค้ามีมูลค่าตกเศษสตางค์แล้วผู้ประกอบธุรกิจปรับเป็นมูลค่า 1 บาท ต้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ เนื่องจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ประกาศให้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีและก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในสินค้าหลายร้อยชนิดที่จะต้องแสดงราคาจำหน่ายขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่แสดงราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือหากมีการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่แสดง จะถือว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันคือไม่ได้แสดงราคาป้าย มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสามารถกล่าวโทษร้องทุกข์ได้กับกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัด โทรสายด่วน 1569 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ครับเพราะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >