ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 “เยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน” เสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนเป็นพลเมืองมีชีวิตที่มีคุณภาพ เท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์

        “นักเรียน ม.5 ถูกหลอกโอนเงินเพราะกลัวพ่อแม่ติดคุก”  “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินเด็กน้อยวัย 10 ขวบ เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท”  หลายครั้งที่เยาวชนถูกล่อลวง  ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูญเสียเงินไปจำนวนมาก ในระดับประเทศปัจจุบัน เรายังกำลังเผชิญกับภาวะที่คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยไม่มีพฤติกรรมการออม  ส่งผลให้มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมาก  ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเหตุร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การชำระหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากที่สุดตลอดการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  จัด ‘โครงการเยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ พัฒนาหลักสูตร สร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน และเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการการเงินให้แก่เยาวชน แล้วกว่า 30 โรงเรียน ตั้งแต่ปี  2563  ถึงปัจจุบัน           ฉลาดซื้อได้พูดคุยกับน้องเยาวชนหลายคนที่ได้เข้าอบรม โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เสียงของพวกเขา สะท้อนกลับมาถึงมูลนิธิฯ อีกครั้งว่า การมีความรู้และทักษะด้านการเงินจะช่วยคุ้มครองเยาวชนและช่วยติดอาวุธให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีชีวิตที่มีคุณภาพเป็นผู้บริโภคที่จะสามารถรักษาสิทธิของตนเองได้ต่อไป            ด.ช. อดิสรณ์   ปรีชา  (ดัมมี่)  ชั้น ม.2/2           “ตอนแรกเห็นชื่อหลักสูตร เยาวชนเท่าทันทางการเงิน คิดว่าจะน่าเบื่อครับ  แต่พอได้มาเข้าเรียนแล้วสนุก แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องรู้ด้วย เรื่องภัยการเงินออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก เพราะว่าคนรอบข้างหลายคนก็เจอปัญหานี้         เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญมาก  เราควรสนใจ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าวันนี้เราไม่สบาย เราจะทำอย่างไร  เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจริงๆ สิ่งที่ผมได้คิดจากการเข้าร่วมอบรม 2 วันนี้ครับ   นอกจากเรื่องการเงินแล้ว  มีความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย         ฝากถึงเพื่อนเยาวชนรุ่นเดียวกันที่อาจไม่ได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ว่า   เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญ   เราอยู่ในยุคที่เรามีช่องทางที่หารายได้มากขึ้น  แต่เราก็ถูกล่อลวงได้จากหลายช่องทางได้เช่นกัน   และเราเป็นเยาวชน อายุเรายังเท่านี้  ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเงิน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ  เราจะวางแผนการเงิน รายได้ รายจ่ายได้ดีขึ้นครับ  ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีได้ ที่สำคัญ ความรู้นี้เรายังเอาไปใช้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ของเราได้ครับ  ”           ด.ญ. พรทิพย์  ทองเปราะ  (มุก)  ชั้น ม.2/1          “เคยมี call center  โทรมาบอกว่า บัญชีหนูไปทำธุรกรรมอะไรไม่รู้ ที่มันไม่ดี หนูก็วางสายไปเลยเพราะว่ากลัวโดนหลอก เรื่องแบบนี้ เขาโทรหาใครก็ได้ เขาไม่ได้โทรหาคนมีเงิน เด็กแบบหนูก็โดนได้ แม่หนูก็โดน   นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจากการไปกู้หนี้นอกระบบ โดนทำร้ายร่างหาย ตอนนี้ก็เห็นกันเยอะเลย         วันนี้มาเรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงินแล้วดีใจมาก ได้ความรู้เรื่อง การออม  การเก็บเงิน การใช้เงิน  สิทธิของผู้บริโภค   รู้เท่าทันการโกงต่างๆ มากขึ้น แล้วรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำยังไงต่อไป   นอกจากความรู้แล้ว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน น้องในกลุ่มเดียวกัน ตอนแรกไม่รู้จักกันแต่ช่วยกันทำ  ได้มาช่วยกันคิดตลอดเลย         ฝากถึงเพื่อนวัยเดียวกัน คืออยากให้ระวังตัวไว้หน่อยพวก call center  พวกเป็นหนี้ ยืมเงินเพื่อน ไม่อยากให้ยืมเงินเพื่อนบ่อย เด็กๆ  เรามีการยืมเงินกันจริงๆ นะคะ อยากให้ระวังการใช้เงิน แล้วการวางแผนการเงินสำคัญมาก  ถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราวางแผนการใช้เงิน การหารายได้ดีๆ และทำจริงจัง มันเป็นไปได้ค่ะ ”         ด.ญ. อาทิตยา   เบิกสันเทียะ (ใบหยก)  ชั้น ม.1/1          “เรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน แล้วได้อะไรบ้าง  รู้เรื่องการออม สิทธิของผู้บริโภค เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมาก คือการหารายได้ อยากรวย   เพราะครอบครัวหนูลำบาก ก็อยากให้พ่อแม่ สบาย หนูเลยทำงานมีรายได้แล้ว  หนูรับจ้างล้างห้องน้ำ มีรายได้เดือนละ 200- 300  บาท นอกจากหารายได้แบบนี้ หนูก็คิดว่า ตอนนี้ทางออนไลน์ มีหลายช่องทางที่หนูสามารถหารายได้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะมีล่อลวง ต่างๆ  ตามมาด้วย         รู้เรื่อง สิทธิผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ หนูว่ารู้ว่าผู้บริโภคคืออะไรจากการเรียน เศรษฐศาสตร์  คือรู้แค่หลักการความหมายว่า ผู้บริโภค คือใคร   ผู้ผลิตคือใคร  แต่การเรียนรู้จากหลักสูตร ทำให้หนูเข้าใจสิทธิของผู้บริโภคเราว่าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของ เรามีสิทธิที่ตามมาด้วย         รู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน หนูกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ เลยได้มาเรียนรู้ และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ฝากบอกเพื่อนๆ  รุ่นเดียวกันว่า เราลองหันมามอง ศึกษาเรื่องที่เราอาจคิดว่ามันน่าเบื่อ ทั้งที่เราก็รู้ว่าเป็นปัญหารอบตัวเรา และเราจะได้ประโยชน์มากๆ  ลองเปิดใจ เรียนรู้ เราจะไม่โดนโลกจากข้างนอกหลอกเราได้ค่ะ”        ด.ญ. มัญฑิตา   เฮงสวัสดิ์  (แพว) ม.2/1           “หนูเป็นเด็ก แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือหารายได้เองไม่ได้แต่หนูก็จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการเงิน  อนาคต เราต้องเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้ยิ่งมีภัยออนไลน์ต่างๆ  เขายิ่งคิดว่าเด็กไม่รู้จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวหนูก็เจอปัญหาค่ะ เสียเงินจากการสมัครงานออนไลน์  เป็นเพื่อนในห้องเรียน เคยโดนหลอก เพื่อนไปลงทุนกับงานๆ หนึ่งไป เสียค่าสมัคร 50 บาท  แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ได้ทุนคืนมาด้วยซ้ำ         หนูดีใจแล้ว ที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เรียนรู้เรื่องนี้  เรื่องการออมเงิน  แรงบันดาลใจที่ได้ คือ หนูอยากออมเงินให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย แล้ว หนูมีความฝัน อยากเป็นหมอจิตเวช  ยังมีอนาคตการเรียนอีกไกลที่ต้องใช้เงิน การออม การวางแผนรับ - รายจ่ายจะช่วยหนูได้ ”          ด.ช. นิรักษ์  กองกูล (ติว) ชั้น ม.2/1         “เรื่องการออม การวางแผนการเงิน มีความสำคัญมากครับ เพราะว่า เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะไม่ได้รู้อะไรมาก อาจจะไปหลงเชื่อได้ เท่าที่ผมเคยเจอ  ญาติของผมเกือบจะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สุดท้ายไม่ได้โอน แต่ผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวพอสมควรเลยครับ         การเรียน 2 วันนี้ ได้รู้หลายๆ เรื่องที่อาจจะเคยได้ยินมาแล้วบ้าง แต่จะได้รู้เจาะลึกเข้าไปอีก  ผมรู้สึกว่า เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ มากขึ้น เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่องภัยสังคม  ภัยออนไลน์ต่างๆ  มากเท่าไหร่  ก็รู้เบื้องต้นเท่าในข่าว          ฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าควรเข้ามาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้นเพราะว่า เยาวชนเราอาจจะยังไม่ได้หาเงินได้เอง  ก็อยากให้รู้ เข้าใจ ว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะเข้ามาล่อลวงเราอย่างไรได้บ้าง   เขามาดีหรือมาร้ายยังไง มีรูปแบบไหนได้บ้างมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า จะมีความรู้ที่จะรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2565

สังเกตเครื่องหมาย +66 แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโดยมีมาตรการดังนี้  1. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือเบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก เบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย 2. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด 3. ให้ดำเนินการตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่าเลขหมายมีการดัดแปลงหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator อย่างต่อเนื่อง 4. กรณีสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่มีกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ทราบว่าโทรมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการของ กสทช. นี้เพื่อย้ำให้ผู้ให้บริการระหว่างประเทศดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับเครื่องเครื่องสำอางปลอม 18 ยี่ห้อดัง         กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ดังปลอมหลายยี่ห้อ ซึ่งภายในบ้านได้ดัดแปลงเป็นโกดังสินค้าย่านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยสามารถจับกุมหญิงชาวเวียดนามผู้ดูแลบ้านได้ และจากการตรวจสอบบ้านได้ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางยี่ห้อดัง 18 รายการ จาก 7 บริษัท มูลค่า 70 ล้านบาท ต่อมาทางหญิงชาวเวียดนามได้สารภาพว่า แฟนหนุ่มคนไทยได้ร่วมมือกับนายทุนชาวเวียดนาม รับจ้างดูแลสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้า ส่วนสินค้าคือสินค้าปลอมที่ผลิตมาจากประเทศจีน และมีการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. ได้เปิดเผยว่า ต้นเหตุในการจับกุมมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีราคาถูกกว่าปกติ 50-70% มีโปรโมชัน 1 แถม 1 เมื่อได้รับกลับพบว่าเป็นสินค้า ด้อยคุณภาพ เมื่อใช้เกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้นและหน้าพัง จึงขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบให้รอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เสี่ยงอันตรายจากแบคทีเรีย         จากกรณีข้อมูลเผยแพร่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ มีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากแบคทีเรียสะสมนั้น เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยจากผู้ป่วย หน้ากากอนามัยจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นขยะที่ติดเชื้อ ต้องนำไปกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545  และหน้ากากอนามัยที่ติดเชื้อหากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแหล่งเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ที่จะเจริญเติบโตและก่อโรคให้แก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้น ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก เมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง  พาณิชย์ไม่อนุญาตขึ้นค่าส่งสินค้าออนไลน์         หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ได้ปรับราคาค่าขนส่ง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าขนส่งได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าสินค้าหรือบริการต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาหรือปริมาณสินค้า แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ  มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือค้านเร่งต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว         เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี โดยไม่ได้ศึกษาหรือทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานอาจจะทำให้ประชาชนขาดประโยชน์ไปอีกถึง 37 ปี         การยื่นหนังสือคัดค้านนี้ มีนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับทาง มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ  ทั้งนี้ ทาง มพบ. เครือข่ายภาคประชาชน ยังขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่าง กทม. กับ BTSC  ตลอดจนขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >