ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ถังก๊าซสนิมขึ้นเกรอะ เปลี่ยนกี่รอบ กี่รอบก็ให้แบบเดิม

       ถังก๊าซหุงต้มที่เราใช้อยู่ในครัวเรือนอยู่ทุกวันนี้ หากเห็นว่าถังมีสภาพเสื่อมโทรมชำรุด ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าทุกครั้งที่ใช้งานว่ามันจะมีความปลอดภัยไหม เราก็จะต้องรีบใช้สิทธิผู้บริโภคขอเปลี่ยนถัง อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ        คุณพีพี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ปกติใช้บริการร้านก๊าซหุงต้มที่เป็นร้านประจำอยู่ร้านเดียวคือ ร้าน xxx ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านของคุณพีพี ครั้งนี้เมื่อก๊าซหมด คุณพีพีได้ไปติดต่อใช้บริการ แต่เมื่อพนักงานนำถังก๊าซมาส่งที่บ้าน เขาพบว่าได้ถังแก๊สเก่ามาก เก่าขนาดว่ามองไม่เห็นรายละเอียดความปลอดภัยของถังก๊าซที่สำคัญเลยทั้ง ชื่อบริษัทผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิตถังและหมดอายุ คุณพีพีจึงขอให้ทางร้านเปลี่ยนถังใหม่ให้ แต่ทางร้านก็ยังส่งถังก๊าซในสภาพ “อันตราย” กลับมาให้อีก และอีกสองสามครั้งเมื่อเรียกใช้บริการร้านก๊าซ เขาก็ได้รับถังที่ในสภาพทรุดโทรมทุกครั้ง คุณพีพีเกรงว่าปล่อยไว้แบบนี้ชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สินอาจจะไม่ปลอดภัย จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอคำแนะนำว่าตนเองจะได้ก๊าซหุงต้มที่มีสภาพถังปลอดภัยได้อย่างไร        แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ติดต่อประสานแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงาน ให้เข้าตรวจสอบในร้านดังกล่าวและอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ        2.มูลนิธิได้เข้าไปสังเกตการณ์หน้าเพจของร้านดังกล่าว ร้านได้ประกาศข้อความว่า “ถังแก๊ส เป็นสินค้าหมุนเวียน เมื่อแก๊สหมดหลังการใช้งาน (ต้องสลับถัง) กับลูกค้าท่านอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ ที่ลูกค้าจะได้รับถังสภาพใหม่ทุกครั้งในการสั่งซื้อ ร้านขอสงวนสิทธิ์ เลือกถังแก๊สให้ลูกค้าเอง การเลือกถังแก๊สถือเป็นสิทธิ์ขาด” ซึ่งกรณีนี้ มูลนิธิมองว่า ถึงแม้ร้านจะเป็นผู้เลือกถังก๊าซ แต่ถังก๊าซก็จะต้องมีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้            - ถังก๊าซ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพมีซีลปิดผนึกที่หัวถังในสภาพสมบูรณ์ พร้อมหมายเลขถังกำกับ และมีข้อความระบุชื่อบริษัท เดือน ปีที่ตรวจสอบถังครั้งสุดท้าย น้ำหนักถัง และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิท            - สายนำก๊าซ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม ไม่ทำจากยางหรือพลาสติก เพราะเมื่อถูกก๊าซหุงต้มจะละลายทำให้เกิดการรั่วไหลได้ ที่สำคัญต้องไม่หักงอง่าย ทนต่อแรงดันและการขูดขีด สามารถต่อกับลิ้นเปิด – ปิดได้สนิทและแน่นหนา            - เหล็กรัดสายยางส่งก๊าซ ต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน และควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 ปี        3. ดังนั้นหากประชาชนได้รับบริการถังบรรจุก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อ 2 สามารถแจ้งร้องเรียน พร้อมหลักฐานประกอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด และ กองความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน และ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2566

10 แอปพลิเคชันอันตรายบนแอนดรอยด์         สิงหาคม 66  ตำรวจสอบสวนกลางโพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชน พบแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์ดักข้อมูลแฝงอยู่และมียอดการดาวน์โหลดทะลุล้านครั้ง โดยบางแอปได้มีการนำออกจาก Play Store แล้ว แต่ยังสามารถติดตั้งผ่านช่องทางอื่นได้อยู่ เช่น รูปแบบ  Mini-Game ที่มีการให้ผู้ใช้เข้ามาเล่นเพื่อรับรางวัล ซึ่งมี 10 แอปพลิเคชัน ดังนี้ 1.Noizz (แอปตัดต่อวิดีโอพร้อมเพลง) 2.Zapya (แอปแชร์ไฟล์ ย้ายไฟล์) 3.VFly (แอปสร้างวีดีโอ) 4.MVBit (แอปตัดต่อวีดีโอ) 5.Biugo (แอปตัดต่อวีดีโอ) 6.Crazy Drop (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 7.Cashzine (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 8.Fizzo Novel (แอปอ่านหนังสือออฟไลน์) 9.CashEM (แอปรับรางวัล) 10.Tick (แอปดูวีดีโอเพื่อรับรางวัล) ทั้งนี้ การป้องกัน คือ อัปเดตซอฟต์แวร์สม่ำเสมอ ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ และระมัดระวังอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อทั้งหลาย พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงไม่คลิกโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ  บังคับใช้แล้ว เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมายความปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยการกำหนดที่นั่งนิรภัยพิเศษและการป้องกันอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 66 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งที่นั่งนิรภัย(คาร์ซีท)  และคาร์ซีทต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่มีคาร์ซีทแต่มีเด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนด ให้ปฏิบัติตาม ดังนี้ 1.ขับช้าๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และขับชิดซ้าย 2.ให้เด็กนั่งที่นั่งโดยสารตอนหลัง ถ้าเป็นรถกระบะหรือกึ่งกระบะให้นั่งตอนหน้า แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ 3. ให้มีผู้ดูแลเด็กตลอดระยะทางหรือให้เด็กรัดเข็มขัดเฉพาะหน้าตัก ทั้งนี้ ในกรณีรถรับจ้างและรถสาธารณะยกเว้นไม่ต้องมีคาร์ซีทได้ ส่วนโทษปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ศาล ปค.กลาง พิพากษายกฟ้อง สธ. กรณีประกาศแบนพาราควอต         29 สิงหาคม 66 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ ทางเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและเกษตรกรรวม 56 ราย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีร่วมกันประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ.2563 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง(ฉบับที่ 3) การกำหนดปริมาณสารพิษคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์  พาราควอตบิส(เมทิลซัลเฟต) หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการผลิต-การค้า ควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ นำเข้า-ส่งออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย         อย่างไรก็ตาม ทางศาลได้ให้เหตุผล ดังนี้  ประกาศดังกล่าวคือการกำหนดคุณภาพอาหารที่มีสารพิษตกค้างซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน ไม่ตรวจพบวัตถุอันตรายการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเกินสมควร พิพากษายกฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ภาครัฐ-เอกชน ดูแลลงโทษ ผู้ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก๊งมิจฉาชีพ         จากกรณีที่มีข่าวตำรวจไซเบอร์จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สุดท้ายได้มีการซักทอดไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนนั้น                 นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งหลายที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประชาชน หากบุคคลในองค์กรได้กระทำตัวเป็นขโมย ลักลอบข้อมูลจากแก๊งมิจฉาชีพ จะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นความผิดในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอม และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 27 และมีบทลงโทษ ตามมาตรา 79 วรรค 2 ของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจงปม 'ปังชา' ยันขายได้แต่อย่าเลียนแบบภาชนะ          จากกรณีร้านดังได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบจนเป็นประเด็นดรามานั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้แจง พร้อมยืนยันว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าวซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต ดังนั้นการใช้คำว่า ปังชากับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ         อนึ่ง “คำ” ที่เป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการไม่สามารถนำมาจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น ถ้าจะจดคำว่า “ขาว” กับ “ผงซักฟอก” หรือ “ใส” กับ “น้ำดื่ม” อย่างนี้ ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ “เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้า” (ที่มา ดร. พีรภัทร ฝอยทอง)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 กินบุฟเฟ่ต์ร้านหรูแต่เจอเศษแก้วบาดในช่องปาก

        การจ่ายเงินเพื่อเข้าร้านอาหารแน่นอนว่าทุกคนคงจะคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี อาหารที่อร่อย สะอาด และปลอดภัยกันใช่ไหม เพราะว่ามันคือมาตรฐานที่ทุกร้านควรจะต้องมีอยู่แล้ว ทว่าหลายครั้งเราก็พบข่าวการพบสิ่งแปลกปลอมในร้านอาหารและมีเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็บ่อยครั้ง คราวนี้มาในระดับร้านบุฟเฟ่ต์หรูเสียด้วย          คุณน้ำตาลร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณน้ำตาลกับแฟนได้ไปรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์นานาชาติหรูหราที่ห้างดังใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารบุพเฟ่ต์ที่มีอาหารหลากหลายทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น และตะวันตก เรียกได้ว่าคุ้มเลยทีเดียวกับราคาที่จ่ายไป ราคาต่อคนก็ประมาณหนึ่งแบงค์เทากับอีกหนึ่งใบแดง มีตังค์ทอนนิดหน่อย แต่...ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะเธอได้เล่าว่าเมื่อเริ่มรับประทานไปจนอิ่มอาหารคาวแล้ว ก็เลยสั่งของหวานมาตบท้ายเป็น บิงซู ในขณะที่กำลังเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรแตกในปาก ตอนแรกผู้ร้องก็คิดว่าก้อนหินหรือพลาสติกอะไรหรือเปล่าหนอ เลยพยายามเอาลิ้นดัน แต่คราวนี้มาพร้อมกับอาการเจ็บและเลือดออก ผู้ร้องจึงหยิบมันออกมาดูสรุปว่า มันคือเศษแก้ว จึงพยายามหยิบเศษพวกนั้นออกมาให้มากที่สุด และเข้าห้องน้ำเพื่อล้างปาก         หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทางแฟนและเธอก็ได้เข้าไปพบผู้บริหารของร้านดังกล่าว ซึ่งตอนแรกผู้ร้องแจ้งว่าทางร้านยินดีจะลดค่าอาหารให้ 50% ซึ่งทางผู้ร้องเองปฏิเสธที่รับเงื่อนไขนั้น เนื่องจากตกใจในมาตรฐานของร้านและกังวลเรื่องที่เศษแก้วอาจเข้าไปรบกวนในทางเดินอาหาร ขอให้ทางผู้บริหารไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากนั้นผู้บริหารก็เลยพิจารณาใหม่และให้ทางผู้ร้องกับแฟนนั้นทานฟรีสำหรับอาหารมื้อนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ร้องได้เข้าไปโรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจปรากฎว่า ในช่องปากของผู้ร้องยังคงมีเศษแก้วปักอยู่ที่เหงือกอยู่ถึง 2-3 อัน ซึ่งแพทย์ก็ได้ถอนออกมาพร้อมให้ยาฆ่าเชื้อโรคมาด้วย เพราะในเศษแก้วอาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ได้ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 2,000 กว่าบาท จึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ ว่าสามารถทำสิ่งใดเพิ่มเติมได้อีกบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางผู้ร้องได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ  เพื่อต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ให้คำแนะนำดังนี้           1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ (สน.ในพื้นที่ของห้างซึ่งร้านค้าตั้งอยู่)  เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้แกล้งหรือใส่ความทางร้านค้าแต่ประการใด        2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านค้า แบบไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนไขเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย        3. เมื่อพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าวแล้ว หากยังไม่มีการติดต่อจากทางคู่กรณี ทางมูลนิธิอาจจะเชิญผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง        4. และหากหลังจากมีการไกล่เกลี่ยแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกันได้  ผู้ร้องสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร        ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 66 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อทางผู้ร้องอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่า ได้ติดต่อกับทาง สคบ. เพื่อให้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เนื่องจากตัวผู้ร้องเองไม่มีความรู้ในด้านนี้ ซึ่งกลัวว่าอาจจะทำให้เสียเปรียบจึงต้องการหน่วยงานของรัฐเข้ามาพูดคุยเป็นตัวแทน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมให้คำปรึกษากับทางผู้ร้องเสมอ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 “เยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน” เสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนเป็นพลเมืองมีชีวิตที่มีคุณภาพ เท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์

        “นักเรียน ม.5 ถูกหลอกโอนเงินเพราะกลัวพ่อแม่ติดคุก”  “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินเด็กน้อยวัย 10 ขวบ เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท”  หลายครั้งที่เยาวชนถูกล่อลวง  ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูญเสียเงินไปจำนวนมาก ในระดับประเทศปัจจุบัน เรายังกำลังเผชิญกับภาวะที่คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยไม่มีพฤติกรรมการออม  ส่งผลให้มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมาก  ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเหตุร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การชำระหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากที่สุดตลอดการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  จัด ‘โครงการเยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ พัฒนาหลักสูตร สร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน และเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการการเงินให้แก่เยาวชน แล้วกว่า 30 โรงเรียน ตั้งแต่ปี  2563  ถึงปัจจุบัน           ฉลาดซื้อได้พูดคุยกับน้องเยาวชนหลายคนที่ได้เข้าอบรม โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เสียงของพวกเขา สะท้อนกลับมาถึงมูลนิธิฯ อีกครั้งว่า การมีความรู้และทักษะด้านการเงินจะช่วยคุ้มครองเยาวชนและช่วยติดอาวุธให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีชีวิตที่มีคุณภาพเป็นผู้บริโภคที่จะสามารถรักษาสิทธิของตนเองได้ต่อไป            ด.ช. อดิสรณ์   ปรีชา  (ดัมมี่)  ชั้น ม.2/2           “ตอนแรกเห็นชื่อหลักสูตร เยาวชนเท่าทันทางการเงิน คิดว่าจะน่าเบื่อครับ  แต่พอได้มาเข้าเรียนแล้วสนุก แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องรู้ด้วย เรื่องภัยการเงินออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก เพราะว่าคนรอบข้างหลายคนก็เจอปัญหานี้         เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญมาก  เราควรสนใจ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าวันนี้เราไม่สบาย เราจะทำอย่างไร  เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจริงๆ สิ่งที่ผมได้คิดจากการเข้าร่วมอบรม 2 วันนี้ครับ   นอกจากเรื่องการเงินแล้ว  มีความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย         ฝากถึงเพื่อนเยาวชนรุ่นเดียวกันที่อาจไม่ได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ว่า   เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญ   เราอยู่ในยุคที่เรามีช่องทางที่หารายได้มากขึ้น  แต่เราก็ถูกล่อลวงได้จากหลายช่องทางได้เช่นกัน   และเราเป็นเยาวชน อายุเรายังเท่านี้  ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเงิน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ  เราจะวางแผนการเงิน รายได้ รายจ่ายได้ดีขึ้นครับ  ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีได้ ที่สำคัญ ความรู้นี้เรายังเอาไปใช้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ของเราได้ครับ  ”           ด.ญ. พรทิพย์  ทองเปราะ  (มุก)  ชั้น ม.2/1          “เคยมี call center  โทรมาบอกว่า บัญชีหนูไปทำธุรกรรมอะไรไม่รู้ ที่มันไม่ดี หนูก็วางสายไปเลยเพราะว่ากลัวโดนหลอก เรื่องแบบนี้ เขาโทรหาใครก็ได้ เขาไม่ได้โทรหาคนมีเงิน เด็กแบบหนูก็โดนได้ แม่หนูก็โดน   นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจากการไปกู้หนี้นอกระบบ โดนทำร้ายร่างหาย ตอนนี้ก็เห็นกันเยอะเลย         วันนี้มาเรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงินแล้วดีใจมาก ได้ความรู้เรื่อง การออม  การเก็บเงิน การใช้เงิน  สิทธิของผู้บริโภค   รู้เท่าทันการโกงต่างๆ มากขึ้น แล้วรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำยังไงต่อไป   นอกจากความรู้แล้ว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน น้องในกลุ่มเดียวกัน ตอนแรกไม่รู้จักกันแต่ช่วยกันทำ  ได้มาช่วยกันคิดตลอดเลย         ฝากถึงเพื่อนวัยเดียวกัน คืออยากให้ระวังตัวไว้หน่อยพวก call center  พวกเป็นหนี้ ยืมเงินเพื่อน ไม่อยากให้ยืมเงินเพื่อนบ่อย เด็กๆ  เรามีการยืมเงินกันจริงๆ นะคะ อยากให้ระวังการใช้เงิน แล้วการวางแผนการเงินสำคัญมาก  ถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราวางแผนการใช้เงิน การหารายได้ดีๆ และทำจริงจัง มันเป็นไปได้ค่ะ ”         ด.ญ. อาทิตยา   เบิกสันเทียะ (ใบหยก)  ชั้น ม.1/1          “เรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน แล้วได้อะไรบ้าง  รู้เรื่องการออม สิทธิของผู้บริโภค เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมาก คือการหารายได้ อยากรวย   เพราะครอบครัวหนูลำบาก ก็อยากให้พ่อแม่ สบาย หนูเลยทำงานมีรายได้แล้ว  หนูรับจ้างล้างห้องน้ำ มีรายได้เดือนละ 200- 300  บาท นอกจากหารายได้แบบนี้ หนูก็คิดว่า ตอนนี้ทางออนไลน์ มีหลายช่องทางที่หนูสามารถหารายได้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะมีล่อลวง ต่างๆ  ตามมาด้วย         รู้เรื่อง สิทธิผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ หนูว่ารู้ว่าผู้บริโภคคืออะไรจากการเรียน เศรษฐศาสตร์  คือรู้แค่หลักการความหมายว่า ผู้บริโภค คือใคร   ผู้ผลิตคือใคร  แต่การเรียนรู้จากหลักสูตร ทำให้หนูเข้าใจสิทธิของผู้บริโภคเราว่าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของ เรามีสิทธิที่ตามมาด้วย         รู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน หนูกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ เลยได้มาเรียนรู้ และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ฝากบอกเพื่อนๆ  รุ่นเดียวกันว่า เราลองหันมามอง ศึกษาเรื่องที่เราอาจคิดว่ามันน่าเบื่อ ทั้งที่เราก็รู้ว่าเป็นปัญหารอบตัวเรา และเราจะได้ประโยชน์มากๆ  ลองเปิดใจ เรียนรู้ เราจะไม่โดนโลกจากข้างนอกหลอกเราได้ค่ะ”        ด.ญ. มัญฑิตา   เฮงสวัสดิ์  (แพว) ม.2/1           “หนูเป็นเด็ก แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือหารายได้เองไม่ได้แต่หนูก็จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการเงิน  อนาคต เราต้องเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้ยิ่งมีภัยออนไลน์ต่างๆ  เขายิ่งคิดว่าเด็กไม่รู้จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวหนูก็เจอปัญหาค่ะ เสียเงินจากการสมัครงานออนไลน์  เป็นเพื่อนในห้องเรียน เคยโดนหลอก เพื่อนไปลงทุนกับงานๆ หนึ่งไป เสียค่าสมัคร 50 บาท  แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ได้ทุนคืนมาด้วยซ้ำ         หนูดีใจแล้ว ที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เรียนรู้เรื่องนี้  เรื่องการออมเงิน  แรงบันดาลใจที่ได้ คือ หนูอยากออมเงินให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย แล้ว หนูมีความฝัน อยากเป็นหมอจิตเวช  ยังมีอนาคตการเรียนอีกไกลที่ต้องใช้เงิน การออม การวางแผนรับ - รายจ่ายจะช่วยหนูได้ ”          ด.ช. นิรักษ์  กองกูล (ติว) ชั้น ม.2/1         “เรื่องการออม การวางแผนการเงิน มีความสำคัญมากครับ เพราะว่า เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะไม่ได้รู้อะไรมาก อาจจะไปหลงเชื่อได้ เท่าที่ผมเคยเจอ  ญาติของผมเกือบจะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สุดท้ายไม่ได้โอน แต่ผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวพอสมควรเลยครับ         การเรียน 2 วันนี้ ได้รู้หลายๆ เรื่องที่อาจจะเคยได้ยินมาแล้วบ้าง แต่จะได้รู้เจาะลึกเข้าไปอีก  ผมรู้สึกว่า เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ มากขึ้น เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่องภัยสังคม  ภัยออนไลน์ต่างๆ  มากเท่าไหร่  ก็รู้เบื้องต้นเท่าในข่าว          ฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าควรเข้ามาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้นเพราะว่า เยาวชนเราอาจจะยังไม่ได้หาเงินได้เอง  ก็อยากให้รู้ เข้าใจ ว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะเข้ามาล่อลวงเราอย่างไรได้บ้าง   เขามาดีหรือมาร้ายยังไง มีรูปแบบไหนได้บ้างมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า จะมีความรู้ที่จะรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กินรังนกเจอเศษแก้วบาดคอ บาปหนานักโยมเอ๊ย

        รังนกบรรจุขวดแก้วเป็นสินค้าที่มีคนนิยมมากในการนำไปฝากบุคคลที่เคารพรัก หรือเชื่อว่ากินแล้วจะดีจะบำรุงร่างกาย เช่นเดียวกันการซื้อไปถวายพระก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน         วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2565 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณป้าแหวว (นามสมมติ) ว่า พระลูกชายฉันรังนกในขวดแก้วที่ตนเองซื้อไปถวาย แล้วเกิดอาการเหมือนมีอะไรบาดในคอ “ท่านเล่าว่า อาตมาดื่มแล้วก็รู้สึกเหมือนมีแก้วบาดคอขณะกลืนรังนกลงไป พอเอาส่วนที่เหลือในขวดมาเทดู พบว่า มีเศษแก้วใสๆ ปนอยู่กับเนื้อรังนกที่เหลืออยู่” พระลูกชายเชื่อว่าตนเองดื่มแก้วลงไปแน่ และส่วนหนึ่งคงบาดในคอ จึงรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว         ป้าแหวว ไม่อยากให้เรื่องนี้หยุดแค่พระลูกชายไปรักษาตัว แต่อยากให้ทางผู้ผลิตรับผิดชอบสินค้าของตนด้วย จึงถามว่าพระจะทำอะไรไหม เอาจริงป้าแหววก็รู้สึกว่าตนนี้ทำบาปกับพระไปเสียแล้ว พระท่านก็ว่าแล้วแต่โยมแม่ เมื่อปรึกษากันแล้วว่าควรมีการดำเนินการจึงติดต่อมาที่ ศูนย์ฯ ฉะเชิงเทราเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นหน่วยงานผู้บริโภคที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก เมื่อทางศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงติดต่อประสานงานขอให้ทางโยมแม่และพระขอใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกิดอาการบาดเจ็บจากการดื่มรังนก แล้วเศษแก้วเข้าไปบาดลำคอด้านในจริง จากนั้นได้ติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิต  ซึ่งผู้ผลิตรายนี้เป็น ผู้ผลิตหน้าใหม่กำลังโปรโมตสินค้ารังนกนี้อยู่ แม้ไม่ได้ผลิตในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ทำตลาดมาจนครอบคลุมถึงร้านค้าในฉะเชิงเทรา ซึ่งป้าแหววได้ซื้อสินค้ามาถวายพระ         จากการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางผู้ผลิตยินดีชดใช้ความเสียหายให้แก่พระ เป็นจำนวนเงิน 28,000 บาท อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯ จะนำเรื่องแจ้งต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และหากโรงงานไม่ได้มาตรฐานก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 รู้ทันมิจฉาชีพระดับอินเตอร์ หลอกให้สมัครงานกับบริษัทข้ามชาติ

        หลังจากที่สังคมรับรู้ข่าวสารการอาละวาดของแก๊งค์คอลเซนเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคหลายคนก็น่าจะพอมีวิธีรับมือรูปแบบการหลอกลวงที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของนักต้มตุ๋นกลุ่มนี้ได้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่ารับสาย อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าคลิกลิงก์ และอย่าโอน แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะในโลกยุคปัจจุบันนี้มีมิจฉาชีพเข้าไปแฝงตัวอยู่ในทุกแพลตฟอร์มจริง ๆ         ล่าสุด แม้แต่เครือข่ายมืออาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่าง LinkedIn ที่เสมือนเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการและคนทำงานในกลุ่มธุรกิจบริษัทข้ามชาติ ก็ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบใช้กลยุทธ์การฉ้อโกงแบบเนียน ๆ มาหลอกคนทำงานด้วย คุณวันวิสาข์ นามวิเศษ เธอเองก็เกือบตกเป็นเหยื่อโจรต่างชาติพวกนี้ด้วย จึงมาเล่าประสบการณ์เพื่อเตือนภัยกัน         “กลโกงมันเยอะ แต่เคสของเรานี่โคตรอินเตอร์เลย อาจจะมีคนอื่นที่โดนหลอก แต่เขาไม่ออกข่าวหรือเปล่า เขาอาจจะเป็นคนที่มีโพรไฟล์ค่อนข้างสูง เพราะอยู่ๆ มันจะมาหลอกเราคนเดียวได้ยังไง”  เหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร         มีคนใน LinkedIn ส่งข้อความมาว่าสนใจทำงานไหม เป็นบริษัทที่ผลิตและขายเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษและอเมริกา ถ้าสนใจก็ให้ติดต่อไปที่ฝ่ายบุคคลของเขา เขาก็ให้อีเมลมาแล้วก็รายละเอียดงานคร่าวๆ ว่าเป็นงาน Sales Executive บริษัทไม่มีสาขาที่ประเทศไทยแต่ว่าจะมีตัวแทนแบบนี้อยู่ทั่วโลก เพื่อไปติดต่อลูกค้า รับออเดอร์ แล้วก็สั่งไปที่โรงงานเพื่อให้เขาส่งมา         เราเข้าไปดูเว็บไซต์บริษัทแล้วมีข้อมูลน่าเชื่อถือ ก็เลยส่งเรซูเม่ไปที่อีเมลฝ่ายบุคคลที่เขาให้มา แล้วฝ่ายบุคคลก็ส่งอีเมลกลับมาว่าจะส่งคำถามมาให้เราตอบ คือไม่ได้มีการโทรศัพท์สัมภาษณ์เหมือนบริษัทต่างประเทศทั่วๆ ไป ตรงนี้เราก็เริ่มเอ๊ะ เพราะโดยมากแล้วเขาจะต้องโทรมาขอสัมภาษณ์ เพื่อจะได้ดูว่าเราคุยภาษาอังกฤษรู้เรื่องหรือเปล่า เริ่มสงสัยแล้ว เจอพิรุธอะไรอีก         เรายังมาเอ๊ะอีกตรงที่เขายิงคำถามมาค่อนข้างเบสิกมาก มีบางคำถามที่ไม่ทันสมัยสักเท่าไหร่ แต่ก็อาจจะเป็นสไตล์ของเขา เราก็ตอบไป แล้วสัก 2-3 วัน เขาก็ตอบกลับมาว่าโอเค จากที่ดูเรซูเม่แล้วก็คำถามที่เราตอบ คือเรามีคุณสมบัติในตำแหน่งนี้ เขาก็เลยส่งจดหมายเสนอตำแหน่งมา คือดูโพรเฟสชันนอลมากเลย มีสวัสดิการ มีจดหมายเป็นทางการ มีหัวจดหมายของบริษัท มีเว็บไซต์ อะไรอย่างนี้ เราก็ตอบตกลง แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ พอเขาให้ส่งบัตรประชาชนกลับไป เราก็เซ็นลายเซ็นปลอมให้ ซึ่งเขาไม่รู้อยู่แล้ว ทีนี้เขาก็ตอบกลับมาว่าจะส่งสัญญาจ้างพร้อมกับอุปกรณ์ในการทำงานมาให้ มีคอมพิวเตอร์ บัตรประจำตัวพนักงาน แล้วก็สินค้าตัวอย่างเพื่อที่จะให้เราศึกษา         ผ่านไปสักพัก เขาก็ส่งอีเมล์มาบอกว่าได้ส่งพัสดุข้ามประเทศผ่านบริษัทชื่อนี้ คือมีใบขนส่งสินค้าทางอากาศ มีเรฟเฟอเรนซ์นัมเบอร์ที่เราสามารถติดตามได้ว่าสินค้าส่งออกจากที่ไหน ไปถึงไหน แล้วจะมาถึงเราวันไหน แล้วก็มีลิงก์ไปอีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งนี้ เราเองก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง ถ้ามีจริงก็อาจจะเหมือนแบบคล้ายๆ DHL ที่เขาไปก็อปปี้มาหรืออะไรสักอย่างตามวิธีของเขา ทำให้เราสามารถเอาเลขพัสดุไปเข้าเว็บไซต์นั้นแล้วก็คีย์ได้เลยว่าพัสดุเราอยู่ไหน ก็จะขึ้นสเตตัสว่าถึงไหนแล้ว ของมีอะไร มีใบเสร็จ เหมือนกับที่เขาส่งมาให้เราเลย ซึ่งก็น่าเชื่อถือมาก         แต่พอติดตามดูเส้นทางของพัสดุ ก็สังเกตว่าสายการบินที่ขึ้นโชว์มาดูแปลกๆ เพราะว่าเราทำงานด้านการท่องเที่ยวก็พอรู้ว่ามีสนามบินอะไรบ้าง แล้วเส้นทางขนส่งก็ไม่น่าจะผ่านประเทศนี้ เช่น ผ่านไปพม่าทำไม ไปอินเดียทำไม ซึ่งแปลก ถ้าสายการบินพาณิชย์ไม่น่าจะบินผ่านไปประเทศเหล่านี้ แต่เราก็คิดว่าอาจจะเป็นสายการบินที่ขนส่งสินค้าเป็นหลัก แล้วมีเส้นทางการบินไม่เหมือนกันก็ได้         ทีนี้พอถึงวันที่ในระบบแจ้งว่าของมาถึงไทยแล้ว ก็มีอีเมลของบริษัทขนส่งนี้ส่งมาบอกเราว่าพัสดุของเราจะต้องเสียภาษี ให้เราแจ้งมาว่าจะเสียภาษีแบบไหน เราก็เลยถามว่าเสียภาษีเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าประมาณ 30,000 กว่าบาท ก็คือประมาณ 1,000 ยูเอสดอลลาร์ เราก็เลยบอกว่า         “ฉันไม่มีหน้าที่จะต้องจ่าย เพราะว่าฉันยังไม่ได้ถูกจ้างงาน ยังไม่ได้รับค่าจ้างอะไรเลย ต้องให้บริษัทที่เป็นผู้จ้างจ่ายสิ”  แล้วมารู้ตอนไหนว่าโดนหลอก         เราก็ติดต่อไปที่บริษัทผู้จ้าง เขาบอกว่าเราต้องรีบเคลียร์ของออกมาให้เร็วที่สุดเพราะว่าของสำคัญกับเรามาก ให้เราจ่ายไปก่อนแล้วเดี๋ยวเขาจะโอนให้ในบัญชีเงินเดือนของเรา เราก็ตอบไปว่า         “อย่างไรฉันก็ไม่ยอมจ่ายง่ายๆ”         แล้วเราก็ยังอีเมลโต้ตอบกับทั้งฝ่ายบริษัทจ้างงานและบริษัทขนส่งกันไปมาอยู่ 2-3 วัน ซึ่งอีเมลของพวกเขาจะดูเป็นมืออาชีพและตอบเร็วด้วย คือเรารู้เลยว่าเป็นวิธีการเขียนจากฝรั่ง         ช่วงที่เขาส่งอีเมลมาตื๊อให้จ่ายเงิน เราก็ลองถามดูว่าถ้าจ่ายนี่คือโอนเข้าบริษัทชิปปิ้งเหรอ คือถ้าเกิดว่าเป็นอินวอยซ์จากบริษัทชิปปิ้งที่มีตัวตน ก็จะน่าเชื่อถือ เพราะเราโทรถามจากบริษัทที่มีออฟฟิศในเมืองไทยเพื่อตรวจสอบได้ แต่เขากลับบอกให้โอนเข้าบัญชีกสิกรไทยเป็นชื่อบุคคล เราก็ไปค้นเจอว่าชื่อนี้มีเฟซบุ๊ก เข้าไปดูแล้วเป็นชาวบ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่เหมือนเป็นคนทำงานบริษัทเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ก็คงเป็นบัญชีม้า         เราก็โทรถามศุลกากร เขาบอกว่าไม่มีให้โอนเข้าบัญชีบุคคลแน่นอน อย่าจ่าย คือโดยมากจะมีเคสเหมือนที่เป็นข่าวทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเคสของเรา ที่ใช้เวลาตั้งหลายอาทิตย์กว่าที่จะรอหลอกเรา แล้วมีการรับต่อไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้สาม ไม่รู้เป็นคนหรือเปล่า เราไม่เห็นตัวตน เราัสื่อสารกันทางอีเมลตลอดจากนั้นเราก็ตอบกลับไปว่า         “บุคคลที่เป็นเจ้าของเลขบัญชีที่คุณให้มาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของทางศุลกากร ฉันคุยกับศุลกากรแล้ว เขาแนะนำว่าไม่ให้โอน เพราะว่ามีพวกหลอกลวงเยอะ”         ในที่สุดเขาก็คงคิดว่าน่าจะหลอกเอาเงินเราไม่ได้แล้ว ก็เงียบไปเลย อย่างนี้ก็เหมือนกับหลอกคนที่กำลังหางาน        คือโพรไฟล์เราในนั้นไม่ได้ขึ้นว่าหางานด้วยนะ เขาอาจจะสุ่มจาก LinkedIn ซึ่งช่องทางนี้เป็นธุรกิจล้วนๆ เลย แล้วเห็นว่าเราเคยทำงานอะไรที่ไหนมาบ้าง โพรไฟล์เราแบบนี้น่าจะหลอกประมาณนี้ได้หรือเปล่า อาจจะหลอกไปทั่วโลกเลยไม่ใช่แค่คนไทย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาใช้วิธีการหาเหยื่ออย่างไร ไม่เคยได้ยินจริงๆ นะเสียเงินแบบนี้ ที่บอกเป็นสเต็ป 1, 2, 3 เป็นเรื่องเป็นราวเลย         คือถ้าเกิดมีคนยอมโอนไปจริงๆ เขาก็ได้เงินง่ายๆ เลยนะ 30,000 – 40,000 บาท จากทั่วโลกเป็นเท่าไหร่ แต่เขาก็ลงทุนในการทำเว็บไซต์ มีเอกสาร มีโพร์ไฟล์ ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งพอเราไปเซิร์ชหาเคสอย่างนี้ในกูเกิล ก็ไม่เจอว่ามีใครโดนอย่างเรา ในประเทศอื่นก็ไม่เคยมีเหมือนกัน มันดูน่าเชื่อถือมาก เราก็เลยคิดว่าบริษัทนี้อาจจะมีตัวตน แต่พวกนี้แอบเนียนๆ ใช้ชื่อใช้อะไรของบริษัทนี้ เป็นไปได้หลายอย่าง เพราะว่าเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม การปลอมแปลงอย่างนี้มันง่าย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราให้ข้อมูลตัวเองกับโซเชียลก็เป็นอันตรายกับเราเหมือนกัน         ก็ไม่เชิงนะ คือเป็นปกติเลยช่องทางนี้ที่คนเขาจะทำแบบนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นอินเตอร์เขาก็จะมีโพรไฟล์ใน LinkedIn ด้วย เพราะลูกค้าก็จะไปดูจากตรงนั้น ในนั้นจะมีโพรไฟล์ล้วนๆ แล้วก็จะมีคนมาแนะนำให้ด้วยว่าเรามีทักษะด้านนั้นด้านนี้จริงๆ อยากเตือนคนอื่นที่อาจจะเจอแบบเราอย่างไรบ้าง ให้สังเกตอะไรบ้าง         ถ้าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริง ส่วนใหญ่จะมีวิธีการติดต่อทางอีเมลที่ยืนยันได้ ก็ต้องตรวจสอบดีๆ อย่างเคสนี้เราค้นชื่อบริษัทนี้แล้วไม่เจอโพรไฟล์อยู่ใน LinkedIn พอเซิร์ชหาบุคคลที่ทำงานบริษัทนี้ก็เหมือนจะไม่มีอีก ส่วนโพรไฟล์ของคนที่ติดต่อเรามาก็ดูไม่โพรเฟสชันนอลเท่าไหร่ ยังมีเว็บไซต์บริษัทที่ดูน่าเชื่อถือหน่อย พอลองเข้าไปเซิร์ชหาบริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกาก็ไม่มีชื่อนี้ที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ว่ามีที่อยู่ เราก็หาใน Google Earth, Google Map ก็มีชื่อขึ้นมา แต่พอไปดูในตึกแล้วกลับไม่มีบริษัทนี้         เราดูถึงขนาดนั้นเลย ก็ยังสงสัยอยู่ว่าตกลงยังไง เพราะในกูเกิลมีชื่อบริษัทนี้แต่พอไปดูในที่อยู่กลับไม่ตรงกัน เราอาจจะเซิร์ชหาไม่อัปเดตหรือยังไงก็ไม่รู้ คือวิธีการของเขาค่อนข้างเนียนมาก ถ้าสมมุติว่าเป็นคนที่ไม่คล่องภาษาอังกฤษ เขาก็อาจไม่รู้ว่าต้องไปเช็กอะไร อย่างไร ต้องจับจุดตรงไหน เพราะขนาดเรารู้ภาษาอังกฤษในระดับโพรเฟชชันนอล เรายังโดนหลอกอยู่ประมาณสองอาทิตย์ ซึ่งเป็นเคสที่เรียลไทม์มาก         จริงๆ ก่อนหน้านี้ เราก็เคยโดนแก๊งค์คอลเซนเตอร์โทรมานะ แต่เรารู้ทันก่อนไง พอบอกให้โอนทันที เราก็วางเลย แต่นี่เป็นเคสแรกที่ไม่ได้ให้โอนทันทีทันใด คือไม่ใช่จะเอาอย่างเดียวตั้งแต่แรกอะไรอย่างนี้ คือเขาใช้เวลากับเราขนาดนี้เพื่อที่จะให้เนียนที่สุด ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตกลงหลอกไม่หลอก แต่ก็คิดว่าหลอกเพราะเงียบไปเลย         “ข้อสังเกตง่าย ๆ คือถ้าเกิดให้โอนเงินนั่นแหละ โดนหลอกแน่ๆ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2565

สังเกตเครื่องหมาย +66 แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโดยมีมาตรการดังนี้  1. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือเบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก เบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย 2. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด 3. ให้ดำเนินการตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่าเลขหมายมีการดัดแปลงหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator อย่างต่อเนื่อง 4. กรณีสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่มีกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ทราบว่าโทรมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการของ กสทช. นี้เพื่อย้ำให้ผู้ให้บริการระหว่างประเทศดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับเครื่องเครื่องสำอางปลอม 18 ยี่ห้อดัง         กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ดังปลอมหลายยี่ห้อ ซึ่งภายในบ้านได้ดัดแปลงเป็นโกดังสินค้าย่านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยสามารถจับกุมหญิงชาวเวียดนามผู้ดูแลบ้านได้ และจากการตรวจสอบบ้านได้ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางยี่ห้อดัง 18 รายการ จาก 7 บริษัท มูลค่า 70 ล้านบาท ต่อมาทางหญิงชาวเวียดนามได้สารภาพว่า แฟนหนุ่มคนไทยได้ร่วมมือกับนายทุนชาวเวียดนาม รับจ้างดูแลสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้า ส่วนสินค้าคือสินค้าปลอมที่ผลิตมาจากประเทศจีน และมีการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. ได้เปิดเผยว่า ต้นเหตุในการจับกุมมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีราคาถูกกว่าปกติ 50-70% มีโปรโมชัน 1 แถม 1 เมื่อได้รับกลับพบว่าเป็นสินค้า ด้อยคุณภาพ เมื่อใช้เกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้นและหน้าพัง จึงขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบให้รอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เสี่ยงอันตรายจากแบคทีเรีย         จากกรณีข้อมูลเผยแพร่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ มีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากแบคทีเรียสะสมนั้น เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยจากผู้ป่วย หน้ากากอนามัยจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นขยะที่ติดเชื้อ ต้องนำไปกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545  และหน้ากากอนามัยที่ติดเชื้อหากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแหล่งเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ที่จะเจริญเติบโตและก่อโรคให้แก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้น ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก เมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง  พาณิชย์ไม่อนุญาตขึ้นค่าส่งสินค้าออนไลน์         หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ได้ปรับราคาค่าขนส่ง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าขนส่งได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าสินค้าหรือบริการต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาหรือปริมาณสินค้า แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ  มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือค้านเร่งต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว         เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี โดยไม่ได้ศึกษาหรือทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานอาจจะทำให้ประชาชนขาดประโยชน์ไปอีกถึง 37 ปี         การยื่นหนังสือคัดค้านนี้ มีนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับทาง มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ  ทั้งนี้ ทาง มพบ. เครือข่ายภาคประชาชน ยังขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่าง กทม. กับ BTSC  ตลอดจนขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่าล้านคน        สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา         โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย จึงมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัย         สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และการให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี รัฐบาลเตรียมกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายแก๊ส         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบไปด้วย           - ห้ามตั้งร้านจำหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว           - ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นไม่เกิน 6 เมตร ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่นเกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร           - ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ        สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน  ผลตรวจน้ำมะพร้าวไม่พบยาฆ่าแมลงแต่โพแทสเซียมสูงผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่สรรพคุณของน้ำมะพร้าว ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย และทำให้เกิดกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช         “ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81 – 215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04 – 0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28 – 2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9 – 5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว         จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อน จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี         “น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม” นพ.ศุภกิจ กล่าว ศาลปกครองรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณี กขค.         ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย        โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​         ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564         ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ห้างไทยเขาจัดการอย่างไรกับถุงก๊อบแก๊บ

            ทุกวันนี้นักช้อปทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านใบ เฉลี่ยคนละ 150 ใบ พันรอบโลกได้ถึง 4,200 รอบ (www.oceancrusaders.org) และที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ถูกใช้งานเฉลี่ยเพียงแค่ใบละ12 นาที แต่อาจยังเป็นขยะอยู่บนผิวโลกได้ถึง 400 ปี           แม้มันจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่สถานการณ์ขยะล้นทั้งบนดินและในทะเลทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินการใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลาสติกลง รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ก็จะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 (ยกเว้นถุงใส่แกง ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์) ในขณะที่หลายประเทศก็ใช้วิธีทำให้ถุงพลาสติกไม่ใช่ของ “ฟรี” อีกต่อไป    “แล้วผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง” จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย ฉลาดซื้อ ได้รับคำตอบดังนี้ เทสโก้ โลตัส  เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใน โครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 บริษัทลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 190 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงไปทั้งสิ้น 5,900 ล้านแต้ม ยกเลิกการใช้ถาดโฟมในทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562  มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และ เทสโก้ โลตัส ตลาด ทั้งหมด 1,800 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 เปิดตัว “กรีนเลน” ช่องทางชำระเงินพิเศษปลอดถุงพลาสติก ในสาขาใหญ่ 200 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 10 แห่ง  ................ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนและทุกวันพุธ  รวมทั้งงดการแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม)  ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ให้คะแนนพิเศษเมื่อลูกค้าช้อปสินค้าที่บิ๊กซีครบตามกำหนด และ ลูกค้าใช้ “ถุงผ้า” หรือ “ตะกร้า” หรือ ลูกค้านำถุงผ้ารักษ์โลกบิ๊กซี กลับมาใช้  หรือ “วิธีการอื่นที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก”  ใช้กาบกล้วย ใบตอง วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ภาวชนะโฟม ใน 25 สาขา เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ รัชดา พระราม 4 และวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม สำหรับสินค้าที่บิ๊กซีเป็นผู้ผลิตหรือบรรจุ ในทุกสาขาตั้งแต่ปี 2563เป็นศูนย์กลางรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และ กล่องน้ำดื่ม ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้ง 107 สาขาทั่วประเทศ เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ประกอบเป็นแผ่นหลังคาเพื่อผู้ประสบภัย อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม............... ซีพี ออลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มโครงการรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ตั้งแต่ปี 2550  โครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 663  ล้านใบ คิดเป็นยอดบริจาคกว่า 132 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2562) โดยได้ส่งมอบเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษและแก้วแบบย่อยสลายได้ ใน 300 สาขา ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ และจะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป โครงการ “รักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว เครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติบนเกาะต่างๆ ชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการแล้วบนเกาะลันตา เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี รวมถึงเกาะเต่า เกาะเสม็ด และเกาะพีพี โครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก”  ขยายโครงการไปสู่สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคม โครงการ “ปฏิเสธถุง...ได้บุญ” หนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯ ในโรงพยาบาล เมื่อลูกค้าปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ร้านจะสะสมยอดค่าใช้จ่ายไว้ 0.20 บาทต่อถุง และมอบให้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันดำเนินงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง  การนำขยะพลาสติกกลับมาให้ชุมชนใช้ประโยชน์ Recycled Plastic Road จากแนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนอกจากผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ช่วยพัฒนาชุมชน เริ่มที่สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป    ........................... เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY ที่งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากมีความจำเป็นต้องใช้ ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อถุง 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย............................ กลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ จัด Green Checkout แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง    ..................................... สถานการณ์ปัจจุบันในไทย -          คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) -          คนไทยสร้างขยะวันละ 1.14 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะอาหารซึ่งสร้างก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน -          ทุกวันมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้น 7,000 ตัน สถานการณ์โลก-          ร้อยละ 50 ของพลาสติกที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากเคยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตันในปี 1950 เราผลิตพลาสติกได้ถึง 448 ล้านตันในปี 2015-          ชาวโลกผลิตขยะพลาสติกปีละ 300 ล้านตัน-          โดยรวมแล้ว ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจะสร้างขยะพลาสติกมากกว่าประเทศที่ยากจน คนเยอรมันและคนอเมริกันทิ้งขยะมากกว่าคนในอินเดียและเคนย่าถึง 10 เท่า แน่นอนขยะที่เกิดขึ้นมักถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่แนวโน้มนี่อาจเปลี่ยนไปเมื่อหลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะ-          ในปี 2017 คนยุโรปสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 32.74 กิโลกรัม ในนั้นมีถ้วยกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ 16,000 ล้านใบ (www.statista.com)  และถึงแม้จะบริหารจัดการขยะได้ดีกว่าที่อื่นๆ ร้อยละ 60 ของขยะในยุโรปก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล-          ร้อยละ 30 ของขยะจากครัวเรือนและสำนักงานในอเมริกา เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์-          ข้อมูลจาก Ocean Conservancy ในปี 2017 ระบุว่าร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกในทะเล มาจากจีน และสี่ประเทศในอาเซียน (ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)  -          แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิแห่งชมพูทวีป รองรับขยะพลาสติกปีละ 540 ล้านกิโลกรัม -          ข้อมูลจาก Alliance to end plastic ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  --- “อย่าลืม” โปรดพกถุงผ้าติดตัวไว้เสมอ เพราะห้างร้านส่วนใหญ่เริ่มการรณรงค์งดให้ถุงพลาสติกแล้ว บางห้างงดทุกวัน บางแห่งงดในวันที่ 4 ของเดือน---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 แก้วขนเหล็ก : รักและทุนที่ไม่มีวันตาย

               วาทกรรมที่ว่า “ความรักย่อมไม่มีวันตาย” “เราจะรักกันชั่วนิจนิรันดร” หรือ “ไม่มีวันที่ใครจะพรากความรักไปจากกัน” จะถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ ก็คงจะมีเพียงบุคคลที่สิ้นลมหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้หลังความตายแล้วเท่านั้น ที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างประจักษ์จริง         กับการพิสูจน์ความรักแท้ดังกล่าวนี้เอง ได้กลายเป็นโครงหลักของละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีอย่าง “แก้วขนเหล็ก” ที่ผูกเรื่องให้ตัวละคร “เมฆินทร์” ประมุขแห่งผีแวมไพร์ เฝ้ารอคอยความรักข้ามภพชาติก่อนที่จะได้พานพบกับ “บุญปลื้ม” หญิงคนรักที่กลับมาเกิดอีกครั้ง เพื่อยืนยันให้เห็นว่า “รักแท้ย่อมไม่มีวันตาย” จริงๆ         เรื่องราวความรักอมตะข้ามเวลาถูกโยงไปตั้งแต่อดีต เมื่อครั้งเมฆินทร์เป็นตำรวจมือปราบผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ เขามีความรู้ด้านไสยเวทและคาถาอาคมซึ่งใช้ปราบปรามได้ทั้งเหล่าคนร้ายและบรรดาวิญญาณร้ายต่างๆ จนได้สมญานามว่าเป็นมือปราบผู้แข็งกร้าวและไม่เคยยอมใคร         ในอีกด้านหนึ่ง เมฆินทร์เองก็คือบุตรชายของ “เจ้าคุณเทวรักษ์” คหบดีเจ้าของปราสาทพยับเมฆ และเนื่องด้วยเจ้าคุณต้องการเลือกคู่ครองที่คู่ควรให้กับเมฆินทร์ ท่านจึงหมั้นหมายบุตรชายเพื่อให้แต่งงานกับสตรีที่สมฐานะศักดิ์ชั้นอย่าง “รำพึง” แม้ว่านั่นจะเป็นการคลุมถุงชนที่เมฆินทร์เองก็ไม่ได้สมยอมแต่อย่างใด         จนกระทั่งเมฆินทร์ได้มาพบและเกิดผูกจิตปฏิพัทธ์กับบุญปลื้ม แม้ความรักที่มีหญิงสาวชาวบ้านจะทำให้เมฆินทร์เปลี่ยนจากบุรุษผู้หยาบกระด้างกลายเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน แต่ทว่าความรักที่ต่างชั้นชนเช่นนี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าคุณเทวรักษ์ ซึ่งต่อมาได้วางแผนให้ชายหนุ่มอย่าง “เที่ยง” ซึ่งแอบรักบุญปลื้มอยู่ลึกๆ พาหล่อนหลบหนีไปจากปราสาทพยับเมฆ และสาบสูญไปจากชีวิตของเมฆินทร์         เมื่อต้องถูกบิดาพรากนางอันเป็นที่รักไปจากชีวิตของเขา ทั้งความรักและความแค้นที่รุมเร้ารอบด้านเยี่ยงนี้ ทำให้มือปราบอย่างเมฆินทร์เลิกยึดมั่นในคุณธรรมความดี และหันมาปวารณาตัวเข้ากับด้านมืดที่ซ่อนเร้นอยู่ จนกลายเป็นปีศาจแวมไพร์ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดื่มเลือดของมนุษย์ด้วยกัน และถูกเจ้าคุณเทวรักษ์จองจำไว้ในปราสาทพยับเมฆที่ปิดตาย วิญญาณของเมฆินทร์จึงเฝ้าแต่รอคอยวันกลับมาแก้แค้นและทวงคืนคนรักข้ามภพชาติ         ด้วยพล็อตแฟนตาซีเหนือจริงที่ผูกเรื่องราวให้มนุษย์คนหนึ่งได้กลายเป็นผีดิบแวมไพร์ และรอคอยวันฟื้นคืนชีพเพื่อกลับมาครองคู่อยู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ ด้านหนึ่งผู้สร้างก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมตะวันตกฉบับคลาสสิกอย่าง Bram Stoker’s Dracula อะไรทำนองนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน ละครแฟนตาซีแนวนี้ ก็เป็นประหนึ่งจินตกรรมที่ลึกๆ แล้วฉายภาพด้วยว่า ผู้คนในโลกความจริงกำลังสะท้อนย้อนคิดถึงชีวิตตนเองและสังคมรอบตัวกันอย่างไร         เพราะเมฆินทร์เป็นตัวละครที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สังคมยุคจารีตดั้งเดิม โดยในยุคศักดินานั้น ผู้คนต่างผูกพันกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เฉกเช่นที่เจ้าคุณเทวรักษ์ก็คือตัวแทนของระบบมูลนายและไพร่ ซึ่งมีอำนาจกำหนดความเป็นความตายของทุกชีวิตในปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงการกำกับแม้แต่ชะตากรรมการครองคู่ของบุตรชายกับหญิงคนรักด้วยเช่นกัน         แต่เมื่อระบอบจารีตเดิมได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมใหม่ ในระบอบแห่งทุนซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่บนฐานคิดแบบปัจเจกชนนิยมนั้น มนุษย์ต่างล้วนถูกตัดสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน         จากผู้คนที่เคยถูกยึดโยงเข้าไว้ในสังกัดหรือในกลุ่มมูลนายเดียวกัน ก็เริ่มถูกริดสายสัมพันธ์และตกอยู่ในสภาวะที่แปลกแยกต่างคนต่างอยู่ แบบเดียวกับที่เมฆินทร์พยายามสลัดตัวให้หลุดออกจากกรงขังของบิดา สถาบันครอบครัว และระบบจารีตที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เขากลายเป็นปีศาจที่ถูกจองจำเอาไว้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง และความรักที่ถูกพรากไปก็คือสิ่งที่เขาเฝ้าตามหากันแบบข้ามภาพข้ามชาติ         จนเมื่อระบอบทุนเติบโตมาถึงยุคปัจจุบัน ตัวละครเมื่อครั้งอดีตอย่างบุญปลื้มก็ได้กลับมาเกิดใหม่เป็น “รมณีย์” ในขณะที่เที่ยงเองก็กลับมาเกิดเป็น “วิทวัส” ชายหนุ่มคู่ปรับที่พยายามใช้คุณธรรมความดีกำจัดปีศาจเมฆินทร์ และยังกลายมาเป็นศัตรูหัวใจของเขาอีกครั้งในชาตินี้         ขณะเดียวกัน เมื่อถูกปลุกวิญญาณให้คืนชีพขึ้นมาอีกครา เมฆินทร์ในโฉมใหม่หาได้เพียงแต่แปลกแยกและโหยหาหญิงคนรักที่พลัดพรากกันมาแต่อดีตเท่านั้น หากแต่เขายังเริ่มออกอาละวาดสูบเลือดมนุษย์เพื่อต่อชีวิตอันเป็นอมตะของตน ไม่แตกต่างจากบรรดานายทุนที่เฝ้าสูบเลือดขูดรีดเพื่อพรากปัจจัยการผลิตของแรงงานมาต่อลมหายใจแห่งระบอบทุนนิยมออกไป         ภาพฉากที่เมฆินทร์ออกล่าสูบเลือดของโสเภณีและตัวละครหลายคนตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คงไม่ต่างจากคำยืนยันว่า ในวิถีการผลิตแบบนี้ นายทุนเองก็อาจไม่เคยเห็นโสเภณีหรือมนุษย์เป็นมนุษย์แบบเดียวกับตน หากแต่เป็นเพียงแรงงานในระบบที่สามารถขูดรีดเลือดเนื้อได้อย่างชอบธรรมและไม่ต้องรู้สึกผูกพันแต่อย่างใด         และเพื่อสืบทอดให้ระบอบทุนดำเนินต่อไปได้เช่นนี้ เมฆินทร์ก็ได้สร้างสมาชิกใหม่ขึ้นมาช่วยค้ำจุนรักษาระบบในฐานะบริวารของเขา ไม่ว่าจะเป็น “นฤดม” ทายาทผู้สืบมรดกปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงผีดิบหญิงสาวอีกสามคนคือ “โชติรส” “ลำเจียก” และ “ผู้หมวดตอง” ที่หลังจากได้ลิ้มรสดื่มเลือดมนุษย์คนอื่นแล้ว ก็รู้สึกอิ่มเอมจนสมยอมขายวิญญาณของตนเป็นอมนุษย์เช่นเดียวกับปีศาจเมฆินทร์ไปในที่สุด         เพราะฉะนั้น ในโลกแฟนตาซีเหนือจริงเช่นนี้ ไม่เพียงแต่สภาวะแปลกแยกที่ทำให้ผู้คนยึดมั่นความรักเป็นสรณะ และโหยหา “ความรักที่ไม่วันตาย” เท่านั้น หากแต่วิถีแห่งระบอบทุนเองก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบ “ไม่มีวันตาย” ดุจเดียวกับความรักที่เป็นอมตะด้วยเช่นกันเมื่อ “รักและทุนที่ไม่มีวันตาย” ต้องแลกมาด้วยเลือดและวิญญาณของมนุษย์ผู้อื่น คงไม่แปลกที่ตลอดทั้งเรื่องละคร เราจะได้เห็นภาพมนุษย์บางคนอย่างวิทวัสและผองเพื่อนที่ยังไม่สมาทานให้กับระบอบแห่งทุน ต่างร่วมมือกันเสาะแสวงหา “แก้วขนเหล็ก” หินศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังแห่งคุณธรรมซึ่งใช้ปราบปีศาจเมฆินทร์ได้        ด้วยความมุ่งมั่นแห่งตัวละครที่จะกำจัดจอมปีศาจ และด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญลักษณ์ของ “แก้วขนเหล็ก” เช่นนี้ คงบอกกับเราผู้ใช้ชีวิตแหวกว่ายในระบอบแห่งทุนได้ว่า ถึงเวลาแล้วกระมังที่ความศักดิ์สิทธิ์และคุณธรรมความดีจะกลายเป็นความหวังเล็กๆ ที่ช่วยมนุษย์ให้สลัดหลุดออกจากชีวิตที่แปลกแยกและการขูดรีดยังคงดำรงอยู่แบบ “ไม่มีวันตาย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เคี้ยวแก้วในเกี๊ยวซ่า

                        จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเคี้ยวเพลินอร่อยๆ กับอาหารว่างของบริษัทดัง แล้วมาพบทีหลังว่า มันคือเศษแก้ว แค่คิดก็เจ็บจี๊ดแทนผู้บริโภคแล้ว            เรื่องมันมีอยู่ว่า คุณดอกสร้อยและลูกชายวัยน่ารัก ไปช้อปปิ้งเลือกซื้อข้าวของกลับบ้าน แล้วลูกชายอยากรับประทานเกี๊ยวซ่าทอด ที่บริษัทดังนำมาออกร้านเพื่อโปรโมตสินค้าในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต จึงสั่งให้ลูกชาย 1 กล่อง ราคา 40 บาท แต่เด็กน้อยกินไม่หมด คุณแม่จึงนำมาจัดการต่อในภายหลังเมื่อกลับถึงบ้าน แค่เคี้ยวคำแรกคุณแม่ก็เจ็บลิ้นเจ็บคอเหมือนถูกบาดจึงคายเกี๊ยวซ่าออกมา พบว่า มีเลือดออกมาด้วยและสังเกตว่ามีเศษแก้วปนอยู่ในเกี๊ยวซ่า พอนำกล่องมาพิจารณาก็พบว่ามีเศษแก้วลักษณะเดียวกันอีกสองชิ้นในกล่อง จึงถามลูกชายว่า กินไปแล้วตอนนั้นรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไหม เด็กชายทำหน้างงบอกคุณแม่ว่า “เคี้ยวเจอเหมือนเป็นผักแข็งๆ ฮะ มันแข็งกว่าผักอื่นๆ ”             คุณดอกสร้อยจึงรีบไป สน.เพื่อลงบันทึกประจำวันและติดต่อบริษัทผู้ผลิตทันที ว่าเกี๊ยวซ่าที่นำมาจำหน่ายมีปัญหาขอให้รีบแก้ไข จากนั้นก็ไปโรงพยาบาลเพื่อดูบาดแผลในคอและช่องปากของตนเอง และต้องการเช็คร่างกายลูกชายด้วย เพราะกินเข้าไปหลายชิ้น             ผลการตรวจแพทย์วินิจฉัยว่า คุณดอกสร้อยมีแผลในช่องปาก ลิ้นและคอ ส่วนเด็กชายผลเอ็กซเรย์พบสิ่งแปลกปลอมกระจายอยู่ในกระเพาะอาหาร ขนาด 0.5 - 1 เซนติเมตร คุณดอกสร้อยจึงทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ดำเนินการเยียวยา ซึ่งในตอนแรก ทางบริษัทดำเนินการเพียงเรียกให้ผู้เสียหายส่งเศษแก้วไปที่บริษัทเพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏว่าเหตุการณ์ผ่านไปหลายเดือนทางบริษัทก็เงียบหายไป คุณดอกสร้อยจึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา            สิ่งที่คุณดอกสร้อยได้ดำเนินการไปเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ทว่าบริษัทดูจะปล่อยปละละเลยต่อผู้บริโภคนานเกินไป เพราะเหตุเกิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จนคุณดอกสร้อยมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้ว บริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ประสานงานทำหนังสือขอให้ทางบริษัทเข้ามาเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยและเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ร้อง             ต่อมาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับแจ้งจากทางทนายความของบริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าว่า ได้เจรจากับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว โดยทางบริษัทได้ให้ทางบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญากับทางบริษัทไว้ เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 195,000 บาท และเมื่อศูนย์ฯ ติดต่อทางผู้ร้องได้ความตรงกัน จึงเป็นอันยุติเรื่อง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 “คลินิกแก้หนี้” แก้ได้จริงหรือ?

สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อไม่มากก็น้อยคงทราบดีว่าเรื่องปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต  เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของผู้บริโภคมายาวนาน เมื่อไม่นานมานี้มีโครงการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผุดไอเดียดูดีชื่อ “คลินิกแก้หนี้” โครงการที่เป็นเสมือนความหวังของลูกหนี้ทุกคน  ฉลาดซื้อจึงพูดคุยกับคุณนกกระจอกเทศ ผู้บริโภคที่มีความชำนาญ ในการให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตมามากกว่า 10 ปี ให้กับผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต จาก Webboard คนยิ้มสู้หนี้ ของเว็ปไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) จะมาเล่าให้เรากระจ่างว่า คลินิกแก้หนี้ จะแก้ปัญหาหนี้ได้จริงหรือไม่?จุดเริ่มต้นของโครงการ “คลินิกแก้หนี้” นั้นอ้างอิงจาก ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ต้นปี พ.ศ.2560 ประชากรไทยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 70 ล้านคน มีคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด 21 ล้านคนและในจำนวนนี้ มีคนที่เป็นหนี้อยู่ 3 ล้านคน ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว (หยุดจ่ายแล้ว) จนกลายเป็น”หนี้เสีย” หรือ NPL จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นคนไทยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีในช่วงเวลานั้น(ต้นปี 2560) ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(หรือที่เรียกกันว่าแบงก์ชาติ) โดน "ด่าจนเละ" ว่าปล่อยให้มีคนไทยที่เป็น "หนี้เสีย"(NPL) หรือที่เรียกกันว่า "ติด Blacklist" อยู่ในเครดิตบูโร มีจำนวนมากถึง 3 ล้านคนทางแบงก์ชาติไม่คิดจะหาทางทำอะไรบ้างเลยหรือยังไง? พอโดนวิจารณ์มากๆ เข้า ก็เลยต้องคิดทำโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ขึ้นมา โดยการนำเอา "สัญญาประนอมหนี้" หรือ "สัญญาปรับโครงสร้างหนี้" ที่เคยมีอยู่เดิม แต่นำมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่าเป็น "โครงการคลินิกแก้หนี้"...เพื่อลดแรงกดดันจากทั่วสารทิศโครงการตัวนี้ ทางแบงก์ชาติได้เรียกประชุมสถาบันการเงินทั้งหมด ให้มาเข้าร่วมประชุม แล้วขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินทั้งหลายช่วยให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการตัวนี้ของแบงก์ชาติด้วยขอย้ำว่า...เป็นการขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ หรือที่เรียกกันว่าเป็น "สัญญา MOU" ไม่ใช่ ประกาศ หรือกฎหมายบังคับ  หากสถาบันการเงินใด ที่ยินดีให้ความร่วมมือในโครงการ "คลินิกแก้หนี้" ตัวนี้ ก็ให้ลงนามใน "สัญญา MOU" ดังกล่าว ว่าจะให้ความร่วมมือด้วย...หรือจะมีสถาบันการเงินใด ที่ไม่ประสงค์จะให้ความร่วมมือก็ได้ไม่ได้บังคับทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน ทางแบงก์ชาติยังได้ออกข้อกำหนดมาด้วยว่า หากสถาบันการเงินใด ที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ จะต้องทำการคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ ในระหว่างที่ลูกหนี้ขอผ่อนตามสัญญาตัวนี้ จะคิดดอกเบี้ยได้สูงสุด ไม่เกินกว่า 7% ต่อปี โดยทางแบงก์ชาติ ได้ทำการแต่งตั้งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือมีชื่อย่อว่า SAM ให้เป็นผู้แทนแบงก์ชาติ ในการเจรจาให้สถาบันการเงินที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการตัวนี้ ต้องปฏิบัติตามกฏของการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวดังนั้น หากลูกหนี้คนใด ที่มีความสนใจจะเข้าสมัครในโครงการตัวนี้ ก็สามารถติดต่อกับทาง SAM ได้เลย เพื่อให้ SAM เป็นผู้คัดกรอง และเจรจาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ที่เข้ามาร่วมกับโครงการตัวนี้ โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการตัวนี้ จะต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย ถึงจะสามารถผ่านการเข้าร่วมโครงการได้ โดยมี คุณสมบัติ ดังนี้1. ต้องมีอายุไม่เกินกว่า 60 ปี (หรือห้ามแก่เกินกว่าเกษียณการทำงาน)2. ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินเดือนประจำที่มั่นคงแน่นอน3. ต้องเป็นลูกหนี้ที่ติด Blacklist ในเครดิตบูโรมาแล้ว อย่างน้อย 2 สถาบันการเงินขึ้นไป...และจะต้องเป็นผู้ที่ติด Blacklist มานานแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ด้วย4. จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาก่อนเลย...แม้แต่คดีเดียว5. ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการ ต้องเอาหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกเจ้า เข้าร่วมในโครงการให้หมด6. ยอดหนี้รวมทั้งหมด ที่ลูกหนี้จะสามารถเข้าร่วมโครงการตัวนี้ได้ จะต้องไม่เกินกว่า 2 ล้านบาท7. ลูกหนี้สามารถขอผ่อนได้นานไม่เกิน 10 ปี...(แต่เอาเข้าจริงๆ เจ้าหนี้มันก็ยอมให้ลูกหนี้สามารถผ่อนได้นานสูงสุด เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น)มีธนาคารหรือสถาบันการเงินใดที่เข้าร่วมโครงการบ้างผลจากการประชุมขอความร่วมมือของแบงก์ชาติในวันนั้น มีธนาคารที่ตอบรับเข้าร่วมลงนามในสัญญา MOU ของ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ทั้งหมด จำนวน 16 ธนาคาร โดยมีรายชื่อดังนี้ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารซิตี้แบงก์ , ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ,ธนาคารทหารไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารธนชาติ ,ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต ,ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี ,ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (พวก Non-Bank ทั้งหมด) ไม่มีการลงนาม MOU เข้าร่วมกับโครงการนี้เลย...แม้แต่รายเดียว ตอนนี้...โปรดมาสังเกตรายชื่อของธนาคาร 10 รายแรก ให้ดีนะครับ(ขีดเส้นใต้) เพราะมันเป็นรายชื่อของธนาคารที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้ประชาชนทั่วๆ ไปอยู่แล้ว...ลูกหนี้ต่างคุ้นเคยกันดีแต่ดูรายชื่อของธนาคารอีก 6 ราย ที่ถัดมาสิครับ...เขาเคยทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้กับเราด้วยหรือ? คุณเคยเห็นบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดของธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต , ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี , ธนาคาร แลนด์ แอนด์เฮ้าส์...พวกคุณเคยเห็นด้วยหรือครับ? โดยเฉพาะธนาคารไอซีบีซี มันตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทยกัน?เมื่อ 6 รายนี้ไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดให้กับประชาชนทั่วไป...แล้วแบงก์ชาติไปชักชวนให้เข้ามาร่วมใน “โครงการคลินิกแก้หนี้” นี้ด้วยทำไม มันจะมีประโยชน์อะไรกับลูกหนี้ หรือว่าแบงก์ชาติต้องการเพียงแค่จะอวดว่า มีธนาคารที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ ถึง 16 แห่ง (แม้จะมีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหนี้บัตรต่างๆ จริงเพียงแค่ 10 ธนาคารเท่านั้น) แต่รายสำคัญจริงๆ คือกลุ่ม Non-Bank กลับไม่มีเลยแม้แต่รายเดียวข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ผู้บริโภคควรรู้อย่างที่ผมเกริ่นไปว่าโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ตัวนี้ มันเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ...ไม่ได้เป็นกฎหมาย...และไม่ได้บังคับ จะไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ ดังนั้นจึงไม่มีสถาบันการเงินที่เป็น Non-Bank รายใด ที่ลงนามในสัญญา MOU เลยแม้แต่รายเดียว...ขนาดธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ และธนาคารฮ่องกงแบงก์(HSBC) ยังไม่ร่วมลงนามให้ความร่วมมือด้วยเลย  แล้วเท่าที่ผมทราบข้อมูลมา แม้มีลูกหนี้ผู้ถือบัตรต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” แต่ว่าเมื่อสมัครไปแล้ว ยังไม่มีใครสามารถผ่านการอนุมัติได้เลยสักคนทำไมถึงสมัครไม่ผ่าน ลองดูนะครับ เงื่อนไขมันโหดมาก1.ลูกหนี้คนนั้น จะต้องเคยหยุดจ่ายหนี้มาก่อน อย่างน้อยก็ต้องหยุดจ่ายตั้งแต่ 2 ใบขึ้น และได้หยุดจ่ายมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งตัวของลูกหนี้คนนั้น ได้ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560…ถ้าใครที่เพิ่งเริ่มหยุดจ่าย หรือติดมา Blacklist ภายหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ไปแล้ว...จะสมัครไม่ผ่าน2.หากลูกหนี้ที่ต้องการจะสมัครเข้าในโครงการนี้ ในอดีตเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีเงินเดือนประจำ แต่ปัจจุบันตกงาน หรือลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว หรือทำงานฟรีแลนซ์ ไม่มีเอกสารใบรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน มาประกอบแนบกับใบสมัครด้วย...แบบนี้ก็สมัครไม่ผ่าน3.หากปัจจุบันลูกหนี้มีอายุมาก หรือเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว...สมัครไม่ผ่านเช่นกัน4.ลูกหนี้ที่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาแล้ว แม้เพียงคดีเดียว...สมัครไม่ผ่าน5.ลูกหนี้ที่จะสมัครเข้าโครงการตัวนี้ จะต้องถูกบังคับให้เอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียวดังนั้นสมมติว่า ลูกหนี้ที่สนใจจะเข้าสมัคร มีบัตรเครดิตและบัตรกดเงินทั้งหมด 5 ใบ และเคยติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรมาก่อนแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม(ตรงตามเงื่อนไขของข้อ 1.) และต่อให้ยังไม่เคยถูกฟ้องศาลเลยก็ตาม แต่ดันมี 1 ในบัตรที่ลูกหนี้ถืออยู่เป็นบัตรของพวก Non-Bank ต่างๆ เช่น อิออน , ยูเมะพลัส , KTC , เฟิร์สช้อยส์ , บัตรกรุงศรี , พรอมิส , เอมันนี่ , เจมันนี่, กรุงศรีโฮมโปร , เซนทรัลการ์ด ฯลฯ...จะสมัครไม่ผ่าน เพราะพวก Non-Bank ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย เพราะข้อกำหนดในข้อ 5. บังคับเอาไว้ว่า ลูกหนี้จะต้องเอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการนี้ให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียว ดังนั้นหากลูกหนี้ดันมีบัตรที่เป็นเจ้าหนี้ประเภท Non-Bank เพียงใบใดใบหนึ่ง ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้เลยบทสรุปของ “คลินิกแก้หนี้”สรุปแล้ว โครงการคลินิกแก้หนี้ตัวนี้ ทางแบงก์ชาติออกมาตรการมาเป็นเพียงแค่ “ยาหอม” เพื่อลดแรงเสียดทานในช่วงที่โดนกระแสวิจารณ์มากๆ ก็เท่านั้นเองครับว่า  “ตอนนี้มีลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ 3 ล้านราย ( ต้นปี 2560) ทางแบงก์ชาติไม่คิดที่จะทำอะไรบ้างเลยหรือ? “  แบงก์ชาติก็เลยลดกระแสที่ถูกด่าอย่างหนักโดยการหยิบยกเอา“สัญญาประนอมหนี้” หรือ “สัญญาปรับโครงสร้างหนี้” ที่มีอยู่แล้วของเดิม มาทำการปัดฝุ่นใหม่ โดยการเปลี่ยนชื่อให้มันดูไพเราะเพราะพริ้งว่าเป็น“โครงการคลินิกแก้หนี้” โดยมอบหมายให้ SAM เป็นผู้ดำเนินการแทนในการคัดกรองและเจรจา แล้วก็เอาดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อนตามสัญญาคลินิกแก้หนี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยราคาถูกมาก(ไม่เกิน 7% ต่อปี) มาเป็น“ตัวล่อ”ให้ลูกหนี้มีความหวังแบบ ลมๆ แล้งๆ การทำแบบนี้ก็สามารถออกมาอ้างได้ว่า แบงก์ชาติมีการทำโครงการเพื่อลดจำนวนลูกหนี้ที่ติด Blacklist มากถึง 3ล้านคนให้แล้วนะ...แต่พอดูเงื่อนไขที่จะสามารถสมัครให้ผ่านเข้าโครงการฯ ได้ มันโหดมาก ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือความจริงให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้ได้รับทราบเลยแม้แต่น้อย มาจนถึงกรกฎาคม พ.ศ.2561 แล้วนะครับ  ผ่านมาปีกว่าตัวเลขของลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโร ได้พุ่งสูงเกินกว่า 3 ล้านคนไปมากแล้ว ผมอยากทราบจริงๆ ว่า มีลูกหนี้ที่สมัครในโครงการคลินิกของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการอนุมัติสักกี่คนครับ  เพราะฉะนั้นทางออกของลูกหนี้ทั้งหลายคืออะไรถ้าผมเป็นลูกหนี้ ผมคงไม่เสียเวลากับโครงการตัวนี้ ผมจะไปทำงานหารายได้ให้มากๆ เพื่อที่จะเก็บสะสมเงินไว้เอาไป Hair cut กับเจ้าหนี้แต่ละบัตรโดยตรงเองดีกว่าครับ มันคือวิธีที่ดีที่สุดจริงๆ ในตอนนี้ ต้องการปรึกษา หรือข้อมูลเพิ่ม สามารถติดตามได้ที่ http://debtclub.consumerthai.org/

อ่านเพิ่มเติม >