ฉบับที่ 185 ห้องพักไม่เหมือนในโฆษณา

แม้ว่าการหาห้องพักผ่านทางอินเทอร์เน็ตจะเป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย แต่เราสามารถมั่นใจได้จริงหรือว่า รูปภาพและคำโฆษณาต่างๆ จะตรงกับความจริงเสมอไปเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณสมใจ เธอต้องการเช่าหอพักรายเดือน จึงหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดัง ในที่สุดเมื่อเจอหอพักที่ถูกใจก็ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ ซึ่งภายหลังการพูดคุยผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ผู้ดูแลหอก็ส่งรูปภาพของห้องพักมาให้ดู เพื่อย้ำว่าเป็นรูปจริงที่เพิ่งถ่ายไม่นานมานี้ ซึ่งรูปภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นสภาพภายในห้องที่ดูน่าอยู่สวยงาม คุณสมใจจึงตัดสินใจตกลงเช่าห้องดังกล่าว โดยโอนเงินมัดจำไปให้ก่อนจำนวน 2,000 บาท โดยตกลงว่าจะย้ายของเข้ามาอยู่ในวันถัดไปเมื่อคุณสมใจมาถึงหอพัก เธอกลับต้องตกใจกับสภาพห้องที่ไม่เหมือนในโฆษณาเลย เช่น มีรูปเตียงนอนอย่างดีโฆษณา แต่ความจริงมีเพียงแค่ฟูกให้นอนเท่านั้น อย่างไรก็ตามเธอก็ไม่มีทางเลือก เพราะขนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาแล้วเรียบร้อย ทำให้จำต้องพักอยู่ที่ห้องดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งคืน และรอติดต่อเจ้าของหอพักในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังเธอแจ้งว่าไม่ต้องการอยู่ห้องนี้แล้ว เพราะเห็นว่าสภาพแย่มากไม่เหมือนกับในโฆษณาทางเว็บไซต์ และต้องการเงินมัดจำคืนก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ คนอื่นก็ต้องจ่ายแบบนี้ทั้งนั้น ทำให้เธอเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพห้องพักมาให้เพิ่มเติม พร้อมเข้าไปตรวจสอบโฆษณาของหอพักดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ก็พบข้อความโฆษณาว่า หอพักพร้อมเฟอร์นิเจอร์สภาพใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 2,000 – 2,800 บาท มีคีย์การ์ดและกล้องวงจรปิด โดยมีรูปประกอบเป็นสภาพห้องพักที่ดูน่าอยู่สวยงาม ซึ่งตรงกันข้ามกับรูปภาพจริงที่ผู้ร้องส่งมาให้ดู  สำหรับกรณีนี้อาจถือได้ว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง โดยมีการโฆษณาด้วยข้อความและรูปภาพที่ทำให้ผู้ร้องเข้าใจผิด จนตกลงไปเช่าห้องพักดังกล่าว ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน โดยผู้ร้องสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ศูนย์ฯ แนะนำให้มีการเจรจากับเจ้าของหอพักดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งเธอแจ้งกลับว่าให้ทางครอบครัวช่วยเจรจาให้ โดยทางเจ้าของหอยินยอมให้เปลี่ยนห้องใหม่ได้ แต่จะไม่คืนเงินมัดจำ ซึ่งภายหลังเธอได้ดูห้องอื่นๆ ของทางหอพักก็ตกลงเช่าอยู่ต่อ และยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 บัตรเครดิต บัตรเดบิต ความเหมือนที่แตกต่าง

ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราคุ้นเคยกัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะต้องมีบัตรเครดิต(Credit) หรือบัตรเดบิต(Debit) พกติดกระเป๋าสตางค์อยู่อย่างน้อยคนละหนึ่งใบ     ดูเผิน ๆ บัตรทั้ง 2 แบบนี้ก็หน้าตาคล้ายกัน ใช้รูดซื้อของหรือกดเงินสดได้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีพื้นฐานต่างกันอย่างสิ้นเชิง เจ้าหนี้ – ลูกหนี้    เวลาที่คุณใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้าหรือเติมน้ำมันนั้น หมายความว่าคุณได้ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตให้ช่วยสำรองจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ให้ร้านค้าที่ใช้บริการไปก่อน แล้วเมื่อถึงกำหนดเวลาคุณจะเอาเงินไปจ่ายคืนในทางกฎหมายคุณจึงมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร แต่คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตซื้อของได้ในวงเงินที่เจ้าหนี้ประเมินแล้วว่าคุณจะสามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้     ส่วนการใช้บัตรเดบิตนั้นจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ คุณต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร เมื่อใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้านั่นก็คือ คุณกำลังสั่งให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีของคุณไปให้กับร้านค้าที่คุณใช้บริการ ซึ่งถ้าเงินในบัญชีมีน้อยกว่าราคาของที่จะซื้อ คุณก็ไม่สามารถใช้บัตรเดบิตทำรายการนั้นได้ การใช้บัตรเดบิตจึงไม่เป็นการก่อหนี้ เครดิต – ความน่าเชื่อถือ    การสมัครบัตรเดบิตนั้น เพียงคุณมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารคุณก็สามารถใช้บริการได้แล้ว ส่วนการสมัครบัตรเครดิตนั้นจะยุ่งยากกว่า เพราะคุณต้องแสดงหลักฐานว่า คุณมีรายได้เท่าไร หน้าที่การงานมั่นคงหรือไม่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้บัตรเครดิตว่า คุณจะสามารถนำเงินมาชำระคืนได้ดังนั้น ใครที่มีบัตรเครดิตใช้ ก็แสดงว่าคุณมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่เจ้าหนี้เขาจะให้กู้เงิน ซึ่งถ้าบริหารหนี้เป็น ก็จะได้รับประโยชน์เช่น โทรทัศน์ราคา 20,000 บาท ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% แบ่งจ่ายได้ 10 เดือน แต่สำหรับบัตรเดบิตคุณไม่สามารถใช้ผ่อนสินค้าแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ได้ ต้องถูกหักบัญชีเต็มจำนวนทันที หรือถ้าคุณมีเงินในบัญชีไม่ถึง 20,000 บาท คุณก็ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อโทรทัศน์เครื่องนี้ไม่ได้ ความเสี่ยงภัย เมื่อบัตรถูกโจรกรรม    บัตรเดบิตนั้น ผูกติดกับบัญชีเงินฝากของคุณ นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่เอาบัตรเดบิตของคุณไปรูดซื้อสินค้า เงินในบัญชีก็จะถูกตัดไปทันที ซึ่งถ้าอยากได้เงินคืน คุณก็ต้องขวนขวายไปติดต่อธนาคารหาหลักฐานต่าง ๆ มายืนยัน ซึ่งถ้าการเรียกร้องเงินคืนยุ่งยากเท่าไร คุณก็ยิ่งเสียเปรียบเท่านั้น จนบางครั้งอาจจะท้อใจ ไปกับระยะเวลาที่เนิ่นนานและค่าใช้จ่ายในการร้องเรียนที่สูงเกินกว่ามูลค่าเงินที่หายไป     ในขณะที่การใช้บัตรเครดิตนั้น เป็นธุรกรรมที่ธนาคารได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนตามที่มีรายการแจ้งมา ดังนั้น เมื่อบัตรถูกขโมยไปใช้ คุณก็มีหน้าที่แค่แจ้งธนาคารว่า ไม่ได้เป็นคนใช้บัตรเครดิตทำรายการนั้น ถ้าธนาคารไม่เชื่อก็ต้องหาทางพิสูจน์เองว่าใครเป็นคนใช้บัตรเครดิต หรือหาทางฟ้องร้องเพื่อเรียกเก็บเงิน ซึ่งเป็นภาระของธนาคาร แม้จะทำให้คุณต้องวุ่นวายอยู่บ้าง แต่ก็ยังดี เพราะว่าคุณยังไม่ต้องเสียเงินจากกระเป๋า     ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม    บัตรเดบิตนั้นเป็นการใช้เงินจากบัญชีของคุณเอง ดังนั้น จึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยจากการรูดซื้อสินค้า ส่วนบัตรเครดิตนั้นเป็นการกู้ยืมเงินทดรองจ่าย จึงต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตามจำนวนที่คุณใช้ แต่บัตรเดบิตส่วนใหญ่ ก็จะคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ จากผู้ถือบัตร เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินข้ามเขตหรือเบิกถอนเกินจำนวนครั้งที่กำหนด จะหยิบบัตรไหนมาใช้ในครั้งต่อไป ก็เลือกให้ดี คิดให้รอบคอบนะครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point