ฉบับที่ 196 สารกันบูดในเส้นขนมจีน ภาค 2

ถ้ายังจำกันได้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 180 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เราเคยนำเสนอ “ผลทดสอบสารกันบูดในเส้นขนมจีน” ซึ่งผลทดสอบที่ออกมาชวนให้ตกใจไม่น้อย เพราะเส้นขนมจีนจำนวน 12 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบการปนเปื้อนของสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก ทั้ง 12 ตัวอย่าง แถมมีอยู่ 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ ฉลาดซื้อเล่มนี้ เราจะลองสุ่มทดสอบดูปริมาณสารกันบูดในเส้นขนมจีนอีกครั้ง ลองไปดูกันสิว่าสถานการณ์การใช้สารกันบูดในเส้นขนมจีนมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหน จะลดลงหรือเพิ่มขึ้น อย่างไร และที่น่าสนใจคือ เราเก็บตัวอย่างเส้นขนมจีนที่เราเคยทดสอบเมื่อคราวที่แล้วด้วย จำนวน 8 ตัวอย่าง และเพิ่มเติมตัวอย่างในการสุ่มทดสอบอีก 9 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง เพื่อดูว่าจากผลการทดสอบครั้งที่แล้วผู้ผลิตเส้นขนมจีนมีการปรับปรุงสินค้าของตัวเองอย่างไรกันบ้างผลทดสอบสารกันบูดในเส้นขนมจีนครั้งที่แล้ว สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บตัวอย่างขนมจีนที่พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานมาตรวจวิเคราะห์ พร้อมกับสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานที่ผลิตและจำหน่ายเส้นขนมจีนให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งยืนยันว่า ขนมจีนเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ต้องแสดงฉลากตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีการใช้วัตถุกันเสียก็ต้องแจ้งไว้บนฉลาก หากไม่แสดงมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนดจะจัดเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท(ที่มา: ช่าว “สาธารณสุข ส่ง จนท.ตรวจเข้ม “สถานที่ผลิต-ขายขนมจีน”” มติชนออนไลน์ 12 มีนาคม 2559)ทางด้าน “ตลาดยิ่งเจริญ” ก็ตื่นตัวกับผลทดสอบ หลังพบว่ามีตัวอย่างเส้นขนมจีนที่ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานจำหน่ายอยู่ในตลาด ซึ่งทางผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญ รีบแสดงความผิดชอบด้วยการตรวจเข้มสินค้าต่างๆ ที่จะเข้ามาจำหน่าย โดยออกเป็นมาตรการที่ชื่อว่า “สินค้าปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” ซึ่งมีทั้งการเชิญเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจประเมินมาตรฐานสินค้าในตลาด สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าในตลาดไปทดสอบ รวมทั้งเชิญพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดมาทำความเข้าใจเรื่องการเลือกสินค้ามาจำหน่ายต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และพร้อมจัดการขั้นเด็ดขาดกับสินค้าที่หน่วยงานรัฐออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย(ที่มา: ข่าว ““ตลาดยิ่งเจริญ” ออกมาตรการ “สินค้าปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” เชิญ อย.ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าทั้งหมด” กรุงเทพธุรกิจ 16 มิถุนายน 2560)ข้อกำหนดการใช้สารกันบูดในเส้นขนมจีนตามข้อกำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 4) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ยังคงอนุญาตให้มีการใช้ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ซึ่งเป็นกลุ่มสารกันเสีย ในเส้นขนมจีน ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกณฑ์มาตรฐานยังคงเท่ากับการทดสอบเมื่อครั้งที่แล้วผลการทดสอบ-ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบในครั้งนี้มีจำนวน 17 ตัวอย่าง จากผลการทดสอบพบว่ามีการปนเปื้อนของสารกันบูด กรดเบนโซอิก ทั้ง 17 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ - มี 2 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อเส้นขนมจีน 1 กิโลกรัม ซึ่งตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ 1.ยี่ห้อ ชลนิศา เก็บตัวอย่างที่ตลาดพระประแดง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1,114.24 มิลลิกรัมต่อกิโกลกรัม และ 2.ยี่ห้อ สธจ โรงงานโสธรเจริญ เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1,274.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม-ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด 3 ตัวอย่างแรก ได้แก่ 1.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ตลาดพระประแดง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 45.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, 2.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 63.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 3.ยี่ห้อ นิดา เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 91.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่น่าตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่มีการใช้สารกันบูดน้อยที่สุด 2 อันดับแรก เป็นเส้นขนมจีนที่ไม่มีการแสดงฉลากใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงว่า เส้นขนมจีนทั้ง 2 ตัวอย่าง ผลิตและจำหน่ายทันทีไม่ได้ผลิตเพื่อส่งไปขายต่อที่อื่น ซึ่งตามกฎหมายอนุโลมให้อาหารในลักษณะดังกล่าวไม่ต้องแสดงฉลาก เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตตั้งใจที่จะผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ทำให้มีการใช้สารกันบูดในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการทดสอบครั้งที่แล้ว ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบสารกันบูดน้อยที่สุด ก็เป็นตัวอย่างเส้นขนมจีนไม่มียี่ห้อและไม่มีฉลากที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพระประแดงข้อสังเกตจากผลทดสอบ-การทดสอบครั้งที่ 2 พบว่า ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกน้อยที่สุดนั้น  พบเพียงแค่ 45.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าตัวอย่างเส้นขนมจีนที่ทดสอบครั้งที่แล้วที่พบน้อยสุดที่ปริมาณ 147.43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม -โดยภาพรวมของผลการทดสอบสารกันบูดชนิดกรดเบนโซอิกในเส้นขนมจีนครั้งนี้ ช่วยตอบคำถามได้ว่า เส้นขนมจีนยังเป็นอาหารที่ตรวจพบว่า มีการปนเปื้อนของสารกันบูด โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณสารกันบูดที่พบในการทดสอบครั้งที่ 2 นี้ อยู่ 450.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในการทดสอบครั้งที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 439.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม-พบว่า ตัวอย่าง ยี่ห้อ ดาว ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ ที่ผลการทดสอบครั้งที่แล้ว พบกรดเบนโซอิกสูงเกินค่ามาตรฐานที่ 1121.37 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น ในการทดสอบครั้งนี้พบปริมาณกรดเบนโซอิกอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ 768.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต้องขอชื่นชมที่มีการปรับปรุงมาตรฐานของสินค้า-ในขณะที่พบการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในบางยี่ห้อ แต่บางยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ สธจ โรงงานโสธรเจริญ ซึ่งเก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย การทดสอบครั้งที่แล้วพบปริมาณกรดเบนโซอิกแค่ 462.36 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ในการทดสอบครั้งนี้พบการปนเปื้อนสูงถึง 1274.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ต้องฝากหน่วยงานควบคุมกำกับช่วยติดตามมาตรฐานของสินค้าด้วย)การแสดงฉลากยังมีปัญหาจากผลทดสอบที่ได้พบว่าเส้นขนมจีนทั้ง 17 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีการปนเปื้อนของสารกันบูด เบนโซอิก ทั้ง 17 ตัวอย่าง ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 167) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ มีการกำหนดเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหารลงในฉลาก แต่จากตัวอย่างเส้นขนมจีนทั้ง 17 ตัวอย่าง มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดระบุไว้บนฉลากหรือภาชนะบรรจุ ได้แก่ เส้นขนมจีนยี่ห้อ ฉวีวรรณ เก็บตัวอย่างที่ห้างแมคโคร สาขาลาดพร้าว ที่แจ้งไว้ว่าใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอต (INS NO.211)  (INS = international numbering system for food additives หรือ หมายเลขรหัสวัตถุเจือปนอาหารสากล)ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้อาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก ยกเว้นอาหารในลักษณะต่อไปนี้ 1.อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแก่ผู้บริโภคได้ในขณะจำหน่าย เช่น หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น, 2.อาหารสดทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นก็ได้ และบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารนั้น เช่น ผัก ผลไม้ตัดแต่ง เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นหรือบด เป็นต้น และ 3.อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการเฉพาะภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล สายการบิน สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารโดยตรงให้กับผู้ซื้อจากการสุ่มเก็บตัวอย่าง เส้นขนมจีนที่ขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ไม่เข้าข่ายตามข้อยกเว้นของกฎหมาย ต้องมีการแสดงฉลากให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นอาหารที่ผลิตในรูปแบบของโรงงานและส่งออกวางจำหน่ายตามตลาดต่างๆ อาจมีบ้างบางตัวอย่างที่ผลิตและขายเองหน้าร้าน ไม่ได้รับซื้อหรือส่งต่อไปขายที่อื่น ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะดังกล่าวก็เข้าข่ายที่ได้รับการยกเว้นดังนั้นอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกวดขันดูแลให้ผู้ผลิตเส้นขนมจีนปรับปรุงสินค้าของตนเองให้ถูกต้องตามมาตรฐาน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point