ฉบับที่ 138 เราพบอะไรในชุดชั้นในสีดำ

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวว่าในต่างประเทศมีการทดสอบเสื้อชั้นในสีดำและพบสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง และอาจสงสัยว่าเสื้อชั้นในสีดำที่ขายอยู่ในบ้านเรามีสารดังกล่าวหรือไม่ ฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างเสื้อในชั้นสีดำทั้งจากตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง* ทั้งหมด 10 ตัวอย่าง (ราคาตั้งแต่ 50 - 790 บาท ทั้งหมดผลิตในประเทศไทย ยกเว้นยูนิโคล่ รุ่นไวร์เลส ที่ผลิตจากประเทศจีน) ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วส่งเข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อไขข้อข้องใจในประเด็นเหล่านี้ ชนิดของเส้นใยที่ใช้เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลากหรือไม่ มีฟอร์มาลดีไฮด์ (สารที่ใช้เพื่อป้องกันผ้าย่น หรือยับ) หรือไม่ ค่าความเป็นกรด-ด่างเกินมาตรฐานหรือไม่ สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง จากผลทดสอบในภาพรวม เสื้อชั้นในส่วนใหญ่ผลิตจากเส้นใยตามที่ได้แจ้งไว้ มีเพียงยี่ห้อ Princess ที่ระบุบนฉลากว่าเป็น “ฝ้าย 100%” แต่ทดสอบแล้วพบว่าเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ส่วนชุดชั้นในอีก 3 ยี่ห้อที่ไม่ระบุเส้นใยที่ใช้ก็เป็นโพลีเอสเตอร์ หรือโพลีเอสเตอร์ผสมฝ้าย ซึ่งเรื่องของเส้นใยนั้นต้องแล้วแต่ความชอบของผู้บริโภคแต่ละคน ใครเน้นสวมใส่สบาย ระบายอากาศดีก็เลือกที่เป็นเส้นใยจากฝ้าย แต่ถ้าใครเน้นซักง่ายแห้งเร็วก็คงจะเลือกเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สำคัญตรงที่ผู้ผลิตมีการแจ้งต่อต่อผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมาเพื่อการพิจารณานั่นเอง ------------------------------------------------------------------------------- ตลาดชุดชั้นในสตรีในบ้านเราซึ่งมีมูลค่าการตลาดไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ : ข้อมูลจากงานวิจัยปี พ.ศ. 2552 โดย ผุสดี ใจแก้วทิ  เรื่อง กลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกซื้อชุดชั้นในสตรีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษา บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ลิขสิทธิ์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ------------------------------------------------------------------------------- จากงานวิจัยเดียวกัน สีเสื้อชั้นในที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือสีเนื้อ (ร้อยละ 37.5) ตามด้วยสีขาว (ร้อยละ 32) สีชมพู (ร้อยละ 13.5) และสีดำ (ร้อยละ 10.5) -------------------------------------------------------------------------------   เสื้อชั้นใน Ne’s bra รุ่น 8802 ราคา 50 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.52 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Princess รุ่น 191 ราคา 79 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก Cotton 100% ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.72 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Sister hood รุ่น Sport 072 ราคา 89 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ / ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.09 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Jintana รุ่น Jina Teen JB 2850 ราคา 260 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.16 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Sabina รุ่น SBN Sport SBB 374 BK ราคา 440 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.44 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน POP line รุ่น WL 1799 ราคา 450 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไนลอน ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 6.10 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Wacoal รุ่น WH 2M03 T-Shrunk ราคา 550 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.95 สารก่อมะเร็งในสีย้อม 4-chloroaniline 15.35 มก./กก.     เสื้อชั้นใน Elle รุ่น LB 8502 ราคา 650 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไนลอน ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.16 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน UNIQLO รุ่น Wireless Bra Light ราคา 790 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก โพลีเอสเตอร์ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.85 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Triumph รุ่น Sloggi Organic Cotton ราคา 790 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 6.84 สารก่อมะเร็งในสีย้อม 4-chloroaniline 15.09 มก./กก.   ------------------------------------------------------------------------ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ชุดชั้นในสตรี มผช. 837/ 2554 กำหนดไว้ว่า ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ ต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 5 ถึง 7.5 สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว ต้องไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ผลการวิเคราะห์ ในการทดสอบคราวนี้เราไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ในทั้ง 10 ตัวอย่าง และค่าความเป็นกรดด่างของเสื้อชั้นในส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ ยกเว้นวาโก้ WH 2M03 T-Shrunk ที่มีค่า pH สูงเกินเกณฑ์ไปเล็กน้อย   นอกจากนี้เรายังพบสาร 4-คลอโรแอนิลีน (4-chloroaniline) ในชุดชั้นใน 2 รุ่นได้แก่ วาโก้ WH 2M03 T-Shrunk และ ไทรอัมพ์ Sloggi Organic Cotton ในปริมาณ 15.35 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม และ 15.09 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม ตามลำดับ ปริมาณดังกล่าวถือว่าไม่เกินมาตรฐานที่ประเทศไทย หรือเกณฑ์เบื้องต้นของยุโรปกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม)   อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวเป็นหนึ่งในสารอะโรแมติกแอมีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้าอ้างอิงเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของยุโรป จะต้องไม่มีสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์   ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ ซื่อสัตย์ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “สีย้อมประเภทเอโซเป็นสีกลุ่มที่แตกตัวให้สาร Aromatic amine เมื่อย้อมติดบนผลิตภัณฑ์ ไม่ควรก่อให้เกิดสาร Aromatic amine ชนิดที่อยู่ในข่ายสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์ ในปริมาณเกินกว่า 30 ppm สำหรับสาร 4-chloroaniline ที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์เสื้อชั้นในข้างต้น เป็นสารที่ห้ามใช้หรือไม่ควรพบตกค้างในผลิตภัณฑ์สิ่งทอเลยเนื่องจากเป็นสารอันตราย ดังนั้นจึงถือว่าผลิตภัณฑ์เสื้อชั้นในที่ตรวจพบสารดังกล่าวอยู่ในข่ายที่สามารถก่ออันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสผิวหนังโดยตรงเช่นนี้”   วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี ระบุว่า “ตามเอกสารขององค์การอนามัยโลกและกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ออกตามกฎหมาย REACH นั้น สหภาพยุโรปจำกัดการใช้สีย้อมประเภทเอโซ (ซึ่งสาร 4-chloroaniline รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) คือห้ามใช้สีย้อมเอโซที่อาจปล่อยสารแอมีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งออกมาจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเข้าสู่ผู้ใช้ได้ แต่ถ้าเป็นเอโซที่ไม่ปล่อยสารแอมีน จะยอมให้มีในแต่ละส่วนประกอบได้ไม่เกิน 30 พีพีเอ็ม สำหรับเอโซที่ปล่อยสาร 4-chloroaniline ออกมานั้นอยู่ในรายการห้ามใช้เลย ------------------------------------------------------------------------   เรื่องจากคนเย็บชุดชั้นใน -          ปัจจุบันนี้ เสื้อชั้นในหนึ่งตัว มีชิ้นส่วนประมาณ 20 ชิ้น และมีขั้นตอนการเย็บประมาณ 50 ขั้นตอน -          ถ้าเป็นเสื้อชั้นในแบบธรรมดาๆ พนักงาน 50 คน จะสามารถเย็บได้ วันละ 2,000 ตัว แต่ปัจจุบันเริ่มมีชิ้นงานแบบหรูหรา ที่ขายปลีกตัวละ 7,000 – 8,000 บาท พนักงานกลุ่มเดิมสามารถเย็บได้เพียงวันละไม่เกิน 400 ตัว -          ชิ้นงานสีดำหรือสีเข้มอื่นๆ ค่อนข้างลำบากต่อคนทำงาน เพราะมองไม่ค่อยเห็น จึงต้องส่องไฟเพิ่มซึ่งทำให้เกิดแสงสะท้อนเข้าตา -          ก่อนหน้านี้เคยมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าพบปลายเข็มในเสื้อชั้นใน ซึ่งน่าจะเกิดจากเข็มที่หักในขั้นตอนการตัดเย็บ ในสายการผลิตจึงมีข้อกำหนดว่าจะต้องหาปลายเข็มที่หักให้เจอก่อนเสมอเมื่อเกิดกรณีที่เข็มหัก นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้พนักงานนำโลหะชิ้นเล็กๆ เช่นลวดเย็บ หรือดินสอกด เข้าไปบริเวณที่ทำงาน -          ขั้นตอนที่มีความเสี่ยง ขั้นตอนการประกอบลูกไม้/ผ้า เข้ากับฟองน้ำด้วยเครื่องพ่นกาว การขึ้นรูปผ้ากับฟองน้ำให้เป็นรูปโค้งตามขนาดคัพ ของเสื้อชั้นใน -          ครึ่งหนึ่งของราคาชุดชั้นในที่เราจ่าย คือค่าแบรนด์ -          เสื้อชั้นในที่เราเห็นนำมาลดราคาตามห้างนั้น ความจริงแล้วก็เป็นไปตามราคาขั้นต่ำที่เขากำหนดไว้แต่แรก บางครั้งการลดราคาก็เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้กับรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะผลิตออกมา หรือของค้างที่เก็บไว้ก็มีแต่จะเสื่อมราคาจึงต้องรีบขายออกไป อีกกลุ่มที่นำมาลดราคาคือสินค้าที่มีขนาดไม่ครบนั่นเอง -          ส่วนเสื้อชั้นในที่นำมาขายลดราคาให้กับพนักงงานในโรงงานนั้นอาจมาจากสินค้าตกเครื่องบิน (หรือตกเรือ) เพราะส่งไม่ทันเวลา บางครั้งเป็นสินค้ามีตำหนิ หรือสินค้าตัวอย่าง หรือสินค้าที่ไม่ผ่านคุณภาพส่งออก (เช่นมีสารก่อมะเร็ง) เป็นต้น ขอบคุณ คุณจิตรา คชเดช และคุณวิภา มัจฉาชาติ ผู้ประสานงานและผู้จัดการฝ่ายผลิตชุดชั้นในทางเลือก Try Arm ผู้ให้ข้อมูล  

อ่านเพิ่มเติม >