ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 รู้เท่าทันการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าหัวเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม

                เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแชร์กันสนั่นในโลกโซเชียลมีเดียจากรพ.วชิระพยาบาลและรพ.ตำรวจเรื่องการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยฉีดเกล็ดเลือดปั่น 2 ครั้ง โดยไม่ต้องผ่าตัด ทำให้มีผู้ป่วยติดต่อขอรักษาด้วยวิธีนี้กันอย่างมากมาย จนรพ.วชิระพยาบาลต้องออกมาชี้แจงว่าการเผยแพร่ภาพและข่าวนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้รักษาและทางโรงพยาบาล ส่วนรพ.ตำรวจก็ออกมาชี้แจงว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มวิจัยคนไข้ 200 ราย และปิดรับสมัครเพราะเต็มจำนวนแล้ว การฉีดเกล็ดเลือดเข้าหัวเข่านี้เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและได้ผลดีจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันดีกว่า          การรักษาโดยการฉีดเกล็ดเลือด (Regenerative Injection Therapy by Platelet Rich Plasma/PRP) คืออะไร          การรักษาด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้นเป็นการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของตัวผู้ป่วยเองเพื่อไปเร่งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อของเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ ด้วยวิธีการนี้ การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจึงเป็นการใช้ระบบการซ่อมแซมของตัวผู้ป่วยเองในการแก้ไขปัญหาของกล้ามเนื้อและกระดูก        เลือดประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ และมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด  เกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่งทำหน้าที่ให้เลือดแข็งตัวและมีบทบาทสำคัญของร่างกายในกระบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติ การเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้นทำโดยการดูดเลือดของผู้ป่วย แล้วนำมาปั่นด้วยความเร็วสูงเพื่อแยกเกล็ดเลือดที่เข้มข้นออกมา แล้วน้ำเกล็ดเลือดที่เข้มข้นฉีดที่เนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เกล็ดเลือดที่เข้มข้นจะปล่อยสารที่ไปกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ไปซ่อมแซมร่างกาย         การรักษาโดยการฉีดเกล็ดเลือดมีประสิทธิผลจริงหรือไม่        เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยจากวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก พบว่า การใช้การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่มีคุณภาพและวิธีการวิจัยที่ดีเพิ่มเติม ต้องศึกษาตั้งแต่การเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้น ส่วนประกอบของเกล็ดเลือด วิธีการฉีด การติดตามผู้ป่วยที่เพียงพอ        จากการทบทวนข้อมูลทางการแพทย์ของ COCHRANE (ณ มีนาคม 2556) และงานวิจัยใหม่ ๆ (ณ มีนาคม 2555) มีการศึกษา 19 รายงานที่มีการใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นกับการควบคุมที่ไม่ใช้ มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 1,088 ราย พบว่า หลักฐานที่มียังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อการรักษาการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือแสดงให้เห็นผลที่แตกต่างตามประเภทของการบาดเจ็บ การวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องนึกพิจารณาถึงความจำเป็นในการทำมาตรฐานการเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้นด้วย         การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจึงยังไม่เป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์         ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเท่านั้น ไม่ใช่การรักษามาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพราะเป็นแค่การศึกษาวิจัย         นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ควรรับการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น ได้แก่ ผู้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางขั้นรุนแรง มีระบบภูมคุ้มกันบกพร่อง กินยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ตั้งครรภ์และให้นมลูก        สรุป ในขณะนี้ การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นยังไม่เป็นที่ยืนยันเรื่องประสิทธิผล และยังอยู่ในระยะการศึกษาวิจัย ไม่ใช่การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 กลูโคซามีนลดอาการข้อเข่าเสื่อม...จริงหรือ

กลูโคซามีน เป็นสารชีวเคมีธรรมชาติที่สกัดออกมาได้จากเปลือกสัตว์ เช่น หอย กระดูกสัตว์ต่างๆ ไขกระดูก และราบางชนิด(สามารถสังเคราะห์กลูโคซามีนจากข้าวโพดเพื่อขายแก่ผู้ที่เป็นมังสวิรัติ) สารชีวเคมีนี้เมื่อเกิดในร่างกายมนุษย์ จะอยู่ในรูปกลูโคซามีน-6-ฟอสเฟต ส่วนที่มีการขายทั่วไปนั้นมักเป็นกลูโคซามีนซัลเฟต ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารอื่นในกลุ่มน้ำตาลชนิดที่มีอะตอมไนโตรเจนในโมเลกุล(nitrogen-containing sugars)งานวิจัยบางชิ้นให้ผลว่า โมเลกุลกลูโคซามีนนั้น น่าจะถูกนำไปใช้สร้างน้ำหล่อลื่นข้อต่อต่างๆ ในขณะที่กลุ่มซัลเฟตที่ได้จากกลูโคซามีนซัลเฟตนั้น อาจมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์กระดูกอ่อนด้วย ซึ่งสมมุติฐานนี้ไปสนับสนุนผลของบางการศึกษาที่พบว่า กลูโคซามีนที่ได้ผลนั้นต้องอยู่ในรูปกลูโคซามีนซัลเฟตเท่านั้น ไม่ใช่กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์หรือเอ็นอะเซ็ตติลกลูโคซามีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นหลักมักมีการเติมสารอื่น เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต(chondroitin sulfate) กระดูกอ่อนจากปลาฉลาม และสารอื่นเข้าไปด้วย โดยผู้ค้าหวังว่าจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของกลูโคซามีนดีขึ้น แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ทางวิชาการได้ว่า หวังนั้นเป็นจริงเว็บของ MedlinePlus (https://medlineplus.gov) สังกัด National Library of Medicine ซึ่งเป็นห้องสมุดการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่สุดในโลกให้ข้อมูลว่า กลูโคซามีนซัลเฟตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้ความหวังแก่ผู้มีอาการกระดูกเข่าเสื่อม ปวดข้อเนื่องจากยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดขากรรไกร ปวดเข่า ปวดหลัง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple Sclerosis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นสินค้าผสมการบูรและ/หรือสารอื่นๆ ในรูปครีมใช้ทาลดอาการปวดตามข้ออีกด้วยNatural Medicines Comprehensive Database องค์กรด้านวิชาการหนึ่งสังกัด California State University ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดโรคด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกล่าวว่า กลูโคซามีนซัลเฟตน่าจะใช้ได้ผลในการลดความเจ็บปวดของข้อเข่าเสื่อม ในระดับเดียวกันกับการใช้ยาพาราเซ็ตตามอลหรืออยากลุ่ม NSAIDs เพียงแต่ระยะเวลาต่างกันเท่านั้น อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ากลูโคซามีนไม่มีประสิทธิผลในคนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่มีอาการเจ็บปวดมานาน อ้วน หรือเป็นผู้สูงวัยข้อมูลที่ดูดีอีกหน่อยหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า กลูโคซามีนอาจจะช่วยบรรเทาอาการข้อต่อสะโพกเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ยืดอายุข้อเข่าในผู้ที่กินติดต่อกัน อีกทั้งผู้ที่กินยานี้มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อย่างไรก็ดีข้อมูลประการนี้ยังควรฟังหูไว้หูNatural Medicines Comprehensive Database ได้กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยบางชุดที่ระบุว่า มีหลักฐานไม่พอที่กล่าวว่ากลูโคซามีน (ซึ่งใช้ร่วมกับสารธรรมชาติอื่น) มีประสิทธิผล ในคนไข้ที่มีปัญหาเจ็บข้อต่อ (เนื่องจากการใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการบำบัดมะเร็งเต้านมระยะต้น) คนไข้เจ็บกระเพาะปัสสาวะ(Interstitial cystitis) เจ็บเข่า ปวดขากรรไกร เป็นต้นความปลอดภัยของกลูโคซามีนเกี่ยวกับความปลอดภัยของกลูโคซามีนนั้น MedlinePlus กล่าวเป็นเชิงว่า ควรปลอดภัยถ้ากินอย่างถูกต้องตามที่เภสัชกรแนะนำ และน่าจะปลอดภัยกว่า กรณีที่ถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์นาน 6 สัปดาห์ หรือใช้ทาผิวหนังร่วมกับคอนดรอยตินซัลเฟต กระดูกอ่อนปลาฉลามและการบูรนาน 8 สัปดาห์ผลข้างเคียงของการกินกลูโคซามีนซัลเฟตนั้นมีรายงานว่า ในผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ กรดไหลย้อน ถ่ายท้องและท้องผูก นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดเพิ่มเติมเฉพาะคนคือ ง่วงซึม ความผิดปรกติของผิวหนังและปวดหัว ที่สำคัญคือ หญิงตั้งท้องหรือให้นมลูกนั้นพึงระวัง เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของกลูโคซามีนซัลเฟตในประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่ออาการหอบหืดอาจต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเคยมีการระบุปัญหาในรายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่ง กลูโคซามีนนั้นทำให้ยาวอร์ฟาริน(ซึ่งใช้ลดอาการเลือดข้น) ออกฤทธิ์มากขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตผู้ป่วยต่ำลง อีกทั้งยังมีรายงานที่ตั้งข้อสงสัยว่า กลูโคซามีนอาจไปวุ่นวายต่อประสิทธิภาพในการใช้ยาต้านมะเร็ง(chemotherapy)ในสหรัฐอเมริกากลูโคซามีนซัลเฟต ถูกให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เพราะจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(US.FDA) ไม่มีบทบาทในการควบคุมดูแลแต่อย่างใด แม้แต่อำนาจในการขอหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของสินค้าก็ไม่มี ยกเว้นเมื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดก่อปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค งานจึงจะเข้าให้ US.FDA พิสูจน์และมีบทบาทในการฟ้องร้องสำหรับประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปนั้น กลูโคซามีนซัลเฟตถูกจัดให้เป็นยาจึงต้องขึ้นทะเบียนพร้อมหลักฐานทางวิชาการถึงประสิทธิผล พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำไปใช้บำบัดอาการปวดข้อต่างๆ อย่างไรก็ดีในปี 2014 OARSI (Osteo Arthritis Research Society International) ได้แถลงข่าวเป็นเชิงว่า ไม่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนบำบัดอาการปวดเข่า (เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลยังสับสนอยู่)จากความไม่แน่นอนทางวิชาการเกี่ยวกับผลของกลูโคซามีนในการรักษาอาการเจ็บข้อต่างๆ นั้น ทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ได้ถอนรายชื่อของกลูโคซามีนออกจากบัญชียาหลัก ทำให้กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แจ้งเวียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ /สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อทราบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ เรื่องการกำหนดรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยได้กำหนดให้ กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟตและไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทา อาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลไม่ชัดเจนอย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปในเว็บ www.hfocus.org/content/2015/05/10007 ก็ได้พบข้อมูลว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 132 ตอนที่ 41) ได้ลงประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองได้พิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฏ นัยว่าเพื่อให้เป็นไปตามคําพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 502/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง และคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 503/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง โดยพิพากษา “เพิกถอนหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่กําหนดให้กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ...” ดังกล่าวข้างต้น โดยให้การเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางนั้นมีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558ผู้เขียนได้รับการบอกเล่ามาว่า การที่แพทย์จะจ่ายยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นข้าราชการทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือเกษียณไปแล้วนั้น จำต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพทย์หลายส่วนกังวล เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะกิน “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ชนิดนี้คงต้องจ่ายเงินเองไปก่อน จนกว่าจะมีผลการพิสูจน์ว่าสารชีวเคมีชนิดนี้มีประสิทธิผลในการบำบัดอาการปวดข้อต่างๆ แล้วกลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อมจริงหรือ

หลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพราะกลัวว่าจะเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากมีเว็บไซต์ของการแพทย์ทางเลือกหลายเว็บไซต์จากต่างประเทศกล่าวถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ยอมเป็นไข้หวัดใหญ่ดีกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไรวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดปีละครั้ง และต้องฉีดทุกปี วัคซีนนี้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งมีอาการไข้ ไอ บวม และอาจเกิดอาการปอดอักเสบหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปอดบวม  ทุกปีวัคซีนนี้ต้องคัดเชื้อที่คิดว่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น และสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้ประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอัลไซเมอร์จริงหรือ สมาคมอัลไซเมอร์แห่งอเมริกา แถลงว่า ความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(หรือสารเคมีในวัคซีน) ก่อความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์นั้น เป็นความหลงเชื่อที่ผิด และไม่เป็นความจริง เหตุที่เชื่อนั้นเพราะ วัคซีนจะมีสารปรอทซึ่งเป็นสารกันเสื่อมของวัคซีนบางชนิด(วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดแค่ครั้งเดียว จึงไม่ต้องใช้สารนี้)  หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรค ได้ทำการวิจัยและพบว่า ปริมาณของปรอทนั้นมีปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายมากไปกว่าการบวมและแดงเล็กน้อยเมื่อฉีดวัคซีนงานวิจัยกลับบอกผลตรงกันข้ามจากการทบทวนงานวิจัยในหลายๆ ที่ พบว่า งานวิจัยในวารสาร Canadian Medical Journal ปีค.ศ. 2001 มีการวิจัยในประชากร 4, ราย  392 รายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงลดลงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก หรือโปลิโอ  งานวิจัยนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่ารายงานอีกเรื่องในวารสาร JAMA ค.ศ. 2004 พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการตายจากสาเหตุต่างๆ ทุกประเภท  ซึ่งในวารสาร Pubmed ได้นำบทคัดย่อไปเผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ การศึกษาล่าสุดในไต้หวัน ปีค.ศ. 2016 เป็นการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จำนวน 11,943 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48 และที่เหลืออีก 6,192 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการลดลงของการเกิดโรคความจำเสื่อมโดยสรุป ความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ นั้น ไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว  ในทางตรงข้าม กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลับมีความเสี่ยงและการเกิดโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2558 ห้ามแล้วเด็ดขาด!!! “เมโทมิล” ในยาฉีดแมลง อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล” (methomyl) จากเดิมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกําจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งผลจากการปรับระดับครั้งนี้ทำให้เมโทมิล เป็นสารที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารเมโทมิลอยู่ในกลุ่ม สารกําจัดแมลงที่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ลักษณะของผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการเหงื่อออก ปวดศีรษะ เพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ชัก โคม่า สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อหูรูด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจและการหดเกร็งของปอด   แม้ อย.จะปรับเมโทมิลในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเป็นสารอันตรายห้ามใช้เด็ดขาด แต่ในทางการเกษตร เมโทมิล ยังจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นจึงยังอาจพบเห็นเมโทมิลวางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรได้ แต่ก็ไม่ควรซื้อมาใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเด็ดขาด --------------------------------------------------------------   รีบลงทะเบียนซิม ก่อน 31 ก.ค. 58 ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินแล้วยังไม่ได้ลงทะเบียนซิม รีบไปทำลงทะเบียนซิมโดยด่วนภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 นี้ เพราะถ้าปล่อยให้พ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้โทรออก ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต และไม่สามารถส่งข้อความได้ ทำได้แค่รับสายโทรเข้าอย่างเดียวเท่านั้น การลงทะเบียนซิมเป็นการระบุตัวตนของผู้ใช้งานซิมนั้นๆ เพื่อจะช่วยป้องกันการนำซิมไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังช่วยในการรักษาสิทธิประโยชน์ ในการรักษาเบอร์ให้เป็นของเรา เมื่อเลิกใช้บริการก็สามารถขอเงินคงเหลือคืนได้ และสามารถเรียกร้องสิทธิต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน สำหรับวิธีการตรวจสอบว่าซิมที่ใช้อยู่ลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทำได้โดย กด *151# และโทรออก ฟรีทุกเครือข่าย ส่วนการลงทะเบียนเพียงแค่นำบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือบัตรรายงานต่างด้าว ตัวจริง และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการเครือข่ายที่ท่านใช้งานอยู่ หรือจุดที่มีสัญลักษณ์ “2 แชะ แวะลงทะเบียนซิม” ---------------------------------------------   นั่งทำงานนานระวัง “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” หนุ่ม – สาววัยทำงานที่ต้องนั่งเก้าอี้ติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ระวังเสี่ยงเป็นโรค “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนว่า การทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการยกของหนัก หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัว ซึ่งอาจทำกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ปวดขา ชาขา นอกจากนี้ หากกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือเคลื่อน สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเกิดอาการกดทับเส้นประสาท ทำได้โดยหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ------------------------------------------------------------------     จี้ สตง. ตรวจสอบ ปตท. ให้บุคคลที่สามใช้ท่อส่งก๊าซ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าพบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรณีเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ในระหว่างตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่ปตท.ยังคืนให้แก่รัฐไม่ครบถ้วน ถือเป็นการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือเสียประโยชน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเสียเปรียบในทางธุรกิจในอนาคตอีกหลายประการ บริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของปตท. จากปัญหาการตีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 มูลค่า 46,000 ล้านบาท แต่เมื่อปตท.จ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้งปี 2551 จากการขยายอายุใช้งานของท่อส่งก๊าซ โดยเพิ่มอายุใช้งานขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 25 ปีเป็น 40 ปี พบว่ามีมูลค่าท่อก๊าซสูงถึง 150,000 - 120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังขออนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติให้ปตท.ขึ้นได้ 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ปตท.มีรายได้เพิ่มขึ้นทันทีปีละ 2,000 ล้านบาททุกๆ ปี ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น --------------------------------------------------   ถึงเวลาควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ นำรายชื่อประชาชน 33,000 ชื่อ เข้ายื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.คุ้มครองผู้บริโภค) เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ปัญหากลไกราคายาที่ไม่มาตรฐานราคากลาง ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่โดนเรียกเก็บค่าบริการก่อนการรักษา ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าราคายาและเวชภัณฑ์ตามโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าของโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 60-400 เท่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้เรียกประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน โดยในการประชุมหารือมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), อย., แพทยสภา, สปสช., สภาเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เบื้องต้นผลจากการหารือได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ให้รพ.เอกชน แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าห้อง ค่าเครื่องมือ ค่าเตียง ฯลฯ ขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอง รวมถึงส่งให้แก่ สบส. ด้วย เพื่อรวบรวมแล้วขึ้นเว็บไซต์ของ สธ. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกรับบริการ ทั้งนี้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ดำเนินการประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาลมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากแจ้งอัตราเป็นเท็จ เช่น ระบุรายการค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ ถือเป็นคดีอาญา มีโทษปรับ 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี 2. ระยะกลาง จะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาราคา รพ.เอกชนแพง ซึ่งจะมาจากทุกภาคส่วน ยาถือเป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ยาแต่ละหมวด แต่ละกลุ่ม ควรมีราคากลางเท่าไร โดยคำนวณจากต้นทุน และกำไรสูงสุดที่จะบวกเพิ่มต้องไม่เกินเท่าไร และ 3.ระยะยาว คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นดังกล่าวจะพิจารณาค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ และจะประสานความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกับ รพ.รัฐ ในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการทุกระยะจะต้องมีการหารือกับ รพ.เอกชนก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >