ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 รถชนเสาไฟ ไม่มีคู่กรณี จะตายและเจ็บฟรีไหม ?

        คุณวิษรุตยังเห็นภาพอุบัติเหตุเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่า 2563 ที่จังหวัดระยองได้ชัดเจนในความทรงจำ แม้วันนี้ดวงตาของเขาจะมองไม่เห็นแล้วก็ตาม        วันนั้นเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนเพื่อกลับบ้าน ขณะที่เพื่อนขี่รถเข้าไปในซอยด้วยความเร็ว พอถึงทางเลี้ยวโค้งรถเกิดเสียหลักไปชนกับเสาไฟฟ้าอย่างแรง เพื่อนของเขาเสียชีวิตคาที่ ส่วนตัวเขาบาดเจ็บสาหัส เคราะห์ดีที่ทางกู้ภัยมาช่วยได้ทันการณ์ ส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลระยอง โดยในเบื้องต้นได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.ภาคบังคับเต็มตามจำนวน 80,000 บาท จากนั้นได้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มจากจำนวนเงินค่ารักษาที่เกิน         แม้จะรอดตายมาได้แต่คุณวิษรุตเองยังกังวลว่าอาจจะกลับไปทำมาหากินไม่ได้เหมือนเดิม เพราะแขนข้างซ้ายไม่มีแรงคล้ายเป็นอัมพาตและตาก็มองไม่เห็น ยิ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีคู่กรณีด้วยแล้ว เขาเลยอยากรู้ว่าตัวเองยังพอมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอะไรได้อีกบ้างไหมในเหตุการณ์นี้ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เพื่อนของคุณวิษรุต ซึ่งเสียชีวิตและเป็นคนขี่รถจักรยานยนต์จะได้รับเงินเบื้องต้น 35,000 บาท         2. ส่วนคุณวิษรุตตอนนี้แขนซ้ายคล้ายเป็นอัมพาตและตามองไม่เห็น เมื่อไม่มีคู่กรณีก็ต้องกลับมาดู พ.ร.บ.ภาคบังคับ ซึ่งคุณวิษรุตเป็นผู้นั่งซ้อนท้ายสามารถเบิกได้ตาม พ.ร.บ รถจักรยานยนต์ แต่ต้องให้แพทย์ระบุออกมาให้แน่ชัดก่อนจึงค่อยแจ้งกับทางประกัน ถ้าเป็นทุพพลภาพถาวรก็จะได้รับเงินเท่ากับการเสียชีวิต คือ 500,000 บาท แต่ถ้าสูญเสียอวัยวะก็จะได้ตาม พ.ร.บ. ภาคบังคับที่ระบุไว้         ล่าสุด คุณวิษรุตกำลังรอผลตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันความสามารถในการมองเห็นของเขาอีกครั้ง ถ้าแพทย์ระบุว่าเขาตาบอดจริง ก็จะนำใบรับรองผลไปยื่นทางประกันเพื่อขอรับค่าชดเชยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เมื่อชุมชนปฏิเสธเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้ชุมชน-โรงเรียน

ท่ามกลางความสับสนเรื่องอันตรายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หลายประเด็นยังถกกันไม่จบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่น่าจะได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้มีการเข้ามาตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้บ้านใกล้ชุมชนหรือไม่นั้นก็ควรเป็นคนในพื้นที่เอง เรามีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมชนในการตัดสินใจต่อเรื่องดังกล่าวมาฝาก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น โดยศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน เป็นผู้นำเรื่องราวมาถ่ายทอดดังนี้  เมื่อวันอังคารที่  19  มิถุนายน  2561 ที่ผ่านมา ที่ศาลาชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงการจัดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน  โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 100 คน  ในการประชุมมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนจำนวน 2 ชุด หนึ่งชุด  ไม่มีรายการว่าลงเพื่อทำอะไร  อีกหนึ่งชุดเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับทางบริษัททรูฯ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับจาก กสทช. เรื่อง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือและสุขภาพ ” และมีการถ่ายรูประหว่างคนรับแผ่นพับกับตัวแทนของบริษัทฯ    เริ่มต้นมีกำนันตำบลโคกสูงได้ชี้แจงว่า วันนี้ไม่ใช่การทำประชาคม  แต่เป็นการชี้แจงของทางบริษัทฯ ที่จะมาตั้งเสาในชุมชนเท่านั้น  เมื่อเริ่มต้นการประชุม   มีผู้หญิงคนหนึ่งแนะนำตัวว่า เป็นตัวแทนจากบริษัทฯ ได้นำเสนอสไลด์เรื่อง คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคน  และอ้างว่าองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าคลื่นจากเสาไม่เป็นอันตราย  จากนั้นได้เปิดวีดิทัศน์ที่ไปถ่ายทำสัมภาษณ์คนที่อยู่ใกล้เสาจากสถานที่ต่างๆ ว่าไม่เป็นอันตราย โดยมีพิธีกรของงานกล่าวย้ำว่า คลื่นจากเสาไม่เป็นอันตรายต่อมาเมื่อเปิดให้ชาวบ้านได้ซักถาม มีตัวแทนชาวบ้านได้พูดโดยกล่าวอ้างอิง ข้อมูลจากงานเขียนของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า คลื่นจากเสานั้นก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่อยู่ใกล้ในรัศมี  300 เมตร ก่อให้เกิดอาการปวดหัว  นอนไม่หลับ  ความจำเสื่อม  สายตาพร่ามัว  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย   ซึมเศร้า  วิงเวียน  ขาดสมาธิ  มีผลต่อสมอง  เชลล์สืบพันธุ์  หัวใจวาย  มะเร็ง  เป็นหมัน  หน้ามืด   สับสน  อ่อนเพลีย  ความจำเสื่อม  ชักกระตุก  มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเม็ดเลือดขาว  ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดสารพัดโรค  เพื่อค้านข้อมูลจากฟังของบริษัทฯ และตัวแทนชาวบ้านคนถัดมา ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านท่านหนึ่งที่เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พูดว่า “ข้อมูลที่ทางบริษัทนำเสนอมีแต่สิ่งดีๆ  จึงอยากให้พี่น้องชาวบ้าน ได้ฟังเรื่องราวข้อมูลอีกด้านไว้เพื่อชั่งน้ำหนัก   และชาวบ้านก็ไม่ได้มาคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณด้วยว่าเห็นประโยชน์ในเรื่องการสื่อสาร  แต่ต้องการให้ตั้งออกห่างจากชุมชนและโรงเรียน ตามประกาศ กสทช. ที่ให้หลีกเลี่ยงตั้งใกล้ชุมชน  โรงเรียน”  พร้อมนำคลิปข่าวมาเปิดให้ชาวบ้านชม ซึ่งเป็นข่าวที่ทางช่อง 7 ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เสาว่า ได้รับผลกระทบจากคลื่นอย่างไรบ้าง เช่น ปวดหัว  อ่อนเพลีย  จนท้ายที่สุด เมื่อบริษัทฯ ได้สอบถามชาวบ้านที่มาประชุมวันนั้น ว่าท่านใดต้องการให้มีการตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน ผลปรากฏว่าไม่มีใครยกมือสนับสนุน  พอสอบถามว่ามีท่านใดไม่ต้องการให้ตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน  กลับปรากฏว่า เกือบทุกคนในที่ประชุมยกมือไม่เห็นด้วยกับการตั้งเสา  จึงเป็นข้อยุติว่า  การที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จะมาตั้งเสาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและโรงเรียนในหมู่ที่ 4 บ้านคำบอนนั้น คนในชุมชน  “ ไม่เห็นด้วย ” บริษัทฯ จึงต้องยุติเรื่องดังกล่าวไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ติดหนี้เพราะเสาไฟฟ้า

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เสาไฟฟ้าเป็นเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องไปเสาะหาเหตุผลให้ปวดขมองครับ เพราะผู้ร้องรายนี้ดันขับรถไปชนเสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเข้าเลยต้องถูกเรียกค่าเสียหายไปตามระเบียบ แต่ที่หนักหนาสาหัสคือยอดหนี้เป็นแสนนี่สิจะรับผิดชอบอย่างไรดีเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่คุณพิรมไปพลาดพลั้งขับรถไปชนเสาไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางระยอง กรมทางหลวง ซึ่งได้ประเมินเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 123,579 บาท แขวงการทางระยองทำหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายมา 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปี 2552 เห็นหนังสือทวงหนี้ เห็นค่าเสียหายแต่ละครั้งหัวใจแทบหล่น แต่ก็จนปัญญาอยากเป็นพลเมืองดีก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ได้ นอกจากประกันภัยชั้นหนึ่งที่ได้ทำให้กับรถไว้แต่บริษัทประกันก็ไม่ยอมจ่ายสักทีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาคุณพิรมจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมทางหลวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความภายใน 1 ปีตามมาตรา 448 แต่หากยังไม่มีการทำเรื่องจากแขวงการทางระยองเสนอขออนุมัติฟ้องไปยังอธิบดีกรมทางหลวงก็ถือว่ากรมทางหลวงในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาทในจุดนี้ แต่เมื่อรถของคุณพิรมทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ซึ่งสัญญาตามหน้ากรมธรรม์ที่จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้นคุณพิรม จึงควรส่งสำเนาจดหมายของแขวงการทางระยองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนแสนกว่าบาทนี้ให้ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแทนตามสัญญาประกันภัย หากมีการประวิงเวลา ไม่จ่ายค่าสินไหมคุณพิรมสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทรสายด่วน 1186หากคุณพิรมถูกกรมทางหลวงฟ้องร้องในชั้นศาล ให้เรียกบริษัทประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีทันทีเพื่อให้ไปจ่ายค่าเสียหายแทนในชั้นศาลต่อไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และในมาตรา 437 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 “รถเปลี่ยนเป็นเงิน” อันตรายติดเสาไฟฟ้า

“หนูจ๋า ช่วยป้าด้วยจ้ะ...!”“มีอะไรหรือคะป้า” เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถาม“คืออย่างนี้...”ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้รับฟังความทุกข์จากป้าอารีย์ที่หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย“สามีป้ามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ป้าต้องทำงานหาเงินคนเดียว ทำทุกอย่างทั้งเย็บมุ้งขาย ทั้งทำสวนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่พอนะหนู แม่สามีของป้าแกก็มาป่วยเข้าอีกคน ป้าแทบหมดหนทางไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว”ที่เล่ามาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ปัญหาจริง ๆ ของป้าอารีย์เกิดขึ้นเมื่อ...“ป้าต้องใช้เงินมากไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน เห็นเบอร์ตามเสาไฟฟ้าที่บอกว่า ให้นำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินได้ พอดีสามีป้ามีรถกระบะอยู่คันหนึ่ง ก็ตัดสินใจวินาทีนั้นล่ะ กะจะเอารถไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้กันก่อน มีเงินเมื่อไหร่ค่อยไปไถ่ถอนคืนทีหลัง”ป้าอารีย์จึงโทรไปขอความช่วยเหลือตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในป้ายข้างเสาไฟฟ้าทันที“ตอนนั้นประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เขาบอกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ใช้สมุดรถยนต์ค้ำประกัน ก็นัดหมายทำสัญญากันเลย” “ไปทำสัญญากันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวถนนเพชรเกษม ช่วงบางแค วันนั้นเห็นมีพนักงานแค่ 2 คน ก็เอารถเราไปให้เขาดูด้วย เขาตีราคาบอกว่าได้แค่ 70,000 บาท และให้วางสมุดทะเบียนรถไว้กับเขาแต่รถเอาไปใช้ได้ป้าก็ลังเลอยู่แต่สามีป้า ซึ่งเป็นเจ้าของรถตกลงเซ็นสัญญาทันที ก็ไม่ได้อ่านเอกสารหรอกเพราะตัวเล็กมาก แล้วพนักงานก็ให้ป้าเซ็นกำกับในสัญญานี้ด้วย โดยบอกว่าป้าเป็นเจ้าบ้านต้องเซ็นอนุญาตให้รถที่จำนำทะเบียนนั้นจอดได้ ป้าก็งง ๆ อยู่แต่ก็เซ็นไป”“เมื่อทำสัญญาเสร็จป้ากับสามีได้รับเงินแค่ 64,000 บาท เพราะพนักงานแจ้งว่ามีค่าใช้จ่าย 6,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ให้ป้ากับสามีเดินทางไปโอนทะเบียนรถให้เขา โดยให้พนักงานอีกคนขับรถของสามีป้าตามไปที่ขนส่งเขาเอารถไปทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วเมื่อทำเรื่องโอนรถเสร็จป้ายังต้องเสียค่าโอนอีก 1,050 บาท”สรุปว่าวันนั้น ป้าอารีย์กับสามีได้รับเงินเพียงแค่ 62,950 บาท เท่านั้น จากการจำนำรถ 70,000 บาทและไม่ได้รับเอกสารใดๆ กลับบ้านเลยหลังจากนั้นไม่นานป้าอารีย์ได้รับเอกสารสัญญาส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่อแกะเปิดดูแบบเต็มๆ ถึงได้รู้ว่าสัญญาที่ได้ทำไปนั้นแทนที่จะเป็นสัญญาจำนำรถกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของตัวเอง โดยมีหนี้เช่าซื้อรถจำนวน 137,700 บาท ผ่อนงวดละ 3,825 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ได้รับเอกสารสัญญาแล้วป้าอารีย์ก็น้ำตาตกใน แต่ไม่ได้ทักท้วงอะไรตั้งหน้าตั้งตาผ่อนรถของตัวเองไปโดยไม่ปริปาก มีบางงวดที่ขาดส่งหรือล่าช้าไปบ้างจึงถูกเรียกเบี้ยปรับและค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็กัดฟันสู้ จนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2551 คราวนี้ป้าอารีย์และสามีไม่มีเงินกันจริงๆ จึงไม่ได้ชำระเงินค่างวดอีก“พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีคนของไฟแนนซ์มาทวงหนี้ถึงที่บ้านแจ้งว่าให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทั้งหมด 50,000 กว่าบาทไม่เช่นนั้นจะยึดรถทันที แต่อีกไม่กี่วันป้าได้โทรไปถามยอดหนี้ให้แน่ใจอีกครั้งกลับได้รับแจ้งว่ามีหนี้เช่าซื้อถึง 70,000 กว่าบาทและถ้าจ่ายไม่ได้จะถูกยึดรถ”“ป้ากับสามีไม่รู้จะทำอย่างไรจากที่ไปขอกู้เงินเขาแค่ 70,000 บาท จ่ายคืนหนี้มาตั้ง 2-3 ปีก็ยังไม่หมด ตอนนี้เอารถยนต์ไปหลบที่ต่างจังหวัดอยู่ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือป้าด้วย”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับกับปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มีทางออก เมื่อไม่มีแหล่งเงินกู้ในที่สว่างก็ต้องไปหาเก็บเอาตามเสาไฟฟ้ากันอย่างนี้ล่ะครับชีวิตคนไทยเมื่อเสียรู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถของตัวเองไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อไปล่ะครับ เมื่อดูใบเสร็จรับเงินที่ป้าอารีย์จ่ายค่างวดไปแล้วพบว่าค้างเหลืออยู่อีกแค่ 7 งวด เป็นเงิน 26,775 บาท เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจึงแนะนำให้ป้าอารีย์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ให้ครบ โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีไฟแนนซ์ไป ไม่ต้องสนใจว่าใบเสร็จที่ได้รับจะถูกหักเป็นเบี้ยปรับล่าช้าหรือไม่ เพราะธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นธุรกิจที่ถูกคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภคเขาควบคุมสัญญาไว้ แม้จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิคิดเบี้ยปรับ เบี้ยล่าช้า ได้แต่สัญญาควบคุมก็ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลูกค้าชั้นดีรายย่อยของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บวกสิบ(MRR. + 10) อย่างที่หลาย ๆ ไฟแนนซ์ชอบเขียนกันไว้ในสัญญา หรือค่าทวงถามก็ให้คิดได้แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามนั้นจริง ที่สำคัญสัญญาควบคุมเขาถือว่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่างวดและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ปรากฏในสัญญาและไม่ขัดต่อสัญญาควบคุมของ สคบ.แล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยทันที และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถให้ผู้เช่าซื้อโดยทันทีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วนดังนั้นเมื่อป้าอารีย์ได้ชำระค่างวดรถไปครบถ้วนหลังจากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยทำหนังสือแจ้งไฟแนนซ์ให้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ตอนแรกไฟแนนซ์ก็ทำทีอิดเอื้อนจะขอเรียกเก็บเบี้ยปรับอยู่แต่ด้วยไม่มีข้อต่อสู้ทางกฎหมายเนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นได้กำหนดค่าเบี้ยปรับที่ขัดต่อสัญญาควบคุมท้ายที่สุดจึงต้องทำการโอนเปลี่ยนชื่อรถโดยไม่มีเงื่อนไขครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 Passionfruit

ทั่วไปเรียก เสาวรส หรือกระทกรกฝรั่ง เป็นไม้ผลต่างถิ่นที่กำลังได้รับความนิยมมาก ด้วยรสชาติและกลิ่นที่โดนใจ(กลิ่นเหมือนฝรั่งสุกอันนี้บางคนก็ไม่ชอบ) ทั้งยังมีสรรพคุณด้านโภชนาการสูงอีกด้วย  ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ดินแดนอเมริกาใต้ เป็นไม้ผลที่นิยมรับประทานทั้งแบบผลสุกและนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ไวน์ และส่วนผสมในขนมหวานหลายชนิด ทั้งเค้ก ไอศกรีม เยลลี แยม เดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เดี๋ยวนี้หากินได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะที่เชียงใหม่หาซื้อได้ง่าย เพราะชาวเขาบนดอยก็ปลูกและนำลงมาขาย โครงการหลวงก็มีปลูกจำหน่าย หากินได้ทั้งปี เสาวรสที่ขายในบ้านเรามีทั้งแบบผลสีเหลืองและผลสีม่วง ผลเสาวรสสุกมีเบตาแคโรทีน โพแทสเซียมและใยอาหารสูง วิตามินซีมาก โดยผลสีเหลืองใช้ในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ ส่วนผลสีม่วงนิยมบริโภคสด เวลากินเสาวรสนั้น เรากินทั้งเมล็ดเข้าไปด้วย ซึ่งในเมล็ดมีงานวิจัยว่า พบสาร albumin homologous protein ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ และยังมีสรรพคุณ ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ลดไขมันในเลือด และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผลเสาวรสที่ลักษณะดีนั้นต้องไม่เหี่ยว ผิวต้องเต่งตึง กินสดๆ จิ้มเกลือ หรือทำเป็นน้ำเสาวรสดื่มบ่อยๆ มีประโยชน์มาก แต่เพราะรสชาติเปรี้ยวบางคนก็เลยใส่น้ำตาลจำนวนมากเพื่อตัดรส อันนี้ไม่ดีไม่ควรทำ และห้ามรับประทานในส่วนของต้นสดเด็ดขาด เพราะมีสารพิษอันตราย อาจทำให้เสียชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติม >