ฉบับที่ 269 กินบุฟเฟ่ต์ร้านหรูแต่เจอเศษแก้วบาดในช่องปาก

        การจ่ายเงินเพื่อเข้าร้านอาหารแน่นอนว่าทุกคนคงจะคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี อาหารที่อร่อย สะอาด และปลอดภัยกันใช่ไหม เพราะว่ามันคือมาตรฐานที่ทุกร้านควรจะต้องมีอยู่แล้ว ทว่าหลายครั้งเราก็พบข่าวการพบสิ่งแปลกปลอมในร้านอาหารและมีเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็บ่อยครั้ง คราวนี้มาในระดับร้านบุฟเฟ่ต์หรูเสียด้วย          คุณน้ำตาลร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณน้ำตาลกับแฟนได้ไปรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์นานาชาติหรูหราที่ห้างดังใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารบุพเฟ่ต์ที่มีอาหารหลากหลายทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น และตะวันตก เรียกได้ว่าคุ้มเลยทีเดียวกับราคาที่จ่ายไป ราคาต่อคนก็ประมาณหนึ่งแบงค์เทากับอีกหนึ่งใบแดง มีตังค์ทอนนิดหน่อย แต่...ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะเธอได้เล่าว่าเมื่อเริ่มรับประทานไปจนอิ่มอาหารคาวแล้ว ก็เลยสั่งของหวานมาตบท้ายเป็น บิงซู ในขณะที่กำลังเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรแตกในปาก ตอนแรกผู้ร้องก็คิดว่าก้อนหินหรือพลาสติกอะไรหรือเปล่าหนอ เลยพยายามเอาลิ้นดัน แต่คราวนี้มาพร้อมกับอาการเจ็บและเลือดออก ผู้ร้องจึงหยิบมันออกมาดูสรุปว่า มันคือเศษแก้ว จึงพยายามหยิบเศษพวกนั้นออกมาให้มากที่สุด และเข้าห้องน้ำเพื่อล้างปาก         หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทางแฟนและเธอก็ได้เข้าไปพบผู้บริหารของร้านดังกล่าว ซึ่งตอนแรกผู้ร้องแจ้งว่าทางร้านยินดีจะลดค่าอาหารให้ 50% ซึ่งทางผู้ร้องเองปฏิเสธที่รับเงื่อนไขนั้น เนื่องจากตกใจในมาตรฐานของร้านและกังวลเรื่องที่เศษแก้วอาจเข้าไปรบกวนในทางเดินอาหาร ขอให้ทางผู้บริหารไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากนั้นผู้บริหารก็เลยพิจารณาใหม่และให้ทางผู้ร้องกับแฟนนั้นทานฟรีสำหรับอาหารมื้อนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ร้องได้เข้าไปโรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจปรากฎว่า ในช่องปากของผู้ร้องยังคงมีเศษแก้วปักอยู่ที่เหงือกอยู่ถึง 2-3 อัน ซึ่งแพทย์ก็ได้ถอนออกมาพร้อมให้ยาฆ่าเชื้อโรคมาด้วย เพราะในเศษแก้วอาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ได้ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 2,000 กว่าบาท จึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ ว่าสามารถทำสิ่งใดเพิ่มเติมได้อีกบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางผู้ร้องได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ  เพื่อต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ให้คำแนะนำดังนี้           1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ (สน.ในพื้นที่ของห้างซึ่งร้านค้าตั้งอยู่)  เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้แกล้งหรือใส่ความทางร้านค้าแต่ประการใด        2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านค้า แบบไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนไขเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย        3. เมื่อพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าวแล้ว หากยังไม่มีการติดต่อจากทางคู่กรณี ทางมูลนิธิอาจจะเชิญผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง        4. และหากหลังจากมีการไกล่เกลี่ยแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกันได้  ผู้ร้องสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร        ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 66 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อทางผู้ร้องอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่า ได้ติดต่อกับทาง สคบ. เพื่อให้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เนื่องจากตัวผู้ร้องเองไม่มีความรู้ในด้านนี้ ซึ่งกลัวว่าอาจจะทำให้เสียเปรียบจึงต้องการหน่วยงานของรัฐเข้ามาพูดคุยเป็นตัวแทน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมให้คำปรึกษากับทางผู้ร้องเสมอ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กินรังนกเจอเศษแก้วบาดคอ บาปหนานักโยมเอ๊ย

        รังนกบรรจุขวดแก้วเป็นสินค้าที่มีคนนิยมมากในการนำไปฝากบุคคลที่เคารพรัก หรือเชื่อว่ากินแล้วจะดีจะบำรุงร่างกาย เช่นเดียวกันการซื้อไปถวายพระก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน         วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2565 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณป้าแหวว (นามสมมติ) ว่า พระลูกชายฉันรังนกในขวดแก้วที่ตนเองซื้อไปถวาย แล้วเกิดอาการเหมือนมีอะไรบาดในคอ “ท่านเล่าว่า อาตมาดื่มแล้วก็รู้สึกเหมือนมีแก้วบาดคอขณะกลืนรังนกลงไป พอเอาส่วนที่เหลือในขวดมาเทดู พบว่า มีเศษแก้วใสๆ ปนอยู่กับเนื้อรังนกที่เหลืออยู่” พระลูกชายเชื่อว่าตนเองดื่มแก้วลงไปแน่ และส่วนหนึ่งคงบาดในคอ จึงรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว         ป้าแหวว ไม่อยากให้เรื่องนี้หยุดแค่พระลูกชายไปรักษาตัว แต่อยากให้ทางผู้ผลิตรับผิดชอบสินค้าของตนด้วย จึงถามว่าพระจะทำอะไรไหม เอาจริงป้าแหววก็รู้สึกว่าตนนี้ทำบาปกับพระไปเสียแล้ว พระท่านก็ว่าแล้วแต่โยมแม่ เมื่อปรึกษากันแล้วว่าควรมีการดำเนินการจึงติดต่อมาที่ ศูนย์ฯ ฉะเชิงเทราเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นหน่วยงานผู้บริโภคที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก เมื่อทางศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงติดต่อประสานงานขอให้ทางโยมแม่และพระขอใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกิดอาการบาดเจ็บจากการดื่มรังนก แล้วเศษแก้วเข้าไปบาดลำคอด้านในจริง จากนั้นได้ติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิต  ซึ่งผู้ผลิตรายนี้เป็น ผู้ผลิตหน้าใหม่กำลังโปรโมตสินค้ารังนกนี้อยู่ แม้ไม่ได้ผลิตในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ทำตลาดมาจนครอบคลุมถึงร้านค้าในฉะเชิงเทรา ซึ่งป้าแหววได้ซื้อสินค้ามาถวายพระ         จากการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางผู้ผลิตยินดีชดใช้ความเสียหายให้แก่พระ เป็นจำนวนเงิน 28,000 บาท อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯ จะนำเรื่องแจ้งต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และหากโรงงานไม่ได้มาตรฐานก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เคี้ยวแก้วในเกี๊ยวซ่า

                        จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเคี้ยวเพลินอร่อยๆ กับอาหารว่างของบริษัทดัง แล้วมาพบทีหลังว่า มันคือเศษแก้ว แค่คิดก็เจ็บจี๊ดแทนผู้บริโภคแล้ว            เรื่องมันมีอยู่ว่า คุณดอกสร้อยและลูกชายวัยน่ารัก ไปช้อปปิ้งเลือกซื้อข้าวของกลับบ้าน แล้วลูกชายอยากรับประทานเกี๊ยวซ่าทอด ที่บริษัทดังนำมาออกร้านเพื่อโปรโมตสินค้าในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต จึงสั่งให้ลูกชาย 1 กล่อง ราคา 40 บาท แต่เด็กน้อยกินไม่หมด คุณแม่จึงนำมาจัดการต่อในภายหลังเมื่อกลับถึงบ้าน แค่เคี้ยวคำแรกคุณแม่ก็เจ็บลิ้นเจ็บคอเหมือนถูกบาดจึงคายเกี๊ยวซ่าออกมา พบว่า มีเลือดออกมาด้วยและสังเกตว่ามีเศษแก้วปนอยู่ในเกี๊ยวซ่า พอนำกล่องมาพิจารณาก็พบว่ามีเศษแก้วลักษณะเดียวกันอีกสองชิ้นในกล่อง จึงถามลูกชายว่า กินไปแล้วตอนนั้นรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไหม เด็กชายทำหน้างงบอกคุณแม่ว่า “เคี้ยวเจอเหมือนเป็นผักแข็งๆ ฮะ มันแข็งกว่าผักอื่นๆ ”             คุณดอกสร้อยจึงรีบไป สน.เพื่อลงบันทึกประจำวันและติดต่อบริษัทผู้ผลิตทันที ว่าเกี๊ยวซ่าที่นำมาจำหน่ายมีปัญหาขอให้รีบแก้ไข จากนั้นก็ไปโรงพยาบาลเพื่อดูบาดแผลในคอและช่องปากของตนเอง และต้องการเช็คร่างกายลูกชายด้วย เพราะกินเข้าไปหลายชิ้น             ผลการตรวจแพทย์วินิจฉัยว่า คุณดอกสร้อยมีแผลในช่องปาก ลิ้นและคอ ส่วนเด็กชายผลเอ็กซเรย์พบสิ่งแปลกปลอมกระจายอยู่ในกระเพาะอาหาร ขนาด 0.5 - 1 เซนติเมตร คุณดอกสร้อยจึงทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ดำเนินการเยียวยา ซึ่งในตอนแรก ทางบริษัทดำเนินการเพียงเรียกให้ผู้เสียหายส่งเศษแก้วไปที่บริษัทเพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏว่าเหตุการณ์ผ่านไปหลายเดือนทางบริษัทก็เงียบหายไป คุณดอกสร้อยจึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา            สิ่งที่คุณดอกสร้อยได้ดำเนินการไปเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ทว่าบริษัทดูจะปล่อยปละละเลยต่อผู้บริโภคนานเกินไป เพราะเหตุเกิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จนคุณดอกสร้อยมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้ว บริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ประสานงานทำหนังสือขอให้ทางบริษัทเข้ามาเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยและเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ร้อง             ต่อมาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับแจ้งจากทางทนายความของบริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าว่า ได้เจรจากับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว โดยทางบริษัทได้ให้ทางบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญากับทางบริษัทไว้ เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 195,000 บาท และเมื่อศูนย์ฯ ติดต่อทางผู้ร้องได้ความตรงกัน จึงเป็นอันยุติเรื่อง 

อ่านเพิ่มเติม >