ฉบับที่ 273 เล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บควรอย่างไรดี

        การทำเล็บเพื่อความสวยมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างหลากหลาย ร้านทำเล็บมีกันเกลื่อนเมือง มีทั้งการทำเล็บเจลที่นิยมทำกันมากหรือการต่อเล็บปลอมแล้วตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งเป็นเล็บปลอมจากอะคริลิก PVC แต่รู้หรือไม่ อาจเสี่ยงให้เกิดเชื้อราหรือเป็นเล็บเขียวๆ หลังจากถอดเล็บปลอมออกไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเพราะว่ามองไม่เห็น จะมารู้ตัวอีกทีก็หลังจากถอดเล็บออกมาเท่านั้น         อาการเล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากคือเกิดจากความอับชื้น และจากอุปกรณ์ของช่างที่ไม่สะอาด ดังนั้นเพื่อให้รู้จักสังเกตอาการก่อนจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลุกลาม สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือหลังจากถอดเล็บปลอมออกแล้ว พบว่า เล็บเป็นสีเขียว หรือสีขาวหรือออกเหลืองๆ  และบางคนอาจมีอาการคัน บวม แดง ก็แสดงว่าติดเชื้อราเข้าแล้ว  เกิดอาการเล็บติดเชื้อรา ควรทำอย่างไรดี         ฉลาดซื้อ แนะนำว่าหลังถอดเล็บทุกครั้งให้ดูแลความสะอาดให้ดี พร้อมกับพักระยะเวลาการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเจลไปอีกสักพักก่อน เพื่อให้เล็บได้ฟื้นตัว หากมีอาการแบบที่บอกไว้ข้างต้น ควรทายาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษาอาการคู่ไปด้วย โดยหากเป็นไม่มากแค่ออกสีเขียวๆ ปรึกษาเภสัชกรให้แนะนำยาที่เหมาะแก่การรักษาให้ แต่หากมีอาการมาก คัน อักเสบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อราเกิดลุกลามจนหน้าเล็บพัง เพราะในกรณีที่ลุกลามมากๆ อาจจะต้องให้แพทย์ทำการรักษา เช่น ตัดเล็บหรือถอดเล็บบริเวณเกิดเชื้อราออก ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานโดยเฉพาะ         อีกเรื่องคือ หากใครที่ต่อเล็บแล้วพบว่าเล็บเหมือนจะหลุดแต่ยังไม่หลุด จนมีช่องว่างระหว่างตรงกลางไว้ แนะนำให้รีบไปถอดออกทันที อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจมีช่องว่างให้น้ำเข้าไปจนเกิดความอับชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อเกิดเชื้อราโดยเฉพาะนั้นเอง ร้านทำเล็บต้องสะอาด         การเลือกร้านทำเล็บ ควรเลือกที่น่าเชื่อถือ มีการทำความสะอาดอุปกรณ์และมีอุปกรณ์เพื่อการฆ่าเชื้ออย่างดี ที่สำคัญฉลาดซื้อย้ำเตือนเสมอ คือ มีใบอนุญาตหรือช่างผ่านการอบรมมาอย่างดี รวมถึงเรื่องสุขอนามัยของร้าน เช็กให้ดีก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง  เพราะการที่เราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน เราควรที่จะเน้นเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นหลักข้อมูลจาก : www.Pobpad.com ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพังwww.Pobpad.com ความหมาย เชื้อราที่เล็บwww.hellokhunmor.com เล็บปลอม กับข้อควรรู้ก่อนต่อเล็บปลอม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ดูแลป้องกันไม่ให้เท้าเกิดเล็บขบ

    ธรรมดาเท้าคนเรานั้นถูกออกแบบมาให้แข็งแรงมาก แต่หากละเลยดูแลได้ไม่ดีพอ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ทำให้ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตปกติได้อย่างคาดไม่ถึง หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ “เล็บขบ”  ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ที่เป็นตั้งแต่เจ็บปวดเล็กน้อยจนอาจอักเสบลุกลามใหญ่โต ทั้งนี้หากดูแลเล็บเท้าได้ดีปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อไหมว่าหลายครั้งเกิดจากทำตัวเองแท้ๆ         “เล็บขบ” สาเหตุหลักเกิดจากเล็บที่งอกออกมาใหม่ทิ่มเข้าไปในเนื้อใต้เล็บจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยอาจเกิดจากการตัดเล็บที่ผิดวิธีหรือตัดเล็บที่สั้นเกินไป หรือสาเหตุอื่น เช่น การสวมถุงเท้ารองเท้าที่แน่นเกินไปจนกดเล็บเท้า หรือลักษณะนิ้วเท้าที่โค้งผิดรูปร่างปกติอยู่แล้ว  หรืออุบัติเหตุสิ่งของตกหล่นใส่นิ้วเท้าและไม่ดูแลสุขอนามัยนิ้วเท้าให้ดีจนเกิดเชื้อรา อาการของเล็บขบที่เท้า    - ระยะแรก จะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณนิ้วเท้าที่มุมริมขอบเล็บข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจปวดรอบๆ เล็บทั้ง 2 ข้าง    - ระยะที่สอง เริ่มมีอาการมากขึ้น มีภาวะบวมและแดงรอบๆ บริเวณนิ้วเท้า มีเลือดซึมและเริ่มติดเชื้อ เวลาเดินมีอาการเจ็บที่บริเวณนั้น    - ระยะที่สาม  มีอาการบวมแดง เลือดออก และเจ็บมาก  อาจเกิดหนองซึ่งแสดงถึงอาการติดเชื้อรุนแรงและอาจจะมีกลิ่นเหม็น ผิวบริเวณนิ้วที่อักเสบจะหนาขึ้น วิธีดูแลป้องกันเล็บขบ     เล็บขบสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลป้องกันตนเอง ดังนี้        1.เปลี่ยนพฤติกรรมการตัดเล็บ คือ ไม่ตัดเล็บโดยเฉพาะเล็บเท้าให้สั้นเกินไป และตัดให้ตรงไม่ตัดให้โค้งและลึกลงขอบหรือซอกของเล็บ งดการตัดที่จมูกเล็บ                         2.อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเล็บควรฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนใช้และอาจเช็ดแอลกอฮอล์ที่นิ้วเท้าก่อนลงมือตัด                          3.หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่บีบรัดเท้า ใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไปรวมทั้งถุงเท้ากับถุงน่องด้วย และหากเป็นบุคคลที่ต้องทำงานนอกบ้านในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมรองเท้านิรภัย        4.หมั่นดูแลทำความสะอาดเท้า และบำรุงด้วยครีมบำรุงผิวสม่ำเสมอ เป็นเล็บขบรักษาอย่างไร ต้องผ่าตัดไหม?     การรักษาเล็บขบในภาวะที่มีการติดเชื้อแล้วต้องมีการผ่าตัดเล็กเพื่อเอาเล็บที่ทิ่มอยู่ใต้ผิวหนังออกเพื่อรักษาเล็บขบ การกำจัดเล็บบางส่วนสามารถป้องกันเล็บขบที่จะเกิดขึ้นได้อีกครั้งในภายหลังถึง 98%  วิธีแรกคือ การเอาเล็บเท้าออกบางส่วน วิธีที่สอง คือ รักษาโดยเอาเล็บเท้าออกทั้งหมด วิธีหลังนี้ใช้สำหรับเล็บขบที่มีเล็บหนาและกดลงไปในผิวหนัง เรียกว่าการรักษาแบบ Matrixectomy และอีกวิธีคือ การยกเล็บขึ้น ใช้สำหรับเคสที่มีอาการน้อย เพียงบวมแดง ไม่มีหนอง โดยใช้ไหมหรือสำลียกขอบเล็บให้พ้นขอบของผิวหนัง เพื่อไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้ออีก               ทั้งนี้ อาการที่บ่งบอกว่าควรจะไปพบแพทย์ คือ ลักษณะอาการเล็บเท้าทิ่มลงไปที่ผิวหนังจนมีสัญญาณขั้นรุนแรง คือ บวมแดงและมีหนอง ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรหาวิธีรักษาเองหรือปล่อยไว้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการลุกลามไปจนเกิดการติดเชื้อที่กระดูกนิ้วเท้าได้ กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานก็อาจจะเกิดการลุกลามที่รวดเร็วได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เล็บสีเจล สวยให้ปลอดภัย

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักต้องการให้เล็บมือและเล็บเท้าสวยงามอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในวิธีการยอดฮิตเพื่อตกแต่งเล็บให้สวยงามก็หนีไม่พ้นการทาเล็บสีเจล เพราะนอกจากจะทำให้เล็บมีสีสันสวยงามแวววาวกว่าการทาเล็บแบบธรรมดาแล้ว ยังทำให้เล็บสวยนานอยู่ทนทานเป็นเดือนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการทำเล็บด้วยวิธีดังกล่าวจะมีข้อดีมากหรือน้อยกว่าข้อเสียอย่างไร เราลองไปดูกันมารู้จักเล็บสีเจลกันสักนิดการทาเล็บสีเจล เริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเราเมื่อประมาณ 3 - 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการใช้ยาทาเล็บชนิดเจล (Gel nail polish) มาทาลงบนเล็บจริง หรือเล็บที่ต่ออะคริลิคแล้ว โดยยาทาเล็บชนิดนี้มีจุดเด่นตรงที่ติดทนนาน หรืออยู่ได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของแต่ละคน และมีสีสันสดใสสวยงามกว่ายาทาเล็บทั่วไป อย่างไรก็ตามหากต้องการล้างออก ต้องใช้ยาล้างเล็บสำหรับเล็บเจลโดยเฉพาะ และไม่สามารถปล่อยให้แห้งเองได้ ต้องใช้เครื่องอบเล็บเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการทาเล็บเจลยังต่างจากการทาเล็บธรรมดา เพราะต้องตะไบหน้าเล็บก่อนลงสี เพื่อช่วยให้สีเกาะหน้าเล็บผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อทาเล็บเจลแม้ยาทาเล็บเจลจะสามารถทำให้สีติดทนนานและสวยงามกว่าปกติ จนเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้- หน้าเล็บเสียโฉม เพราะทุกครั้งที่ทาและล้างเล็บเจล ต้องมีการตะไบหน้าเล็บออกเสมอ ซึ่งหากเราทำประจำสามารถส่งผลให้หน้าเล็บพัง หรือมีลักษณะเป็นรอยขูดได้ โดยต้องใช้เวลาดูแลประมาณ 2 – 3 เดือนเพื่อทำให้หน้าเล็บกลับมาปกติเหมือนเดิม นอกจากนี้บางคนอาจเกิดอาการเล็บอ่อนแอ เปราะหักง่าย หรืออักเสบ เพราะถูกตะไบหน้าเล็บออกมากเกินไป- เกิดความผิดปกติที่เล็บ หากอุปกรณ์ที่ใช้สะอาดไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่เล็บหรือเกิดเชื้อราที่เล็บได้ ซึ่งจะทำให้เล็บผิดปกติ เช่น เล็บเป็นขุย เปลี่ยนสี โค้งงอบิดเบี้ยว หรือแตกเปราะ- เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจและดวงตา ตามข้อมูลจากสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ระบุว่าสารเคมีฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาทาเล็บ สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ในกลุ่มผู้ที่ไวต่อสารเคมีได้ โดยหากสัมผัสกับผิวหนังจะปรากฏเป็นผดผื่นและมีอาการคัน หรือหากสูดดมเข้าไปเป็นประจำ สามารถสร้างความระคายเคืองในลำคอ หรือก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้- มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง เพราะเล็บสีเจลต้องถูกทำให้แห้งด้วยเครื่องอบเล็บเจล เนื่องจากไม่สามารถแห้งได้ด้วยแรงลมธรรมดา ซึ่งต้องอบหลายครั้งเพื่อช่วยให้สีแห้งสนิท ดังนั้นผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะเครื่องอบเล็บเจลใช้ความร้อนจากจากหลอดยูวี (UV) และหลอดแอลอีดี (LED) แต่สามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการทาครีมกันแดดที่มือ- ราคาค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันพบว่าอัตราค่าบริการ เริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับลายที่เลือก ร้านหรือยี่ห้อของน้ำยาเราสามารถเลือกวิธีทำเล็บให้สวยสมใจและปลอดภัยได้ดังนี้- ล้างเล็บอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยป้องกันหน้าเล็บเสียโฉม ซึ่งเราควรเลือกทำเล็บกับช่างผู้ชำนาญ- เว้นช่วงการทำเล็บบ้าง เพื่อให้เล็บเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ‪ซึ่งหากพบว่าหน้าเล็บบาง ถลอก หรืออักเสบ ควรดูแลจนกว่าจะหายแล้วค่อยทำใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากพบว่าเล็บไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถเว้นระยะ 1-3 เดือนแล้วค่อยทำอีกครั้งก็ได้ ‬‬‬- บำรุงเล็บและมือเสมอ ด้วยการทาครีมกันแดดก่อนเข้าเครื่องอบเล็บเจล และทาครีมบำรุงมือและเล็บเป็นประจำ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเล็บ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีนอย่าง ถั่ว ปลา เต้าหู้ หรืออาหารที่มีวิตามิน A C และ E สูง เช่น กล้วย แคนตาลูป ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว มะม่วง มะละกอ พริกไทย ฟักทอง มะเขือเทศและเมล็ดธัญพืช หรืออาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี เช่น อาหารทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 เล็บบอกสุขภาพ

คนยุคปัจจุบันกินอาหารหลากหลายและได้รับโภชนาการที่ดีกว่าคนยุคก่อน ทำให้เล็บยาวเร็วมาก ในงานวิจัยหนึ่งระบุว่า “คนสมัยหลังมีเล็บมือและเล็บเท้ายาวเร็วขึ้นเกือบ 25% เมื่อเทียบกับของคนเมื่อ 70 ปีก่อน เหตุเพราะกินอาหารที่มีโปรตีนสูง” เล็บจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบอกถึงสภาวะของร่างกายได้ เล็บที่มีสุขภาพดี จะมีความแข็งแรงและมีลักษณะผิวเรียบ ไม่มีร่องหรือขอบที่ผิว นอกจากนี้สีของเล็บก็จะเป็นสีเดียวกันสม่ำเสมอตลอดทั้งเล็บ ไม่มีดอกหรือจุดขึ้น ถ้าเล็บเกิดผิดปกติไปรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก็ควรใส่ใจเป็นพิเศษ และเท่าที่ฉลาดซื้อได้ลองค้นหามา พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจและอาจเป็นแนวทางไว้สำหรับตรวจเช็กสุขภาพเราได้   ความผิดปกติของเล็บที่อาจบ่งบอกถึงสาเหตุของโรคบางอย่าง เล็บเปราะอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เลือดลมเดินไม่สะดวก เล็บที่มีสีออกเหลืองอาจบอกถึงปัญหาที่ระบบน้ำเหลืองหรือที่ไต เล็บเหลือง ยังพบในคนสูบบุหรี่จัด เล็บเขียวพบในผู้ที่เป็นโรคหัวใจเนื่องจากมีออกซิเจนไม่เพียงพอในเม็ดเลือด เล็บสีเขียวคล้ำ คุณอาจกำลังป่วยด้วยโรคหืดอย่างรุนแรง โรคถุงลมโป่งพอง เล็บเป็นลอน(ตามขวาง) อาจบ่งบอกว่าฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ซึ่งอาจเพราะคุณกำลังมีโรคร้ายแรงจึงทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เล็บเป็นร่อง มักเป็นโรคขาดอาหาร หรือเป็นผู้ที่ตรากตรำทำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ เล็บมีเส้นตามแนวขวางเป็นสีขาว พบในผู้ที่เป็นโรคพิษสารหนู เล็บจะเป็นลอนตามขวางเท่ากันทุกเล็บ(เนื่องจากขณะป่วย เล็บจะหยุดโตทำให้เห็นเป็นร่อง เว้าลงไป) เล็บขาว อาจบอกถึงความผิดปกติของตับ ไต ภาวะโลหิตจางหรือตับอักเสบเรื้อรัง ถ้ามีเล็บขาวขุ่นครึ่งเล็บทางด้านโคน ส่วนครึ่งปลายมีสีชมพูตามปกติ อาจเป็นอาการของโรคไตเรื้อรัง ถ้ามีสีขาวขุ่นเกือบทั้งเล็บโดยที่มีสีชมพูน้อยกว่าร้อยละ 20 มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ดังนั้นควรหมั่นสังเกตเล็บของเรา หากพบเห็นความผิดปกติของเล็บ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่ ร่างกายกำลังเตือนภัยเรา ก็ควรหาทางป้องกันหรือเร่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพต่อไป   -------------------------------------------------------------------------------------------- การดูแลสุขภาพเล็บ แม้ว่าตามธรรมชาติ เล็บจะเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงมาก เพื่อไว้คอยเป็นเกราะกำบังนิ้วมือ และนิ้วเท้า จากอันตรายต่างๆ แต่ก็ควรต้องได้รับการดูแลทะนุถนอมอย่างถูกต้องเช่นเดียวกับผิวหนังบริเวณอื่น 1.ไม่ทาเล็บและล้างเล็บบ่อยเกินไป อาจจะทำให้เล็บเสียได้แล้ว ผิวหนังที่อยู่ข้างเคียงอาจเกิดการอักเสบได้ ควรมีเวลาให้เล็บได้ว่างเว้นจากการทาสี เพราะนอกจากเล็บจะได้พักหรือฟื้นสภาพที่เสียไปแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ได้สังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเล็บด้วย 2.พยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนผิวหนังที่หุ้มโคนเล็บ เนื่องจากหนังหุ้มโคนเล็บ เป็นตัวป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปสู่จมูกเล็บ และเนื้อเยื่อรอบๆ เล็บ 3.การตัดเล็บที่ถูกต้อง หากเป็นเล็บมือควรตัดให้มีความโค้งมนไปตามนิ้วมือ ส่วนเล็บเท้าต้องพยายามตัดให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด เพื่อลดการสะสมความสกปรกตามซอกเล็บ ลดโอกาสการเกิดเล็บขบ และแน่นอนไม่ตัดสั้นชิดเนื้อเกินไป 4.พยายามเลี่ยงไม่ให้มือและเท้าต้องถูกน้ำบ่อยๆ หรือแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังมีสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ และเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อรา ซึ่งปัญหาเชื้อราที่เล็บเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 เรื่องเล็บ ไม่ใช่เรื่องขี้เล็บ ตอนที่ 1

อย่าเห็นว่าเป็นแค่เรื่องเล็บ แล้วจะไม่ใส่ใจก็ได้ เพราะเล็บก็เป็นผิวหนังประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลปกป้องนิ้วมือ นิ้วเท้า ซึ่งเป็นจุดที่มีเส้นประสาทหลายเส้นเรียงรายอยู่ ใครเคยมีประสบการณ์ประตูหนีบ หรือเดินเตะขอบถนน คงรู้ดีว่าถ้าไม่มีเล็บช่วยรับแรงกระแทกไว้ก่อน มันจะเจ็บมากกว่าที่โดนแค่ไหน เล็บเป็นเคราติน (Keratin) เช่นเดียวกับเส้นผมเรียกว่าเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว เมื่อยืดยาวออกมาจึงต้องตัดต้องเล็ม(เล็บเป็นส่วนที่ไม่มีชีวิตเมื่อเราตัดจะไม่รู้สึกเจ็บปวด) ไม่หลุดลอกออกไปเองเหมือนผิวหนังกำพร้า   เล็บที่มีสุขภาพดีควรมีสีขาวใสอมชมพู ผิวเรียบและเป็นเงา สีชมพูเกิดจากสีของเม็ดโลหิตแดง ในทางการแพทย์ถือว่า เล็บสวยหรือเล็บงาม หมายถึง เล็บที่สะอาด แข็งแรง และมีสุขภาพดี นั่นคือ เล็บจะต้องไม่มีร่อง ไม่มีหลุม และไม่มีสีที่ผิดแปลกไปจากปกติ แต่สำหรับสาวๆ เล็บเป็นมากกว่าเกราะกำบังนิ้วมือ นิ้วเท้า เพราะถือเป็นจุดที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพได้ไม่แพ้ผิวพรรณที่สดใสหรือผมที่ดกดำสลวย หลายคนจึงทุ่มเทให้กับการทำเล็บ   สิ่งที่ต้องระวังในการทำเล็บ   การต่อเล็บ คนบางคนเล็บไม่แข็งแรงจะไว้ให้ยาวก็ยาก แต่ยังไงก็อยากมีเล็บที่ยาวสวย พร้อมการแต่งแต้มตกแต่งเป็นสีสันลวดลายต่างๆ บริการต่อเล็บหรือทำเล็บปลอมจึงเกิดขึ้น  ซึ่งราคาไม่ใช่ถูกๆ หนำซ้ำยังแฝงอันตรายอีกด้วย การทำเล็บปลอมจะมีด้วยกันสองแบบคือ 1. เล็บปลอมที่ทำขึ้นจากสารเคมี ไม่มีลวดลาย ต้องทำที่ร้านทำเล็บ โดยผู้ที่ผ่านการอบรมในการเขียนรูป การขึ้นรูปซึ่งจะมีราคาแพง 2. เล็บปลอมที่ทำจากพลาสติก ส่วนใหญ่จะมีลวดลายอยู่แล้วราคาไม่แพงสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป และชนิดนี้มักเป็นที่นิยมของสาวๆ เพราะสามารถทำได้ด้วยตนเองเพียงการนำเล็บปลอมมาติดกับเล็บจริง โดยใช้กาวเป็นตัวเชื่อมติด ปัญหามักมาจากการติดเล็บปลอมแบบที่สอง เนื่องจากกาวที่ใช้เชื่อมติดเป็นชนิด เอธิล ทู ไซยาโนอะคริเลต เป็นสารที่ใช้ยึดติดแบบแห้งเร็ว หรือรู้จักกันในชื่อ ซูเปอร์กลู เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งอาจทำผู้สัมผัสสารนี้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมีและไอระเหย และยังทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและทางเดินหายใจ หากแพ้มากๆ อาจมีอาการช็อกร่วมด้วย   ยาทาเล็บ ยาทาเล็บทั่วไปที่ใช้กันอยู่มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ไนโตรเซลลูโลส (Nitrocellulose) ฟอร์มาลดีไฮด์ เรซินโทลูอีน ไดบิวทิล พทาเลต โดยส่วนผสมในยาทาเล็บที่ควรระวังและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ได้แก่ ไดบิวทิล พทาเลต (Dibutyl Phthalate) เป็นสารที่ใช้ในยาทาเล็บเพื่อให้ทาได้ง่าย เรียบ มีความยืดหยุ่นดี ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็งและทำให้มีความผิดปกติในการคลอดพิการแต่กำเนิด จึงไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารกันเสียที่ใช้ในน้ำยาเคลือบเงาเล็บ ทำให้ยาเคลือบเงาเล็บแข็งและเกาะกับเล็บได้ดีและนาน แต่ฟอร์มาลดีไฮด์ทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสได้ และโทลูอีน (Toluene) เป็นตัวทำละลายที่ผสมในน้ำยาเคลือบเงาเล็บเพื่อให้ทาได้ง่าย แต่ทำให้เกิดผื่นแพ้ได้และทำให้เกิดอาการบวมแดงเมื่อขยี้ตา การใช้นานๆ ติดต่อกันอาจทำให้เกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโต การทำงานของระบบประสาท และเป็นสารก่อมะเร็ง การเลือกซื้อยาทาเล็บจึงต้องระมัดระวัง เลือกที่มีฉลากภาษาไทย และฉลากข้างขวดบอกส่วนประกอบที่ใช้สถานที่ที่ผลิต และวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ อย่าเห็นแก่ของถูกเกินไป เพราะนอกจากเสี่ยงกับฟอร์มาลดีไฮด์แล้ว ยังอาจเสี่ยงกับส่วนผสมของสีห้ามใช้ สารแปลกปลอมอันตราย เช่น สารตะกั่วที่ปนเปื้อนในยาทาเล็บ ซึ่งเมื่อใช้มือที่ทาเล็บไปรับประทานอาหารจะทำให้มีพิษของสารตะกั่วปนเปื้อน ในร่างกาย เมื่อสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้   การขัดล้าง ตัดแต่งเล็บ การแช่เท้าในชามอ่างแล้วมีช่างทำเล็บตัดแต่งเล็บให้ หลายคนอาจรู้สึกสบายแต่เชื่อไหมล่ะ ว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา เพราะร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บเป็นสถานที่ที่มีคนเข้าออกจำนวนมาก จึงเป็นไปได้ที่เครื่องมือต่างๆ จะไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ที่สำคัญยังไม่เห็นหน่วยงานใดจริงจังลงไปตรวจสอบเรื่องความสะอาดของร้านประเภทนี้เลย ความเสี่ยงแรกๆ คือการติดเชื้อที่เล็บ พบบ่อยๆ คือเชื้อรา ซึ่งจะทำให้เล็บเปลี่ยนสี  เช่น  มีสีคล้ำ  สีดำ  สีน้ำตาลเข้ม  สีเขียวคล้ำ  เล็บหนา  เล็บเปลี่ยนรูปทรง  บิดเบี้ยวไปจากทรงเดิม ถ้าพบว่าเล็บเปราะ  หลุดร่อน แยก ออกจากเนื้อใต้เล็บ  มีสีดูหม่นๆหรือสีตามที่กล่าวมาแล้ว  นั่นคือมีความเป็นไปได้ว่าเล็บติดเชื้อราเข้าแล้ว ความเสี่ยงจากการเกิดบาดแผลและติดเชื้อแบคทีเรีย หากพลาดพลั้งช่างทำเล็บฝากรอยแผลไว้ให้คุณ ไม่แน่ว่าวันต่อมานิ้วคุณอาจบวมเป่งและมีหนอง เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบาะๆ ก็อาจแค่ล้างแผล กินยาฆ่าเชื้อ แต่บางรายร่างกายอ่อนแอ เชื้ออาจติดเข้าไปในกระแสเลือดคราวนี้ก็งานใหญ่ต้องรักษาตัวกันนาน คราวหน้าเราจะมาต่อกันด้วยเรื่อง ความผิดปกติของเล็บ ซึ่งสามารถพยากรณ์โรคบางชนิดได้ ชีววิทยาของเล็บ โดยเฉลี่ยเล็บมืองอกยาววันละ 0.1 มิลลิเมตร (ม.ม.) คือเดือนละ 3 ม.ม. เล็บจะงอกเร็วในช่วงวัยเด็ก รวมถึงในสตรีตั้งครรภ์ และในช่วงฤดูร้อน ในนิ้วที่ยิ่งยาวเล็บยิ่งงอกเร็ว เล็บมือของนิ้วกลางจึงงอกเร็วที่สุด หากเล็บมือหลุดต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนจึงจะงอกทดแทนใหม่ได้หมด ส่วนเล็บเท้างอกช้ากว่าเล็บมือ 2-3 เท่า กินเวลานาน 1 ปีถึง 1 ปีครึ่งจึงงอกทดแทนได้หมด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 เคล็ดไม่ลับของการดูแลเล็บมือ

เล็บมือของคนเราได้ถูกธรรมชาติออกแบบมาให้เราเพื่อทำหน้าที่ปกป้องเนื้ออ่อนๆ ของปลายนิ้วไม่ให้บาดเจ็บ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้นิ้วมือและข้อมือทำหน้าที่ประสานกันในการหยิบจับสิ่งของเล็กๆ ทั้งหลายได้คล่องตัว แม้ว่าเล็บคือเซลล์ที่ตายแล้วทั้งหมด แต่ก็พบว่าเติบโตและยาวขึ้นได้เรื่อยๆ จากฐานของเซลล์ที่มีชีวิต อัตราการเจริญเติบโตของเล็บมือประมาณ 1 ส่วน 8 นิ้วต่อเดือน จะสังเกตได้ว่าเล็บมือคนเรายาวเร็วกว่าเล็บเท้ามาก เนื่องจากในแต่ละวันคนเราจะล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ ในขณะที่การล้างเท้าเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น(เฉพาะเวลาอาบน้ำ) เทคนิคการดูแลเล็บมือ1. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนแช่มือ เพราะน้ำที่ร้อนจะทำให้ผิวหนังของมือและเล็บแห้ง เปราะหักง่ายขึ้น2. ไม่ควรใช้ของคมและแหลมตัดแซะใต้เล็บ ควรหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่หยาบแข็งในการปรับแต่งเล็บ3. ถ้าเล็บมือเปราะ เหลืองซีด แตกหักง่าย ควรหลีกเลี่ยงการทาเล็บด้วยสีเคลือบทั้งหลาย รอจนกว่าสุขภาพเล็บจะกลับมาแข็งแรงก่อน และหากประสงค์จะทาเล็บ ควรทำเพียงครั้งคราวเท่านั้น เช่น ทาเล็บด้วยสีสวยงามเพื่อไปงานเลี้ยง แต่ควรล้างออกภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้เนื้อเล็บได้ได้หายใจและได้รับอากาศหมุนเวียน4. การเลือกรับประทานอาหาร มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพเล็บเป็นอย่างมาก ควรใส่ใจกับอาหารเสริมกลุ่มให้ธาตุ แคลเซียม ซัลเฟอร์ โปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ วิตามิน บีและอี ซึ่งจะพบได้ทั่วไปในอาหารประเภท นม ไข่ เนื้อสัตว์ 5. ดื่มน้ำผลไม้หรือนมทุกวันในตอนเช้า เพื่อให้มั่นใจว่าในการรักษาเล็บที่เปราะหักง่ายนั้นให้กลับมาแข็งแรงเร็วขึ้น6. ถ้าต้องการให้ผิวหนังที่มือนุ่มเนียน น่าสัมผัส ควรแช่มือทั้งสองข้างในน้ำสะอาดที่ผสมด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำผลไม้เล็กน้อยประมาณ 10 นาที เช็ดให้แห้งและบำรุงด้วยครีมทาผิวที่มีส่วนประกอบของสารชุ่มชื้นผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเรียครีม ซึ่งจะช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นได้อย่างรวดเร็ว และเนื้อครีมยังสามารถใช้ขจัดสิ่งสกปรกตกค้างจากเล็บได้อีกด้วย ควรพอกเนื้อครีมทิ้งไว้อย่างน้อย 5-15 นาที ก่อนจะเช็ดออก7. สำหรับแม่บ้านหรือผู้ที่มีอาชีพจำเป็นต้องทำหน้าที่ทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วยชาม ควรฝึกการใส่ถุงมือทุกครั้งจนชิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานทำลายผิวหนังและเล็บ 8. ฝึกบริหารมือทั้งสองข้างเป็นประจำทุกวันเช่นเดียวกับส่วนอื่นของร่างกายอย่างน้อย 15-20 นาทีต่อวัน หรือนวดเพื่อให้เลือดหมุนเวียนโดยใช้นิ้วมือกดนวดด้วยตนเองสลับไปมาด้วยมือ เป็นการทำให้นิ้วมือได้ออกกำลังไปพร้อมกัน อันตรายจากแฟชั่นต่อเล็บไม่ควรต่อเล็บให้ยาวตามสมัยนิยม เพราะจะทำให้เล็บหักและเปราะง่าย เนื่องจากเล็บสังเคราะห์ที่ใช้ต่อยาวตามแฟชั่นนั้นทำจากพลาสติกแข็ง ต้องใช้กาวยึดติดกับเล็บจริงและเคลือบด้วยอะคีลิค ดังนั้นเมื่อต้องการเอาออก ต้องใช้น้ำยาเคมีคือ อะซีโตน เช็ดออก ซึ่งเป็นน้ำยาที่แรง ทำลายเนื้อเล็บให้ซีดและเปราะง่าย บางชนิดไม่สามารถเอาออกเองได้ด้วยน้ำยาอะซีโตน ต้องอาศัยเวลาให้เล็บจริงยาวขึ้นเองจนกว่าเล็บปลอมที่ต่อไว้จะถูกผลักให้ล้นออกและตัดทิ้งไปได้ เล็บปลอมที่ต่อยาวให้สวยงามนั้นมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ทำให้นิ้วมือเกิดระคายเคือง บวม แดง อักเสบ เล็บจริงอาจหลุดจากเนื้อได้ และถ้าฐานรากของเล็บถูกทำลาย อาจทำให้เสียหายบาดเจ็บถาวรได้ และกาวที่ใช้ติดกับเล็บนั้น เป็นสารระเหยที่อันตราย บางชนิดประกอบไปด้วยสารพิษเช่น ฟอร์มาดีไฮด์ ที่เป็นอันตรายต่อการสูดดม และอาจมีการติดเชื้อจากการปนเปื้อนของกาวที่ใช้อีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point